แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    ลูกา 6:27-38
    “(27)แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน  (28)จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน  (29)ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย  (30)จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป  (31)ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด  (32)ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย  (33)ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย  (34)ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร
คนบาปก็ให้คนบาปด้วยกันยืมโดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน  (35)แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืนแล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย
(36)จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด  (37)อย่าตัดสินเขาแล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขาแล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน  (38)จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย”



    ครั้งหนึ่ง มีธรรมาจารย์ถามพระเยซูเจ้าว่าบัญญัติข้อใดเป็นเอกกว่าข้ออื่น พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลังของท่าน  บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มก 12:30-31; มธ 22:36-39)
    ลำพัง “รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว  แต่วันนี้พระองค์ทรงประทานบัญญัติใหม่ที่สุดยอดกว่าอีกนั่นคือ “จงรักศัตรู”
    สำหรับเราที่ใช้คำว่า “รัก” กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะรักพ่อรักแม่ รักพี่รักน้อง รักเพื่อน รักข้าวรักของ หรือแม้แต่รักหมารักแมว ก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำว่า “รัก” เหมือนกัน คงอดสงสัยไม่ได้ว่าจะปฏิบัติตามบัญญัติข้อนี้ได้อย่างไรกันในเมื่อมันฝืนธรรมชาติเหลือเกิน  เพราะขนาดลูกในไส้ของตนเองแท้ ๆ ยังรักไม่เท่ากันเลย  บางคนถึงกับเกลียดขี้หน้าลูกของตัวก็มี  แล้วจะให้ “รัก” ศัตรูเหมือน “รัก” พ่อ “รัก” แม่ได้อย่างไรกัน ?
    แต่สำหรับชาวกรีกซึ่งแยกแยะความรักออกเป็นประเภทต่าง ๆ และใช้ศัพท์แตกต่างกันถึง 4 คำเพื่อหมายถึง “ความรัก” นั้น  พวกเขาไม่เห็นว่าเป็นการฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด  ศัพท์ทั้ง 4 คำได้แก่
    1.    erōs (เอรอส) หมายถึงความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งมักลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์  ภายหลังความหมายเลยเปลี่ยนเป็น “ความใคร่”
    2.    storgē (สตอร์เก) หมายถึงความรักภายในครอบครัว เช่นพ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่
    3.    philia (ฟีเลีย) เป็น “ความรักอันอบอุ่น” ที่มีต่อมิตรสหาย หรือคนใกล้ชิดที่สุด
    4.    agapē (อากาเป) หมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นบรรลุความดีสูงสุดโดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าผู้นั้นจะปฏิบัติต่อเราเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
    คำศัพท์ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลาสั่งให้เรา “รักศัตรู” คือ agapē (อากาเป) ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เรา “ปรารถนาดีต่อศัตรูและช่วยเหลือศัตรูให้บรรลุความดีสูงสุด” !
    ปกติ ความรักเป็นเรื่องของ “หัวใจ” ซึ่งมักจะหักห้ามกันไม่ได้ จนเกิดเป็นคำพูดติดปากว่า “ตกหลุมรัก”  แต่ความปรารถนาดี (อากาเป) เป็นเรื่องของ “น้ำใจ” ซึ่งเราสามารถควบคุมได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้าผู้ทรงมอบ “น้ำใจ” ทั้งหมดแด่พระบิดาเจ้า
แปลว่า พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราต้องตกหลุมรักศัตรู ดุจดังชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว (เอรอส) หรือให้เรารักศัตรูเท่าเทียมกับพ่อแม่และลูกหลาน (สตอร์เก) หรือต้องรักศัตรูอย่างอบอุ่นราวกับเป็นมิตรสหาย (ฟีเลีย) ซึ่งล้วนแล้วแต่ฝืนธรรมชาติและไม่มีทางเป็นไปได้
แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการจากเราคือ “น้ำใจ” ที่ปรารถนาให้ศัตรูของเรา หรือผู้ที่เกลียดชังเรา “บรรลุความดีสูงสุด”  ซึ่งน้ำใจเช่นนี้จะเปิด “หัวใจ” ของเราให้พยายามทุกวิถีทางที่จะ “ทำดี” และ “มีเมตตา” ต่อพวกเขา ดังเช่น
ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังเรา (ข้อ 27)
อวยพรผู้ที่สาปแช่งเรา (ข้อ 28)
อธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายเรา (ข้อ 28)
หรือ “อดทน” ต่อพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะ
    ตบแก้มเรา (ข้อ 29)
    เอาเสื้อคลุมของเราไป (ข้อ 29)
รวมถึง “ให้” แก่ทุกคนที่ขอเราและ “ไม่ทวง” ของคืนจากผู้ที่ได้แย่งเราไป (ข้อ 30)
    ฯลฯ
พร้อมกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกเหตุผลที่สั่งให้เรา “รักศัตรู” ว่า เพื่อเราจะได้เป็น “บุตรของพระผู้สูงสุด” (ข้อ 35)
    เนื่องจากภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงต้องเลี่ยงไปใช้สำนวน “บุตรของ”... หรือ “บุตรแห่ง”.... (son of…) แล้วตามด้วยคำนามแทน  สำหรับชาวฮีบรู
     “บุตรแห่งความสว่าง” จึงหมายถึง “คนดี”
“บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งเป็นสมญานามที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เรียกตัวพระองค์เอง จึงหมายถึง “เหมือนมนุษย์”
และ “บุตรของพระเจ้า” จึงหมายถึง “เหมือนพระเจ้า”
    แปลว่าจุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงสั่งให้เรา “รักศัตรู” ก็คือ “เพื่อให้เราเหมือนพระเจ้าผู้สูงสุด”  พระเจ้าผู้ “ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย” (ข้อ 35)  พระเจ้าผู้ทรง “โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว  โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45)...
ซึ่งจุดมุ่งหมายให้เรา “เหมือนพระเจ้า” นี้มีมาตั้งแต่สร้างโลกแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา  ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา” (ปฐก 1:26)
    และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในอนาคตที่นักบุญยอห์นกล่าวไว้ว่า “เราจะเป็นอย่างไรในอนาคตนั้นยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง เราตระหนักดีว่า เมื่อพระองค์ทรงปรากฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะได้เห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2)
    เพราะฉะนั้น หากเรา “รักศัตรู”  เราก็เป็น “เหมือนพระเจ้า” ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือ….
เราได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว !!!

นอกจากทรงสอนให้ “รักศัตรู” แล้ว พระองค์ยังวางหลักการซึ่งเป็น “แก่นสำคัญของจริยธรรมแบบคริสต์” อีกด้วย
หลักการประการแรกคือ “ไม่ทำชั่ว” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ทำดี” ด้วย
เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ข้อ 31)
นี่คือ คำสอนใหม่สุด !!!
เพราะก่อนหน้าพระเยซูเจ้า พวกเขาสอนกันดังนี้...
ฮิลเลล หนึ่งในบรรดารับบีผู้ยิ่งใหญ่ของชาวยิว ได้รับเดิมพันจากชายคนหนึ่งให้สรุปสาระสำคัญของธรรมบัญญัติให้จบขณะที่เขายืนอยู่บนขาเพียงข้างเดียว หากฮิลเลลทำสำเร็จเขาจะยอมหันมานับถือศาสนายิว  ฮิลเลลตอบว่า “อะไรที่น่ารังเกียจสำหรับท่าน จงอย่าทำแก่ผู้อื่น”
     โทบิตสอนโทบียาห์ผู้เป็นบุตรชายว่า “ลูกเกลียดสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น” (ทบต 4:15)
     ฟีโล หนึ่งในปัญญาชนชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองอเลกซานเดรีย ทูลกษัตริย์อียิปต์ว่า “สิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะประสบ ขออย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
    ไอโซเครตีส นักพูดชาวกรีก กล่าวว่า “สิ่งใดที่ทำให้ท่านโกรธเมื่อผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน จงอย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
    ลัทธิสโตอิกมีหลักการพื้นฐานว่า “สิ่งใดที่ท่านไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น”
    แม้ขงจื้อ เมธีผู้มีชื่อเสียงของชาวจีนก็สอนเช่นเดียวกันว่า “อะไรที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำแก่ผู้อื่น”
 จะเห็นว่าก่อนหน้าพระองค์ จริยธรรมมีลักษณะเชิงนิเสธ (negative) นั่นคือ “อย่าทำ”  ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งใด หรือการอยู่เฉย ๆ นั้น ถือว่าไม่ยากเย็นนัก
    อันที่จริง คำสอนหรือหลักการที่ “ห้าม” หรือ “อย่าทำ” นั้น ไม่ใช่หลักการทางศาสนาแต่เป็นหลักการทางกฎหมาย ซึ่งคนที่ไม่มีศาสนาอยู่ในหัวใจก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วหากไม่อยากติดคุกติดตะราง
     ด้วยเหตุนี้ ความดีอันเกิดจากการ “ไม่กระทำ” จึงถือว่าไม่เพียงพอและอยู่คนละฝากกับคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด”
เห็นได้ชัดเจนว่าคำสอนของพระองค์มีลักษณะเชิงบวก (positive) นั่นคือทรงเรียกร้องให้เราออกจาก “โลกของตัวเอง” และเริ่ม “ทำก่อน”
นั่นคือ ทำสิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน !
คำสอนของพระองค์ทำให้เราเป็น “คนใหม่” มี “ชีวิตใหม่” มี “หลักการใหม่” และมี “ทัศนคติใหม่” ต่อผู้อื่น
     กฎหมายบ้านเมืองอาจห้ามเราขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง  หรือห้ามเราขับรถเร็วเกินกำหนดได้  แต่จะบังคับให้เราหยุดรถเพื่อรับคนเดินข้างถนนติดรถไปด้วยไม่ได้
    กฎหมายห้ามเราฆ่าคนได้ แต่จะสั่งให้เราช่วยเหลือผู้ขัดสนหรือผู้ด้อยโอกาสไม่ได้
    มีแต่ “ความรัก” ของพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่ผลักดันให้เราทำเช่นนี้ก่อนได้ !
การ “ทำ” สิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน จึงเป็นสุดยอดของจริยธรรมคริสต์ และเป็นสุดยอดของจริยธรรมด้านสังคมด้วย
    และที่สำคัญเป็น “กฎทอง” ที่ทำให้ “เรา” และ “ทุกคน” มีความสุขอย่างแท้จริง !!

หลักการที่สองของจริยธรรมคริสต์คือ “ต้องดีเหมือนพระเจ้า”
    พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน...ทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน...หรือให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร  คนบาปก็ทำเช่นนั้นด้วย” (เทียบข้อ 32-34)
    และทรงเสริมอีกว่า “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ข้อ 36)
    หมายความว่า การทำดีตามมาตรฐานของมนุษย์ หรือโดยเทียบเคียงกับมนุษย์ด้วยกันเอง ยังไม่เป็นการพอเพียงเพราะเราทุกคนต่างก็เป็นคนบาป
    เราแต่ละคนต้องทำดี “เป็นพิเศษ” !!!
นั่นคือดี “ดุจดังพระบิดาเจ้า”…
ทั้งนี้โดยอาศัยพระหรรษทานและความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5)
    ที่ผ่านมา เราอาจภูมิใจเมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น  แต่เราจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ไม่ได้
    เพราะหลักชัยเปรียบเทียบของเราคือ “พระบิดาเจ้า” !!!
ได้ยินดังนี้แล้ว หลายคนอาจ “ท้อแท้”
แต่อย่าพึ่ง “ท้อถอย”....
    เพราะว่า แม้พระองค์จะทรงเรียกร้องให้เราดีดุจดังพระบิดาเจ้าผู้สูงสุด แต่พระองค์ทรงพิพากษาเราตาม “มาตรฐานที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น”....(ข้อ 37)
        ถ้าเราไม่ตัดสินผู้อื่น พระองค์ก็ไม่ตัดสินเรา
        ถ้าเราไม่กล่าวโทษผู้อื่น พระองค์ก็ไม่กล่าวโทษเรา
        ถ้าเราให้อภัยผู้อื่น พระองค์จะทรงให้อภัยเรา
        เรา “ให้” ผู้อื่นมากเท่าใด พระองค์ก็ทรงใช้ทะนานเดียวกันตวง “ให้” เรามากเท่านั้น (ข้อ 38)
    
นับจากนี้ไป ชีวิตของเราจะมีคุณค่าและความสุขมากสักเพียงใด หากเราไม่เพียง “ไม่ทำชั่ว” แต่ยัง “ทำดีดุจดังพระบิดาเจ้า” อีกด้วย
    เพราะนี่คืออภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ที่สุดของคริสตชน ที่ได้ดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้า....!!!