แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 34 เทศกาลธรรมดา
เอเสเคียล 34:11-12, 15-17; 1 โครินธ์ 15:20-26, 28; มัทธิว 25:31-46

บทรำพึงที่ 1
เสียงเรียกของพระราชา
พระคริสตกษัตริย์ทรงมองหาศิษย์ผู้จะร่วมทำงานกับพระองค์ เพื่อขยายพระอาณาจักรของพระบิดาให้สมบูรณ์

    “การฝึกจิต” ของนักบุญอิกญาซีโอเป็นหนังสือบทรำพึงที่มีชื่อเสียงมาก และเขียนขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน และได้เปลี่ยนชีวิตของมนุษย์หลายล้านคน หนึ่งในบทรำพึงนี้มีชื่อเรื่องว่า “เสียงเรียกของพระราชา” ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน

    ส่วนแรกกล่าวถึงผู้นำทางโลกผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่ร้องขออาสาสมัครให้เข้าร่วมในอุดมการณ์อันสูงส่งของเขา ถ้าเราปรับแต่งภาพลักษณ์ต่าง ๆ ที่นักบุญอิกญาซีโอใช้ให้ทันสมัย เรื่องราวก็จะดำเนินไปทำนองนี้

    ขอให้เราวาดมโนภาพว่ามีผู้นำหนุ่มคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้น ทุกคนเห็นได้ว่าผู้นำคนนี้ไม่เพียงมีความสามารถล้นเหลือ แต่เขายังอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจ โดยเฉพาะคนจน และคนที่ปราศจากอำนาจ

    เสียงเรียกร้องของผู้นำหนุ่มคนนี้ดังไปถึงประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเศรษฐกิจ ทุกคนไว้ใจเขา ทุกคนเห็นว่า “พระหัตถ์ของพระเจ้า” วางอยู่บนไหล่ของเขา

    ขอให้เราวาดมโนภาพว่าผู้นำคนนี้ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ และกล่าวปราศรัยกับคนในชาติด้วยความเข้าใจอันลึกล้ำ และความเห็นอกเห็นใจ เขาระบุรายละเอียดของโครงการของเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม และการทุจริต ปลดปล่อยเมืองต่าง ๆ ของเราให้พ้นจากอาชญากรรม ปฏิรูประบบบริหารเรือนจำ และกำจัดความยากจน

    แม้แต่นักการเมืองที่เข้าใจความเป็นจริงก็ยังรู้สึกทึ่งที่เขาเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี และเข้าใจด้วยว่าเขาควรจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร นักการเมืองเหล่านี้สรุปว่า ถ้าจะมีใครปฏิรูปสังคมได้ ก็คือชายหนุ่มคนนี้

    ผู้นำคนนี้ลงท้ายคำปราศรัยของเขาด้วยการร้องขออาสาสมัครให้เข้าร่วมในอุดมการณ์อันสูงส่งของเขา

    ส่วนแรกของบทรำพึงจบลงด้วยคำถามที่นักบุญอิกญาซีโอถามผู้ที่กำลังฝึกจิตว่า

    ท่านจะช่วยผู้นำเช่นนี้ไหม ท่านจะเต็มใจสละตนเอง สละเวลาของท่านและเงินทองของท่านเพื่อสนับสนุนโครงการของเขาหรือไม่

    ถ้าเรามองหาตัวอย่างของผู้นำเช่นนี้ในยุคปัจจุบัน เราคงไม่พบใครที่เหมาะสมเท่ากับคุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา

    เมื่อหลายปีก่อน คุณแม่เทเรซาเริ่มต้นงานของเธอตามลำพัง โดยช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุด และต่ำต้อยที่สุดในชุมชนแออัดของเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย

    เธอใช้เงินทุกเซนต์ที่มีเพื่อเปลี่ยนกระท่อมโกโรโกโส ให้กลายเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ กระดานดำของคุณแม่เทเรซา คือ พื้นดินของกระท่อมที่เธอใช้ผ้าขี้ริ้วเก่า ๆ เช็ดถูจนเรียบ และเขียนบนพื้นด้วยไม้ปลายแหลม

    แบบฉบับของคุณแม่เทเรซาดึงดูดใจหญิงสาวอื่น ๆ ใน ค.ศ. 1950 พระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้เธอก่อตั้งคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม

    ขณะที่จำนวนนักบวชในคณะอื่น ๆ ลดลง คณะของเธอกลับมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะนี้มีภคินีและภราดามากกว่า 3,000 คน ที่ทำงานช่วยเหลือคนยากจนในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 70 ประเทศ และมีอาสาสมัครมากกว่าสามล้านคนคอยช่วยเหลือ

    รายงานครั้งล่าสุดเผยว่า โรงเรียนแห่งแรกของคุณแม่เทเรซาที่พื้นเป็นดิน ได้ขยายตัวจนกลายเป็นกลุ่มโรงเรียน 100 แห่ง ที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบถ้วน มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 750 หน่วย มีคลินิกรักษาโรคเรื้อน 120 แห่ง และมีบ้านพักสำหรับบุคคลที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามถนนอีก 150 แห่ง กิจการล่าสุดของเธอคือก่อตั้งบ้านพักในนครนิวยอร์ก สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่ถูกทอดทิ้ง

    คุณแม่เทเรซา คือข้อพิสูจน์ว่าหลักจิตวิทยาที่เป็นรากฐานของบทรำพึงอันโด่งดังของนักบุญอิกญาซีโอ ยังใช้ได้ในปัจจุบันเหมือนกับเมื่อ 400 ปีก่อน

    ประชาชนยังคงอยากติดตามผู้นำที่มีอุดมการณ์สูงส่ง อุดมการณ์สูงส่งยังสามารถจูงใจให้ประชาชนแสดงความใจกว้างได้ พวกเขายังมองหาใครสักคนที่เหมือนกับคุณแม่เทเรซา เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจของเขา

    เมื่อเริ่มต้นบทรำพึง เราบอกว่าบทรำพึงของนักบุญอิกญาซีโอแบ่งออกเป็นสองส่วน บัดนี้ เราจะพิจารณาส่วนที่สอง โดยยกตัวอย่างต่อไปนี้

    เมื่อ ค.ศ. 1976 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบสองร้อยปีของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดแสดงละครเพลงเรื่อง “1776” ที่โรงละครบรอดเวย์ และมีผู้ชมแน่นโรง ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของช่วงวิกฤติในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อบรรพบุรุษของชนชาตินี้ถกเถียงกันว่าควรประกาศเอกราชจากการปกครองของประเทศอังกฤษหรือไม่

    ณ จุดหนึ่งของการถกเถียงนี้ อนาคตของสหรัฐอเมริกาดูคล้ายกับกำแพงใหญ่ที่ใกล้จะล้ม มันอาจล้มไปข้างหลัง ย้อนกลับไปสู่อดีตและอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษต่อไป หรืออาจล้มไปข้างหน้า ไปสู่อนาคต ไปสู่ความหวังใหม่ และอิสรภาพ
    คืนหนึ่ง จอห์น แอดัมส์ กำลังวิตกอย่างยิ่งกับผลลัพธ์ของการถกเถียงนี้ เขายืนอย่างโดดเดี่ยวในความมืดภายใน Independence Hall ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม และมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เขาเริ่มต้นขับร้องข้อความต่อไปนี้

    มีใครอยู่ข้างนอกนั่นบ้างไหม
    มีใครใยดีบ้างไหม
    มีใครเห็นอย่างที่ฉันเห็นบ้างไหม

    นี่คือบทเกริ่นนำของเราสำหรับบทรำพึงส่วนที่สองของนักบุญอิกญาซีโอ ในหัวข้อ “เสียงเรียกของพระราชา”

    บทรำพึงส่วนนี้เปรียบเทียบตัวอย่างของผู้นำที่กล่าวถึงในบทรำพึงส่วนแรก กับพระคริสตกษัตริย์ที่เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้

    ไม่ต่างจาก จอห์น แอดัมส์ ในละครเพลงเรื่อง 1776 พระคริสตเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ทรงประทับยืนอย่างโดดเดี่ยวในความมืดของโลกยุคปัจจุบัน ไม่ต่างจาก จอห์น แอดัมส์ ในละครเพลงเรื่อง 1776 พระองค์ทรงขับร้องบทเพลงหนึ่ง โดยทรงหวังว่าประชาชนที่ใจกว้างจะได้ยิน และเข้าร่วมในอุดมการณ์ของพระองค์

    มีใครอยู่ข้างนอกนั่นบ้างไหม
    มีใครใยดีบ้างไหม
    มีใครเห็นอย่างที่เราเห็นบ้างไหม

    ส่วนที่สองของบทรำพึงของนักบุญอิกญาซีโอ จบลงโดยบอกว่าพระคริสตเจ้าทรงกำลังทำเช่นเดียวกับผู้นำฝ่ายโลกได้กระทำในส่วนแรกของบทรำพึง พระองค์ทรงกำลังถามท่าน และข้าพเจ้า ด้วยคำถามเดียวกับที่ผู้นำฝ่ายโลกถาม

    “ท่านจะมาเข้าร่วมในอุดมการณ์ของเราไหม ท่านจะร่วมทำงานกับเราในการให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ให้ที่พักอาศัยแก่คนไร้บ้าน ให้เสื้อผ้าแก่คนที่ไม่มีเสื้อผ้า และดูแลผู้ป่วยหรือไม่”

    “ท่านจะเข้าร่วมงานกับเราหรือไม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อนำความเชื่อ ความหวัง และความรักกลับคืนสู่หัวใจของมนุษย์ทุกแห่งหน”

    นี่คือสารของวันฉลองในวันนี้ นี่คือสารที่ประกาศในพระวรสารในวันนี้

    เราได้รับเรียกจากพระคริสตกษัตริย์ให้เข้าร่วมในงานอันยิ่งใหญ่ คือ การขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์ในโลกปัจจุบัน นี่คือเสียงเรียกให้เราเปลี่ยนโลกของเรา

    นี่คือเสียงเรียกให้เราเริ่มต้นอย่างน้อยด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเอง ทั้งในบ้านและสถานที่ทำงาน เพื่อให้วิถีชีวิตของเราสะท้อนภาพคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า ในพระวรสารให้ชัดเจนมากขึ้น

    นี่คือเสียงเรียกให้เราก้าวออกมาจากความมืด และตอบรับพระคริสตกษัตริย์เมื่อพระองค์ทรงขับร้องว่า

    มีใครอยู่ข้างนอกนั่นบ้างไหม
    มีใครใยดีบ้างไหม
    มีใครเห็นอย่างที่เราเห็นบ้างไหม

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 25:31-46

“เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ทั้งหลาย พระองค์จะประทับเหนือพระบัลลังก์อันรุ่งโรจน์”

    ในคำปราศรัยครั้งสำคัญครั้งสุดท้าย พระเยซูเจ้า “ช่างไม้ผู้ต่ำต้อยจากเมืองนาซาเร็ธ” ได้เปิดเผยในที่สุดว่าพระองค์ตระหนักในบทบาทของพระองค์อย่างไร ด้วยข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างหนักแน่นที่สุดว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ... ภายในอีกไม่กี่วัน พระองค์จะเข้าสู่พระทรมาน (มธ 26:1-5) และจะทรงกลายเป็น “กษัตริย์” ผู้ถูกเย้ยหยันต้องสวมมงกุฎหนาม และถูกประหารชีวิตเยี่ยงทาสคนหนึ่งในที่สุด ... แต่พระองค์ทรงรู้ดีว่าพระองค์เป็นใคร ทรงรู้ว่าวันหนึ่งพระองค์จะ “เสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์เพื่อพิพากษาโลก” ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมสงวนไว้สำหรับพระยาห์เวห์เท่านั้น...

    ดังนั้น ในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงใช้สมญา “บุตรแห่งมนุษย์” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงเอ่ยถึงเป็นบางครั้งในคำปราศรัยของพระองค์เกี่ยวกับกาลอวสาน (มธ 24:3, 27, 30, 37, 39, 44) ... นับตั้งแต่สมัยของประกาศกดาเนียล (7:13) “บุตรแห่งมนุษย์” คือ บุคคลลึกลับที่ลงมาจากสวรรค์ และเป็นผู้ที่วรรณกรรมวิวรณ์ของชาวยิว (โดยเฉพาะหนังสือเอโนค) บรรยายว่าเป็นผู้พิพากษาผู้ยิ่งใหญ่แห่งกาลอวสาน...

“บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวก ดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย”

    เราควรคิดถึงวันสำคัญนี้เป็นครั้งคราว ซึ่งสำหรับข้าพเจ้าวันนั้นคงมาถึงอย่างรวดเร็ว ... ในวันนั้น เราจะมองเห็นทรัพย์สินทางโลกด้วยมุมมองใหม่...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้วินิจฉัยทุกสิ่งตั้งแต่เวลานี้จากมุมมองของนิรันดรกาล เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดไร้สาระ และสิ่งใดสำคัญจริง ๆ ...

    “บรรดาประชาชาติ” ... ข้าพเจ้าเองก็จะอยู่ที่นั่น ... ท่ามกลางฝูงชนมากมายที่รอคอยการพิพากษา ... ในที่นั้นจะมีทุกคนที่ข้าพเจ้ารัก ทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก และทุกคนที่ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบ ... รวมทั้งชายหญิงอื่น ๆ ทุกคน ทั้งชาวยิว และคนต่างชาติ คริสตชน และไม่ใช่คริสตชน ผู้มีความเชื่อ และผู้ไม่มีความเชื่อ ชาวมุสลิม ฮินดู ผู้นับถือภูตผี ... ผู้บำเพ็ญฌานที่ใช้เวลาทั้งชีวิตอธิษฐานภาวนา และพวกอเทวนิยมผู้ไม่เคยภาวนาเลยตลอดชีวิต ... ทุกคนจะมาอยู่เบื้องหน้าพระเยซูเจ้าผู้เป็นทั้งกษัตริย์และคนเลี้ยงแกะ สมญานี้ที่ปรากฏในหนังสือประกาศกก็เป็นสมญาที่ถวายแด่พระยาห์เวห์ (อสค 34:11-22)...

“แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่ผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า ‘เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดกที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก’ ”

    ในอีกไม่กี่วัน “กษัตริย์” พระองค์นี้ “บุตรแห่งมนุษย์” คนนี้จะถูกตรึงกางเขน ... แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังล่วงรู้ถึง “แผนการของพระเจ้าตั้งแต่สร้างโลก” ... พระองค์ทรงบอกเราว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อว่าวันหนึ่ง มนุษย์จะได้รับความเป็นกษัตริย์ของพระองค์เป็นมรดก...

    แต่อะไรจะเป็นเกณฑ์ในการพิพากษา ... การแยก “แกะ” ออกจาก “แพะ” จะกระทำโดยใช้หลักการใด...

... “เพราะว่าเมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา”

    ความรักคือเกณฑ์หนึ่งเดียวที่ใช้พิพากษา และเป็นความรักในรูปแบบธรรมดาสามัญที่สุด คือ การให้อาหารและน้ำดื่ม การต้อนรับ การให้เสื้อผ้า การเยี่ยมเยียน การดูแล ... ถูกแล้ว การกระทำอันต่ำต้อยที่สุดของเราที่เรากระทำไปด้วยความรักนั้นมีค่าอย่างหาขอบเขตมิได้ – มีค่าสำหรับชีวิตนิรันดร ... กิจกรรมที่พระเยซูเจ้าทรงเอ่ยถึงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ พระองค์เพียงแต่เสนอตัวอย่าง และเราสามารถเพิ่มเติมกิจกรรมอื่น ๆ ได้ เมื่อเราไตร่ตรองชีวิตของเราเอง...

    ลูกของข้าพเจ้าร้องไห้กลางดึก และข้าพเจ้าลุกขึ้นไปปลอบโยนและดูแลเขา ... มารดาผู้ชราของข้าพเจ้าไม่สามารถลุกจากเตียงได้ด้วยตนเองอีกแล้ว และข้าพเจ้าพยุงท่านขึ้นจากเตียง พาท่านไปนั่งเก้าอี้ ... เพื่อนบ้านของเราอยากให้เราแสดงความเป็นมิตร เราจึงใช้เวลาพูดคุยกับเขา ... ในเขตวัด พระสงฆ์ต้องการให้บรรดาบิดามารดาช่วยสอนคำสอน ข้าพเจ้าจึงยอมรับหน้าที่นี้ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องสละเวลาส่วนตัวให้ ... ในที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าต้องการให้มีใครบางคนปกป้องสิทธิของเขา ข้าพเจ้าจึงก่อตั้งสหภาพแรงงาน และยอมรับความรับผิดชอบด้านการเมือง ... ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคร่ำครวญของคนที่หิวโหย ข้าพเจ้าจึงเข้าร่วมในโครงการรณรงค์การแบ่งปัน...

“บรรดาผู้ชอบธรรมจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อไรเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว แล้วถวายพระกระยาหาร หรือทรงกระหาย แล้วถวายให้ทางดื่ม เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้า แล้วต้อนรับ หรือทรงไม่มีเสื้อผ้า แล้วถวายให้ เมื่อใดเล่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ประชวร หรือทรงอยู่ในคุก แล้วไปเยี่ยม’ ”

    ความพิศวงของผู้ที่ได้รับความรอดพ้นเป็นองค์ประกอบที่น่าแปลกใจในเหตุการณ์นี้ เพราะดูเหมือนพระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าในบรรดาผู้ที่ได้รับพระพรจากพระบิดานั้น ไม่มีใครเลยที่ตระหนักว่าสิ่งที่เขาทำไปในชีวิตแต่ละวันของเขามีคุณค่าอย่างไร ... เราได้รับการเปิดเผยว่ากิจการของเรามีความหมายอย่างไรเมื่อถึงนาทีสุดท้ายเท่านั้น...

    ดังนั้น แม้เราจะคิดว่า “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” นี้เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล แต่อันที่จริงเป็นเหตุการณ์ “ถาวร” เพราะ “วันนี้” คือวันพิพากษา ... พระเจ้าจะไม่ต้องพิพากษามนุษย์ เพราะมนุษย์จะ “พิพากษาตนเอง” ด้วยชีวิตทั้งหมดของเขา พระเจ้าเพียงแต่ต้องเปิดเผยแก่เราว่ามีอะไร “ซ่อน” อยู่ในแต่ละวันในชีวิตของเรา ... ชีวิตนิรันดรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้แล้ว...

    แต่อะไรเล่าที่ “ซ่อนอยู่” และเรายังไม่รู้ตัว...

“พระมหากษัตริย์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา’ ”

    สิ่งที่ “ถูกเปิดเผย” ก็คือการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า ... เมื่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติสิ้นสุดลง และพระเยซูเจ้าทรงสรุปผล พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองเท่านั้นเสมือนว่าพระองค์ประทับอยู่ในตัวของมนุษย์ชายหญิงทั้งหลาย ... “เราหิว ... เรากระหาย ... เราเป็นแขกแปลกหน้า ... เราเจ็บป่วย ... เราอยู่ในคุก”...

    ถูกแล้ว “การเสด็จมา” ครั้งสุดท้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในเมฆบนท้องฟ้า จะเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าพระองค์ “เสด็จมา” ในอีกรูปแบบหนึ่งอย่างซ่อนเร้น แต่สม่ำเสมอ การประทับอยู่อย่างผู้มีชัยของพระองค์เมื่อถึงกาลอวสานจะบอกเราอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงเสด็จมาหาเราไม่เคยขาด และประทับอยู่กับเราเสมอ ... ในตัวพี่น้องชายหญิงแต่ละคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตื่นเฝ้าระวังเสมอจนถึงเวลาที่พระองค์เสด็จมาอีกครั้งหนึ่งเถิด...

“แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกที่อยู่เบื้องซ้ายว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้ให้ปีศาจ และพรรคพวกของมัน’ ”...

    พระเยซูเจ้าผู้ทรงเปิดเผยความรักของพระบิดาแก่เรา ยังเป็นผู้ตรัสถ้อยคำที่น่ากลัวนี้อีกด้วย ... ข้าพเจ้าได้แต่รับฟัง ... ข้าพเจ้าไม่สามารถปิดบังข้อความใดจากพระคัมภีร์ที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจได้ ... เพราะพระวรสารไม่ใช่อุดมการณ์ที่คลุมเครือ แต่เป็นเสียงเรียกร้องอันเร่งด่วน ... พระวรสารต้องการบอกเราว่า การไม่ยอมรักต่างจากการรักแน่นอน...

    ผู้ที่ไม่ยอมรัก ไม่สามารถเข้าใกล้พระเจ้าผู้ทรงเป็นความรักได้...

    เราต้องสังเกตข้อแตกต่างอันสำคัญยิ่งในข้อความนี้ กล่าวคือ พระบิดาได้ทรงเตรียมสวรรค์ไว้ “เพื่อมนุษย์” ตั้งแต่สร้างโลกแล้ว แต่พระองค์มิได้เตรียมนรกไว้ให้มนุษย์ แต่ “ให้ปีศาจ และพรรคพวกของมัน” ในข้อความนี้ เราเห็นตัวบุคคลซึ่งพระคัมภีร์เคยกล่าวถึงตั้งแต่ต้นว่าเป็นศัตรูของพระเยซูเจ้า (มธ 4:1) และเป็นผู้หว่านข้าวละมานในแปลงข้าวสาลี (มธ 13:39) และผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้า และทรงชนะหลายครั้ง (มธ 9:34, 12:24, 8:31, 15:22, 17:18)...

    พระศาสนจักรไม่ได้เป็นผู้คิดประดิษฐ์คำสอนเกี่ยวกับนรกขึ้นมาเอง แต่เราได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าเอง “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น”...

    คำสั่งสอนเกี่ยวกับนรกมีความหมายดังนี้ พระเจ้าทรงรักเรามากพอที่จะประทานเสรีภาพแท้จริงแก่เรา – รวมถึงเสรีภาพที่จะปฏิเสธพระองค์อย่างเปิดเผยด้วย ... พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้มีนรกอย่างแน่นอน และการมีวิญญาณเพียงดวงเดียวในนรกนั้นเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจสำหรับพระเจ้ามากกว่าสำหรับเราเสียอีก ... ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าถูกยกตั้งขึ้นตรงกลางระหว่างความเป็นไปได้ที่จะตกนรก และการมีมนุษย์ชายหญิงอยู่ในนรกจริง ๆ พระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ผู้มีเสรีภาพปฏิเสธพระเจ้าไปตลอดกาล ... “พระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้ มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น” (ยน 3:17) ... “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:13) ... “พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ขณะที่เรายังเป็นคนบาป” (รม 5:8) ... “พระองค์มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4)...

    ดังนั้น นรก ซึ่งเป็นสถานะของการปฏิเสธความรักอย่างเด็ดขาด จึงมีอยู่จริงสำหรับบุคคลที่สร้างนรกนี้ขึ้นมาเพื่อตนเองเท่านั้น ... แต่เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะทรงร่วมมือกับความเบี่ยงเบนนี้ ... ถ้าวันใดมีมนุษย์คนหนึ่งยืนกรานปฏิเสธพระเจ้า ก็เปรียบเสมือนพระองค์ทรงถูกตีตราด้วยเหล็กร้อนจากการปฏิเสธความรักอันไร้ขอบเขตของพระองค์ และเราคงเดาไม่ผิด ถ้าจะพูดว่าเหล็กร้อนที่ใช้ตีตราพระองค์นี้มีรูปร่างเป็นไม้กางเขน...

“... เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านไม่ให้อะไรเรากิน เรากระหาย ท่านไม่ให้อะไรเราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ไม่ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ไม่ให้เสื้อผ้า เราเจ็บป่วยและอยู่ในคุก ท่านก็ไม่มาเยี่ยม’

พวกนั้นจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อไรเล่าที่ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว ทรงกระหาย ทรงเป็นแขกแปลกหน้า หรือไม่มีเสื้อผ้า เจ็บป่วยหรืออยู่ในคุก และไม่ได้ช่วยเหลือ’

พระองค์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา’

แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรรมจะไปรับชีวิตนิรันดร”

    ฉากการพิพากษาสองฉากนี้คล้ายกัน แต่ใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ สิ่งที่บางคน “กระทำไป” บางคน “ไม่กระทำ” ... มนุษย์ชายหรือหญิงทุกคน ไม่ว่าเขาเป็นคริสตชนหรือไม่ รู้จักพระเยซูเจ้าหรือไม่ จะถูกตัดสินโดยใช้เกณฑ์เดียวกัน แต่เกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่จำนวนบทภาวนาที่เขาสวด หรือศาสนกิจที่เขาปฏิบัติ – แต่เป็นการแสดงความรักอย่างเป็นรูปธรรมของเขาต่อพี่น้องชายหญิงของเขา...

    ดังนั้น เพียงการหลีกเลี่ยงความชั่วเท่านั้นจึงไม่พอ ... เราต้องทำความดีด้วย ... มนุษย์แต่ละคนเขียนคำพิพากษาตนเองตั้งแต่วันนี้แล้ว ด้วยความดีที่เขาทำ หรือไม่ยอมทำ ต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเขา...

    ใครบ้างที่กำลังคาดหวังบางสิ่งบางอย่างจากข้าพเจ้าอยู่ในวันนี้...