วันอาทิตย์ที่สาม เทศกาลปัสกา
ยอห์น 21:1-19
หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์อีกครั้งหนึ่งที่ฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส เรื่องราวเป็นดังนี้ ศิษย์บางคนอยู่พร้อมกันที่นั่น คือ ซีโมน เปโตร กับโทมัส ที่เรียกกันว่า “ฝาแฝด” นาธานาเอล ซึ่งมาจากหมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองคนของเศเบดี และศิษย์อีกสองคน ซีโมน เปโตร บอกคนอื่นว่า “ข้าพเจ้าจะไปจับปลา” ศิษย์คนอื่นตอบว่า “พวกเราจะไปกับท่านด้วย” เขาทั้งหลายออกไปลงเรือ แต่คืนนั้นทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย
พอรุ่งสาง พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่บนฝั่ง แต่บรรดาศิษย์ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงร้องถามว่า “ลูกเอ๋ย มีอะไรกินบ้างไหม” เขาตอบว่า “ไม่มี” พระองค์จึงตรัสว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวาซิ แล้วจะได้ปลา” บรรดาศิษย์จึงเหวี่ยงแหออกไป และดึงขึ้นไม่ไหว เพราะได้ปลาเป็นจำนวนมาก ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักกล่าวกับเปโตรว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” เมื่อซีโมน เปโตร ได้ยินว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” เขาก็หยิบเสื้อมาสวม เพราะเขาไม่ได้สวมเสื้ออยู่ แล้วกระโดดลงไปในทะเล ศิษย์คนอื่นเข้าฝั่งมากับ
เรือ ลากแหที่ติดปลาเข้ามาด้วย เพราะอยู่ไม่ห่างจากฝั่งนัก ประมาณหนึ่งร้อยเมตรเท่านั้น
เมื่อบรรดาศิษย์ขึ้นจากเรือมาบนฝั่ง ก็เห็นถ่านติดไฟลุกอยู่ มีปลา และขนมปังวางอยู่บนไฟ พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเอาปลาที่เพิ่งจับได้มาบ้างซิ” ซีโมน เปโตร จึงลงไปในเรือ แล้วลากแหขึ้นฝั่ง มีปลาตัวใหญ่ติดอยู่เต็ม นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว แต่ทั้ง ๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้นแหก็ไม่ขาด พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “มากินอาหารกันเถิด” ไม่มีศิษย์คนใดกล้าถามว่า “ท่านเป็นใคร” เพราะรู้ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาหยิบขนมปังแจกให้เขา แล้วทรงแจกปลาให้เช่นเดียวกัน นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
เมื่อบรรดาศิษย์กินเสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมน เปโตร ว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” เปโตรทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” พระองค์ตรัสถามเขาอีกเป็นครั้งที่สองว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด” พระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สามว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เปโตรรู้สึกเป็นทุกข์ที่พระองค์ตรัสถามตนถึงสามครั้งว่า “ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด”
“เราบอกความจริงกับท่านว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านจะคาดสะเอวด้วยตนเอง และเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือ แล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป”
พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตายอย่างไร เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงเสริมว่า “จงตามเรามาเถิด”
บทรำพึงที่ 1
เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
ฉากเหตุการณ์เปลี่ยนจากห้องที่ปิดและอับในกรุงเยรูซาเล็ม ไปเป็นพื้นที่โล่งข้างทะเลสาบกาลิลี ศิษย์เจ็ดคน (เจ็ดเป็นจำนวนเต็ม) ได้กลับไปประกอบอาชีพเดิม ราวกับว่าพวกเขายังไม่เข้าใจพันธกิจใหม่ของตน และพระจิตเจ้าผู้ที่เขาได้รับมา เมื่อพวกเขาทำงานด้วยกำลังของตนเอง เขาจับปลาไม่ได้เลย
ผู้นิพนธ์พระวรสารบอกว่า “พอรุ่งสาง” เพื่อบอกเราว่านี่คือวันใหม่สำหรับมนุษยชาติที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ แต่ตาของศิษย์ทั้งหลายมองเห็นแต่ความมืดยามกลางคืน จนจำไม่ได้ว่าผู้ที่
ยืนอยู่บนฝั่งนั้นคือพระเยซูเจ้า
เมื่อพวกเขาปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์ว่าควรเหวี่ยงแหไปทางใด งานของเขาประสบผลสำเร็จ เขาจับปลาได้ถึง
153 ตัว ผู้อธิบายพระคัมภีร์ใช้จินตนาการตีความหมายของจำนวนนี้ บางคนตีความว่าหมายถึงจำนวนพันธุ์ปลาที่
แยกประเภทได้ในยุคนั้น ซึ่งหมายความว่าพระศาสนจักรต้องปฏิบัติพันธกิจต่อทุกชนชาติ แหไม่ขาด เป็นเครื่องหมายของเอกภาพของชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ
เชื้อชาติ และต้องใช้หลายคนลากแหที่มีปลาจำนวนมากเช่นนั้น
ขึ้นฝั่ง
ผู้ที่จำพระเยซูเจ้าได้คือศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก “เป็นองค์
พระผู้เป็นเจ้านี่” ยอห์นชอบแสดงให้เห็นว่าความรักของพระเจ้าต้องยกเราขึ้นก่อนที่เราจะสามารถเชื่อได้
ศูนย์กลางของเรื่องเปลี่ยนเป็นอาหารที่บรรดาศิษย์ร่วมรับประทานกับองค์พระผู้เป็นเจ้าบนฝั่งทะเลสาบ พระเยซูเจ้าทรง
ขอปลาบางส่วนที่เขาจับมาได้ ทั้งที่พระองค์ทรงมีทั้งปลาและขนมปังวางย่างไฟอยู่แล้ว หมายความว่าพันธกิจของพระศาสน-จักรจะเป็นงานที่ผสมผสานกันระหว่างพระหรรษทานของ
พระเจ้า และความพยายามของมนุษย์
พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังแจกให้เขา กิริยานี้เป็น
ภาพสะท้อนอันชัดเจนของการถวาย และการกินอาหารในพิธี
บูชาขอบพระคุณ ผู้นิพนธ์พระวรสารเขียนเป็นภาษากรีก และขณะนั้นเขารู้ว่าปลาได้กลายเป็นรหัสลับในกลุ่มคริสตชนที่กำลังถูกเบียดเบียน เพราะคำว่าปลาในภาษากรีกคือ ICHTHUS คำนี้สะกดด้วยอักษรตัวแรกของข้อความว่า พระเยซูคริสตเจ้า
พระบุตรของพระเจ้า พระผู้ไถ่ (Jesus Christ, Son of God, the Savior)
เปโตรเป็นตัวละครเอกในเรื่องนี้ สอดคล้องกับตำแหน่งพิเศษของเขาในพันธกิจของคริสตศาสนา เขาออกเรือไปในฐานะกัปตัน และเป็นผู้ที่ลากแหเข้าฝั่งในที่สุด
แต่กองถ่านติดไฟบนฝั่งทะเลสาบนั้นเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับการปฏิเสธพระเยซูเจ้าของเปโตร เพราะเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าไปยืนผิงกองไฟเพื่อคลายหนาว เปโตรปฏิเสธสามครั้งว่าเขาไม่รู้จักพระเยซูเจ้า บัดนี้ ในชีวิตใหม่หลังปัสกา การปฏิเสธของเปโตรได้รับการบำบัดด้วยการให้เขาย้ำถึงสามครั้งว่าเขารักพระเยซูเจ้ามากกว่าผู้อื่นรักพระองค์ และพระองค์มอบหมายความรับผิดชอบในฐานะผู้เลี้ยงแกะให้เขาถึงสามครั้ง
พระเยซูเจ้าทรงทำนายอนาคตของเปโตร ชายอารมณ์ร้อนที่ครั้งหนึ่งเคยชักดาบออกมาฟันคนได้นี้ จะกลายเป็นศิษย์ติดตามพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ เขาจะสละทุกสิ่งในพระนามของ
พระเจ้า เขาจะยอมให้ผู้อื่นจูงเขาไปโดยไม่ขัดขืน และไม่มีความรู้สึกว่าต้องโต้ตอบ เขาจะแสดงคุณสมบัติของศิษย์อย่างสมบูรณ์ เมื่อเขาพร้อมจะพลีชีพเพื่อถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่
พระเจ้า เปโตรจะนำทางพระศาสนจักร มิใช่ตามใจของเขา
แต่โดยติดตามพระเยซูเจ้า ... แม้ต้องเสียชีวิตก็ตาม ดังที่
นักบุญเปาโล บอกว่า “ถ้าเราตายพร้อมกับพระองค์ เราจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์” (2 ทธ 2:11)
เรื่องราวทั้งหมดนี้สมควรเป็นหัวข้อสำหรับไตร่ตรองว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงกลับคืนชีพ ประทับอยู่ในพันธกิจของ
พระศาสนจักร ในการบิปังในพิธีบูชาขอบพระคุณ และในตำแหน่งผู้นำของผู้อภิบาล ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้แก่เปโตร
ถ้อยคำของศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเป็นถ้อยคำที่เราใช้ภาวนาด้วยความเชื่อได้ว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”
เมื่อใดที่ท่านถดถอยกลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ... เมื่อใดที่ท่านทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยท่ามกลางความมืดยามค่ำ ... และพบว่าแหของท่านว่างเปล่า ... เมื่อนั้น จงเพ่งสายตาฝ่าสายหมอกด้วยความกล้าหาญอันเกิดจากความรู้ว่าพระเจ้าทรงรักท่าน มีใครคนหนึ่งกำลังยืนรอท่านอยู่บนฝั่ง นั่นคือองค์พระผู้เป็นเจ้า
บทรำพึงที่ 2
เปโตร ระลึกถึงเหตุการณ์
กองถ่านติดไฟบนฝั่งทะเลสาบนั้นทำให้ข้าพเจ้าหยุดชะงัก เมื่อยอห์นบอกว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” เรี่ยวแรงที่หายไปก็ไหลกลับเข้ามาในเส้นเลือดในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคว้าเสื้อคลุม กระโดดข้ามกราบเรือและเดินลุยน้ำไปยังฝั่ง แล้วข้าพเจ้าก็เห็นกองไฟนั้น
พระองค์ทรงกำลังง่วนอยู่กับการย่างอาหาร และดูเหมือน
ไม่ทรงสังเกตเห็นความลังเลใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงหันกลับไปช่วยพวกหนุ่ม ๆ ลากแหขึ้นมาบนฝั่ง เราจับปลาได้
153 ตัว ข้าพเจ้าจำได้ว่านับจำนวนปลา จากนั้น ข้าพเจ้าก็หมดข้ออ้างที่จะหาอะไรทำ ข้าพเจ้าเกลียดกองไฟนั้น
ครั้งนี้ ข้าพเจ้ายอมให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายพูด ข้าพเจ้าหลบอยู่เบื้องหลัง และคอยหลบสายพระเนตรของพระองค์ แต่ก็ทำเช่นนั้นไม่ได้ตลอดไป ข้าพเจ้าได้ยินพระองค์ตรัสว่า “ซีโมน” เป็นสัญญาณไม่ดีเลยเมื่อพระองค์กลับไปเรียกข้าพเจ้าว่าซีโมน เหมือนกับเมื่อคืนที่ซาตานกระทำอย่างที่มันปรารถนา มันฝัดเราทุกคนเหมือนฝัดข้าวสาลี ข้าพเจ้าเองถูกฝัดอย่างสาหัส กองไฟนั้นจะติดตามหลอกหลอนข้าพเจ้าเสมอ
ถ้าข้าพเจ้าไม่เข้าไปใกล้กองไฟนั้นเพื่อผิงไฟคลายหนาว ... แต่นั่นเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่มีทางรู้ล่วงหน้า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” ... รักหรือ ... ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยเดินบนผิวน้ำเพียงเพราะอยากอยู่ใกล้พระองค์ แต่บัดนี้ ข้าพเจ้าไม่มั่นใจในตนเองเลย รักมากกว่าคนอื่น ๆ รักพระองค์หรือ ข้าพเจ้าตอบเลี่ยง ๆ ว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระองค์ตรัสว่า
“จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” เหมือนกับเช้าวันนั้น หลังจากที่เราจับปลาได้จำนวนมาก พระองค์ก็ตรัสว่าข้าพเจ้าจะเป็นชาวประมงหามนุษย์ เพียงแต่ครั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า ความหุนหันพลันแล่นของข้าพเจ้าหายไปหมด ข้าพเจ้ามองเห็นภาพอดีตซึ่งนำข้าพเจ้ามาอยู่ในเวลาปัจจุบันนั้น และภาพในอนาคตก็กำลังเริ่มปรากฏให้เห็น และภาพนั้นบาดใจข้าพเจ้า
พระองค์ทรงเค้นมันออกมาจากตัวข้าพเจ้าถึงสามครั้งอย่างเจ็บปวด ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ว่าความเสียใจสามารถฝังตัวได้ลึกถึงเพียงนี้ เมื่อวันก่อนนั้นขณะที่เราอยู่บนฝั่งทะเลสาบ ข้าพเจ้าเหมือนอยู่ท่ามกลางพายุหมุน เหมือนกับว่ากำลังจะตาย เช้าวันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดใจจนข้าพเจ้ารู้ว่านี่คือความเจ็บปวดของความตาย ไม่มีทางเข้าใจเป็นอื่นได้เลย ซีโมนกำลังจะตาย ข้าพเจ้ารู้สึกว่าอำนาจควบคุมชีวิตของตนเองกำลังหลุดลอยไป พระองค์ทรงเข้าควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง
“พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” ข้าพเจ้าไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นของตนเองอีกต่อไป ... ไม่เหลือแม้แต่บาป ความรู้สึกหนักอึ้งในใจสูญหายไปหมด ... โดยรู้ตัวและเต็มใจ ข้าพเจ้ายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ตรัสด้วยพระเนตรของพระองค์ ... การให้อภัย ... ชีวิตใหม่ ... ความรับผิดชอบใหม่ ... “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” กระดูกที่ตายไปแล้วของข้าพเจ้ากลับมาเชื่อมต่อกันใหม่ภายใต้เนื้อหนังใหม่ เปโตรเกิดขึ้นมาแล้ว
ข้าพเจ้าจำได้ว่า ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงภาวนาเพื่อข้าพเจ้า เพื่อให้ข้าพเจ้าเป็นศิลาค้ำจุนคนอื่นทุกคน หน้าที่นี้ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าภาคภูมิใจ พระองค์เพียงแต่ทรงต้องการมีชีวิตในตัวข้าพเจ้า และค้ำจุนผู้อื่นผ่านตัวข้าพเจ้า เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนข้าพเจ้า และชื่อของข้าพเจ้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้าต้องปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ทรงบอกว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป และว่าข้าพเจ้าจะยื่นมือ แล้วผู้อื่นจะจูงข้าพเจ้าไป ... การเลี้ยงแกะก็คือการนำทาง ก่อนข้าพเจ้าจะนำทางผู้อื่นได้ ข้าพเจ้าต้องยอมเป็นผู้ตาม มันต่างจากการจับปลามาก การจับปลาต้องใช้แรงกายและความทรหด การดึงลาก
แหอวนเหมาะสมกับนิสัยบุ่มบ่ามชอบใช้กำลังของข้าพเจ้าในอดีต แต่ข้าพเจ้าไม่กลัว พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ และข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ตามลำพัง
บทรำพึงที่ 3
พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์อีกครั้งหนึ่งที่
ฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส เรื่องราวเป็นดังนี้ ศิษย์บางคนอยู่พร้อมกันที่นั่นคือ ซีโมน เปโตร โทมัส ที่เรียกกันว่าฝาแฝด นาธานาเอล จากหมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองคนของเศเบดี และศิษย์อีกสองคน ซีโมน เปโตร บอกคนอื่นว่า “ข้าพเจ้าจะไปจับปลา” ศิษย์
คนอื่นตอบว่า “พวกเราจะไปกับท่านด้วย”
เราต้องยืนยันถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าขณะที่เราดำเนินชีวิตตามปกติ พยานกลุ่มแรกไม่ใช่มนุษย์พิเศษ พวกเขากลับไปประกอบอาชีพเดิมอีกครั้งหนึ่ง เขาไปจับปลาในทะเลสาบที่เขาคุ้นเคย ... ศิษย์ทั้งเจ็ดคนที่เคยรู้จักพระเยซูเจ้า ... แต่พระองค์ไม่อยู่กับเขาอีกต่อไปแล้ว
เราสังเกตว่าเปโตรเป็นผู้ริเริ่ม และนี่คือสัญลักษณ์สำคัญ
เขาทั้งหลายออกไปลงเรือ แต่คืนนั้นทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย
การจับปลาในเวลากลางคืนเป็นเรื่องปกติ ... ในพระวรสารของยอห์น การบอกรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ตรงกับความเป็นจริงเช่นนี้ทำให้เราเห็นเจตจำนงพิเศษ ท่ามกลางความมืดในเวลากลางคืน พวกเขาเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ... เขาจับปลาไม่ได้เลย ... เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นกันใน “เวลา
อันมืดมน” ของครอบครัวเรา ในอาชีพของเรา หรือในชีวิตทางสังคม หรือชีวิตพระศาสนจักร
อะไรคือกลางคืนสำหรับข้าพเจ้า
พอรุ่งสาง พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่บนฝั่ง แต่บรรดาศิษย์ไม่รู้ว่าเป็น
พระเยซูเจ้า
ชายทั้งเจ็ดคนอยู่กลาง “ทะเลที่ไม่ราบเรียบ” รอบกายมีแต่ความมืด ชาวเซมิติกเชื่อว่า “ทะเล” เป็นสถานที่ที่น่ากลัว เต็มไปด้วยพลังที่เป็นปฏิปักษ์ และเร้นลับ
แต่พระเยซูเจ้าทรงอยู่บน “พื้นอันมั่นคง” ท่ามกลางแสงอรุณของวันใหม่ พระวรสารต้องการให้เห็นความแตกต่าง ต้องการให้เห็นว่านับแต่นั้นเป็นต้นไป พระเยซูเจ้าจะอยู่ “อีกฟากหนึ่ง” พระองค์ทรงข้ามไปรอเราอยู่ที่อีกฟากหนึ่ง ทรงข้ามไปที่นั่นเพื่อเรา
พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น ... แต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ – พระองค์ทรงอยู่บนฝั่งแห่งนิรันดรกาล
วันนี้ เราก็ไม่ต่างจากศิษย์เหล่านี้ ...
พระเยซูเจ้าทรงร้องถามว่า “ลูกเอ๋ย มีอะไรกินบ้างไหม” เขาตอบว่า “ไม่มี” พระองค์จึงตรัสว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวา
ซิ แล้วจะได้ปลา” บรรดาศิษย์จึงเหวี่ยงแหออกไป และดึงขึ้นไม่ไหว เพราะได้ปลาเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพวกเขาผิดหวังจากการจับปลาในคืนนั้น และกำลังวุ่นวายใจ พระองค์ทรงเป็นฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือโดยที่เขาไม่ได้ร้องขอ ในขณะที่พวกเขาคิดอะไร
ไม่ออก
พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะได้ยินอะไร ถ้าข้าพเจ้าตั้งใจฟังเสียงของพระองค์ที่ดังมาจาก “อีกฟากหนึ่ง”
ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักกล่าวกับเปโตรว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” เมื่อซีโมน เปโตร ได้ยินว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” เขาก็หยิบเสื้อมาสวม เพราะเขาไม่ได้สวมเสื้ออยู่ แล้วกระโดดลงไปในทะเล
เปโตรกระโดดลงน้ำ แล้วว่ายไปอย่างรวดเร็ว เรามองเห็นภาพของเปโตรผู้ใจร้อนได้ชัดเจนจากคำบอกเล่านี้ แต่ในเหตุการณ์ที่พระคูหาในกรุงเยรูซาเล็ม ยอห์นวิ่งแซงหน้าเปโตร เพราะเขารัก และเดาสถานการณ์ได้ด้วยสัญชาตญาณ การจำใครบางคนได้จำเป็นต้องมีความรัก...
ความรักเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความเชื่อด้วยเช่นกัน
พระเยซูเจ้าไม่ทรงแสดงให้ศัตรู หรือผู้ต่อต้านพระองค์ เห็นว่าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ พระองค์ไม่ทรงต้องการแตกหัก หรือบีบคั้นใคร ... พระองค์ไม่ปรารถนาจะแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น ไม่ทรงต้องการเอาชนะ หรือจับกุมผู้ใด ... แต่ถ้าท่านแสวงหาพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความรักร้อนแรง พระองค์จะแสดงพระองค์แก่ท่าน และมาพบท่าน ในหัวใจของท่านด้วยความรักอันอ่อนโยน
จงแสวงหาพระพักตร์ และการประทับอยู่ของพระองค์เถิด ...
ศิษย์คนอื่นเข้าฝั่งมากับเรือ ลากแหที่ติดปลาเข้ามาด้วย เพราะอยู่
ไม่ห่างจากฝั่งนัก ประมาณหนึ่งร้อยเมตรเท่านั้น
ข้อความนี้เสนอรายละเอียด ราวกับเป็นลายเซ็นรับรองความจริงของประจักษ์พยานคนหนึ่ง
เมื่อบรรดาศิษย์ขึ้นจากเรือมาบนฝั่งก็เห็นถ่านติดไฟลุกอยู่ มีปลาและขนมปังวางอยู่บนไฟ พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเอาปลาที่เพิ่งจับได้มาบ้างซิ”
นี่เป็นรายละเอียดที่น่าแปลกใจ ดังนั้น จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ พระเยซูเจ้าทรงเตรียมอาหารไว้ให้พวกเขาด้วยพระองค์เอง...
อาหารมื้อนี้ไม่ใช่อาหารที่พวกเขาคาดหมายว่าจะได้รับประทาน คือ อาหารที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา แต่เป็นอาหารที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว พวกเขาเพียงแต่เป็นแขกรับเชิญให้ร่วมรับประทาน และให้เพิ่มเติมอาหารมื้อนี้ด้วยผลที่ได้จากการจับปลาของเขา ซึ่งอันที่จริง พระเยซูเจ้าก็เป็นผู้ประทานปลาเหล่านี้ให้เขา ในที่สุดแล้ว พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงอาหารมื้อนี้
เรารู้ว่ามื้ออาหารมีความสำคัญอย่างไรในการแสดงพระองค์ในเทศกาลปัสกา เมื่อวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงอาหารมิตรสหายของพระองค์ในทำนองเดียวกันนี้ ... และแม้แต่ในวันนี้ พิธีบิปัง และแบ่งปันปังนี้ สำหรับคริสตชนถือว่าเป็นเครื่องหมายพิเศษที่แสดงว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพประทับอยู่กับเรา ... ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าประทับอยู่ “บนอีกฟากหนึ่ง” อย่างแท้จริง พระองค์ทรงกำลังรอเราอยู่ที่นั่น เพื่อจะแบ่งปันชีวิตใหม่กับเรา งานเลี้ยงแห่งศีลมหาสนิทเป็นสัญลักษณ์ของความสนิทสัมพันธ์
ซีโมน เปโตร จึงลงไปในเรือ แล้วลากแหขึ้นฝั่ง มีปลาใหญ่ติดอยู่เต็ม นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว แต่ทั้ง ๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้น แหก็ไม่ขาด
หลังจากการใช้สัญชาตญาณรักของยอห์น ผู้เพ่งพิศภาวนา ... บัดนี้ เป็นหน้าที่ของเปโตร ผู้ลงมือปฏิบัติ ...
สองบทบาทนี้จะขาดเสียไม่ได้ในการก่อสร้างพระศาสนจักร
ซึ่งเป็น “แห” ที่ไม่ “ขาด”…
ในพระวรสารฉบับนี้ เราพบข้อความเกี่ยวกับ “เสื้อยาวของ
พระเยซูเจ้าซึ่งปราศจากตะเข็บ และไม่ควรฉีกออกจากกัน”
(ยน 19:23-24) เป็นนัยสำคัญว่าพระศาสนจักรจะต้องปราศจากความแตกแยกใด ๆ ...
พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “มากินอาหารกันเถิด” ไม่มีศิษย์คนใดกล้าถามว่า “ท่านเป็นใคร” เพราะรู้ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
ข้อความเรียบง่ายนี้พาเราเข้าสู่ธรรมล้ำลึก ... การกลับ
คืนชีพได้นำพระเยซูเจ้า – เยซูชาวนาซาเร็ธ ผู้เป็นเพื่อนของพวกเขาเมื่อวันวาน – เข้าสู่สถานภาพชีวิตที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ... พระองค์ยังเหมือนเดิม แต่แตกต่างจากเดิม...
พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าจากพระเจ้า และองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง”
พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาหยิบขนมปังแจกให้เขา แล้วทรงแจกปลาให้เช่นเดียวกัน นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
อาหารมื้อนี้เป็นทั้งอาหารจริง ๆ และเป็นอาหารทิพย์ในเวลาเดียวกัน...
เราจงระลึกถึงคำปราศรัยของพระเยซูเจ้าเรื่องปังแห่งชีวิต ซึ่งยาวเต็มบทที่ 6 ของพระวรสารของนักบุญยอห์น หลังจากทรงทวี “ขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนและปลาสองตัว” ที่ได้จากย่ามของเด็กคนหนึ่งบนชายฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส แห่งเดียวกันนี้
แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ “บนอีกฟากหนึ่ง” ในอีกดินแดนหนึ่ง และพระองค์ประทาน “ขนมปังที่ลงมาจากสวรรค์” ... “ขนมปังของพระเจ้าคือขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก” (ยน 6:33) ... “เราเป็นปังทรงชีวิต ... เนื้อของเราเป็นอาหารแท้ ... ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยน 6:51, 55, 58)
เราควรระลึกด้วยว่าในยุคที่ยอห์นบันทึกคำบอกเล่าเหล่านี้
คริสตชนใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระเยซูเจ้า เพราะ
คำภาษากรีกว่า ichthus ที่แปลว่าปลา เป็นอักษรย่อของคำห้า
คำซึ่งนิยามตัวตนของพระเยซูเจ้า
Iesous Christs Theou Uios Soter
Jesus Christ of God the Son Saviour
เมื่อบรรดาศิษย์กินเสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมน เปโตร ว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” เปโตรทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด”
คำสนทนานี้ก้องกังวานไปทั่วชายหาดถึงสามครั้ง
พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชาวประมงคนนี้ให้กลายเป็นผู้เลี้ยงแกะ พระเยซูเจ้าทรงถ่ายโอนอำนาจของพระองค์ในฐานะศีรษะ (ผู้นำ) ของพระศาสนจักรให้แก่เปโตร ... เราไม่ควรลืมว่าผู้เลี้ยงแกะหนึ่งเดียวคือพระเยซูเจ้า “เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ... เรายอม
สละชีวิตเพื่อแกะของเรา” (ยน 10:1-19) บัดนี้ เมื่อพระเยซูเจ้าไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว บัดนี้ พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ “เหมือนกับมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ” บนโลกนี้อีกต่อไป พระองค์ทรงมอบหมายให้เปโตรรับผิดชอบในการสานต่อพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ และในประวัติศาสตร์ ... แต่ลูกแกะก็ยังคงเป็นลูกแกะของ
พระเยซูเจ้า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด”...
พระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สอง และที่สามว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เปโตรรู้สึกเป็นทุกข์ที่พระองค์ตรัสถามตนถึงสามครั้งว่า “ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์”
พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด”
ความทุกข์ของเปโตร เมื่อได้ยินคำถามเป็นครั้งที่สาม เน้นว่านี่เป็นการเตือนให้คิดถึงการปฏิเสธพระองค์สามครั้ง ความรักของพระเยซูเจ้าสูงส่งและละเอียดอ่อน พระองค์ไม่ตรัสถึงบาปของเปโตร เพียงแต่ทรงขอให้เขาประกาศความรักของเขาถึงสามครั้ง ... “ท่านรักเราไหม”
พระเยซูเจ้าทรงกำลังถามคำถามนี้กับข้าพเจ้าในวันนี้ ข้าพเจ้าได้ยินคำถามของพระองค์ท่ามกลางความเงียบว่า “ท่านรักเราไหม” ข้าพเจ้าตอบพระองค์อย่างไร ... ข้าพเจ้าไม่สามารถตอบพระองค์โดยใช้คำตอบของผู้อื่นได้ เพราะพระองค์ทรงถามข้าพเจ้า...
ถูกแล้ว คนที่เคยทำบาปหนักที่สุด ชายผู้นี้เคยปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้าในวันที่พระองค์ถูกพิพากษา และรับพระทรมาน บัดนี้ พระองค์ทรงรับเขากลับเข้าสู่ความสัมพันธ์รักอันสนิทสนม ความรักจะเป็นกติกาในการทำงานของพระองค์ การใช้อำนาจปกครองในพระศาสนจักร การอภิบาลในพระศาสนจักร ต้องเป็นการรับใช้ด้วยความรัก เราต้องรัก และรับใช้พระเยซูเจ้า...
นี่คือหนึ่งในเหตุผลอันเป็นธรรมล้ำลึกของการถือโสดของนักบวช...
“เราบอกความจริงกับท่านว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเอง และเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือ แล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป” พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงว่า เปโตรจะถวายพระเกียรติแด่
พระเจ้าโดยตายอย่างไร เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงเสริมว่า “จงตามเรามาเถิด”
พี่น้องทั้งหลาย ขอให้เรารำพึงตามอุปมาสั้น ๆ ของ
พระเยซูเจ้านี้เถิด อุปมาเปรียบเทียบวัยหนุ่มว่าเป็นเครื่องหมายของอิสรภาพและกิจกรรม (“เดินไปไหนตามใจชอบ”) และเปรียบวัยชราว่าเป็นเครื่องหมายของข้อจำกัดและความนิ่งเฉย (“คนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน” ความอ่อนแอของวัยชรา ซึ่งทำให้ไม่สามารถแต่งกายด้วยตนเองได้) ... เมื่อเรายอมรับสภาพที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นเช่นนี้ได้ นี่คือการปฏิบัติตาม และเลียนแบบ
พระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน ... เป็นกิจกรรมสูงส่งที่สุดของมนุษย์ ผู้มอบตนเองไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า นี่คือการแสดงท่าทีแห่งความรัก ... แทนที่จะเป็นสภาพตกต่ำ และเป็นความอัปยศ ทัศนคตินี้กลับจะถวายเกียรติแด่พระเจ้า...
พระเยซูเจ้าทรงถือว่าความตายเป็นกิจกรรมอันสูงส่งที่สุด ...