ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสอนคำสอนในพระศาสนจักร
90 ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า พันธกิจการเผยแผ่ธรรมสู่นานาชาติ เป็นแบบแผนของกิจการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมของพระศาสนจักร ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปซึ่งถูกเชื่อมต่อกับการเผยแผ่ธรรมนั้น คือแบบอย่างของกิจกรรมการสอนคำสอน (อ้างถึง MPD 8, EN 44,ChL 61) ดังนั้น จึงเป็นการดีที่จะเน้นความสำคัญของเหล่าองค์ประกอบของการเตรียมตัวเป็นคริสตชนนั้น ซึ่งต้องช่วยผลักดันการสอนคำสอนที่ทันสมัยและลักษณะสำคัญของการสอนคำสอน
อย่างไรก็ตาม โดยอาศัยหลักสมมติฐานทำให้เรากล่าวได้ว่า มีความแตกต่างในเบื้องต้นระหว่างผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนกับผู้กำลังเรียนคำสอน (ในเอกสาร GCD คำว่า “ผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน” และคำว่า “ผู้กำลังเรียนคำสอน” นี้ใช้บอกให้เห็นถึงความแตกต่างดังกล่าวนี้ ในส่วนของเอกสาร CIC ข้อ 204-206 ให้ข้อสังเกตถึงความแตกต่างแห่งการรวมกับพระศาสนจักรของผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนกับสัตบุรุษคริสตชน) ระหว่างช่วงการเรียนคำสอนก่อนรับศีลล้างบาป กับช่วงการเรียนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป อันเป็นช่วงเวลาสำหรับบุคคลทั้งสองพวกตามลำดับ ช่วงการเรียนคำสอนหลังรับศีลล้างบาปสืบเนื่องมาจากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนของผู้แรกเริ่มชีวิตคริสตชน “ผู้ซึ่งถูกนำเข้าสู่พระศาสนจักรเรียบร้อยแล้ว และก็ได้เป็นบุตรของพระเป็นเจ้าโดยอาศัยศีลล้างบาป พื้นฐานการกลับใจของพวกเขาอยู่ที่ศีลล้างบาปที่ได้รับแล้ว และพลังแห่งศีลล้างบาปที่พวกเขาต้องพัฒนา (อ้างถึง RCIA 295, CT 44)
91 เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อแตกต่างอันสำคัญนี้ เราต้องมาพิจารณาองค์ประกอบบางประการในช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาป ในฐานะที่เป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เกิดการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป
- ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปย้ำเตือนพระศาสนจักรทั้งมวลอยู่เสมอๆ ถึงความสำคัญพื้นฐานของหน้าที่การนำเข้าสู่ชีวิต คริสตชน และองค์ประกอบพื้นฐานซึ่งก่อให้เกิดการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน อันได้แก่ การสอนคำสอน ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท งานอภิบาลในเรื่องการนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระศาสนจักรเฉพาะถิ่นทุกๆ แห่ง
- ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มคริสตชนทั้งกลุ่ม อันที่จริง “การนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนที่ทำกันในช่วงเวลาเตรียมตัวเป็นคริสตชนนี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ และครูคำสอนแต่เพียงลำพังทั้งหมด แต่ควรให้อยู่ในการดูแลของกลุ่มคริสตชนทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะพ่อแม่อุปถัมภ์” (อ้างถึง AG 14d) ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่จัดอบรมบุคคลผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนจึงเพิ่มความรู้สำนึกถึงความเป็นมารดาทางด้านจิตใจของพระศาสนจักร ซึ่งพระศาสนจักรต้องจัดให้มีการศึกษาเรื่องความเชื่อในทุกรูปแบบ (ตัวอย่างเช่น เมโธดีอุส แห่งโอลิมปุส พูดถึงการทำหน้าที่มารดาของกลุ่มคริสตชน โดยเขากล่าวว่า เราเอาใจใส่บุคคลที่ยังไม่สมบูรณ์ในชีวิตคริสตชนก็เพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ และนำเขาให้เกิดใหม่ในฐานะมารดาคนหนึ่ง) (GCS 27,88)
- ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปยังเต็มไปด้วยพระธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของพระคริสต์อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่ว่า “การนำเข้าสู่ชีวิตคริสตชนทุกช่วงต้องเปิดเผยลักษณะธรรมชาติของปัสกาอย่างชัดเจน” (อ้างถึง RCIA 8) เทศกาลเตรียมฉลองปัสกา อันคือ ช่วงเวลาที่เป็นศูนย์รวมของพิธีกรรมคริสตชน และชีวิตจิตแห่งศีลล้างบาปในเทศกาลนี้ผลักดันให้เกิดการสอนคำสอนทุกรูปแบบ
- ช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปยังเป็นจุดเริ่มต้นการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม ตามแบบอย่างการรับเอากายของพระบุตรของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อย่างชัดแจ้ง พระศาสนจักรต้อนรับผู้ที่เตรียมเป็นคริสตชนอย่างครบถ้วนพร้อมด้วยความเชื่อมต่อกับวัฒนธรรมของพวกเขา กิจกรรมการสอนคำสอนทั้งหมดมีส่วนร่วมทำหน้าที่อันนี้คือ การรวมเอา “บรรดาเมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจา” อันแท้จริง ที่ได้ถูกทำให้กระจายไปยังชาติต่างๆ และบุคคลต่างๆ เข้าสู่ความเป็นสากลของพระศาสนจักร (อ้างถึง CT 53)
- ท้ายสุดนี้ แนวคิดเรื่องช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาป เป็นกระบวนการฝึกอบรมและเป็นระบบการศึกษาที่มีศรัทธาเรื่องความเชื่อ ถ่ายทอดพลังและลักษณะพิเศษต่างๆ ให้กับการสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป ซึ่งได้แก่ ความเข้าใจอันดีและสภาพที่สมบูรณ์ของการฝึกอบรม ลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่มีอยู่ในขั้นต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ความเชื่อมโยงกับพิธีกรรมต่างๆ สัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องหมายในพระคัมภีร์และพิธีกรรมทั้งหลายที่สำคัญ การอ้างอิงกับกลุ่มคริสตชนอย่างสม่ำเสมอ
การสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาป ที่ไม่ได้เลียนแบบโครงสร้างของช่วงเวลาเตรียมตัวรับศีลล้างบาปอย่างไม่สร้างสรรค์และสำนึกในสภาพที่เป็นจริงของศีลล้างบาปในบุคคลที่เรียนคำสอน เป็นสิ่งที่ดีเพื่อจะดึงเอาแรงบันดาลใจจาก “ระบบการศึกษาขั้นเตรียมตัวเข้าสู่ชีวิตคริสตชน” (อ้างถึง GCD (1971) 130 ) และยอมให้การสอนคำสอนหลังรับศีลล้างบาปเองมีความเพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของช่วงเวลาเตรียมตัวเป็น คริสตชน