แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
กิจการอัครสาวก 1:1-11; เอเฟซัส 1:17-23; มาระโก 16:15-20

บทรำพึงที่ 1
การประทับอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป
การเสด็จขึ้นสวรรค์เป็นจุดเริ่มต้นของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า และการทำงานของพระองค์ในโลกนี้ในรูปแบบใหม่

    ที่อาคารทรีบูนในชิคาโก มีก้อนหินรูปร่างแปลก ๆ จำนวนหนึ่งที่ยื่นออกมาจากกำแพงด้านนอกของตัวอาคาร หินแต่ละก้อนมีป้ายติดอยู่ ซึ่งระบุว่าหินก้อนนี้ได้มาจากที่ใด เช่น หินก้อนหนึ่งได้มาจากมหาปีรามิดของประเทศอียิปต์ หินก้อนหนึ่งได้มาจากทัชมาฮาลของประเทศอินเดีย หินก้อนหนึ่งได้มาจากประตูชัยของประเทศฝรั่งเศส และหินก้อนล่าสุด ได้มาจากกำแพงเบอร์ลิน

    เมื่อสถาปนิกออกแบบอาคารหลังนี้ เขาต้องการให้ทั่วทั้งโลกมาอยู่รวมกันอยู่ที่นี่ ถ้าสถาปนิกออกแบบอาคาร ทรีบูนในวันนี้ เขาอาจนำโลกทั้งใบมาอยู่ที่นี่ได้อย่างเด่นชัดมากกว่านี้ เช่น เขาอาจสร้างกำแพงที่ห้องต้อนรับแขกของอาคารและติดตั้งโทรทัศน์ที่รับภาพจากดาวเทียม และแสดงภาพปัจจุบันของเมืองหลวงต่าง ๆ ของโลก หรือเขาอาจนำตัวแทนจากชาติต่าง ๆ ของโลก มาอยู่ในห้องต้อนรับแขกของอาคาร ทรีบูน

    ตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่า เราสามารถทำให้บางสิ่งคงอยู่กับเราได้ด้วยหลากหลายวิธี และในระดับต่าง ๆ ก้อนหินที่กำแพงอาคารทรีบูนเป็นรูปแบบหนึ่งของการอยู่ที่นั่น และการใช้โทรทัศน์แสดงภาพจากดาวเทียมเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่การนำบุคคลที่มีเลือดมีเนื้อมาแสดง ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

    ทั้งหมดนี้ชวนให้เราคิดถึงวันฉลองใหญ่ของเราในวันนี้ คือ วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ วันฉลองนี้ไม่ได้เฉลิมฉลอง “จุดสิ้นสุด” ของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในโลกนี้ หากแต่เป็นการเฉลิมฉลอง “การเปลี่ยนรูปแบบ” ของการประทับอยู่ของพระองค์ในโลกนี้

    เรากำลังเฉลิมฉลองความจริงที่พระเยซูเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ในโลกนี้อีกต่อไปด้วยพระกายของพระองค์ ซึ่งเป็นการประทับอยู่ทางกายภาพ แต่บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ในโลกนี้ด้วยพระกายทิพย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นการประทับอยู่ทางจิต พระองค์ประทับอยู่ในโลกนี้ผ่านทางพระศาสนจักรของพระองค์ “เพราะว่าที่ใดมีสอง หรือสามคน ชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20)

    ดังนั้นการฉลองพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์จึงไม่ใช่เครื่องหมายของจุดสิ้นสุดของการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในโลกนี้ เพียงแต่เป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่าพระองค์ยังประทับอยู่ในโลกนี้ เพียงแต่พระองค์ประทับอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป

    บัดนี้ พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในโลกนี้ ผ่านทางศิษย์ของพระองค์  ซึ่งชี้ให้เราเห็นอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้าไม่เพียงเป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในโลกนี้ในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่บอกเราด้วยว่ารูปแบบการทำงานของพระองค์ก็เปลี่ยนไปด้วย

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงทำงานโดยใช้อวัยวะของพระกายมนุษย์ของพระองค์อีกต่อไป แต่ทรงใช้อวัยวะของพระกายทิพย์ของพระองค์ หรืออาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงทำงานโดยใช้เสียงมนุษย์ของพระองค์เพื่อตรัสแก่ประชาชน  ไม่ได้ทรงใช้พระหฤทัยมนุษย์ของพระองค์เพื่อรักประชาชน และไม่ได้ทรงยื่นพระหัตถ์มนุษย์ของพระองค์ออกไปช่วยเหลือประชาชน

    แต่พระองค์ทรงทำงานผ่านทางเรา – คือผ่านคุณและผม – พระองค์ทรงใช้เสียงของเราเพื่อตรัสกับคนทั้งหลาย ทรงใช้หัวใจของเราเพื่อรักคนทั้งหลาย และทรงใช้มือของเราเพื่อยื่นออกไปช่วยเหลือคนทั้งหลาย

    นี่คือสิ่งที่เราเฉลิมฉลองกันในวันสมโภชใหญ่นี้

    ในวันนี้เมื่อสองพันปีก่อน พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้เรา ผู้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ รับผิดชอบในการทำให้พระองค์ประทับอยู่ในโลกสมัยใหม่ของเรา

    ในวันนี้เมื่อสองพันปีก่อน พระองค์ทรงมอบหมายให้เรารับผิดชอบในการทำให้พระองค์ทรงสามารถตรัส รัก และยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ออกไปหามนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน

    ในวันนี้เมื่อสองพันปีก่อน พระองค์ทรงมอบหมายให้เรารับผิดชอบในการทำให้พระองค์ทรงสามารถทำงานต่อไปได้ในโลกยุคปัจจุบัน

    นี่คือเหตุผลที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้ นี่คือความท้าทายที่พระคัมภีร์เสนอแก่เราในวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา ซึ่งสรุปทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพยายามจะกล่าว

    ข้าแต่พระเจ้าแห่งความเมตตาและความรัก
    โปรดทอดพระเนตรลงมายังบุตรทั้งหลายของพระองค์
    ที่มาชุมนุมกันรอบโต๊ะอาหารของพระบุตรของพระองค์

    โปรดประทานจิตใจใหม่แก่เรา ให้เราเข้าใจคุณค่าของกระแสเรียกของเรา
    ซึ่งเรียกเราให้เป็นพระกายใหม่
    เป็นเครื่องมือทำให้พระบุตรของพระองค์ประทับอยู่ในโลกของเรา
    โปรดประทานหัวใจใหม่แก่เรา ให้เราปฏิบัติตามกระแสเรียกของเรา
    ซึ่งเรียกเราให้เป็นพระสุรเสียงใหม่ พระหฤทัยใหม่ และพระหัตถ์ใหม่
    ที่พระบุตรของพระองค์ทรงใช้เพื่อทำงานในโลกของเรา

    โปรดประทานจิตใหม่แก่เรา   
    ให้เราเป็นสิ่งที่เราควรเป็น
    คือเป็นพระกายใหม่ ที่พระบุตรของพระองค์ทรงใช้ตรัส ใช้รัก
    และใช้ยื่นออกไปหาคนทั้งหลายในโลกปัจจุบันเทอญ

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 16:15-20

    ข้อ 9-20 ในบทสุดท้ายของพระวรสาร “ตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก” ไม่มีอยู่ในต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นข้อความที่ปิตาจารย์หลายคนของพระศาสนจักรไม่เคยพบเห็นมาก่อน ตามความคิดเห็นโดยทั่วไป นี่เป็นข้อความที่ผู้เขียนอีกคนหนึ่ง – และไม่ใช่มาระโก – ได้เขียนเพิ่มเติม เพราะลีลาการเขียนแตกต่างกัน ... แต่ก็ถือว่าบทสรุปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ในสารบบ ที่เขียนโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้า ดังนั้นจึงเป็น “พระวาจาของพระเจ้า” เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของพระวรสาร นี่คือความสนใจในแง่เทววิทยาเป็นส่วนใหญ่ เราจึงควรใส่ใจกับประเด็นที่ผู้เขียนยืนยันในตัวบทของเขา

พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง”

    ก่อนหน้าข้อความข้างต้นนี้ เราพบข้อความว่า “(พระเยซูเจ้า)ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้าง เพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14) ... หลังจากทรงตำหนิอย่างรุนแรงเช่นนี้แล้ว พระองค์ตรัสทันทีเรื่องพันธกิจประกาศข่าวดีแก่คนทั้งโลก เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนสรุปอย่างรวบรัด! ... เรารู้จากพระวรสารฉบับอื่นว่าศิษย์ทุกคนเริ่มต้นด้วยการ “ไม่ยอมเชื่อ” แต่บทสรุปนี้พูดกับหัวใจของเรา พระเจ้ากำลังตรัสกับเราในข้อความนี้ ไม่ให้เราเสียเวลาไปกับความคลางแคลงใจและความลังเลใจ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงเร่งรัดอัครสาวกของพระองค์โดยไม่ทรงคำนึงถึงหัวใจที่ขาดความเชื่อของพวกเขา พระองค์ทรงเป็นฝ่ายวางใจในตัวเขาก่อน แม้ว่าเขายังไม่ใช่บุคคลที่สมบูรณ์พร้อมก็ตาม เราเห็นพลวัตในคำสั่งสองคำนี้ “จงออกไป ... ประกาศ”...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ไม่ทรงรอคอยให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมก่อนจะทรงส่งเราออกไปปฏิบัติพันธกิจ พระศาสนจักรของพระองค์ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม อัครสาวกของพระองค์ก็ยังไม่สมบูรณ์พร้อม ... ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่บุคคลที่ดีพร้อม ... แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อจะไม่ทำอะไรเลย...

...ทั่วโลก ... มนุษย์ทั้งปวง

    โครงการต่าง ๆ ของเราช่างเล็กและคับแคบยิ่งนัก! พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนมิตรสหายของพระองค์ให้เริ่มต้นทำงาน ให้ละทิ้งกิจวัตรที่ไม่สำคัญของเขาไว้เบื้องหลัง และให้ออกไปพบมนุษย์ทั้งหลาย ... พันธกิจหมายถึงการ “ออกเดินทาง” ... การออกจากบ้านเกิดของเรา ออกจากโลกเล็ก ๆ ในความคิดของเรา ... พันธกิจของเราคือให้มองไปที่วัฒนธรรมใหม่ ให้เรายินดีต้อนรับระบบความคิดร่วมสมัย ให้เรารับฟังความใฝ่ฝันของมนุษย์สมัยใหม่ และการละทิ้ง “ความคิดสำเร็จรูปที่เราคุ้นเคย” เพื่อว่าเราจะเข้าใจทุกคนที่คิดไม่เหมือนเรา...

    ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพลวัตสากลนี้ เราจะยินดีเมื่อเราพบกับสภาพแวดล้อมใหม่และภาษาใหม่ที่เราสามารถใช้ประกาศพระวรสาร ... และเราจะภาวนาวอนขอให้ประชาชนกลุ่มใหม่ ที่มีวิธีคิดแบบใหม่ ๆ เหล่านี้ เข้ามาอยู่ในพระศาสนจักร แม้ว่าพวกเขาอาจรบกวนความรู้สึกมั่นคง – แต่คับแคบ – ของเราบ้างก็ตาม พระวรสารเป็นของคนทั้งโลก และสิ่งสร้างทั้งปวง...

 ประกาศข่าวดี

    เรารู้ว่าคำว่า “พระวรสาร (Gospel) ในภาษากรีกแปลว่า “ข่าวดี” และคำที่เราแปลออกมาว่า “ประกาศ หรือเทศน์สอน (preach) มาจากภาษากรีกว่า kerussein ซึ่งแปลตรงตัวว่า “การตะโกน (shout)” ก่อนอื่นทั้งหมด พระวรสารจึงเป็น kerygma หรือ “การตะโกนบอก หรือการประกาศ” ข่าวดี...

    ในวันนี้ เราต้องค้นพบพลวัตของบุคคลกลุ่มแรกที่เป็นพี่น้องชายหญิงในความเชื่อของเรา เราได้ตรึกตรองด้วยปัญญา และจัดระบบและประเภทของการประกาศพระวรสารมามากแล้ว แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราให้ “ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง” พระองค์ไม่ได้ทรงขอให้เราทำให้ผู้ใดเชื่อ หรือให้พิสูจน์ความจริงข้อใด – เพียงแต่ให้เราเป็นพยานยืนยันความเชื่อของเรา ด้วยความยินดีและพลัง...

    แต่อนิจจา คริสตชนไม่ได้ทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกอยากเป็นคริสตชนเลย! คริสตชนเหล่านี้ใช้เวลาหมดไปกับการคร่ำครวญ บ่น ประณาม วิพากษ์วิจารณ์ และตัดสินผู้อื่น...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความยินดีแก่เรา ความยินดีซึ่งจะระบาดไปติดผู้อื่น ขอให้หน้าของเราเผยให้พี่น้องชายหญิงของเราเห็นความยินดีที่เราได้รับมาจากพระองค์เทอญ...

    ถ้าความเชื่อหรือศาสนาเป็นสิ่งที่ต้องคร่ำครวญและโศกเศร้าสำหรับเรา ก็อย่าพูดถึงเลยจะดีกว่า แต่ถ้าความเชื่อของเราเป็นข่าวดี เป็นสารอันน่าพิศวง ข่าวดีนี้จะแสดงตัวออกมาผ่านทัศนคติและท่าทีของเรา เป็นเสียงตะโกนด้วยความยินดีที่พรั่งพรูออกมาจากปากของเรา... 

ผู้ที่เชื่อ และรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น ผู้ที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ

    เราจำเป็นต้องประกาศข่าวดีเพื่อให้มนุษย์ชายหญิงทุกคนสมัครใจยอมรับ หรือปฏิเสธ ... การประกาศพระวรสารนั้นเองที่นำไปสู่ “การพิพากษา” – เหมือนกับการพิจารณาคดีพระเยซูเจ้า ซึ่งบางคนตอบสนองด้วยความเชื่อ ในขณะที่บางคนตอบสนองด้วย “ความไม่เชื่อ”...

    เราไม่ควรคิดแม้แต่นาทีเดียวว่าจะ “ส่งคนจำนวนมากมายไปนรก” เมื่อเขา – ด้วยความสุจริตใจ - ไม่ยอมไขว่คว้าหาความเชื่อ อีกทั้งไม่ควรคิดว่าพระเจ้าจะทรงเข้าแทรกแซงเพื่อลงโทษมนุษย์คนใด ... พระวรสารทุกฉบับพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจนพอแล้วว่า พระเจ้าไม่ทรงตัดสินลงโทษมนุษย์ แต่ทรงต้องการช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น ... มนุษย์ไม่ควรถามว่า “พระเจ้าจะให้อภัยฉันไหม” แต่ควรถามว่า “ฉันยินดีรับการอภัยที่พระเจ้าประทานแก่ฉันล่วงหน้าแล้วหรือไม่” ... อีกนัยหนึ่งคือใครก็ตามที่ไม่ยอมรับข่าวดีโดยรู้ตัวและอย่างดื้อรั้น ก็ถูกตัดสินลงโทษแล้ว มิใช่โดยพระเจ้า แต่ตัวเขาเองเป็นผู้ตัดสินลงโทษตนเอง...

    เราต้องเข้าใจว่า นอกจากผ่านทางพระวรสารและพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงชีวิตแล้ว ไม่มีความรอดพ้น ... ไม่มีคำตอบสำหรับจุดหมายปลายทางของมนุษย์ที่รู้จักตาย ... ถ้าปราศจากพระเยซูเจ้า มนุษย์ย่อมพินาศ ชะตากรรมของมนุษย์จะสั้นมากและไม่แน่นอน พระเจ้าเท่านั้นทรงช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นจาก “การเป็นเพียงมนุษย์”...

    “ผู้ที่เชื่อ” ... “ผู้ที่ไม่เชื่อ” ... นี่คือเดิมพันอันยิ่งใหญ่ของเสรีภาพของเรา ไม่มีใครล่วงรู้ความลับของนิรันดรภาพ แต่สิ่งที่แน่นอน คือ จะไม่มีใครถูกบีบบังคับให้ร่วมชีวิตกับพระเจ้าตลอดนิรันดร พระเจ้าทรงเคารพสิทธิของเรามากเกินกว่าจะทรงยัดเยียดพระองค์เองให้เรา    

ผู้ที่เชื่อจะทำอัศจรรย์เหล่านี้ได้ คือจะขับไล่ปีศาจในนามของเรา จะพูดภาษาใหม่ ๆ ได้ จะจับงูได้ และถ้าดื่มยาพิษก็จะไม่ได้รับอันตราย เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย

    มนุษย์สมัยใหม่อดไม่ได้ที่สงสัยเกี่ยวกับปีศาจ งู และการเจ็บป่วย ... และเกี่ยวกับยาพิษซึ่งจะไม่สามารถทำอันตรายผู้มีความเชื่อ “เครื่องหมาย” เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง ซึ่งปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่ความเชื่อคริสตชนเกิดขึ้นท่ามกลางคนนอกศาสนาที่เชื่อถือโชคลาง และมี “ผู้วิเศษ” อยู่กลาดเกลื่อน...

    แต่ผู้อ่านยุคใหม่ควรสนใจความหมายเชิงสัญลักษณ์ของเครื่องหมายเหล่านี้ ยังเป็นความจริง และเป็นเรื่องจริง ที่ผู้มีความเชื่อต้องสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า และต้อง “ต่อสู้กับพลังทั้งปวงที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งจะครอบงำมนุษย์ให้ตกเป็นทาส และสร้างความบาดหมางต่อกัน” ... เราต้องต่อสู้กับทุกสิ่งที่ “วางยาพิษมนุษยชาติ” ... ในปัจจุบัน เราเห็นเครื่องหมายที่สอดคล้องกับเครื่องหมายที่ผู้เขียนข้อความนี้ระบุไว้เพื่อผู้อ่านในยุคสมัยของเขา ขอให้เราพิจารณาว่า อะไรคือเครื่องหมายของกาลเวลาในยุคของเรา ... เราจะไม่มองข้าม “พระพรแห่งการพูดภาษาใหม่” เพราะภาษา ซึ่งเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร เป็น “พระพรของพระจิตเจ้า”...

    พระเจ้าข้า โปรดประทาน “พระพรแห่งการพูดภาษาใหม่” นี้แก่เรา และคริสตชนทุกคน ซึ่งเป็นพระพรที่นำพระวรสารเข้าไปอยู่ในหัวใจใหม่ ๆ ทุกดวง ... สำหรับพระพร “การดูแลและรักษาโรคให้ผู้ป่วย” นั้น เรารู้ว่าคนร่วมสมัยของเราคาดหวังจากพระพรนี้มากเพียงไร...
    พระวรสารเป็นพลังของความรอดพ้น เป็นน้ำพุแห่งความสุข ซึ่งคริสตชนมีอยู่ในมือของเขา ดังนั้นขอให้เราอย่าได้นิ่งเฉย แต่ขอให้เรากระจายพลังนี้ไปให้ทั่วด้วยเถิด...

เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า ตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ ให้ประทับ ณ เบื้องขวา

    ผู้เขียนนิรนามผู้นี้เพียงแต่รำลึกถึงเหตุการณ์ โดยไม่บรรยายรายละเอียด เหมือนกับที่นักบุญลูกาบรรยาย (กจ 1:9) ขอให้เราสังเกตว่า ในสองข้อความที่บรรยายเหตุการณ์นี้ ข้อความหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งในระดับประวัติศาสตร์มนุษย์ (พระเยซูเจ้าทรงหายลับไปจากสายตาของเขา) ในขณะที่อีกข้อความหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในระดับของความเชื่อ (พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ ให้ประทับ ณ เบื้องขวา) ... เราควรระมัดระวัง และไม่คิดแต่ในแง่วัตถุ เพราะพระเจ้าไม่ทรงมี “เบื้องขวา” และ “เบื้องซ้าย” หรือคิดว่าพระองค์ประทับอยู่ “เบื้องบน” ในสวรรค์มากกว่า “เบื้องล่าง” ใต้โลกนี้ มนุษย์ในยุคนั้นใช้คำว่า “ท้องฟ้า” เพื่อให้เห็นภาพของพระเจ้า มีพูดกันด้วยซ้ำไปว่าจักรพรรดิโรมันบางคนได้ “ขึ้นสวรรค์” ... แต่การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากนั้น พระองค์ทรงได้รับสถานะเจ้าผู้ทรงปกครองโลก ... และเพื่ออธิบายเรื่องนี้ เราจึงใช้ภาษาพระคัมภีร์ในบทสดุดี 110:1 ว่า “พระดำรัสของพระยาห์เวห์แก่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ‘จงประทับทางขวาของเรา’” ... ถ้อยคำที่ชัดเจนจนมองเห็นภาพนี้อธิบายข้อไตร่ตรองทางเทววิทยาเรื่องความเป็นจริงเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ – ความเป็นจริงที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยใช้หลักเหตุผลของมนุษย์ ... นี่คือความเป็นจริงที่เข้าถึงได้ด้วยความเชื่อเท่านั้น... 

บรรดาศิษย์ก็แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนทั่วทุกแห่งหน

    ดูเหมือนว่าศิษย์เหล่านี้ไม่ได้รีรอเลยแม้แต่วินาทีเดียว เขาแยกย้ายกันออกไปทันที ... และนี่คือเครื่องหมายอย่างหนึ่ง

    คูหาฝังพระศพนี้ว่างเปล่า ... “พวกเขาแยกย้ายกันออกไป ... พวกเขาเริ่มก้าวเดินไปตามทางของตน”...

... องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานร่วมกับเขา และทรงรับรองคำสั่งสอนโดยอัศจรรย์ที่ติดตามมา

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ “ในพระคูหา” อีกต่อไป ... พระองค์ประทับ “เบื้องขวาพระเจ้า” – และในเวลาเดียวกัน พระองค์ “ทรงทำงานร่วมกับเขา”...

    นี่คือเครื่องหมายที่บอกเราว่า เราไม่อาจหาคำพูดมาอธิบายความลึกลับซับซ้อนของธรรมล้ำลึกของ “การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูเจ้า” ... ถ้อยคำที่เหมาะสมที่สุดดูเหมือนจะเป็น “การประทับอยู่อย่างซ่อนเร้น” – การประทับอยู่อย่างทรงพลัง ซึ่ง “ทำงาน” เบื้องหลังคำพูด...