แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์


มัทธิว 2:1-12
    ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮม
ในแคว้นยูเดีย โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออก เดินทางมายัง
กรุงเยรูซาเล็ม สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์” เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาวกรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ ตรัสถามเขาว่า “พระคริสต์จะประสูติที่ใด” เขาจึงทูลตอบว่า “ในเมืองเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย” เพราะประกาศกเขียนไว้ว่า “เมืองเบธเลเฮม ดินแดน
ยูดาห์ เจ้ามิใช่เล็กที่สุดในบรรดาหัวเมืองแห่งยูดาห์ เพราะผู้นำ
คนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”
    ดังนั้น กษัตริย์เฮโรดทรงเรียกบรรดาโหราจารย์มาเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ทรงซักถามถึงวันเวลาที่ดาวปรากฏ แล้วทรงใช้บรรดาโหราจารย์ไปที่เมืองเบธเลเฮม ทรงกำชับว่า “จงไปสืบถามเรื่อง
พระกุมารอย่างละเอียด และเมื่อพบพระกุมารแล้ว จงกลับมาบอกให้เรารู้ เราจะได้ไปนมัสการพระองค์ด้วย” เมื่อบรรดาโหราจารย์ได้ฟังพระดำรัสแล้วก็ออกเดินทาง ดาวที่เขาเห็นทางทิศตะวันออกปรากฏอีกครั้งหนึ่ง นำทางให้ และมาหยุดนิ่งอยู่เหนือสถานที่ประทับของพระกุมาร เมื่อเห็นดาวอีกครั้งหนึ่ง บรรดาโหราจารย์มีความยินดียิ่งนัก เขาเข้าไปในบ้าน พบพระกุมารกับพระนางมารีย์ พระมารดา จึงคุกเข่าลงนมัสการพระองค์ แล้วเปิดหีบสมบัติ นำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์ แต่พระเจ้าทรงเตือนเขาในความฝันมิให้กลับไปหากษัตริย์เฮโรด เขาจึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น

 

บทรำพึงที่ 1
เรื่องจากจินตนาการ
    มัทธิวเล่าเรื่องโดยใช้จินตนาการอันอุดม ซึ่งขยายมิติของเหตุการณ์พระคริสตสมภพให้กว้างขึ้น มัทธิวคาดหมายให้ผู้อ่านมองให้ไกลเกินรายละเอียดของเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่
เบธเลเฮม เพื่อให้เข้าใจสารที่ต้องการสื่อให้แก่คนทุกยุคสมัยและทุกสถานที่ เขาเชิญชวนเราให้ก้าวออกไป และเข้าสู่โลกของดวงดาวและโหราศาสตร์ เข้าสู่โลกภายในแห่งความทรงจำและความฝัน เขาเผยถึงอดีตของชาวยิวอย่างแยบยล และเผยถึงอนาคตด้วยคำบอกเล่าเรื่องของถวาย ที่มีความหมาย
เชิงสัญลักษณ์

    ในเรื่องนี้ ความหมายภายในสำคัญกว่ารายละเอียดทางประวัติศาสตร์และโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก ไม่มีความจำเป็นต้องสืบค้นว่าโหราจารย์เหล่านี้เป็นใครจากที่ไหน เพราะพวกเขาเป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคนที่แสวงหาความจริงของชีวิตอย่างสุจริตใจ
    และไม่มีความจำเป็นต้องค้นคว้าประวัติทางโหราศาสตร์เพื่อยืนยันว่ามีดาวดวงใหญ่ หรือกลุ่มดาว ปรากฏขึ้นจริงหรือไม่ เขาเรียกดาวที่นำทางเขามาหาพระองค์ว่า “ดาวประจำพระองค์” เพราะเป็นความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่า เมื่อใดที่ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตเกิดมา จะมีดาวดวงใหม่ปรากฏให้เห็น ดาวนี้หมายถึงแสงสว่างที่พระเจ้าทรงส่งมานำทางมนุษย์ทุกคนในการเดินทางแห่งชีวิตของเขา แม้ว่าดาวเป็นแสงสว่างที่อยู่ไกล และแสงซีด เมื่อเทียบกับแสงดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ แต่เป็นสิ่งที่ชี้ทิศทางได้ดียิ่งสำหรับคนเดินเรือ พระเจ้าจะทรงส่งดาวมานำทางเราผ่านความมืดยามค่ำคืน และฝ่ามรสุมชีวิตเสมอ
    แต่โหราจารย์เหล่านี้พบว่าแสงธรรมชาตินำทางเขาไปได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น พวกเขายังต้องพึ่งปรีชาญาณของพระเจ้าที่ซ่อนอยู่ในการเผยแสดงผ่านประกาศกชาวยิว เพื่อให้พวกเขาสามารถเดินทางไปถึงจุดหมาย แสงสว่างจากการเผยแสดงนี้นำทางเขาไปยังเมืองเบธเลเฮม และทำให้เขามีความหวังมากขึ้นว่าจะพบกับผู้นำ และผู้เลี้ยงแกะคนใหม่
    พฤติกรรมของเฮโรด ผู้วุ่นวายพระทัยและวิตกกังวล ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ในแผ่นดินอียิปต์เมื่อโมเสสเกิดมา มัทธิวต้องการให้ผู้อ่านพระวรสารของเขาเริ่มมองเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายกันในชีวิตของพระเยซูเจ้าและโมเสส ผู้นำชนชาติของเขาออกจากความเป็นทาส และมอบธรรมบัญญัติแห่งพันธสัญญาให้แก่ชาวยิว
    โหราจารย์เดินทางต่อไปจนกระทั่งแสงสว่างนั้นหยุดนิ่งเหนือสถานที่ประทับของพระกุมาร พวกเขาก้าวเข้าไปในบ้านด้วยความยินดี และคุกเข่าลงนมัสการพระองค์ ในเวลาที่
มัทธิวเขียนพระวรสารนี้ ชนต่างชาติพากันเข้ามาในบ้าน ซึ่งหมายถึงพระศาสนจักร ในขณะที่ชาวยิวยังอยู่ที่เดิม และไม่ยอมให้แสงสว่างของพระคริสตเจ้านำเขาเดินทางต่อไปข้างหน้า
    โหราจารย์ถวายของขวัญเป็นทองคำ กำยาน และมดยอบ มัทธิวอาจมีเจตนาให้เราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งของที่โหราจารย์เหล่านี้ต้องใช้เป็นประจำในอาชีพของเขา เพราะเขาเป็นเหมือนหมอผีในศาสนาที่บูชาธรรมชาติ แต่บัดนี้ สิ่งของเหล่านี้ถูกนำมาเป็นของขวัญถวายพระกุมารที่เมืองเบธเลเฮม เพื่อแสดงการคารวะต่อความเป็นเจ้านายของพระองค์ ผู้อธิบายความใน
พระคัมภีร์มองว่าของถวายเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของชะตากรรมในอนาคตของพระเยซูเจ้า ทองคำหมายถึงการเป็นกษัตริย์ กำยานหมายถึงความเป็นสมณะของพระองค์ และมดยอบที่ใช้เจิมหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ
    พระเจ้าทรงเตือนโหราจารย์เหล่านี้ในความฝันไม่ให้กลับไปหากษัตริย์เฮโรด แต่ให้เดินทางกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์บอกว่าพระเจ้าทรงแนะนำมนุษย์ผ่านทางความฝัน เพราะช่วยให้มองสถานการณ์ได้รอบด้าน และทำให้เห็นทางเลือกอื่น
    นอกจากเรื่องตามคำบอกเล่าของมัทธิวแล้ว พิธีกรรมยังเสนอบทอ่านอีกสองบทและบทสดุดี ซึ่งร่วมกันประกาศว่านานาชาติมาเฝ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ในปัจจุบัน เราเห็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม ประชาชนกำลังถอยห่างจากบ้านของพระศาสนจักร และน่าแปลกใจที่คนจำนวนมากหันกลับไปหา
สิ่งที่โหราจารย์เหล่านี้ละทิ้งไว้เบื้องหลัง
    ดวงดาวกลายเป็นเทพเจ้าสำหรับบุคคลที่เชื่อว่ากลุ่มดาวใน
ราศีพฤษภ หรือเมถุน มีอำนาจควบคุมชีวิต และชะตากรรมของเขา
    ทองคำหมายถึงกระแสวัตถุนิยม ซึ่งสกัดกั้นไม่ให้คนจำนวนมากมีสัมผัสที่ไวในเรื่องจิตวิญญาณและพระเจ้า กำยาน หมายถึงธูปที่ใช้จุดเพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะแก่การนั่งสมาธิ สำหรับบางคนที่ชอบความคลุมเครือของศาสนาตะวันออก มากกว่าความชัดเจนของการเผยแสดงในศาสนาคริสต์ ส่วนมดยอบที่ใช้ดองศพ หมายถึงลัทธิที่ให้ความสำคัญกับร่างกายมากเกินไปจนละเลยเสียงเรียกร้องของจิต การพัฒนาความเชี่ยวชาญในการฝึกสมาธิ และความเคารพร่างกายซึ่งเป็นวิหารของวิญญาณนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ควรเป็นเป้าหมายในตัวเองจนเข้ามาแทนที่ศาสนา วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นการยอมรับว่าพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้นำ และผู้เลี้ยงแกะของชนทุกชาติ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เสด็จมาจากสวรรค์ ทรงเป็นสมณะนิรันดร และทรงเป็นพระผู้ไถ่ผู้ได้รับเจิม

 

บทรำพึงที่ 2
คำเชิญให้เชื่อ
    วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นการเฉลิมฉลองความเชื่อ และแสดงความชื่นชมยินดีที่พระเทวภาพของพระเยซูเจ้าปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากเรื่องของโหราจารย์ การรับ
พิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดน และในงานแต่งงานที่หมู่บ้านคานา
    คนทั้งหลายที่พระเจ้าทรงนำทางให้มองเห็นไกลกว่าที่ตาฝ่ายกายมองเห็น จึงกลายเป็นผู้มีความเชื่อ ความเชื่อเป็นพระพรที่ช่วยให้มนุษย์เคลื่อนสายตาจากเครื่องหมายภายนอก ไปหาบุคคลที่เครื่องหมายเหล่านี้ชี้ให้เขาเห็น ยอห์นสรุปเรื่องที่คานาว่า “พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์”
    ในเรื่องของมัทธิว โหราจารย์เป็นตัวแทนของผู้มีความเชื่อ กษัตริย์เฮโรด เป็นตัวแทนของผู้ไม่มีความเชื่อ
    โหราจารย์สังเกตเห็นดวงดาว และได้ยินคำบอกเล่า เขายอมเดินทางติดตามดวงดาวไปจนถึงสถานที่ซึ่งดาวมาหยุดนิ่ง ในสถานที่นั้น พวกเขาก้าวเข้าไปในบ้าน การเดินทางของเขาเป็นการแสดงออกภายนอก ว่าเขากำลังเดินทางภายในผ่านทางจินตนาการ ลางสังหรณ์ ความทรงจำ และการนำความคิดต่าง ๆ มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน การเดินทางครั้งนี้นำเขามาถึงความเชื่อ และการนมัสการในที่สุด
    ของถวายของพวกเขามีความหมายเชิงสัญลักษณ์ คำว่า
“เชิงสัญลักษณ์” (symbolic) มาจากภาษากรีก หมายถึงการเคลื่อนตัวของสิ่งต่าง ๆ มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน การเคลื่อนตัวในทางตรงกันข้ามคือ diabolic ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่าการฉีกสิ่งต่าง ๆ ออกจากกัน
    ระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ และการทำงานของสมองซีกซ้าย สอนมนุษย์ให้ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์และแยกชิ้นส่วน สอนให้แบ่งแยกเพื่อเอาชนะ ถ้าเราเพิกเฉยต่อการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในภาพรวมและในความสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อนั้นระบบการศึกษาจะสอนให้แบ่งแยกและเป็นอันตราย จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนมากในปัจจุบันไม่ค่อยมีความเชื่อ ไม่น่าแปลกใจที่เราแยกพฤติกรรมทางเพศออกจากความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกัน และไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์ใช้เงินจำนวนมากไปในการต่อต้านศัตรู และสะสมอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้าง มากกว่าใช้ส่งเสริมภราดรภาพ และเลี้ยงดูคนอดอยาก
    ในเรื่องนี้ กษัตริย์เฮโรดเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ไม่มีเครื่องหมายใดสามารถผลักดันให้พระองค์เดินทางไปยังบ้านแห่งความเชื่อหลังนั้นได้ พระองค์ยังรออยู่ที่เดิมในโลกภายนอกที่สนใจแต่ข้อเท็จจริง วันที่ และสถานที่ที่แน่ชัด พระองค์ไม่ยอมมองไกลกว่าสิ่งใดที่อาจคุกคามตำแหน่งของพระองค์ พระองค์วุ่นวายพระทัย แม้แต่ทารกน้อยคนหนึ่งก็ยังเป็นภัยคุกคามที่พระองค์ต้องกำจัดให้พ้นทางด้วยวิธีการอันโหดร้ายที่สุด
    จิตใจที่คิดแต่จะแบ่งแยก ไม่สามารถปล่อยมือจากอำนาจควบคุม หรือโอบกอดด้วยความรัก หรือก้มลงคำนับ แต่จะแยกแยะรายละเอียดและฉีกทุกสิ่งทุกอย่างออกจากกัน
พรากบุตรจากอกมารดา และนำไปฆ่า การฆ่าเป็นการกระทำที่ร้ายกาจที่สุด
    การแสดงความเชื่อต้องใช้พลังของสมองในการสร้างจินตนาการ และหยั่งรู้ เพื่อก้าวข้ามรายละเอียดซึ่งประสาทสัมผัสภายนอกรับรู้ได้ทันที เมื่อนั้น เราจะก้าวข้ามชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปหาองค์รวม ก้าวออกจากรอยเท้าไปหาเจ้าของรอยเท้านั้น เรื่องของมัทธิวเป็นคำเชิญให้เราเดินทางติดตามแสงริบหรี่ของดวงดาวที่กำลังขึ้น และปรีชาญาณของพระคัมภีร์ และก้าวเข้าสู่บ้านแห่งความเชื่อ

 

บทรำพึงที่ 3
ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮม ในแคว้นยูเดีย
    ข้อความนี้เป็นข้อความเดียวที่นักบุญมัทธิว กล่าวถึงเหตุการณ์พระคริสตสมภพ และดูเหมือนจะสั้นเกินไป
    อันที่จริง มัทธิวดูเหมือนแทบไม่สนใจเหตุการณ์นี้ ซึ่งต่างจากลูกา แต่มัทธิวต้องการให้ผู้อ่านรับรู้นัยสำคัญของเหตุการณ์นี้มากที่สุด เขาเปิดเผยนัยสำคัญนี้ในคำบอกเล่าเรื่องของโหราจารย์ และถ้าเราสังเกต จะเห็นว่าคำบอกเล่านี้เหมือนกับเป็นอารัมภบทสำหรับพระวรสารทั้งฉบับของมัทธิว
โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออก เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด”
    มัทธิว กล่าวถึงกษัตริย์เฮโรด และกษัตริย์ชาวยิว ราวกับเป็นวางส่วนผสมสองอย่างของวัตถุระเบิดไว้ใกล้ ๆ กัน
    คำถามที่ได้ยินหลายครั้งจากคนต่างชาติในถนนแคบ ๆ ของ
กรุงเยรูซาเล็ม คงฟังดูเหมือนคำประชดอันโหดร้ายสำหรับชาวยิว เราเข้าใจได้ว่ามันคงทำให้คนขี้ระแวงอย่างกษัตริย์เฮโรดวุ่นวายพระทัยมาก ประวัติศาสตร์บอกเราว่าตลอดชีวิตพระองค์มีแต่ความกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ พระองค์มองเห็นแต่แผนโค่นล้มพระองค์ พระองค์ประทับอยู่ในป้อมปราการ และสั่งประหารโอรสสามองค์ มารดาของพระมเหสี และแม้แต่ตัวพระมเหสีของพระองค์ นั่นคือประวัติศาสตร์
    แต่มัทธิวต้องการบอกว่า “กษัตริย์ชาวยิว” มีความหมายลึกกว่านั้น เรื่องของอาณาจักรสวรรค์เป็นหัวข้อที่เขาจะกล่าวถึงบ่อย ๆ และ มัทธิว ประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่าใครคือกษัตริย์ของอาณาจักรนี้
พระวรสารของมัทธิว กล่าวถึงการแย่งชิงมงกุฎราชากันตั้งแต่หน้าแรก ใครกันแน่ที่เป็นกษัตริย์ของชาวยิว เฮโรด ผู้ทรงอำนาจ ชอบใช้ความรุนแรง และพร้อมจะฆ่าคน หรือพระเยซูน้อย ผู้อ่อนแอ และ
ไร้อาวุธ ผู้ที่วันหนึ่งจะสิ้นพระชนม์เหมือนเหยื่อผู้บริสุทธิ์คนหนึ่ง
    ในหน้าสุดท้ายของพระวรสารของเขา มัทธิวจะใช้เทคนิคการเขียนวรรณกรรมของชาวเซมิติก และระบุตำแหน่ง “กษัตริย์ของชาวยิว” ของพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทหารจะเยาะเย้ยพระองค์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว” (มธ 27:29) และเพื่อระบุข้อกล่าวหาที่ทำให้เขาต้องประหารพระเยซูเจ้า ปิลาตจะติดป้ายไว้เหนือพระเศียรของพระองค์ว่า “นี่คือเยซู กษัตริย์ของชาวยิว” (มธ 27:37) เมื่อหัวหน้าสมณะ และบรรดาธรรมาจารย์เห็นเช่นนี้ก็เยาะเย้ยพระองค์เช่นเดียวกันว่า “เขาเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงลงมาจากไม้กางเขนเดี๋ยวนี้” (มธ 27:42)
    ในคำบอกเล่าเรื่องโหราจารย์ มัทธิว บอกเราว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ถ่อมพระองค์ตั้งแต่วันที่พระองค์ประสูติมาแล้ว ทรงเป็นเหมือนภาพของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่อิสยาห์บรรยายไว้ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ “เสด็จมาบนหลังลา” ระหว่างช่วงเวลาแห่งชัยชนะสั้น ๆ เมื่อพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มิได้เสด็จมาเพื่อ “ให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28) และเป็นผู้ที่ขอร้องมิตรสหายของพระองค์มิให้
“ทำตัวเป็นนายเหนือผู้อื่น ... แต่ต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น”
(มธ 20:25-26)
    พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ของโลกนี้ และอำนาจของพระองค์ไม่เหมือนอำนาจปกครองของเฮโรด อันที่จริง ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าจะเผยให้เห็นได้ระหว่างพระทรมานของพระองค์เท่านั้น
    เราเข้าใจความหมายของคำภาวนาที่เราสวดบ่อย ๆ หรือ
ไม่ว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” และ “ผู้ทรงจำเริญ และครองราชย์ร่วมกับพระองค์ และพระจิตเจ้า ตลอดนิรันดร”
พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ทางทิศตะวันออก
    ข้อความนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “เราเห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น”
    ในพิธีกรรมวันนี้ พระศาสนจักรจำคำบอกเล่าเหตุการณ์
พระคริสตเจ้าแสดงองค์ มาผสมผสานกับข้อความจากหนังสือ
อิสยาห์ ซึ่งคัดเลือกมาจากหลายข้อความในพระคัมภีร์ที่ประกาศว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาเหมือน “แสงสว่าง” ว่า “จงลุกขึ้น (อิสราเอล) ฉายแสง เพราะว่าความสว่างของเจ้ามาแล้ว และ
พระสิริของพระเจ้าขึ้นมาเหนือเจ้า เพราะว่าดูเถิด ความมืดจะคลุมแผ่นดินโลก แต่พระเจ้าจะทรงขึ้นมาเหนือเจ้า และเขาจะเห็นพระสิริของพระองค์เหนือเจ้า และบรรดาประชาชาติจะมายังความสว่างของเจ้า และพระราชาทั้งหลายจะมาหาความสว่างจากการลุกขึ้นของเจ้า” (อสย 60:1-6) ... เราจำคำประกาศถึง
แสงสว่างของพระเมสสิยาห์ระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และระหว่างมิสซาเที่ยงคืนของเทศกาลพระคริสตสมภพได้ด้วยว่า
“ชนชาติที่เดินในความมืดจะได้เห็นแสงสว่างยิ่งใหญ่ ... ด้วยมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา” (อสย 9:1-5)
    คำว่า “ดวงดาว” มีความหมายหลากหลายมาก ดังที่นักบุญ
เปโตรอธิบายเมื่อเขาพูดถึงความเชื่อว่าเหมือนกับ “ดาวประจำรุ่งที่ปรากฏขึ้นในจิตใจของท่าน” (2ปต 1:19) ดาวนี้หมายถึง
แสงสว่างของพระเจ้า พระหรรษทานของพระเจ้า การทำงานของพระเจ้าในหัวใจ และในจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน และนำทางทุกคนไปหาพระคริสตเจ้า ถูกแล้ว พระเจ้าทรงมองดูโหราจารย์ “ต่างศาสนา” เหล่านี้ด้วยความรัก ขณะที่พวกเขาเดินทางไปหาพระเยซูเจ้า
    ในชีวิตของข้าพเจ้าก็มีพระหรรษทานที่นำทางข้าพเจ้าไปสู่การค้นพบพระเยซูเจ้าเช่นกัน ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญที่จะติดตามไปในทุกที่ที่พระหรรษทานนี้นำข้าพเจ้าไปหรือไม่ ...
แสงสว่างอันนุ่มนวล โปรดนำทางข้าพเจ้าเถิด ... โปรดนำทางข้าพเจ้าให้ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ... เพียงทีละก้าว ... ไปหาพระองค์เถิด

... จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์
    เพื่อนมัสการ ถ้าแปลตรงตัวคือ “หมอบกราบ (prostrate)” ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความจงรักภักดี และความเคารพ มัทธิว ย้ำคำนี้สามครั้งในพระวรสารหน้านี้ ซึ่งเป็นคำที่แสดงทัศนคติ
ลึก ๆ ในหัวใจของโหราจารย์ที่ไม่ใช่ชาวยิว พวกเขามาเพื่อสักการะ
    ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ในบางครั้ง ข้าพเจ้ากราบไหว้อะไร หรือกราบไหว้ใคร การคำนับของข้าพเจ้าในเวลาที่พระสงฆ์ยกศีลมหาสนิทขึ้นระหว่างพิธีบูชามิสซา มีความหมายอย่างไร
เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาว
กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์ ...
    ในคำบอกเล่าเรื่องพระคริสตเจ้าแสดงองค์นี้ มัทธิวเสนอให้เราพินิจสอง “ทัศนคติ” ที่เราพบครั้งแล้วครั้งเล่าในพระวรสารของเขา
    ทัศนคติหนึ่ง คือ การปฏิเสธของผู้นำทางการเมือง และผู้นำศาสนาของชาวยิว คนเหล่านี้ควรเป็นคนกลุ่มแรกที่มองออกว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ แต่พวกเขาทำอะไรอยู่ ... พวกเขากลัว  พวกเขาวิตกกังวล พวกเขาไม่เคลื่อนไหว อันที่จริง พวกเขาพยายามฆ่าพระเยซูเจ้าตั้งแต่แรก เราได้ยินพระเยซูเจ้าทรง
คร่ำครวญดัง ๆ อย่างเศร้าพระทัยเกี่ยวกับเยรูซาเล็มว่า “วิบัติ
จงเกิดแก่ท่าน ธรรมาจารย์ และฟาริสี ... เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก ... กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของท่าน ... แต่ท่านไม่ต้องการ” (มธ 23:27-37)
    อีกทัศนคติหนึ่ง คือ การยินดีต้อนรับของโหราจารย์ที่ไม่ใช่ชาวยิว แม้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ถูกเตรียมตัวเตรียมใจให้ยอมรับพระเมสสิยาห์ แต่กลับเป็นคนที่แสวงหาและพร้อมจะออกเดินทาง แทนที่เขาจะวิตกกังวล พวกเขารู้สึกยินดีอย่างยิ่ง เราได้ยินพระวรสารฉบับนี้ประกาศในบทสรุปแล้วว่า “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)
    ระหว่างศตวรรษแรก ๆ ข้อความตอนนี้ของพระวรสารอธิบายให้คริสตชนเชื้อสายยิวเข้าใจแล้วว่าทำไมคริสตชน
ส่วนใหญ่ในพระศาสนจักรจึงไม่ใช่คนเชื้อสายยิว แม้ว่าพระเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นแก่อิสราเอล
    มัทธิว แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ที่ประชาชน
รอคอย ผู้เสด็จมาเพื่อมนุษย์ทุกคน และ “อิสราเอลใหม่”
ก็ประกอบด้วยคนเหล่านี้ คือ ชาวยิว และชนต่างชาติ ผู้ยอมรับพระเยซูเจ้า มีคำทำนายที่ประกาศถึงเหตุการณ์นี้คือ
กรุงเยรูซาเล็มจะกลายเป็นเมืองหลวงของชนทุกชาติ “มวลอูฐจะมาห้อมล้อมเจ้า อูฐหนุ่มจากมีเดียน และเอฟาห์ คนเหล่านั้นจะมาจากเชบา เขาจะนำทองคำ และกำยาน และจะประกาศสรรเสริญพระเจ้า” (อสย 60:6) ชาวอิสราเอลระลึกถึงราชินีแห่งเชบา ผู้เสด็จมายังกรุงเยรูซาเล็มจากดินแดนห่างไกล เพื่อมาพบกษัตริย์ซาโลมอน บทสดุดี 71 ที่ใช้ขับร้องระหว่างวันสมโภช
พระคริสตเจ้าแสดงองค์ก็กล่าวถึงการต้อนรับชาวโลกว่า “บรรดาพระราชาแห่งเมืองทารชิช และเกาะทั้งปวงจะนำเครื่องบรรณาการมาถวาย” มัทธิวจะย้ำเช่นกันว่าคนจำนวนมาก “จะมาจากทิศตะวันออกและตะวันตก และจะนั่งร่วมโต๊ะกับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ในอาณาจักรสวรรค์” (มธ 8:11) ... เราเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่าพระวรสารถูกประพันธ์ขึ้นในลักษณะใด
    โหราจารย์เป็นตัวแทนของทุกคนที่เราเรียกว่า “คนต่างศาสนา” (และทุกคนที่ไม่เชื่อ) ในทุกยุคสมัย เราไม่ใช้คำเหล่านี้แสดงความดูถูกเหยียดหยาม เพื่อนหลายคนของเราเชื่อในศาสนาของเขาอย่างจริงใจ พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างถูกทำนองคลองธรรม รักความยุติธรรม และทำงานรับใช้ผู้อื่น ชีวิตครอบครัวของเขาเป็นแบบอย่างที่ดี และเขาปฏิบัติงานในสาขาอาชีพได้ดีอย่างน่าพิศวง แต่พวกเขาไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า
    วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นวันฉลองสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ไม่รู้จักพระเยซูเจ้า ทุกคนที่มีความเชื่อที่ต่างจากเรา และเป็นมนุษย์ที่พระเจ้าทรงรัก ประทานความสว่าง และ
ดึงเขาเข้ามาหาพระองค์โดยอาศัยพระหรรษทานที่เรามองไม่เห็น
    แต่เราตัดสินพวกเขาอย่างไร ...
ประกาศกเขียนไว้ว่า “เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ ... ผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา"
    ท่านอาจถามว่าเหตุใดดวงดาวจึงไม่นำโหราจารย์ตรงไปยังเมืองเบธเลเฮม ใกล้ ๆ พระเยซูเจ้า ทำไมจึงต้องเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ผ่าน “ธรรมาจารย์ และหัวหน้าสมณะ” เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาของพระองค์ แม้ว่าพระองค์เสนอความรอดพ้นให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ความรอดพ้นมาถึงโดยมีชาวยิวเป็นคนกลาง (รม 11:11)
    การเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ยังมีนัยสำคัญ
อีกประการหนึ่ง คือ ถ้าเราต้องการพบพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง เราต้องพึ่งพระวาจาของพระเจ้า คือ พระคัมภีร์
    ส่วนเราเล่า ... เรารำพึงภาวนาตามพระวาจา ตาม
พระคัมภีร์โดยไม่เบื่อหน่ายหรือไม่
เขาเปิดหีบสมบัติ นำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์ ... เขาจึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น
    การนมัสการพระเจ้าเป็นบทบาทสำคัญของพระศาสนจักร การนมัสการที่แท้หมายถึงการ “ถวายผลิตผลจากแรงงาน และจากแผ่นดินแด่พระเจ้า” นี่คือค่านิยมของมนุษย์ในทุกอารยธรรม
    การพบกับพระคริสตเจ้าจะเปลี่ยนชีวิตของเรา และเปิดอีกหนทางหนึ่งแก่เรา           
    นี่คือข่าวดีจริง ๆ พระเจ้าข้า