อาทิตย์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี ลูกา 12:49-53
(49)‘เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ (50)เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ
(51)‘ท่านคิดว่าเรามาเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกหรือ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรานำความแตกแยกมาต่างหาก (52)ตั้งแต่นี้ไป คนห้าคนในบ้านหนึ่งจะแตกแยกกัน คนสามคนจะแตกแยกกับคนสองคน และคนสองคนจะแตกแยกกับคนสามคน (53)บิดาจะแตกแยกกับบุตรชาย และบุตรชายจะแตกแยกกับบิดา มารดาจะแตกแยกกับบุตรหญิง และบุตรหญิงจะแตกแยกกับมารดา มารดาของสามีจะแตกแยกกับบุตรสะใภ้ และบุตรสะใภ้จะแตกแยกกับมารดาของสามี’
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงความจริงใจสูงสุดด้วยการบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ผู้ที่คิดจะติดตามพระองค์ได้ทราบล่วงหน้า
ความจริงใจของพระองค์คงทำให้ผู้ฟังจำนวนมากต้องตกตะลึง โดยเฉพาะชาวยิวที่เฝ้าคอยพระเมสสิยาห์มาเป็นเวลานาน แต่แทนที่พวกเขาจะได้พบกับพระเมสสิยาห์ในฐานะกษัตริย์ผู้พิชิตโลกและนำยุคทองมาสู่พวกเขา พวกเขากลับได้พบกับพระเมสสิยาห์ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสและนำความแตกแยกมาให้
คริสตชนจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกสะดุดใจเพราะเรื่องนี้
กระนั้นก็ตาม ความทุกข์ทรมานและความแตกแยกคือ “กางเขน” ที่คริสตชนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะศาสนาคริสต์คือศาสนาแห่ง “ไม้กางเขน”
กางเขนแรกที่คริสตชนต้องเผชิญคือ “ไฟ”
สำหรับชาวยิว สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ “ไฟ” คือ “การพิพากษา” พวกเขาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทรงพิพากษาชาวยิวด้วยมาตรฐานที่เบากว่าชนชาติอื่น เพราะพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากอับราฮัมผู้เปี่ยมด้วยความเชื่อในพระองค์
แม้ว่าพระเยซูเจ้าจะทรงปฏิเสธความคิดของชาวยิวเรื่อง “ดับเบิลสแตนดาร์ด” (สองมาตรฐาน) และทรงเปิดหนทางสู่ความรอดด้วยมาตรฐานเดียวกันสำหรับชนทุกชาติ โดยจะทรงพิพากษาทุกคนด้วยมาตรฐานง่าย ๆ อย่างเช่น การให้อาหารผู้ที่หิวโหยกิน ให้น้ำผู้ที่กระหายดื่ม ให้เสื้อผ้า เยี่ยมคนป่วย คนคุก ดังปรากฏในคำอุปมาเรื่อง “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” (มธ 25:31-46) แล้วก็ตาม
แต่การพิพากษาก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราทุกคนพากันหวาดกลัว และอยากให้ตัดออกไปจากสารบบข่าวดีของพระองค์อยู่นั่นเอง !
อย่างไรก็ตาม แทนที่จะตัดการพิพากษาออกไป พระองค์กลับย้ำเตือนให้ทุกคนระลึกว่าพระองค์เสด็จมา “เพื่อจุดไฟในโลก” (ลก 12:49) หรือ “เพื่อพิพากษาโลก” นั่นเอง
ถึงเราจะไม่ชอบการพิพากษา แต่การพิพากษาก็มาถึงแล้วพร้อมกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสตเจ้า !
แล้วทำไมเราไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่จะทำให้การพิพากษาเป็นคุณแก่เราเสียตั้งแต่วันนี้เล่า ?!?
กางเขนที่สองของคริสตชนคือ “ความแตกแยก”
และที่ร้ายกาจหนักเข้าไปอีกก็คือ ความแตกแยกนี้ดันมาเกิดกับคนที่เรารักและผูกพันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกระหว่างพ่อแม่กับลูกชายลูกสาว หรือระหว่างลูกสะใภ้กับพ่อแม่ของสามี ดังนี้เป็นต้น
ความแตกแยกอันร้ายกาจปานนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
ชาวยิวปักใจเชื่อมานานแล้วว่าใน “วันของพระเจ้า” (The Day of the Lord) ซึ่งเป็นวันที่พระองค์จะเสด็จเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น จะเกิดการแตกแยกขนานใหญ่ภายในครอบครัว ดังที่พวกรับบีสอนว่า “เมื่อโอรสแห่งดาวิดเสด็จมา ลูกสาวจะแตกแยกกับแม่ ลูกสะใภ้จะทะเลาะกับแม่สามี ลูกชายจะเหยียดหยามพ่อ สมาชิกในบ้านจะเป็นศัตรูกัน”
พระเยซูเจ้าทรงนำความคิดที่ผู้ฟังคุ้นเคยอยู่แล้วมาใช้ เพื่อบอกว่าโอรสแห่งดาวิดเสด็จมาแล้ว และพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว
อันที่จริง ความคิดของชาวยิวใช่ว่าจะไร้เหตุผลรองรับ เพราะยามเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นครั้งใดย่อมต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน ฝ่ายที่ตอบรับและปฏิเสธควบคู่กันไปเสมอ
เช่นเดียวกับการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ซึ่งย่อมต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ไฉนเลยกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ พระองค์ย่อมต้องเผชิญหน้ากับโลกที่แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างแน่นอน นั่นคือฝ่ายที่ยอมรับพระองค์ และอีกฝ่ายหนึ่งที่ปฏิเสธพระองค์
ต่อหน้าพระเยซูเจ้า เรามีเพียงสองทางเลือกคือ “รับ” หรือ “ปฏิเสธ” พระองค์ !
แต่ที่น่าขมขื่นอย่างยิ่งก็คือ หลายครั้งอุปสรรคขัดขวางเราจากพระเยซูเจ้ามาจากคนในครอบครัวของเรานั่นเอง !
เป็นไปได้ที่ชายคนหนึ่งจะรักภรรยาและครอบครัวมากจนปฏิเสธเสียงเรียกให้เสียสละรับใช้พระเจ้า หรือให้ทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม
เขาปล่อยให้ความผูกพันส่วนตัวมา “ยึดเหนี่ยว” เขาไว้จากพระเจ้า
นี่คือ “กางเขน” ที่ทำให้เราต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง “ผู้ใกล้ชิดที่สุดในโลกนี้” กับ “ความสัตย์ซื่อต่อพระเยซูเจ้า” !!
ยอห์น บันยาน (John Bunyan : 1628-1688) นักเทศน์และนักเขียนชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ลิ้มรสความขมขื่นของ “กางเขนแห่งการเลือก” ระหว่างครอบครัวอันเป็นที่รักกับการประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า
ขณะถูกจำคุกเพราะประกาศข่าวดีโดยไม่ได้รับอนุญาต สิ่งเดียวที่รบกวนจิตใจของบันยานมากที่สุดคือผลกระทบที่จะเกิดกับภรรยาและลูกหากขาดหัวหน้าครอบครัว เขาบันทึกไว้ว่า “การต้องพลัดพรากจากภรรยาและลูก ๆ ที่น่าสงสารช่างเจ็บปวดรวดร้าวราวกับกระดูกถูกชักออกจากเนื้อ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้ารักพวกเขามากเท่านั้น แต่เพราะข้าพเจ้าอดคิดถึงความยากลำบากและขัดสนที่พวกเขาจะต้องประสบไม่ได้ โดยเฉพาะลูกที่ตาบอดและน่าสงสาร ยิ่งคิดถึงเขาหัวใจของข้าพเจ้ายิ่งแตกเป็นเสี่ยง ๆ... ข้าพเจ้าพยายามเตือนสติตนเองว่าพระเจ้าจะทรงดูแลพวกเขา ส่วนข้าพเจ้าต้องประกาศข่าวดี ข้าพเจ้าต้องประกาศข่าวดี” !
เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นบ่อยนักก็จริง แต่ความจริงที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้และจะยังคงดำรงอยู่ตลอดไปก็คือ “ความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าต้องมาเหนือสิ่งอื่นใด” !!
บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกร้องมากปานนี้ ?!?
คำตอบคือ เพราะพระองค์ทรงรักเรามาก ทรงปรารถนาให้เรามีชีวิตเหมือนพระองค์ จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์เช่นเดียวกับพระองค์ !!!
ที่สำคัญ พระองค์ไม่เพียงเรียกร้องด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ทรงดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างแก่เราอีกด้วย
พระองค์ตรัสว่า “เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ” (ลก 12:50)
คำ “ล้าง” ตรงกับภาษากรีก baptizein (บัพตีเซน) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “จุ่ม” และหมายถึง “จม” เมื่อเป็นผู้ถูกกระทำ (passive voice)
นิยมใช้ในความหมายเชิงอุปมา เช่น เรือจมใต้คลื่น (ยังไม่จมจริง) เมาหัวราน้ำ (จมอยู่กับการดื่ม) จมอยู่กับตำรา ฯลฯ ที่สำคัญ คำนี้นิยมใช้กันมากกับคนที่ “จม” อยู่ในความทุกข์ยากหรือประสบการณ์อันน่าสยดสยองและน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง
ประสบการอันน่าสยดสยองนี้เองทำให้พระองค์ทรง “เป็นทุกข์กังวลใจอย่างมาก” (ข้อ 50) เพราะสิ่งที่พระองค์กำลังจะต้อง “จุ่ม” และ “จม” ลงไปคือ “พระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน”
เป็น “กางเขน” ที่ทำให้พระองค์เป็นทุกข์กังวลใจจนกว่าพระองค์จะได้ “จุ่ม” และ “จม” อย่างผู้มีชัยอีกครั้งหนึ่งเมื่อทรงกลับเป็นขึ้นมาจากความตายอย่างรุ่งโรจน์
“กางเขน” คือหนทางสู่ “พระสิริรุ่งโรจน์”
ศาสนาคริสต์จึงเป็นศาสนาแห่ง “กางเขน” ด้วยประการฉะนี้
ในเมื่อพระเยซูเจ้ายังทรงเลือกหนทางของกางเขน แล้วเราจะเลือกหนทางใด ???