แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
2 ซามูเอล 7:1-5, 8-11, 16; โรม 16:25-27; ลูกา 1:26-38

บทรำพึงที่ 1
รถของแอนน์
พระเยซูเจ้าทรงนำพระเจ้ามาหาเรา เราต้องนำพระเจ้าไปหาผู้อื่น

    เมื่อเดือนมีนาคม 1987 นักข่าวชื่อ มอร่า รอสซี่ ได้เขียนเรื่องของ แอนน์ โดนาฮิว แอนน์เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ เธอเป็นอาสาสมัครทำงานให้ Covenant House (บ้านพันธสัญญา) ในนครนิวยอร์ก บ้านหลังนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ที่พักพิงแก่เด็กที่หนีออกจากบ้าน และต้องหันไปหาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี

    ทุกคืนเวลา 4 ทุ่ม แอนน์ และอาสาสมัครอีกคนหนึ่ง จะนำเครื่องดื่มช็อกโกแลตร้อน ๆ หลายแกลลอน และแซนด์วิชหลายถุงใส่ไว้ในรถตู้ของ Covenant House ซึ่งมีภาพวาดของนกพิราบอยู่ที่ประตู และขับรถตระเวนไปตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่ค้าประเวณีเด็กในเมืองเป็นเวลาสองชั่วโมง

    อาสาสมัครทั้งสองจะแจกแซนด์วิช และช็อกโกแลตร้อน ให้แก่เด็กเร่ร่อนที่ค้าประเวณีอยู่ตามถนน

    คุณคงถามตนเองว่า Covenant House หวังว่าจะได้อะไรจากการตระเวนแจกอาหารในยามค่ำคืนเช่นนี้ แอนน์ ตอบคำถามข้อนี้ว่า “เราออกไปตามถนน เพราะเรารู้ว่าเด็กจำนวนมากไม่เคยทดลองมาอยู่ที่ Covenant House มาก่อน เด็กสองในสามคนไม่เคยได้ยินชื่อของเราด้วยซ้ำไป”

    แอนน์บอกต่อไปว่า อีกอย่างหนึ่งที่เขาทำได้สำเร็จ คือ เขาสามารถแสดงให้เด็กเหล่านี้เห็นว่ายังมีใครบางคนที่ห่วงใยเขา ยังมีใครบางคนในเมืองนั้นที่ไม่ได้คิดแต่จะขาย หรือซื้อเขา

    แอนน์เล่าประสบการณ์ปีแรกของการเป็นอาสาสมัครว่า “ดิฉันหดหู่ใจมาก พระเจ้าประเภทใดนะที่ยอมปล่อยให้เด็ก ๆ ต้องเจ็บปวดทรมานมากเช่นนี้ ... แต่ในที่สุด ดิฉันก็เข้าใจ ... พระเจ้าจะไม่เสด็จลงมา และแสดงความรักของพระองค์ให้เราเห็น แต่เราต้องปล่อยให้ความรักของพระเจ้าทำงานผ่านตัวเรา”

    ผมชอบเรื่องของแอนน์ และที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือความคิดเห็นสองข้อสุดท้ายของแอนน์

    ข้อแรก เธอตอบว่า “พระเจ้าจะไม่เสด็จลงมา และแสดงความรักของพระองค์ให้เราเห็น” เธอพูดถูกจริง ๆ พระเจ้าทรงแสดงความรักของพระองค์แล้วในตัวพระเยซูเจ้า นี่คือความหมายของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ นี่คือการเตรียมตัวเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่นี้

    ข้อที่สอง เธอบอกว่า “เราต้องปล่อยให้ความรักของพระเจ้าทำงานผ่านตัวเรา” เธอก็พูดถูกอีก เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ไปหาพระบิดาของพระองค์ หลังจากทรงใช้ชีวิตในสภาพมนุษย์บนโลกนี้แล้ว พระองค์ทรงมอบหมายให้เราสานต่องานของพระองค์

    พระบิดาทรงทำงานผ่านพระเยซูเจ้าระหว่างที่พระองค์ดำรงชีพบนโลกนี้อย่างไร พระเยซูเจ้าก็ทรงสอนเราให้ยินยอมให้พระบิดาทำงานผ่านตัวเราระหว่างที่เราดำรงชีพบนโลกนี้อย่างนั้น เราต้องเป็นช่องทางให้พระหรรษทานของพระเจ้าไหลผ่านไปสู่ผู้อื่น เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยเป็น

    นั่นคือสิ่งที่แอนน์กำลังทำอยู่ ขณะที่เธอขับรถที่มีภาพนกพิราบบนประตู และตระเวนไปตามพื้นที่โกโรโกโสในนครนิวยอร์ก เธอกำลังทำตัวเป็นช่องทางนำพระหรรษทานของพระเจ้าไปมอบให้แก่เยาวชนจำนวนมากที่กำลังขัดสน

    แอนน์กำลังทำเหมือนกับพระนางมารีย์ในพระวรสารวันนี้ เธอกำลังตอบรับคำเชิญของพระเจ้าให้เธอเป็นเครื่องมือนำความรักของพระองค์ไปมอบให้แก่ชาวโลกในยุคปัจจุบัน

    สิ่งที่แอนน์กำลังทำ และสิ่งที่พระนางมารีย์เคยทำ เป็นสิ่งที่เราต้องทำเช่นกัน บางครั้งเราลืมไปว่า ถ้าเราต้องการให้พระเยซูเจ้าบังเกิดอีกครั้งหนึ่งในโลกของเรา พระองค์ต้องบังเกิดผ่านตัวเรา

    บางครั้งเราลืมไปว่า บางครั้งในชีวิตของเราบนโลกนี้ พระเจ้าทรงเชิญเราให้ตอบเหมือนกับพระนางมารีย์ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด”

    ตามธรรมเนียม คริสต์มาสเป็นวันฉลองของเด็ก ๆ เป็นเวลาที่เราแนะนำให้เด็ก ๆ รู้จักธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงนำพระเจ้ามาหาเรา

    แต่เราไม่อาจหยุดอยู่เพียงจุดนี้เท่านั้น ถ้าเราทำเช่นนั้น เราก็บอกเล่าเรื่องคริสต์มาสให้เด็ก ๆ รู้เพียงครึ่งเดียว  เราต้องก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง เราต้องสอนเขาว่าทำไมพระเยซูเจ้าทรงนำพระเจ้ามาหาเรา ซึ่งจะสอนเราว่า เราเองก็ต้องนำพระเจ้าไปมอบให้ผู้อื่นเหมือนกัน

    หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับรอส เปโรต์ มหาเศรษฐีชาวเท็กซัส รอสไม่ได้เป็นนักธุรกิจเงินล้านมาตั้งแต่เกิด ระหว่างช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ บิดามารดาของเขาอยู่ที่เมืองเท็กซาร์คานา ในรัฐเท็กซัส และต้องเอาชีวิตรอดแบบปากกัดตีนถีบเหมือนกับครอบครัวอื่น ๆ ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนั้น

    รอสเล่าว่าระหว่างช่วงเวลาหลายปีที่ลำบากแสนเข็ญนั้น มีคนจรจัดจำนวนมากโดยสารรถไฟมาที่เมืองเท็กซาร์คานา และหลายคนมาขออาหารกินที่บ้านของเขา มารดาของรอสไม่เคยไล่คนเหล่านี้ไป แม้ว่าเธอสงสัยเหมือนกันว่าทำไมจึงมีคนจรจัดมากมายมาขออาหารที่บ้านของเธอ

    แล้ววันหนึ่งเธอก็รู้สาเหตุ คนจรจัดคนหนึ่งบอกเธอว่าที่ขอบถนนหน้าบ้านของเธอมีเครื่องหมายที่เป็นรหัสที่รู้จักกันในหมู่คนจรจัดเท่านั้น เครื่องหมายนี้บอกว่าคนในบ้านหลังนั้นพร้อมจะให้อาหารพวกเขาเสมอ

    รอส ถามมารดาของเขาว่า “จะให้ผมลบเครื่องหมายนั้นออกไหม” มารดาของเขาตอบว่า “ไม่ต้อง ปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ”

    รอส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบของมารดาของเขากับนักข่าวชื่อเดวิด เรมนิก ว่า “เราทุกคนเป็นอย่างที่เราถูกสั่งสอนมาให้เป็น คุณนั่งอยู่ในบ้านหลังเล็กในเมืองเท็กซาร์คานา และคุณเห็นพ่อแม่ของคุณทำสิ่งต่าง ๆ อย่างนั้นเมื่อคุณเป็นเด็ก นั่นเป็นบทเรียนที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก”

    รอสพูดถูก นี่คือบทเรียนที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก เหตุผลที่ทำให้เป็นบทเรียนที่เยี่ยมยอดที่สุดเป็นเพราะนี่คือบทเรียนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราด้วยการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในโลกของเรา

    บทเรียนนี้สอนเราว่าเราต้องนำพระเจ้าในหาผู้อื่นเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงนำพระเจ้ามาหาเรา

    บทเรียนนี้สอนเราว่าเราต้องนำพระเจ้าไปหาผู้อื่น เหมือนกับที่พระนางมารีย์ ทรงนำพระเจ้ามาหาเรา ด้วยคำพูดที่พระนางตรัสกับทูตสวรรค์ในพระวรสารวันนี้

    นี่คือบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้ และเรียนซ้ำทุกครั้งที่ถึงเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และใช้สั่งสอนลูกหลานของเราต่อไป

    นี่คือบทเรียนที่สอนเราว่าคนอื่น ๆ จะมอบคริสต์มาสปีนี้ให้แก่เรา เพื่อให้เรารู้จักมอบคริสต์มาสให้แก่ผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง

    นี่คือสิ่งที่แอนน์ โดนาฮิว ทำอยู่ทุกคืนในนครนิวยอร์ก

    นี่คือสิ่งที่มารดาของเปโรต์ เคยทำในเมืองเท็กซาร์คานา

    นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำในโลกของพระองค์

    นี่คือสิ่งที่เราต้องทำในโลกของเรา

    ถ้าเราไม่ยอมเรียนบทเรียนนี้ และถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานของเรา นั่นแสดงว่าเราไม่เข้าใจความหมายของวันฉลองที่เรากำลังเตรียมการฉลองกันอยู่นี้


บทรำพึงที่ 2
ลูกา 1:26-38

    วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะเตรียมฉลองเทศกาลพระคริสตสมภพ คือ รำพึงตามคำบอกเล่าเรื่องทูตสวรรค์แจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้า เราเห็นได้ว่าลูกาได้พบกับกลุ่มชาวยิวในปาเลสไตน์ที่ยังบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวของพระเยซูเจ้า เป็นไปได้ที่เขาอาจได้พบพระนางมารีย์เอง – พระนางมารีย์ ผู้ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” (ลูกา 2:19) ลูกาต้องการเขียนพระวรสารในฐานะนักประวัติศาสตร์ ดังนั้น เขาจึงไปพบกับ “ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็น และประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรก” (ลก 1:2-3)

    แต่ลูกายังเป็นศิลปินผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนด้วย เขาเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ที่ละเอียดถี่ถ้วนที่สุดในบรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารสี่คน เนื่องจากเขาเข้าใกล้เหตุการณ์อันเร้นลับมากเช่นนี้ เขาคงรู้สึกว่ายากที่จะสรรหาถ้อยคำที่ถูกต้องมาบรรยายประสบการณ์กับธรรมล้ำลึกของเด็กสาวคนหนึ่ง โดยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ของ “การปฏิสนธิของเนื้อหนัง” ของพระวจนาตถ์ของพระเจ้า “ผู้ทรงบังเกิดจากพระบิดา” ก่อนกาลเวลา!

    โชคดีที่ลูกาสามารถอาศัยธรรมประเพณีโบราณทั้งด้านวรรณกรรมและเทววิทยาของพระคัมภีร์ ดังนั้น เขาจึงเรียบเรียงข้อมูลที่ได้รับ ให้เป็นรูปแบบภาษาที่พระจิตเจ้าทรงเตรียมไว้ท่ามกลางชนชาติอิสราเอล เรื่องราวการแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าจึงถูกถักทอขึ้นด้วย “เส้นด้าย” จากพระคัมภีร์

    ถ้าเรามองเห็น และจำเส้นด้ายเหล่านี้ได้ เราจะตระหนักมากขึ้นว่าการเผยแสดงของพระเจ้าเต็มไปด้วยวลี ภาพลักษณ์ และสัญลักษณ์อันน่าพิศวง ซึ่งผู้เขียนพยายามใช้คำพูดของมนุษย์เพื่อบรรยายธรรมล้ำลึกอันสุดจะหยั่งถึงได้ของพระเจ้า ...

พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียล มายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อเมืองนาซาเร็ธ มาพบหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง ...

    ลูกาต้องการเปรียบเทียบการแจ้งข่าวกำเนิดของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และการแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้า ...

    กรณีหนึ่ง                    อีกกรณีหนึ่ง
    เยรูซาเล็ม ...                    นาซาเร็ธ ...
    ในพระวิหาร ...                    ในบ้านหลังหนึ่ง ...
    แจ้งต่อสมณะคนหนึ่ง ...            แจ้งต่อเด็กสาวคนหนึ่ง ...
    ผู้ไม่เชื่อสารนั้น                    ผู้แสดงความยินยอม

    นาซาเร็ธเป็นหมู่บ้านที่ไม่สลักสำคัญ นักโบราณคดีบอกเราว่าที่นี่มีประชากรเพียง 150 คน อาศัยอยู่ในบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือน กาลิลีเป็นแคว้นที่ถูกดูแคลน “จะมีอะไรดีมาจากนาซาเร็ธได้หรือ” (ยน 1:46) ความเรียบง่ายของบ้านของมารีย์ แตกต่างจากการแจ้งข่าวอย่างสง่าต่อเศคาริยาห์ ในสภาพแวดล้อมที่อลังการ และศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร ในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองหลวง (ลก 1:5, 25) ...

    เมื่อข้าพเจ้านึกถึงภาพ และเพ่งพินิจพระนางมารีย์ในบ้านหลังเล็กที่ไม่มีใครรู้จัก ข้าพเจ้ากำลังเพ่งพินิจความถ่อมตนของเหตุการณ์ที่พระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ “ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส”  วันหนึ่ง นักบุญเปาโลจะเขียนเช่นนี้ (ฟป 2:7) ...

หญิงพรหมจารีคนหนึ่งที่หมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์

    ในพระวรสารของมัทธิว เขาระบุความจริงทางประวัติศาสตร์สองข้อ คือ เด็กคนนี้จะมีความเกี่ยวข้องเป็นบุตรของกษัตริย์ดาวิด และความเป็นพรหมจารีของมารดาของเด็กคนนี้ (มธ 1:18-25) ชื่อ Yosep’el แปลว่า “ขอให้พระเจ้าทรงเพิ่มพูน (May God Add)” และ Miryam แปลว่า “หญิงผู้สูงศักดิ์ (Noble Lady) ...

    ข้าพเจ้านึกภาพในจินตนาการว่าเพื่อน ๆ และเพื่อนบ้านที่มาตักน้ำจากบ่อน้ำประจำหมู่บ้านเรียกขานชื่อนี้อย่างไร มีเรียม เป็นเด็กสาวธรรมดา ที่ไม่มีอะไรแตกต่างจากเพื่อน ๆ ของเธอ ... ข้าพเจ้ายังนึกภาพด้วยว่าคู่หมั้นทั้งสองเรียกชื่อกันด้วยความรักต่อกันอย่างไร ...

ทูตสวรรค์เข้าในบ้าน กล่าวกับพระนางว่า “จงยินดีเถิด ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน”

    เราคงคาดหมายว่าทูตสวรรค์จะพูดว่า “จงยินดีเถิด มารีย์” แต่เขากลับเรียกเธอว่า “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” แทนที่จะเรียกชื่อของเธอ ... เราเห็นได้จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับกระแสเรียกต่าง ๆ ว่าพระเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อของบางคน พระนางมารีย์กลายเป็น “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” ซึ่งแปลได้ด้วยว่า “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” (เหมือนกับที่เราใช้ในบทภาวนา) ... อันที่จริง ภาษาฮีบรูที่ใช้ในที่นี้ชวนให้คิดถึงคำว่า “ที่รัก (the Beloved)” ที่ใช้ในเพลงซาโลมอน ...

    คำภาษากรีก ที่เราแปลว่า “วันทา (Hail)” นี้คือ kaire ซึ่งแปลตรงตัวว่า “จงยินดีเถิด (rejoice)” ซึ่งมีความหมายแฝงทางพระคัมภีร์ (เศฟันยาห์ 3:14; เศคาริยาห์ 2:14, 9:9; อิสยาห์ 54:1) ... ประกาศกทั้งหลายเชิญ “ธิดาแห่งศิโยน” ให้โห่ร้องยินดี เพราะพระผู้ไถ่ของเธอกำลังเสด็จมา “ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงเปล่งเสียงยินดีเถิด” ... และเรารู้ว่าพระวรสารของนักบุญลูกา กล่าวถึงหัวข้อ “ความยินดี” บ่อยครั้งอย่างไร

    ดังนั้น นี่จึงเป็นคำแรกที่พระเจ้าตรัสแก่ชาวโลก “จงยินดีเถิด” ...

พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน ...

    พระเจ้ามักตรัสเช่นนี้กับบุคคลที่พระองค์ทรงเรียกให้มารับหน้าที่อันหนักอึ้ง (ปฐก 15:1; อพย 4:12; วนฉ 6:12, 17) “อย่ากลัวเลย เราอยู่กับเจ้า”

    พระสงฆ์แสดงความปรารถนานี้บ่อยครั้งขณะประกอบพิธีมิสซา “พระเจ้าสถิตกับท่าน” ... เราเชื่อว่าพระเจ้าสถิตกับเราหรือเปล่า ...

    อิมมานูเอล = พระเจ้าสถิตกับเรา

พระนางมารีย์ทรงวุ่นวายพระทัยมาก ทรงถามพระองค์เองว่า คำทักทายนี้หมายความว่ากระไร

    ถ้าเราคิดว่านี่คือปฏิกิริยาทางจิตวิทยา เราก็กำลังมองเหตุการณ์นี้เพียงเปลือกนอก

    ในคำบอกเล่าเรื่องการแจ้งข่าวจากพระเจ้าในพันธสัญญาเดิม จะกล่าวถึง “ความกลัว” หรือ “ความยำเกรง” ทุกครั้งไป นี่เป็นคำศัพท์พระคัมภีร์อีกคำหนึ่ง หมายความว่า จงตั้งใจฟัง เรากำลังเข้าสู่ธรรมล้ำลึก ถ้อยคำเหล่านี้แฝงความหมายที่เราต้องค้นหา พระเจ้าประทับอยู่ที่นี่ และนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ...

    พระเจ้าทรงทำให้เราประหลาดใจเสมอ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เราไม่คาดหมาย และทรงซ่อนพระองค์ ...

    เมื่อมนุษย์เข้าใกล้พระเจ้า เขาจะรู้สึกเสมอว่าอยากจะถอยหลัง เพราะความยำเกรงในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ...

มารีย์ อย่ากลัวเลย ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน ท่านจะตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่าเยซู”

    ลูกาใช้ถ้อยคำเหมือนกับที่เราพบบ่อยครั้งในพระคัมภีร์ (ปฐก 16:11, 17:19, วนฉ 13:5-7; อสย 7:14) “หญิงสาวคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชาย และจะตั้งชื่อเขาว่าอิมมานูเอล” ...

    เป็นเวลานานมาแล้วที่ชาวยิวเข้าใจว่าคำทำนายของอิสยาห์หมายถึงกำเนิดของพระเมสสิยาห์ จากหญิงพรหมจารี ตามคำยืนยันจากพระคัมภีร์เซปตัวยินตา ฉบับแปลเป็นภาษากรีก ซึ่งใช้คำว่า parthenos (พรหมจารี) ซึ่งชัดเจนมากกว่าภาษาฮีบรู ที่ใช้คำว่า almah (หญิงที่ยังไม่สมรส) ...

เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และพระเจ้าสูงสุดจะทรงเรียกเขาเป็นบุตรของพระองค์ พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของกษัตริย์ดาวิดวงศ์บรรพบุรุษ ให้แก่เขา เขาจะปกครองตระกูลของยาโคบตลอดไป

    ทูตสวรรค์เตือนพระนางมารีย์ให้ระลึกถึง “คำทำนายของนาธัน (2 ซมอ 7:12-17)” ซึ่งพระนางน่าจะจำได้ขึ้นใจ ... นี่เป็นภาษาที่ลึกลับสำหรับเรา แต่สำหรับชาวยิวทุกคน ข้อความนี้หมายความว่าเด็กคนนี้จะเป็นพระเมสสิยาห์ตามคำทำนาย และเป็นผู้ที่ประชาชนรอคอย ...

เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี

    พระคัมภีร์บางฉบับแปลข้อความนี้ว่า “เพราะข้าพเจ้าไม่รู้จักชาย” ซึ่งลดความหมายของพระคัมภีร์ภาษากรีก เราเห็นเจตนาของลูกาได้อย่างชัดเจน ว่าเขาไม่ต้องการให้มีความเคลือบแคลงใจใด ๆ เกี่ยวกับการเป็นหญิงพรหมจารีของพระนางมารีย์ ...

    ตามธรรมเนียมยิวสมัยนั้น การหมั้นจะให้สิทธิทั้งปวงแก่คู่หมั้น รวมถึงสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย ... ลูกาขจัดสมมุติฐานข้อนี้ให้หมดไป เขาบอกว่า พระนางมารีย์จงใจเลือกที่จะเป็นพรหมจารี คำถามนี้ช่วยให้เราเข้าถึงความคิด และจิตใจของพระนางมารีย์ พระนางได้ถวายตนเองแด่พระเจ้าด้วยความรักอันเร้นลับ และสมบูรณ์ ที่มอบให้แด่พระองค์เพียงผู้เดียว เหมือนกับสตรีสาวอื่น ๆ จำนวนมากที่ได้ทำตามตั้งแต่นั้นมา การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราสงสัยในคุณค่าของชีวิตสมรส หากแต่ชี้ให้เห็นอุดมการณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งบางคนยินดีเลือกทำเช่นนี้อย่างที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ (มธ 19:12) ... นอกจากนี้ เอกสารที่ค้นพบที่กุมราน ยังเผยว่าอุดมการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวอิสราเอล ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ที่กุมราน อุดมการณ์ในการถือโสดโดยสมัครใจเพื่อถวายแด่พระเจ้าได้เริ่มต้นแพร่หลายแล้ว ...

พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน

    เราไม่ควรคิดว่าพระนางมารีย์เข้าใจธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระบุคคลของพระบุตรของพระนาง ผ่านทางคำนิยามในคำสั่งสอนที่เป็นนามธรรม ... เปล่าเลย พระนางเข้าใจสิ่งที่พระนางจำเป็นต้องเข้าใจผ่านทางภาพลักษณ์ และสัญลักษณ์ในพระคัมภีร์ต่างหาก ในกรณีนี้ พระนางมารีย์พบกับความหมายของ Shekinah คือ “เมฆ” หรือ “เงา” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงการประทับอยู่ของพระเจ้า

    พระจิตทรงร่อนอยู่เหนือน้ำเมื่อครั้งปฐมกาล เพื่อประทานชีวิต (ปฐก 1:2) และบัดนี้ การเนรมิตสร้างครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้นในตัวพระนางมารีย์

    “เมฆ” ปกคลุมกระโจมที่ประทับของพระเจ้าพร้อมกับ “เงาของเมฆ” (อพย 40:35) – และบัดนี้ พระนางมารีย์ได้กลายเป็นที่ประทับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแล้ว ...

    พระเจ้าตรัสแก่โมเสส “ภายใต้เงาเมฆ” (อพย 16:10) ... เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนถวายพระวิหารในปีที่ 968 ก่อนคริสตกาล “เมฆปกคลุมทั่วพระนิเวศขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 พกษ 8:10) ... ถ้อยคำของทูตสวรรค์ทำให้หญิงสาวชาวยิวคนหนึ่งระลึกถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ...

บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า

    “พระจิตเจ้า” ... “พระอานุภาพ” ... “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ... “พระผู้สูงสุด” ... “บุตรของพระเจ้า” ... ลูกาต้องการบอกเราว่าธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้าจะเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตของพระเจ้าตั้งแต่วินาทีแรกของชีวิตของพระองค์ นี่คือภาษาพระคัมภีร์อีกเช่นกัน ผู้ใดที่อ่านโดยไม่มีความเชื่อ จะเข้าใจคำบอกเล่านี้เพียงในระดับตื้น ๆ

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้หยุด และนมัสการพระองค์ เบื้องหน้าธรรมล้ำลึกที่ลูกากำลังบอกเล่าอยู่นี้ ... ไข่ที่กลายเป็นทารกในครรภ์ของสตรีคนหนึ่งเป็นธรรมล้ำลึกที่ไม่น่าเชื่อ และฉีกกฎธรรมชาติทั้งปวง นักบุญยอห์นจะอธิบายธรรมล้ำลึกข้อนี้ว่า “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” (ยน 1:14) เป็นไปได้หรือที่พระนางมารีย์ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระนางในวันนั้น เมื่อพระนางรู้เรื่องราวในพระคัมภีร์เป็นอย่างดี แต่เห็นได้ว่า พระนางไม่ได้เข้าใจโดยอาศัยคำนิยามของข้อความเชื่อ ...

ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า

    พระเจ้าไม่ได้ทรงยัดเยียดบทบาทมารดาให้พระนางมารีย์โดยไม่บอกกล่าว และถามพระนางก่อน ... พระเจ้าไม่ทรงนำเรามาอยู่ต่อหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว พระองค์ทรงเคารพเสรีภาพ และความรับผิดชอบในทุกระดับ ... อาศัยภาษาพระคัมภีร์เช่นนี้ พระนางมารีย์ทรงเข้าใจสาระสำคัญว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากพระนาง และทรงใช้ความเข้าใจนี้ในการตัดสินใจ แต่เราก็เดาได้ว่าพระนางทรงตัดสินใจด้วยความเชื่อ

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้มีความเชื่อเช่นนี้ด้วยเถิด ...