แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า


ข่าวดี    ลูกา 1:39-45
    (39)หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย  (40)พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ  (41)เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น  นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม  (42)ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย  (43)ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า  (44)เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี  (45)เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”



เมื่อนางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ได้หกเดือน พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ว่า พระนางจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าผู้สูงสุดจะเรียกว่า “บุตร” ของพระองค์ (ลก 1:31)
แต่เนื่องจากแม่พระยังเป็นพรหมจารีอยู่ จึงถามทูตสวรรค์ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร ?
ทูตสวรรค์ตอบยืนยันโดยอ้างถึงนางเอลีซาเบธว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นหมันและอายุมากแล้ว นางยังตั้งครรภ์ได้ตั้งหกเดือนแล้ว
    เมื่อทราบว่านางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ แม่พระซึ่งเป็นชาวเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี จึงเร่งรีบเดินทางลงใต้ มาเยี่ยมนางเอลีซาเบธซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่งแถบภูเขาในแคว้นยูเดีย (อาจเป็นเมืองเฮโบรน – เทียบ ยชว 21:11)

    เมื่อเข้าไปในบ้าน  ทันทีที่นางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของแม่พระ นางก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้า พร้อมกับร้องเสียงดังว่า “ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า”
ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อความใดในพระคัมภีร์ที่ระบุว่านางเอลีซาเบธรู้เรื่องการตั้งครรภ์ของแม่พระ  แต่ไฉนนางจึงเรียกหญิงพรหมาจารีผู้นี้ว่า “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ?
    นี่ย่อมเป็นการไขแสดงของพระจิตเจ้าล้วน ๆ !
    แม้แต่ “ลูกในครรภ์” ของนางเอลีซาเบธเองก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้าและได้รับการไขแสดงให้ทราบเช่นกันว่า “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เสด็จมาเยี่ยม  จึงโลดเต้นยินดีเมื่อได้ยินคำทักทายของแม่พระ (ข้อ 41)
    สมดังคำทำนายของทูตสวรรค์กาเบรียลที่พูดกับเศคาริยาห์ผู้เป็นบิดาว่า “เขา (ยอห์น) จะรับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15)
    เท่ากับว่า พระจิตเจ้าทรงยืนยันผ่านทางปากของนางเอลีซาเบธ และผ่านทางการดิ้นของยอห์นซึ่งยังอยู่ในครรภ์ว่า  พระนางมารีย์ทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
     เป็นมารดาซึ่งตั้งครรภ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า และบุตรที่เกิดมานั้น “จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และพระเจ้าผู้สูงสุดจะทรงเรียกเขาเป็นบุตรของพระองค์  พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษให้แก่เขา  เขาจะปกครองวงศ์ตระกูลของยาโคบตลอดไป  และพระอาณาจักรของเขาจะไม่สิ้นสุดเลย” (ลก 1:32-33)
    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระจิตเจ้าทรงยืนยันผ่านทางนางเอลีซาเบธและทารกในครรภ์ของนางว่าบุตรของพระนางมารีย์หรือ “พระกุมาร” คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นั่นเอง

    นอกจากยอมรับพระนางมารีย์เป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้ว นางเอลีซาเบธยังร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย” (ข้อ 42)
    ใช่ แม่พระได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ เพราะพระเจ้าทรงโปรดปรานและเลือกสรร  แต่ก็เป็นแม่พระผู้ได้รับพระพรและมีบุญยิ่งกว่าหญิงใด ๆ นี้เองที่ยืนตรอมใจอย่างสุดซึ้งอยู่เชิงไม้กางเขน เฝ้าดูบุตรสุดที่รักสิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
    เท่ากับว่า พระเจ้าทรงเรียกและเลือกแม่พระ ไม่ใช่เพื่อให้ได้รับความสะดวกสบาย  แต่เพื่อให้แม่พระได้รับพระสิริรุ่งโรจน์อันยิ่งใหญ่
และหนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์อันยิ่งใหญ่คือหนทางที่พระเยซูเจ้าได้ทรงเลือกแล้ว นั่นคือหนทางของ “ไม้กางเขน” !!
หากปราศจากกางเขน พระเยซูเจ้าจะได้รับเกียรติมงคลและความรุ่งโรจน์ได้อย่างไร ?
และเช่นเดียวกัน หากปราศจากกางเขน แม่พระจะได้รับพระพรและมีบุญได้อย่างไร ?
เพราะปราศจากกางเขน ก็ปราศจากมงกุฎแห่งความรุ่งโรจน์ (No Cross, No Crown)
นี่คือหนทางที่เราทุกคนต้องเลือกเดินหากคิดจะมี “ชีวิตใหม่” โอกาสฉลองพระคริสตสมภพปีนี้ !!!

    ที่สุด นางเอลีซาเบธกล่าวว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” (ข้อ 45)
    คำกล่าวนี้เป็นเสมือน “กำลังใจ” จากหญิงชราคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ตั้งครรภ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกับพระแม่
    นางให้กำลังใจแม่พระว่าจะ “เป็นสุข” หากเชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะเป็นจริง !
    แม่พระไม่เพียงเชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะเป็นจริงเท่านั้น  แต่พระนางยังอุทิศตัวเองทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามพระวาจานั้นอีกด้วย ดังที่ทรงตรัสกับทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า  ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38)
    อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะแม่พระเท่านั้นที่เป็นสุข  แต่ทุกคนที่เชื่อในพระวาจาของพระเจ้าก็เป็นสุขและมีชีวิตนิรันดร
เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่เชื่อในเรา ก็มีชีวิตนิรันดร” (ยน 6:47)
    เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเชื่อคำของทูตสวรรค์ที่กล่าวกับแม่พระว่า “บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า” (ลก 1:35) หรือ ?
    และหากเชื่อว่า “พระกุมาร” ที่เรากำลังเตรียมรับเสด็จอยู่นี้คือ “บุตรของพระเจ้าผู้สูงสุด” แล้ว  เราพร้อมจะอุทิศตนเพื่อพระองค์ดังที่แม่พระอุทิศตนเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าหรือ ? (ลก 1:38)
    ถ้าคำตอบคือ “ครับ” หรือ “ค่ะ”  คริสต์มาสนี้ช่าง “แสนสุข” จริง ๆ !!!!