วันอาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
โยบ 38:1, 8-11; 2 โครินธ์ 5:14-17; มาระโก 4:35-41
บทรำพึงที่ 1
ลมพายุ
การภาวนาสามารถเปลี่ยนมรสุมชีวิตให้กลายเป็นโอกาสให้เราได้รับพระหรรษทานอันยิ่งใหญ่
เมลวิน บิทเตอร์ส และเกอร์ทรูด ภรรยาของเขา มีบุตรหกคน เช่นเดียวกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ทั่วไป เขารู้สึกว่าอยากปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังสักสองสามชั่วโมง หลังจากกำชับบุตรของเขาไม่ให้ซุกซน ทั้งสองก็ขับรถไปยังทะเลสาบเพื่อแล่นเรือใบลำเล็ก
วันนั้นลมค่อนข้างแรง และในไม่ช้าก็พัดเขาออกไปไกลจากฝั่ง ท้องฟ้ามืดครึ้มลงในทันทีทันใด ลมที่พัดเอื่อย ๆ กลายเป็นพายุ คลื่นลูกใหญ่ ๆ เริ่มซัดเข้าใส่เรือ ไม่กี่นาทีต่อมา เรือของเขาก็ล่มและจมหายไปใต้น้ำที่ปั่นป่วน เมลและภรรยาของเขากอดหมอนชูชีพเล็ก ๆ คนละใบไว้แน่น เขาลอยคอท่ามกลางคลื่นแรงนานสองชั่วโมง อากาศเริ่มเย็นลง เขาทั้งสองหนาวสั่นและหมดแรง เขารู้สึกว่าจุดจบใกล้เข้ามาแล้ว เขารวบรวมกำลังเท่าที่มีอยู่และร่วมกันสวดภาวนา จากนั้นเขาก็ปล่อยมือกัน และค่อย ๆ ลอยออกห่างจากกัน
ห้าชั่วโมงต่อมา เมลยังลอยคออยู่ได้ แต่อยู่ในสภาพแทบหมดสติ เขาเริ่มร้องเรียกชื่อภรรยาของเขา แต่เมื่อเขาไม่ได้ยินเสียงตอบ เขาก็เริ่มหมดความหวังว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ เขาเริ่มคิดว่าเขาจะต้องเจ็บปวดเพียงไรเมื่อเขาบอกลูก ๆ ของเขาว่าแม่ของพวกเขาจมน้ำตายแล้ว ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น เขาเริ่มคิดถึงความเจ็บปวดที่แม้แต่ตัวเขาก็คงไม่รอดชีวิต
แล้วเขาก็ระลึกถึงข้อความหนึ่งจากเพลงสดุดี 50 “จงเรียกเราในยามทุกข์ร้อน เราจะช่วยท่านให้รอดพ้น แล้วท่านจะถวายเกียรติแก่เรา” (สดด 50:15) เมลจึงเริ่มเรียกหาพระเจ้าด้วยความเชื่อทั้งหมดที่เขามี และด้วยความวางใจทั้งหมดที่เขารวบรวมได้ เมื่อเสียงของเมลเริ่มแผ่วและจางหายไป เรือกู้ภัยลำหนึ่งก็เห็นเขา
ขณะที่เขาดึงเมลขึ้นจากน้ำที่เย็นเฉียบขึ้นมาบนเรือ เมลถามผู้ที่ช่วยเขาว่าได้ยินข่าวใด ๆ เกี่ยวกับภรรยาของเขาหรือไม่ คนเหล่านั้นส่ายหน้า บอกว่า “ไม่มีเลย เรายังไม่หาเธอไม่พบ”
จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ พวกเขาเห็นภรรยาของเมล ลอยอยู่ไกล ๆ เมื่อเขาไปถึงตัวเธอ เธอหนาวจนตัวแข็งแต่ยังมีชีวิต เขาทั้งสองร้องไห้ที่ได้กลับมาพบกัน แล้วก็ภาวนาขอบพระคุณพระเจ้า
ภายหลัง เมลและภรรยา – พร้อมกับบุตรของเขา – ได้ร่วมกับภาวนาขอบพระคุณพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เขาขอบพระคุณพระเจ้ามิใช่เพราะพระองค์ทรงช่วยเขาให้รอดพ้นจากความตายเท่านั้น แต่พระองค์ยังนำเขาเข้ามาใกล้ชิดพระองค์ และใกล้ชิดกันและกันมากขึ้นด้วย อันเป็นผลมาจากพายุนั้น
เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องในพระวรสารวันนี้ ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องของบุคคลที่ตื่นตระหนกขณะที่เขาอยู่ท่ามกลางลมพายุในทะเล และกลัวว่าจะต้องเสียชีวิต ทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพราะความกลัว และพระเจ้าก็ทรงสดับฟังคำภาวนาของเขา ประสบการณ์นี้ทำให้เขามีความเชื่อมากขึ้น
ทั้งสองเรื่องนี้เสนอคำสอนสำคัญสองข้อแก่เรา เป็นคำสอนที่เรามักลืมและจำเป็นต้องย้ำเตือนตนเองหลายครั้ง ข้อแรก เรื่องทั้งสองนี้บอกเราว่าบ่อยครั้งที่มรสุมชีวิตกลายเป็นโอกาสที่นำเราเข้าไปใกล้ชิดพระเจ้า และใกล้ชิดกันและกันมากขึ้น ขอให้สังเกตว่าผมใช้คำว่า “บ่อยครั้ง” เพราะมิใช่ทุกครั้งที่เป็นเช่นนี้
อันที่จริง มรสุมชีวิตสามารถทำให้เกิดผลตรงกันข้ามได้ เพราะอาจทำให้ช่องว่างระหว่างพระเจ้า และระหว่างพวกเราเอง ถ่างกว้างมากขึ้นอีก ดังนั้นจึงนำไปสู่คำสอนข้อที่สอง คือ สิ่งที่ทำให้มรสุมชีวิตนำเราเข้าไปใกล้ชิดพระเจ้าและกันและกันมากขึ้น แทนที่จะทำให้เราออกห่างจากพระเจ้าและกันมากขึ้น ก็คือการภาวนา
ทั้งนี้ไม่ใช่การภาวนาแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการภาวนาแบบที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ คือ การภาวนาด้วยความไว้วางใจทั้งหมดในพระเจ้า และวางใจในพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับเรา นี่คือการภาวนาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงภาวนาในสวนเกทเสมนี เมื่อพระองค์ทูลพระบิดาว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42)
การภาวนาโดยไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับเรานั้น ไม่ใช่การภาวนาที่แท้จริง เพราะเรากำลังทำเสมือนว่าพระเจ้าทรงเป็นคนรับใช้ของเรา และมิใช่เป็นพระบิดาผู้รักเรา การภาวนาเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าเราเห็นแก่ตัว และไม่มีความวางใจเลยว่าพระเจ้าทรงรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับเรา
มีตำนานเก่าแก่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหญิงคนหนึ่งที่ต้องเลี้ยงดูบุตรเล็ก ๆ ตามลำพัง วันหนึ่งพระเจ้าทรงบอกนางให้เตรียมตัวตาย มารดาผู้นี้ค้านว่า “แล้วใครจะดูแลบุตรเล็ก ๆ ของดิฉันเล่า”
พระเจ้าจึงทรงนำนางลงไปยังก้นทะเล ทรงหยิบเปลือกหอยชิ้นหนึ่งขึ้นมาและเปิดฝาออก ภายในเปลือกหอยมีหนอนตัวเล็กมากอาศัยอยู่ พระองค์ตรัสกับหญิงผู้นี้ว่า “ถ้าเราไม่ลืมสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ภายในเปลือกหอยเล็ก ๆ นี้ เราจะลืมบุตรของเจ้าได้อย่างไร”
หญิงผู้นี้จึงทูลพระเจ้าว่า “ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมพระองค์จึงจะรับดิฉันไป แต่ดิฉันวางใจว่าพระองค์ทรงรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับลูก ๆ ของดิฉัน และสำหรับตัวดิฉันเอง ดังนั้นดิฉันจะเตรียมตัวตาย”
เราจะย้อนกลับมาพิจารณาคำสอนสองข้อจากเรื่องของ เมล บิทเตอร์ส และเรื่องในพระวรสารวันนี้ นั่นคือ มรสุมชีวิตสามารถชักนำเราไปใกล้ชิดพระเจ้า และกันและกันมากขึ้น หรืออาจผลักเราให้เหินห่างจากพระเจ้าและจากกันและกันมากขึ้นก็ได้
และการภาวนาเป็นสิ่งที่ตัดสินว่ามรสุมชีวิตจะชักนำเราไปใกล้ชิดหรือเหินห่างจากพระเจ้าและจากกันและกัน ไม่ใช่การภาวนาแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการภาวนาแบบที่พระเยซูเจ้าทรงภาวนา และทรงสอนเราให้ภาวนา เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ... อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” นี่คือการภาวนาด้วยความไว้วางใจทั้งหมดในพระเจ้า และวางใจในพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับเรา
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนที่เรารู้จักกันดี
ฉันนั่งอยู่ในห้องใต้หลังคาเก่า ๆ ขณะที่ฝนตกพรำ
ฉันพลิกหน้าหนังสือเรียนที่ฝุ่นจับ ขาด และเก่าจนเป็นสีน้ำตาล
ฉันพลิกถึงหน้าที่ถูกพับไว้
บนหน้ากระดาษมีลายมือของเด็กเขียนไว้ว่า
“ครูบอกว่าให้พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะเข้าใจยาก”
ฉันคลี่หน้านั้นออกอ่าน
แล้วฉันก็พยักหน้า และพูดว่า
“ครูพูดถูก – บัดนี้ฉันเข้าใจแล้ว”
ในหนังสือชีวิตมีหลายหน้าที่เข้าใจยาก
เราทำได้เพียงพับหน้านั้นไว้ก่อน และเขียนว่า
“ครูบอกว่าให้พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะเข้าใจยาก”
แล้ววันหนึ่ง – อาจเป็นวันหนึ่งในสวรรค์ –
เราจะคลี่หน้านั้นออกอ่านอีกครั้งหนึ่ง และพูดว่า
“ครูพูดถูก – บัดนี้ฉันเข้าใจแล้ว”
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 4:35-41
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนโดยใช้อุปมา ผู้ฟังพระองค์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ “กลุ่มศิษย์” ที่เข้าใจ เมื่อ “พระอาจารย์” ของเขาอธิบายความหมายเมื่อเขาอยู่กับพระองค์ตามลำพัง แต่ “คนนอก” หมายถึงฝูงชน ที่ยังไม่เข้าใจ
ในพระวรสารของมาระโก เขาเล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์สี่อย่าง หลังจากบอกเล่าเรื่องอุปมา พระองค์ทรงทำอัศจรรย์เหล่านี้ “ต่อหน้าศิษย์ของพระองค์” และมิใช่ต่อหน้าฝูงชน หรือว่านี่คือ “อุปมาในรูปของการกระทำ” และเราควรค้นหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ นอกเหนือจากศึกษารายละเอียด
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเป็นอาการปกติที่บรรดาอัครสาวกจะเรียกพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์” เมื่อเขาตกอยู่ท่ามกลางลมพายุ ดังนั้น ขอให้เราฟังคำสั่งสอนที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์นี้เถิด การอ่านความหมายเชิงเทววิทยา จะทำให้เราเข้าใจความหมายของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้ในระดับลึกมากขึ้น
พระเยซูเจ้าตรัสเป็นอุปมากับประชาชน เย็นวันเดียวกันนั้น พระเยซูเจ้าตรัสสั่งบรรดาศิษย์ว่า “เราจงข้ามไปทะเลสาบฝั่งโน้นกันเถิด” บรรดาศิษย์จึงละประชาชนไว้ และออกเรือที่พระองค์ประทับอยู่นั้นไป มีเรือลำอื่น ๆ ติดตามไปด้วย
ข้าพเจ้าวาดภาพในจินตนาการว่าเป็นเวลาเย็นในฤดูร้อนที่อากาศปลอดโปร่ง พระเยซูเจ้าทรงขอยืมเรือของซีโมน เปโตร และค่อย ๆ ถอยออกจากชายหาดของเมืองคาเปอรนาอุม
อากาศเริ่มเย็นลงหลังจากร้อนจัดมาทั้งวัน และหลังจากต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชน พระเยซูเจ้าก็ทรงมีเวลาอยู่ตามลำพังกลางทะเลกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ร้องขอเวลาอยู่อย่างสงบเงียบเช่นนี้ “เราจงข้ามไปทะเลสาบฝั่งโน้นกันเถิด” เรือกางใบออกรับลมเต็มที่ เราได้ยินแต่เสียงน้ำซัดหัวเรือ และเสียงนกร้อง พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเทศน์สอนมาทั้งวัน และทรงผล็อยหลับไปบนเรือที่พระองค์ประทับอยู่ พระเศียรหนุนหมอนอยู่ที่ท้ายเรือ เปโตรกำลังคัดท้ายเรืออยู่ข้างพระกายพระองค์
บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรในศตวรรษที่หนึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำบอกเล่าแต่ละคำ ในแต่ละประโยค
“วันเดียวกันนั้น” ไม่ได้มุ่งหมายเพียงจะบอกว่า วันแห่งการเทศน์สอนด้วยเรื่องอุปมาได้สิ้นสุดลงแล้ว ในพระวรสารของมาระโก การเรียงลำดับเหตุการณ์มีความหมายทางเทววิทยามากกว่าเป็นการรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ “วันนั้น” จะไม่ใช่วันธรรมดา เปโตรจะจดจำวันนั้นไปตลอดชีวิตของเขา เพราะเขาจำได้ว่าเคยอ่านในพระคัมภีร์เกี่ยวกับ “วันของพระยาห์เวห์” ที่ชาวยิวรู้จักดี ซึ่งหมายถึงวันแห่งการเข้าแทรกแซงด้วยพระสรรพานุภาพของพระเจ้า วันที่จะมาถึงหลังจากภัยพิบัติในอวสานกาล (ยอล 2, 3)
“เย็นวันนั้น” เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อากาศไม่เพียงเย็นลง แต่ยังเป็น “เวลาของความมืด” เวลาแห่งการทดลองอีกด้วย (มก 14:17; ยน 9:4, 13:30)
“ข้ามไปฝั่งโน้น” ไม่ได้หมายถึงฝั่งตรงกันข้ามของทะเลสาบเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการข้ามไปสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นชะตากรรมของมนุษย์ชายหญิงทุกคน เมื่อถึงยามเย็นของชีวิตบนโลกนี้
นี่คือวันอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์แต่ละคน วันอื่น ๆ ทุกวันกำลังเตรียมเราให้พร้อมสำหรับ “วันของพระเจ้า”
ขณะนั้นเกิดพายุแรงกล้า คลื่นซัดเข้าเรือจนน้ำเกือบจะเต็มเรืออยู่แล้ว
นี่คือลมพายุจริง ๆ เป็นที่รู้กันแม้แต่ในปัจจุบันว่ามักมีกระแสลมแรงพัดจากที่ราบสูงโกลัน ลงมายังทะเลสาบกาลิลี เปโตรเป็นชาวประมง เขาคุ้นเคยกับกระแสลมแรงนี้ดีกว่าใคร ลมนี้สามารถทำให้เสากระโดงเรือหัก และเรือพลิกคว่ำได้
แต่ลมพายุไม่ได้โถมเข้าใส่เราเฉพาะในทะเลเท่านั้น ในทุกภาษา คำว่าพายุ หมายถึง “การทดลองที่โจมตีมนุษย์คนหนึ่งอย่างกะทันหัน” ด้วย ในพระคัมภีร์ ลมพายุบ่อยครั้งเป็นสัญลักษณ์ของพลังของความชั่ว เราจินตนาการว่าการเนรมิตสร้างหมายถึงชัยชนะของพระเจ้า เหนือความมืดที่ปกคลุมผิวน้ำในยุคดึกดำบรรพ์ (ปฐก 1:2) ตำนานเซมิติกเล่าว่าทะเลเป็นที่อยู่ของมังกร หรือเลวีอาธาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของซาตาน (อสย 27:1; สดด 74:13; โยบ 9:13; ดนล 7; วว 12, 13)
พระองค์บรรทมหลับหนุนหมอนอยู่ที่ท้ายเรือ
ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้ากำลังบรรทมหลับ พระเนตรปิด ทรงหายใจเป็นจังหวะและอย่างสงบอยู่ที่ท้ายเรือ ขณะที่ลมพายุกำลังพัดกระหน่ำ ภาพนี้กระตุ้นให้ข้าพเจ้าภาวนา พระเจ้าข้า พระองค์ทรงกำลังนำทางเราไปที่ใด? เราทายใจพระองค์ไม่ได้เลย!
พระคัมภีร์กล่าวถึงชายอีกคนหนึ่งที่นอนหลับท่ามกลางพายุ และลูกเรือมาปลุกเขา (ยนา 1:3, 16) เป็นเรื่องบังเอิญหรือที่พระเยซูเจ้าทรงเอ่ยถึง “เครื่องหมายของโยนาห์” ว่าเป็นเครื่องหมายหนึ่งเดียวที่พระองค์ทรงต้องการแสดงแก่ประชาชน – เป็นเครื่องหมายของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เอง (มธ 12:39-40; ลก 11:29-30; มก 8:12-13)?
นอกจากนี้ ผู้เขียนพระคัมภีร์มักใช้คำว่า “นอนหลับ” เมื่อกล่าวถึงความตาย (สดด 13:4; ดนล 12:2; อฟ 5:14; ยน 11:11; มก 5:39-41)
ท้ายที่สุด นี่คือภาพลักษณ์ที่ใช้แทนคำบรรยาย “ความไม่ใยดีของพระเจ้า” และ “การไม่ประทับอยู่ของพระเจ้า” ตื่นเถิด พระเจ้าข้า พระองค์บรรทมหลับอยู่ได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้? (สดด 44:24, 35:23, 59:6, 78:65; อสย 51:9-10)
เป็นความจริงทีเดียว พระเจ้าข้า ทุกครั้งที่เราเผชิญกับมรสุมในชีวิตมนุษย์ พระองค์ดูเหมือนกำลังบรรทมหลับ มนุษย์สมัยใหม่ไม่ใช่ผู้คิดประดิษฐ์หัวข้อ “การตายของพระเจ้า” แต่เป็นการแสดงออกความรู้สึกลึก ๆ ของสภาวะมนุษย์ของเรา ความรู้สึกอ่อนแอ และความกลัว เมื่อพระเจ้าไม่ทรงเข้าแทรกแซงกฎธรรมชาติ และทรงปล่อยให้ความตายแสดงอำนาจอย่างเต็มที่ – เมื่อนั้นดูเหมือนว่าพระเจ้ากำลังบรรทมหลับ
บรรดาศิษย์จึงปลุกพระองค์ ทูลถามว่า “พระอาจารย์ พระองค์ไม่สนพระทัยที่พวกเรากำลังจะตายอยู่แล้วหรือ”
นี่คือคำภาวนาที่น่าชื่นชม และควรเป็นคำภาวนาของเราทุกครั้งที่เราเผชิญกับมรสุมชีวิต
พระองค์จึงทรงลุกขึ้น บังคับลม ตรัสสั่งทะเลว่า “เงียบซิ จงสงบลงเถิด” ลมก็หยุด ท้องทะเลราบเรียบอย่างยิ่ง
คำว่า “ลุกขึ้น” นี้แปลจากคำภาษากรีกว่า “ตื่นขึ้น” (diegertheis) และบ่อยครั้งใช้ในกรณีที่หมายถึง “กลับคืนชีพ” ด้วย (มก 5:41, 16:6-14)
คำบอกเล่าของมาระโกเป็นเสียงสะท้อนของคำเทศน์สอนของเปโตร ดังนั้น ในลมพายุที่เกิดขึ้นจริงนี้ เราจึงมองเห็นพายุใหญ่แห่งพระทรมาน ซึ่งกระหน่ำเรือลำน้อยของคณะอัครสาวก เมื่อพระคริสตเจ้าบรรทมหลับในความตาย แต่หลังจากทรงเผชิญหน้ากับอำนาจของความตายที่มี “ทะเล” เป็นสัญลักษณ์นี้ พระคริสตเจ้าทรงลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราพบการกล่าวถึงทะเลในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษย์ เพราะมาระโกใช้คำเดียวกันในกรณีนี้ คือ พระเยซูเจ้าทรง “บังคับ” ปีศาจให้มัน “เงียบ” (มก 1:25, 9:25)
แล้วพระองค์ตรัสถามเขาว่า “ตกใจกลัวเช่นนี้ทำไม ท่านยังไม่มีความเชื่อหรือ”
ประโยคนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำถาม แต่เป็นคำตำหนิอย่างแข็งกร้าวอีกด้วย “ท่านไม่มีความเชื่อ ... ท่านสูญเสียความเชื่อ” ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ระหว่างพระทรมาน เมื่อพวกเขาหนีไปหมด พวกเขาปฏิเสธพระองค์ และคลางแคลงใจ ... พระวรสารย้ำถึงสามครั้งว่าบรรดาอัครสาวก “ไม่เชื่อ” พระองค์ “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้าง เพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:11, 13, 14)
พายุในชีวิตของข้าพเจ้าคืออะไร? พระเจ้าจะทรงบังคับให้มันสงบลงหรือไม่?
ถ้าเราอ่านพระวรสารอย่างไร้เดียงสา เราอาจเชื่อเช่นนั้น ทะเลสาบกาลิลีที่ราบเรียบอย่างยิ่ง อาจทำให้เราฝันว่าชีวิตของเราจะสงบราบรื่นเช่นกัน และพระเจ้าจะทรงเข้าแทรกแซงกฎธรรมชาติ เพื่อช่วยเราไม่ให้ต้องพบกับการทดลองและความตาย
แต่การอ่านพระวรสารด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง จะทำให้เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังเชิญชวนเราให้ “ชำระความเชื่อของเรา” เมื่อพระองค์ทรง “ผ่านการบรรทมหลับในความตาย” แล้วเท่านั้น พระองค์จึงช่วยเราให้หลุดพ้นจากอำนาจของความตายได้ พายุในชีวิตของเราไม่อาจสงบลงได้โดยอาศัยความเชื่อแบบใดก็ได้ แต่ต้องอาศัยความเชื่อใน “พระเยซู คริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ” ความรอดพ้นที่เราเชื่อนั้นไม่ใช่การหนีรอดอย่างอัศจรรย์จากความทุกข์ยากที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ของเรา ความมั่นใจในอำนาจของพระองค์ไม่ได้คุ้มครองพระคริสตเจ้าให้รอดพ้นจากการผ่านความตาย การผ่านการทดลองเท่านั้นที่จะทำให้เรา “ข้ามไปถึงฝั่งอีกฟากหนึ่ง” ได้ แต่พระเยซูเจ้าจะทรงประทับอยู่กับเราขณะที่เราเผชิญกับการทดลองเสมอ
พระวรสารหน้านี้ของมาระโกช่างน่าประทับใจจริง ๆ เมื่อเราถอดรหัสสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้!
เขาเหล่านั้นกลัวมาก พูดกันว่า “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ ลมและทะเลจึงยอมเชื่อฟังเช่นนี้”
เป็นครั้งแรกที่มาระโกกล่าวถึงคำถามที่ผุดขึ้นในใจของศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ นี้ เป็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับบุคลิกภาพอันเร้นลับของ “อาจารย์” หนุ่มคนนี้ ซึ่งพวกเขายอมสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อมาติดตามพระองค์
พระองค์ทรงเป็นเพียง “รับบี” เหมือนกับคนอื่น ๆ อีกมากมายหรือ? พระองค์เป็นใครกันแน่? พระองค์จะทรงนำเขาไปสู่การผจญภัยประเภทใด? พระองค์จะทรงนำเขาไปที่ใด?
อีกไม่นาน พระเยซูเจ้าเองจะทรงถามเขาว่า “ท่านเล่า คิดว่าเราเป็นใคร” ไม่มีใครหลบเลี่ยงที่จะถามตนเองเช่นนี้ได้ และการไม่ตอบก็ถือว่าเป็นคำตอบอย่างหนึ่ง เพราะหมายถึงการยอมรับว่าพายุในชีวิตมนุษย์ของเราได้นำไปสู่สภาพอับปางและความว่างเปล่า
แต่ “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระเยซูคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ (2 คร 5:17) และเมื่อความเชื่อของเราผ่านการชำระจนบริสุทธิ์แล้ว ความเชื่อนั้นจะนำเราเข้าสู่ชีวิตใหม่
“เราจงข้ามไปฝั่งโน้นกันเถิด” พระเจ้าข้า พระองค์กำลังตรัสเช่นนี้