แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนในสถานการณ์เกี่ยวกับคริสตสัมพันธ์ (อ้างถึง GCD(1971) 27; MPG 15; EN 54; CT 32-34)
197    ชุมชนคริสตชนทุกๆชุมชน ตามสภาพความเป็นจริงแท้ๆที่เป็นอยู่  ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าให้สำนึกถึงกระแสเรียกด้านคริสตสัมพันธ์ในสถานการณ์ต่างๆ ซี่งชุมชนได้ค้นพบเอง  โดยการมีส่วนร่วมเสวนาเกี่ยวกับคริสตสัมพันธ์และแผนการสนับสนุนความเป็นเอกภาพของคริสตชน   ดังนั้น การสอนคำสอนจึงถูกเรียกร้องให้แสดงออกถึง “ความสำคัญทางด้านคริสตสัมพันธ์” ในทุกแห่ง (CT 32)  โดยลำดับแรก ต้องแสดงถึงการเปิดเผยทั้งหมดของพระเป็นเจ้าที่พระศาสนจักรได้เก็บรักษาไว้ในพระคลัง  โดยมีการลำดับตามฐานานุกรมแห่งความจริง (hierarchy of truths) (อ้างถึง UR 11)  

ลำดับที่สอง การสอนคำสอนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเอกภาพของความเชื่อซึ่งมีอยู่ระหว่างคริสตชนทั้งหลาย  และอธิบายถึงการแบ่งแยกต่างๆที่มีระหว่างพวกเขา รวมถึงขั้นตอนที่จะเอาชนะการแบ่งแยกเหล่านี้ (อ้างถึง คู่มือแนะแนวการใช้หลักเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องคริสตสัมพันธ์ ข้อ 190 หน้า 1107)   การสอนคำสอนยังช่วยกระตุ้นและหล่อเลี้ยงความต้องการเอกภาพแท้จริง  โดยเฉพาะด้วยความรักพระคัมภีร์  ในที่สุด การสอนคำสอนช่วยเตรียมเด็กๆ  เยาวชนและผู้ใหญ่ให้สามารถดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับบรรดาพี่น้องคริสตชนที่มิใช่คาทอลิกได้  โดยที่พวกเขาสามารถพัฒนาทั้งเอกลักษณ์คาทอลิกของพวกเขาและความเคารพในความเชื่อของผู้อื่น

198    ในสถานการณ์ที่มีการเป็นพยานถึงพระคริสต์ในรูปแบบที่ต่างกัน  พระสังฆราชอาจจะพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือมีความจำเป็นที่จะมีการร่วมมือกันระหว่างคริสตชนคาทอลิกกับคริสตชนอื่นๆในการสอนศาสนา  และในเวลาเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญที่คริสตชนคาทอลิกต้องได้รับการรับรองว่าจะมีการสอนคำสอนคาทอลิกอย่างแท้จริง  โดยทางการจัดสอนให้เป็นพิเศษและด้วยความเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น (อ้างถึง CT 33)
    การสอนศาสนาในโรงเรียนต่างๆที่มีคริสตชนนิกายอื่นมาเรียนนั้น  สามารถก่อให้เกิดคุณค่าในด้านคริสตสัมพันธ์ด้วย เมื่อมีการเสนอคำสอนคริสตชนอย่างแท้จริง   การสอนศาสนานี้เป็นโอกาสให้มีการเสวนาซึ่งจะทำให้อคติและความไม่รู้ข้อมูลของกันและกันถูกขจัดออกไป  และมีการเปิดใจกว้างขึ้นเพื่อที่จะมีความเข้าใจกันและกันได้ดีขึ้น