วันอาทิตย์ที่สามสิบ เทศกาลธรรมดา
ลูกา 18:9-14
พระเยซูเจ้าตรัสเล่าเรื่องอุปมานี้ให้บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม และดูหมิ่นผู้อื่น ฟังว่า “มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นชาวฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี ชาวฟาริสีอธิษฐานภาวนาในใจว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่นที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี หรือเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า’ ส่วนคนเก็บภาษียืนอยู่ห่างออกไป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ได้แต่ข้อนอก พูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า คนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ เพราะว่าผู้ใดที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
บทรำพึงที่ 1
ข้อรำพึงที่หนึ่ง
หัวใจที่ถ่อมตน และสำนึกผิด
อุปมาเรื่องชายสองคนในพระวิหาร เสนอคำสั่งสอนข้อที่ 4 เกี่ยวกับการภาวนา กล่าวคือ ความจองหองเป็นอุปสรรคสำหรับการภาวนาแท้ ในขณะที่ความสำนึกผิดอย่างถ่อมตนกลายเป็นคำภาวนาที่พุ่งตรงไปถึงพระหทัยของพระเจ้า เรื่องนี้ตั้งใจสอนผู้ที่ภูมิใจในคุณธรรมของตน และดูถูกคนอื่น ๆ คำพูดโอ้อวดของคนจองหองเป็นรูปแบบหนึ่งของการบูชาตนเอง ในขณะที่คำภาวนาของคนถ่อมตนแทงทะลุเมฆ
ธรรมประเพณีของคริสตชนถือว่าชาวฟาริสีมีชื่อเสียงไม่ดี และเสนอภาพของฟาริสีว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคด และยึดถือธรรมบัญญัติตามตัวอักษร ชื่อของเขาแปลว่า “ผู้แยกตัว (The Separated)” ซึ่งเกิดจากความต้องการรักษามรดกทางศาสนาของชาวยิวไม่ให้ปนเปื้อนวัฒนธรรมของชาวกรีก ซึ่งถูกยัดเยียดให้พวกเขา พวกเขาเชื่อว่าพระบัญญัติของพระเจ้าครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ดังนั้น ถ้าต้องการเป็นผู้ที่สมบูรณ์ครบครัน เขาจึงต้องปฏิบัติตามรายละเอียดทุกข้ออย่างเคร่งครัด บางคนเหมือนกับชายในเรื่องอุปมานี้ ซึ่งไม่เพียงปฏิบัติตามบทบัญญัติ แต่ยังเพิ่มเติมข้อใหม่เข้าไปด้วย เขาจำศีลอดอาหารมากขึ้นเป็นพิเศษ และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ เพราะไม่พอใจแต่เพียงการถวายส่วนที่หักออกจากผลผลิตของตน ซึ่งเป็นข้อกำหนดของธรรมบัญญัติ
ความบกพร่องของเขาไม่ได้อยู่ที่ความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่อยู่ที่ความภาคภูมิใจที่เขาได้ทำเช่นนั้น และทำให้เขาคิดว่าเขามีสิทธิ์ตัดสินผู้อื่น ที่ดูเหมือนเลวกว่าเมื่อเทียบกับตัวเขา เรื่องนี้บอกรายละเอียดข้อหนึ่งที่มีนัยสำคัญ ชายคนนี้กำลังอธิษฐานภาวนากับตนเอง คำพูดของเขาดูเหมือนว่าเป็นคำพูดกับพระเจ้า แต่ในความเป็นจริง กลับวนเวียนอยู่ในเมฆหมอกแห่งการหลอกตนเอง ตรงกันข้ามกับคำภาวนาของคนเก็บภาษี ซึ่งแทงทะลุเมฆ และพุ่งตรงไปหาความเวทนาสงสารของพระเจ้า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงรับรองกับเราว่าเขากลับไปบ้านโดยได้รับความชอบธรรม
ความเรียบง่ายของบทภาวนาของคนเก็บภาษีเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะตัดข้อความที่ซับซ้อนออกไปจนหมด เมื่อเขาตระหนักรู้ว่าเขากำลังพบกับพระเจ้า โดยพื้นฐานแล้วการภาวนาเป็นกิจกรรมที่เรียบง่ายมาก เพราะเกี่ยวข้องแต่กับพระเจ้าและตัวเรา และการพบกันที่เกิดขึ้นระหว่างพระเจ้ากับตัวเรา แก่นของการภาวนาอยู่ที่ความสนใจที่เรามอบให้กับพระเจ้าผู้ประทับอยู่กับเราในเวลานั้น บางครั้ง เราอาจตระหนักถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ซึ่งนำวิญญาณไปสู่การสรรเสริญ บางครั้ง วิญญาณจะถูกชักนำเข้าสู่ความสนิทสนมซึ่งเกิดจากการตระหนักในความรักของพระเจ้า แต่ก็มีบางครั้งที่ประสบการณ์ที่วิญญาณได้สัมผัสกับพระเจ้า ทำให้บุคคลนั้นรู้ตัวในส่วนลึกของวิญญาณว่าตนเองเป็นคนบาปและไม่คู่ควร นี่คือความรู้สึกของคนเก็บภาษีในพระวิหาร “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระนามของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องได้รับการปรุงแต่งด้วยคำพูดหรูหราใด ๆ นี่คือการติดต่อโดยตรงกับพระเจ้า และคำวิงวอนขอพระเมตตาของเขาก็เรียบง่ายไม่ซับซ้อนเลย สิ่งเดียวที่เขาพูดถึงตัวเองได้ก็คือ เขาเป็นคนบาป
ประสบการณ์ของเขาคล้ายกับของซีโมนเปโตร หลังจากอัศจรรย์การจับปลาจำนวนมาก เมื่อเปโตรรับรู้ในทันใดว่ามีช่องว่างอันกว้างใหญ่คั่นอยู่ระหว่างตัวเขาและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป”
ฟรังซิส แห่งอัสซิซี เป็นอีกคนหนึ่งที่อธิษฐานภาวนาด้วยความสำนึกผิดอย่างถ่อมตน เขาสามารถภาวนานานนับชั่วโมงด้วยบทภาวนาที่เรียบง่ายว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า พระองค์เป็นใคร และข้าพเจ้าเป็นใคร”
ต่างจากนักบุญฟรังซิส นักบุญออกุสตินเป็นบุคคลที่ชอบใช้คำบรรยาย และได้ขยายความหมายของความไม่เหมาะสมคู่ควรของคนบาปคนหนึ่งในบทรำพึงของเขา ซึ่งเริ่มต้นว่า
ข้าแต่พระเยซูเจ้า ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้จักตนเอง ให้ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์
และไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากพระองค์ผู้เดียว
ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าชังตนเอง และรักพระองค์
และทำทุกสิ่งเพื่อพระองค์
ผู้ใดยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ผู้ใดถ่อมตนลงต่อหน้าพระเจ้า จะได้รับยกย่องให้สูงขึ้น คำภาวนาของคนบาปผู้ถ่อมตนแทงทะลุเมฆ พระเมตตาของพระเจ้าซึ่งมีอำนาจเยียวยาได้หลั่งลงมาบนตัวเขา และเขากลับบ้านโดยได้รับความชอบธรรมจากพระเจ้า
ข้าแต่พระเจ้า พระองค์จะไม่ทรงผลักไสหัวใจที่สำนึกผิดเลย
ข้อรำพึงที่สอง
เรื่องที่น่าตกใจ
ขณะที่ทรงเล่าเรื่องอุปมานี้ พระเยซูเจ้าคงจะเหมือนนักแสดงคนหนึ่งที่ใช้น้ำเสียงต่างกันตามความเหมาะสม และมีท่าทางประกอบ อุปมาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พลิกสถานการณ์ เมื่อพระองค์ทรงยกค่านิยม หรือความประพฤติอย่างหนึ่ง ที่คนทั่วไปยกย่องว่าดี และทรงชี้ให้เห็นความบกพร่อง เรื่องประเภทนี้จำเป็นต้องทำให้ผู้ฟังตกใจ จนพวกเขาฉีกม่านแห่งความคุ้นเคยออก และมองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ข้างหลังม่านนั้น เราจะเข้าใจคุณค่าของเรื่องนี้ได้มากขึ้น ถ้าเราตระหนักว่าเรื่องนี้คงสั่นคลอนความรู้สึกของชาวฟาริสีผู้เคร่งครัด เมื่อเขาได้ยินพระเยซูเจ้าเสนอว่าคนเก็บภาษีที่เป็นคนบาป กลับเป็นผู้ชอบธรรมมากกว่าพวกเขาในสายพระเนตรของพระเจ้า
เรื่องนี้เตือนใจมนุษย์ได้ทุกยุคสมัย เครื่องหมายที่เผยให้เห็นการหลอกตนเอง และศาสนาเทียม ยังมีอยู่ทุกวันนี้เหมือนกับในสมัยของพระเยซูเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการที่ชาวฟาริสีคนนี้ภาวนาเหมือนกับพูดกับตนเอง การพูดกับตนเองเป็นอาการของความกดดัน ในใจของเขามีเจ้านายตัวเล็ก ๆ ที่คอยสั่งโน่นสั่งนี่ และขอคำอธิบายไม่ว่าเขาจะทำอะไร ฟาริสี คนนี้ถูกกดดันให้จำศีลอดอาหารเป็นพิเศษ ทำกิจการกุศลเป็นพิเศษ เพื่อให้เจ้านายผู้นี้เลิกกวนใจเขา เมื่อใดที่ท่านเห็นผู้ใดต้องการทำงานให้สมบูรณ์แบบจนเกินกำลังมนุษย์ธรรมดา ลองมองหาสิ่งที่เขาเก็บกดไว้หรือไม่ยอมรับ เมื่อใดที่บทบัญญัติปกติยังไม่เพียงพอ จนต้องคิดค้นหน้าที่พิเศษขึ้นมาให้ทำ เมื่อนั้น ท่านกำลังพบใครบางคนที่ต้องการเป็นผู้ไถ่กู้ของตนเอง เขาคนนั้นกำลังพยายามใช้ความครบครันของตนเองแลกกับพระคุณของพระเจ้า คนศักดิ์สิทธิ์แท้สนใจกับบทบัญญัติน้อยมาก แต่ให้ความสนใจมากที่สุดกับจิตวิญญาณ ความศรัทธาที่มากเกินควรมักเป็นความพยายามดิ้นให้หลุดจากสิ่งที่เขาควรทำ เพราะความรักเมตตา ความจริง และความยุติธรรมเรียกร้องให้เขาทำ
ฟาริสีคนนี้ดีเกินกว่าจะเป็นมนุษย์จริง ๆ เจคเกล และไฮด์ เป็นเรื่องที่ตรงกับความเป็นจริงที่สุดนับตั้งแต่มีการเขียนนิยายขึ้นมา ในตัวเราแต่ละคนมีบุคลิกภาพที่ตรงกันข้ามกันซ่อนอยู่ ถ้าเราไม่เคยรู้ว่าด้านมืดของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง จงระวังตัว! เพราะผู้ที่คิดว่าตนเองเป็นเทวดาจะตัวสั่นเหมือนปีศาจอย่างรวดเร็ว
ในยุคหลัง ๆ นี้ หลายคนเข้ารับการอบรมเพื่อช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น คนเหล่านี้ค้นพบว่าสิ่งที่เขาทำได้ดีอาจเป็นกับดักที่ทำลายตัวเขาได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านสนใจเรื่องกีฬา ท่านคงสังเกตแล้วว่าชายที่มีกล้ามเป็นมัดเหล่านั้นมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือม้าพันธุ์ดีจะมีโอกาสติดโรคมากกว่าม้าที่สมบุกสมบัน
ชาวฟาริสีคนนี้ปฏิบัติศาสนกิจภายนอกอย่างเคร่งครัด แต่นั่นกลายเป็นกับดักที่คอยจับตัวเขา เขาเคร่งครัดมากจนคิดไปว่าเขาทำเช่นนี้ได้ด้วยตนเอง แทนที่จะคิดว่าเป็นพระหรรษทานของพระเจ้า เขาจึงพร้อมจะพ่ายแพ้การประจญให้เป็นคนจองหอง เขารู้สึกว่าตนเองดีกว่ามนุษย์ทุกคน ที่ร้ายกว่านั้น เขารู้สึกว่าตนเองมีสิทธิ์ตัดสินคนบาปผู้น่าสงสารที่ยืนอยู่ข้างหลังเขา
ถ้าคุณธรรมของชาวฟาริสีกลายเป็นกับดักสำหรับเขา ความสำนึกผิดของคนบาปก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาพบกับพระเจ้าผ่านทางการภาวนาอย่างถ่อมตน ดังที่เช็กสเปียร์ กล่าวว่า “ความเคราะห์ร้ายมีประโยชน์ที่มีรสหอมหวาน” พระเจ้าทรงสามารถทำให้ความเป็นคนบาปของเรากลายเป็นประโยชน์ได้ พระเจ้าทรงสามารถเขียนเส้นตรงทับเส้นที่บิดเบี้ยวได้ พระองค์ทรงสามารถใช้ความอ่อนแอ และความผิดพลาดของเรา ทำลายความจองหองของเรา ทลายภาพลวงตาของเรา และกะเทาะเปลือกของการภาวนาแต่ปาก สำนึกว่าเราเป็นคนบาปจะทำให้เราไม่รีบตัดสินผู้อื่น และจะช่วยพัฒนาจิตใจของเราให้รู้จักเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
เรื่องอุปมาที่พระเจ้าทรงเล่านี้ต้องการทำให้เราสะดุ้ง ให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกพึงพอใจกับตนเอง และพลิกระเบียบแบบแผนที่เราคิดว่าถูกต้อง ในบรรดาความจองหองรูปแบบต่าง ๆ ที่เราอาจตกเป็นเหยื่อได้นั้น ความคิดว่าตนเองเคร่งครัดศรัทธาในศาสนามากกว่าผู้อื่น ถือว่าเป็นรูปแบบของความจองหองที่น่ารังเกียจที่สุด
บทรำพึงที่ 2
พระเยซูเจ้าตรัสเล่าเรื่องอุปมานี้ให้บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม...
พระเยซูเจ้าทรงโปรดที่จะสั่งสอนด้วย “เรื่องอุปมา” คือใช้ภาพเปรียบเทียบ เราพบเรื่องอุปมาประมาณ 50 เรื่องในพระวรสาร ลูกาเล่าไว้ 40 เรื่อง และ 15 เรื่องเป็นเรื่องที่มีอยู่แต่ในพระวรสารของลูกาเท่านั้น
อุปมาเรื่อง “ชาวฟาริสี และคนเก็บภาษี” เป็นหนึ่งในเรื่องที่ปรากฏในพระวรสารของลูกาเท่านั้น
ลูกาบอกตั้งแต่แรกว่าเรื่องนี้ต้องการสื่อสารถึงใคร กล่าวคือ บุคคล “ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม” เมื่อมองอย่างผิวเผิน ดูเหมือนว่าความภูมิใจนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด การเป็นผู้ชอบธรรมเป็นอุดมคติที่ดีมาก มนุษย์ทุกคนที่สมจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ควรต้องการเป็นผู้ชอบธรรม...
คำว่า “ความชอบธรรม” ในภาษาพระคัมภีร์มีความหมายมากกว่า “ความยุติธรรม” มากกว่า “การให้เท่าที่แต่ละคนสมควรได้รับ” ... อันที่จริง ในพระคัมภีร์ “การเป็นผู้ชอบธรรม” มีความหมายไม่ต่างจาก “เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” ... คือเป็นผู้มีคุณธรรมในทุกด้าน
ผู้ชอบธรรมจะดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่สูงส่งอย่างแท้จริง ประกอบด้วยความจริงใจ ความซื่อตรง พฤติกรรมที่ถูกต้อง ความศักดิ์สิทธิ์ ความครบครัน ... เราพร้อมเกินไปที่จะประณามชาวฟาริสี ราวกับว่าเขาทุกคนเป็น “คนหน้าซื่อใจคดจิตใจสกปรก” อันที่จริง คนหน้าซื่อใจคดในหมู่ชาวฟาริสีน่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่าคนหน้าซื่อใจคดในมนุษย์กลุ่มใด ๆ ชาวฟาริสีสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านอย่างจริงใจ และกล้าหาญต่อการเบียดเบียนของอันทิโอคัส เอปิฟานัส และในสมัยของพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีก็ยังคงเป็นกลุ่มคนที่บริสุทธิ์ และมีคุณธรรม ที่เคร่งครัดศรัทธาและอุทิศทั้งชีวิตให้พระเจ้า – พวกเขาเป็นต้นแบบของความศรัทธา การศึกษาธรรมบัญญัติ และได้รับการยกย่องและเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป พวกเขาจึงมีอิทธิพลต่อคนเหล่านี้มาก “ความชอบธรรม” ตามความหมายในพระคัมภีร์ หมายความรวมถึง “ความยำเกรงพระเจ้า” คือมโนธรรมอันละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถทำให้พระเจ้าทรงขุ่นเคืองพระทัยแม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย แม้ว่าจะทำได้ยากเย็นเพียงไรก็ตาม ... และ “ความรักต่อเพื่อนมนุษย์” กล่าวคือ ความตั้งใจมั่นว่าจะไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการทำร้ายผู้อื่น...
เมื่อเราอ่านเรื่องอุปมานี้ซึ่งต้องการพูดกับ “บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม” เราไม่ควรลืมความจริงข้อนี้...
ขอให้เราระลึกด้วยว่าเคยมีผู้เรียกพระเยซูเจ้าว่า “ผู้ชอบธรรม” (ลก 23:47; มธ 27:9) หลายคนที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่พระวรสารเอ่ยถึงก็ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชอบธรรม” (ลก 1:6, 2:25, 23:50; กจ 10:22)...
ดังนั้น จึงต้องถามว่า อะไรคือการประจญอันแยบยลต่อ “ผู้ชอบธรรม”...
และในทางกลับกัน อะไรคือโอกาสอันแยบยลของคนบาป หรือผู้ที่ขาดความชอบธรรม...
... บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม และดูหมิ่นผู้อื่น
นี่คือด้านหนึ่งของชีวิตของพวกเขาที่ขาดความชอบธรรม การดูหมิ่นผู้อื่นไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี ... เราเห็นได้ง่าย ๆ ว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับจิตใจที่ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะพระหทัยของพระองค์เองนั้นอ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความเมตตา ... พระเจ้าไม่ทรงดูหมิ่นเหยียดหยามใคร ยิ่งมนุษย์คนหนึ่งบกพร่อง หลงผิด ป่วย อัปลักษณ์ พระเจ้าก็ยิ่งรักเขา ยิ่งมนุษย์คนหนึ่งน่ารังเกียจ เขาก็ยิ่งต้องการความรักแบบให้เปล่า พระเจ้าแท้ที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้จักทรงเป็นพระเจ้าของคนพเนจร คนนอกคอก คนที่ถูกประณาม คนตามชายขอบของสังคม คนที่ไม่มีใครรัก และคนที่ถูกทอดทิ้ง ... แกะที่พลัดหลงอยู่ในพุ่มหนามจะดึงดูดความสนใจของคนเลี้ยงแกะผู้เปี่ยมด้วยความรักทันที...
“ดูหมิ่น” หรือ ... คนเลี้ยงแกะจะดูหมิ่นแกะตัวใดของตนได้หรือ...
เป็นประสบการณ์จริงของคนทั่วไปว่าลูกที่พิการ แทนที่จะถูกดูหมิ่น กลับจะได้รับความรักจากมารดา หรือบิดามากว่าลูกที่สุขภาพสมบูรณ์ ทำไมเราจึงแปลกใจเล่า นี่คือปฏิกิริยาตามธรรมชาติไม่ใช่หรือ ... เป็นความจริงที่ดูเหมือนขัดแย้งกันในตัวว่าความรักที่ให้เปล่าและบริสุทธิ์ที่สุดจะเอื้อมไปหาผู้ที่ต้องการความรักเช่นนี้มากที่สุด และแม้ว่าบางครั้งบุคคลนั้นไม่สามารถรักตอบได้เลยก็ตาม...
พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงเป็นความรักที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ และไม่คาดหวังจะได้รับความรักตอบ ... พระเจ้าทรงเป็นความรักอันสมบูรณ์...
มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นชาวฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี
เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของโลกตะวันออก คำบรรยายนี้เกินจริงจนแทบจะกลายเป็นเรื่องตลก พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักเล่าเรื่องที่เฉลียวฉลาด เมื่อฟังเรื่องอุปมานี้ครั้งหนึ่งแล้ว ผู้ฟังจะไม่มีวันลืม...
พระเยซูเจ้าทรงนำเสนอตัวละครสองคนที่มีลักษณะตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง...
ชาวฟาริสี เป็นคนศรัทธา และเป็นผู้ชอบธรรมจนไร้ที่ติ
ส่วนคนเก็บภาษีก็เป็นสัญลักษณ์ของคนบาป และความเสื่อมศีลธรรม คนเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้เก็บภาษี แต่เขาขูดรีดเงินจากประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยักยอกเงินจำนวนมากไว้เอง คนเหล่านี้คือ “คนรวยสกปรก” ที่ไม่มีใครนิยม และทุกคนดูหมิ่น นอกจากนี้ เนื่องจากอาชีพของเขาทำให้เขาต้องเกี่ยวข้องกับเงินโรมัน เขาจึงทำสิ่งที่ชาวยิวถือว่าทุราจารต่อพระเจ้าอยู่ทั้งวัน เพราะบนเหรียญเงินเหล่านั้นมีรูปของจักรพรรดิ (คนต่างชาติที่ยึดครองแผ่นดินของพวกเขา) พร้อมระบุยศศักดิ์เสมอพระเจ้า (นี่คือการบูชารูปเคารพ) ... ชาวยิวทั่วไปถือว่าคนเก็บภาษีอยู่ในจำพวกเดียวกับคนชั่ว คนต่างศาสนา และโสเภณี (มธ 5:46-47, 18:17)
ชาวฟาริสียืนอธิษฐานภาวนาในใจว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่นที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี หรือเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า”
ดังนั้น ชายคนนี้จึงซื่อสัตย์สุจริต และใจกว้าง เราไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสงสัยว่าเขากำลังกล่าวเท็จ เขาทำอย่างที่เขาพูดจริง ๆ ... ธรรมบัญญัติกำหนดให้จำศีลอดอาหารเพียงหนึ่งวัน คือในวันฉลอง Yom Kippur แต่คนศรัทธาทั้งหลายสมัครใจจำศีลอดอาหารเพื่อใช้โทษบาปถึงสัปดาห์ละสองครั้ง ธรรมบัญญัติกำหนดให้เกษตรกรบริจาคหนึ่งในสิบของพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ให้แก่คนยากจน และให้พระวิหาร แต่มโนธรรมอันละเอียดอ่อนของฟาริสี ทำให้เขาสมัครใจจ่ายหนึ่งในสิบของทุกสิ่งที่เขาซื้อมา ซึ่งเป็นการบริจาคเป็นครั้งที่สอง (มธ 23:23)...
นอกจากนี้ คำภาวนาของชาวฟาริสีเป็นคำภาวนาที่บริสุทธิ์ เขาไม่วิงวอนขอสิ่งใดเลย ... เขาเพียงแต่ขอบพระคุณพระเจ้า บทภาวนาของเขาเป็นการบูชาขอบพระคุณ...
ถูกแล้ว เราต้องชมเชยบุรุษ “ผู้ชอบธรรม” คนนี้ ถ้ามีมนุษย์ชายหญิงที่ดำเนินชีวิตแบบนี้มากขึ้น สังคมจะน่าอยู่กว่านี้ จะไม่มีการลักขโมย ไม่มีความอยุติธรรม ไม่มีการคบชู้ผิดประเวณี ... ประชาชนยอมแบ่งปันสิ่งของของตนกับผู้อื่นเพราะคิดว่าทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ... คนเหล่านี้คือคนที่ภาวนาด้วยคำสรรเสริญ และขอบพระคุณพระเจ้า...
เราคงจะบิดเบือนความหมายของเรื่องอุปมานี้ ถ้าเราคิดว่าบุรุษ “ผู้ชอบธรรม” นี้เป็นคนหน้าซื่อใจคดที่ซ่อนพฤติกรรมของเขาอย่างมิดชิด...
แต่ถ้าพระเยซูเจ้าไม่ทรงประณามว่าเขาเป็น “คนหน้าซื่อใจคด” พระองค์ทรงประณามเขาในเรื่องใด อะไรคือลัทธิฟาริสี...
เมื่อมองผาด ๆ เราก็เห็นได้แล้วว่าชายคนนี้จองหอง และภูมิใจในตนเองมากเพียงไร เราสังเกตเห็นว่าเขาดูถูกผู้อื่น ซึ่งเขาเรียกทุกคนว่าคนบาป แต่ในปัจจุบัน เราไม่อาจเรียกคนกลุ่มใดว่า “ฟาริสี” ได้อีกต่อไป ไม่มีใครอยากถูกเรียกว่าฟาริสี แต่ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนประเภทนี้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ในสังคมสมัยใหม่ เรายังพบ “คนเก็บภาษี และคนบาป” ที่ภูมิใจในตนเองอยู่ไม่ใช่หรือ คนเหล่านี้แสดงพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมโดยไม่ละอายใจ เขาคุยโวที่เขาตีตนออกห่างจากพระ ศาสนจักร และดูถูกคนที่มีอุดมคติ หรือพยายามปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ... เขาภูมิใจในตนเองจนเขาดูหมิ่นชนชั้นแรงงาน เขามั่นใจว่าเขารู้ดีเกี่ยวกับสัจธรรม เขาจึงประณามบุคคลที่เขาเรียกว่า “พวกเอียงซ้าย” หรือ “พวกก่อปฏิกิริยา” ... เปล่าเลย ลัทธิฟาริสียังไม่ตาย คนเหล่านี้สวดภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนนายจ้างที่กดค่าแรงคนงาน ... หรือเหมือนกับผู้นำสหภาพแรงงานที่มีความคิดสุดโต่ง ... หรือเหมือนกับเด็กหนุ่มคนนี้ที่มีพฤติกรรมเสื่อมทรามไปเสียทุกด้าน ... หรือเหมือนหญิงชราที่ดื้อรั้นคนนั้น ... หรือเหมือนผู้ชายใจหยาบคนนั้น...
พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้พ้นจากลัทธิฟาริสี ที่ซ่อนตัวอย่างแยบยลเหล่านี้เถิด...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าไม่ให้คิดว่าพระวรสารนี้กำลังกล่าวถึงผู้อื่น แต่ขอให้ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้าพเจ้าภูมิใจในตนเองมากเพียงไร และข้าพเจ้าดูหมิ่นผู้อื่นในหลาย ๆ ทางอย่างไร ... ถ้าข้าพเจ้าสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน ข้าพเจ้าจะเห็นว่าผู้อื่นมีความสามารถมากกว่าข้าพเจ้าในด้านต่าง ๆ มากมาย...
ส่วนคนเก็บภาษียืนอยู่ห่างออกไป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ได้แต่ข้อนอกพูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด”
ตรงกันข้าม คนเก็บภาษีไม่ตัดสินผู้อื่น แต่ตัดสินตนเอง เขารู้ตัวว่าเป็นคนบาป ... เมื่ออยู่เบื้องหน้าพระเจ้า...
เราสังเกตได้ว่าเขาไม่ได้จาระไนบาปของเขา เขาไม่ได้ “สารภาพบาป” เขาเพียงรู้สึกว่าน้ำหนักของบาปของเขากดตัวเขาให้ต่ำต้อย และเขาก็ทูลพระเจ้าเช่นนี้ ... เขาไม่ได้พึ่งพากำลังของตนเอง หรือบุญกุศลของตนเอง ... เรานึกภาพได้ว่าเขาพยายามหลายครั้งหลายหนที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น แต่เขาก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิมทุกครั้ง...
ถ้าเรามองเห็นตนเองใน “ตัวฟาริสี คนนี้” เราย่อมมองเห็นตนเองในตัวคนบาปผู้น่าสงสารคนนี้เช่นกัน ... คนบาปผู้ไม่เคยดำเนินชีวิตตามอุดมคติของเขาได้สำเร็จ ผู้ต้องต่อสู้ตลอดเวลากับนิสัยชั่วของเขา และอาจถึงกับอยากจะรู้สึกสิ้นหวัง...
แต่เราสามารถสวดบทภาวนานี้ซ้ำ ๆ ไม่หยุดได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด”...
เราบอกท่านทั้งหลายว่าคนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ เพราะผู้ใดที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
ประชาชนที่กำลังฟังพระเยซูเจ้าคงรู้สึกเหมือนถูกฟ้าผ่าเมื่อได้ยินประโยคนี้ แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงอธิบาย ... พระองค์ทรงปล่อยให้เราคิดได้เองว่าพระเจ้าไม่ทรงเป็นเหมือนอย่างที่เราเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็น...
พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานพระพรแบบให้เปล่า พระเจ้า “ทรงเป็นทุกข์” ร่วมกับคนบาปที่เป็นทุกข์เพราะเขาเป็นคนบาป พระเจ้าทรงปรารถนาจะให้อภัย...
แต่ไม่มีใครเติมน้ำลงในถ้วยที่เต็มแล้วได้ ชายผู้ชอบธรรม หรือควรเรียกว่าผู้ที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรมนี้ จะไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าในที่สุด ... เพราะเขาอยู่ได้ด้วยตนเองแล้ว...
บทเรียนจากเรื่องอุปมานี้อยู่การเปลี่ยนคำว่า “ผู้ชอบธรรม” ที่ใช้ตอนต้นเรื่องให้เป็น “ได้รับความชอบธรรม” นี่คือลีลาการเขียนวรรณกรรมเซมิติก...
ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์ไม่สามารถเป็นผู้ชอบธรรมได้ด้วยตนเอง แต่ต้อง “ได้รับความชอบธรรม” ระหว่างที่เขาพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม...
ข้าแต่พระบิดา ความชอบธรรมนี้ก็คือความยินดีที่ได้รับการอภัยจากพระองค์...
การพิพากษาของพระองค์เป็นพระหรรษทาน – เป็นของประทานที่ได้มาเปล่า ๆ – สำหรับบุคคลที่ไม่กล้าเงยหน้าขึ้นมองพระองค์ แต่หัวใจของเขาวิงวอนพระองค์...