แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สามสิบสอง เทศกาลธรรมดา

ลูกา 20:27-38
    ชาวสะดูสีบางคนมาพบพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้สอนว่าไม่มีการกลับคืนชีพ เขาทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ โมเสสเขียนสั่งไว้ว่า ถ้าพี่ชายตาย มีภรรยาแต่ไม่มีบุตร ก็ให้น้องชายของเขารับหญิงนั้นมาเป็นภรรยา เพื่อจะได้สืบสกุลของพี่ชาย มีพี่น้องเจ็ดคน คนแรกมีภรรยาแล้วก็ตายโดยไม่มีบุตร คนที่สอง คนที่สามรับนางเป็นภรรยาและตายโดยไม่มีบุตร เป็นเช่นนี้ทั้งเจ็ดคน ในที่สุด หญิงคนนั้นก็ตายด้วย ดังนี้ เมื่อมนุษย์จะกลับคืนชีพ หญิงคนนั้นจะเป็นภรรยาของใคร เพราะทั้งเจ็ดคนต่างได้นางเป็นภรรยา”
    พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “คนของโลกนี้แต่งงานเป็นสามีภรรยากัน แต่คนที่จะบรรลุถึงโลกหน้าและจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายนั้น จะไม่แต่งงานเป็นสามีภรรยากันอีก เพราะเขาจะไม่ตายอีกต่อไป เขาจะเป็นเหมือนทูตสวรรค์ และจะเป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาจะกลับคืนชีพ โมเสสยืนยันแล้วว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพในข้อความเรื่องพุ่มไม้ เมื่อพูดถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า เป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น เพราะทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
จุดจบของการเดินทาง

    บรรยากาศมืดครึ้มในเดือนพฤศจิกายนในซีกโลกเหนือเหมาะสมที่จะเพ่งพินิจจุดจบของชีวิต นี่คือจุดจบของการเดินทางของพระเยซูเจ้าเช่นกัน หลังจากการเดินทางอันยาวนาน พระองค์เสด็จมาถึงกรุงเยรูซาเล็มในที่สุด พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับอย่างไม่เป็นมิตร ผู้มีอำนาจหลายฝ่ายตั้งคำถามเพื่อจับผิดพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า

    ครั้งนี้เป็นคราวของชาวสะดูสี ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กของเมือง แต่ฐานะร่ำรวยมาก ในด้านความเชื่อ คนเหล่านี้เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับความคิดใด ๆ ที่พัฒนาขึ้นจากพระคัมภีร์ห้าเล่มที่อ้างว่าเขียนโดยโมเสส คือพระคัมภีร์โตราห์ พวกเขาไม่ยอมรับข้อความเชื่อที่พัฒนาขึ้นในภายหลังเกี่ยวกับทูตสวรรค์ และชีวิตหลังความตาย

    พวกเขาวางกับดักเพื่อจับผิดพระเยซูเจ้าด้วยเรื่องของพี่น้องเจ็ดคนที่แต่งงานกับหญิงคนเดียวกัน เหตุผลสนับสนุนกรณีที่เขายกมาถามนี้เป็นกฎที่ให้น้องชายแต่งงานกับภรรยาม่ายของพี่ชาย เพราะต้องการหาทายาทให้แก่ชายที่ตายไปโดยไม่มีบุตร โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของน้องชายคนถัดมาที่จะรับภรรยาของพี่ชายมาเป็นภรรยาของตน พวกเขาคิดว่ากรณีตัวอย่างของเขาจะทำให้สมมุติฐานเรื่องชีวิตหลังความตายฟังดูไร้สาระ เราได้ยินความมั่นใจในน้ำเสียงเมื่อเขาบอกว่า “โมเสสเขียนสั่งไว้”

    พระเยซูเจ้าทรงตอบว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งงานจะไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับผู้ที่กลับคืนชีพแล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นให้มนุษย์ต้องสืบทอดเผ่าพันธุ์อีกต่อไป ผู้ที่กลับคืนชีพจะ “เป็นเหมือนทูตสวรรค์” และ “จะเป็นบุตรของพระเจ้า” ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงล้มล้างเหตุผลที่สนับสนุนข้ออ้างของพวกเขาด้วยการอ้างถึงโมเสสเช่นกัน “ถ้าท่านอ้างโมเสสได้ เราก็อ้างได้เช่นกัน” โมเสสแสดงความเชื่อในชีวิตหลังความตายด้วยการเรียกขานพระเจ้าว่า พระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ซึ่งตายมานานแล้วในเวลานั้น เพราะพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของผู้เป็น เราจึงมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ พระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างเราขึ้นมาเพื่อให้ดับสูญไป

    ชาวสะดูสี เป็นคนกลุ่มน้อยที่เชื่อเช่นนี้ คนส่วนใหญ่ที่ฟังพระเยซูเจ้าเทศน์สอนยอมรับแล้วว่ามีชีวิตหลังความตาย บทที่สามของหนังสือปรีชาญาณแสดงความเชื่อข้อนี้อย่างชัดเจนด้วยถ้อยคำที่ปลอบประโลมใจผู้มีคุณธรรม และตักเตือนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนาว่า “แต่วิญญาณที่มีคุณธรรมจะอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า ไม่มีความทุกข์ทรมานใดจะแตะต้องเขาได้ ... ผู้ที่ซื่อสัตย์จะอยู่กับพระองค์ในความรัก ... แต่ผู้ที่ไม่นับถือพระเจ้าจะถูกลงโทษเพราะเหตุผลที่เขาอ้างเพื่อจะเพิกเฉยต่อผู้มีคุณธรรม และละทิ้งองค์พระผู้เป็นเจ้า”

    ในพระวรสารสหทรรศน์ คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเสนอภาพลักษณ์ว่าสวรรค์เป็นเสมือนบ้านที่น่าอยู่ และเสนอภาพที่น่าสะพรึงกลัวของนรก ภาพลักษณ์ที่พบบ่อยครั้งที่สุดคืองานเลี้ยงอันยิ่งใหญ่เหมือนงานเลี้ยงฉลองสมรส หรือการฉลองชัยชนะ บางครั้งคำสั่งสอนของพระองค์เน้นย้ำว่าสวรรค์เป็นรางวัลสำหรับความซื่อสัตย์ หรือสำหรับการใช้ความสามารถของเราให้เกิดประโยชน์

    มีสองภาพลักษณ์ที่น่าพึงพอใจสำหรับชาวยิวที่ผูกพันกับเชื้อชาติของตน นั่นคือการได้กลับไปอยู่กับบรรพบุรุษ และการกลับคืนสู่สวนสวรรค์ที่มนุษย์เคยสูญเสียไป พระองค์ทรงเสนอภาพของคนจนชื่อลาซารัส ว่าเขาถูกนำไปอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม และบนเขากัลวารีโอ พระองค์ทรงสัญญากับผู้ร้ายกลับใจว่าเขาจะได้อยู่กับพระองค์ในสวนสวรรค์ในวันเดียวกันนั้น

    นรกเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพอันอบอุ่นของสวรรค์ นรกหมายถึงการถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปร่วมในงานเลี้ยง หรือการถูกโยนออกไปให้อยู่ในที่มืดและหนาวเย็น ที่จะมีแต่การร้องไห้คร่ำครวญและขบฟันด้วยความขุ่นเคือง ภาพลักษณ์ที่น่ากลัวที่สุดคือภาพของไฟที่ผู้เทศน์สอน ศิลปิน และนักประพันธ์นำไปขยายความ นรกคือกองขยะของชีวิตและความสามารถที่ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ “ที่นั่นหนอนไม่รู้ตาย ไฟไม่รู้ดับ” (มก 9:47)

    ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของบ้านอันอบอุ่นที่เสนอในพระวรสารสหทรรศน์ ยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ใช้ภาษาปรัชญาอธิบายความหมายของชีวิต กล่าวคือ ผู้มีความเชื่อจะเข้าสู่ความบริบูรณ์ของชีวิต ชีวิตนิรันดรหมายถึงการรู้จักพระบิดา และพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา

    การรู้จักพระเยซูคริสตเจ้า คือ การตระหนักว่าทุกสิ่งได้ถูกเนรมิตสร้างขึ้นใหม่อาศัยการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อเราตาย แต่เปลี่ยนไปด้วยอานุภาพของการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงทำให้ความตายหมดพิษสง จุดจบของการเดินทางหมายถึงการกลับถึงบ้าน การบรรลุถึงความสมบูรณ์ของกระแสเรียกของเรา “ด้วยการสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงทำลายความตายของเรา ด้วยการกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงคืนชีวิตให้แก่เรา ข้าแต่พระเยซูเจ้า เชิญเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์เทอญ”

ข้อรำพึงที่สอง
บุตรของการกลับคืนชีพ

    เช้าวันนี้ ซึ่งอยู่ในเดือนพฤศจิกายน เป็นเช้าที่สงบเงียบ ไม่มีแม้แต่เสียงลมพัด แม้ว่าไม่มีลม แต่ใบไม้สีเหลืองก็ยังหลุดออกจากกิ่งก้าน และลอยอย่างอ้อยอิ่งลงสู่พื้นดิน ก่อนหน้านี้เพียงครึ่งปี ใบไม้เหล่านี้เป็นสีเขียวสด และทำให้หัวใจของเราเบิกบานด้วยความยินดีกับฤดูใบไม้ผลิ ตลอดสัปดาห์นี้เราจะออกไปข้างนอกพร้อมกับคราดและรถเข็น เพื่อเก็บกวาดใบไม้เหล่านี้ และนำมาโปรยในสวน ให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เตรียมพร้อมสำหรับปลูกผักในปีต่อไป

    ขณะที่ร่างกายกำลังง่วนอยู่กับงานบ้านเหล่านี้ ความคิดของเราก็เข้าใจได้ว่า ผู้ที่ไม่เคยได้รับความสว่างจากการเผยแสดงย่อมจะแปลความหมายของคำสั่งสอนเรื่องความเป็นอมตะของเรา ให้กลายเป็นทฤษฏีของการเกิดใหม่

    แต่พระวาจาที่เผยแสดงสอนเราว่า เราจะไม่กลับมาเกิดใหม่บนโลกนี้ แต่เราจะถูกเรียกให้มุ่งหน้าไปสู่ชีวิตในรูปแบบที่สูงกว่า “เป็นเหมือนทูตสวรรค์ ... บุตรของการกลับคืนชีพ ... เป็นบุตรของพระเจ้า”

    นักบุญยอห์นขยายความหมายของกระแสเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้า แม้ว่าเขาไม่พยายามบรรยายสภาพของเราในอนาคต นอกจากบอกว่าเราจะเป็นเหมือนภาพสะท้อนของพระเจ้า ผู้ที่เราจะมองเห็นได้ในเวลานั้น

    “ท่านที่รักทั้งหลาย บัดนี้ เราเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว แต่เราจะเป็นอย่างไรในอนาคตนั้นยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง เราตระหนักดีว่าเมื่อพระองค์ปรากฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะได้เห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:2)

    นักบุญเปาโลต้องตอบคำถามว่า “คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด”

    เขาแสดงความคิดว่าเมล็ดพืชที่หว่านลงในดินต่างจากต้นไม้ที่งอกขึ้นมาอย่างไร ชีวิตบนโลกนี้ก็ต่างจากสภาพหลังการกลับคืนชีพอย่างนั้น เขาอธิบายว่าสภาพหลังกลับคืนชีพมีรูปแบบที่สูงกว่าในสี่ด้าน “สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก สิ่งที่หว่านลงไปนั้นไม่มีเกียรติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีความรุ่งเรือง สิ่งที่หว่านลงไปนั้นอ่อนแอ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีอานุภาพ สิ่งที่หว่านลงไปเป็นร่างกายตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพเป็นร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (1 คร 15:42-44) คุณสมบัติสุดท้ายที่เหนือกว่าก็คือการมีส่วนร่วมในชีวิตพระเจ้า เมื่อเราได้รับพระจิตเจ้ามาเป็นชีวิตของเรา ดังนั้น ชีวิตหน้าจึงสูงส่งกว่าชีวิตตามธรรมชาติของเราบนโลกนี้

    ความตาย ซึ่งเป็นจุดจบของการเดินทางอย่างหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นจุดจบของการเดินทางของพระเยซูเจ้าบนโลกนี้ แต่จะเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์เสด็จกลับไปหาพระบิดา
    ความตายเป็นเพียงประตูเดียวที่นำไปสู่ชีวิตในรูปแบบที่สูงกว่า

    ความตายเป็นก้าวอันยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่ความบริบูรณ์ของชีวิตในพระจิตเจ้า เป็นชีวิตที่ไม่เน่าเปื่อย มีแต่ความรุ่งเรือง และอานุภาพ

    ชีวิตเปลี่ยนไป มิใช่สิ้นสุด ชีวิตเปลี่ยนไปกลายเป็นชีวิตใหม่ และในชีวิตใหม่นี้ เราจะ “เป็นเหมือนทูตสวรรค์ ... เป็นบุตรของการกลับคืนชีพ ... เป็นบุตรของพระเจ้า”

บทรำพึงที่ 2

ชาวสะดูสีบางคนมาพบพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้สอนว่าไม่มีการกลับคืนชีพ เขาทูลถามพระองค์ว่า...

    ความตายเป็นปัญหาที่หนักที่สุด หลีกเลี่ยงไม่ได้มากที่สุด และเป็นคำถามที่มนุษย์ทุกคนต้องถามตนเอง การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อุบัติเหตุบนท้องถนนหรือจากการทำงาน ทำให้เราตั้งคำถามเสมอว่ามีอะไรรออยู่ “หลังความตาย” หรือเปล่า ... ทุกอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ยืนยันว่ามี “ชีวิตหลังความตาย” สำหรับมนุษย์ มีการประกอบ “พิธีกรรมสำหรับผู้ตาย” และคิดว่า “บรรพบุรุษ” ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตลูกหลานของตน...

    วันนี้ เราพบบางคนที่สงสัยในประเด็นนี้ เป็นความสงสัยที่เราพบตั้งแต่ในยุคของพระวรสาร แม้แต่กลุ่มคนที่เคร่งครัดในศาสนาอย่างชาวสะดูสีก็ยังไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ ความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมของเขาทำให้เขาเชื่อมั่นว่าพระคัมภีร์ภาคปัญจบรรพเท่านั้นที่เป็นการเผยแสดงจากพระเจ้า...

    พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับบอกเล่าเหตุการณ์นี้ในบริบทเดียวกัน คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงสุดท้ายในชีวิตของพระเยซูเจ้าบนโลกนี้ ... เราสะเทือนใจเมื่อตระหนักว่าพระเยซูเจ้าทรงมองเห็นภาพ “หลังความตาย” ของพระองค์แล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การโต้อภิปรายทางทฤษฏี แต่เป็นคำตอบของพระองค์ต่อคำถามว่า “พระเยซู ท่านเชื่อว่าจะเกิดอะไรกับตัวท่านเอง เมื่อท่านกำลังจะตายในไม่ช้า”...

“พระอาจารย์ โมเสสเขียนสั่งไว้ว่า ถ้าพี่ชายตาย มีภรรยาแต่ไม่มีบุตร ก็ให้น้องชายของเขารับหญิงนั้นมาเป็นภรรยา เพื่อจะได้สืบสกุลของพี่ชาย…

    นี่เป็นความจริง ความต้องการเอาตัวรอดอย่างแรงกล้าที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นเหตุให้อารยธรรมของชาวฮิทไทต์ อัสซีเรีย และชาวยิว กำหนดธรรมเนียมที่ให้น้องชายแต่งงานกับภรรยาม่ายของพี่ชาย ถ้าพี่ชายตายโดยไม่มีบุตร ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่าชีวิตมนุษย์จะได้รับการสืบทอดอย่างแท้จริงในตัวบุตรของเขาเท่านั้น ดังนั้น พี่ชายที่ตายไปจึงต้องมีบุตรหลานให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ... และบุตรที่เกิดจากการแต่งงานดังกล่าวจะเป็นบุตรของพี่ชายที่ตายไปแล้วนั้นตามกฎหมาย...

มีพี่น้องเจ็ดคน คนแรกมีภรรยาแล้วก็ตายโดยไม่มีบุตร คนที่สอง คนที่สามรับนางเป็นภรรยา และตายโดยไม่มีบุตร เป็นเช่นนี้ทั้งเจ็ดคน ในที่สุดหญิงคนนั้นก็ตายด้วย ดังนี้ เมื่อมนุษย์จะกลับคืนชีพ หญิงคนนั้นจะเป็นภรรยาของใคร เพราะทั้งเจ็ดคนต่างได้นางเป็นภรรยา”

    เพื่อเย้ยหยันความเชื่อในการกลับคืนชีพ ชาวสะดูสีถามพระเยซูเจ้าด้วยคำถามที่แยบยลที่พวกรับบีชอบนำมาอภิปรายกันในกลุ่มของตน ... กรณีของการกระทำตามมโนธรรมเช่นนี้อาจดูเหมือนโง่เขลาในสายตาของเรา แต่แสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์เราอยากรู้อยากเห็นมากเพียงไรเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เราเองก็เคยไร้เดียงสาจนถึงกับคิดหลายครั้งหลายหนไม่ใช่หรือว่าชีวิตหลังความตายเป็นเพียงการยืดเวลา ให้เรามีชีวิตในรูปแบบเดียวกับชีวิตบนโลกนี้ให้เนิ่นนานออกไป

    พระเยซูเจ้าจะทรงตอบอย่างไร...

พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “คนของโลกนี้แต่งงานเป็นสามีภรรยากัน แต่คนที่จะบรรลุถึงโลกหน้า และจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายนั้นจะไม่แต่งงานเป็นสามีภรรยากันอีก เพราะเขาจะไม่ตายอีกต่อไป...

    ก่อนอื่น พระเยซูเจ้าทรงรับรองว่ามีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงระหว่าง “โลกนี้” และ “โลกหน้า” ซึ่งเป็นการดำรงอยู่ที่พระองค์ไม่มีข้อสงสัยเลย และพระองค์ทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ที่เข้าสู่โลกนั้นได้ต้องผ่านการตัดสินว่าคู่ควรกับโลกนั้นแล้วเท่านั้น ดังนั้น เราจึงได้รับรู้สัจธรรมข้อแรกที่ชัดเจนที่สุดว่า มนุษย์ไม่สามารถเข้าสู่ชีวิตนิรันดรได้โดยบังเอิญ แต่ต้องผ่านการตัดสินว่าคู่ควรกับชีวิตนิรันดรนั้น ... โลกหน้าไม่ใช่ดินแดนรกร้าง หรืออาคารสาธารณะที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าไปได้ แต่มี “การสอบเข้า” บางอย่าง เหมือนกับการสอบเพื่อชิงตำแหน่งงานดี ๆ หรืองานที่มีความรับผิดชอบสูง ... และเห็นได้ชัดด้วยว่าการสอบเข้าโลกหน้า ก็คือ วิถีทางดำเนินชีวิตของเราในโลกนี้...

    เราได้ยินคำเตือนในประเด็นสำคัญนี้แล้ว...

เขาจะเป็นเหมือนทูตสวรรค์...

    เราต้องเข้าใจคำยืนยันประการที่สองของพระเยซูเจ้าให้ถูกต้อง ... พระองค์ทรงบอกเราว่าเราต้องเลิกพยายามวาดจินตนาการเกี่ยวกับชีวิตหน้า ... การเปรียบเทียบผู้ได้รับเลือกสรรว่าเหมือนกับ “ทูตสวรรค์” หมายความว่า “ชีวิตหลังความตาย” เป็นสิ่งที่เกินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือสติปัญญา เราไม่อาจวาดภาพชีวิตหน้าตามรูปแบบของชีวิตของเราบนโลกนี้ เราไม่สามารถวาดจินตนาการสภาพของโลกหน้า เหมือนกับที่เราไม่สามารถวาดจินตนาการว่าทูตสวรรค์มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ... การสงสัยว่าคนตายไปแล้วยังมีกิจกรรมทางเพศอีกต่อไปหรือไม่ ย่อมเป็นความคิดที่โง่เขลาไม่ต่างจากการสงสัยว่าทูตสวรรค์เป็นบุคคลเพศใด!

    ผู้ได้รับเลือกสรรจะไม่เป็นชาย หรือเป็นหญิง ชีวิตของเขาเป็นชีวิตที่ต่างจากของเราอย่างสิ้นเชิง ... พระเยซูเจ้าทรงตอบชาวสะดูสี ผู้เชื่อแต่เรื่องของสสาร (materialist) ว่าไม่มีความจำเป็นที่มนุษย์ต้องแพร่พันธุ์ เพราะผู้ได้รับเลือกสรรจะไม่ตายอีกต่อไป...

    บางคนอาจสงสัยว่าทำไมพระเจ้าไม่อธิบายให้ชัดเจนกว่านี้ว่าชีวิตในโลกหน้าเป็นอย่างไร ทั้งที่เป็นชีวิตที่สำคัญที่สุด ... พระองค์ไม่ทรงอธิบายแก่เรา เพราะเราไม่เคยลิ้มรสประสบการณ์ของโลกหน้าเลย ท่านจะอธิบายอย่างไรให้ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาว่าชีวิตข้างหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร แม้ว่าเขาเข้าใจภาษาที่ท่านพูด คำพูดของท่านก็ไร้ความหมายสำหรับเขา ตราบใดที่เขาไม่เคยสัมผัสกับโลกของเราเลย เขาจะสามารถค้นพบโลกหลังจากเขา “เข้ามาสู่โลก” แล้วเท่านั้น ... ผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากหนอนผีเสื้อที่มันเคยเป็น ลำต้นสีเขียวของข้าวสาลีแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเมล็ดข้าวสาลี หญิงชราวัย 90 ปีแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเด็กหญิงตัวเล็กเมื่อเธอเริ่มต้นชีวิต ... แต่ในทุกกรณีเหล่านี้ มีทั้งความต่อเนื่องและความแตกต่างโดยสิ้นเชิงในเวลาเดียวกัน ... หนอนผีเสื้อต้องคลานบนดินและไม่อาจอยู่ห่างจากพื้นดิน แล้ววันหนึ่งมันก็นอนหลับในรังที่เป็นเหมือนโลงศพของมัน จากนั้น วันหนึ่งมันก็กระโดดออกมาจากรังนั้นในรูปร่างของผีเสื้อที่มีปีกและบินร่อนไปมาบนท้องฟ้าได้ ถ้าหนอนผีเสื้อรู้ว่าร่างของมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันคงอยากจะ “กลายเป็นสิ่งที่วันหนึ่งมันจะต้องเป็น” อย่างสุดหัวใจ ... นี่คือภาพลักษณ์ของการกลับคืนชีพที่รอเราอยู่ในอนาคต

เขาจะเป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาจะกลับคืนชีพ...

    นี่คือการเผยแสดงข้อที่สามของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับญาติมิตรผู้ล่วงลับของเรา กล่าวคือ คนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดา ดูเหมือนพระเยซูเจ้ากำลังบอกเราว่า “ชีวิตหน้างดงามยิ่งกว่าที่ท่านสามารถจินตนาการได้ ท่านจะมีชีวิตเหมือนกับเป็นบุตรของพระเจ้าจริง ๆ ... และขอให้เชื่อเถิด เรารู้ว่าการเป็นบุตรของพระเจ้าน่าชื่นชมยินดีอย่างไร” ... นี่คือหัวข้อที่นักบุญเปาโลชอบกล่าวถึง “พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรม เดชะพระเยซูคริสตเจ้า ตามพระประสงค์ที่พอพระทัย” (อฟ 1:5)...

    เราพัฒนาความคิดมาไกลมากจากคำถามโง่ ๆ ของชาวสะดูสี เรามาถึงแก่นของความเชื่อแท้แล้ว “ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา เพราะสรรพสิ่งต่าง ๆ กำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงบันดาลให้บรรดาบุตรของพระองค์ปรากฏในพระสิริรุ่งโรจน์ ... สรรพสิ่งยังมีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของความเสื่อมสลาย เพื่อไปรับอิสรภาพอันรุ่งเรืองของบรรดาบุตรของพระเจ้า” (รม 8:18-21)

    เราไม่อาจวาดจินตนาการเกี่ยวกับโลกหน้าได้ เพราะแตกต่างจากชีวิตของเราบนโลกนี้ ชีวิตหน้าคือการเข้าร่วมในชีวิตของพระเจ้า ซึ่งต่างจากชีวิตของเราโดยสิ้นเชิง ... เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “ของพระเจ้า” เราไม่มีทางคิดถึงความเป็นจริงเหล่านั้นด้วยเหตุผลได้ เพราะเป็นสิ่งที่เหนือสติปัญญาของเรา ... เรามีทางเลือกเดียว คือ ต้องเชื่อ หรือไม่เชื่อ ... แต่เมื่อเรายอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นปัญหา

โมเสสยืนยันแล้วว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพในข้อความเรื่องพุ่มไม้ เมื่อพูดถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าทรงเป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น เพราะทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์”

    พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพ แต่ไม่ใช่กลับคืนสู่ชีวิตที่เหมือนกับชีวิตบนโลกนี้อย่างที่บางคนเชื่อ ความมั่นใจของพระเยซูเจ้าเกิดจากความจริงสำคัญสองข้อในความเชื่อของเรา

    1)    ความรักของพระเจ้า ผู้ทรงรักเราจนกระทั่งภายหลังความตาย อับราฮัม อิสอัค และยาโคบไม่ใช่คนตายในสายพระเนตรของพระเจ้า แต่ทุกคนยังมีชีวิต พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับมนุษย์เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณหยั่งรู้อันลึกซึ้งที่สุดของพระคัมภีร์ “พระองค์ไม่ทรงละทิ้งวิญญาณข้าพเจ้าไว้ในดินแดนผู้ตาย หรือให้ผู้ที่พระองค์รักต้องเห็นทางเข้าของดินแดนนั้น” (สดด 16:10) ... ถ้าบุคคลที่พระเจ้าทรงสร้าง และทรงรัก เช่น อับราฮัม อิสอัค หรือนักบุญโยอัน หรือนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ จะต้องถูกทำลายไปในที่สุด ความรักของพระเจ้าก็คงจบลงด้วยความล้มเหลว การพูดถึง “พระเจ้าของผู้ตาย” ก็จะเหมือนกับการพูดถึง “โล่ของผู้ตาย” เพราะถ้ามนุษย์คนหนึ่งตายไปแล้ว โล่ของเขาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะมันปกป้องเขาไม่ได้...

    2)    แต่ในคำบอกเล่าของลูกา พระเยซูเจ้าทรงเสริมด้วยเหตุผลข้อที่สองที่ทำให้เรามีชีวิตหลังความตาย นั่นคือความรักของเราต่อพระเจ้า “ทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์” ราวกับจะพูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า เรารักพระองค์มากเกินกว่าจะไม่รักพระองค์ต่อไป หลังจากชีวิตนี้จบลงแล้ว” ... นี่คือประสบการณ์ของมรณสักขี เขายอมเสี่ยง “ที่จะพลีชีวิตเพราะความรักต่อพระเจ้า” จนถึงกับยอมตาย เพื่อจะมีชีวิตนิรันดรในความรักของพระองค์...

    นี่คือธรรมล้ำลึกปัสกา เราต้อง “ผ่าน” ความตายเพื่อจะได้ “รัก” จนถึงที่สุด...

    ดังนั้น ความเชื่อในโลกหน้าของคริสตชนจึงไม่ได้เป็นเพียงตำนาน หรือความเพ้อฝันของเด็ก ๆ ความเชื่อในการกลับคืนชีพไม่ได้เป็นเพียงข้อความเชื่อปลีกย่อยที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นความเชื่อในองค์พระเจ้าเอง...