แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย
วิวรณ์ 7:2-4, 9-14; 1 ยน 3:1-3; มัทธิว 5:1-12

บทรำพึงที่ 1
สันติสุข
ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

    ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า (มธ 5:9)

    พวกเราส่วนใหญ่เคยเห็นรูปถ่ายรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ที่มีชื่อเสียง ที่รู้จักกันในนามของ “พระคริสต์แห่งแอนดิส” รูปปั้นนี้ตั้งตระหง่านบนยอดของเทือกเขาแอนดิส สูง 12,000 ฟุต บนชายแดนระหว่างประเทศอาร์เจนตินาและชิลี และเป็นรูปปั้นของพระเยซูเจ้าที่มีผู้ถ่ายภาพไว้มากที่สุดรูปหนึ่งในโลก

    รูปปั้นนี้มีเบื้องหลังที่น่าสนใจมาก และสอดคล้องอย่างยิ่งกับบทอ่านสำหรับวันสมโภชนักบุญทั้งหลายในวันนี้

    ขณะที่วันปัสกาใกล้จะมาถึง กองทัพของประเทศอาร์เจนตินา และชิลี ตั้งแถวประจันหน้ากันตลอดแนวชายแดน เตรียมพร้อมสำหรับเข้าโจมตี ดูเหมือนว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

    แต่แล้วผู้นำพระศาสนจักรทั้งในประเทศอาร์เจนตินาและชิลี ก็เริ่มต้นมาตรการส่งเสริมสันติภาพครั้งใหญ่ เจ้าอาวาสในทุกวัดในทั้งสองประเทศเทศน์ต่อต้านการทำสงคราม และภาวนาวอนขอสันติภาพ

    เนื่องจากเสียงเรียกร้องของประชาชน รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงยอมนั่งลงเจรจายุติความขัดแย้ง หลังจากได้ลงนามในสนธิสัญญาแล้ว ปืนใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับทำสงครามก็ไร้ประโยชน์ ทั้งสองชาติจึงตัดสินใจหลอมปืนเหล่านี้ และหล่อขึ้นใหม่เป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ที่สูงเท่ากับตึกหลายชั้น

    เมื่อหล่อรูปปั้นขนาดมหึมานี้เสร็จ เขาบรรทุกรูปปั้นบนเกวียนที่ใช้บรรทุกปืนใหญ่ และใช้ฬ่อลากขึ้นไปบนภูเขาสูง 13,000 ฟุต โดยมีทหารบกและทหารเรือหลายพันคนใช้เชือกและมือชักลากรูปปั้นขึ้นไปบนส่วนยอดของภูเขาที่สูงชันมาก

    วันที่ 13 มีนาคม 1904 เป็นวันเปิดผ้าคลุมรูปปั้น ซึ่งนับแต่วันนั้นมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อของพระคริสต์แห่งแอนดิส ที่ฐานของรูปปั้นนี้มีคำจารึกว่า “เทือกเขานี้ถล่มทลายกลายเป็นฝุ่น ยังดีกว่าที่ประชาชนชาวชิลี และอาร์เจนตินา จะละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพ ที่สาบานกันแทบพระบาทของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่”

    เรื่องนี้สอดคล้องกับบทอ่านจากพระวรสารสำหรับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย เพราะส่วนหนึ่งของบทเทศน์บนภูเขากล่าวว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า”

    ในโลกที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ข้อความตอนนี้จากบทเทศน์บนภูเขามีความหมายเป็นพิเศษสำหรับเรา พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราทำอย่างที่ชุมชนคาทอลิกในชิลี และอาร์เจนตินาเคยทำ

    ตัวอย่างหนึ่งของการกระทำที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการจากเราก็คือสิ่งที่ เซอร์ ฮิวห์ เบเรสฟอร์ด แห่งราชนาวีอังกฤษเคยทำเมื่อเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2

    เขาเรียกทหารประจำเรือรบของเขามาร่วมพิธีทางศาสนา และระหว่างพิธี เขาภาวนาว่า

    ข้าแต่พระเจ้า พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักของเรา
    โปรดทรงช่วยเราให้ระลึกเสมอว่า
    สาเหตุแท้จริงของสงครามก็คือ ความไม่ซื่อสัตย์ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และการขาดความรัก

    โปรดทรงขับไล่สิ่งเหล่านี้ออกไปจากเรือลำนี้
    เพื่อให้เรือลำนี้เป็นแบบแผนของโลกใหม่
    ที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้เกิดขึ้นเทอญ

    เบเรสฟอร์ด เพียงต้องการเตือนทหารประจำเรือรบของเขาให้ระลึกถึงสิ่งที่ครูผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายสั่งสอนประชาชนมาตลอดหลายศตวรรษ

    นักปราชญ์ชาวจีนในอดีตคนหนึ่งอธิบายไว้ดังนี้

    ถ้ามีความถูกต้องในวิญญาณ ก็จะมีความงามในตัวบุคคล
    ถ้ามีความงามในตัวบุคคล ก็จะมีความปรองดองในบ้าน
    ถ้ามีความปรองดองในบ้าน ก็จะมีความสงบเรียบร้อยในชาติ
    ถ้ามีความสงบเรียบร้อยในชาติ ก็จะมีสันติภาพในโลก

    เราจึงควรย้อนกลับมาพิจารณาตัวเราแต่ละคน บทอ่านพระวรสารสำหรับวันนี้เรียกร้องให้เรากระทำสิ่งที่นักบุญทั้งหลายของพระศาสนจักรเคยทำมาตลอดประวัติศาสตร์ นั่นคือ เขาทำให้หัวใจของเขาคล้อยตามพระประสงค์ของพระเจ้า

    บทอ่านวันนี้เรียกร้องให้เรากำจัดสาเหตุแท้จริงของสงครามออกไปจากชีวิตของเราเอง คือ ความไม่ซื่อสัตย์ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และการขาดความรัก

    บทอ่านวันนี้เรียกร้องเราให้เปิดใจยอมรับสันติสุข ที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาแก่ศิษย์ของพระองค์ก่อนพระองค์จะจากโลกนี้ไป พระองค์ตรัสแก่พวกศิษย์ว่า “เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน”
    นี่คือข่าวดีในบทอ่านพระวรสารสำหรับวันนี้ นี่คือข่าวดีที่เราฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้

    นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรานำไปประกาศในโลกของเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่ทรงภาวนาที่สวนอนุสรณ์สันติภาพในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเสด็จเยือนที่นั่นเมื่อปี 1981

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดสดับฟังเสียงของข้าพเจ้าเถิด
    นี่คือเสียงของเหยื่อทั้งหลายของสงคราม และความรุนแรง
    ที่กระทำโดยบุคคล และประเทศชาติทั้งหลาย

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดสดับฟังเสียงของข้าพเจ้าเถิด
    นี่คือเสียงของเด็กทั้งหลายที่กำลังทนทรมาน และจะต้องทนทรมาน
    เมื่อมนุษย์มีความเชื่อในอาวุธ และสงคราม
    แทนที่จะมีความเชื่อในพระเจ้า และในกันและกัน

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดสดับฟังเสียงของข้าพเจ้าเถิด
    ข้าพเจ้าพูดแทนประชาชนทั้งหลายในทุกประเทศ
    และในทุกช่วงประวัติศาสตร์
    ประชาชนผู้ไม่ต้องการสงคราม
    และพร้อมจะเดินตามวิถีแห่งสันติภาพ

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดสดับฟังเสียงของข้าพเจ้าเถิด
    และโปรดประทานความเข้าใจ และความเข้มแข็ง
    เพื่อให้เราตอบสนองเสมอ
    ต่อความเกลียดชัง ด้วยความรัก
    ต่อความอยุติธรรม ด้วยความยุติธรรม
    ต่อความขัดสน ด้วยความใจกว้าง

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดสดับฟังเสียงของข้าพเจ้าเถิด
    โปรดประทานสันติภาพแก่โลกของเรา
    และขอให้สันติภาพนี้เริ่มต้นจากเราแต่ละคน
    บัดนี้ ในวันนี้ ในพิธีบูชาขอบพระคุณนี้


บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 5:1-12

    บทเทศน์บนภูเขาเรื่องความสุขแท้ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอก และเป็นหนึ่งในทรัพย์อันมีค่าที่มนุษยชาติเก็บรักษาไว้ในความทรงจำมานานหลายศตวรรษ...

    เราสามารถทำความเข้าใจกับบทเทศน์นี้ได้มากมายหลายทาง เราได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ในเทศกาลธรรมดา ในรูปของการวิเคราะห์พระคัมภีร์ ... แต่ในวันฉลองนักบุญทั้งหลายนี้ ขอให้เราพิจารณาบทเทศน์เรื่องความสุขแท้นี้อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ เราจะมองจากแง่มุมของจิตวิญญาณเท่านั้น...

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า...

    พระเยซูเจ้าทรงนำพวกเขาขึ้นไปบนที่สูง เป็นเทือกเขาที่มีหลายยอด...

    “ความสุข” ที่พระเยซูเจ้ากำลังจะตรัสถึงนี้เหมือนกับทางเดินขึ้นภูเขาสูง เราต้องปีนป่ายตามทางที่ลาดชันด้วยความพยายาม และพากเพียร ถ้าเราต้องการค้นพบความยินดีจากการมองเห็นทิวทัศน์งดงาม...

    แม้อยู่บนที่สูงเช่นนี้ก็ยังไม่มีความวิเวก มี “ประชาชนมากมาย” อยู่ที่นั่น บนเทือกเขา มีประชาชนที่ไม่มีความสุข ที่กำลังทนทรมานจากโรค และความเจ็บไข้ (มธ 4:23)

    วันฉลองนักบุญทั้งหลายเป็นวันฉลองอันน่ายินดีโดยมีความทุกข์ทรมานเป็นฉากหลัง เป็นคำเชิญไปสู่สวรรค์โดยมีความตายเป็นฉากหลัง ... พระเยซูเจ้าทรงเสนอความสุขให้แก่ฝูงชนที่กำลังเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ พระองค์ทรงเชิญชวนเขาให้เอาชนะความทุกข์ยากของเขา “ความสุขของผู้ไร้ความสุข”...

... “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”

    เราควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าความทุกข์ยากของประชาชนไม่ใช่สิ่งดี แต่ความทุกข์ยากของพวกเขากำลังนำเขาไปสู่จุดหมายที่ดี ... เมื่อเขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่เขาจะพึ่งพาได้ เขาก็ต้องพึ่งพาพระเจ้า ... คนจนไม่มีความสุขเพราะเขาขัดสนไปเสียทุกอย่าง “คนจนทุกคนเห็นพ้องกันว่าการเป็นคนจนไม่น่าสนใจ สิ่งที่น่าสนใจคือการครอบครองอาณาจักรสวรรค์” (มาดเดอเลน เดลเบรล)...

    ความยากจนไม่ใช่ “สิ่งดี” ถ้าเราเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าทรงคิดว่าความจนเป็นสิ่งดี เราก็คงไม่ต้องการช่วยเหลือคนจน และต่อสู้กับความจน ... แต่พระเยซูเจ้าไม่เคยหยุดช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย คนเป็นโรค คนหิว คนที่ถูกเหยียดหยาม หรือคนบาป ... และบัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเขาว่า “ท่านเป็นสุข – เป็นสุขมิใช่เพราะท่านยากจน หรือไม่มีความสุข ... แต่เพราะพระเจ้าทรงรักท่าน”...
    ข้อแรกของ “ความสุขแท้” สรุปความหมายของข้ออื่น ๆ ทั้งหมด ... ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรโบราณเข้าใจว่า “การมีใจยากจน” เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของชีวิตของคริสตชนทุกคน ... ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงทัศนคติเกี่ยวกับเงินทอง แต่เป็นสภาพพื้นฐานของจิตใจที่ยินดีต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้า มัทธิวคิดว่าเขาสมควรระบุประเด็นนี้ให้ชัดเจน โดยเพิ่มเติมคำว่า “ใจ” เข้าไปในข้อความดั้งเดิมที่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข” (ลก 6:20) พระเยซูเจ้าคงจะตรัสเพียงคำว่า “ยากจน” โดยให้เข้าใจตามธรรมประเพณีของพระคัมภีร์ คือในหนังสือประกาศก และบทเพลงสดุดี คำว่า anawim หมายถึง “ชนชั้นทางสังคมที่ถูกกดขี่ ผู้ที่ไม่มีสิ่งใดเป็นของตนเอง” (อสย 11:4, 14:32, 29:19, 41:17, 54:6, 57:15, 19, 61:1-3; อมส 2:6-7, 5:10-11, 8:4; มคา 2:1-2, 3:3-4, 6:12; ยรม 22:16; สดด 9:13, 19, 10:9, 12, 14:6, 18:28, 22:5, 27, 25:9, 34:37, 35:10 เป็นต้น) ... แต่ในยุคแรก ๆ คำว่า “ยากจน” แฝงความหมายทางศาสนา ดังนั้น anawim จึงกลายเป็นบุคคลที่ความทุกข์ยากของเขากระตุ้นให้เขา “หันไปพึ่งพระเจ้า เพราะเขาไม่อาจพึ่งพาสิ่งอื่นใดบนโลกนี้ได้” ... ในความหมายนี้ พระคัมภีร์มักใช้คำว่า “ยากจน” คู่ขนานไปกับคำว่า “ชอบธรรม” (อมส 2:6, อสย 11:4)...

    “ผู้มีใจยากจน” – เราจะลองแสดงความคิด โดยใช้ถ้อยคำที่ต่างกัน
-    บุคคลที่ถวิลหาบางสิ่งบางอย่าง บุคคลที่ไม่พึงพอใจกับตนเอง...
-    บุคคลที่แสวงหาความสมบูรณ์ครบครัน ... ความสำเร็จ ... บุคคลที่ปรารถนาความศักดิ์สิทธิ์...
-    บุคคลที่เชื่อว่าตัวเขาเองยากจน และรู้ว่าเขาต้องขอรับทุกสิ่งทุกอย่าง...
-    บุคคลที่ไม่พึงพอใจกับโลกนี้ แต่ใฝ่หาพระเจ้า...
-    และบุคคลที่รู้สึกว่าตนเอง “ยากไร้” ที่สุด เพราะเขายากไร้พระเจ้า...

“ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก”

    ความอ่อนโยนเป็นอีกความหมายหนึ่งของ “การมีใจยากจน” นี่คือความเจียมตนของคนยากจนผู้ปฏิเสธความก้าวร้าวทุกประเภท ... เพราะเขารู้จากประสบการณ์ว่าความรุนแรงสามารถทำร้ายคนได้อย่างไร เพราะเขาเองก็เป็นเหยื่อของความรุนแรง เขาจึงปฏิเสธความรุนแรง และเป็นผู้มีใจอ่อนโยน...

    ขอให้เราอย่าลืมว่าความสุขแท้นี้ เป็นความสุขแท้ของพระเจ้า และของพระเยซูเจ้า ความสุขแท้เหล่านี้เปิดเผยทัศนคติ และความยินดีของพระเจ้า ... ซึ่งเราพอจะรู้มาบ้าง เพราะเราถูกสร้างขึ้นมา “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า”...

    พระเจ้าทรงมีพระทัยอ่อนโยนแน่นอน พระองค์ไม่ใช่พระผู้สร้างที่ทรงอำนาจอย่างที่มนุษย์วาดภาพพระองค์ในจินตนาการ พระองค์ไม่ทรง “ชอบแสดงอำนาจ” และต้องการทำลายศัตรูของพระองค์ให้แหลกลาญ ... แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้มี “ใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) ... พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ผู้ทรงวางเดิมพันทั้งหมดไว้กับความรัก เพื่อแก้ปัญหาความชั่วร้าย พระองค์จะไม่มีวันกระทำความชั่วโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อทำลายความชั่ว

“ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”

    ด้วยข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงเตือนให้เราคิดถึงประสบการณ์ที่เราทุกคนเคยประสบในวันใดวันหนึ่งแน่นอน ... ในเวลานั้น เราได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ... และความทุกข์ทรมานของเราก็ไม่อันตรธานไปด้วยการร่ายมนตร์ ... แต่เราพบ “ความหมาย” ในความทุกข์นั้น ... เพราะเราเข้าใจความทุกข์นั้นด้วยแสงสว่างจากภายใน คือแสงสว่างแห่งความรัก...

    “ความชั่ว” ยังคงเป็นธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เหตุผลของเราไม่อาจยอมรับได้ และทดสอบความเชื่อของเรา ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า...

    แต่ถ้าความชั่วทำให้เราปฏิเสธพระเจ้า ก็จะยิ่งทำให้โลกนี้ไร้เหตุผลมากขึ้นไปอีก ถ้าพระเจ้าไม่มีจริง เราก็มั่นใจได้แน่นอนว่าความชั่ว และความตายจะชนะในที่สุด ... แต่ถ้าเราเชื่อในความรักที่แข็งแรงกว่าบาป และความตาย เราก็จะมีความหวังตั้งแต่วันนี้แล้ว ผู้ที่ตระหนักเช่นนี้ย่อมเป็นสุข

    บัดนี้ ระหว่างที่กำลังทนรับการทดลองปัจจุบันของข้าพเจ้าอยู่นี้ ข้าพเจ้าเป็นสุขตามความหมายที่พระเยซูเจ้าทรงบอกข้าพเจ้าหรือเปล่า ... กล่าวคือ เป็นสุข แม้ว่าข้าพเจ้ากำลังล้มเหลว กำลังร้องไห้ แม้ว่ามีสิ่งใดที่กำลังทำให้ข้าพเจ้าท้อแท้...

    เราจะเป็นสุขได้อย่างไรท่ามกลางสถานการณ์อันเจ็บปวดเช่นนั้น ... เราเป็นสุขได้ด้วยการรับฟังพระเยซูเจ้า ผู้ทรงทำให้เราเข้าใจความหมายแท้ของการมีชีวิต ความหมายนั้นคือพระเจ้า...

“ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม”

    ความปรารถนาแรงกล้า ... ความหิว และความกระหาย ... ความรู้สึกว่ายังขาดอะไรบางอย่าง...

    ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้พึงพอใจกับความสนุกสนานทางโลก ... ขอให้ข้าพเจ้าต่อสู้เพื่อความชอบธรรม ซึ่งหมายถึง “ความศักดิ์สิทธิ์” ... ขอให้ข้าพเจ้าต่อสู้เพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความรัก และเต็มใจ...

“ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา”

    การมีใจเมตตา และการให้อภัย เป็นหนึ่งในความยินดีของพระเจ้า! ... เป็นความยินดีของบิดาผู้ได้บุตรที่หายไปกลับคืนมา ... เป็นความยินดีของบุคคลที่พยายามทำดีต่อไปต่อบุคคลที่ทำร้ายเขา ... พระเจ้าทรงบอกเราว่า “จงรักศัตรู”...

    ความยินดีที่เกิดจากการให้อภัยนี้มีข้อจำกัดเพียงประการเดียว คือ การปฏิเสธที่จะให้อภัย แต่เราไม่ควรคิดว่าพระเจ้าจะทรงเกลียดชังมนุษย์ที่ปฏิเสธพระเมตตาของพระองค์ ... เปล่าเลย พระเจ้ายังรักเขาต่อไป แต่สำหรับพระองค์ สถานการณ์นี้เปรียบได้กับ “นรก” อย่างแท้จริง เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่ยินดียินร้ายกับความรักนิรันดรของพระองค์...

“ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า”

    ในที่นี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ตามธรรมบัญญัติของชาวยิว หรือการประพฤติผิดทางเพศของมนุษย์ทุกยุคสมัย ... แต่พระองค์กำลังตรัสถึง “หัวใจบริสุทธิ์” จิตใจที่ซื่อตรง และวิญญาณซื่อ ๆ ที่สามารถ “มองเห็นพระเจ้า” ไม่ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่ใด และทุกครั้งที่พระองค์ทรงแสดงเครื่องหมายแก่เรา

    เพลงซาโลมอน (4:1-9) บอกเราว่าเจ้าบ่าวจำเจ้าสาวของเขาได้เมื่อเห็นลำคอและเส้นผมของนาง ... หัวใจบริสุทธิ์สามารถเข้าใจพระเจ้า ... เขาพบพระเจ้าผู้ซ่อนอยู่เบื้องหลังเครื่องหมายของพระองค์ ... อย่าถามว่าเขารู้ได้อย่างไร หรือทำไมจึงรู้ เพราะนี่เป็นเรื่องของความรัก และความรักก็คือการรู้สึกรัก ... หรือไม่รู้สึกรัก!

    ผู้มีความซื่อมากพอจะเห็นพระเจ้า ย่อมเป็นสุข...

“ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า”

    บางครั้ง ข้อความนี้ถูกแปลว่า “ผู้รักสันติย่อมเป็นสุข” แต่นี่เป็นข้อความที่คลุมเครือ บุคคลที่รักสันติอาจเป็นคนขลาดที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะต้องการรักษาความสงบของเขา...

    ตรงกันข้ามกับผู้สร้างสันติ ที่ยืนอยู่ท่ามกลางการเผชิญหน้าและสงครามรูปแบบต่าง ๆ ... เขาจะอยู่ที่ใจกลางของความขัดแย้ง ระหว่างคนสองกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม บางครั้ง เขาก็ถูกลูกหลงเสียเองในขณะที่พยายาม “สร้าง” สันติ – คือสร้างความปรองดอง ประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์ และทำให้สหภาพที่แตกแยกกลับมาสามัคคีกัน...

    นี่คือหนึ่งในความยินดีของพระเจ้า...

“ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา  ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก

    “ผู้ถูกเบียดเบียน” คือ “คนยากจน” ประเภทหนึ่ง! ... นี่คือชายหญิงทั้งหลายที่ถูกกระทำทารุณกรรม และทำร้าย ... คนทั้งหลายที่เป็นเหยื่อความรุนแรง และการกระทำอันโหดร้าย ... น้อยครั้งที่บุคคลที่ซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าจะไม่ต้องทนรับผลอันเจ็บปวด “เพราะพระองค์”...

    วันฉลองนักบุญทั้งหลาย ... รายชื่อนักบุญต่าง ๆ ในปฏิทินทำให้เราเข้าใจผิดว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นความสามารถพิเศษที่สงวนไว้สำหรับมรณสักขี ฤษี นักพรต หรือพรหมจารีเท่านั้น ... แต่ในความเป็นจริง “นักบุญ” ก็คือ “ประชาชนมากมาย”

    ท่านทั้งหลายที่จะไม่มีวันเป็นบุคคลสำคัญบนจอโทรทัศน์ ... ท่านทั้งหลายที่ยากจน ถูกกดขี่ ตกทุกข์ได้ยาก เป็นคนต่ำต้อยไร้อำนาจ เป็นผู้ถูกเหยียดหยามดูแคลน ... ท่านทั้งหลายที่เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา เบื้องหน้าท่านมีการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ที่สุดรออยู่ เพราะความสุขแท้เหล่านี้เป็นสารที่พระเยซูเจ้าประกาศแก่ท่าน...