อาทิตย์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี ลูกา 19:1-10
(1)พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าเมืองเยรีโคและกำลังจะเสด็จผ่านเมืองนั้น (2)ชายคนหนึ่งชื่อศักเคียส เป็นหัวหน้าคนเก็บภาษี เป็นคนมั่งมี (3)เขาพยายามมองดูว่าใครคือพระเยซูเจ้า แต่ก็มองไม่เห็นเพราะมีคนมากและเพราะเขาเป็นคนร่างเตี้ย (4)เขาจึงวิ่งนำหน้าไป ปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศ เพื่อให้เห็นพระเยซูเจ้า (5)เพราะพระองค์กำลังจะเสด็จผ่านไปทางนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงที่นั่น ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตรตรัสกับเขาว่า ‘ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้’ (6)เขารีบลงมาต้อนรับพระองค์ด้วยความยินดี (7)ทุกคนที่เห็นต่างบ่นว่า ‘เขาไปพักที่บ้านคนบาป’ (8)ศักเคียสยืนขึ้นทูลพระเยซูเจ้าว่า ‘พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน และถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า’ (9)พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว เพราะคนนี้เป็นบุตรของอับราฮัมด้วย (10)บุตรแห่งมนุษย์มาเพื่อแสวงหาและเพื่อช่วยผู้ที่เสียไปให้รอดพ้น’
เมืองเยรีโคตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดน จึงเป็นศูนย์กลางเชื่อมเส้นทางระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนเข้าด้วยกัน
เยรีโคยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นปาล์ม อินทผลัม ยางไม้หอม และกุหลาบ จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งต้นปาล์ม”
โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวถึงกับเรียกเมืองเยรีโคว่าเป็น “ดินแดนของพระเจ้า” และ “เมืองที่มั่งคั่งที่สุดในปาเลสไตน์”
ด้วยเหตุที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางและการค้าขายกับดินแดนทางตะวันออก กอปรกับธรรมชาติเอื้ออำนวยให้มีความอุดมสมบูรณ์ เยรีโคจึงเป็นศูนย์กลางการเก็บภาษีที่สำคัญที่สุดในปาเลสไตน์
เดิมทีโรมเก็บภาษีบรรดาเมืองขึ้นซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ด้วยโดย “การให้สัมปทาน” แต่ละเขตแก่ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดแก่โรม ตราบใดที่ผู้ได้รับสัมปทานสามารถส่งภาษีได้ครบตามสัญญา โรมจะให้สิทธิพวกเขาเก็บภาษีหรือขูดรีดอะไรก็ได้จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตนั้น โดยที่ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่าภาษีที่พวกเขาต้องจ่ายตามกฎหมายมีอะไรบ้าง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์
แน่นอนว่าผู้รับสัมปทานแต่ละรายต่างนำสิทธิที่ได้รับจากโรมไปใช้ในทางที่ผิดจนเกิดปัญหาตามมามากมาย ที่สุดโรมจึงยกเลิกระบบดังกล่าวและหันมาจัดเก็บภาษีเอง กระนั้นก็ตามคนเก็บภาษีซึ่งแม้จะทำงานให้โรมโดยตรงก็ยังไม่ยอมละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิม นั่นคือทั้งโลภ ทั้งโกง และทั้งแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน
ภาษีที่ต้องจ่ายมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือภาษีรัฐ ตัวอย่างเช่น ภาษีรายหัวที่ชายอายุ 14-65 ปีและหญิงอายุ 12-65 ปีทุกคนต้องจ่ายเป็นรายปี ภาษีที่ดินร้อยละสิบหากปลูกข้าว ถ้าปลูกองุ่นและน้ำมันร้อยละยี่สิบ ภาษีเงินได้ร้อยละหนึ่ง เป็นต้น ภาษีประเภทนี้ไม่ค่อยมีการบิดเบือนมากนัก
ภาษีประเภทที่สองคือภาษีอากรที่เหลือทุกชนิด เช่นภาษีการใช้ถนน ท่าเรือ ตลาด ภาษีนำเข้าและส่งออก รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าบางชนิด
ยกตัวอย่างเฉพาะภาษีการใช้ถนนซึ่งเรียกเก็บตามจำนวนล้อและชนิดของสัตว์ที่ใช้ลากจูงเกวียน การลงบัญชีจำนวนล้อหรือชนิดของสัตว์ว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อถนนมากน้อยเพียงใดล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนเก็บภาษี นอกจากนั้นคนเก็บภาษียังมีอำนาจสั่งให้หยุดเกวียนกลางถนน แล้วรื้อหีบห่อสินค้าต่าง ๆ เพื่อตรวจเก็บภาษีตามความพอใจ หากประชาชนมีเงินไม่พอจ่ายค่าภาษี พวกเขายังเตรียมเงินไว้ให้กู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพงลิบลิ่ว
คนเก็บภาษีจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยมาก แต่ฐานะทางสังคมกลับตกต่ำที่สุด เพราะชาวยิวพากันเกลียดชังและจัดชั้นพวกเขาให้อยู่กลุ่มเดียวกันกับโจรและฆาตกร
ที่สำคัญศักเคียสไม่ใช่คนเก็บภาษีธรรมดา แต่เป็นถึงหัวหน้าคนเก็บภาษีของเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในปาเลสไตน์
ความร่ำรวยของศักเคียสจึงไม่ต้องพูดถึง !
และกับศักเคียสที่ชาวยิวถือว่าเลวเทียบเท่าโจรและฆาตกรนี้เอง ที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “วันนี้ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว” (ลก 19:9)
เกิดอะไรขึ้นกับศักเคียสหรือ ?
ประการแรก ศักเคียสร่ำรวยแต่ไม่มีความสุข
เขาโดดเดี่ยวเพราะเลือกอาชีพที่ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ความร่ำรวยไม่ช่วยให้เขามีความสุข เงินทองไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเขา
โชคดีที่เขาได้ยินมาว่าคนชื่อ “เยซู” ต้อนรับคนเก็บภาษีและคนบาป เขาจึงอยากรู้ว่าพระองค์จะตรัสกับเขาว่าอย่างไร ?
ด้วยเหตุที่ผู้คนพากันดูหมิ่นและเกลียดชัง ศักเคียสจึงพยายามแสวงหาความรักของพระเจ้ามาเติมเต็มชีวิตของเขา
ประการที่สอง เมื่อศักเคียสตั้งใจพบพระเยซูเจ้า เขาไม่ยอมให้สิ่งใดมาหยุดยั้ง !
ด้วยความที่เป็นคนร่างเตี้ยและเป็นที่เกลียดชังของผู้คนทั่วไป การฝ่าฝูงชนมากมายเข้าพบพระเยซูเจ้าจึงต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญชาญชัยอย่างยิ่ง เพราะฝูงชนคงไม่ยอมพลาดโอกาสทองที่จะประเคนทั้งศอก ทั้งเข่าใส่เขาอย่างเมามัน และเขาคงต้องกลับบ้านพร้อมกับรอยฟกช้ำดำเขียวทั้งตัว
แต่ศักเคียสไม่ยอมให้โอกาสที่จะพบพระเยซูเจ้าซึ่งอยู่ใกล้แค่เอื้อมหลุดลอยไปเด็ดขาด แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม “เขาจึงวิ่งนำหน้าไป ปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศ เพื่อให้เห็นพระเยซูเจ้า” (ลก 19:4)
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนร่างเตี้ยอย่างเขา !
ประการที่สาม เมื่อได้พบพระเยซูเจ้า ศักเคียสเปลี่ยนชีวิตใหม่หมด
เมื่อพระองค์ตรัสกับเขาว่า “ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้” (ลก 19:5) ศักเคียสค้นพบทันทีว่าเขาได้ “เพื่อนใหม่” ที่วิเศษสุดแล้ว
เขาตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตทันที !
เขายกสมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือก็ไม่ได้เก็บไว้ใช้เอง แต่เพื่อชดใช้ความเสียหายสี่เท่าแก่คนที่เขาได้โกงมา (ลก 19:8)
การชดใช้ “สี่เท่า” ถือว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก !
กฎหมายกำหนดว่า “ถ้าผู้ใดขโมยโคหรือแกะไปฆ่าหรือขาย ผู้นั้นจะต้องชดใช้ในอัตราโคห้าตัวต่อโคหนึ่งตัว (หนึ่งตัวทดแทนโคที่ถูกฆ่าหรือขาย อีกสี่ตัวเป็นค่าปรับ - ผู้เขียน) แกะสี่ตัวต่อแกะหนึ่งตัว (ค่าปรับสามเท่า)” (อพย 21:37) แต่ “ถ้าพบสัตว์ที่เขาขโมยไปยังมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นโค ลาหรือแกะ เขาจะต้องชดใช้เป็นสองเท่า” (อพย 22:3)
แต่ถ้าขโมยสำนึกผิดและนำสิ่งของที่ได้มาไปคืนเจ้าของดังเช่นกรณีของศักเคียส “เขาจะต้องนำทุกสิ่งที่เขาได้มาไปคืนแก่เจ้าของ เพิ่มค่าปรับอีกหนึ่งในห้าของราคาสิ่งของเหล่านั้น” (อพย 5:24)
แต่ศักเคียสพร้อมชดใช้ความเสียหายหรือค่าปรับสี่เท่าในทุกกรณี ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึงยี่สิบเท่า !!
ศักเคียสไม่เพียงเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจเท่านั้น แต่เขาเปลี่ยนแปลงการกระทำด้วย
เขาทำให้เห็นว่า คำพูดยืนยันใด ๆ ย่อมไร้ค่าหากปราศจากการกระทำ !
เช่นเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต
นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้พระองค์ตรัสว่า “วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว” !!!