วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ข่าวดี ลูกา 3:1-6
(1)ในปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลพระจักรพรรดิทิเบรีอัส ปอนทิอัสปีลาตเป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย กษัตริย์เฮโรดทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นกาลิลี ฟีลิปพระอนุชาทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นอิทูเรียและตราโคนิติส ลีซาเนียเป็นเจ้าปกครองแคว้นอาบีเลน (2)อันนาสและคายาฟาสเป็นหัวหน้าสมณะ พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์นบุตรของเศคาริยาห์ในถิ่นทุรกันดาร (3)เขาจึงไปทั่วแม่น้ำจอร์แดน เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป (4)ตามที่มีเขียนไว้ในหนังสือบันทึกของประกาศกอิสยาห์ว่า
“คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า
จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด
(5)หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมให้เต็ม
ภูเขาและเนินทุกแห่งจะถูกปรับให้ต่ำลง
ทางคดเคี้ยวจะกลายเป็นทางตรง
ทางขรุขระจะถูกทำให้ราบเรียบ
(6)แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า”
การปรากฏตัวของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะท่านเป็นผู้เตรียมทางต้อนรับพระเมสสิยาห์ซึ่งกำลังจะเสด็จมา ด้วยเหตุนี้ ลูกาจึงระบุช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งยวดนี้ ด้วยการอ้างอิงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่างน้อย 6 รายด้วยกัน กล่าวคือ
1. ลูกาเริ่มต้นด้วยการอ้างอิงบุคคลสำคัญของ “ประวัติศาสตร์โลก” ซึ่งในยุคนั้นไม่มีชนชาติใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าชาวโรมัน
ทิเบรีอัสเป็นจักรพรรดิองค์ที่สองของอาณาจักรโรมันสืบต่อจากเอากุสตุส แม้เอากุสตุสจะเคยแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นจักรพรรดิร่วมบัลลังก์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 11 หรือ 12 แต่พระองค์พึ่งจะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเต็มตัวเมื่อปี ค.ศ. 14
“ปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลพระจักรพรรดิทิเบรีอัส” (ข้อ 1) จึงตกประมาณปี ค.ศ. 28 หรือ 29
2. จากประวัติศาสตร์โลก ลูกาบีบให้แคบลงมาเป็น “ประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์”
โรมแบ่งการปกครองภายในอาณาจักรออกเป็นจังหวัด ปาเลสไตน์เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเธสสาลีและกาลาเทีย (Thessaly – Galatia) ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 4 แคว้น แต่ละแคว้นมี “เจ้าปกครอง” (Tetrarch) เป็นผู้ดูแล
อันที่จริง คำ “เจ้าปกครอง” หรือ Tetrarch มีความหมายตามรากศัพท์คือ “เจ้าผู้ปกครองแคว้นที่สี่” แต่คำนี้ใช้หมายถึงเจ้าผู้ปกครองแคว้นใดก็ได้ในจังหวัดเธสสาลีและกาลาเทีย และต่อมาใช้เรียกเจ้าผู้ปกครองทุกคนภายในอาณาจักรโรมัน
เฮรอดมหาราชเป็นกษัตริย์ปกครองปาเลสไตน์จนถึงปีที่ 4 ก.ค.ศ. รวมเวลาแห่งรัชสมัยได้ 40 ปี ก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 3 ส่วนให้แก่โอรส 3 พระองค์โดยได้รับความเห็นชอบจากโรม
2.1 เฮโรด อันติพาส เป็นเจ้าปกครองแคว้นกาลิลีและเปเรอาตั้งแต่ 4 ปี ก.ค.ศ. จนถึง ค.ศ. 39 รวมเวลา 43 ปี ชีวิตส่วนใหญ่ของพระเยซูเจ้าอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์นี้
2.2 เฮโรด ฟีลิป เป็นเจ้าปกครองแคว้นอิทูเรียและตราโคนิติสตั้งแต่ 4 ปี ก.ค.ศ. จนถึง ค.ศ. 33 รวมเวลา 37 ปี พระองค์เป็นผู้สร้างเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปและตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์
2.3 เฮโรด อาร์เคเลาส์ เป็นเจ้าปกครองแคว้นยูเดีย สะมาเรีย และเอโดม แต่เพราะทรงเป็นทรราช ชาวยิวจึงเรียกร้องให้โรมปลดพระองค์ออกจากตำแหน่ง โรมจึงแต่งตั้งผู้ว่าราชการเข้ามาปกครองแคว้นยูเดีย นับเป็นการเปิดโอกาสให้โรมเข้ามามีอำนาจโดยตรงในปาเลสไตน์
ปอนทิอัส ปีลาต เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดียระหว่างปี ค.ศ. 25 ถึง 37
3. ส่วนลีซาเนียผู้เป็นเจ้าปกครองแคว้นอาบีเลนนั้น เราไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับท่านเลย
4. จากประวัติศาสตร์ของโลกและของปาเลสไตน์ ลูกาบีบให้แคบลงมาอีก นั่นคือประวัติศาสตร์ “ด้านศาสนา” ในช่วงเวลาที่ยอห์นเริ่มปรากฏตัวเทศน์สอนให้ประชาชนรับพิธีล้าง
อันนาสและคายาฟาสเป็นหัวหน้าสมณะ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำทั้งด้านการเมืองและศาสนา แรกเริ่มเดิมที่ตำแหน่งหัวหน้าสมณะคงอยู่ตลอดชีวิตและสืบทอดเป็นมรดกภายในวงศ์ตระกูล แต่เมื่อโรมมีอำนาจเหนือปาเลสไตน์ ตำแหน่งนี้กลับเต็มไปด้วยผลประโยชน์และการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ลำพังจากปี 37 ก.ค.ศ. จนถึงปี ค.ศ. 26 รวมเวลาเพียงแค่ 63 ปี มีหัวหน้าสมณะไม่ต่ำกว่า 28 คนโดยไม่ซ้ำหน้ากันเลย
อันนาสเป็นหัวหน้าสมณะระหว่างปี ค.ศ. 7-14 จึงพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเมื่อยอห์นปรากฏตัว แต่ผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาคือลูกชายอีกไม่ต่ำกว่า 4 คน และคายาฟาสผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณะขณะนั้นก็เป็นบุตรเขยของเขาเอง
ตลอดประวัติศาสตร์ของชาวยิว ไม่เคยปรากฏว่ามีหัวหน้าสมณะดำรงตำแหน่งพร้อมกันสองคน แต่สาเหตุที่ลูกาอ้างถึงอันนาสและคายาฟาสพร้อมกัน เป็นเพราะว่าแม้คายาฟาสจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณะก็จริง แต่ผู้อยู่เบื้องหลังอำนาจตัวจริงคืออันนาส
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเยซูเจ้าถูกจับกุม พระองค์จึงถูกนำไปพบอันนาสก่อนคายาฟาสเสียอีก (ยน 18:13)
การอ้างอิงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มากมายเช่นนี้ แสดงถึง “ความสำคัญอย่างยิ่งยวด” ของการออกมาเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
ลูกาได้ยกบันทึกของประกาศกอิสยาห์บทที่ 40 ข้อ 3-5 ที่ว่า “มีผู้ตะโกนร้องในถิ่นกันดารว่า จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” เพื่อชี้ให้เห็นบทบาทของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
ในซีกโลกตะวันออก เมื่อกษัตริย์จะเสด็จเยือนดินแดนภายใต้การปกครอง พระองค์จะส่ง “ผู้นำสาร” ไป “ประกาศข่าว” ล่วงหน้าเพื่อประชาชนจะได้ตระเตรียมถนนหนทางให้ราบเรียบและตรง รวมถึงตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามเพื่อรับเสด็จพระมหากษัตริย์
บทบาทของยอห์นคือ “ผู้นำสาร”
กษัตริย์ที่กำลังจะเสด็จมาคือ “พระกุมารเจ้า” ผู้นำ “ความรอดพ้นจากพระเจ้า” มาสู่ปวงมนุษย์ (ข้อ 6)
และท้ายที่สุด ประชาชนที่จะต้องเตรียมหนทางรับเสด็จพระมหากษัตริย์ย่อมได้แก่ “พวกเราทุกคน”
วิธีเตรียมรับเสด็จที่ยอห์นเทศน์สอนคือ “จงเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ข้อ 3)
BDAG ซึ่งเป็นพจนานุกรมกรีกที่ได้รับการยอมรับมากเล่มหนึ่ง ให้ความหมายของการ “กลับใจ” ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ
1. การเปลี่ยนศาสนา เปลี่ยนความเชื่อ
2. การเป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำบาปผิดต่อพระเจ้า
3. การเปลี่ยนความคิด จิตใจ และวิถีดำเนินชีวิตอย่างสิ้นเชิง
ความหมายนัยที่สาม นี้ถือว่าสำคัญที่สุด แต่กลับถูกละเลยมากที่สุด !
ตัวอย่างการกลับใจตามนัยที่สาม เราสามารถเห็นได้ชัดเจนจากชีวิตของนักบุญเปาโล เมื่อครั้งที่ท่านต่อสู้กับพวก “ยิวนิยม” ที่วางใจในการเข้าสุหนัตและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของโมเสส มากกว่าวางใจในพระเยซูเจ้า (ฟป 3:1-21) ท่านได้เล่าชีวิตก่อนการกลับใจที่เป็นแบบ “ยิวนิยม” สุดโต่งให้ฟังว่า
“แม้ว่าข้าพเจ้ามีเหตุผลที่จะวางใจในการปฏิบัติเช่นนี้ได้ก็ตาม ถ้าผู้ใดคิดว่าตนมีเหตุผลที่จะวางใจในการปฏิบัติเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ยังมีเหตุผลมากกว่า ข้าพเจ้าได้รับพิธีสุหนัตเมื่อเกิดมาได้แปดวัน เป็นเชื้อสายชนชาติอิสราเอลจากตระกูลเบนยามิน เป็นชาวฮีบรูเกิดจากชาวฮีบรู ในด้านธรรมบัญญัติ เป็นชาวฟาริสี ในด้านความกระตือรือร้น เป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนจักร ในด้านความชอบธรรมตามธรรมบัญญัติ ไม่มีสิ่งใดจะตำหนิข้าพเจ้าได้”
แต่หลังกลับใจ วิถีดำเนินชีวิตของท่านเปลี่ยนไปอยู่ข้างพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง
“สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าละทิ้งเพราะพระคริสตเจ้า นับแต่บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีกเมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือการรู้จักพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยอมสูญเสียทุกสิ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร”
นั่นคือ เมื่อ “กลับใจ” นักบุญเปาโลได้ตัดสินใจ “เลือกข้างชัดเจน” ระหว่าง “พระเยซูคริสตเจ้า” กับ “สิทธิพิเศษที่ได้จากการเป็นยิว”
พร้อมกันนี้ ท่านได้ “ละทิ้งทุกสิ่ง” โดยถือว่าทุกสิ่งเป็นเพียงปฏิกูลเมื่อเทียบกับพระเยซูคริสตเจ้า
การที่เรายังหลงใหลในวัตถุนิยมก็ดี การตามกระแสบริโภคนิยมก็ดี การรับใช้ผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ต่ำต้อยก็ดี การเห็นแก่ตัวและยึดมั่นในอัตตาของตนก็ดี การไม่ละทิ้งความประพฤติบางอย่างก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรายังไม่ได้เลือกข้างอย่างเด็ดขาดระหว่าง “พระเยซูเจ้า” กับ “การละทิ้งทุกสิ่ง”
การสำนึกผิดและเป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำบาปตามความหมายนัยที่สองนั้น แม้เป็นสิ่งที่ดีมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะตราบใดที่เราไม่ “กลับใจหันมาอยู่ข้างพระเยซูเจ้า” ตราบนั้นเราก็เป็นเหมือนนักกีฬาที่ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาวิ่งต่อโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเส้นชัยอยู่ที่ไหน !
ต่างจากนักบุญเปาโลที่ “กลับใจ” โดยการ “เลือกพระเยซูเจ้า” ก่อน หลังจากนั้น หากล้มลงก็ต้องลุกขึ้นมาวิ่งต่อจนกว่าจะเข้าเส้นชัย ดังที่ท่านกล่าวต่อมาว่า
“พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าทำเพียงอย่างเดียวคือ ลืมสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มุ่งสู่เบื้องหน้าอย่างสุดกำลัง ข้าพเจ้ากำลังวิ่งเข้าสู่เส้นชัยไปหารางวัลที่พระเจ้าทรงเรียกจากสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเข้าไปรับในพระคริสตเยซู” (ฟป 3:13-14)
การปรากฏตัวเทศน์สอนทั่วแม่น้ำจอร์แดนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง จึงไม่ได้เป็นเพียงจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในชีวิตของเราแต่ละคนอีกด้วย !
บัดนี้ความรอดจากพระเจ้ามาถึงแล้ว !!!
สิ่งที่เราต้องเตรียมให้ตรงและเรียบ ไม่ใช่ถนน แต่เป็น “ชีวิตของเรา” เอง….
ชีวิตที่ “เปลี่ยนและหันกลับมา คิด ปรารถนา และดำเนินชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้า” !!!