วันอาทิตย์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา
มาลาคี 1:14 – 2:2, 8-10; 1 เธสะโลนิกา 2:7-9, 13; มัทธิว 23:1-12
บทรำพึงที่ 1
พระเจ้าแห่งความรัก
บทบัญญัติมีไว้เพื่อช่วยให้เรารักพระเจ้า และเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้น
เมื่อหลายปีก่อน วิลเลียม โกลดิง ได้เขียนนวนิยายซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันมากชื่อ Lord of the Flies เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนวัย 14 ปี กลุ่มหนึ่ง
เด็กชายเหล่านี้ติดอยู่บนเกาะร้าง เมื่อเครื่องบินที่นำพวกเขาอพยพออกจากประเทศอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนักบินและผู้ช่วยนักบินเสียชีวิต แต่เด็กเหล่านี้รอดชีวิตโดยไม่ได้รับอันตราย
ในตอนแรก เด็กเหล่านี้รู้สึกสนุกสนานกับการสำรวจเกาะ และการได้อยู่ตามลำพังโดยไม่มีผู้ใหญ่ควบคุม แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เลวร้ายลง พวกเขาทะเลาะกันเอง และแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เขาค่อย ๆ กลายเป็นคนดุร้ายป่าเถื่อน และเริ่มต้นฆ่ากัน
ข้อคิดหนึ่งที่เราได้จากนวนิยายของโกลดิง ก็คือ เมื่อปล่อยไว้ตามลำพัง มนุษย์จะแสดงความรุนแรง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าปราศจากกฎหมายและโครงสร้าง มนุษย์จะหันไปหาความชั่วร้าย ธรรมชาติมนุษย์จะเลือกทางที่ง่ายที่สุด และจะเกิดความโกลาหลตามมา
เมื่อมองในแง่ดี โกลดิงกำลังบอกเราว่าสังคมจำเป็นต้องมีกฎหมายและโครงสร้างจึงจะอยู่รอดได้ ถ้าปราศจากกฎหมายและโครงสร้าง สังคมจะเสื่อมถอยกลายเป็นป่าในไม่ช้า ไม่มีสิ่งใดศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมนุษย์คนใดได้รับความเคารพ
ชาวยิวโบราณก็มีปรัชญาคล้ายกันเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ ชาวยิวเชื่อว่ากฎหมายและโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ชาติอิสราเอลอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้ ในหนังสือประกาศเนหะมีย์ มีเหตุการณ์หนึ่ง (8:1-8) ซึ่งคนทั้งชาติมารวมตัวกันรับฟังธรรมบัญญัติ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา การศึกษาธรรมบัญญัติในอิสราเอลก็กลายเป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญที่สุด นักกฎหมายที่เรียกกันว่าธรรมาจารย์ ได้กระทำการโดยพลการในการนำบทบัญญัติข้อใหญ่ ๆ ของประเทศมาบังคับใช้กับกิจวัตรที่ปลีกย่อยที่สุดในชีวิตแต่ละวัน
เช่น ธรรมบัญญัติกำหนดว่าห้ามทำงานในวันสับบาโต ธรรมาจารย์ทั้งหลายใช้เวลานานหลายชั่วโมงหารือกันว่าจะบังคับใช้ธรรมบัญญัติข้อนี้อย่างไรกับกิจวัตรต่าง ๆ เช่น การเดิน บุคคลหนึ่งสามารถเดินได้ไกลเท่าไร การเดินนั้นจึงจะไม่เป็นการพักผ่อน แต่กลายเป็นการทำงาน
ดังนั้นจึงมีธรรมบัญญัติที่กำหนดว่าบุคคลหนึ่งสามารถเดินได้ครึ่งไมล์ในวันสับบาโต แต่ใครที่เดินไกลเกินระยะทางที่ระบุไว้นี้ถือว่าละเมิดธรรมบัญญัติ
ธรรมาจารย์ทั้งหลายยังทำเกินกว่านั้น พวกเขา “ล้อมรั้วรอบธรรมบัญญัติ” เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนละเมิดธรรมบัญญัติโดยไม่เจตนา เช่น ชาวยิวสามารถเดินได้ไม่เกินครึ่งไมล์ในวันสับบาโต แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนละเมิดกฎข้อนี้โดยไม่เจตนา ธรรมาจารย์จึงตั้งเป็นกฎว่า เขาสามารถเดินได้ไม่เกินสองในห้าส่วนของระยะทางหนึ่งไมล์
วิลเลียม บาร์เคลย์ ผู้ศึกษาธรรมบัญญัติของชาวยิว เขียนเกี่ยวกับกฎที่เข้มงวดจนเกินเหตุนี้ว่า “เมื่อธรรมาจารย์ทั้งหลายตีความธรรมบัญญัติสำเร็จเรียบร้อย กฎที่เขาเขียนขึ้นใหม่จากการตีความนี้มีความยาวถึง 50 เล่ม”
ผลสรุปจากกระบวนการนี้ก็คือ สามัญชนจำนวนมากในอิสราเอลเลิกพยายามปฏิบัติตามกฎต่าง ๆ ที่บรรดาธรรมาจารย์ยัดเยียดให้พวกเขา พวกเขาหมดกำลังใจ และเลิกหวังว่าจะสามารถทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้ สามัญชนเหล่านี้หลายคนถึงกับเลิกปฏิบัติตามธรรมบัญญัติข้อหลักอีกด้วย
เพราะเหตุนี้ บรรดาธรรมาจารย์ และชาวฟาริสี จึงถือว่าประชาชนโชคร้ายเหล่านี้เป็นคนบาป และเป็นคนนอกคอก พระเยซูเจ้าทรงประณามธรรมาจารย์และชาวฟาริสี เพราะเขาลดคุณค่าของศาสนา และทำให้ศาสนาเป็นเพียงกฎระเบียบชุดหนึ่งเท่านั้น
และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสถึงธรรมาจารย์ และชาวฟาริสีในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ว่า “เขามัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น แต่เขาเองไม่ปรารถนาแม้แต่จะขยับนิ้ว”
พระเยซูเจ้าทรงเสนอความรัก และการให้อภัย แทนการยึดถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ พระองค์ตรัสว่าหัวใจของศาสนาไม่ใช่หนังสือที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ที่น้อยคนมีเวลาและความรู้มากพอจะปฏิบัติตามได้ แต่ทุกคนสามารถมีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรัก และความเห็นใจผู้อื่นได้
ท่านคงจำได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงย้ำเรื่องนี้ในบทอ่านจากพระวรสารเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อพระองค์ทรงสรุปบทบัญญัติทุกข้อให้รวมอยู่ในบทบัญญัติสองข้อ คือ ให้รักพระเจ้ามากกว่าสิ่งอื่นทั้งปวง และให้รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติข้ออื่น ๆ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้
พระองค์ทรงกำลังบอกว่าท่านสามารถกำหนดบทบัญญัติใด ๆ ขึ้นได้เท่าที่ท่านต้องการ และปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ท่านกำหนดขึ้นเอง แต่ถ้าท่านทำเช่นนี้เพราะเหตุผลอื่น นอกจากเพราะท่านรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ ท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและศาสนา
นักบุญเปาโล ซึ่งเคยเป็นฟาริสีคนหนึ่ง ได้เน้นประเด็นนี้ในจดหมายฉบับที่หนึ่งถึงชาวโครินธ์ ว่า “แม้ข้าพเจ้ามีความเชื่อพอที่จะเคลื่อนภูเขาได้ ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แม้ข้าพเจ้าจะแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งปวงให้แก่คนยากจน ... ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็มิได้รับประโยชน์ใด ... ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:2-7)
ถ้าท่านยังมีความคลางแคลงใจใด ๆ เกี่ยวกับความสำคัญของความรักในศาสนา ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของนักบุญเปาโลจะขจัดความคลางแคลงใจนั้นให้หมดไปอย่างเด็ดขาด
เราจะสรุปบทรำพึงด้วยคำพูดของคุณแม่เทเรซา คุณแม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจโดยรักษาสมดุลระหว่างความรัก และบทบัญญัติได้ดีกว่ามนุษย์คนใด เธอบอกว่า
“พันธกิจของแต่ละคนเป็นพันธกิจแห่งความรัก ... จงเริ่มต้นในสถานที่ที่ท่านอยู่ เริ่มต้นกับบุคคลใกล้ตัวท่านที่สุด จงทำให้บ้านของท่านเป็นศูนย์กลางของความเห็นอกเห็นใจ และให้อภัยอย่างไม่สิ้นสุด อย่าให้ผู้ใดมาหาท่าน แล้วจากไปโดยไม่รู้สึกดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ... เมื่อเราสิ้นใจและมาอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า เราจะถูกพิพากษาตามความรัก มิใช่พิพากษาว่าเราทำงานมากน้อยเพียงไร แต่เราใส่ความรักของเรามากน้อยเพียงไรในการทำงานต่างหาก”
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 23:1-12
“พวกธรรมาจารย์ และชาวฟาริสี นั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด”...
ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงที่สุดระหว่างพระเยซูเจ้า กับผู้นำศาสนาในกรุงเยรูซาเล็ม พระทรมานใกล้จะมาถึงแล้ว และการปฏิเสธพระเยซูเจ้าโดยผู้นำชาวยิวในนครหลวงแห่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงถูกประหาร
ในยุคที่มัทธิวเขียนพระวรสารของเขา ความขัดแย้งนี้ได้สะท้อนกลับมาอย่างรุนแรง ในบรรดากลุ่มต่าง ๆ ทางศาสนาของชาวยิว ชาวฟาริสีเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ยังอยู่รอดและรวมตัวกันติด หลังจากกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 พวกเขามารวมตัวกันที่เมืองยาฟนา เขาตัดขาดชาวยิวที่เป็นคริสตชนอย่างเป็นทางการ โดยประกาศว่าคริสตชนชาวยิวเป็นคนนอกรีต และห้ามเข้ามาในศาลาธรรมของชาวยิว...
แต่บริบททางประวัติศาสตร์นี้ไม่ควรทำให้เราคิดว่ามัทธิวแต่งเรื่องความขัดแย้งของพระเยซูเจ้ากับชาวฟาริสีขึ้นมาเอง พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะพระองค์ทรงต่อต้านผู้มีอำนาจในสมัยนั้นอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวฟาริสีทุกคนสมควรถูกประณาม และไม่ใช่ข้ออ้างให้เรามีทัศนคติที่ต่อต้านชาวยิว...
พระเยซูเจ้าทรงเห็นชอบกับอุดมการณ์อันเคร่งครัดของชาวฟาริสี ทรงสนับสนุนให้เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของชาวฟาริสี ดังนั้น พระองค์ทรงยอมรับว่าชาวฟาริสีมีความรู้เรื่องธรรมบัญญัติเป็นอย่างดี พระองค์ไม่ได้ตำหนิข้อคำสอน และหลักการของชาวฟาริสี เพราะพระองค์ทรงขอให้เราปฏิบัติตาม...
“... แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูด แต่ไม่ปฏิบัติ”
พระเยซูเจ้าทรงเห็นชอบกับอุดมการณ์อันเคร่งครัดของชาวฟาริสี แต่ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ปฏิบัติอย่างที่เขาพูด ดังนั้น เราจึงต้องไม่ตีความจากพระดำรัสของพระเยซูเจ้า ว่าพระองค์ทรงสนับสนุนให้หย่อนยานในการปฏิบัติศาสนกิจ ... บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินข้ออ้างง่าย ๆ ว่า “ฉันไม่ไปฟังมิสซาเพราะคริสตชนก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น ๆ – พวกเขาคือฟาริสี”...
พระเยซูเจ้าไม่ได้ประณามชาวฟาริสี เพราะเขา “ปฏิบัติศาสนกิจมากเกินไป” แต่เพราะ “เขาไม่ปฏิบัติตามอุดมการณ์ของเขามากพอ”...
“เขามัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น แต่เขาเองไม่ปรารถนาแม้แต่จะขยับนิ้ว”
เราสังเกตเห็นอุปนิสัยที่โดดเด่นของพระเยซูเจ้าได้อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงปกป้องคนต่ำต้อย คนยากจน คนอ่อนแอ ธรรมาจารย์เป็นผู้มีความรู้สูง – ถ้าเป็นยุคนี้ เราจะเรียกพวกเขาว่า “ปัญญาชน” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์” ... ชาวฟาริสีเป็นชาวยิวที่มีความศรัทธาร้อนรน ถ้าเป็นยุคนี้ เราคงจัดว่าเขาอยู่ในประเภท “ผู้นำที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม” ... แต่ปัญหาหนึ่งของผู้มีความรู้ และคนใจกว้างเหล่านี้ก็คือเขาเข้มงวดกับผู้อื่น เขายัดเยียดหลักการอันสูงส่งของเขาให้ผู้อื่นรับไปปฏิบัติในชีวิต แทนที่จะ “ทบทวนชีวิต” ของเขาเอง ... การปฏิรูปผู้อื่นทำได้ง่ายกว่าการทำให้ตนเองกลับใจ
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ทำดีต่อผู้อื่น และเข้มงวดกับตนเอง ขอให้เราแบ่งเบาภาระที่หนักเกินไปของผู้อื่น ... และไม่ทำให้ตัวเรากลายเป็นภาระสำหรับคนรอบตัวเรา...
“เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น เช่นเขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น เขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง ชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม ชอบให้ผู้คนคำนับตามลานสาธารณะ ชอบให้ทุกคนเรียกว่า ‘รับบี’ ”
“กลักบรรจุพระวาจา” เป็นกล่องเล็ก ๆ สำหรับบรรจุข้อความจากพระคัมภีร์ ซึ่งเขาผูกไว้ที่หน้าผาก หรือข้อมือ เพื่อเตือนใจตนเองให้คิดถึงพระวาจาของพระเจ้าเสมอ (อพย 13:9-16; ฉธบ 6:8, 11:18)
“พู่” ที่ชายเสื้อเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เตือนให้ระลึกถึงบทบัญญัติของพระเจ้า (กดว 15:37; ฉธบ 22:12)...
ธรรมเนียมเหล่านี้เหมือนกับการติดเหรียญตรา สวมสร้อยคอ หรือแหวนของคนยุคปัจจุบัน...
พระเยซูเจ้าไม่ได้ประณามธรรมเนียมเหล่านี้ พระองค์เองก็ทรงมี “พู่” ห้อยที่เสื้อผ้าของพระองค์ (มธ 9:20, 14:36) ... แต่พระองค์ทรงโจมตีการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อโอ้อวด เมื่อพวกเขาโอ้อวดว่าตนเองเคร่งครัดศรัทธา และพยายามแสดงออกให้เป็นที่สังเกตของผู้อื่น...
การแสวงหาเกียรติยศ การโอ้อวด การเรียกร้องสิทธิพิเศษ ... พฤติกรรมทั้งหมดนี้มีอยู่ทุกยุคสมัย และแต่ละยุคสมัยก็มีวิธีการของตนเองในการแสดงข้อบกพร่องเหล่านี้...
“ส่วนท่านทั้งหลาย อย่าให้ผู้ใดเรียกว่า ‘รับบี’… ”
ประโยคนี้ พระเยซูเจ้ามิได้ทรงสอนชาวฟาริสีในยุคของพระองค์ แต่ทรงสอนศิษย์ของพระองค์...
แทนที่จะคิดว่าพระวรสารกำลังสอนผู้อื่น เช่น ตำหนิผู้เทศน์สอนว่า “สอนแต่ไม่ปฏิบัติ” พระวรสารกำลังส่งเรากลับไปพิจารณาตนเอง “ส่วนท่าน อย่าได้อยากมียศศักดิ์ หรือแสวงหาความได้เปรียบ หรือข้อยกเว้น ...”
ข้าพเจ้ามีข้อบกพร่องเช่นนี้อย่างไรบ้าง...
“... เพราะอาจารย์ของท่านมีเพียงผู้เดียว และทุกคนเป็นพี่น้องกัน”
พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบุคคลที่ทำตัวเป็นเจ้าของคำสั่งสอนที่ถูกต้อง เพราะพระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถสอนสัจธรรมอันสัมบูรณ์ ... เราทำได้เพียงสอนสิ่งที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น...
“ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” ... ประโยคสั้น ๆ แต่ชัดเจน ... พระองค์ทรงเรียกร้องความเสมอภาคในหมู่มนุษย์...
ข้าพเจ้าต้องนำข้อความเหล่านี้ไปพิจารณาตนเองอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ามักแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นหรือเปล่า ... ใครบ้างที่ข้าพเจ้ามักคิดว่าด้อยกว่าข้าพเจ้า ใครบ้างที่ข้าพเจ้าดูแคลน และตัดสินเขา...
“ในโลกนี้อย่าเรียกผู้ใดว่า ‘บิดา’ เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียว คือพระบิดาในสวรรค์”
ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เรา “ทำอย่างนี้ ... อย่าทำอย่างนั้น” ... รากฐานคำสั่งสอนของพระองค์ก็คือทัศนคติ และความเชื่อมั่นในความเชื่อ...
ในกรณีนี้ ความเสมอภาคนี้เกิดจากความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพระเจ้า พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงขอให้เลิกล้มฐานานุกรม อำนาจหน้าที่ หรือตำแหน่งบิดา แต่ทรงเรียกร้องว่าฐานานุกรม อำนาจหน้าที่ หรือตำแหน่งบิดา ต้องไม่แทนที่ตำแหน่งที่เป็นของพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ... นี่คือคำเรียกร้องเสรีภาพอย่างแท้จริง มนุษย์ทุกคนมีสิทธิจะพบกับพระเจ้าโดยตรง ไม่ควรมีใครมายึดครองตำแหน่งของบุคคลเดียวที่สามารถช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้...
การพบกับพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพระเยซูเจ้า จนกระทั่งพระองค์ทรงมองว่าการกีดกัน หรือการเลียนแบบ หรือการแทนที่จอมปลอมใด ๆ เป็นหายนะร้ายแรง...
“ในโลกนี้ อย่าเรียกผู้ใดว่าบิดา” ... แน่นอนว่าเราสามารถเรียกใครก็ได้ว่าบิดาโดยไม่คิดว่าเขาสำคัญเท่ากับพระบิดาในสวรรค์ แต่พระเยซูเจ้าไม่ต้องการให้เรานับถือแต่บิดาที่เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงรู้ว่าพระเจ้าเท่านั้นเป็นพระเจ้า...
“อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่าอาจารย์ เพราะพระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า”
เป็นคำเตือนเดียวกันที่ย้ำโดยใช้คำพูดต่างกัน จากข้อความเหล่านี้ เราอาจค้นพบแก่นแท้ของการศึกษาได้ “อาจารย์” แท้ มิใช่บุคคลที่ดึงดูดคนอื่น ๆ เข้ามาหาตนเอง แต่เป็นผู้นำทางคนเหล่านั้นไปพบความจริง...
แต่ยังมีความหมายที่ลึกยิ่งกว่า คือ ผู้ให้การศึกษาอบรมด้านคริสตศาสนาจะประสบความสำเร็จในงานของเขาเพียงเมื่อเขาสามารถนำศิษย์ของเขาให้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้า ... ความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง และน่าพิศวงของบิดามารดา ครูอาจารย์ และพระสงฆ์ คือ ทำให้ผู้ที่เขาอบรมสั่งสอนลืมไปว่าเขาเป็น “อาจารย์” เพราะศิษย์ของเขาสามารถค้นพบ “พระอาจารย์” หนึ่งเดียวได้แล้ว ... และการสอนคริสตศาสนธรรมจะบรรลุเป้าหมายเพียงเมื่อการสอนนั้นนำทางผู้เรียนไปสู่การภาวนาเป็นส่วนตัว – คือการพบกับพระเจ้าเป็นส่วนตัว ... และการศึกษาจะบรรลุเป้าหมายเพียงเมื่อวันหนึ่งผู้เรียนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้สอนให้ช่วยชี้ทางชีวิตแก่เขา เพราะเขาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระภายใต้การนำทางภายในจากพระอาจารย์หนึ่งเดียว...
“ในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเป็นใหญ่จะต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น ผู้ใดที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”
ประโยคที่ใช้คำพูดที่หนักแน่น และจำได้ง่ายนี้ เป็นหนึ่งในพระดำรัสต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นที่จดจำเพราะใช้ถ้อยคำที่ขัดแย้งกันในตัว แต่ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าพระองค์ตรัสในบริบทใดในประวัติศาสตร์...
เราพบประโยคเดียวกันนี้ในบริบทที่ต่างกัน คือ ใน มัทธิว 20:26 พระองค์ทรงปรามบุตรของเศเบดี มิให้ทะเยอทะยาน ... ใน ลูกา 14:11 พระองค์ทรงเรียกร้องศิษย์ของพระองค์มิให้เลือกที่นั่งที่มีเกียรติมากกว่า ... ใน ลูกา 18:14 พระองค์ทรงแก้ต่างให้คนเก็บภาษีที่ถูกตำหนิจากชาวฟาริสี ผู้ภูมิใจว่าตนเองเป็นคนดี...
คำสอนนี้อาจเป็นหนึ่งในความจริงหลายข้อที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสอนให้ประชาชนเชื่อมากที่สุด ดังนั้น พระองค์จึงทรงย้ำหลายครั้ง ... เว้นแต่ว่าจะเป็นเพียงศิลปะการใช้ภาษาของผู้เขียนเท่านั้น...
อย่างไรก็ดี ประโยคนี้หนักแน่น และท้าทายอย่างยิ่ง ... อะไรคือปมเด่นโดยสัญชาตญาณของข้าพเจ้า และอะไรคือ “การรับใช้” ของข้าพเจ้า...