แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระสงฆ์  ผู้อภิบาลและผู้ให้การอบรมทั้งหลายของชุมชนคริสตชน
224    หน้าที่เฉพาะของคณะสงฆ์ในงานด้านการสอนคำสอนเกิดขึ้นจากศีลบวชที่พวกเขาได้รับ “โดยอาศัยศีลบวชนั่นเอง   บรรดาพระสงฆ์ผู้ได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้า ก็ได้รับเครื่องหมายหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ และด้วยเหตุนี้พวกท่านจึงถูกเปลี่ยนไปเป็นเหมือน พระคริสตเจ้าผู้เป็นสงฆ์  ทำให้สามารถดำเนินการในพระนามของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะได้” (อ้างถึง PO 8;6;12a; John Paul II, Post synodal exhortation  Pastores dabo vobis  (25 March 1992), n.12 l.c. 675-677) 

โดยอาศัยการเป็นภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้านี้เองที่ศาสนบริการของพระสงฆ์เป็นบริการที่ช่วยจัดตั้งชุมชนคริสตชน และทำให้พรสวรรค์และบริการอื่นๆประสานกันและเข้มแข็งขึ้น   ในเรื่องการสอนคำสอน ศีลบวชแต่งตั้งบรรดาพระสงฆ์ให้เป็นเสมือน “ผู้ให้การอบรมด้านความเชื่อ” (อ้างถึง PO 6b)   ดังนั้น บรรดาพระสงฆ์จึงมีหน้าที่ดูแลสัตบุรุษให้ได้รับการอบรมอย่างถูกต้องเหมาะสม และช่วยให้บรรลุถึงภาวะการเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ (อ้างถึง CIC 773) ในอีกแง่หนึ่ง ยังต้องตระหนักว่า “สังฆภาพศาสนบริการ” (LG 10)  คือ การให้บริการ “สังฆภาพสามัญของสัตบุรุษ” (LG 10 เกี่ยวกับเรื่องสองแนวทางแห่งการมีส่วนร่วมในสังฆภาพหนึ่งเดียวของพระเยซูคริสตเจ้า, อ้างถึง CCC 1546-1547)   พระสงฆ์ทั้งหลายจึงต้องสนับสนุนกระแสเรียกและงานของบรรดาครูคำสอน  และช่วยพวกเขาให้ทำหน้าที่ประการหนึ่งอันเกิดจากศีลล้างบาปได้ สำเร็จ  และให้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเพราะว่าเป็นพันธกิจอย่างหนึ่งที่พระศาสนจักรมอบให้พวกเขาทำ  ดังนั้น บรรดาพระสังฆ์จึงต้องนำเอาคำร้องขอที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 มีต่อพวกท่านมาปฏิบัติ คือ “ยอมรับและส่งเสริมศักดิ์ศรีของฆราวาสและบทบาทเฉพาะของพวกเขาในพันธกิจของพระศาสนจักร” (PO 9b)

225    หน้าที่สอนคำสอนที่เฉพาะสำหรับคณะสงฆ์  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์เจ้าอาวาสมีดังนี้  (อ้างถึง CIC 776-777)
    - ส่งเสริมความสำนึกถึงความรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับการสอนคำสอนในชุมชนคริสตชน อันเป็นงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกคน  การยอมรับและการยกย่องให้เกียรติบรรดาครูคำสอนและพันธกิจของพวกเขา
    - เอาใจใส่เรื่องแนวทางพื้นฐานของการสอนคำสอนและการวางแผนการสอนคำสอน  โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของครูคำสอนทั้งหลาย  และการยืนหยัดในเรื่องการมี “แบบแผนและทิศทางที่ดี” สำหรับการสอนคำสอน (CT 64)
    - ส่งเสริมและเข้าใจกระแสเรียกต่างๆ ในการให้บริการด้านการสอนคำสอนและในฐานะเป็นครูคำสอนของครูคำสอนทั้งหลาย  จะต้องเอาใจใส่เรื่องการฝึกอบรมพวกเขาโดยการให้ความสนใจอย่างมากในหน้าที่นี้
    - รวมเอากิจกรรมการสอนคำสอนไว้ในโครงการการประกาศ พระวรสารของชุมชนของท่าน  และส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างการสอนคำสอน ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และพิธีกรรม
    - รักษาความสัมพันธ์ระหว่างการสอนคำสอนให้ชุมชนของท่านกับโครงการอภิบาลของสังฆมณฑล  โดยการช่วยให้ครูคำสอนได้กลายเป็นผู้ร่วมงานที่เข้มแข็งในโครงการทั่วไปของสังฆมณฑล
    ความรู้จากประสบการณ์ช่วยยืนยันได้ว่า คุณภาพของการสอนคำสอนในชุมชนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าร่วมและกิจกรรมของพระสงฆ์เป็นอย่างมากจริงๆ