แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนผู้ใหญ่ (อ้างถึง ภาคที่ 3  บทที่ 1  ข้อ 142-144;  GCD (1971) 20,92-97, CT 43-44; COINCAT, การสอนคำสอนผู้ใหญ่ในชุมชนคริสตชน, 1990)
บรรดาผู้ใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของการสอนคำสอน (อ้างถึง GCD (1971) 20; CT 19,44; COINCAT 10-18)
172    การบรรยายเรื่องความเชื่อให้กับผู้ใหญ่  ต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงประสบการณ์และสถานการณ์ของพวกเขา  อีกทั้งการท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในชีวิต  ปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขาก็มีอยู่มากมายและหลากหลายเช่นเดียวกับความต้องการของพวกเขา (อ้างถึง COINCAT 10-18) เพราะฉะนั้นจึงอาจแบ่งแยกประเภทของผู้ใหญ่ที่จะรับการสอนคำสอนได้ดังต่อไปนี้
    - ผู้ใหญ่คริสตชน ผู้ซึ่งดำเนินชีวิตอย่างยึดมั่นตามทางความเชื่อของพวกเขา  และปรารถนาอย่างแท้จริงในความต้องการทำให้ความเชื่อนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    - ผู้ใหญ่ซึ่งได้รับศีลล้างบาปแล้ว  แต่มิได้รับการสอนคำสอนลึกซึ้งเพียงพอ  หรือมิได้รับการโน้มนำให้เกิดความสุขและพอใจในการเดินทางอันเกิดจากการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน   หรือมีความเชื่อลดลง  จนถึงระดับที่อาจเรียกได้ว่า “คล้ายผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน” (CT 44)
    - ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับศีลล้างบาป  ซึ่งจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นคริสตชนอย่างแท้จริง  และถูกต้องเหมาะสม (อ้างถึง CT 19)
    ยังจะต้องพูดถึงเรื่องบรรดาผู้ใหญ่ที่ได้ประกาศตนเป็น   คริสตชนในนิกายอื่นๆ  ซึ่งไม่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก

องค์ประกอบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับการสอน
คำสอนผู้ใหญ่ (อ้างถึง GCD 1971) 92-94; COINCAT 20-25, 26-30, 38-84)
173    การสอนคำสอนผู้ใหญ่เป็นห่วงบุคคลต่างๆ ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่พระเป็นเจ้าทรงหว่านไว้ในตัวเขาเติบโตเต็มที่ (อ้างถึง 1คร 13:11; อฟ 4:13)  และมีจุดหมายอยู่ที่ปัจเจกชนทั้งหลายผู้ซึ่งได้รับการตักเตือนให้มีความรับผิดชอบต่างสังคมในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งบรรดาบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบซึ่งบางครั้งก็ลึกล้ำ   ดังนั้น ความเชื่อของผู้ใหญ่ทั้งหลายจะต้องได้รับการส่องสว่าง พัฒนาและปกป้องอย่างต่อเนื่อง  เพื่อที่ความเชื่อนั้นอาจทำให้ได้รับปรีชาญาณแบบคริสตชน  ซึ่งทำให้มีความฉลาดในประสบการณ์มากมายทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว  ด้านสังคมและชีวิตจิต  อีกทั้งสามารถนำสิ่งต่างๆเหล่านี้มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันจนเกิดความหวังในสิ่งใหม่นั้น   การสอนคำสอนผู้ใหญ่ต้องการการบ่งชี้ถึงลักษณะเฉพาะต่างๆ อันเป็นแบบฉบับของผู้ใหญ่คริสตชนอย่างแม่นยำ เพราะจะต้องแปลสิ่งนี้ไปเป็นวัตถุประสงค์ต่างๆ  และเนื้อหาสาระของการสอน  รวมถึงการกำหนดสิ่งที่จะต้องมีอยู่อย่างถาวรในการเสนอเนื้อหาทั้งหลาย  การสอนคำสอนนี้จะต้องกำหนดวิธีการต่างๆที่เป็นหลักการซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุด  และเลือกรูปแบบต่างๆ ของการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดและแบบอย่างต่างๆ   บทบาทและเอกลักษณ์ของครูคำสอนซึ่งทำงานกับผู้ใหญ่ทั้งหลายและการฝึกอบรมของพวกเขา -บุคคลที่รับผิดชอบเรื่องการสอนคำสอนผู้ใหญ่ในชุมชน- เป็นความสำคัญที่ขาดไม่ได้ (อ้างถึง COINCAT 33-84)

174    ในบรรดาหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้มั่นใจจนกล่าวได้ว่า การ สอนคำสอนผู้ใหญ่เป็นของแท้จริงและมีประสิทธิภาพ  จะต้องประกอบด้วยเรื่องต่อไปนี้
    - การพิจารณาถึงบรรดาบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการสอนคำสอน  ในสถานภาพของพวกเขาคือ ผู้ใหญ่ที่เป็นชายและหญิง  จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัญหาและประสบการณ์ต่างๆของพวกเขา  คุณลักษณะต่างๆเฉพาะบุคคลทั้งทางด้านจิตใจและด้านสังคม  ด้วยความเคารพในความแตกต่างของพวกเขาอย่างแท้จริง
    - การพิจารณาถึงฐานะฝ่ายฆราวาสของผู้ใหญ่ทั้งหลาย  ผู้ซึ่งศีลล้างบาปได้มอบภารกิจเรื่อง “การแสวงหาพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า  โดยการเข้ามีส่วนร่วมในงานต่างๆทางโลกและควบคุมให้งานเหล่านั้นเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า” (LG 31; เทียบ EN 70; ChL 23)  และผู้ซึ่งได้รับเรียกมาสู่ความศักดิ์สิทธิ์ (อ้างถึง ChL 57-59) 
    - การพิจารณาถึงความเกี่ยวพันของชุมชน  เพื่อว่าการสอนคำสอนจะได้อยู่ในบรรยากาศแห่งการต้อนรับและการสนับสนุน
    - การพิจารณาเพื่อทำให้งานอภิบาลผู้ใหญ่อย่างเป็นระบบมีความมั่นคง  โดยมีการรวมเอาการอบรมเกี่ยวกับพิธีกรรมและงานบริการด้านเมตตาธรรมเข้าไว้ด้วย

หน้าที่โดยทั่วไปและหน้าที่โดยเฉพาะของการสอนคำสอนผู้ใหญ่ (อ้างถึง GCD (1971) 97)
175    เพื่อจะตอบสนองความต้องการต่างๆ ที่ลึกซึ้งในช่วงเวลาของเรา  การสอนคำสอนผู้ใหญ่จะต้องนำเสนอความเชื่อคริสตชนในลักษณะที่สมบูรณ์และเชื่อถือได้อย่างเป็นระบบตามความเข้าใจของพระศาสนจักร  โดยต้องให้ความสำคัญกับการประกาศเรื่องการช่วยให้รอดพ้นเป็นอันดับแรก ด้วยการจูงความสนใจไปยังความยุ่งยาก  ข้อสงสัย  ความเข้าใจผิด  อคติและการโต้แย้งมากมายในปัจจุบัน   การสอนคำสอนต้องแนะนำผู้ใหญ่ให้อ่านพระคัมภีร์ด้วยความเชื่อมั่นและให้หมั่นภาวนา   หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกและหนังสือคำสอนผู้ใหญ่อันมีหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นพื้นฐาน   ซึ่งจัดทำโดยพระศาสนจักรท้องถิ่นก็ได้ให้การบริการขั้นพื้นฐานประการหนึ่งแก่การสอนคำสอนผู้ใหญ่ (คือให้เนื้อหาเพื่อนำไปสอน)  ส่วนหน้าที่โดยเฉพาะของการสอนคำสอนผู้ใหญ่นั้นมีดังนี้
    - ส่งเสริมการอบรมและการพัฒนาชีวิตในพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ  โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น วิธีสอนเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  การเข้าเงียบ  การชี้แนวทางด้านจิตวิญญาณ
    - ให้การศึกษาเรื่องการประเมินผลอันถูกต้องในเรื่องความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม  โดยอาศัยการพิจารณาด้วยความเชื่อ นั่นคือชุมชนคริสตชนต้องได้รับการสนับสนุนในคุณค่าอ้นแท้จริงต่างๆ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ในอารยธรรมของเรา  และต้องเรียนรู้ถึงอันตรายในอารยธรรมนี้เช่นกัน  อีกทั้งได้รับการสนับสนุนในการนำเอาทัศนคติที่เหมาะสมมาใช้
    - ให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ปัญหาต่างๆ ด้านศาสนาและด้านศีลธรรม ซึ่งก็คือ  ปัญหาทั้งหลายที่ทั้งชายและหญิงในยุคของเราต้องประสบ  ตัวอย่างเช่น ศีลธรรมของตัวบุคคลและของสังคม  โดยคำนึงถึงปัญหาต่างๆทางสังคมและการให้การศึกษาแก่บุคคลในโลกอนาคต (future generations) 
    - ให้ความกระจ่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินการฝ่ายโลกและการดำเนินการฝ่ายพระศาสนจักร  โดยแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและความเกี่ยวข้องมากมายระหว่างกัน  และการมีผลกระทบต่อกันอย่างเหมาะสม   ด้วยจุดมุ่งหมายในข้อนี้เอง ที่ทำให้คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรเป็นส่วนที่จำเป็นต่อความสมบูรณ์ของคำสอนผู้ใหญ่
    - ให้การพัฒนารากฐานเหตุผลแห่งความเชื่อ  เพื่อว่าการเข้าใจที่ถูกต้องในความเชื่อและข้อเท็จจริงต่างๆที่ต้องเชื่อนั้น สอดคล้องกันกับความต้องการมากมายในเรื่องเหตุผลและสัมพันธ์กับพระวรสารเสมอ   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมเป้าหมายด้านการอภิบาลแนวคิดและวัฒนธรรมของคริสตชนอย่างมีประสิทธิภาพ  งานนี้ช่วยให้ชนะบางรูปแบบของมูลฐานนิยม (fundamentalism)   รวมถึงการตีความโดยพลการและแบบส่วนตัว
    - กระตุ้นผู้ใหญ่ให้มีส่วนรับผิดชอบในพันธกิจของพระศาสนจักร  และสามารถเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระคริสตเจ้าในสังคมได้
    ผู้ใหญ่จะต้องได้รับความช่วยเหลือให้สามารถค้นพบ ประเมินค่าและปฏิบัติสิ่งที่เขาได้รับมาโดยธรรมชาติและโดยทางพระหรรษทาน  ทั้งในชุมชนคริสตชนและโดยทางการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมมนุษย์  ด้วยวิถีทางนี้เขาจะสามารถฝ่าฟันภัยอันตรายต่างๆจากการจัดมาตรฐานและการปกปิดตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่เด่นเป็นพิเศษในบางสังคมที่มีอยู่ทุกวันนี้  และนำไปสู่การสูญเสียเอกลักษณ์และขาดความรู้คุณค่าในทรัพย์สินและคุณลักษณะต่างๆของปัจเจกชน

รูปแบบเฉพาะของการสอนคำสอนผู้ใหญ่ (อ้างถึง ภาคที่ 1  บทที่ 2 ; GCD (1971) 96)
176    สถานการณ์และสภาพแวดล้อมบางอย่างต้องการการสอน คำสอนในรูปแบบเฉพาะต่างๆ ดังนี้
    - การสอนคำสอนสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน  หรือการเตรียมตัวเป็นคริสตชนของผู้ใหญ่ทั้งหลาย การสอนคำสอนนี้มีรูปแบบที่ชัดเจนของตัวเองใน RCIA
    - รูปแบบต่างๆที่สืบต่อกันมาจากการสอนคำสอนของประชากรของพระเป็นเจ้า ได้ถูกปรับให้เหมาะสมตามกำหนดเวลาในปีพิธีกรรม  หรือในรูปแบบพิเศษของงานแพร่ธรรมต่างๆ
    - การสอนคำสอนต่อเนื่องของบรรดาบุคคลที่มีหน้าที่ฝึกอบรมในชุมชน ซึ่งก็คือ ครูคำสอนและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานฆราวาสแพร่ธรรม
    - การสอนคำสอนสำหรับโอกาสที่สำคัญพิเศษในชีวิต เช่น การแต่งงาน  การล้างบาปให้แก่เด็กๆ รวมถึงการรับศีลมหาสนิทครั้งแรกและการรับศีลกำลัง  ช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ ในวัยหนุ่มวัยสาว  ในยามเจ็บป่วย ฯลฯ  ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ บุคคลมนุษย์ชอบที่จะค้นหาความหมายอันแท้จริงของชีวิตมากกว่าเคย
    - สำหรับโอกาสและประสบการณ์ต่างๆที่พิเศษ เช่น โอกาสเริ่มเข้าทำงาน  เข้าเป็นทหาร  อพยพไปอยู่ที่ใหม่ ฯลฯ   การเปลี่ยนแปลงเช่นที่กล่าวมานี้อาจช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ในจิตใจ  หรือสร้างความยุ่งยากใจ  เป็นโอกาสที่จะเน้นถึงความต้องการพระวาจาที่ช่วยให้รอดของพระเป็นเจ้า
    - การสอนคำสอนเพื่อให้คริสตชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์   โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและการท่องเที่ยว
    - การสอนคำสอนสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ ในชีวิตของพระศาสนจักรและสังคม
    การสอนคำสอนในรูปแบบเฉพาะดังที่กล่าวมานี้  รวมทั้งรูปแบบพิเศษอื่นๆ อีก เป็นสิ่งที่ส่งเสริม  แต่มิอาจทดแทนหลักสูตรการสอนคำสอนอย่างมีแบบแผนและต่อเนื่องที่ชุมชนพระศาสนจักรทุกแห่งต้องจัดสำหรับบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลาย