วันอาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ปรีชาญาณ 2:12, 17-20; ยากอบ 3:16-4:3; มาระโก 9:30-37
บทรำพึงที่ 1
ใบหน้าที่อิ่มเอิบสดใส
การช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ยากไร้ จะนำความยินดีมาให้ ไม่เพียงแต่ผู้รับความช่วยเหลือเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย
ครูโรงเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งให้การบ้านนักเรียนของเขาดังนี้ “ให้เขียนบรรยายเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ เมื่อเธอทำตัวเป็น “ชาวสะมาเรียใจดี” ต่อใครคนหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งบรรยายไว้ดังนี้
“ระหว่างฤดูร้อนก่อนที่ผมจะเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย วัดของเราจัดให้วันหนึ่งเป็นวันเยี่ยมเยียนคนชราและคนพิการในโรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เมื่อได้เห็นเก้าอี้เข็นและคนพิการจำนวนมาก ผมงงจนทำอะไรไม่ถูก ในตอนแรกผมมองเห็นแต่เก้าอี้เข็นเต็มไปหมด
หลังจากนั้นผมก็สังเกตเห็นใครคนหนึ่งในเก้าอี้เข็น เขากำลังจ้องมองที่ขาของผม นั่นทำให้ผมเลิกมองเห็นแต่เก้าอี้เข็น ผมเห็นผู้หญิงที่เดินไม่ได้ ทหารผ่านศึกที่เป็นอัมพาต ชายชราที่ทุกคนลืม เด็กเล็ก ๆ ที่อ่อนแอ ทุกคนกำลังมองหาใครสักคนที่จะแสดงความสนใจในตัวเขา ผมหายใจไม่ออก ผมต้องหลบไปอยู่ตามลำพัง
ผมเดินไปมาในบริเวณโรงพยาบาลดูเหมือนสักหนึ่งชั่วโมง ผมเริ่มโกรธพระเจ้า และรู้สึกสับสนที่สุดที่ได้เห็นความเจ็บปวดมากมายเช่นนั้นรวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน ผมรู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งกว่าผู้ป่วยคนใด ผมต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่พวกเขา แต่หลังจากนั้นชั่วครู่เดียว พระเจ้าที่ผมกำลังโกรธอยู่นั้นก็กลายเป็นพระเจ้าผู้มีตัวตนอย่างแท้จริงขึ้นมาในทันทีทันใด อย่างที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิต ผมรู้สึกว่าพระเจ้าทรงรักคนเหล่านี้เป็นพิเศษ
นั่นเป็นประสบการณ์ที่แปลกประหลาด ความเชื่อที่ลดลงในทันทีทันใด และความเชื่อที่เพิ่มทวีขึ้นมาในทันทีทันใด – ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที
ผมเดินกลับมาที่เดิม ที่มีแต่คนชราและคนพิการ และผมเริ่มต้นทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้เพื่อให้พวกเขามีความสุข เช่น นำเครื่องดื่มมาให้เขา และพูดคุยกับเขา ผมทำให้หลายคนมีใบหน้าที่อิ่มเอิบสดใสระหว่างบ่ายวันนั้น
แต่ในบรรดาใบหน้าทั้งหลายที่ผมทำให้อิ่มเอิบสดใส ใบหน้าหนึ่งโดดเด่นมากกว่าใบหน้าอื่น ๆ ผมจะไม่มีวันลืมใบหน้านั้นเลย เพราะนั่นคือใบหน้าของผมเอง ผมไม่เคยรู้สึกดี ๆ กับตัวเองมากเช่นนั้นมาก่อน ผมไม่เคยมีความสุขมากเช่นนั้น”
เรื่องนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับบทอ่านพระวรสารวันนี้ โดยเฉพาะคำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าตรัสกับศิษย์ของพระองค์เมื่อเขาโต้เถียงกันว่าใครเป็นใหญ่ที่สุด พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” (มก 9:35) พระเยซูเจ้าทรงใช้โอกาสนี้เน้นย้ำหัวข้อสำคัญข้อหนึ่งของพระวรสาร คือ การช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่กำลังขาดแคลน เราจะพิจารณาหัวข้อนี้จากสองมุมมอง หนึ่ง จากมุมมองของผู้ขาดแคลน และสอง จากมุมมองของบุคคลที่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลน
ในหนังสือชื่อ Majority of One (หนึ่งเสียงที่เป็นเสียงส่วนใหญ่) ซิดนีย์ แฮริส นักเขียนคอลัมน์ ได้เล่าถึงเวลาที่กระดูกเท้าข้างหนึ่งของเขาแตก ทำให้เขาต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดินอยู่นานหลายวัน เขากล่าวถึงประสบการณ์นี้ว่า “ความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดนี้ก็คือวิธีที่ทุกคนปฏิบัติต่อผม มีคนเปิดประตูให้ผม ช่วยผมขึ้นรถแท็กซี่ ขยับที่ให้ผมเข้าไปในลิฟท์ จิตใจของผมเบิกบานชุ่มชื่นเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างนี้จากทุกคน”
คำพูดของแฮริสแสดงให้เห็นว่าผู้ขาดแคลนมองการรับใช้เช่นนี้อย่างไร มันทำให้ “ใบหน้าของพวกเขาอิ่มเอิบสดใส” ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีใครบางคนที่ห่วงใยเขา ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีใครบางคนที่รักเขา
มุมมองที่สองคือมุมมองของบุคคลที่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลน ซึ่งไม่มีสิ่งใดอธิบายได้ชัดเจนไปกว่าคำบรรยายของเด็กนักเรียนมัธยมปลายคนนี้ เมื่อเขากล่าวว่า “แต่ในบรรดาใบหน้าทั้งหลายที่ผมทำให้อิ่มเอิบสดใส ใบหน้าหนึ่งโดดเด่นมากกว่าใบหน้าอื่น ๆ ผมจะไม่มีวันลืมใบหน้านั้นเลย เพราะนั่นคือใบหน้าของผมเอง ผมไม่เคยรู้สึกดี ๆ กับตัวเองมากเช่นนั้นมาก่อน ผมไม่เคยมีความสุขมากเช่นนั้น”
คำพูดของเด็กชายคนนี้แสดงให้เราเห็นว่าการรับใช้ทำให้บุคคลที่รับใช้รู้สึกอย่างไร มันทำให้ใบหน้าของเขาอิ่มเอิบสดใสยิ่งกว่าใบหน้าของบุคคลที่เขาช่วยเหลือเสียอีก
ผมคิดว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุผลง่าย ๆ เป็นเหตุผลที่เราลืมนึกถึง เป็นเหตุผลที่เรามองข้าม และจำเป็นต้องกระตุ้นความจำของเราครั้งแล้วครั้งเล่า ผมจะบอกเหตุผลข้อนี้ด้วยเรื่องต่อไปนี้
มีภาพวาดภาพหนึ่งในศตวรรษที่ 19 เป็นภาพของคนยากจนที่ยืนต่อแถวยาวในย่านคนจนของเมืองใหญ่ เขากำลังรอรับอาหารที่แจกให้แก่คนยากจน สิ่งที่สะดุดตาในภาพนี้คือ คนจนคนหนึ่งที่ยืนต่อแถวอยู่นี้มีวงรังสีอยู่ที่เหนือศีรษะ เมื่อมองใกล้ ๆ ก็เห็นว่าบุคคลนี้คือพระเยซูเจ้า นี่คือเหตุผลที่ทำให้ใบหน้าของผู้ที่ช่วยเหลือคนขาดแคลนทั้งหลายอิ่มเอิบสดใสยิ่งกว่าใบหน้าของผู้ที่เขาช่วยเหลือ เพราะระหว่างที่เขาช่วยเหลือคนขาดแคลนเหล่านั้น เขาค้นพบว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่ใดในโลกปัจจุบันของเรา พระองค์ประทับอยู่ในตัวของคนขาดแคลนทั้งหลายนั้นเอง
นี่คือความจริงที่เราลืม ที่เรามองข้าม และจำเป็นต้องกระตุ้นความจำของเราครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสเองว่า “เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา ... ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:35-36, 40)
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการรับฟังด้วยใจอธิษฐาน คำพูดของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ คริสตชนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในยุคปัจจุบันของเรา เมื่อเขาอายุ 30 ปี เขาละทิ้งอาชีพแสดงคอนเสิร์ตสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมที่เป็นคนรวยในทวีปยุโรป และหันไปเป็นแพทย์มิชชันนารีช่วยเหลือคนจนในทวีปอัฟริกา ก่อนชไวเซอร์เสียชีวิต เขาบันทึกว่า
“ผมไม่รู้ว่าชะตากรรมของคุณจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ก็คือ ผู้ที่จะมีความสุขอย่างแท้จริงได้ก็คือผู้ที่แสวงหาและพบวิธีที่จะรับใช้เท่านั้น”
ขอให้เราย้ำข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะข้อความนี้สำคัญอย่างยิ่ง “ผมไม่รู้ว่าชะตากรรมของคุณจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ก็คือ ผู้ที่จะมีความสุขอย่างแท้จริงได้ก็คือผู้ที่แสวงหาและพบวิธีที่จะรับใช้เท่านั้น”
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 9:30-37
พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ ผ่านแคว้นกาลิลี พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้
เราพบอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าพระองค์เป็นใคร เมื่อประชาชนเข้าใจพระองค์ผิดและละทิ้งพระองค์ไป พระองค์จึงทรงอุทิศพระองค์สั่งสอนศิษย์กลุ่มน้อย ๆ ของพระองค์
พระองค์ทรงเริ่มต้นเดินทางจากภาคเหนือรอบเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป ใกล้ต้นแม่น้ำจอร์แดน พระองค์ทรงเดินทางมุ่งหน้ามาทางกรุงเยรูซาเล็ม ทรงข้ามทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเมื่อสองสามเดือนก่อน พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการเทศน์สอนมาก – แต่เป็นความสำเร็จที่มีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน – ครั้งนี้ พระองค์ไม่พยายามตรัสต่อสาธารณชน แต่ตรัสกับอัครสาวกของพระองค์เท่านั้น บุคคลเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มคริสตชนในอนาคต และเรื่องที่พระองค์ทรงสั่งสอนเขาคือ “บทบัญญัติ” ในชีวิตของชุมชนพระศาสนจักร
... ทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์ และตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย...”
พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้มีใครเรียกพระองค์ว่า “พระบุตรของพระเจ้า” แต่พระองค์ทรงเรียกพระองค์เองเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่สองของการเทศน์สอนของพระองค์ ว่า “บุตรแห่งมนุษย์” แต่คำนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษรอย่างที่เห็น เพราะไม่ได้เน้นย้ำความเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า อันที่จริง คริสตชนที่เป็นชาวยิวอธิบายความหมายที่ลึกมากของชื่อนี้ คำนี้หมายถึงพระเมสสิยาห์ที่ประกาศกดาเนียลประกาศถึง (ดนล 7:13-14) “บุตรแห่งมนุษย์” ผู้นี้เสด็จลงมาจากสวรรค์ “พร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า” พระองค์เสด็จมาในพระนามของพระเจ้า เพื่อปฏิบัติตามแผนการและงานของพระเจ้าให้สำเร็จไป
เราตระหนักว่าพระดำรัสของพระเยซูเจ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความเข้าใจของบรรดาอัครสาวกเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ “ผู้มาจากสวรรค์” ซึ่งเสด็จมาอย่างผู้มีชัยพร้อมกับหมู่เมฆ ผู้ที่พวกเขากำลังฝันถึงอยู่นี้ จะ “ถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย” อย่างไร้ทางสู้ ดังนั้น จงอย่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ ... หรือเกี่ยวกับพระเจ้า!
ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าเสด็จมาจากพระเจ้า – แต่มิใช่มาจากพระเจ้าในลักษณะที่มนุษย์ทั่วไปคิด!
ถูกมอบในเงื้อมมือ...
พระเจ้าผู้ “ถูกมอบในเงื้อมมือ” ... พระเจ้าผู้ “ถูกมอบให้” ... พระเจ้าผู้ทรงเป็น “ความรัก” ... มิใช่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและเผด็จการ ... เราไม่เชื่อใน “พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ” แต่เราเชื่อใน “พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ” ... เชื่อในพระเจ้าผู้ยอมสละพระองค์อย่างสิ้นเชิง ทรงยอมถูกมอบในเงื้อมมือศัตรูเพื่อประโยชน์ของเรา – และผู้ที่ทรงเผยพระองค์แก่เราผ่านทางไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า...
คำว่า “ถูกมอบในเงื้อมมือ” นี้เป็นหนึ่งในคำสำคัญของเทววิทยา ที่เพิ่งจะถูกเปิดเผยแก่เรา กล่าวคือ
“พระเยซูคริสตเจ้าทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพ เพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม” (รม 4:25)
“พระองค์มิได้ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32)
“พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20)
“จงดำเนินชีวิตในความรัก ดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักเราและทรงมอบพระองค์เพื่อเรา (อฟ 5:2)
พิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้งเตือนใจเราเช่นนี้ “นี่เป็นกายของเรา ที่มอบเพื่อท่าน”
“... เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ”
นี่คือการประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์เป็นครั้งที่สอง หลังจากเปโตรประกาศยืนยันความเชื่อของเขาที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป
พระวรสารของนักบุญมาระโกทั้งฉบับ นำเราไปสู่ความจริงสุดยอดนี้ คือ การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ สองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้คือแก่นสารของข้อความเชื่อของเรา
ชีวประวัติของบุรุษนี้แปลกประหลาดนัก ชีวิตของเขาดูเหมือนไม่สำคัญเท่าไรนัก สิ่งที่สำคัญกว่าคือความตาย และชีวิตหลังความตายของเขาต่างหาก ... เราอดสังเกตไม่ได้ว่าพระองค์ประกาศโดยไม่ลังเลเสมอว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ ควบคู่กับการประกาศว่าพระองค์จะทรงกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ราวกับว่า “ชีวิตแรก” ที่พระองค์ทรงดำรงชีพในปาเลสไตน์ในยุคสมัยนั้น ไม่ใช่ชีวิตที่สำคัญกว่า
เราเชื่อจริง ๆ หรือว่าพระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ในวันนี้จริง?...
ธรรมล้ำลึกปัสกาเป็นข้อความเชื่อสำคัญของความเชื่อของเราคริสตชน นี่คือเอกสิทธิ์ของพระเยซูเจ้าที่ไม่มีใครเหมือน ไม่มีมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่คนใดเคยอ้างว่าเขากำลังปลดปล่อยมนุษย์จากความตาย ซึ่งเป็นชะตากรรมสุดท้ายของมนุษยชาติ ไม่ว่าพระพุทธเจ้า หรือศาสดาโมฮัมเหม็ด หรือนักปรัชญาคนใดก็ไม่เคยเสนอทางออกให้แก่ความกังวลสำคัญที่สุดของมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะตาย พระเยซูเจ้าเท่านั้นที่ทรงบอกอย่างสงบ และตรงไปตรงมาว่า “เขาจะฆ่าเรา แต่เราจะกลับคืนชีพ”
ข้อความนี้ช่วยให้เราเข้าใจความตาย พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าความตายไม่ใช่จุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ทรงรู้ว่าควรคาดหมายอะไร พระองค์ทรงรู้ว่าเมื่อพระองค์ทรงผ่านนาทีแห่ง “ลมหายใจสุดท้าย” พระองค์จะไม่ตกลงสู่หุบเหวมืดแห่งความว่างเปล่า แต่จะเข้าสู่อ้อมแขนของพระบิดา และนี่ได้กลายเป็นบทเพลงแสดงความหวังสำหรับคริสตชนที่กล่าวอำลาญาติมิตรผู้ล่วงลับ “ที่ประตูพระนิเวศของพระองค์ พระบิดาทรงกำลังรอท่านอยู่ อ้อมแขนของพระเจ้าจะเปิดออกโอบกอดท่าน”
เราเชื่อจริงหรือไม่ว่านี่คือความหมายของความตาย? ... นี่คือสารที่มรณสักขีทั้งหลายมอบให้แก่เรา นี่คือคำรับรองของผู้มีความเชื่อแท้
บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้ แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม
พระวรสารไม่พยายามทำให้อัครสาวกดูดี เขาเป็นมนุษย์ผู้ยากไร้เหมือนกับเรา มาระโกย้ำหลายครั้งว่าพวกเขาใจแคบและดื้อรั้น พวกเขา “ไม่เข้าใจ” (มก 6:52, 8:17, 8:21, 9:32)
อัครสาวกสิบสองคนก็ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป เราประหลาดใจว่า (และบางคนถามว่า) พระศาสนจักร และพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร เกิดขึ้นจากการวางแผนและจินตนาการของคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร
เหตุการณ์หนึ่งได้เปลี่ยนพวกเขาไปโดยสิ้นเชิง ยกพวกเขาขึ้นจากตนเอง และมอบความเข้มแข็งใหม่แก่เขา อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับพระศาสนจักรทุกยุคสมัย ถ้าพระศาสนจักรนี้เป็นของมนุษย์ ก็คงถูกทำลายไปนานแล้วด้วยบาปและความผิดพลาดของผู้นำและสมาชิก แต่เราสามารถตัดสินพระศาสนจักรจากมุมมองของมนุษย์เท่านั้นได้หรือ?...
เมื่อบรรดาอัครสาวกได้ยินคำทำนายของพระเยซูเจ้า พวกเขา “กลัว” พระองค์ เขาถอยเข้าไปอยู่ในความเงียบด้วยความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ถูก
พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้าน พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง” เขาก็นิ่ง
เขายังไม่สามารถพูดอะไรได้ เขาเงียบเมื่อพระองค์ทรงถาม และรู้สึกอาย เหมือนกับกลุ่มคนที่กำลังแตกแยกเพราะความเข้าใจผิด
... เพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน
อัครสาวกสิบสองคนไม่ได้คิดเหมือนกับพระอาจารย์ของเขาเลย พระองค์ทรงคิดถึงความตายของพระองค์ ทรงคิดว่าพระองค์จะต้องสละชีวิตของพระองค์อย่างไร – แต่พวกเขาคิดถึงแต่ “การได้ตำแหน่งที่สูงกว่า” จิตใจของเขาจมอยู่กับความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ และพระเจ้า – เขายังรอคอยพระเมสสิยาห์ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงถือสายฟ้าไว้ในพระหัตถ์ และยังคิดถึงอาณาจักรทางโลก – จนเขาเริ่มพูดกันตั้งแต่เวลานั้นแล้วว่า “ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี” หลังจากได้รับชัยชนะ!...
แต่อย่าตัดสินพวกเขาอย่างรุนแรงนักที่เขาเข้าใจบทบาทของพระเยซูเจ้าผิดไป แม้ว่าเราได้รับความสว่างจากการกลับคืนพระชนมชีพในวันปัสกาของพระองค์แล้ว แต่เราพูดได้อย่างจริงใจหรือว่าเรายอมรับได้ที่บางครั้งพระเจ้าดูเหมือนทรงเงียบ และทรงไม่เข้าแทรกแซงช่วยเหลือเรา และนำเราไปสู่ชัยชนะ?...
พระองค์จึงประทับ แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”
ในพระทรมานที่พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งจะประกาศ พระองค์ทรงยอมเป็น “คนสุดท้าย” และเป็น “ผู้รับใช้ของทุกคน” พระเจ้าทรงเป็นเช่นนี้จริง ... ทำไมคำยืนยันนี้จึงดูเหมือนเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าในสายตาของบางคน?
แต่นี่คือความจริง พระเจ้าทรงเป็น “ที่หนึ่ง ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด” แต่พระองค์ทรงเป็น “คนที่หนึ่งที่จะรับใช้” ... “คนที่หนึ่งที่จะรักและรับใช้” ... “ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์ และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่เรายังล้างเท้าให้ท่าน” (ยน 13:13)
พระเจ้าทรงเป็นผู้ทรงสรรพานุภาพอย่างแท้จริง แต่อำนาจของพระองค์ถูกใช้ไปเพื่อ “รับใช้จนถึงที่สุด” ... “เราอยู่ในหมู่ท่านเหมือนเป็นผู้รับใช้จริง ๆ” (ลก 22:27) ... “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” (มก 10:42-45)
เป็นแนวโน้มธรรมชาติของกลุ่มมนุษย์ และสังคมมนุษย์ ที่จะแสวงหาความเข้มแข็ง ชื่อเสียง สิทธิพิเศษ เกียรติยศ ความได้เปรียบ พระเยซูเจ้าทรงพลิก “ระเบียบปกติ” นี้ กล่าวคือ ให้คนที่หนึ่งกลายเป็นคนสุดท้าย และผู้เป็นนายทำตัวเป็นผู้รับใช้!
เรามั่นใจได้ว่าพระเยซูเจ้าตรัสพระวาจาที่ปฏิวัติความคิดเช่นนี้จริง แต่มิใช่เพราะพระองค์ทรงต้องการเพียงแต่ให้เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การ “เปลี่ยนนาย” เท่านั้น เป้าหมายของพระองค์ (ทั้งในวันนี้ และวันนั้น) คือ เพื่อประทานทางออกที่แท้จริง กล่าวคือ การเปลี่ยนหัวใจของมนุษย์ เพราะวิธีนี้เท่านั้นที่สามารถยุติการต่อสู้แย่งชิงความเป็นที่หนึ่งในหมู่มนุษย์ รวมทั้งการต่อสู้เพื่อแสวงหาความร่ำรวย อำนาจ และการใช้วิธีกดขี่เพื่อให้ได้ชัยชนะ
ครั้นแล้ว พระองค์ทรงจูงเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้ ตรัสว่า “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”
ความรุนแรงกำลังเพิ่มทวีขึ้นในหัวใจมนุษย์ ในกลุ่มบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ในโลก แม้ขณะที่ “กระแสมืด” นี้กำลังแพร่กระจายไปทั่วทุกทิศทุกทาง พระเยซูเจ้าทรงเสนอให้ทัศนคติที่ใช้ความอ่อนแอของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์
เด็กคนนี้คือตัวแทนของมนุษย์ “ผู้ต่ำต้อย” ที่สังคมไม่สนใจ ซึ่งเราสามารถกำจัดได้โดยง่ายด้วยวิธีการที่ผิดศีลธรรม แม้ว่าจะถูกกฎหมายก็ตาม เด็กคนนี้คือตัวแทนของ “ผู้ยากไร้” บุคคลที่ไม่มีหนทางป้องกันตนเอง และถูกมอบให้อยู่ในมือของคนที่แข็งแรงกว่า
แต่พระเจ้าทรงพลิกกลับบรรทัดฐานทางสังคมนี้ พระองค์เพิ่งจะตรัสว่า อันที่จริง คนสุดท้ายคือคนที่หนึ่ง บัดนี้ พระองค์ทรงประกาศว่า ในสายพระเนตรของพระเจ้า “ผู้ต่ำต้อยที่สุด” คือ “ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด” พระเยซูเจ้าทรงนำเด็กคนนี้มายืน “ที่ใจกลาง” ของชุมชนคริสตชน
ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าในจินตนาการ ขณะที่พระองค์ทรงโอบกอดเด็กน้อยคนนี้ ... เราวัดความยิ่งใหญ่ของคริสตชนจากคุณภาพของการรับใช้ที่เขามอบให้แก่ “ผู้ต่ำต้อยทั้งหลาย” และผู้ที่สิ้นไร้ทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเกณฑ์ที่จะใช้พิพากษาเรา (มธ 25:31)
แต่การรับใช้นี้ไม่ใช่ “การเป็นทาส” หรือ “การบีบบังคับ” เพราะเมื่อเรารับใช้คนต่ำต้อยทั้งหลาย เรากำลังรับใช้พระเยซูเจ้าเอง – และผ่านทางพระเยซูเจ้า เรากำลังรับใช้พระผู้ทรงสร้างเอกภพ และประทานพระบุตรของพระองค์แก่เรา...