แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 43:18-19, 21-22, 24-25; 2 โครินธ์ 1:18-22; มาระโก 2:1-12

บทรำพึงที่ 1
การสารภาพบาประหว่างเข้าเงียบ
พระเจ้าทรงให้อภัยเราแล้ว เราจึงควรให้อภัยผู้อื่นด้วย

    จอห์น อีแกน ไปเข้าเงียบสำหรับนักเรียนมัธยม ในวันสุดท้าย เขาตัดสินใจทำบางสิ่งที่เขาผลัดผ่อนมานาน เขาตัดสินใจไปขอรับศีลอภัยบาป จอห์นสารภาพบาปอย่างละเอียด เขาสารภาพทุกบาปที่เขาจำได้ อย่างซื่อตรงและเปิดเผยที่สุดเท่าที่เขาสามารถทำได้ จอห์นแปลกใจมากที่พระสงฆ์ไม่ได้พูดถึงบาปของเขาเลย แต่กลับพูดถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงมีต่อเขา

    จอห์นบรรยายเหตุการณ์ต่อมาในสมุดบันทึกชีวิตจิตของเขา ชื่อ A Traveller Toward the Dawn ว่า “ผมก้าวออกจากวัดน้อยด้วยความรู้สึกโล่งใจมาก และเดินออกไปสู่ความงามของบ่ายวันนั้น ... ผมรับรู้อย่างชัดเจนมากถึงความงามของวันในเดือนเมษายนนั้น... ความยินดีเอ่อล้นขึ้นมา และวิ่งพล่านในหัวใจของผม ... เพิ่มทวีและพัดเข้ามาเป็นระลอก ... ต่างจากทุกประสบการณ์ที่ผมเคยพบมาก่อน ... ประสบการณ์นี้บริสุทธิ์มากกว่า และเข้มข้นมากกว่า

    ขณะที่ผมกำลังเดินตามลำพังและตะลึงกับความใหม่ของทุกสิ่งทุกอย่าง ... ความยินดีอันบริสุทธิ์และเข้มข้นค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและแผ่ขยาย ... ผมคิดว่าผมไม่เคยมีความสุขมากเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต... ผมเดินเล่นไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้และไม่สนใจว่าเท้าของผมจะพาผมไปที่ไหน...

    นานทีเดียวกว่าผมจะรู้ตัวว่าผมกำลังเดินอยู่บนสนามกอล์ฟ ผมจำได้ว่าผมนอนลงบนบังเกอร์อย่างมีความสุข และมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พร้อมกับอ้าแขนต้อนรับพระเจ้า ... ผมจำไม่ได้ว่าผมนอนอยู่ที่นั่นนานเท่าไร จำได้เพียงว่าผมรู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้ามาก”

    ประสบการณ์ของจอห์นจากการรับศีลอภัยบาประหว่างการเข้าเงียบในโรงเรียนมัธยม เป็นอารัมภบทที่เหมาะสมสำหรับบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้ เพราะหัวข้อของบทอ่านก็คือการให้อภัยของพระเจ้าสำหรับบาปของเรา ในบทอ่านที่หนึ่ง พระเจ้าตรัสแก่ชาวอิสราเอลผ่านประกาศกอิสยาห์ว่า “ท่านทำให้เราหนักใจเพราะบาปของท่าน ทำให้เราเบื่อหน่ายเพราะความชั่วร้ายของท่าน ถึงกระนั้น เราจะลบล้างความผิดของท่าน ... เราจะไม่จดจำบาปของท่านอีกต่อไป” (อสย 43:24-25)

    บทอ่านจากพระวรสารยังกล่าวถึงการให้อภัยด้วย เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสแก่คนอัมพาตว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว ... จงลุกขึ้น”

    คำว่า “ให้อภัย” ปรากฏในพระคัมภีร์ถึง 150 ครั้ง การเอ่ยคำนี้บ่อยครั้งย้ำความจริงว่าการให้อภัยเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของพระคัมภีร์ และเป็นหัวข้อที่เด่นชัดที่สุด - รองจากความรักของพระเจ้า – ในพระคัมภีร์ของคริสตศาสนาหรือพันธสัญญาใหม่

    การให้อภัยเป็นหัวข้อที่ปรากฏทั่วไปในคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า เราพบหัวข้อนี้ในบทภาวนาข้าแต่พระบิดา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เปิดใจยอมรับการให้อภัยของพระเจ้า และให้อภัยผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เหมือนกับที่พระเจ้าทรงให้อภัยเรา เราได้ยินเรื่องการให้อภัยนี้ในอุปมาเรื่องแกะที่พลัดหลง อุปมาเรื่องเงินเหรียญที่หายไป และอุปมาเรื่องบุตรล้างผลาญ

    ในอุปมาแต่ละเรื่อง พระเยซูเจ้าทรงเน้นให้เห็นความจริงข้อหนึ่ง คือ พระบิดาสวรรค์ของพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้พร้อมจะให้อภัย เราพบการเน้นย้ำเรื่องการให้อภัยเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนเปโตรให้เขาให้อภัยผู้อื่น มิใช่เพียงเจ็ดครั้ง แต่ต้องให้อภัยถึงเจ็ดสิบคูณเจ็ดครั้ง

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงเพียงสั่งสอนผู้อื่น แต่พระองค์ทรงปฏิบัติเอง เราพบเห็นการให้อภัยตลอดชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงให้อภัยชายที่เป็นอัมพาต พระองค์ทรงให้อภัยหญิงที่ล่วงประเวณี พระองค์ทรงให้อภัยผู้ร้ายที่กลับใจ และทรงให้อภัยเพชฌฆาตผู้จับพระองค์ตรึงกางเขน เราจึงสามารถสรุปคำสั่งสอนจากบทอ่านพระวรสารวันนี้ได้เป็นสองข้อ

    ข้อแรก พระเจ้าทรงพร้อมจะให้อภัยเรา มากกว่าที่เราพร้อมจะวอนขอการอภัยจากพระองค์

    ข้อที่สอง พระเจ้าทรงให้อภัยเราเช่นไร เราก็ควรให้อภัยกันและกันเช่นนั้น

    บทอ่านจากพระวรสารวันนี้เป็นคำเชิญชวนเราให้ทำสองสิ่ง (1) เป็นคำเชิญให้เราทำเหมือนจอห์น อีแกน คือ ให้เราเปิดใจยอมรับการให้อภัยของพระเยซูเจ้าในศีลอภัยบาป (2) เป็นคำเชิญให้เราทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในชีวิตส่วนตัวของพระองค์ คือ ให้เรายอมให้อภัยผู้อื่นที่ได้ทำผิดต่อเรา

    นี่คือคำสั่งสอนจากบทอ่านพระคัมภีร์วันนี้ที่เราสามารถปฏิบัติตามได้ นี่คือคำเชิญที่พระเจ้าทรงเสนอต่อเราวันนี้ ผ่านทางพระวาจาของพระองค์ นี่คือหัวข้อที่เราเฉลิมฉลองร่วมกันในพิธีกรรมวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาที่รวมไว้ด้วยคำสั่งสอนและคำเชิญจากบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้

    ข้าแต่พระเจ้าพระบิดา
    โปรดทรงกระทำเพื่อเรา
    เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ในพระคัมภีร์ชาวฮีบรู
    เมื่อพระองค์ตรัสกับเขาว่า
    “ท่านทำให้เราหนักใจเพราะบาปของท่าน
    ทำให้เราเบื่อหน่ายเพราะความชั่วร้ายของท่าน
    ถึงกระนั้น เราจะลบล้างความผิดของท่าน เพราะเราต้องการเช่นนั้น
    เราจะไม่จดจำบาปของท่านอีกต่อไป” (อสย 43:24-25)

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพี่ชายของข้าพเจ้า
    โปรดตรัสกับเราในศีลอภัยบาป
    เหมือนกับที่พระองค์ตรัสกับคนอัมพาตในพระวรสารวันนี้ว่า
    “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว... จงลุกขึ้น ... และเดินไป”

    ข้าแต่พระจิต พระผู้ประทานความช่วยเหลือแก่เรา
    โปรดประทานพละกำลังแก่เรา
    ให้เราให้อภัยผู้อื่น
    เหมือนกับที่พระเจ้าพระบิดา และพระเยซูเจ้า ทรงให้อภัยเราเทอญ
       
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 2: 1-12

ต่อมาอีกสองสามวัน พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ประทับอยู่ในบ้าน ประชาชนจำนวนมากจึงมาชุมนุมกัน จนไม่มีที่ว่างแม้กระทั่งที่ประตู

    เราคงจำได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลาใน “วันแรก” ของชีวิตสาธารณะของพระองค์ที่เมืองคาเปอรนาอุม หลังจากทรงตระเวนไปทั่วแคว้นกาลิลีเป็นเวลาสองสามวัน บัดนี้พระองค์เสด็จกลับมา และข่าวก็แพร่สะพัดไปว่า “พระองค์กลับมาบ้านแล้ว” ... มาระโกไม่คิดว่าจำเป็นต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจน แต่ทุกสิ่งชวนให้เราคิดว่าพระองค์ยังทรงพำนักอยู่ที่บ้านของเปโตรและอันดรูว์

    แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงแสวงหาความสงบและความเงียบใน “ที่เปลี่ยว” (มก 1:13, 35, 45) แม้ว่าพระองค์ทรงต้องการอยู่อย่างสงบเงียบ (มก 1:25, 34, 44) ฝูงชนก็ตามมารบกวนพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย

    ข้อความเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าประชาชนไม่รู้ว่าเขากำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ประเภทใด และขอให้เรากล้าถามเถิดว่า เมื่อเราแสวงหาพระเจ้า เรากำลังแสวงหาพระเจ้าประเภทใด? ... การที่พระคริสตเจ้าทรงดึงดูดใจคนจำนวนมาก ไม่อาจพิสูจน์อะไรได้เลย การประกาศว่า เรา “อยู่ข้างเดียวกับพระเยซูเจ้า” อาจไม่มีความหมายเลยก็ได้ ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงไว้วางพระทัยกับขบวนการขนาดใหญ่ การมาชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมากไม่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงหลงเชื่อ พระองค์ทรงรู้ว่าขบวนการมหาชนไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจมากนัก ฝูงชนคาดหวังเพียงประโยชน์ทางโลกเท่านั้นจากพระองค์ เราไม่ควรลืมว่าในยุคนั้นมีคนคลั่งศาสนาเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คนเหล่านี้ประกาศตัวว่าเป็นพระเมสสิยาห์ที่ประชาชนกำลังรอคอย – และคนเหล่านี้ก็ดึงดูดคนจำนวนมากได้เช่นกัน ... เพราะเหตุนี้เราจึงเข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงดูเหมือนว่าทรงกลัวความเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก
    สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเจ้า? ... ภาพของพระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกหนีฝูงชนมีความหมายอย่างไรสำหรับข้าพเจ้า? มีบทเรียนสอนใจข้าพเจ้าหรือไม่? และแนะนำให้ข้าพเจ้าเลือกวิถีชีวิตแบบใด?...

พระองค์ประทานพระโอวาทสอนประชาชนเหล่านั้น

    นี่คือกิจกรรมที่พระเยซูเจ้าทรงคิดว่าสำคัญ แม้ว่าประชาชนมาหาพระองค์เพราะ “อยากเห็นอัศจรรย์” อยากเห็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและแปลกประหลาด ... พระเยซูเจ้าก็ยังยึดมั่นกับพันธกิจของพระองค์ คือ การอบรมสั่งสอนมนุษย์ใหม่ ... เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เครื่องมือที่พระองค์ทรงพอพระทัยจะใช้ไม่ใช่อัศจรรย์ แต่เป็น “วาจา” ที่แสนจะธรรมดา ซึ่งเป็นสื่ออันต่ำต้อยที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารกัน – เป็นเสมือน “สายลมโชย” อันสุขุม และ “คลื่น” อันละเอียดอ่อน ที่เริ่มต้นจากความคิด หรือหัวใจ เพื่อเข้าถึงอีกความคิดหนึ่ง หรือหัวใจอีกดวงหนึ่ง ... และสร้างความสนิทสัมพันธ์ฝ่ายจิตระหว่างทั้งสองฝ่าย...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าเป็นเวลานาน ขณะที่พระองค์ตรัสกับประชาชน...

    ถ้าแปลตรงตามตัวอักษร มาระโกกำลังบอกเราว่า “พระองค์ตรัสพระวาจากับเขา”...

    ขณะที่เขียนข้อความเหล่านี้ มาระโกระลึกถึงคำสั่งสอนอันลึกล้ำเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคริสตชนยุคแรก ... กิจการแรกของพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์ทรงเรียกเรามารวมตัวกันในวันอาทิตย์ – วันของพระองค์ – ก็คือเพื่อประกาศพระวาจาแก่เรา ... คริสตชนคนใดที่มาร่วมพิธีมิสซาล่าช้าจะตระหนักหรือไม่ว่าเขากำลังพลาดส่วนที่สำคัญที่สุด ... เขาพลาดสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญมากที่สุด และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำก่อนเสมอ นั่นคือ วจนพิธีกรรม! ... งานที่ทำให้เราผิดนัดสำคัญเช่นนี้จะต้องเป็นงานสำคัญมาก!...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ฟังด้วยใจจดจ่อ เมื่อพระองค์ประกาศพระวาจาของพระองค์ด้วยเทอญ...

ชายสี่คนหามคนอัมพาตคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ แต่เขานำคนอัมพาตนั้นฝ่าฝูงชนเข้าไปถึงพระองค์ไม่ได้ เขาจึงเปิดหลังคาบ้านตรงที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วหย่อนแคร่ที่คนอัมพาตนอนอยู่ลงมาทางช่องนั้น
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้...

    ผู้นิพนธ์พระวรสารสามคนบอกเล่าเหตุการณ์เดียวกันนี้ คือ มัทธิว มาระโก และลูกา – แต่มาระโกเท่านั้นที่เล่ารายละเอียดทั้งหมดนี้ บ้านของชาวปาเลสไตน์มีดาดฟ้า และมีบันใดนอกบ้านทอดขึ้นไปบน “หลังคา” เขาสร้างเพดานบ้านด้วยต้นกกที่วางพาดบนคาน และฉาบด้วยโคลนแห้ง ดังนั้น คนหามแคร่ทั้งสี่จึงตัดสินใจเจาะช่องบนดาดฟ้า และหย่อนคนป่วยลงมาโดยใช้เชือกสี่เส้น เขาต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว ... และการกระทำอันโลดโผนนี้ดูเหมือนน่าสนใจมากสำหรับมาระโก...

    ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เราคงเห็นนักข่าวมารอรายงานข่าวอยู่ในที่นั้น พร้อมกับจับภาพด้วยกล้องโทรทัศน์ นี่คือ “ข่าวเด่นประจำวัน” อย่างแท้จริง
    แต่มาระโกไม่ได้ต้องการเสนอ “เอกสารทางประวัติศาสตร์” ให้แก่เราเท่านั้น ... สำหรับเขา รายละเอียดทั้งหมดนี้เป็นข้อคำสอน “เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้ จึงตรัส ...”

    เหตุการณ์นี้ยืนยันความเชื่อของผู้หามแคร่ ความเชื่อเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของอัศจรรย์ มาระโกชอบเสนอความคิดนี้ เขาถึงกับประกาศว่า “พระเยซูเจ้าไม่สามารถทำอัศจรรย์ได้” เมื่อประชาชนขาดความเชื่อ (มก 6:5, 9:21-24)...

    ข้าพเจ้ามีความเชื่อมากน้อยเพียงไร ... ความเชื่อของข้าพเจ้าชักนำให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด...
     
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้ จึงตรัสแก่คนอัมพาตว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว”

    ประชาชนคาดหมายว่าจะได้เห็นอัศจรรย์ แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงทำอัศจรรย์ ... พระองค์จะไม่รักษาชายคนนี้หรือ ทั้งที่ความเชื่อของเพื่อน ๆ ของเขาเอาชนะอุปสรรคได้แล้ว?...

    นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงถือว่าสำคัญอีกเช่นกัน แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนลากพระองค์เข้าไปสวมบทบาทผู้วิเศษและพระเมสสิยาห์ผู้ชอบสร้างความตื่นเต้น พระเยซูเจ้ากลับทรงเน้นย้ำเรื่องความเชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และพระองค์พอพระทัยจะทำงานภายในวิญญาณ กล่าวคือ พระองค์ทรงให้อภัย...

    ก่อนที่พระเยซูเจ้าทรงเอ่ยพระวาจาเหล่านี้ ชายอัมพาตไม่ได้กล่าวโทษตนเอง ไม่ได้สารภาพบาป และไม่ได้วอนขอให้พระองค์อภัยบาปของเขาเลย คนเหล่านี้ไม่ได้มาหาพระองค์เพื่อขออภัย แต่พระเจ้าประทานให้มากเกินกว่าที่มนุษย์วอนขอเสมอ ... พระอานุภาพของพระเจ้าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในกรอบของความคาดหมาย และการวอนขอของมนุษย์ แต่พระองค์ประทานให้มากกว่านั้น พระองค์ประทานให้อย่างไม่มีขอบเขต อย่างเต็มพระทัย โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีบุญกุศลเลย!

    ขอให้เราพิจารณาภาพเหตุการณ์นี้เถิด เราตระหนักหรือไม่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น? ... คนอัมพาตที่มาร้องขอการบำบัดรักษาก็ยังอยู่ที่นั่น – และยังเป็นอัมพาตเหมือนเดิม...

    บ่อยครั้งที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเราเช่นกัน เราตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เราวอนขอพระเจ้าให้ทรงปลดปล่อยเรา – แต่ถ้ามองในระดับภายนอกที่ตามองเห็น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ... ในกรณีเช่นนั้น เราอาจอยากคิดว่าพระเจ้าไม่สดับฟังคำภาวนาของเรา แต่ถ้าเรามองในระดับความเชื่อ (ซึ่งช่วยให้เรา “เห็นสิ่งที่ตามองไม่เห็น” ฮบ 11:1) เมื่อนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไป – แต่เป็นการเปลี่ยนจากภายใน...

    เหตุการณ์ในพระวรสารท้าทายเรา เรากำลังวอนขออะไรจากพระเยซูเจ้า?...
 
ที่นั่นมีธรรมาจารย์บางคนนั่งอยู่ด้วย เขาคิดในใจว่า “ทำไมคนนี้จึงพูดเช่นนี้เล่า เขากล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น”
    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศสารของพระองค์ได้เพียงไม่กี่วัน แต่นอกจากมีคนชื่นชมพระองค์แล้ว ก็มีผู้ต่อต้านด้วย คนเหล่านี้เป็น “ผู้ไม่มีความเชื่อ” ... มาระโกพัฒนาเรื่องราวในพระวรสารของเขาโดยเริ่มต้นจากการต่อต้านนี้ เขาเสนอภาพของ “ความขัดแย้ง” รุนแรงห้าเรื่องระหว่างพระเยซูเจ้า และบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ดังนี้
-    เรื่องการอภัยบาป (มก 2:1-12)
-    เรื่องการเสวยอาหารร่วมกับคนบาป (มก 2:13-17)
-    เรื่องการไม่จำศีลอดอาหาร (มก 2:18-22)
-    เรื่องการละเมิดข้อบังคับในวันสับบาโต (มก 2:22-28)
-    และเรื่องการฝ่าฝืนธรรมประเพณี (มก 3:1-6)

    พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นตัวแทนความดีงามของพระเจ้า ทรงเผชิญกับศัตรูทุกทิศทุกทาง พระทรมานปรากฏให้เห็นได้ราง ๆ ตั้งแต่ทรงเริ่มต้นประกาศข่าวดีแล้ว พระเยซูเจ้าจะทรงถูกพิพากษาโทษโดยธรรมาจารย์กลุ่มเดียวกันนี้ (คนเหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา) ... และด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ คือ “ดูหมิ่นพระเจ้า” (มก 14:64) ... ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าภายในวงล้อมของศัตรู ผู้คอยจับตาดูพระองค์ ชีวิตในแต่ละวันของพระองค์จะมีเรื่องตื่นเต้นเสมอ ... เขาคอยจับผิดพระวาจาของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงต้องขึ้นศาล ... จนกระทั่งถึงกาลอวสาน

“เพื่อให้ท่านรู้ว่า บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้”...

    เป็นครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “บุตรแห่งมนุษย์” ทรงบอกว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ตามคำทำนายซึ่งอยู่ในใจของทุกคน ... ดาเนียลบรรยายถึง “บุตรแห่งมนุษย์” ผู้เสด็จมาในหมู่เมฆว่า  “ข้าพเจ้าเห็นท่านผู้หนึ่ง เหมือนบุตรแห่งมนุษย์ มาพร้อมกับหมู่เมฆในท้องฟ้า ... เขาได้รับมอบอำนาจปกครอง (ภาษากรีกใช้คำว่า exousia แปลตรงตัวว่า “อำนาจ”) สิริรุ่งโรจน์ และอาณาจักร ประชาชนทุกชาติทุกภาษารับใช้เขา อำนาจปกครองของเขาเป็นอำนาจที่คงอยู่ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด และอาณาจักรของเขาจะไม่มีวันถูกทำลายเลย” (ดนล 7:13-14)…

    เราเห็นคำว่า “อำนาจ” ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายสำคัญในข้อความนี้ มาระโกให้พระเยซูเจ้าตรัสคำเดียวกันนี้ – และในบริบทเดียวกันด้วย “บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจ (exousia ในภาษากรีก) อภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้” นี่คืออำนาจขององค์ตุลาการแห่งอวสานกาล พระเยซูเจ้าจะทรงอ้างคำทำนายเดียวกันของดาเนียลอีกสองครั้ง คือ เมื่อทรงประกาศเรื่องการทำลายพระวิหาร (มก 13:26) และระหว่างการพิพากษาคดีต่อหน้าสภาซันเฮดริน (มก 14:62)...

    เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงมี “อำนาจ” ขององค์ตุลาการแห่งอวสานกาล ... แต่เราต้องสังเกตว่านี่มิใช่อำนาจเพื่อพิพากษาลงโทษ แต่เพื่อให้อภัย ... และบทแสดงความเชื่อของเราคริสตชนไม่ได้ขอให้เราเชื่อในบาป แต่ให้เชื่อใน “การลบล้างบาป”...

    ตั้งแต่ต้นพระวรสาร มาระโกขอร้องเราให้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่เหมือนกับความคิดของคนทั่วไป เราต้องค้นพบว่าบาปไม่ใช่ต้นเหตุที่จะทำให้เราได้รับความอับอาย ไม่ใช่สิ่งที่เรายอมรับอย่างเจ็บปวด ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราด้วยความพยายามยิ่งยวด – แต่บาปเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้พระเจ้าทรงแสดงความรักของพระองค์ต่อเรา ... แม้ว่าไม่มีความสำนึกผิดในหัวใจมนุษย์เลยแม้แต่น้อย พระเจ้าก็ทรงให้อภัยเราแล้ว และทรงชดเชยให้บาปของเราเต็มมูลค่าแล้ว ... พระองค์ทรงถึงกับคาดหมายล่วงหน้าว่าจะได้ยินคำภาวนาวอนขออภัย “ขณะที่เรายังอ่อนแอ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาปตามเวลาที่กำหนด” (รม 5:6)...

“เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่กลับไปบ้านเถิด”

    เราพบว่าในที่นี้มาระโกใช้คำว่า egeiro ซึ่งแปลว่า “ลุกขึ้น” หรือ “ตื่นขึ้น” หรือ “กลับคืนชีพ” ในเย็นวันปัสกา วันที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าได้ประทานอำนาจอภัยบาปให้แก่มนุษย์ (ยน 20:23) ... นี่คืออำนาจแท้จริงของพระเยซูเจ้า...

ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และพูดว่า “พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย”
 
    พิธีกรรมอภัยบาปทุกครั้งจบลงด้วยคำขอบพระคุณพระเจ้า...