แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนที่เหมาะกับผู้สูงอายุ (อ้างถึง GCD (1971) 95, ChL 48)
ผู้สูงอายุ  พระพรที่พระเป็นเจ้ามอบให้พระศาสนจักร
186    ในหลายประเทศ  จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นแทนคำท้าทายพระศาสนจักรในด้านการอภิบาลที่เฉพาะและใหม่  บ่อยทีเดียวที่เราเข้าใจว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลเป้าหมายที่ขาดความกระตือรือร้น  และอาจเป็นเพียงสิ่งที่เป็นภาระ  อย่างไรก็ตาม โดยการพิจารณาด้วยความเชื่อ เราจะต้องเข้าใจว่าพวกเขาเป็นเสมือนพระพรที่พระเป็นเจ้ามอบให้กับพระศาสนจักรและสังคม  จึงจะต้องเอาใจใส่สอนคำสอนให้อย่างเหมาะสม  พวกเขาก็มีสิทธิและบทบาทหน้าที่ในเรื่องการสอนคำสอนเช่นเดียวกับคริสตชนทุกคน

    เราต้องให้ความสนใจในความหลากหลายของสถานการณ์ต่างๆของบุคคล  ครอบครัวและสังคมเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเข้าใจถึงสาเหตุของบางกรณี เช่น การแยกตัวออกและโอกาสที่จะถูกละเลย  ครอบครัวมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากในครอบครัวเป็นที่ที่มีการประกาศเรื่องความเชื่อภายในบรรยากาศแห่งการยอมรับและความรักซึ่งยืนยันความมีเหตุผลของคำสอนได้ดีที่สุด  ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม การสอนคำสอนซึ่งมุ่งไปที่ผู้สูงอายุจะต้องเชื่อมโยงกันกับเนื้อหาของความเชื่อ  การเข้าร่วมของครูคำสอนและของชุมชนผู้มีความเชื่ออย่างเอาใจใส่  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการสอนคำสอน

การสอนคำสอนเรื่องความสมบูรณ์และความหวัง
187    การสอนคำสอนให้กับผู้สูงอายุต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับลักษณะบางประการของสภาพความเชื่อของผู้สูงอายุ  ในกรณีที่ผู้สูงอายุอาจจะมีความเชื่อที่สมบูรณ์และเข้มแข็ง  การสอนคำสอนต้องเป็นลักษณะการนำไปสู่ความสมบูรณ์ของกระบวนการแห่งความเชื่อ ด้วยท่าทีแห่งการโมทนาคุณและการมีความหวังในชีวิตหน้าอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนในกรณีผู้สูงอายุที่ดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อแบบอ่อนแอโดยการปฏิบัติในฐานะคริสตชนอย่างไม่สมบูรณ์ การสอน คำสอนจะต้องเป็นช่วงเวลาแห่งการให้ความสว่างใหม่และความรู้จากประสบการณ์ทางศาสนา   บางครั้งกว่าที่มนุษย์เราจะถึงวัยสูงอายุ เขาก็ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ  ในสภาพเช่นนี้ การสอนคำสอนสามารถช่วยเขาให้ทนต่อภาวะที่ประสบได้ในท่าทีแห่งการภาวนา  การให้อภัย  และความสงบภายในจิตใจ
    อย่างไรก็ดี ภาวะของผู้สูงอายุเรียกร้องให้มีการสอนคำสอนเพื่อให้เกิดความหวัง  ซึ่งพัฒนามาจากเรื่องภาวะที่แน่นอนแห่งการพบกับพระเป็นเจ้าในท้ายที่สุด การสอนคำสอนเช่นนี้จะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้สูงอายุและเป็นการปรับปรุงคุณภาพของชุมชนคริสตชน   เมื่อผู้สูงอายุรับภาระเป็นพยานถึงความเชื่อซึ่งเติบโตอย่างสง่างามยิ่งขึ้น  ขณะที่พวกเขาค่อยๆ เข้าใกล้ช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งที่จะพบกับพระเป็นเจ้า

ปรีชาญาณและการเสวนา (อ้างถึง ChL 48)
188    พระคัมภีร์เสนอภาพชายชราผู้หนึ่งให้แก่เราในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่เปี่ยมด้วยปรีชาญาณ  และความยำเกรงพระเป็นเจ้า  และเป็นดั่งตู้เก็บความรู้จากประสบการณ์ที่เข้มข้นของชีวิต  ซึ่งเหตุนี้ทำให้เขาเป็น “ครูคำสอน” โดยธรรมชาติในชุมชน   เขาเป็นพยานคนหนึ่งในกระบวนการสืบทอดความเชื่อ    เป็นครูด้วยชีวิตคนหนึ่ง  และเป็นคนงานผู้ประกอบด้วยเมตตาจิตคนหนึ่ง   การสอน คำสอนให้คุณค่าแก่พระพรนี้   ซึ่งช่วยผู้สูงอายุให้ค้นพบความมีค่ามากมายในตัวของเขา  และรับบทบาทเป็นครูคำสอนท่ามกลางเด็กๆ ผู้ที่มักจะยกย่องให้เขาเป็นปู่ย่าตายาย ดังนั้นการเสวนาที่เป็นรากฐานระหว่างคนรุ่นต่างๆ ควรได้รับการสนับสนุนทั้งภายในครอบครัวและภายในชุมชน