อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี ลูกา 1:1-4; 4:14-21
(1)ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพยิ่ง คนจำนวนมากได้เรียบเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา (2)ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นและประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรกได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว (3)ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่านด้วย ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพ (4)เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง
(14)พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปแคว้นกาลิลีพร้อมด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นนั้น (15)พระองค์ทรงสอนตามศาลาธรรมของชาวยิวและทุกคนต่างสรรเสริญพระองค์ (16)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงเจริญวัย ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย ทรงยืนขึ้นเพื่อทรงอ่านพระคัมภีร์ (17)มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า (18)พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ (19)ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า (20)แล้วพระเยซูเจ้าทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่และประทับนั่งลง สายตาของทุกคนที่อยู่ในศาลาธรรมต่างจ้องมองพระองค์ (21)พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว”
ลูกาเป็นชาวมาซีโดเนียจึงเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่ชาวยิว “ลูกวัว” อันเป็นสัตว์สำหรับถวายบูชาคือสัญลักษณ์ประจำตัวลูกา เพราะท่านเน้นว่าพระเยซูเจ้าคือเครื่องบูชาเพื่อยกบาปของโลก โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นยิวหรือต่างชาติ และไม่เลือกว่าเป็นคนดีหรือเลว ทุกคนล้วนได้รับผลจากการไถ่กู้ของพระองค์
อารัมภบทของลูกาถือว่ามีเอกลักษณ์แตกต่างจากพระวรสารฉบับอื่น ท่านเริ่มต้นโดยใช้คำสรรพนามว่า “ข้าพเจ้า” ในขณะที่มัทธิวเริ่มต้นด้วยลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า (มธ 1:1-17) มาระโกเริ่มต้นด้วยคำประกาศของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง (มก 1:1-8) และยอห์นเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงพระวจนาตถ์ (ยน 1:1-18)
นอกจากใช้คำ “ข้าพเจ้า” แล้ว ลีลาการเริ่มต้นของลูกายังถือว่า “สุดยอด” อย่างยิ่ง “ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่าน…เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง” (ข้อ 3-4)
นักประวัติศาสตร์ระดับปรมาจารย์อย่างเช่น เฮโรโดตัส (Herodotus) ขึ้นต้นผลงานของท่านว่า “นี่คือผลการค้นคว้าของเฮโรโดตัสแห่งเมืองฮาลีการ์นัสซุส”
และนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังอย่างดีโอนีซีอุส (Dionysius of Halicarnassus) ก็เริ่มบทนำว่า “ก่อนเริ่มต้นเขียน ข้าพเจ้าได้รวบรวมข้อมูลบางส่วนจากผู้รู้ที่ข้าพเจ้าได้พบปะ และบางส่วนจากประวัติศาสตร์ที่ชาวโรมันได้บันทึกไว้ด้วยความชื่นชม”
จะเห็นว่าลูกาเลียนแบบลีลาการเริ่มต้นของนักประวัติศาสตร์ที่ถือกันว่าดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในยุคสมัยของท่าน !
นอกจากลูกาที่พยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว พระคัมภีร์ที่คัดลอกด้วยมือในสมัยโบราณบางฉบับก็ได้รับการจารึกด้วยน้ำหมึกสีเงินบนหนังวัวสีแดงเข้ม และเมื่อถึงคำว่า “พระเจ้า” หรือ “พระเยซูเจ้า” พวกเขาจะจารึกด้วยน้ำหมึกสีทอง
ทุกคืนวันศุกร์ มีสัตบุรุษบางคนเตรียมเหรียญที่ใหม่ที่สุด และเงาเป็นมันที่สุด เพื่อใส่ถุงทานถวายพระเจ้าในวันอาทิตย์
เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าหน้าที่การงานของเราจะแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันคือความคิดที่ว่า “สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นที่คู่ควรกับพระเยซูเจ้า” !!!
จากอารัมภบท ลูกายอมรับว่า “คนจำนวนมากได้เรียบเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นและประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรกได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว” (ข้อ 1-2)
นั่นคือ มีคนพูดเรื่องพระเยซูเจ้าให้ฟังก่อนหน้านี้แล้ว...
แต่ การฟังคนอื่นเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ลูกาถือว่าไม่พอ !
ท่าน “จึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด” (ข้อ 3)
พูดง่าย ๆ คือ ท่านต้องการรู้จักพระเยซูเจ้าด้วยตัวของท่านเอง !
“ความเชื่อ” และ “ศาสนา” ที่ “แท้จริง” จึงต้องไม่ใช่ประสบการณ์มือสองที่รับฟังหรือถ่ายทอดมาจากพระสงฆ์ นักบวช พ่อแม่ หรือครูคำสอน แต่ต้องเป็นประสบการณ์ที่เราแต่ละคนค้นพบและรู้จักพระเยซูเจ้าด้วยตัวของเราเอง
นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า พระวรสารทั้งสี่มีความสำคัญก็จริง แต่เหนือกว่าพระวรสารทั้งสี่คือพระวรสารที่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเราแต่ละคน...
ดังได้กล่าวแล้วว่าลูกา “ตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่าน…เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง” (ข้อ 3-4)
เห็นได้ชัดว่าท่านใช้ “ความพยายามสูงสุด” ค้นคว้าเรื่องของพระเยซูเจ้า !
แม้ลูกาจะพูดเป็นนัยถึง “ความพยายาม” ของท่านในการเขียนพระวรสาร แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่าพระวรสารของท่านไม่ได้รับ “การดลใจ” จากพระเจ้า
แปลว่า “การดลใจจากพระเจ้า” และ “ความพยายามของมนุษย์” เป็นสองสิ่งที่ต้องไปควบคู่กันเสมอ !
พระเจ้าจะไม่ดลใจคนที่เกียจคร้าน นั่งกอดอก แล้วรอ แต่พระองค์จะดลใจคนที่ขยันขันแข็ง และเสาะแสวงหาความจริงดังเช่นลูกา
อาจกล่าวได้ว่า การดลใจที่แท้จริงคือการร่วมมือกันของจิตใจมนุษย์ที่แสวงหาความจริงกับการเผยแสดงของพระจิตเจ้า
ดังนั้น ผู้ที่บ่นว่าไม่เคยได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า หรือพระเจ้าไม่เคยสดับฟังคำภาวนาของตน จึงควรทบทวนว่าพระดำรัสที่ว่า “จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ” (มธ 7:7) ยังคงดังก้องอยู่ในจิตใจของตนหรือไม่ !?!?!
-------------------------
หลังจากรับพิธีล้างแล้ว (ลก 3:21-22) พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังถิ่นทุรกันดารที่ซึ่งปีศาจได้มาทดสอบพระองค์ด้วยการหยิบยื่นวิธีการง่าย ๆ ดังเช่น แจกสิ่งของ (ขนมปัง) ใช้อิทธิฤทธิ์ (โดดจากยอดพระวิหาร) หรือประนีประนอมกับโลก (กราบปีศาจ) เพื่อจูงใจประชาชนให้หันมาติดตามพระองค์ (ลก 4:1-13)
แต่พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดเลือก “หนทางของไม้กางเขน” เพื่อทำให้ภารกิจที่พระบิดาทรงมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป
เมื่อได้วิธีการแล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือก “สถานที่” สำหรับเริ่มภารกิจ
พระองค์ทรงเลือก “แคว้นกาลิลี”.....
แคว้นกาลิลีอยู่ทางทิศเหนือของปาเลสไตน์ มีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร และกว้างจากตะวันออกจรดตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร
โยเซฟุส (Josephus) นักประวัติศาสตร์ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการในย่านนี้มาก่อน ได้บันทึกไว้ว่าแคว้นกาลิลีประกอบด้วยเมืองและหมู่บ้าน 204 แห่ง แต่ละแห่งมีประชากรไม่ต่ำกว่า 15,000 คน รวมแล้วแคว้นนี้มีประชากรหนาแน่นมากกว่า 3 ล้านคน
สภาพดินฟ้าอากาศและแหล่งน้ำนับว่าดีมาก เหมาะแก่การเพาะปลูก จนมีสุภาษิตว่า “จะปลูกมะกอกให้โตสักพันต้นในแคว้นกาลิลียังง่ายกว่าเลี้ยงเด็กคนเดียวให้โตในแคว้นยูเดีย” !
“กาลิลี” มาจากภาษาฮีบรู Galil (กาลิล) แปลว่า “วงกลม” ทั้งนี้เป็นเพราะแคว้นกาลิลีถูกล้อมรอบด้วยดินแดนของคนต่างชาติ
เพราะถูกแวดล้อมโดยคนต่างชาติ ชาวกาลิลีจึงรับอิทธิพลความคิดใหม่ ๆ เข้ามาเสมอจนเหลือความเป็นอนุรักษ์นิยมน้อยที่สุดในปาเลสไตน์ โยเซฟุสกล่าวว่าพวกเขาชอบการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ รักการเปลี่ยนแปลงเป็นชีวิตจิตใจ พร้อมลุกฮือก่อการจลาจลหากมีผู้นำ กล้าหาญ และรักเกียรติยศมากกว่าผลกำไร
ในดินแดนที่ประชาชนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยอมรับสิ่งใหม่ ๆ เช่นนี้เอง ที่พระเยซูเจ้าทรงมั่นพระทัยว่า “ข่าวดี” ของพระองค์จะได้รับการสดับฟัง หยั่งรากลึก และเจริญเติบโตต่อไปในอนาคต
ส่วนเรา..! เรามีคุณสมบัติพร้อมให้พระองค์เริ่มต้นภารกิจแล้วหรือยัง ?....
นอกจากทรงเลือกแคว้นกาลิลีเป็นสถานที่สำหรับเริ่มต้นภารกิจแล้ว “พระองค์ทรงสอนตามศาลาธรรมของชาวยิว” (ข้อ 15)
ศาลาธรรมเป็นศูนย์กลางชีวิตทางศาสนาของชาวยิว กฎหมายยิวจึงกำหนดไว้ว่า “ที่ใดมีชาวยิวอาศัยรวมกัน 10 ครอบครัวขึ้นไป ที่นั่นต้องมีศาลาธรรม”
ในศาลาธรรมไม่มีการถวายเครื่องบูชา หากต้องการถวายเครื่องบูชาต้องไปที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มเพียงแห่งเดียว
กิจกรรมในศาลาธรรมมี 3 ด้านด้วยกัน คือ
1. การนมัสการพระเจ้า โดยการสวดภาวนา
2. การอ่านพระคัมภีร์ โดยคัดเลือกผู้ร่วมพิธี 7 คนขึ้นมาอ่านพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูโบราณซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่เข้าใจแล้ว จึงต้องมีผู้แปลเป็นภาษาอาราไมอิกหรือภาษากรีกอีกทอดหนึ่ง หากเป็นหนังสือปัญจบรรพซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายต้องอ่านแล้วแปลทีละข้อ แต่ถ้าเป็นหนังสือประกาศกให้อ่านสามข้อแล้วจึงแปล
3. การสอน เนื่องจากไม่มีนักเทศน์ประจำ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าศาลาธรรมที่จะเชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียงขึ้นพูดและนำการสนทนา
นี่คือสาเหตุที่ทำให้พระเยซูเจ้ามีโอกาสขึ้นเทศน์สอนใน “ศาลาธรรม” อันเป็นแหล่งชุมนุมของประชาชนที่มีพระเจ้าอยู่ในหัวใจและต้องการนมัสการพระองค์
และพระองค์ทรงเลือกผู้ที่มีพระเจ้าอยู่ในหัวใจเช่นนี้เอง ให้เป็นแขกรับเชิญในงาน “เปิดตัว” ภารกิจของพระองค์
พระเยซูเจ้ามิได้เสด็จไปในศาลาธรรมเฉพาะโอกาส “เปิดตัว” เท่านั้น แต่ “ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย” (ข้อ 16)
นั่นคือ พระองค์เสด็จไปในศาลาธรรมทุกวันสับบาโตจนเป็น “นิสัย”
แม้ว่ามีหลายประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจที่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย อีกทั้งการนมัสการพระเจ้าในศาลาธรรมก็ยังห่างไกลจากคำว่า “ครบครัน” กระนั้นก็ตาม พระองค์ยังเสด็จไปร่วมนมัสการพระเจ้า ทุกวันพระเจ้า !
“มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า ‘พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า’” (ข้อ 17-19)
ข้อความนี้มาจากหนังสือประกาศกอิสยาห์บทที่ 61 ซึ่งเป็นคำทำนายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระเมสสิยาห์
หากเปรียบเทียบกับคำสอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้างที่กล่าวว่า “สัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำท่านให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด...บัดนี้ ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่ออกผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ” (ลก 3:7-9)
เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าทรงนำ “ข่าวดี” จริง ๆ มาประกาศ ไม่ใช่ “คำขู่” ดังเช่นคำสอนของยอห์น
และเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” (ข้อ 21)
ยิ่งทำให้ข่าวดีของพระองค์เป็น “ข่าวดียกกำลังสอง” !!
เพราะสิ่งที่ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายไว้เป็นเพียง “ความใฝ่ฝัน”...
แต่พระเยซูเจ้าทรงทำให้ “ข่าวดี” เป็น “ความจริง”
ข่าวดีเรื่องการปลดปล่อย และปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า ที่ชาวยิวตั้งหน้าตั้งตารอคอยนานกว่า 700 ปี….
บัดนี้ ข่าวดีนั้นเป็นจริงแล้ว !
พระเมสสิยาห์เสด็จมาแล้ว !!
เหลืออีกเพียงความใฝ่ฝันเดียวที่รอ “เรา” ทำให้เป็นจริง.....
นั่นคือ “เปิดใจรับความโปรดปรานจากพระเจ้า” !!!!