แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 9 เทศกาลธรรมดา
เฉลยธรรมบัญญัติ 5:12-15; 2 โครินธ์ 4:6-11; มาระโก 2:23-3:6

บทรำพึงที่ 1
ตัวอักษรเทียบกับเจตนารมณ์
เช่นเดียวกับชาวยิวในยุคสมัยของพระเยซูเจ้า เราต้องไม่ถือว่าตัวอักษรสำคัญกว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ

    วิลเลียม บาเคลย์ นักเทววิทยาชาวสก๊อตผู้มีชื่อเสียง เล่าเรื่องที่ไม่น่าเชื่อในหนังสือของเขาชื่อ The Gospel of Mark (พระวรสารของนักบุญมาระโก) เขาเกริ่นนำเรื่องนี้โดยอ้างถึงพระบัญญัติประการที่สามว่า “ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน แต่วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใดๆ” (อพย 20:9-10)

    บาเคลย์อธิบายต่อไปว่า ชาวยิวที่เคร่งครัดตีความบทบัญญัติข้อนี้ว่า เขาต้องไม่เข้าร่วมในการสู้รบในวันสับบาโต แม้ว่าจะทำให้เขาต้องเสียชีวิตก็ตาม เพราะถือว่าเป็นการทำงาน ด้วยเหตุนี้ ชาวโรมันจึงไม่เกณฑ์ชาวยิวเป็นทหาร เพราะเมื่อถึงวันสับบาโต ชาวยิวจะวางอาวุธและไม่ยอมต่อสู้

    แล้วบาเคลย์จึงเล่าเรื่องว่า ครั้งหนึ่งทหารชาวยิวจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในการสู้รบ เมื่อถึงวันสับบาโต เขาไปซ่อนตัวในถ้ำและวางแผนว่าจะกลับไปสู้รบต่อหลังจากวันสับบาโต แต่ก่อนจะพ้นวันสับบาโต ทหารฝ่ายศัตรูได้ค้นพบที่ซ่อนของพวกเขา ทหารฝ่ายศัตรูเข้ามาในถ้ำและฆ่าชาวยิวเหล่านั้นโดยที่พวกเขาไม่ต่อสู้เลย ทหารชาวยิวตายโดยไม่ยกมือขึ้นป้องกันตนเอง ด้วยเกรงว่าถ้าเขาต่อสู้ เขาจะละเมิดข้อห้ามในวันสับบาโต

    เรื่องที่แปลกประหลาดนี้แสดงให้เห็นว่าชาวยิวที่เคร่งครัดเคารพบทบัญญัติของพระเจ้ามากอย่างไร เขาเคารพบทบัญญัติมากจนเขายอมพลีชีวิตมากกว่าจะละเมิดบทบัญญัติ

    แต่ความเคารพบทบัญญัติก็มีด้านมืด เพราะชาวยิวบางคน เช่นชาวฟาริสี อุทิศตนปฏิบัติตามบทบัญญัติจนเขายึดถือตัวอักษรมากกว่าเจตนารมณ์ เช่น ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวยิว มีการตั้งคำถามว่าสิ่งใดที่ถือว่าเป็นการทำงาน เพื่อตอบคำถามนี้ รับบีชาวยิวจึงกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ 39 ประเภท ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต เช่น ท่านต้องไม่ “ดึงเมล็ดข้าว” และปอกเปลือกข้าวในมือของท่านเพื่อกินเมล็ดข้าวนั้น เพราะถือว่าเป็นการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดว่าเป็นงานอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ท่านไม่สามารถรักษาโรคให้ผู้ใด เว้นแต่ว่าผู้นั้นตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต

    รับบีคนหนึ่งถึงกับยกตัวอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่า ถ้ากำแพงถล่มลงมาทับบุคคลหนึ่ง ชาวยิวได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายซากปรักหักพังออกไปได้เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลนั้นตายแล้วหรือไม่ ถ้าเขายังมีชีวิต ท่านสามารถทำการรักษาได้เฉพาะกรณีที่เขาอาจถึงแก่ความตาย ถ้าบุคคลนั้นตายแล้ว ท่านไม่สามารถเคลื่อนย้ายศพของเขาได้จนถึงวันรุ่งขึ้น เพราะการเคลื่อนย้ายศพจำเป็นต้องมีการทำงาน

    ความพะวักพะวนกับบทบัญญัติตามตัวอักษรนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายในพระวรสารวันนี้ พระองค์ทรงท้าทายทัศนคติของชาวยิวทั้งหลายที่คิดว่าการปฏิบัติตามบทบัญญัติสำคัญกว่าการดูแลรักษามนุษย์

    พระองค์ทรงท้าทายทัศนคติที่เปลี่ยนศาสนาจากการรับใช้ด้วยความรัก กลายเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัตินับร้อยข้อ พระองค์ทรงท้าทายทัศนคติที่เปลี่ยนพระเจ้าให้กลายเป็นชายชราจู้จี้ ที่สนใจบทบัญญัติมากกว่าความรัก

    ดังนั้นเมื่อชาวฟาริสีกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้ากับพระเยซูเจ้า ด้วยการจัดฉากให้ชายมือลีบคนหนึ่งมาปรากฏตัวในศาลาธรรมในวันสับบาโต พระเยซูเจ้าจึงทรงยินดีรับคำท้าทายนั้น พระองค์ทรงเรียกชายคนนี้มาที่หน้าศาลาธรรม พระองค์ทรงถามชาวฟาริสีและทุกคนที่อยู่ในที่นั้นว่า “ในวันสับบาโตนั้น ควรทำความดีหรือความชั่ว ควรจะช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป” (มก 3:4)

    คำถามของพระเยซูเจ้าทำให้ชาวฟาริสีอึ้ง เพราะมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว และพวกเขาก็รู้อยู่แก่ใจ ดังนั้นเขาจึงเงียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับชายคนนี้ว่า “จงเหยียดมือซิ” (มก 3:5) ชายคนนี้ปฏิบัติตาม และพระเยซูเจ้าก็ทรงรักษาเขาให้หาย

    มาระโกสรุปเหตุการณ์นี้ว่า หลังจากนั้นชาวฟาริสีจึงวางแผนจะกำจัดพระเยซูเจ้า เขาวางแผนเช่นนี้เพราะตามความคิดเกี่ยวกับบทบัญญัติทางศาสนาของเขา พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนบาปหนาในสายตาของเขา พระองค์จึงสมควรตาย 

    เราจะพิจารณาว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร เราก็เหมือนกับชาวฟาริสีในยุคสมัยของพระเยซูเจ้า พวกเราส่วนใหญ่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง แต่อันตรายของการเป็นบุคคลที่เคารพกฎหมายก็คือ จุดแข็งของเราสามารถกลายเป็นจุดอ่อนของเรา เหมือนกับในกรณีของชาวฟาริสี

    ชาวฟาริสีหมกมุ่นกับการปฏิบัติตามตัวอักษรของบทบัญญัติ จนเขาลืมเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ดังนั้นในกรณีของวันสับบาโต พวกเขาจึงลืมไปว่าวันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ และมิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต หรืออาจกล่าวได้ว่า พระเจ้ามิได้ทรงกำหนดวันสับบาโตขึ้นมาก่อน จากนั้นพระองค์จึงทรงดำริว่า “เราน่าจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้เขาถือธรรมเนียมวันสับบาโต”

    แต่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงทรงกำหนดวันสับบาโตขึ้น เพื่อช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตตามจุดประสงค์ที่เขาถูกสร้างขึ้นมา กล่าวคือ เพื่อรักพระเจ้า และรักกันและกัน และดังนั้น มนุษย์จะสามารถเข้าสู่ชีวิตนิรันดร และได้รับความยินดีนิรันดร

    ในทำนองเดียวกัน การเป็นคริสตชนที่ดีมีความหมายมากกว่าการปฏิบัติตามบทบัญญัติบางข้อ เช่น การไปวัดในวันอาทิตย์ การอธิษฐานภาวนาทุกวัน การไม่ใช้ยาเสพติด และไม่ดื่มสุราจนมึนเมา

    เพื่อเป็นคริสตชนที่ดี เราต้องทำสิ่งเหล่านี้แน่นอน แต่เราต้องทำมากกว่านั้นอีก เราต้องรับรู้ถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้อื่นและให้อาหารแก่เขาเมื่อเขาหิว เหมือนกับที่กษัตริย์ดาวิดทรงกระทำเพื่อผู้ติดตามของพระองค์ และเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อศิษย์ของพระองค์

    การเป็นคริสตชนที่ดียังหมายถึงการช่วยเหลือบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราเป็นพิเศษ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงช่วยเหลือชายที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์มากเป็นพิเศษในพระวรสารวันนี้

    สรุปได้ว่า การเป็นคริสตชนที่ดีหมายถึงการเลียนแบบพระเยซูเจ้า และแสดงความห่วงใยคนทั้งหลายเหมือนกับที่พระองค์ทรงห่วงใย และไม่ได้หมายถึงเพียงการปฏิบัติตามบทบัญญัติ แต่เหนืออื่นใด เราต้องรักเพื่อนมนุษย์

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา วอนขอพระเยซูเจ้าให้ทรงช่วยให้เรารู้จักรัก เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เหมือนกับพระองค์

    พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราให้เป็นคนมีน้ำใจ
    โปรดทรงสอนเราให้รับใช้พระองค์ อย่างที่พระองค์ทรงสมควรได้รับการรับใช้
    ให้เรารู้จักให้ โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากของเรา
    ให้เราต่อสู้ และไม่คำนึงถึงบาดแผล
    ให้เราทำงาน และไม่แสวงหาการพักผ่อน
    ให้เรายอมเหนื่อยยาก และไม่ร้องขอสิ่งตอบแทน
    ขอเพียงให้เรารู้ว่า เรากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์
 
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 2:23 – 3:6

วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลี บรรดาศิษย์ที่เดินทางอยู่ด้วยเด็ดรวงข้าว

    ในยุคก่อนที่เราจะถูกรุกรานจากรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ประชาชนในเขตชนบทใช้เวลาในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ไปกับการเดินเล่นตามท้องทุ่งใกล้บ้านเรือนของเขาร่วมกับครอบครัวและมิตรสหาย และชาวยิวที่เคร่งครัดก็ยังทำเช่นนี้ในวันสับบาโตในยุคปัจจุบัน วันนี้คือวันสำหรับอธิษฐานภาวนา สำหรับการศึกษาหาความรู้ และวันที่เขาอยู่กับครอบครัว

    กลุ่มมิตรสหายของพระเยซูเจ้าดูเหมือนเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคร่งเครียด ไม่ใช้เวลาครุ่นคิดว่าสิ่งใดที่เขา “ทำได้” และสิ่งใด “ต้องห้าม” ในวันสับบาโต ขณะที่เขาเดินผ่านทุ่งนา เขาเริ่มเด็ดรวงข้าวสาลีมาเคี้ยวกิน

    พระเจ้าข้า โปรดทรงดลใจให้เราชื่นชอบการมีชีวิตที่เรียบง่ายเถิด...

ชาวฟาริสีทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตเล่า”
    ชาวฟาริสีเป็นคนเคร่งศาสนา เขาเป็นคนที่จริงใจ ตรงไปตรงมา ใจกว้าง และต้องการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติทุกข้ออย่างละเอียดถี่ถ้วน อาจารย์ของเขาสอนว่า “ไม่มีบทบัญญัติข้อใดที่ไม่สำคัญ” ชาวฟาริสีอ่านพระคัมภีร์อย่างละเอียด และพบว่ามีข้อห้าม 39 ข้อสำหรับวันสับบาโต ซึ่งเป็นคำในภาษาฮีบรู แปลว่า “พักผ่อน” ... ดังนั้น ชาวยิวจึงถูกห้ามไม่ให้เดินเกินระยะทาง 1,392 เมตร และแน่นอน เขาห้ามเก็บเกี่ยวข้าวสาลีและพืชผลอื่น ๆ ด้วย (อพย 34:21) ชาวฟาริสีตำหนิพระเยซูเจ้าโดยตรง – แทนที่จะตำหนิศิษย์ของพระองค์ – ที่พระองค์ไม่ห้ามปรามศิษย์ของพระองค์ไม่ให้ทำงานในวันสับบาโต ชาวฟาริสีรักธรรมบัญญัติมาก จนเขาบีบคั้นให้พี่น้องชาวยิวของเขาต้องเคารพธรรมบัญญัติด้วย เช่น ในพื้นที่หนึ่งในกรุงเยรูซาเล็ม จนถึงทุกวันนี้ เขายังนำกิ่งไม้มาขวางถนนในตอนเย็นวันศุกร์ เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์วิ่งในวันสับบาโต ... นี่คือความรักศรัทธาต่อพระประสงค์ของพระเจ้าสูงสุด! ... การละเมิดใด ๆ ย่อมกลายที่สะดุด...

พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่า กษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำสิ่งใดขณะที่มีความยากลำบากและหิวโหย พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้าเมื่ออาบียาธาร์เป็นมหาสมณะ ได้เสวยขนมปังที่ตั้งถวาย ซึ่งใครจะกินไม่ได้นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น พระองค์ยังทรงให้ผู้ติดตามกินอีกด้วย”

    เราอาจคาดหมายว่า เมื่อพระเยซูเจ้าทรงใส่ใจกับพระประสงค์ของพระเจ้าเสมอ พระองค์น่าจะเห็นพ้องกับชาวยิวผู้เคร่งครัดศรัทธา ผู้ต้องการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติในทุกรายละเอียด ... แต่ภาพของพระเจ้าตามความคิดของพระเยซูเจ้านั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากภาพของพระเจ้าผู้เข้มงวดและจุกจิกจู้จี้ตามความคิดของชาวฟาริสี คำตอบของพระองค์อาจหาญมาก พระองค์ทรงกล้าแก้ตัวให้ผู้ที่ละเมิดธรรมบัญญัติ – และทรงใช้ข้อความในพระคัมภีร์เป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดของพระองค์ด้วย (1 ซมอ 21:1-7) ... เห็นได้ชัดว่าการกระทำของกษัตริย์ดาวิดเป็นการทุราจาร เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มบุคคลนอกกฎหมาย และเขานำผู้ติดตามของเขาเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเมืองโนบ  ในที่นั้น “ขนมปังที่ตั้งถวาย” สิบสองก้อน เป็นสัญลักษณ์แทนตัวชาวอิสราเอลสิบสองเผ่าที่อยู่เบื้องหน้าพระเจ้า เขาวางขนมปังเป็นสองกอง กองละหกก้อน บนโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ตามจารีตพิธีกรรม ฆราวาสไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องขนมปังศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ทุกวันสับบาโตเขาจะนำขนมปังชุดใหม่มาเปลี่ยน และสมณะจะกินขนมปังเก่าในสถานที่นั้น ... แต่ผู้ติดตามกษัตริย์ดาวิดหยิบฉวยขนมปังเหล่านี้มากิน พระเยซูเจ้าทรงเห็นด้วยกับการกระทำของคนเหล่านี้ และทรงอ้างเหตุผลว่า “เพราะเขาหิว” ... “ความจำเป็นตามธรรมชาติ” อนุญาตให้มนุษย์คนหนึ่งละเมิดจารีตพิธีกรรมได้ ความจำเป็นย่อมสำคัญกว่าธรรมบัญญัติ ไม่ว่าธรรมบัญญัตินั้นจะระบุไว้อย่างชัดเจนเพียงใดก็ตาม...

แล้วพระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต

    นี่เป็นประโยคที่ปฏิวัติความคิดโดยแท้ และเป็นที่สะดุดสำหรับประชาชนในยุคนั้น พระเยซูเจ้าทรงพลิกหลักจริยธรรมในยุคของพระองค์ กล่าวคือ ธรรมบัญญัติทุกข้อ ไม่ว่ามนุษย์หรือพระเจ้าเป็นผู้กำหนด ย่อมกำหนดขึ้นเพื่อรับใช้มนุษย์ – มิใช่มนุษย์เป็นฝ่ายรับใช้ธรรมบัญญัติ ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าชีวิตของมนุษย์ที่กำลังหิวโหยย่อมสำคัญสำหรับพระเจ้ามากกว่าข้อกำหนดของธรรมบัญญัติ...

    ขอบพระคุณพระองค์ ที่ทรงเผยให้เรารู้จักพระเจ้าพระองค์นี้ – พระเจ้าผู้ทรงยืนเคียงข้างมนุษย์เพื่อปกป้องเขา...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นจากทัศนคติที่คับแคบ จากการยึดมั่นในพิธีรีตองทั้งปวง และโปรดทรงช่วยเราให้ใส่ใจความต้องการของพี่น้องชายหญิงของเรา
 
ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย

    เช่นเดียวกับในหน้าอื่น ๆ ของพระวรสาร ข้อความนี้เผยให้เรารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร พระองค์ทรงกล้าอ้างว่าพระองค์ทรงมีอำนาจทุกประการ ... พระองค์ทรงบอกว่าพระองค์คือบุตรแห่งมนุษย์ หรือบุคคลจากสวรรค์ที่ได้รับมอบหมายพันธกิจให้สถาปนาพระอาณาจักรแท้ของพระเจ้า (ดนล 7)...

พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมอีกครั้งหนึ่ง

    ชาวฟาริสีเป็นเจ้าถิ่นในศาลาธรรม ซึ่งเป็นบ้านแห่งธรรมบัญญัติ ทุกวันสับบาโต ชาวยิวที่เคร่งครัดจะมารวมตัวกันที่นี่สามครั้ง ครั้งแรกในตอนเย็นวันศุกร์ ครั้งที่สองในตอนเช้าวันเสาร์ และครั้งที่สามในตอนบ่ายวันเสาร์ การภาวนาของชุมชน ซึ่งอนุญาตให้ชายเข้าร่วมได้เท่านั้น ประกอบด้วยการอ่านพระคัมภีร์โทราห์ (ธรรมบัญญัติ) การขับร้องเพลงสดุดี และการสรรเสริญ หรือวอนขอพระเจ้า
    
ที่นั่นมีชายมือลีบคนหนึ่ง ประชาชนบางคนคอยจ้องมองดูว่าพระองค์จะทรงรักษาชายมือลีบในวันสับบาโตหรือไม่ เพื่อจะหาเหตุกล่าวโทษพระองค์

    การชุมนุมนี้ควรเป็นการรวมตัวกันระหว่างพี่น้องที่เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ภาพของประชาชนที่นั่งเคียงข้างกันนั้นซ่อนความรู้สึกต่อต้านกันในใจ ความเคยชินทำให้เขาไม่รู้จักกัน และมองไม่เห็นปัญหาของเพื่อนมนุษย์ เช่น เขาเห็นชายพิการคนนี้จนชินตา และไม่สนใจเขาอีกต่อไป ... และอาจมีความเกลียดชังซ่อนอยู่อีกด้วย เพราะชาวฟาริสีใส่ใจกับพิธีนมัสการพระเจ้าเพียงเพื่อใช้เป็นโอกาสจับตามองว่าพระเยซูเจ้าจะทรงทำอะไรที่เป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่ เป็นที่รู้กันว่ารับบีหนุ่มคนนี้ไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วนทุกข้อ เขาจึงจับตามองพระองค์เพื่อจับผิดให้ได้แบบคาหนังคาเขา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้หลุดพ้นจากนิสัยของเราที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ขาดความเข้าใจ และความรัก...

พระองค์ตรัสสั่งชายมือลีบว่า “ลุกขึ้น มายืนตรงกลางนี่ซิ”

    ดูราวกับว่าพระเยซูเจ้าทรงตั้งใจจะกระตุ้นให้ศัตรูของพระองค์โกรธ! สิ่งที่พระองค์กำลังจะตรัส และกระทำ จะต้องสำคัญมาก...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งใดชักนำให้พระองค์หันเหไปจากเส้นทางที่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยเลือกไว้แล้ว...

แล้วตรัสถามคนทั้งหลายว่า “ในวันสับบาโตนั้นควรทำความดีหรือความชั่ว ควรจะช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป”

    บ่อยครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงตอบด้วยคำถาม และคำถามของพระองค์เผยความจริงห้าประการ คือ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยว่า พันธกิจของพระองค์คือการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น ... พระองค์ทรงเผยว่าพระองค์ทรงมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ทั่วไป คือทรงปฏิบัติตามจิตสำนึกมากกว่าตามกฎข้อบังคับใด ๆ ... พระองค์ทรงเผยให้เรารู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้ ผู้ทรงต้องการให้สิ่งสร้างของพระองค์มีสุขภาพดี มีชีวิต และมีความสุข ... พระองค์ทรงเผยความหมายแท้จริงของธรรมบัญญัติ โดยทรงระบุจุดประสงค์แท้ของธรรมบัญญัติ (วันสับบาโตเป็นเครื่องหมายแสดงความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงล้มล้างวันสับบาโต แต่ทรงให้ถือวันสับบาโตด้วยชีวิตภายใน) ... ประการสุดท้าย พระองค์ทรงเผยว่าอะไรคือการนมัสการแท้ ซึ่งพระเจ้าทรงพอพระทัย...

    ในทำนองเดียวกัน สำหรับเราคริสตชนในยุคปัจจุบัน วันอาทิตย์ควรเป็นวันแห่งความยินดี วันแห่งชีวิต วันแห่งความรัก วันแห่งการเฉลิมฉลอง วันของพระเจ้า วันที่เราควรทำกิจการดี และวันที่เรา “ช่วยผู้อื่นให้รอดพ้น”...

    ข้าพเจ้าคิดอย่างไรกับวันอาทิตย์? ... ในวันนั้น อะไรคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับข้าพเจ้า? ... ทุกสัปดาห์ ข้าพเจ้า “ทำให้วันของพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์” หรือเปล่า? ... ข้าพเจ้าย่อมทำสิ่งที่ขัดต่อพระวรสารอย่างน่าเศร้า ถ้าในวันที่ข้าพเจ้ามาร่วมพิธีมิสซา ข้าพเจ้าไม่ถวายการนมัสการแด่พระเจ้าอย่างแท้จริงด้วยการแสดงความรักฉันพี่น้อง เพราะนี่คือการนมัสการซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ... คาทอลิกที่ปฏิบัติศาสนกิจด้วยการเข้าร่วมพิธีมิสซานั้น “ปฏิบัติ” การรับใช้ผู้อื่นด้วยหรือเปล่า? พิธีมิสซาคือ “การรับใช้” อันยิ่งใหญ่ เป็น “การถวายพระองค์” ของพระเยซูเจ้าจนถึงที่สุด ... “นี่เป็นกายของเราที่มอบเพื่อท่าน ... นี่เป็นโลหิตของเราที่หลั่งออกเพื่อท่าน ...จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเรา”...

คนเหล่านั้นก็นิ่งอยู่ พระองค์จึงทอดพระเนตรเขาเหล่านั้นด้วยความกริ้ว เศร้าพระทัยเพราะจิตใจหยาบกระด้างของเขา แล้วตรัสสั่งชายมือลีบว่า “จงเหยียดมือซิ” เขาก็เหยียดมือ มือนั้นก็หายลีบ เป็นปกติ

    เขาไม่ต้องการตอบคำถามของพระเยซูเจ้า เขามั่นใจมากเกินไปว่าเขาเป็นผู้รู้ความจริง เขาไม่เสวนากับใคร เขาปฏิเสธแม้แต่จะพูดคุย...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระพักตร์ของพระเยซูเจ้า พระองค์ “กริ้ว” และ “เศร้าพระทัย” ... พระองค์ทรงรักชีวิต และทรงชิงชังสิ่งชั่วร้ายที่ทำร้ายมนุษย์ ... พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยอย่างสุดซึ้งที่เราปฏิเสธพระองค์...

    “จิตใจหยาบกระด้าง” เป็นวลีที่รุนแรงที่สุดในพระคัมภีร์ หมายถึงการไม่ยอมเชื่อด้วยความดื้อรั้น จนทำให้ไม่สามารถมองเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร (อพย 8:11, 15:25; ฉธบ 15:7; สดด 4:3, 95:8)...

ชาวฟาริสีจึงออกไป และประชุมกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดทันที เพื่อปรึกษาว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร
    
    ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก ชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้าเพิ่งจะเริ่มต้น – และไม้กางเขนก็ปรากฏให้เห็นได้บนขอบฟ้าแล้ว ... การต่อสู้อย่างไร้ความปรานีนี้จะดำเนินอยู่นานถึงสามปี...

    ธรรมล้ำลึกแห่ง “การพิพากษา” - คือ การทำงานของพระเยซูเจ้าเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ - กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง พระองค์ทรงต้องการเพียงจะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น – แต่เขาคิดจะฆ่าพระองค์ ... คำสั่งสอนที่ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระกลับทำให้เกิดผลตรงกันข้าม เพราะพวกเขาขังตนเองให้อยู่ภายในจิตใจอันหยาบกระด้างของเขา พวกเขาได้ถูกพิพากษาโทษแล้ว ... เพราะเขาได้พิพากษาโทษตนเองแล้ว

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้หลุดพ้นจากจิตใจที่หยาบกระด้างของเราด้วยเถิด...