แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันฉลองนักบุญทั้งหลาย
วิวรณ์ 7:2-4, 9-14; ยอห์น 3:1-3; มัทธิว 5:1-12

บทรำพึงที่ 1
นักบุญหมายถึงใคร?
นักบุญหมายถึงมนุษย์ธรรมดาที่ตอบรับคำเชิญของพระเยซูเจ้าอย่างจริงจัง ให้เขารักกันและกัน เหมือนดังที่พระองค์ทรงรักเรา

    เมื่อเราคิดถึงนักบุญทั้งหลาย เรามักคิดถึงคนอย่างนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา เขาเกิดมาในสมัยที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา

    เมื่อเขาเป็นวัยรุ่น อิกญาซีโอกำพร้าทั้งพ่อและแม่ และเริ่มต้นชีวิตทางโลกด้วยการเป็นมหาดเล็กในราชสำนักของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ และพระราชินีอิสซาเบลลา ผู้ให้เงินสนับสนุนการเดินทางของโคลัมบัส

    หลังจากอิกญาซีโออายุได้ 20 ปี เขาเข้ารับราชการเป็นทหาร เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบ และได้กลับใจระหว่างพักรักษาตัว หลังจากหายดีแล้ว อิกญาซีโอออกเดินทางแสวงบุญ คืนหนึ่งเขาพบขอทานคนหนึ่ง เขาถอดเสื้อผ้าขุนนางของเขาออก และขอแลกกับเสื้อผ้าขาด ๆ ของขอทานคนนั้น หลังจากนั้นเขาอธิษฐานภาวนาตลอดคืนเบื้องหน้าสักการสถานของแม่พระ

    ในที่สุด อิกญาซีโอได้เข้าไปพักอาศัยในถ้ำข้างภูเขา เขาใช้เวลานานหลายชั่วโมงในแต่ละวันสวดภาวนาและใช้โทษบาป

    ประสบการณ์นี้เป็นต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจที่ชักนำให้เขาก่อตั้งคณะนักบวช เป็นคณะนักบวชชายที่อุทิศตนรับใช้พระเยซูเจ้า เหมือนกับอัครสาวกสิบสองคนอุทิศตนรับใช้พระเยซูเจ้า อิกญาซีโอเรียกคณะนักบวชของเขาว่าสมาคมของพระเยซูเจ้า หรือเยสุอิต คณะนี้มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 20,000 คน และบริหารงานในโรงเรียนมัธยมปลายมากกว่า 50 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยเกือบ 30 แห่ง เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

    นักบุญอิกญาซีโอ สรุปจิตตารมณ์ของเขาไว้อย่างงดงามในบทภาวนาวอนขอความใจกว้างดังนี้

    “พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้เป็นคนใจกว้าง
    โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้รับใช้พระองค์อย่างที่พระองค์สมควรได้รับ
    ให้ข้าพเจ้ารู้จักให้ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
    ให้ข้าพเจ้าต่อสู้ โดยไม่สนใจบาดแผล
    ให้ข้าพเจ้าตรากตรำ โดยไม่แสวงหาการพักผ่อน
    ให้ข้าพเจ้าทำงานหนัก โดยไม่ร้องขอบำเหน็จรางวัล
    ยกเว้นสิ่งเดียว คือ ให้ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ากำลังทำตามพระประสงค์ของพระองค์”
    บุคคลอย่างนักบุญอิกญาซีโอนี้เองที่เรายกย่องในวันนี้ แต่จำเป็นต้องเตือนด้วยว่าวีรกรรมและความสำเร็จของบุคคลอย่างนักบุญอิกญาซีโอนี้ สามารถบดบังคุณสมบัติที่แท้จริงของนักบุญได้

    นักบุญเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนพวกเรา เพียงแต่เขาใจกว้างและยอมให้พระหรรษทานของพระเจ้าทำงานในตัวเขา นักบุญเตือนใจเราว่าพระหรรษทานของพระเจ้าสามารถทำอัศจรรย์ในตัวเราได้ ถ้าเรายินยอม

    นักบุญเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เราเห็นว่าพระอานุภาพของพระเจ้าทำงานในชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายอย่างไร – มนุษย์อย่างคุณและผม

    คำว่า “นักบุญ (saint)” มาจากคำภาษาละตินว่า sanctus แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” เมื่อแปลตามตัวอักษรคำว่า saint จึงแปลว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” และเตือนให้เราระลึกถึงพระบัญชาที่พระเจ้าประทานแก่ประชากรของพระองค์ ว่า “จงปฏิบัติตนเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (ลนต 11:44)

    คริสตชนยุคแรกเรียกกันและกัน เหมือนที่นักบุญเปาโลเรียกพวกเขา ว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” พันธสัญญาใหม่ใช้คำนี้ในความหมายนี้มากกว่า 60 ครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “นักบุญ” ได้ถูกสงวนไว้สำหรับคริสตชนที่เป็นมรณสักขี หรือเคยดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์

    ในยุคแรก ๆ บุคคลหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นนักบุญ เมื่อคริสตชนทั่วไปยกย่องเขาเช่นนั้น เพราะได้เห็นเขาพลีชีวิตเป็นมรณสักขี หรือได้เห็นวิถีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา

    ต่อมา ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1000 เป็นต้นมา พระสันตะปาปายอห์นที่ 15 ทรงกำหนดวิธีการสำหรับการประกาศว่าบุคคลหนึ่งเป็นนักบุญ คือ กระบวนการแต่งตั้งนักบุญ (canonization) ซึ่งประกอบด้วยการสอบสวนชีวิตทุกด้านของบุคคลนั้นอย่างเข้มงวด

    ในปัจจุบัน พระศาสนจักรรับรองชายและหญิงจำนวนมากว่าเป็น “นักบุญ” โดยชีวิตของคนเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าได้เป็นพิเศษ คนกลุ่มนี้เองที่เราให้เกียรติในวันนี้

    คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา แต่เขาทำสิ่งธรรมดาด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดา

    เขาเป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา แต่เขาตอบรับคำเชิญของพระเยซูเจ้าให้รักเพื่อนมนุษย์ เหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

    เขาทำให้เราระลึกเสมอว่า พระหรรษทานของพระเจ้าสามารถทำอัศจรรย์ในตัวเรา ถ้าเรายินยอม

    เราจะสรุปจิตตารมณ์ของวันฉลองนี้ด้วยบทภาวนาที่มาจากบทเริ่มขอบพระคุณ (Preface) ในพิธีมิสซาสำหรับชายและหญิงผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งภาวนาต่อพระเจ้า ดังนี้

    ข้าแต่พระบิดา พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในตัวผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
    เพราะสิริรุ่งโรจน์ของเขาคือพระพรสูงสุดของพระองค์
    อาศัยชีวิตของเขาบนโลกนี้ พระองค์ทรงประทานแบบอย่างแก่เรา
    อาศัยความสนิทสัมพันธ์ของเรากับพวกเขา พระองค์ทรงประทานมิตรภาพของเขาเหล่านั้นแก่เรา
    อาศัยคำภาวนาเพื่อพระศาสนจักรของเขา พระองค์ประทานพละกำลังและความคุ้มครองแก่เรา
    กลุ่มพยานผู้ยิ่งใหญ่นี้ กระตุ้นให้เรามุ่งหน้าไปสู่ชัยชนะ
    เพื่อรับรางวัลแห่งสิริรุ่งโรจน์นิรันดรร่วมกับเขา

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 5:1-12

    ความสุขแท้ หรือบุญลาภเหล่านี้คือเพชรน้ำหนึ่งอย่างแท้จริง เพราะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์อันบริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งมนุษย์เก็บรักษาไว้ในความทรงจำมานานหลายศตวรรษ

    เราสามารถเข้าใจความสุขแท้เหล่านี้ได้หลายทาง และเราได้อธิบายไว้ครั้งหนึ่งแล้วในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สี่ในเทศกาลธรรมดา - ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการวิเคราะห์พระคัมภีร์ ... ในวันฉลองนักบุญทั้งหลายนี้ ขอให้เราเพ่งพินิจความสุขแท้เหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ ให้เราพิจารณาจากมุมมองฝ่ายจิตเพียงด้านเดียว...

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอน...

    พระเยซูเจ้าทรงนำเราไปยังที่สูง ขึ้นไปบนยอดของเทือกเขา...

    “ความสุข” ที่พระองค์จะตรัสถึงนี้ เหมือนกับทางเดินขึ้นภูเขา เราต้องปีนป่ายด้วยความยากลำบาก และด้วยความพยายามมาก ถ้าเราต้องการค้นพบความยินดีจากการมองเห็นทัศนียภาพกว้างใหญ่...

    แม้ว่าขึ้นไปอยู่บนที่สูงเช่นนั้นแล้ว แต่ยังหาความวิเวกไม่ได้ “ประชาชน” ที่มาชุมนุมกันบนเทือกเขานี้ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสุข เขา “เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ... ถูกความทุกข์เบียดเบียน” (มธ 4:23)...

    วันฉลองนักบุญทั้งหลายเป็นวันฉลองอันน่ายินดีโดยมีความทุกข์ยากเป็นฉากหลัง เป็นคำเชิญไปสู่สวรรค์โดยมีความตายเป็นฉากหลัง ... พระเยซูเจ้าทรงเสนอความสุขแท้ให้แก่ประชาชนที่ต้องทนอยู่กับความทุกข์ยากและตกต่ำ พระองค์ทรงเชิญชวนพวกเขาให้เอาชนะความทุกข์ยากของเขา และทำให้ความทุกข์ยากเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งประเสริฐ “ผู้ไม่มีความสุข ย่อมมีความสุข!...
... ว่า “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”

    เราควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าความทุกข์ยากของประชาชนเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งดี! แต่ความทุกข์ยากกำลังนำพวกเขาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี ... เมื่อพวกเขาไม่มีเงินทองให้พึ่งพาอาศัย เขาย่อมต้องพึ่งพาพระเจ้า ... มนุษย์ไม่มีความสุขกับการขาดแคลนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง “การเป็นคนยากจนไม่น่าสนใจ คนจนทุกคนเห็นด้วยกับความจริงข้อนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการได้ครอบครองอาณาจักรสวรรค์” (มาเดอเลน เดลเบรล)...

    ความยากจนไม่ “ดี” และเราไม่ควรเข้าใจความคิดของพระเยซูเจ้าผิดไป ถ้าความยากจนเป็นสิ่งดี เราจะช่วยเหลือคนจนให้ต่อสู้กับความยากจนไปทำไม? ... แต่พระเยซูเจ้าไม่เคยหยุดช่วยเหลือบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย คนที่กำลังเดือดร้อน คนหิวโหย คนที่ถูกเหยียดหยาม คนบาป! ... พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเขาว่า “ท่านเป็นสุข – เป็นสุขมิใช่เพราะท่านยากจน หรือไม่มีความสุข ... แต่ท่านเป็นสุข เพราะพระเจ้าทรงรักท่าน”...

    ความสุขแท้ข้อแรกนี้เป็นการสรุปความสุขแท้ข้ออื่น ๆ ทุกข้อ ... บรรดาปิตาจารย์ในพระศาสนจักรในอดีตเข้าใจ – ด้วยสหัชญาณฝ่ายจิต มากกว่าด้วยการใคร่ครวญด้วยเหตุผล – ว่า “การมีใจยากจน” เป็นรากฐานหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตคริสตชนทุกคน ... นี่ไม่ใช่ทัศนคติต่อเงินทอง แต่เป็นสถานะพื้นฐานที่ทำให้บุคคลหนึ่งพร้อมจะต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้า มัทธิวคิดว่าควรระบุประเด็นนี้ให้ชัดเจน – เขาจึงเติมคำว่า “ใจ” เข้าไปในตัวบทเดิมที่กล่าวเพียงว่า “ท่านทั้งหลายที่ยากจน ย่อมเป็นสุข” (ลก 6:20) พระเยซูเจ้าคงตรัสเพียงคำว่า “ยากจน” เพื่อให้เข้าใจตามธรรมประเพณีของพระคัมภีร์ คือในหนังสือประกาศก และบทสดุดี คำว่า anawim หมายถึง “ชนชั้นทางสังคมที่ถูกกดขี่ และไม่มีสิ่งใดเป็นของตนเอง” (อสย 11:4, 14:32, 29:19, 41:17, 54:6, 57:15, 19, 61:1-3; อมส 2:6-7, 5:10-11, 8:4; มคา 2:1-2, 3:3-4, 6:12; ยรม 22:16;  สดด 9:13, 19, 10:9, 12, 14:6, 18:28, 22:5, 27, 25:9, 34:37, 35:10 เป็นต้น) นานมาแล้วที่คำว่า “ยากจน” มีความหมายทางศาสนา ดังนั้น anawim หรือคนยากจน จึงหมายถึงคนทั้งหลายที่ความทุกข์ร้อนของเขากระตุ้นให้เขา “หันมาหาพระเจ้า เพราะเขาไม่อาจพึ่งพิงสิ่งใดบนโลกนี้ได้” ... ตามความหมายนี้ บ่อยครั้งที่คำว่า “ยากจน” ถูกใช้ควบคู่กับคำว่า “ชอบธรรม” (อมส 2:6; อสย 11:4)...

    “ผู้มีใจยากจน” – ขอให้เราพยายามอธิบายความคิดนี้ด้วยสำนวนต่าง ๆ กัน

-    ผู้ที่ขาดบางสิ่งบางอย่าง ผู้ที่ไม่พึงพอใจกับตนเอง...
-    มนุษย์ที่แสวงหาความครบครัน ความสำเร็จ มนุษย์ผู้ปรารถนาความศักดิ์สิทธิ์...
-    มนุษย์ผู้รู้ตัวว่าตนเองขัดสน และรู้ว่าเขาต้องเป็นฝ่ายขอรับทุกสิ่งทุกอย่าง...
-    มนุษย์ที่ไม่พึงพอใจกับโลกนี้ แต่ปรารถนาพระเจ้า...
-    สุดท้ายคือ มนุษย์ผู้รู้สึกว่าตนเอง “ยากไร้” ที่สุด ... สิ่งที่เขายากไร้ขัดสน คือ พระเจ้า!

“ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก”

    ใจอ่อนโยน มีความหมายที่เพี้ยนเพียงเล็กน้อยไปจาก “ใจยากจน” หมายถึง ความถ่อมตนของคนยากจน ที่ปฏิเสธความก้าวร้าวทุกรูปแบบ ... เพราะเขารู้จากประสบการณ์ว่าความรุนแรงสร้างความเจ็บปวดได้มากมายอย่างไร เพราะเขาเองก็เป็นเหยื่อของความรุนแรง เขาจึงกลายเป็นผู้ที่ไม่นิยมความรุนแรง เป็นผู้มีใจอ่อนโยน...

    ขอให้เราอย่าลืมว่า “ความสุขแท้” นี้คือความสุขแท้ของพระเจ้า และของพระเยซูเจ้า และเปิดเผยคุณลักษณะของพระเจ้า และสิ่งที่เป็นความยินดีของพระเจ้า ... ซึ่งเราก็ต้องรู้อยู่บ้าง เพราะเราถูกสร้างขึ้นมา “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า”...

    พระเจ้าทรงมีพระทัยอ่อนโยนแน่นอน พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงพระผู้สร้างโลกผู้ทรงสรรพานุภาพ อย่างที่มนุษย์คิดว่าพระองค์ทรงเป็น พระองค์ไม่ใช่ผู้ที่ชอบใช้อำนาจ ที่คิดแต่จะทำลายศัตรูของพระองค์ให้พินาศย่อยยับ ... พระองค์ทรง “มีใจอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) ... พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยอมถูกตรึงกางเขน  ผู้ทรงเดิมพันทุกสิ่งทุกอย่างแลกกับความรัก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความชั่ว พระองค์ไม่มีวันกระทำความชั่ว โดยอ้างว่าพระองค์ทรงกำลังทำลายความชั่ว ... พระองค์ทรงมีพระทัยอ่อนโยน...

“ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”

    พระเยซูเจ้ากำลังตรัสถึงประสบการณ์ที่เราทุกคนต้องเคยผ่านในวันใดวันหนึ่ง ... เราเคยเจ็บปวดทรมานอย่างหนัก และความเจ็บปวดของเราไม่ได้สลายไปราวกับร่ายมนตร์ – แต่เราพบ “ความหมาย” ในความทุกข์ยากนั้น ... ความทุกข์ยากครั้งนั้นได้รับการส่องสว่างจากภายใน ด้วยแสงแห่งความรัก...

    “ความชั่ว” ยังคงเป็นสิ่งเร้นลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เราไม่อาจเข้าใจด้วยเหตุผล และทดสอบความเชื่อของเรา ทำให้เราถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า?...

    แต่การปฏิเสธพระเจ้าเนื่องจากความชั่ว กลับจะทำให้โลกนี้ไม่มีเหตุผลมากขึ้นไปอีก ถ้าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง เราย่อมมั่นใจได้ว่าความชั่วและความตายจะต้องชนะในที่สุด ... แต่ถ้าเราเชื่อในความรักที่แข็งแกร่งกว่าบาปและความตาย ถ้าเช่นนั้น เราย่อมมีความหวังได้ตั้งแต่วันนี้! ผู้ที่ตระหนักเช่นนี้ได้ย่อมเป็นสุข!

    ในวันนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยาก “ข้าพเจ้าเป็นสุขตามความหมายที่พระเยซูเจ้าทรงบอกข้าพเจ้าหรือเปล่า?” ... ข้าพเจ้าเป็นสุขแม้ว่าข้าพเจ้ากำลังล้มเหลว กำลังร้องไห้ และไม่ว่าสิ่งใดจะทำให้ข้าพเจ้าท้อถอยหรือเปล่า?...

    เราจะเป็นสุขได้อย่างไรในสถานการณ์ที่เจ็บปวดเหล่านั้น? ... เราเป็นสุขได้ด้วยการฟังพระเยซูเจ้า ผู้ทรงบอกความหมายแท้จริงของการมีชีวิตของเรา ความหมายนั้นคือพระเจ้า!...

“ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม”

    ความปรารถนาแรงกล้า ... ความหิว ความกระหาย ... ความไม่พึงพอใจ...

    ขอให้เราอย่าพึงพอใจง่าย ๆ กับความสุขสำราญเล็กน้อย ... ขอให้เราต่อสู้เพื่อความชอบธรรม คือต่อสู้เพื่อ “ความศักดิ์สิทธิ์” – เพื่อให้เราสามารถตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความรัก และด้วยทั้งตัวตนของเรา...

“ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา”

    การแสดงความเมตตา และการให้อภัย คือหนึ่งในความยินดีของพระเจ้า ... ความยินดีของบิดาที่บุตรของเขาหายไป และกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ... ความยินดีของผู้ที่ยังทำดีต่อไปต่อบุคคลที่ทำร้ายเขา ... พระเจ้าตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน”...

    ความยินดีจากการให้อภัยนี้มีอุปสรรคเพียงอย่างเดียว คือการไม่ยอมให้อภัย ... แต่เราไม่ควรคิดว่าพระเจ้าทรงเกลียดชังมนุษย์คนใดที่ไม่ยอมรับความเมตตาของพระองค์ ... เปล่าเลย พระเจ้ายังทรงรักเขาต่อไป – แต่ทรงพบว่าพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นเหมือน “นรก” แท้ เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่ยอมรู้ร้อนรู้หนาวกับความรักนิรันดรของพระองค์...

“ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า”

    ในที่นี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงความบริสุทธิ์ตามบทบัญญัติของชาวยิว และไม่ได้ตรัสถึงพฤติกรรมทางเพศที่เป็นข้อห้ามในทุกยุคสมัย ... แต่พระองค์กำลังตรัสถึง “ใจที่บริสุทธิ์” ความคิดที่ซื่อตรง และวิญญาณซื่อ ๆ สามารถ “เห็นพระเจ้า” ได้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด และเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าประทานเครื่องหมายอย่างหนึ่งแก่เรา

    ในเพลงซาโลมอน เจ้าบ่าวจำเจ้าสาวของเขาได้เมื่อเห็นลำคอและเส้นผมของนาง (4:1-9) ... ใจที่บริสุทธิ์ย่อมเข้าถึงพระเจ้าได้ ... เขาพบพระเจ้าผู้ซ่อนอยู่เบื้องหลังเครื่องหมายของพระองค์ ... อย่าถามว่าเขาเห็นได้อย่างไร หรือทำไมเขาจึงเห็นพระองค์ เพราะนี่เป็นเรื่องของความรัก – และความรักเป็นเรื่องที่เรารู้สึก ... หรือไม่รู้สึก!

“ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า”

    พระคัมภีร์บางฉบับแปลข้อความนี้ว่า “ผู้รักสันติย่อมเป็นสุข” – แต่คำแปลเช่นนี้กำกวม เพราะมนุษย์ “ผู้รักสันติ” อาจเป็นเพียงคนขลาด ที่พยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใด ๆ เพื่อเขาจะได้อยู่อย่างสงบ...

    ตรงกันข้ามกับ “ผู้สร้างสันติ” ซึ่งต้องยืนหยัดท่ามกลางการเผชิญหน้าและสงคราม ... เขาจะอยู่ที่ใจกลางความขัดแย้ง อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้ง บางครั้งเขาเองก็โดนลูกหลงขณะที่กำลังพยายาม “สร้าง” สันติ – ขณะที่กำลังสร้างความปรองดอง กำลังประสานความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน และเอกภาพที่แตกแยก...

    นี่คือหนึ่งในความยินดีของพระเจ้าอีกเช่นกัน...
“ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”
 
    “ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหง” ก็คือ “คนยากจน” ประเภทหนึ่ง ... หมายถึงชายหญิงที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และถูกทำร้าย ... บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความโหดเหี้ยม ... น้อยคนที่จงรักภักดีต่อพระเยซูเจ้าได้โดยไม่ต้องได้รับผลอันเจ็บปวด “เพราะพระองค์”...

    วันฉลองนักบุญทั้งหลาย! รายชื่อนักบุญที่ปรากฏในปฏิทินอาจทำให้เราเข้าใจผิด เพราะคิดว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวของมรณสักขี ฤษี นักพรต หรือผู้ถือพรหมจรรย์เท่านั้น ... แต่ในความเป็นจริง “นักบุญทั้งหลาย” คือ “ประชาชนจำนวนมหาศาล”!

    ท่านทั้งหลายที่ไม่มีทางเป็นคนดังบนจอโทรทัศน์ ... ท่านทั้งหลายที่เป็นคนยากจน เป็นผู้ถูกกดขี่ ผู้ได้รับความทุกข์ยาก ผู้มีฐานะต่ำต้อย ผู้ถูกเหยียดหยาม ... ท่านทั้งหลายที่เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา ... การผจญภัยอันยิ่งใหญ่ที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้าท่านแล้ว คือ ความสุขแท้ที่พระเยซูเจ้ากำลังประกาศแก่ท่าน...