วันอาทิตย์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
เยเรมีย์ 23:1-6; เอเฟซัส 2:13-18; มาระโก 6:30-34
บทรำพึงที่ 1
ค้นหาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
เราทุกคนจำเป็นต้องจัดสรรเวลาสักครู่ในแต่ละวัน เพื่อหยุดพักและภาวนา
เมื่อหลายปีก่อน หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้ตีพิมพ์บทความหน้าหนึ่งที่มีหัวข้อว่า “ในบางบริษัท ศาสนกิจเป็นกิจกรรมสำคัญในแต่ละวัน” บทความนี้กล่าวถึงบริษัท Service Master Industries ที่ดาวเนอร์ส โกรฟ รัฐอิลินอยส์ เป็นตัวอย่าง
ที่นั่น ผู้บริหารระดับสูงได้จัดสรรเวลาให้พนักงานศึกษาพระคัมภีร์ทุกสัปดาห์ และจัดกลุ่มภาวนา และบริษัทเชิญพนักงานและคู่สมรสไปเข้าเงียบประจำปีเป็นเวลาสามวันด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่บทความนี้อ้างถึง คือ General Development Corporation ในรัฐไมอามี่ ผู้บริหารในองค์กรนี้ผลัดกันทำหน้าที่เป็นผู้นำกิจกรรมทางศาสนาในแต่ละสัปดาห์
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ R. J. Reynolds Industries ที่วินสตัน ซาเลม ในรัฐนอร์ท คาโรไลนา บริษัทนี้มีวัดน้อยที่เปิดอยู่ตลอดเวลา และมีจิตตาภิบาลประจำวัด ผู้ได้รับเงินเดือนจากบริษัท
ตัวอย่างสุดท้ายที่บทความอ้างถึง คือ Midwest Federal Savings and Loan ในรัฐมินนีอาโปลิส ผู้บริหารของบริษัทนี้ได้จัดสถานที่ในชั้นบนสุดของอาคารสำนักงานใหม่ของเขา ให้เป็นวัดน้อย แทนที่จะทำเป็นห้องดื่มค็อกเทล
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่ Wall Street Journal ได้ยกมากล่าว แต่พอจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึกของบทความนี้ได้
เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ New York Times ก็ตีพิมพ์บทความทำนองนี้เช่นกัน บทความนี้กล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนาแบบเดียวกันนี้ในหมู่นักธุรกิจในนครนิวยอร์ก บทความนี้ยังอธิบายเหตุผลที่คนจำนวนมากหันมาสนใจการภาวนา โดยยกคำพูดของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า “(นักธุรกิจ) หันมาหากิจกรรมนี้ เพราะต้องการรวมกลุ่มกับบุคคลที่เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับแรงกดดันในชีวิตของนักธุรกิจ”
ในประเด็นนี้ ผู้บริหารคนหนึ่งกล่าวถึงการประชุมรายสัปดาห์ที่เขาเข้าร่วมที่ เชส แมนฮัตตัน พลาซา ว่า “สถานที่นี้เป็นสถานีเติมพลังงานสำหรับผม ถ้าผมไม่สามารถมาที่นี่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะทำอะไรได้”
ประเด็นที่นักธุรกิจเหล่านี้กล่าวถึงเป็นประเด็นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าตรัสถึง เมื่อพระองค์ตรัสกับศิษย์ของพระองค์ในพระวรสารวันนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” (มก 6:31)
มาระโกอธิบายต่อไปว่าเหตุใดพระเยซูเจ้าจึงตรัสเช่นนี้กับศิษย์ของพระองค์ เขาบอกว่ามีคนมากมายอยู่ในที่นั้น จนบรรดาศิษย์ไม่มีแม้แต่เวลากินอาหาร นักธุรกิจและพระเยซูเจ้ากล่าวตรงกันว่า บางครั้ง เราจำเป็นต้องหาเวลาพักผ่อน เพื่อให้เรามีมุมมองใหม่ ๆ และฟื้นฟูจิตใจของเรา
ยิ่งกว่านั้น ทั้งพระเยซูเจ้าและนักธุรกิจยังชี้ให้เห็นความจำเป็นที่เราต้องหาเวลาพักผ่อน และนำพาตนเองไปสัมผัสกับศูนย์กลางตัวตนของเรา – โดยเฉพาะกับพระเจ้า ผู้ประทับอยู่ที่ศูนย์กลางตัวตนของเรา
ในบทความหนึ่งที่ตั้งหัวข้อว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ – เคล็ดลับของหัวใจที่สงบสุข” มาร์กาเร็ต แบลร์ จอห์นสโตน เรียกความจำเป็นต้องสัมผัสกับศูนย์กลางตัวตนของเรา ว่าเป็นความจำเป็นต้องมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของเรา
บางคนหลบเข้าไปอยู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ขณะที่เขาดื่มกาแฟในเวลาเช้าตรู่ก่อนที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะตื่น บางคนเข้าไปอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เมื่อเขาอยู่ตามลำพังในห้องเงียบ ๆ หลังจากสมาชิกครอบครัวเข้านอนหมดแล้ว และยังมีคนอื่น ๆ ที่ค้นพบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์
ในบทความของมาร์กาเร็ต แบลร์ จอห์นสโตน เธอเล่าว่าเพื่อนคนหนึ่งของเธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในย่านคนยากจนในเมือง ห้องพักของเธอมีหน้าต่างเพียงบานเดียวที่เมื่อมองออกไปจะเห็นแต่ตรอกสกปรก การหาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ส่วนตัวน่าจะทำได้ยาก แต่เธอก็หาจนพบ จอห์นสโตนบรรยายชีวิตประจำวันของเพื่อนของเธอว่า “ชีวิตของเธอประกอบด้วยการเดินย่ำบนทางเท้า ขึ้นบันใดไปยังห้องเช่า รับฟังคำร้องทุกข์ และบันทึกข้อมูลที่น่าเบื่อ”
“คืนหนึ่งดิฉันแวะไปที่ห้องพักของเธอเพื่อส่งข่าว เธอเชิญดิฉันเข้าไปในห้อง ดิฉันเห็นห้องเล็ก ๆ นั้นสว่างเรืองรองด้วยแสงจากเทียนไข เธอกล่าวว่า ‘ดิฉันป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นบ้าด้วยวิธีนี้ ทุกคืนดิฉันจะจุดเทียนเหล่านี้สัก 15 นาที สำหรับดิฉัน สิ่งที่สงบที่สุดในโลกคือเทียนที่จุดไฟ’ ”
ดังนั้น เราจึงค้นพบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือเราต้องค้นหาให้พบ เราต้องสัมผัสกับศูนย์กลางภายในตัวเรา และสัมผัสกับพระเจ้าผู้ประทับอยู่ในที่นั้น
สิ่งสำคัญคือเราต้องบำรุงเลี้ยงจิตของเราด้วยการประทับอยู่ของพระเจ้า เพื่อเราจะมีกำลังทำงานของพระเจ้าต่อไปในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและวุ่นวาย
สิ่งสำคัญคือเราต้องหาเวลาสักห้าหรือสิบนาทีในแต่ละวัน เพื่ออยู่เงียบ ๆ ในความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้ทรงต้องการตรัสกับวิญญาณของเรา และฟื้นฟูจิตใจของเรา
มีบทภาวนาที่ไพเราะมากบทหนึ่ง ชื่อ “พระเจ้าข้า โปรดชะลอความเร่งรีบของข้าพเจ้า” บทภาวนานี้กล่าวถึงประเด็นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงในพระวรสารวันนี้ และที่นักธุรกิจกำลังบอกเราในปัจจุบัน และเป็นบทภาวนาที่เหมาะสมจะใช้สรุปบทรำพึงนี้
พระเจ้าข้า โปรดทรงชะลอความเร่งรีบของข้าพเจ้า
โปรดทรงทำให้หัวใจของข้าพเจ้าเต้นช้าลง
ด้วยการทำให้จิตใจของข้าพเจ้าสงบ...
โปรดประทานความสงบแห่งเนินเขานิรันดรแก่ข้าพเจ้า
ท่ามกลางความสับสนในชีวิตแต่ละวันของข้าพเจ้า
โปรดทรงคลายความตึงเครียดของประสาทและกล้ามเนื้อของข้าพเจ้า
ด้วยเสียงดนตรีอันนุ่มนวล
ด้วยเสียงขับร้องของลำธารที่อยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า
โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้รู้จักพลังของการนอนหลับ
ที่มีอำนาจเหมือนเวทย์มนตร์ในการฟื้นฟูร่างกายของข้าพเจ้า
โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้เข้าใจศิลปะแห่งการพักผ่อนระยะสั้น ๆ
การชะลอความเร็วเพื่อมองดูดอกไม้สักดอกหนึ่ง
เพื่อคุยกับเพื่อน เพื่อลูบหัวสุนัข
เพื่ออ่านหนังสือดี ๆ สักสองสามบรรทัด
โปรดทรงเตือนใจข้าพเจ้าในแต่ละวัน
ให้ระลึกถึงนิทานเรื่องกระต่ายและเต่า
เพื่อให้ข้าพเจ้ารู้ว่า
ผู้ชนะในการแข่งขันไม่ใช่ผู้ที่เร็วเสมอไป
แต่มีสิ่งอื่น ๆ ในชีวิต มากกว่าการเร่งความเร็วให้ชีวิต
ขอให้ข้าพเจ้ายกสายตาขึ้น
และมองดูกิ่งก้านของต้นโอ๊กที่กำลังผลิดอก
และให้ข้าพเจ้ารู้ว่าต้นโอ๊กนั้นใหญ่โตและแข็งแรง
เพราะมันเติบโตอย่างเชื่องช้า และมั่นคง
พระเจ้าข้า โปรดทรงชะลอความเร่งรีบของข้าพเจ้า
และทรงดลใจให้ข้าพเจ้าแทงรากของข้าพเจ้า
ลึกลงไปในดินแห่งคุณค่าอันยั่งยืนของชีวิต
เพื่อข้าพเจ้าจะเติบโตสูงขึ้น
จนถึงจุดหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่าของข้าพเจ้า (Wilfred A. Peterson)
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 6:30-34
หลังจากปฏิบัติพันธกิจครั้งแรก บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้า...
ในข้อความนี้ มาระโกเรียกศิษย์กลุ่มนี้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายว่า “อัครสาวก (Apostoloi แปลว่า ผู้ที่ถูกส่งไป) เมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ยินคำสั่งของพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงส่งเขาไป พวกเขาอยู่เป็นคู่ ๆ กับเพื่อนอัครสาวกเป็นเวลาไม่กี่วัน โดยปราศจากพระเยซูเจ้า
บัดนี้เขากลับมาจากการปฏิบัติงานแพร่ธรรม เขารับรู้ได้ถึงพลังของข่าวดี – และยิ่งกว่านั้น เขาคงรับรู้ด้วยถึงแรงต้าน การปฏิเสธ และความไม่สนใจใยดีของประชาชนต่อคำพูดของเขา ... ข้อความต่อจากนี้บอกเราว่าเขาเหน็ดเหนื่อย และอยากพักผ่อน คนยุคนั้นเดินทางด้วยเท้า...
ระหว่างนั้นพระเยซูเจ้าทรงทำอะไร ตามลำพัง?...
... และทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน
นี่คือเวลาที่เขาต้อง “รายงานผล” เมื่อเรากระทำกิจการใดแล้ว เราต้อง “ทบทวน” กิจการนั้น ๆ เพื่อให้เราเข้าใจมากขึ้นโดยอาศัยความเชื่อ และเพื่อเราจะทำกิจการนั้นให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
มนุษย์ยุคปัจจุบันจัดประชุมกันตลอดเวลา บ่อยครั้งที่เราจัดตั้งกลุ่มศึกษาหรือทีมงานขึ้นในสถาบันการศึกษา ธุรกิจ ในการวิจัย สังคม สหภาพ และคณะกรรมการสารพัดประเภทก็เรียกร้องให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น ช่วยกันวางแผน เป็นต้น ... “การเสวนา” และ “การหารือ” กลายเป็นสิ่งสำคัญในวันนี้...
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ของเรา เราสังเกตเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเจ้าทรงเข้าใจธรรมชาติลึกๆ ของมนุษย์ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ให้ร่วมมือกับผู้อื่น...
คริสตชนจำนวนมากในวันนี้ตระหนักแล้วว่าความเชื่อของเขาจะเข้มแข็งมากขึ้น และลึกล้ำมากขึ้น ถ้าเขาพบปะกับพี่น้องชายหญิงของเขาเพื่อพูดคุยกันเรื่องความเชื่อ เพื่อแบ่งปันทัศนคติของตนต่อพระวรสาร อันที่จริง นี่คือจุดมุ่งหมายของพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ กล่าวคือ หลังจากออกไปปฏิบัติ “พันธกิจ” ของตนระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว คริสตนชนทั้งหลายต้อง “กลับมาหาพระเยซูเจ้า” ข้าพเจ้ามีอะไรจะทูลพระองค์หรือเปล่า? เมื่อข้าพเจ้าภาวนา ข้าพเจ้ารายงานพระองค์หรือเปล่าว่าชีวิตแต่ละวันของข้าพเจ้าระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?...
ทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน
มาระโกสรุปพันธกิจทั้งหมดของบรรดาอัครสาวกด้วยคำว่า “ได้ทำ” และ “ได้สอน” นี่คือคำบรรยายกิจกรรมของพระเยซูเจ้าได้ด้วยเช่นกัน พระองค์ทรงกระทำเมตตากิจและทรงสั่งสอน พระเยซูเจ้าและอัครสาวกของพระองค์ทำงานแบบเดียวกัน
พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด”
เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัด พร้อมกับบรรดาอัครสาวก
พระเยซูเจ้าทรงหยุดทำงานเพื่อพักผ่อน!
มิตรสหายของพระองค์เหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานอย่างหนัก พระองค์ทรงเชิญชวนเขาให้พักผ่อนสักระยะหนึ่ง การทำงานหนักเกินไป และประสาทที่ตึงเครียด ย่อมกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางงานแพร่ธรรม พระเยซูเจ้าทรงต้องการชายหญิงที่มีจิตใจที่สงบ และพวกเขาจะเป็นเช่นนี้เพียงเมื่อเขามีเวลาอยู่เงียบ ๆ ตามลำพัง ห่างไกลจากฝูงชนที่รบกวนจิตใจ
มนุษย์ทุกยุคสมัยล้วนต้องการเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะสำหรับคนยุคใหม่ที่ถูกความเครียดคุกคาม เพราะต้องดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบในเมืองใหญ่ในปัจจุบัน
ข้าพเจ้าตัดสินใจแบ่งเวลาส่วนใดในวันหนึ่ง และในสัปดาห์หนึ่ง ให้เป็น “ทะเลทราย” สำหรับข้าพเจ้า? ... ข้าพเจ้าใช้เวลาในวันหยุดอย่างไร?...
มาระโกบอกเราในที่อื่นด้วยว่าพระเยซูเจ้าทรงโปรดความวิเวก และทรงพยายามปลีกตัวจากประชาชน และพระองค์ทรงรู้ว่าควรเสด็จไปที่ใด พระองค์ทรง “ขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง” (มก 9:2) ... หน้าผาเหนือทะเลสาบ ใกล้ที่ราบสูงโกลาน (มก 5:1) ... ชายหาดบนฝั่งทะเลเลบานอน และซีโรฟีนีเซีย (มก 7:24, 31) ... ฝั่งลำธารบนภูเขาใกล้ต้นแม่น้ำจอร์แดน ที่เชิงเขาเฮอร์มอน (มก 8:27)...
ตามลำพัง ... ในที่สงัด ... พักผ่อน...
คำแนะนำของพระเยซูเจ้าให้ผ่อนคลายและแสวงหาความสงบ มีความหมายลึกกว่าสถานการณ์ที่บรรยายในข้อความพระวรสารนี้แน่นอน
เราจำเป็นต้องสร้างชีวิตภายใน ความกระวนกระวายภายนอกย่อมนำไปสู่ความสนใจแต่เปลือกนอก ไม่มีงานสำคัญใด ๆ ของมนุษย์ที่ทำได้สำเร็จโดยปราศจากสมาธิ ขาดความพยายามแสวงหาความสงบ และการควบคุมตนเอง
การดำเนินชีวิตอย่างจริงจังในระดับปกติของมนุษย์ ต้องมีทั้งเวลาสำหรับกิจการ “ภายนอก” และเวลาสำหรับการไตร่ตรอง “ภายใน” เพื่อจะเห็น ... วินิจฉัย ... กระทำการ ... ทบทวน ... วินิจฉัยซ้ำ ... แสดงปฏิกิริยา...
การดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างถูกต้อง และลึกล้ำ ยิ่งจำเป็นต้องมี “ชีวิตภายใน” และ “กิจกรรมภายนอก” ที่ดำเนินควบคู่กันไป
บางครั้งข้าพเจ้าหาเวลาสำหรับรำพึงภาวนาหรือเปล่า? ... ข้าพเจ้าแบ่งเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงของข้าพเจ้าไว้สำหรับอธิษฐานภาวนามากน้อยเท่าไร?...
ข้าพเจ้ากลัวความเงียบ กลัวความวิเวกหรือเปล่า? ข้าพเจ้ารีบเปิดวิทยุ หรือเปิดเครื่องเล่นเทป หรือโทรทัศน์ ทันทีที่ข้าพเจ้ามีเวลา “ว่าง” ในชีวิตหรือเปล่า?...
ข้าพเจ้าใช้เวลาวันอาทิตย์อย่างไร? ข้าพเจ้าทำให้วันอาทิตย์เป็น “วันสับบาโต” เป็น “วันพักผ่อน” อย่างแท้จริงหรือเปล่า?...
ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่าพระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่าง ๆ ไปที่นั่น และไปถึงก่อน เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนมากมาย
พระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์เหมือนกับกำลังเล่นซ่อนหากับประชาชน แต่ไม่มีที่ใดที่พระองค์และศิษย์จะใช้ซ่อนตัวได้!
พระองค์และศิษย์ต้องการหนีฝูงชน ต้องการพักผ่อน หลีกเลี่ยงการทำงานเกินกำลังจนไม่มีเวลาแม้แต่จะกินอาหาร พระองค์และศิษย์สามารถหลบหนีได้ แต่ประชาชนก็ไปดักรอพระองค์ในสถานที่ที่พระองค์ทรงต้องการใช้เป็นที่พักผ่อน !
พระเยซูเจ้าทรงแลเห็นประชาชนมากมาย ก็ทรงสงสาร
พระเจ้าข้า นี่คือพระองค์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก!
ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะใช้เวลาสักครู่นึกภาพว่าพระองค์จะทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ... เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นฝั่ง ประชาชนก็มายืนรออยู่ที่ชายหาดแล้ว ... พวกเขาวิ่งเข้ามาหาพระองค์ ... แทนที่จะหงุดหงิด พระองค์กลับทรงต้อนรับเขา ... ความวิเวกและการพักผ่อนต้องรอไปก่อน...
พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับความต้องการเร่งด่วนของประชาชน พระองค์ทรงยอมให้เขาขัดขวางแผนการของพระองค์ พระองค์ทรงโอนอ่อนต่อคำร้องขอของผู้อื่น
มีมารดากี่คนที่อยากนั่งพัก แต่ก็ทำไม่ได้ ... ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ก็ทรงผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาแล้ว นี่คือความหมายของความรักแท้ คือ “การทำสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำ ... การทำสิ่งที่เราถูกบีบบังคับให้ทำ ... การทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำในนาทีนี้”...
“ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกคิดถึงตนเอง” (มก 8:34) ... “ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ... ก็จะรักษาชีวิตได้” (มก 8:35) การยอมสูญเสีย! พระเยซูเจ้าทรงยอมพลีชีวิต! และพระองค์ทรงขอให้เราทำเช่นเดียวกัน – และให้เราทำเช่นนั้นด้วยความรัก!...
... พระองค์ทรงสงสารเขา...
ข้าแต่พระเยซูเจ้า ความสงสารนี้แสดงออกมาทางพระพักตร์ ทางกิริยาท่าทางของพระองค์อย่างไร แสดงออกทางสายพระเนตร ในน้ำเสียงของพระองค์อย่างไร?...
ประชาชนที่พระเยซูเจ้าทรงมองดูด้วยความรักเช่นนี้ คือตัวแทนของชาวโลกทุกยุคสมัย
พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ยังทอดพระเนตรมายังโลกของเราในวันนี้ ด้วยความรักและความสงสารไม่ต่างจากในวันนั้น...
ข้าพเจ้ามองดูฝูงชนอย่างไร?...
... เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง
ภาพลักษณ์นี้งดงามอย่างยิ่ง ฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง! ประชาชนที่สับสน ไม่รู้ทิศทาง ... ไม่รู้ว่าควรทำอะไร ไม่รู้ว่าควรไปที่ไหน
หลายครั้งที่พระคัมภีร์ใช้ภาพลักษณ์นี้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและประชากรของพระองค์ ชาวยิว อพยพออกจากประเทศอียิปต์ โดยพระยาห์เวห์ทรงนำทางเขา เหมือนกับคนเลี้ยงแกะนำทางฝูงแกะของเขาในถิ่นทุรกันดาร (อพย 15:13) เมื่อโมเสสใกล้ตาย เขาไม่ต้องการทอดทิ้งประชาชนชาวอิสราเอลให้อยู่ในสภาพ “เหมือนฝูงแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง” (กดว 27:17) ในบทอ่านที่หนึ่งของวันอาทิตย์นี้ เยเรมีย์บ่นว่าชาวอิสราเอลได้ตกเป็นเหยื่อของ “คนเลี้ยงแกะที่ทำลาย และทำให้ฝูงแกะที่พระเจ้าทรงเลี้ยงไว้กระจัดกระจายไป” (ยรม 23:1-6) เพื่อตอบสนองต่อคำประกาศพระวาจานี้ เราจึงขับร้องเพลงสดุดี 23 ว่า “พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจึงไม่ขาดสิ่งใด พระองค์ทรงปล่อยให้ข้าพเจ้านอนพักอยู่ในทุ่งหญ้าเขียวขจี ทรงนำข้าพเจ้าไปริมสายนทีที่เงียบสงบ เพื่อฟื้นฟูจิตใจของข้าพเจ้า”
พระเยซูเจ้าเองทรงใช้ภาพลักษณ์นี้บ่อยครั้ง “เราจะตีผู้เลี้ยงแกะ และแกะจะกระจัดกระจายไป” (มก 14:27) พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงถูกส่งมา “เพื่อตามหาแกะที่หลงทาง” (ลก 19:10, 15:4-7) พระองค์ทรงเป็น “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10)
ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงปฏิบัติพระองค์เหมือนกับพระเมสสิยาห์ที่พระคัมภีร์สัญญาไว้ เราอาจถึงกับพูดได้ว่าพระองค์ทรงมาแทนที่พระเจ้า เพราะพระเจ้าเองทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะของชาวอิสราเอล!
“ฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” นี่คือภาพลักษณ์ของโลกทุกยุคสมัย เป็นภาพลักษณ์ของโลกร่วมสมัยของเรา หมายความว่าโลกถูกทอดทิ้งให้อยู่ในภาวะไร้ขื่อแปหรือ?
เราได้รู้ได้เห็นว่ามีผู้นำประชาชนเกิดขึ้นมากมาย และเขาอ้างตนเองเป็นผู้นำมวลชน มนุษย์ทุกคนกำลังแสวงหาผู้นำที่ “ฟ้าประทาน” ให้เขา แต่บ่อยครั้งเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ประชาชนมีความหวัง พวกเขากลับพบกับการกดขี่และการทุจริตอีกครั้งหนึ่ง มีกี่ประเทศในโลกปัจจุบันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง? มีกี่ประเทศที่ถูกทอดทิ้งอย่างไร้ความปรานีให้อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ (ไม่ว่าฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้าย) ที่ครอบงำความคิด และไม่ยอมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ?
พระเยซูเจ้าเสด็จมาอยู่ในโลกประเภทนี้! โรมคือรัฐที่ทรงอำนาจสูงสุดในยุคนั้น และกองกำลังที่ยึดครองดินแดนก็ปกครองประชาชนอย่างกดขี่
“ฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” หมายถึงโลกที่หลงทิศทาง ไม่สามารถค้นหาความหมายและเป้าหมายของชีวิต ... ใครจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราแสวงหาทุ่งหญ้าเขียวขจีได้?...
พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนเขาหลายเรื่อง
ความช่วยเหลือแรกที่พระเยซูเจ้าประทานแก่ฝูงชนที่หลงทางเหล่านี้ คือ “การสั่งสอน” มาระโกไม่ได้บอกว่าพระองค์ทรงเทศน์สอนเรื่องใด ... ราวกับว่าเขาต้องการเสนอว่าการสั่งสอนนี้ ก็คือ พระบุคคลของพระเยซูเจ้าเอง...
พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ากำลังฟัง ... โปรดตรัสเถิด โปรดตรัสยาว ๆ กับข้าพเจ้า...