แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า


ข่าวดี    ลูกา 2:41-52
(41)โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี  (42)เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น  (43)เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้  (44)เพราะคิดว่า พระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก  (45)เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น  (46)ในวันที่สามโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา  (47)ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม  (48)เมื่อโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์เห็นพระองค์ก็รู้สึกแปลกใจ พระมารดาจึงตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก”  (49)พระองค์ตรัสตอบว่า  “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”  (50)โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส
(51)พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและเชื่อฟังท่านทั้งสอง พระมารดาทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย  (52)พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์



    เป็นความใฝ่ฝันของชาวยิวทุกคนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ ณ ส่วนใดของโลกที่จะไปร่วมเฉลิมฉลองปัสกาที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ส่วนชาวยิวที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงเยรูซาเล็ม กฎหมายบังคับให้ไปร่วมฉลองปัสกาที่พระวิหารทุกปี
    ชาวยิวถือว่าเด็กเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเมื่ออายุครบ 12 ปีบริบูรณ์  และเมื่อเป็นผู้ใหญ่เขาจะได้ชื่อว่าเป็น “บุตรของกฎหมาย” นั่นคือต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายทุกประการ
    เพราะฉะนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมีพระชนมายุสิบสองพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มร่วมกับโยเซฟและพระมารดาเพื่อร่วมฉลองเทศกาลปัสกาประจำปี
    นี่คือปัสกาครั้งแรกของพระองค์ที่พระวิหารในนครศักดิ์สิทธิ์ !
    ซึ่งก็ทำให้หัวอกของผู้เป็นพ่อแม่แทบแตกสลายเพราะ “เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้” (ข้อ 43)    
    งานนี้จะกล่าวโทษโยเซฟและพระแม่มารีย์ว่าไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรก็ไม่ได้  เพราะปกติเวลาเดินทางเป็นกองคาราวาน ชาวยิวจะให้ผู้หญิงออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน แล้วให้ผู้ชายซึ่งเดินทางได้เร็วกว่าตามไปภายหลัง
    เมื่อถึงเวลาตั้งกระโจมที่พักในตอนเย็นนั่นแหละ ทั้งสองฝ่ายจึงจะมีโอกาสพบปะกัน !
    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โยเซฟคิดว่าพระเยซูเจ้าอยู่กับพระแม่มารีย์ และพระแม่มารีย์ก็คิดว่าพระองค์อยู่กับโยเซฟ
    เมื่อความจริงปรากฏในตอนเย็นว่า “ลูกหาย”  ทั้งสองจึง “ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก” (ข้อ 44)
      “เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น” (ข้อ 45)
      จนกระทั่ง “ในวันที่สาม โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์จึงพบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์  ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” (ข้อ 46)
    สภาสูงของชาวยิวที่เรียกกันว่า Sanhedrin มีธรรมเนียมจัดให้บรรดา “อาจารย์” ได้พบปะกันในพระวิหารระหว่างเทศกาลปัสกาของทุกปี เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านศาสนาและเทวศาสตร์ซึ่งกันและกัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ารับฟังด้วย
    พระเยซูเจ้าคือหนึ่งในบรรดาผู้สนใจฟังเรื่องศาสนาและเทวศาสตร์ !
    คำว่า “ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” เป็นสำนวนพูดของชาวยิวหมายถึง “เรียน”  ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงสนพระทัยแสวงหาความรู้เยี่ยงนักเรียนที่ขยันขันแข็งมากคนหนึ่ง โดยไม่ทรงอวดดี  อวดเก่ง  หรือถือตนว่าเป็นบุตรของพระเจ้าแต่ประการใด !!!
    
    เราอาจสรุปบทเรียนจากครอบครัวศักดิ์สิทธิ์อันประกอบด้วย โยเซฟ พระนางมารีย์ และพระกุมารเจ้า ได้ดังนี้

1.    ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ถือว่าพระเจ้าสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด
          จากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีทางเหนือถึงกรุงเยรูซาเล็มในแค้วนยูเดียทางใต้มีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร  ซึ่งเกินกว่าระยะทาง 24 กิโลเมตรที่กฎหมายบังคับให้ต้องไปร่วมฉลองปัสกาที่พระวิหาร
        แม้ไม่ถูกบังคับโดยกฎหมาย แต่ทั้งโยเซฟและพระแม่มารีย์ก็ไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มทุกปี (ข้อ 41) และเมื่อพระเยซูเจ้าทรงมีพระชนมายุครบ 12 พรรษา สมาชิกครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ทุกคนต่างก็ไปร่วมพิธีด้วย
        การเดินทางไปกลับกรุงเยรูซาเล็มต้องใช้เวลาหลายวัน  อีกทั้งพิธีกรรมที่พระวิหารเองก็ต้องใช้เวลาอีก 2-7 วันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยกฎหมายบังคับเฉพาะ 2 วันแรก
    ไหนครอบครัวจะยากจน มีเพียงร้านช่างไม้เล็ก ๆ เป็นสมบัติ...
        ไหนจะขาดรายได้เพราะต้องปิดร้าน...
     ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายระหว่างเดินทางและประกอบพิธีกรรม...
    แต่ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ก็ยังยึดมั่นในเรื่องของศาสนาและจิตใจมากกว่าเรื่องธุรกิจทางโลก
    สำหรับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าพระเจ้า !

    2.    ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ส่งเสริม “การค้นพบตนเอง”
        หัวใจสำคัญของพระวรสารวันนี้อยู่ที่คำตอบของพระเยซูเจ้าที่ว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ข้อ 49)
         คำตอบนี้อ่อนโยน แต่เฉียบขาดอย่างยิ่ง !
         พระเยซูเจ้าทรงนำความเป็น “พ่อ” ไปจากโยเซฟ แล้วทรงมอบความเป็นพ่อนี้แด่ “พระบิดา”
         ตลอดเวลา 12 ปี ภายใต้การ “ส่งเสริม” ของโยเซฟและพระแม่มารีย์  พระกุมารได้ “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ข้อ 52)
         จนกระทั้งสามารถ “ค้นพบตนเอง” ในโอกาสเฉลิมฉลองปัสกาครั้งแรกที่กรุงเยรูซาเล็มว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” !!!
        นอกจากพ่อแม่ “ส่งเสริม” แล้ว ลูกก็ “ร่วมมือ” อย่างดีด้วย....
         ไม่มีทางปฏิเสธเลยว่า พระกุมารทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของการ “ร่วมมือ” กับพ่อแม่ในการพัฒนาตนเองจน “ค้นพบตัวตนที่แท้จริง”
         ทรงเป็นแบบอย่างที่เยาวชนและวัยรุ่นทุกคนไม่อาจไม่เจริญรอยตามได้ !
         นั่นคือ เราต้องไม่แข่งขันกัน “นำสมัย” หรือ “ตามกระแส” ซึ่งไม่เคยนำความสุขใจมาสู่ผู้ใด  มีแต่จะทำให้สิ้นเปลือง วุ่นวายใจ และก่อให้เกิดปัญหาติดตามมาอีกไม่รู้จักจบสิ้น !..
     แต่เราต้องแข่งขันกันพัฒนาสติปัญญาและจิตใจ  ดุจเดียวกับพระกุมารที่ทรง “ประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา” (ข้อ 46)
        เรามาแข่งขันกันทำให้พ่อแม่และทุกคนที่พบเห็นพากัน “ประหลาดใจ” ในความสามารถเช่นเดียวกับพระกุมารไม่ดีกว่าหรือ !?!?! (เทียบข้อ 47)

    3.    ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ให้การยอมรับซึ่งกันและกัน
        หลังจากค้นพบว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” และทรงทำให้ทุกคน “ประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม” (ข้อ 47) แล้ว .....
        แทนที่พระกุมารจะแสดงอาการเย่อหยิ่ง หรือดูหมิ่นดูแคลนแม่มารีย์ผู้อ่อนโยน และพ่อโยเซฟผู้ตรากตรำงานหนัก  พระองค์กลับนบนอบและ “เชื่อฟังท่านทั้งสอง” (ข้อ 51)
         พูดง่าย ๆ คือพระองค์ทรง “ยอมรับ” บิดาและมารดาของพระองค์ !
    ส่วนบิดาและมารดาของพระองค์แม้จะ “ไม่เข้าใจ” แต่ก็ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดไว้ในพระทัย” (ข้อ 50-51)
    ทุกฝ่ายต่าง “ยอมรับซึ่งกันและกัน” !

ทั้งการยึดมั่นในพระเจ้าเหนืออื่นใด....
ทั้งการรู้จักตนเอง....
ทั้งการยอมรับซึ่งกันและกัน....  
นี่คือ “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” !!!