วันอาทิตย์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:2-6; ฮีบรู 7:23-28; มาระโก 12:28-34
บทรำพึงที่ 1
รอยพระบาทของพระเจ้า
ความรักต่อครอบครัว ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อพระเจ้า เป็นความรักที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก
อาร์ดิส วิทแมน เป็นนักประพันธ์ คุณจะพบบทความของเธอได้ในนิตยสารต่าง ๆ เช่น Reader’s Digest ในบทความหนึ่งของเธอ เธอบรรยายเหตุการณ์ที่น่าประทับใจที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอเอง บุตรชายของเธอเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่กี่เดือน และเธอพยายามปรับตัวยอมรับความตายของเขาอย่างยากลำบาก
คืนหนึ่งหลานสาวที่กำลังศึกษาระดับวิทยาลัยของเธอ พร้อมกับเพื่อนชาย ได้พยายามทำให้เธอรู้สึกร่าเริงขึ้นบ้าง ทั้งสองชวนเธอไปเที่ยวไนต์คลับ อาร์ดิสตอบรับ ซึ่งทำให้เด็กทั้งสองดีใจมาก
ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ทั้งสามคนรู้สึกสนุกจนกระทั่งวงดนตรีเล่นเพลงเก่าซึ่งเตือนให้อาร์ดิสคิดถึงบุตรชายของเธอ เธอนั่งน้ำตาไหล และเริ่มร้องไห้เงียบ ๆ ในนาทีนั้น เด็กหนุ่มสาวทั้งสองได้ทำสิ่งที่น่ารักอย่างไม่น่าเชื่อ เขาทั้งสองยื่นมือออกมาและกุมมือของเธอไว้
ทั้งสามคนนั่งกุมมือกันเช่นนั้นด้วยความรักและผูกพัน นั่นเป็นประสบการณ์ที่บำบัดรักษาจิตใจให้อาร์ดิส เธอรู้สึกว่าเธอได้รับการปกป้องคุ้มครองอยู่ใน “วงกลมที่ปลอดภัย” ใน “สถานที่แห่งความรัก”
เธอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์นั้นว่า “ไม่น่าแปลกใจที่สวรรค์เอื้อมลงมาสัมผัสเรา เมื่อเราพบว่าเราปลอดภัยอยู่ในหัวใจของอีกบุคคลหนึ่ง” แล้วเธอก็เล่าเรื่องของกวีชาวอินเดีย ชื่อ ฐากอร์ (Tagore) ผู้เขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่งที่มาเยี่ยมเขาในเวลาที่เขากำลังต้องการเพื่อนว่า “เมื่อคุณจากไปแล้ว ผมพบรอยพระบาทของพระเจ้าบนพื้นบ้านของผม”
เรื่องนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับบทอ่านจากพระคัมภีร์ประจำวันนี้ โดยเฉพาะบทอ่านจากพระวรสาร เพราะชี้ให้เราเห็นว่าความรักต่อพระเจ้าเชื่อมต่ออย่างแนบแน่นกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ อันที่จริง ความรักทั้งสองนี้เชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่นจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เหมือนกับสองหน้าของเหรียญเดียวกัน เมื่อคุณพบเห็นความรักอย่างหนึ่ง คุณจะพบเห็นความรักอีกอย่างหนึ่งด้วย
อัครสาวกยอห์นกล่าวถึงประเด็นนี้ในจดหมายฉบับที่หนึ่งของเขาว่า “ผู้ที่ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้” (1 ยน 4:20)
และเมื่อความรักต่อพระเจ้า และความรักต่อเพื่อนมนุษย์เชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่นเช่นนี้ เมื่อเราหยุดรักคนหนึ่ง เราย่อมหยุดรักอีกคนหนึ่งด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเราหยุดรักเพื่อนมนุษย์ของเรา เราตัดการติดต่อไม่เพียงกับพระเจ้า แต่ตัดการติดต่อกับวิญญาณของเราเองด้วย
สุภาษิตบทหนึ่งสอนความจริงข้อนี้ได้อย่างชัดเจนว่า “ฉันตามหาวิญญาณของตนเอง แต่ฉันมองไม่เห็นวิญญาณของฉัน ฉันตามหาพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงหลบเลี่ยงฉัน แต่เมื่อฉันตามหาพี่น้องของฉัน ฉันพบทั้งสามนี้”
ความจริงที่สุภาษิตบทนี้เปิดเผย คือ การรักษาสายสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับวิญญาณของเรา ก็คือการรักษาสายสัมพันธ์รักกับเพื่อนมนุษย์ของเรา เรื่องของอาร์ดิส วิทแมน และเด็กหนุ่มสาวสองคนนั้น เตือนใจเราให้คิดถึงความจริงอื่น ๆ เกี่ยวกับความรักด้วย กล่าวคือ การไม่ยอมรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ของเรา บ่อยครั้งเริ่มต้นจากการที่เราหยุดรักครอบครัวของเราเอง เมื่อเราหยุดรักครอบครัวของเรา เราย่อมหยุดรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ด้วย
ความจริงข้อนี้เชิญชวนเราให้ถามตนเองว่า เรารักสมาชิกครอบครัวเรามากน้อยเพียงไร? ถ้าเราตอบว่า “รักมาก” สถานการณ์ก็ปกติดี
แต่ถ้าเราตอบว่า “ไม่ค่อยรัก” สถานการณ์ย่อมไม่ดีนัก เพราะเราย่อมไม่รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์มากนักเหมือนกัน ดังที่ยอห์นบอกเราว่า “ผู้ที่ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้”
เมื่อไม่นานมานี้ สตรีคนหนึ่งในรัฐอาริโซนา เขียนจดหมายถึงแอนน์ แลนเดอร์ส เธอกล่าวว่าเธอหวังว่าจดหมายของเธอจะช่วยให้ครอบครัวอื่น ๆ รักกันมากขึ้น เธอเล่าว่าเธอและน้องชายของเธอแสดงความเย็นชาต่อกันมานานหลายปี บางครั้งถึงกับแสดงความไม่พอใจกันอย่างรุนแรง เมื่อบิดาของเขาทั้งสองเสียชีวิตนั่นเองทั้งสองจึงเลิกทะเลาะกัน และเริ่มรักกัน การคืนดีนั้นทำให้ชีวิตของทั้งสองคนเปลี่ยนไป หลังจากคืนดีกันได้เพียงไม่กี่ปี น้องชายของเธอก็เสียชีวิตในอ้อมแขนของเธอ สตรีคนนี้สรุปในจดหมายของเธอว่า
“ดิฉันรู้สึกขอบคุณสำหรับช่วงปีที่เราเป็นมิตรต่อกัน แต่ดิฉันอยากกรีดร้องออกมาดัง ๆ เมื่อคิดถึงเวลาหลาย ๆ ปีที่เราเสียไป เพราะเราหัวรั้นเกินไป และสายตาสั้นเกินกว่าจะปรับตัวให้เข้ากันได้”
ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนเข้าใจคำพูดของสตรีคนนี้ บางครั้งเราเองก็หัวรั้นและมองการณ์ใกล้ จนไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะกับสมาชิกครอบครัวของเราเอง
ในทางตรงกันข้าม โลกนี้จะสวยงามสักเท่าไร ถ้าเราเลียนแบบพฤติกรรมของหลานสาว และเพื่อนของหลานสาวของอาร์ดิส วิทแมนได้ โลกนี้จะสวยงามสักเท่าไร ถ้าจะมีใครพูดกับเราเหมือนกับที่ฐากอร์ กวีชาวอินเดีย พูดกับเพื่อนของเขาว่า “เมื่อคุณจากไปแล้ว ผมพบรอยพระบาทของพระเจ้าบนพื้นบ้านของผม”
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อคิดที่จารึกไว้ที่ประตูด้านตะวันออกของศูนย์ร๊อกกี้เฟลเลอร์ ในนครนิวยอร์ก ว่า “ชะตากรรมสุดท้ายของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เขาเรียนรู้บทเรียนใหม่ ๆ หรือค้นพบสิ่งใหม่ หรือพิชิตสิ่งใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับการยอมรับบทเรียนที่เขาได้รับการสั่งสอนมาเมื่อเกือบสองพันปีก่อน”
บทเรียนนั้น คือ “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลังของท่าน” และ “ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มก 12:30-31)
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 12:28-34
ธรรมาจารย์คนหนึ่งมาเฝ้าพระเยซูเจ้า และทูลถามพระองค์...
ธรรมาจารย์คนนี้ถามพระเยซูเจ้า เขาเข้ามาหาพระองค์ขณะทรงพระดำเนินไปตามถนน ... ข้าพเจ้าถามพระเยซูเจ้าบ่อยครั้งหรือเปล่า ข้าพเจ้าขอคำแนะนำจากพระองค์เกี่ยวกับเรื่องหรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตของข้าพเจ้าหรือไม่?...
ในบทอ่านพระวรสารวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นพระเยซูเจ้าในเมืองเยรีโค พระองค์ทรงอยู่กับขอทานตาบอดชื่อบารทิเมอัส หลังจากนั้น พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้มีชัย (มก 11:1-11) วันต่อมา มาระโกบอกเราว่า พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในพระวิหาร และทรงขับไล่คนทั้งหลายที่กระทำการบิดเบือนความหมายของสถานที่ที่ได้ชื่อว่า “บ้านแห่งการอธิษฐานภาวนาสำหรับนานาชาติ” (มก 11:12-19) ในวันต่อจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม และ “การกระทำเป็นอุปมา” ของพระองค์ที่ทรงสาปแช่งต้นมะเดื่อเทศให้เหี่ยวแห้ง สอนเราว่า “พระบุตรเสด็จมามองหาผล แต่ไม่ทรงพบ” ดังนั้น พระวิหารนี้จะต้องถูกทำลายเหมือนกับต้นมะเดื่อเทศนี้ (มก 11:20-25)
เรากำลังอ่านเรื่องราวในสัปดาห์ท้าย ๆ ในชีวิตของพระเยซูเจ้าบนโลกนี้ การเผชิญหน้าระหว่างพระองค์และผู้นำทางศาสนาทวีความร้อนแรงถึงระดับสูงสุด คำบอกเล่าของมาระโกบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงอภิปรายปัญหา ทรงถูกโจมตีและทรงตอบโต้ต่อหน้าประชาชน คือในพระวิหารของกรุงเยรูซาเล็ม ในลานพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับจัตุรัสกลางเมืองที่ล้อมรอบด้วยทางเดินที่เรียงรายด้วยเสา และเป็นสถานที่ชุมนุมของประชาชน ... มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงระหว่างพระเยซูเจ้าและผู้นำอย่างเป็นทางการของชาวยิว ซึ่งพระองค์ทรงท้าทาย การโต้เถียงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประเด็นร้อน เช่น “ท่านมีอำนาจใดจึงทำเช่นนี้” (มก 11:27-33) ... “เจ้าของสวนจะทำอย่างไรถ้าคนงานไม่ทำหน้าที่ของตน?” (มก 12:1-2) ... “ต้องเสียภาษีให้กองทัพที่ยึดครองดินแดนของเราหรือไม่?” (มก 12:13-17) ... “ผู้ที่ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรในโลกหน้า” (มก 12:18-27)
ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ ธรรมาจารย์ชาวฟาริสีคนหนึ่ง ซึ่งพอใจกับคำตอบของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการกลับคืนชีพของผู้ตาย (ชาวสะดูสี ซึ่งเป็นศัตรูของเขา ได้รับบทเรียนอย่างสาสมแล้ว!) เข้ามาหาพระเยซูเจ้าและตั้งคำถามกับพระองค์เหมือนกัน
เราลดคุณค่าชีวิตคริสตชนของเราให้กลายเป็นเพียงพฤติกรรม และการนมัสการส่วนตัวเท่านั้นหรือเปล่า? หรือ – เหมือนกับพระเยซูเจ้า – เรายอมให้ความเชื่อของเราส่องสว่างสติปัญญา ให้เราเข้าใจปัญหาชีวิต ปัญหาจิปาถะ ปัญหาในอาชีพ และปัญหาทางการเมืองหรือเปล่า?...
“บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกกว่าบทบัญญัติข้ออื่น ๆ”
ชาวอิสราเอลหลงใหลธรรมบัญญัติ ในโรงเรียนสอนศาสนา ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และคนชรา ใช้เวลานานหลายชั่วโมงศึกษาพระคัมภีร์ และทัลมุด (คำอธิบายพระคัมภีร์) ธรรมาจารย์ในยุคของพระเยซูเจ้า – และรับบีทั้งหลายในปัจจุบัน – เป็นผู้เชี่ยวชาญที่คนทั่วไปขอให้ตีความพระคัมภีร์ ขอคำแนะนำและหลักปฏิบัติในชีวิตที่สอดคล้องกับพระวาจาของพระเจ้า หลังจากนั้น ทุกคนจะอภิปรายกัน ซึ่งเราเรียกกันในวันนี้ว่า “การแบ่งปัน”...
วันสับบาโตเป็นวันของการภาวนา และจับกลุ่มศึกษา โดยทุกคนจะร่วมกันค้นหาเพื่อให้เขาเข้าใจ “บทบัญญัติ” ของพระเจ้าอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อจะปฏิบัติตามได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน พระเยซูเจ้าทรงดำรงชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมนี้ และทรงมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อบทบัญญัติ พระองค์ทรงท่องจำได้ขึ้นใจ พระองค์ทรงเคยอ่านบทบัญญัติเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่ทรงเป็นเด็ก และทรงเคยอภิปรายความหมายของบทบัญญัติเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง...
เราคริสตชนมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระคัมภีร์เช่นเดียวกันนี้หรือเปล่า? เราอ่านพระคัมภีร์อย่างตั้งใจหรือเปล่า? เราใช้เวลานานเท่าไรในแต่ละสัปดาห์เพื่อศึกษาอย่างจริงจัง และภาวนาตามพระวาจาของพระเจ้า? ... เราพูดคุยสอบถามผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องราวในพระคัมภีร์ เพื่อช่วยเสริมความเข้าใจให้แก่กันหรือเปล่า?...
คำถามที่ธรรมาจารย์คนนี้ถามพระเยซูเจ้า เป็นคำถามที่ถามกันตามปกติในโรงเรียนสอนศาสนา เราสามารถนับ “บทบัญญัติของพระเจ้า” ในพระคัมภีร์ได้ถึง 613 ข้อ เป็นข้อห้าม 265 ข้อ และข้อบังคับ 248 ข้อ! ... นี่ไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ เพราะการปฏิบัติตามรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์เป็นเครื่องหมายของความรัก ใครที่มีรักแท้ย่อมเข้าใจความคิดนี้ และชาวยิวเข้าใจความสำคัญของบทบัญญัติมากมายเหล่านี้ เขาพบองค์ประกอบบางอย่างของคำตอบในพระคัมภีร์ ผู้เขียนบทสดุดีที่ 15 สรุปบทบัญญัติออกมาเป็นข้อบังคับใหญ่ ๆ ได้ 11 ข้อ อิสยาห์นับข้อบังคับใหญ่ ๆ ได้ 6 ข้อ (อสย (33:15) ประกาศกมีคาห์นับได้ 3 ข้อ (มคา 6:8) อาโมสนับได้ 2 ข้อ (อมส 5:4) และฮะบากุก นับได้เพียงหนึ่งข้อ (ฮบก 2:4) รับบีฮิลเลล สรุปบทบัญญัติไว้ในประโยคหนึ่งเดียว คือ “อย่ากระทำต่อผู้อื่นสิ่งใดที่ท่านเองไม่ชอบ” รับบี อากิบา ซึ่งถือว่าเป็นคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้า ก็สรุปบทบัญญัติว่า “จงรักเพื่อนมนุษย์”
ส่วนท่าน รับบีเยซู ท่านคิดอย่างไร? อะไรคือบัญญัติเอก?
พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “บทบัญญัติเอกก็คือ อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเรา ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว”
“ต้องรับใช้พระเจ้าก่อนใครอื่น” สำหรับพระเยซูเจ้า ผู้ที่สำคัญที่สุดคือพระเจ้า! อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า? ข้าพเจ้ายกให้พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้าหรือเปล่า?...
ผู้ฟังพระวาจานิรันดรย่อมเป็นสุข!...
“อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด” นี่คือต้นธารของชีวิตจิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับประชากรของพระองค์อย่างแท้จริง ประชากรผู้หิวกระหายพระวาจา ประชากรเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการฟัง และเต็มใจยอมรับคำสั่งสอนจากพระเจ้า...
พระเยซูเจ้าทรงกำลังอ้างถึง Shema Israel (ฉธบ (6:4-5) ซึ่งเป็นบทภาวนาที่ชาวยิวเคร่งศาสนาทุกคนสวดทุกวัน นี่คือการแสดงออกความเชื่อของชาวยิว คือ ความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว และบัดนี้กลายเป็นมรดกความเชื่อของทั้งชาวยิว คริสตชน และชาวมุสลิม
“พระเจ้าของเรา ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว” ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ สิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่ได้โดยอาศัยพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงเป็นนายของพระองค์เอง พระผู้ทรงดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ... ทรงเป็นหนึ่งเดียว
นี่คือข้อความเชื่อที่พระองค์ทรงประกาศว่าสำคัญที่สุด เมื่อมีผู้ถามพระองค์ และเมื่อทรงประกาศเช่นนี้ บทบัญญัติจึงมีชีวิตใหม่!...
“ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลังของท่าน”
เราคงไม่คิดด้วยสัญชาตญาณที่จะรัก “พระเจ้าสูงสุด” พระองค์นี้ พระเจ้าของนักปรัชญาทั้งหลาย และพระเจ้าของศาสนาอื่นเรียกร้องให้นมัสการ ให้เกรงกลัว หรือให้นบนอบเชื่อฟัง แต่ในความคิดของชาวอิสราเอล และในความคิดของพระเยซูเจ้า “ความรัก” คือสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหมายว่าจะได้รับจากเรา! ความพิเศษของพระคัมภีร์ คือ พระคัมภีร์ทำให้มนุษย์ “เป็นคู่สัญญารักในพันธสัญญารัก” พระเจ้าเองได้ประทานความสามารถนี้แก่มนุษย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นความรัก และพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา “ตามภาพลักษณ์ของพระองค์” (1 ยน 4:8)
ข้าพเจ้ารักพระเจ้าหรือไม่? ท่านตอบว่า “รัก” เร็วเกินไปหรือเปล่า? ขอให้เราจงถ่อมตัวเมื่อเราตัดสินตนเองเถิด ... ถ้าท่านรักพระเจ้าจริง ท่านกำลังทำอะไรบ้างเพื่อ “ผู้ที่ท่านรัก”? ท่านรักพระเจ้าอย่าง “สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลังของท่านหรือเปล่า”? เห็นได้ชัดว่านี่คือคำบรรยายว่าความรัก ที่ขับเคลื่อนสมรรถภาพทั้งปวงของตัวเรานี้ ต้องเข้มข้นเพียงไร...
พระเจ้าข้า ขอให้ความรักต่อพระองค์แผดเผาข้าพเจ้าตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ตั้งแต่ความคิดจนถึงทั่วร่างกาย ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ตั้งแต่ชีวิตส่วนตัวจนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของข้าพเจ้า
“บทบัญญัติประการที่สองก็คือ...”
เราเห็นอุปนิสัยของพระเยซูเจ้าได้ทันที ธรรมาจารย์คนนี้ถามถึงบทบัญญัติเพียงข้อเดียว แต่พระองค์ทรงตอบเขามากกว่านั้น ... ขอให้เราอย่าลืมว่าเราเพิ่งได้ยินอะไรจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้า
ข้อความที่พระองค์กำลังจะตรัสนี้สำคัญมาก – แต่สำคัญเป็นที่สอง เพราะพระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นที่หนึ่ง!
“ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”
เราต้องยึดถือบทบัญญัติ “สองข้อ” นี้อย่างเคร่งครัด มนุษย์มักนำบทบัญญัติทั้งสองนี้มารวมกัน – ราวกับว่าเพียง “รักพระเจ้า” ก็พอแล้ว ... หรือเพียง “รักเพื่อนมนุษย์” ก็พอแล้ว ... บทบัญญัติข้อที่สองไม่สามารถทดแทนบทบัญญัติข้อแรกได้
เราไม่อาจลดฐานะของพระเยซูเจ้าให้กลายเป็นเพียงนักเทศน์เกี่ยวกับปัญหาสังคม หรือภราดรภาพ มีมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนเคยเทศน์สอนประเด็นเหล่านี้มาแล้ว...
“ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้”
นี่คือข้อคิดที่ซับซ้อน อย่าพูดเหมือนกับว่ามีบทบัญญัติข้อเดียว เพราะบทบัญญัติสองข้อนี้สำคัญคล้ายกัน
ธรรมาจารย์คนนั้นทูลว่า “พระอาจารย์ ท่านตอบได้ดี ... นอกจากพระองค์แล้วไม่มีพระเจ้าอื่นเลย ... การจะรักพระองค์ ... และรักเพื่อนมนุษย์ ... มีคุณค่ามากกว่าเครื่องบูชา หรือเครื่องสักการบูชาใด ๆ” พระเยซูเจ้าทรงเห็นว่าเขาพูดอย่างเฉลียวฉลาด จึงตรัสว่า “ท่านอยู่ไม่ไกลจากพระอาณาจักรของพระเจ้า”
พระอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งถูกเตรียมการเป็นเวลานานผ่านทางประวัติศาสตร์หลายศตวรรษของชนชาติยิว ผ่านการนมัสการและวัฒนธรรมของชาวยิว บัดนี้พระอาณาจักรนี้มาถึงแล้ว พระบุคคลของพระเยซูเจ้าคือพระอาณาจักรนี้!
ธรรมาจารย์ของอิสราเอลคนนี้จะยอมเดินก้าวสุดท้ายนี้หรือไม่?...
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน พระเยซูเจ้าจะทรงเติมอีกสองคำ (“เหมือนเรา”) เพื่อให้บทบัญญัติแห่งความรักนี้มีมิติที่สมบูรณ์ “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)
มีความรักสองประเภทอยู่ในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ความรักประเภทที่สอง สืบเนื่องมาจากความรักประเภทที่หนึ่ง...