แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สิบแปด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 12:13-21
    ประชาชนคนหนึ่งทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ โปรดบอกพี่ชายข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกให้ข้าพเจ้าเถิด” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “มนุษย์เอ๋ย ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน” แล้วพระองค์ตรัสกับคนเหล่านั้นว่า “จงระวังและรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะชีวิตของคนเราไม่ขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเขา แม้ว่าเขาจะมั่งมีมากเพียงใดก็ตาม”
    พระองค์ยังตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาทั้งหลายฟังอีกว่า “เศรษฐีคนหนึ่งมีที่ดินที่เกิดผลดีอย่างมาก เขาจึงคิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันไม่มีที่พอจะเก็บพืชผลของฉัน’ เขาคิดอีกว่า ‘ฉันจะทำอย่างนี้ จะรื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้ แล้วฉันจะพูดกับตนเองว่า ‘ดีแล้ว เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี จงพักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนานเถิด’ แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า ‘คนโง่เอ๋ย คืนนี้ เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะเป็นของใครเล่า คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง แต่ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้าก็จะเป็นเช่นนี้’ “

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ยืนเคียงข้างคนจน

    เสียงร้องขอจากชายคนหนึ่งในฝูงชนให้พระเยซูเจ้าช่วยตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สิน กลายเป็นโอกาสให้พระองค์ทรงสั่งสอนเรื่องวิถีทางในการเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าไม่เพียงได้ยินคำวิงวอนของชายคนนี้ แต่ยังได้ยินเสียงภายในวิญญาณดวงหนึ่งซึ่งกังวลมากเกินไปกับทรัพย์สินเงินทอง ความโลภสามารถทำให้วิญญาณมองไม่เห็นว่าเขาต้องการพระเจ้า นักบุญเปาโลบอกว่าความโลภคือการบูชาพระเจ้าเท็จเทียม เรื่องของชาวนาผู้ร่ำรวยนี้เป็นอุปมาเรื่องเดียวในพระวรสารที่พระเจ้าเป็นผู้ตรัสเอง และคำแรกที่พระองค์ตรัสก็ไม่ใช่คำยกย่องชมเชย พระเจ้าทรงเรียกเศรษฐีผู้นี้ว่า “คนโง่เอ๋ย” เป็นชื่อที่บอกเป็นนัยว่าเขาปฏิเสธพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวยอย่างไร้ขอบเขต แต่พระองค์ทรงเลือกเป็นคนจน “เพื่อท่านจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์” (2 คร 8:9)

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวย ... ถ้าเราถือว่าอำนาจ และสิ่งที่พระองค์ครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของความร่ำรวย เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ครอบครองจักรวาล แต่พระองค์ทรงเลือกเกิดเป็นคนจนที่ไร้บ้าน ทรงประสูติภายในที่พักอาศัยของสัตว์เลี้ยง และเมื่อพระองค์เดินทาง พระองค์ไม่มีแม้แต่ก้อนหินที่จะวางพระเศียร

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวย ... ถ้าเราถือว่าบุคลิกภาพอันสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของความร่ำรวย แต่พระองค์ทรงเลือกอยู่กับบุคคลตามชายขอบของสังคม และบุคคลที่สังคมรังเกียจ และพระองค์ทรงนำสันติสุขมาประทานแก่คนที่เดือดร้อนใจ และคนถูกปีศาจสิง

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวย ... ถ้าเราถือว่าสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของความร่ำรวย แต่พระองค์เสด็จมาเหมือนแพทย์ที่รักษาโรคให้คนที่ป่วยและสุขภาพไม่ดี

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวยปรีชาญาณ และความเข้าใจ แต่พระองค์ทรงยอมรับสภาพยากไร้อันเกิดจากความเข้าใจผิด และการจงใจตีความคำพูดของพระองค์ผิด ๆ

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวยในด้านที่พระองค์ทรงชื่นชมกับชีวิต พระองค์ทรงคืนชีวิตให้แก่บางคนที่เสียชีวิต แต่พระองค์ทรงยอมรับสภาพยากไร้ของความตาย

    พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า และแม้แต่สวรรค์ยังไม่กว้างใหญ่พอจะรองรับพระองค์ แต่ทรงเลือกมารับสภาพยากไร้ในเนื้อหนังมนุษย์ และต่อมาทรงรับสภาพยากไร้ของขนมปังและเหล้าองุ่น ให้เป็นที่รองรับการประทับอยู่ของพระองค์

    พระศาสนจักรซึ่งเป็นชุมชนศิษย์ของพระองค์จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเลียนแบบพระอาจารย์ของเราที่จะยืนเคียงข้างคนจน ในศตวรรษแรก ๆ บรรดาศิษย์มาจากกลุ่มคนยากจน ดังนั้น จึงเป็นพระศาสนจักรของคนจน และดังนั้น ผู้เป็นศิษย์พระคริสต์จึงเป็นสมาชิกขององค์กรที่ไร้อำนาจ ที่กฎหมายไม่รับรอง และถูกกดขี่

    ในศตวรรษที่สี่ เมื่อพระศาสนจักรปรองดองกับอาณาจักรโรมัน พระศาสนจักรมีอำนาจทางการเมือง และสะสมทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นทีละน้อยตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระศาสนจักรเคยใช้อำนาจในทางที่ผิดหลายครั้ง แต่กระนั้น พระศาสนจัรกก็มีจิตสำนึกที่รู้ผิดรู้ชอบเกี่ยวกับคนจน และพระศาสนจักรทุกยุคสมัยได้เป็นผู้ก่อตั้งกิจการกุศลในการไถ่ตัวเชลย ให้อิสรภาพแก่ทาส ช่วยเหลือคนโรคเรื้อน ก่อตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล เลี้ยงอาหารคนหิวโหย และปกป้องประชาชนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น จึงกลายเป็นพระศาสนจักรเพื่อคนจน

    ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคใหม่สำหรับพระศาสนจักรเมื่อต้องสูญเสียอำนาจทางการเมือง แม้ว่าต้องใช้เวลานานกว่าพระศาสนจักรจะปรับตัวให้คุ้นเคยกับสถานการณ์ใหม่นี้ ในวันนี้ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนดูเหมือนว่ากว้างจนไม่อาจเชื่อมต่อกันได้ และตราบใดที่มนุษย์คิดว่าความไม่เป็นธรรมทางสังคมเป็นเรื่องปกติ พระศาสนจักรย่อมไม่สามารถนิ่งเงียบต่อไปได้ การแจกจ่ายสิ่งของเท่านั้นย่อมไม่เพียงพออีกต่อไป พระศาสนจักรกำลังแสดงจุดยืนที่ไม่รอมชอม และกลายเป็นพระศาสนจักรที่ต่อสู้เคียงข้างคนจน บัดนี้ เราได้ยินเสียงของพระศาสนจักรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของรัฐบาลต่าง ๆ และองค์กรทางการเงินระดับโลก

    พระเยซูเจ้าทรงร่ำรวยในหลาย ๆ ทาง แต่ทรงเลือกอยู่กับเราท่ามกลางความยากจนขัดสนของเรา เพื่อให้เราร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์ พระศาสนจักรก็ร่ำรวยในหลาย ๆ ทางเช่นเดียวกัน ไม่ว่าในด้านทรัพย์สิน การมีเสียงที่ชาวโลกให้ความเคารพ ประสบการณ์ด้านการศึกษา ด้านงานอภิบาลดูแลประชาชนที่ดำเนินการมายาวนาน และในด้านอื่น ๆ อีกมาก ทรัพยากรอันมั่งคั่งนี้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนจน เพื่อกำจัดผลร้ายจากความยากจน และรักษาโรคที่เกิดจากความอยุติธรรม

    เมื่อพระศาสนจักรยืนเคียงข้างคนจน เมื่อนั้น พระศาสนจักรกำลังปฏิบัติตามวิถีทางของพระเยซูคริสตเจ้า

ข้อรำพึงที่สอง
ความร่ำรวยของคนจน

    มีแต่คนจนเท่านั้นที่สามารถเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง สวดบทสดุดีอย่างจริงใจ และเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างแท้จริง ในการประทับอยู่เพื่อเยียวยาของพระเยซูคริสตเจ้า คำสาปแช่งของความจนถูกยกออกไป และเผยให้เห็นพระพรของความยากจนนั้น ขณะที่ชาติร่ำรวยสูญเสียศาสนา ชาติที่ยากจนกว่ากลับเผยให้เห็นความมั่งคั่งฝ่ายจิตที่แท้จริง หลายคนที่เริ่มต้น “ให้” แก่คนยากจนกลับตระหนักอย่างเจียมตน ว่าเขาได้รับมากกว่าที่เขาสามารถมอบให้ ... “ในการให้นั้น เราได้รับ” ประเทศยากจนยังรักษาคุณค่าหลายอย่างที่เราได้สูญเสียไป เช่น ความพอใจในสิ่งที่ตนมี สันติสุขภายใน ความรู้สึกใกล้ชิดพระเจ้า ความเอื้อเฟื้อ ไมตรีจิต การทักทายอย่างสุภาพ และการมีเวลารับฟังกันและกัน พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าผู้มีใจยากจนเป็นผู้ได้รับพระพรเป็นพิเศษ พระองค์ตรัสว่า “อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ตั้งแต่บัดนี้และบนโลกนี้แล้ว ทรัพย์อย่างหนึ่งที่เขามีในพระอาณาจักรก็คือเขามีพระคัมภีร์ให้ชื่นชม มีบทสดุดีไว้สวดภาวนา และมีศีลมหาสนิทให้เฉลิมฉลอง

    พระคัมภีร์เผยว่าพระเจ้าทรงอยู่ข้างคนจนและผู้ถูกกดขี่ พระเอกในเรื่องเล่าในพระคัมภีร์เป็นชนชาติเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ ที่พ่ายแพ้ชนชาติใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า และพระเอกยุคหลังของพระคัมภีร์ก็เป็นประกาศกผู้ที่ไม่มีใครยอมรับ และถูกประหารชีวิตเหมือนอาชญากรคนหนึ่ง แต่กระนั้น พระเจ้าก็ยังกระทำพันธสัญญากับชนชาติที่ถูกโจมตีไม่หยุดนี้ว่า “เราจะเป็นพระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะเป็นประชากรของเรา” และพระเจ้าประทับอยู่ในตัวประกาศกผู้มีบาดแผลเต็มตัวผู้นี้ คนที่ยากจน และไร้อำนาจ คนที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมและความเข้าใจผิด คือคนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงที่สุดกับวีรบุรุษทั้งหลายในพระคัมภีร์ ผู้มีใจยากจนเท่านั้นที่เข้าถึงความคิด และหัวใจของพระคัมภีร์ได้

    และมีแต่คนยากจนเท่านั้นที่เข้าใจ และรับเอาความมั่งคั่งของบทสดุดีมาเป็นของตน เมื่อเขาภาวนาว่า “พระเจ้าเท่านั้นเป็นที่พักพิง พระองค์เท่านั้นเป็นศิลา และป้อมปราการของวิญญาณข้าพเจ้า” บุคคลที่คิดว่าความมั่นคงขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชีธนาคารย่อมไม่สามารถสวดภาวนาได้อย่างจริงใจว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจผู้เลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสนสิ่งใด” นี่คือบทภาวนาที่แสดงความวางใจในพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข คนที่มือว่างเปล่าเท่านั้นสามารถสวดภาวนาอย่างจริงใจว่า
    ข้าพเจ้าทูลพระเจ้าว่า พระองค์คือพระเจ้าของข้าพเจ้า
    ความสุขของข้าพเจ้าขึ้นอยู่กับพระองค์ผู้เดียว ...
    ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นส่วนแบ่ง และถ้วยของข้าพเจ้า...
    พระองค์เองทรงเป็นรางวัลของข้าพเจ้า

    ศีลมหาสนิทก็เป็นสมบัติของคนจนโดยเฉพาะ ตราบใดที่ยังมีการกระจายความมั่งคั่งอย่างไม่สมดุลเช่นนี้ ตราบใดที่ยังมีคนตายเพราะความหิวบนโลกอันอุดมสมบูรณ์ของเรา เราคงต้องตั้งคำถามว่าคนรวยเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างจริงแท้หรือเปล่า ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเลือกสัญลักษณ์อื่นที่ไม่ใช่ขนมปังเพื่อให้เราระลึกถึงพระองค์ เราคงไม่ถูกท้าทายอย่างชัดเจนเช่นนี้ คานธีกล่าวว่า รูปแบบเดียวที่พระเจ้าทรงกล้าใช้เพื่อเสด็จมาเยือนคนที่กำลังอดอยากก็คือในรูปของขนมปัง ถ้าเราบิปังในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่บิปังกับคนหิวโหย และคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อนั้น พิธีกรรมของเราก็เสี่ยงที่จะเป็นเพียงการเสแสร้งที่ข้างในกลวง ผู้มีใจยากจนเท่านั้นสามารถเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทโดยไม่มีความรู้สึกผิด

บทรำพึงที่ 2

ประชาชนคนหนึ่งทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ โปรดบอกพี่ชายข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกให้ข้าพเจ้าเถิด”

    นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเสมอ น่าเสียดายที่ยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างพี่น้อง เมื่อถึงเวลาต้องแบ่งมรดกของบิดามารดา...

    เพื่อให้เข้าใจคำตอบของพระเยซูเจ้ามากขึ้น เราต้องรู้กฎหมายในยุคสมัยของพระองค์ กฎหมายของชาวยิว (เฉลยธรรมบัญญัติ) กำหนดว่าบิดาจะมอบสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ - หมายถึงที่ดิน และบ้านเรือน - ทั้งหมดให้แก่บุตรชายคนโต และบุตรชายคนโตนี้จะได้รับทรัพย์สินอื่น ๆ มากกว่าบุตรคนอื่นเป็นสองเท่าอีกด้วย กฎหมายนี้เหมือนกับกฎหมายของชาวตะวันออกในยุคโบราณ และในอีกหลายอารยธรรมตลอดประวัติศาสตร์ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษามรดกของครอบครัวไม่ให้ถูกแบ่งแยก ด้วยการตั้ง “หัวหน้าครอบครัว” ผู้มีสิทธิพิเศษ นี่คือ “สิทธิของบุตรคนแรก” ... พระเยซูเจ้าทรงเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์เช่นนี้

    ดังนั้น     เรื่องราวเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ก็คือบุตรชายคนโตได้รับมรดกทั้งหมด และไม่ยอมแบ่งให้น้องชายแม้แต่ส่วนเล็ก ๆ ที่เขาสมควรได้รับ รับบีผู้มีชื่อเสียงอาจได้รับการร้องขอบ่อย ๆ ให้ตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมาย แม้แต่ในสังคมชาวยิวในปัจจุบัน...

    ชายคนนี้ขอร้องพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ทรงมีอิทธิพลด้านศีลธรรม ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์เชื่อมั่นว่าคำตอบนั้นง่ายและชัดเจน พี่ชายควรได้รับคำสั่งให้แบ่งมรดก เพราะนี่คือหลักความยุติธรรมที่เข้าใจได้ง่าย และดูเหมือนว่าตรงกับคำสั่งสอนในพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงย้ำหลายครั้งว่า จงรักกันและกัน...

    แต่คำตอบของพระเยซูเจ้าทำให้ทุกคนแปลกใจ

พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “มนุษย์เอ๋ย ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน”
    คำตอบนี้ฟังดูเหมือนเป็นการปฏิเสธ ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเลี่ยงประเด็น ... แม้เห็นได้ชัดว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของความอยุติธรรม แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมแตะต้อง หรือแสดงท่าทีว่าไม่สนพระทัยเลย! นี่ไม่ใช่เรื่องสะดุดหรือ การปฏิเสธเช่นนี้ดูเหมือนขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระวรสารทั้งฉบับ

    เราต้องพยายามเข้าใจความหมายของการปฏิเสธนี้ หลายคนเสนอการตีความ และการตีความของทุกคนอาจเสริมกันและกันให้สมบูรณ์ก็ได้...

    1)    ตามพระวรสารของลูกา พระเยซูเจ้าทรงกำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และที่นั่นพระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ดังนั้น “รับบี” หนุ่มผู้นี้จึงมีเรื่องสำคัญมากมายให้คิด สำคัญกว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สิน … ถึงอย่างไร ข้อพิพาทเหล่านี้ก็มีทางออกในตัวเอง

    2)    โดยพื้นอารมณ์ส่วนตัว (และนี่คืออุปนิสัยของชาวตะวันออก) บ่อยครั้ง พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามด้วย “ปริศนา"”(mashal) เพื่อให้ประชาชนขบคิด หลายครั้งที่เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าตรัสเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวจนถึงกับเกินความจริง บางครั้ง พระองค์ทรงตอบคำถามด้วยคำถาม พระเยซูเจ้าทรงแสดงอุปนิสัยนี้มาตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อพระองค์อายุ 12 ปี พระองค์ตรัสตอบพระมารดาด้วยข้อความที่เป็นปริศนา คำถาม : “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้” คำตอบ : “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม” ... หลายครั้ง พระเยซูเจ้าไม่ทรงตอบคำถามโดยตรง บ่อยครั้งที่เราแยกแยะคำตอบได้จากถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ นี่คือเทคนิคที่รู้จักกันดี ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงใช้โต้ตอบปัญญาชนชาวยิว ในเรื่องที่เป็นข้อถกเถียง

    เราเห็นได้จาพระวาจาของพระเยซูเจ้าว่าปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการกำจัดความโลภ – หรือความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น - ให้หมดไปจากหัวใจของเรา ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถวัดได้จากจำนวนทรัพย์สินของเขา แต่วัดได้จากการตัดใจจากทรัพย์ (“มีใจยากจน”) มนุษย์คนใดที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้จะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การแสดงท่าทีที่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ต้องการเข้าสอดแทรกในปัญหามรดกนี้ จึงไม่ได้หมายความว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงสนใจปัญหานี้ เพราะคำบอกเล่าต่อจากนั้นจะเผยว่า ลึก ๆ ในพระทัยพระองค์ทรงคิดอย่างไร...

    3)    อันที่จริง ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าเองทรงบอกเป็นนัยถึงเหตุผลที่พระองค์ไม่ยอมเข้าข้างใคร เมื่อพระองค์ทรงถามว่า “ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษาหรือ” ... พระองค์ทรงบอกเราว่าปัญหาทางโลก และปัญหาด้านการเงินเหล่านี้ไม่ใช่บทบาทหรือพันธกิจของพระองค์ ... มนุษย์มักอยากหาข้อความในพระคัมภีร์มาค้ำประกัน หรือยืนยัน ว่าทางเลือกทางโลกของเขาถูกต้อง เขาพยายามตีความพระคัมภีร์เข้าข้างตนเอง แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมถูกลากเข้ามาในสถานการณ์เช่นนั้น คงง่ายเกินไปถ้าเราจะโยนความรับผิดชอบของเราให้ผู้อื่น และหาคำตอบแบบสำเร็จรูป ด้วยความคิดเช่นนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 จึงส่งฆราวาสกลับไปใช้มโนธรรมของตนพิจารณา และใช้ความรู้ความสามารถส่วนตัวตัดสินปัญหาทางโลก “(ฆราวาส) อาจแสวงหาความเข้าใจ และอาหารบำรุงเลี้ยงจิตวิญญาณจากพระสงฆ์ได้ ขอให้เขาอย่าคิดว่าเจ้าอาวาสของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาซับซ้อนเพียงใดก็ตาม และหาทางออกที่เป็นรูปธรรมให้เขาได้เสมอ หรือถึงกับคิดว่านั่นคือพันธกิจของพระสงฆ์” (Church in the Modern World, 43) … ในกรณีนี้ พระเยซูเจ้าอาจทรงต้องการทำเช่นนี้เหมือนกัน พระองค์ทรงส่งปัญหามรดกนี้กลับไปให้ผู้มีอำนาจตัดสิน...
แล้วพระองค์ตรัสกับคนเหล่านั้นว่า “จงระวัง และรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะชีวิตของคนเราไม่ขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเขา แม้ว่าเขาจะมั่งมีมากเพียงใดก็ตาม”

    ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธจะยุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สิน ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่ทรงสนใจกิจการทางโลก พระเยซูเจ้าทรงเตือนสติให้คิดถึงหลักการสำคัญ และบทบาทของพระองค์อยู่ในระดับนี้

    พระศาสนจักรก็เหมือนกับพระเยซูเจ้า คือ ไม่ได้วางตัวเป็นกลางโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พระศาสนจักรระบุคำสั่งสอน หลักการ และแนวทางสำหรับกิจการฝ่ายโลก ส่วนการปฏิบัตินั้น พระศาสนจักรปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของตุลาการ ผู้พิพากษา และผู้นำฝ่ายพลเรือน

    หลักการที่พระองค์ทรงเตือนเราในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของพระองค์ ในฐานะผู้นำสารของพระเจ้า ดังนั้น เราไม่ควรเข้าใจเป้าหมายผิด ๆ...

    ความโลภคือความปรารถนาแรงกล้าที่จะสะสมทรัพย์สมบัติ และทำให้มนุษย์มองข้ามสิทธิและความจำเป็นของเพื่อนมนุษย์ เมื่อบุคคลหนึ่งสนใจแต่จะแสวงหาความร่ำรวยทุกวิถีทาง บุคคลนั้นย่อมลืมไปว่าเขามีหน้าที่แบ่งปันความร่ำรวยกับบุคคลที่ขัดสน ทั้งที่ความร่ำรวยนั้นเป็นพระพรจากพระเจ้า นี่คือหน้าที่ ซึ่งเกิดจากกฎแห่งความรัก...

    ลูกาเคยกล่าวถึงพระวาจาของพระเจ้าเกี่ยวกับการแบ่งปันว่า “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหาร ก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ลก 3:11)

    “ชีวิตของมนุษย์” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด – ไม่ใช่ความร่ำรวย ... และชีวิตนี้ไม่ขึ้นอยู่กับความร่ำรวย ... พระเยซูเจ้าแสดงอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรในเรื่องอุปมาที่ฟังดูแทบจะน่าขัน เมื่อพระองค์ตรัสถึงปัญหาของเศรษฐีที่ดิน...

พระองค์ยังตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาทั้งหลายฟังอีกว่า “เศรษฐีคนหนึ่งมีที่ดินที่เกิดผลดีอย่างมาก เขาจึงคิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันไม่มีที่พอจะเก็บพืชผลของฉัน’ เขาคิดอีกว่า ‘ฉันจะทำอย่างนี้ จะรื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้ แล้วฉันจะพูดกับตนเองว่า ‘ดีแล้ว เจ้ามีสมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี จงพักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนานเถิด’

    เศรษฐีที่ดินคนนี้กำลังท่อง “หลักความเชื่อ” ของวัตถุนิยม กล่าวคือ ความเชื่อว่าทรัพย์ทางโลกอันบริบูรณ์จะนำความสุขมาให้! พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเขา ทรงชี้ให้เห็นความเห็นแก่ตัวของเขา แต่อย่างน้อยเขาก็ยอมรับอย่างเปิดเผย “ฉัน ... ฉัน ... ฉันจะทำอย่างนี้ ... ฉันจะรื้อ ... ฉันจะสร้าง ... พืชผลของฉัน ... ยุ้งฉางของฉัน ... ข้าวของฉัน ... ตัวฉันเอง ...”

    เขาจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เขาจะกิน จะดื่ม และสนุกสนาน ... ลูกาใช้คำภาษากรีกคำเดียวกันกับที่เขาใช้บรรยายงานเลี้ยงต้อนรับบุตรล้างผลาญ (ลก 15:23) พระเยซูเจ้าทรงเห็นงานเลี้ยงที่คนทั้งหลายจัดขึ้นอย่างหรูหรา มีอาหารมากมาย ผลาญเงินทองจำนวนมาก และแขกในงานก็กินดื่มกันเต็มที่ โดยมีคนรับใช้มากมายคอยปรนนิบัติรับใช้...

แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า “คนโง่เอ๋ย คืนนี้ เราจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะเป็นของใครเล่า”

    คนโง่ ... คนไม่รู้จักคิด ... การคาดคะเนของเศรษฐีคนนี้ผิดพลาดโดยชิ้นเชิง ... เขาเข้าใจผิดว่าความบริบูรณ์ของทรัพย์ทางโลกเชื่อมโยงกับความมั่นคงแท้ ... ชีวิตมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความร่ำรวยของเขา ... เงินไม่สามารถซื้อเวลาได้...

    พระคัมภีร์มักเปรียบเทียบคนไม่รู้จักคิด (nabal) กับคนที่ใช้สามัญสำนึก (maskil) เราแสดงว่าเราขาดสติปัญญา เมื่อเราไม่สามารถแยกแยะคุณค่าแท้ และความหมายแท้ของชีวิตได้ หญิงสาวที่ลืมนำน้ำมันตะเกียงมาด้วยเพราะไม่คิดว่าต้องรอเจ้าบ่าวเป็นเวลานานในเวลากลางคืน เป็นหญิง “โง่” (มธ 25:2) คนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าเป็นคน “โง่” เพราะไม่รู้จักอ่าน “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” (ลก 12:56) เศรษฐีคนนี้ “โง่” เพราะเขาคิดถึงแต่ที่ดิน พืชผล ยุ้งฉาง และท้องของเขา ...

    นี่คือเหตุผลสำคัญที่สุดที่พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการทางโลก พระองค์ทรงยืนยันอย่างจริงจังว่าชีวิตของมนุษย์ไม่ได้จบลงบนโลกนี้ ... แก่นของคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า และของพันธกิจประกาศกของพระองค์คือส่วนที่สำคัญของชีวิต - และบ่อยครั้งเป็นส่วนที่ถูกลืม - เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการลงทุนทางวัตถุ ... พระเยซูเจ้าเองจะสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น และพระองค์ไม่พอพระทัยความคิดที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งร่ำรวย แม้ว่าชายคนนี้มีสิทธิขอแบ่งมรดก เพราะส่วนแบ่งมรดกของเขาไม่ใช่ “สมบัติ” แท้

    เราต้องยอมรับอย่างจริงใจว่าวิธีคิดของเราสวนทางกับวิธีคิดของพระเยซูเจ้า แต่ก็มีเสียงเล็ก ๆ ภายในตัวเราที่บอกเราว่าพระองค์ทรงคิดถูก และพระองค์ทรงรู้ดีว่าพระองค์กำลังตรัสอะไร...

“คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง แต่ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็จะเป็นเช่นนี้”

    ขอให้เราอย่าบิดเบือนวิธีคิดขององค์พระผู้เป็นเจ้า ความร่ำรวยไม่ใช่สิ่งที่เลวด้วยตัวเอง เงินทองเป็นสิ่งที่ดีได้ ถ้าเราไม่ใช้มัน “เพื่อตัวเรา” เท่านั้น (ลก 12:33-34)