แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 25:6-10; ฟิลิปปี 4:12-14, 19-20; มัทธิว 22:1-14

บทรำพึงที่ 1
เสื้อสำหรับงานวิวาห์
เราต้องมาร่วมงานวิวาห์ตามเงื่อนไขของพระเจ้า มิใช่ตามเงื่อนไขของเราเอง

    หญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ใจกลางเมืองใหญ่กับบุตรชายอายุ 4 ขวบ เธอต้องนำเขามาฝากไว้ที่ศูนย์รับดูแลเด็กในเวลาเช้า และมารับเขาในเวลาเย็น เมื่อเธอกลับจากทำงาน

    หนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันเกิดปีที่ห้าของบุตรชาย เธอตัดสินใจว่าจะจัดงานเลี้ยงให้เขา เธอจึงเชิญเพื่อนเล่นของเขาห้าคนจากศูนย์รับดูแลเด็กให้มาเป็นแขกในงานเลี้ยง

    เมื่อถึงเวลา ไม่มีเด็กแม้แต่คนเดียวมาในงานเลี้ยง หญิงคนนี้ผิดหวังมาก เธอรู้ว่างานเลี้ยงครั้งนี้มีความหมายต่อบุตรน้อยของเธอมาก เพราะเขาไม่เคยมีงานเลี้ยงฉลองวันเกิดมาก่อนเลย

    หญิงคนนี้รีบวิ่งไปที่ห้องของสามีภรรยาสูงอายุคู่หนึ่ง และขอให้เขามาร่วมในงานเลี้ยง จากนั้น เธอจึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อนคนหนึ่งที่สำนักงานของเธอ และเชิญให้เขามาร่วมงานด้วย ดังนั้น เธอจึงจัดงานเลี้ยงให้บุตรชายได้สำเร็จ

    ในตอนแรกเด็กน้อยร้องไห้เมื่อรู้ว่าเพื่อน ๆ ของเขามาไม่ได้ แต่หลังจากเวลาผ่านไปครู่หนึ่งเขาก็กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน

    เรื่องที่เกือบจะกลายเป็นเรื่องเศร้านี้คล้ายกับอุปมาที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าในบทอ่านจากพระวรสารวันนี้ เพราะเป็นเรื่องของแขกรับเชิญที่ไม่มาร่วมในงานเลี้ยง และเจ้าภาพจำเป็นต้องเชิญผู้อื่นมาแทนในนาทีสุดท้าย ขอให้เราพิจารณารายละเอียดของเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น

    เช่นเดียวกับอุปมาทุกเรื่องของพระเยซูเจ้า เรื่องนี้มีความหมายสามระดับ

    ระดับแรกเป็นความหมายตามตัวอักษร เนื้อเรื่องมีอยู่ว่ากษัตริย์องค์หนึ่งทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้พระโอรสของพระองค์ เมื่อแขกรับเชิญไม่มาร่วมงาน กษัตริย์จึงเชิญแขกอื่น ๆ มาแทนแขกกลุ่มแรก

    ความหมายระดับที่สองเป็นความหมายที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสอนประชาชนโดยใช้เรื่องอุปมาเป็นสื่อ งานวิวาห์เป็นสัญลักษณ์ของอะไร พระองค์ทรงต้องการให้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของใคร แขกรับเชิญที่ไม่มาร่วมงานหมายถึงใคร แขกอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานแทนแขกกลุ่มแรกหมายถึงใคร

    หลังจากได้ไตร่ตรองอุปมาเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว เราจะเห็นว่ากษัตริย์ผู้นี้เป็นตัวแทนของพระเจ้า งานวิวาห์หมายถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า แขกที่ได้รับเชิญหมายถึงประชากรเลือกสรรผู้ได้ทำพันธสัญญากับพระเจ้า

    ท้ายที่สุด แขกกลุ่มที่สองหมายถึงคนบาป และคนต่างชาติต่างศาสนาในยุคของพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้คือบุคคลที่ยอมรับพระเยซูเจ้า หลังจากที่ประชากรเลือกสรรของพระเจ้าไม่ยอมรับพระองค์

    ดังนั้น ความหมายระดับที่สองนี้เองที่เป็นคำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสั่งสอนประชาชนผ่านทางเรื่องอุปมา

    และหนึ่งในคำสั่งสอนของพระองค์ก็คือ บัดนี้ พระอาณาจักรของพระเจ้าเปิดออกต้อนรับมนุษย์ทุกคน - มิใช่เฉพาะประชากรเลือกสรรเท่านั้น - โดยไม่เว้นใครเลย ไม่เว้นแม้แต่คนต่างชาติ นี่เป็นการปฏิวัติความคิดของชาวยิวในยุคของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง

    ความหมายในระดับที่สามเป็นความหมายที่สอนเราเป็นส่วนตัวในยุค 2,000 ปี หลังจากนั้น กล่าวคือ เรื่องอุปมานี้หมายถึงอะไรในชีวิตของเราในวันนี้

    เราจะตอบคำถามข้อนี้ได้เมื่ออ่านตอนจบของเรื่องอุปมา ซึ่งบรรยายว่าแขกรับเชิญคนหนึ่งในกลุ่มที่สองได้ถูกกษัตริย์ไล่ออกจากงาน เพราะเขามาร่วมงานโดยไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ ชายคนนี้อาจมาร่วมในงานเลี้ยงทั้งที่สวมเสื้อผ้าสกปรกที่เขาใช้สวมขณะที่ทำความสะอาดคอกสัตว์ก็เป็นได้

    ทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงเติมรายละเอียดนี้ในเรื่องอุปมาของพระองค์ บุคคลที่ไร้มารยาทคนนี้หมายถึงใคร

    บุคคลนี้หมายถึงแขกรับเชิญมาแทนแขกกลุ่มแรก เขาตอบรับคำเชิญของกษัตริย์ แต่เขามาร่วมงานตามเงื่อนไขของเขาเอง และมิใช่ตามเงื่อนไขของกษัตริย์ บุคคลนี้คือสัญลักษณ์ของใครบางคนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมเมื่อประชาชนเข้าเฝ้ากษัตริย์ในสมัยโบราณ

    ความหมายระดับที่สามนี้เป็นความหมายสำหรับชีวิตของเราในปัจจุบัน เราเป็นแขกรับเชิญกลุ่มที่สอง พระเจ้าทรงเชิญเราไปร่วมในงานเลี้ยงในพระอาณาจักรสวรรค์ พระเจ้าทรงเชิญเราให้เข้าร่วมในงานเลี้ยงแห่งชีวิตนิรันดรกับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระองค์

    แต่พระเจ้าทรงระบุชัดว่า ถ้าเรายอมรับคำเชิญของพระองค์ เราต้องไปร่วมในงานเลี้ยงตามเงื่อนไขของพระองค์ – มิใช่ตามเงื่อนไขของเรา เงื่อนไขนี้หมายถึงอะไร

    ในอุปมาของพระเยซูเจ้า การสวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์คือภาพลักษณ์ของเงื่อนไขนี้ และเสื้อสำหรับงานวิวาห์หมายถึงอะไร

    เราพบคำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ได้ในอุปมาอีกเรื่องหนึ่ง คืออุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย ซึ่งตามหลังเรื่องอุปมาที่เราได้ยินในวันนี้มาติด ๆ

    เราทุกคนคุ้นเคยกับเรื่องอุปมานั้น ซึ่งบรรยายถึงจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้จะมาชุมนุมกันเบื้องหน้ากษัตริย์แห่งสวรรค์และแผ่นดิน โดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่เบื้องขวา อีกกลุ่มหนึ่งอยู่เบื้องซ้าย กษัตริย์ตรัสแก่กลุ่มเบื้องขวาว่า “เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดกที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา” (มธ 25:34-36)

    และพระองค์ตรัสแก่กลุ่มเบื้องซ้ายว่า “จงไปให้พ้น (เพราะท่านไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเราเลย)”

    ดังนั้น เสื้อสำหรับงานวิวาห์ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงในเรื่องอุปมาในวันนี้จึงหมายถึงความรักความห่วงใยที่เรามีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะต่อบุคคลที่ขัดสนที่อยู่รอบตัวเรา เสื้อสำหรับงานวิวาห์หมายถึงการรับใช้พี่น้องชายหญิงของเรา

    สรุปได้ว่า อุปมาที่เราได้ยินในวันนี้บอกเราว่า เราทุกคนได้รับเชิญไปร่วมงานวิวาห์ในสวรรค์ แต่ก็บอกเราด้วยว่าเราต้องสวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ ซึ่งหมายถึงกิจการดีต่าง ๆ เราต้องมาโดยสวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์แห่งการรับใช้ผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ขัดสน เราต้องมาร่วมงานวิวาห์โดยสวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์แห่งความรัก

    เราจะสรุปบทรำพึงวันนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงเปิดดวงตาของเรา เพื่อให้เรามองเห็นพระพักตร์ของพระองค์ในใบหน้าของคนขัดสนทั้งหลาย
    โปรดทรงเปิดหัวใจของเรา ให้เราพร้อมจะยื่นมือออกไปเลี้ยงอาหารพระองค์
    เมื่อเราเห็นว่าพระองค์ทรงหิว
    ให้เสื้อผ้าแก่พระองค์ เมื่อเราพบว่าพระองค์ไม่มีเสื้อผ้า
    ให้ที่พักอาศัยแก่พระองค์ เมื่อเราพบว่าพระองค์ทรงไร้ที่อยู่

    ดังนั้น เมื่อเราสิ้นใจ และมายืนเบื้องหน้าพระองค์
    พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์มาให้เรา และตรัสว่า
    “เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา
    เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดก ที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก”

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 22:1-14

“อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้พระโอรส...”
    พระวรสารไม่เคยนิยามความหมายของพระเจ้า สวรรค์ หรือพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างเป็นทางการ หรือเป็นนามธรรม ... แต่พระวรสารเป็นเหมือนหนังสือที่มีรูปภาพประกอบคำอธิบาย และถ้าพิจารณาจากความนิยมของประชาชนในการติดตามชมพิธีอภิเษกสมรสของราชวงศ์ทางโทรทัศน์ เราจะเห็นว่าภาพลักษณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ในอุปมานี้ไม่ได้ล้าสมัยเลย แม้ว่าจะมีกลิ่นอายของโลกตะวันออกอย่างชัดเจนก็ตาม...

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าพระเจ้าทรง “จัดงานอภิเษกสมรสให้พระโอรส” นี่คือนิยายที่น่าฟังที่สุดในโลก ... เป็นนิยายรักอันงดงามที่สุด...

    แน่นอน พระเยซูเจ้าคือเจ้าบ่าวคนนี้ และพระองค์ทรงกำลังมีความรัก! พระองค์กำลังเข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าสาวที่พระองค์ทรงรักมาก คือ มนุษยชาติ ... ภาพลักษณ์ของคู่บ่าวสาวนี้ปรากฏให้เห็นทั่วไปในพระคัมภีร์ เช่น ฮชย 1-3; อสย 54:4-8, 61:10, 62:45; ยรม 2:2, 31:3; อสค 16; สดด 45:7-8; เพลงซาโลมอนทั้งบท; มก 2:19; ยน 3:29; มธ 25:1, 13, 9:15; อฟ 5:25; 2 คร 19:29, 21:2-9, 22:17; วว 20:9, 21:2-9 เป็นต้น พระคัมภีร์เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและมนุษยชาติตั้งแต่ต้นจนจบ โดยใช้สัญลักษณ์ของ “พันธสัญญา” ... การหมั้น ... การสมรส”...

    หากว่าข้าพเจ้าเลิกมองว่าคริสตศาสนาเป็นสัจธรรมชุดหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องเชื่อ และเป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติ แต่มองว่าเป็น “นิยายรัก” เรื่องหนึ่ง ความคิดของข้าพเจ้าเกี่ยวกับคริสตศาสนาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

... ทรงส่งผู้รับใช้ไปเรียกผู้รับเชิญมาในงานวิวาห์ ...”

    พระเจ้าทรงวาดฝันว่ามนุษยชาติจะเข้าร่วมในงานเลี้ยงอันยิ่งใหญ่ ... ลองถามเด็กคนใดก็ได้ว่าเวลาใดที่เขามีความสุขที่สุด เขาจะตอบว่า “เวลาที่มีแขกมาที่บ้านเยอะ ๆ” งานเลี้ยงเป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่ทุกคนร่วมรับ และแม้แต่ในปัจจุบัน งานเลี้ยงสมรสก็ยังเป็นการชุมนุมของแขกรับเชิญจำนวนมากที่ชื่นชมยินดี มีอาหารรสเลิศ และเครื่องดื่ม มีดนตรี และการขับร้องเพลง เครื่องแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ และการเต้นรำ...

    เชิญมาร่วมงานเลี้ยงเถิด พระเจ้าทรงเรียกแขกรับเชิญมาอยู่รอบโต๊ะอาหารที่จัดไว้พร้อมแล้ว แต่พวกแขกรับเชิญทำอย่างไร...

“แต่พวกเขาไม่ต้องการมา”

    กษัตริย์ผู้น่าสงสาร! พระองค์ทรงผิดหวังมาก – มากจนอาจรู้สึกท้อแท้...

“พระองค์จึงทรงส่งผู้รับใช้อื่นไปอีก รับสั่งว่า ‘จงไปบอกผู้รับเชิญว่า บัดนี้เราได้เตรียมการเลี้ยงไว้พร้อมแล้ว ได้ฆ่าโค และสัตว์อ้วนพีแล้ว ทุกสิ่งพร้อมสรรพ เชิญมาในงานวิวาห์เถิด’ ”

    เช่นเดียวกับในอุปมาเรื่อง “คนเช่าสวนชั่วร้าย” ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ทรงประหลาดพระทัยกับการปฏิเสธของมนุษยชาติ พระองค์ทรงส่งผู้รับใช้อื่น ๆ ออกไปเชิญแขกอีกครั้งอย่างไม่ย่อท้อ
    เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องในอดีต เพราะพระเจ้าทรงส่งคำเชิญมาให้เราเสมอ ... และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของผู้อื่น แต่พระเจ้าทรงส่ง “บัตรเชิญ” มาให้ข้าพเจ้าเอง ... ข้าพเจ้ารู้ตัวหรือไม่ว่าพระองค์ทรงกำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ... ข้าพเจ้ารู้ตัวหรือไม่ว่าพระองค์ทรงเตรียมที่นั่งไว้ให้ข้าพเจ้าที่โต๊ะอาหารนั้นแล้ว...

    ข้าพเจ้าควรยอมสละเวลาทุกเย็น และถามตนเองว่าระหว่างวันนั้น พระเจ้าทรงส่งคนมาเรียกข้าพเจ้าไม่หยุดหย่อนอย่างไรบ้าง ... และทุกวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าควรใช้เวลาสักครู่ถามตนเองว่าข้าพเจ้าพลาดนัดกับพระเจ้ากี่ครั้งระหว่างสัปดาห์ก่อน...

“แต่ผู้รับเชิญมิได้สนใจ คนหนึ่งไปที่ทุ่งนา อีกคนหนึ่งไปทำธุรกิจ คนที่เหลือได้จับผู้รับใช้ของกษัตริย์ทำร้าย และฆ่าเสีย”

    เราได้เห็นเหตุการณ์คล้ายกับ “ฤดูเก็บผลองุ่นอันนองเลือด” เมื่อวันอาทิตย์ก่อน “งานวิวาห์นองเลือด” เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิเสธพระเจ้าเช่นเดียวกัน ขอให้เราระลึกว่าพระเยซูเจ้าคงเล่าเรื่องนี้ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของพระองค์ – เพียงสองสามวันก่อนพระทรมาน...

    แต่เราก็รู้ดีว่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าเท่านั้น เพราะข้าพเจ้าเองก็กำลังปฏิเสธพระองค์ ... โลกปัจจุบันกำลังปฏิเสธคำเชิญจากพระเจ้า...

    ผู้รับเชิญที่ไม่ยอมมาร่วมในงานเลี้ยงช่างเหมือนกับสภาพความเป็นจริงทุกวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเสนอภาพของบุคคลสองประเภท

    1)    “คนที่ไม่สนใจ” หมายถึงคนที่ไม่ยินดียินร้าย ดูเหมือนไม่ตระหนักด้วยซ้ำไปว่าเขาได้รับเชิญ และมัวแต่วุ่นวายกับธุรกิจของเขา...

    2)    “คนที่ประท้วง” หมายถึงคนที่จงใจปฏิเสธคำเชิญ และถึงกับทำร้ายคนรับใช้ของกษัตริย์

    ด้วยข้อความเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงบรรยายสภาพของโลกสมัยใหม่ได้อย่างถูกต้อง เราจะยกสักสองสามตัวอย่างมาเปรียบเทียบถ้อยคำเหล่านี้กับโลกสมัยใหม่ เช่น คุณจะคาดหวังให้ฉันไปฟังมิสซาได้อย่างไร ... ฉันเหลือแค่วันอาทิตย์สำหรับไปเล่นฟุตบอล หรือตีเทนนิส ... วันนี้เป็นวันที่เรามีเวลาออกไปเที่ยวนอกบ้าน ... เป็นวันสำหรับทำงานอดิเรกของฉันเหมือนกัน ... เมื่อฉันเต้นรำมาตลอดคืนวันเสาร์ ฉันจะไปวัดวันอาทิตย์ไหวหรือ ... นอกจากนี้ ฉันยังมีการบ้านต้องทำ และต้องเตรียมตัวสอบด้วย...

    เราทุกคนจมอยู่ในสังคมบริโภคนิยมและกระแสวัตถุนิยมรอบตัวเรา ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่เราจะจัดให้พระเจ้าอยู่ในลำดับสุดท้าย เพราะมีเสียงอื่น ๆ มากมายที่ดังกว่าเสียงเรียกของพระองค์...

    “เชิญมาในงานวิวาห์ของเราเถิด” ... แต่เราไม่ได้ยิน...
“กษัตริย์กริ้ว จึงทรงส่งกองทหารไปทำลายฆาตกรเหล่านั้น และเผาเมืองของเขาด้วย”

    เราเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มากกว่าหนึ่งครั้งในประวัติศาสตร์ของดินแดนตะวันออกยุคโบราณ แต่เราก็รู้ว่านี่เป็นเรื่องอุปมา และเราต้องไม่ค้นหาความหมายสำหรับทุกรายละเอียด...

    ภาพของ “เมืองที่ถูกเผา” ทำให้เราคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจทั้งชาวยิวและคริสตชน ขณะที่มัทธิวเขียนคำบอกเล่านี้ กรุงเยรูซาเล็มได้ถูกกองทัพของทิตัสทำลายไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 70 ชะตากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับเมืองหลวงอันทรงเกียรติของชาวอิสราเอลได้อย่างไร ... เราสามารถตีความประวัติศาสตร์ได้หลายทาง และประกาศกทุกยุคสมัยตีความการทำลายเมืองใหญ่ ๆ ว่าเป็น “การลงโทษของพระเจ้า” (อสย 5:26-29, 17:18; ยรม 5:15-17)...

“แล้วพระองค์ตรัสแก่ผู้รับใช้ว่า ‘งานวิวาห์พร้อมแล้ว’ แต่ผู้รับเชิญไม่เหมาะสมกับงานนี้ จงไปตามทางแยก พบผู้ใดก็ตามจงเชิญมาในงานวิวาห์เถิด”

    บัดนี้ ผู้ได้รับเชิญคือบุคคลที่ไม่คาดหมายว่าจะได้รับเชิญ และเขาก็ตอบรับคำเชิญ ... ชาวยิวเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับเชิญ แต่บัดนี้ได้ถูกแทนที่ด้วย “คนต่างชาติ” แล้ว...

    แต่เราไม่ควรมีอคติต่อชาวยิว เพราะเราควรถามตนเองเช่นกันว่า เรารับรองได้อย่างสุจริตใจหรือไม่ว่าเราตอบรับเสียงเรียกหลายครั้งหลายหนของพระเจ้าในชีวิตแต่ละวันของเรา ... พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า ห้องจัดเลี้ยงจะมีแขกรับเชิญเต็มห้อง ... แม้เมื่อ “ชนชั้นหัวกะทิ” ไม่คิดจะตอบรับ พระเยซูเจ้าทรงเชิญทั้งคนขอทาน คนที่สังคมรังเกียจ มาจนเต็มห้องจัดงานเลี้ยงของพระองค์ ... ในคำบอกเล่าเรื่องเดียวกันนี้ ลูกากล่าวชัดเจนยิ่งกว่าว่า “คนยากจน คนพิการ คนตาบอด และคนง่อย” เข้ามาแทนที่แขกผู้มีเกียรติ (ลก 14:21) ... และในอีกข้อความหนึ่ง มัทธิวก็เขียนว่า “คนเก็บภาษี และหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน” (มธ 21:31)...

“บรรดาผู้รับใช้จึงออกไปตามถนน เชิญทุกคนที่พบมารวมกัน ทั้งคนเลว และคนดี”...

    ข้อความนี้ท้าทายเรา ... เราใจกว้างเหมือนกับพระเจ้าหรือเปล่า ... เรามักให้ความสำคัญแก่ “ชนชั้นหัวกะทิ” มากกว่าคนอื่น ๆ ใช่หรือไม่ ... หลายครั้งใช่หรือไม่ที่เราอยากอยู่ในพระศาสนจักรที่มีแต่นักบุญ และผู้นำที่ขยันขันแข็ง และบุคคลที่มีความเชื่อมั่นคง...

    แต่พระเจ้าทรงเชิญทุกคน โดยไม่ละเว้น หรือเลือกปฏิบัติ ... ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงโปรดปรานคนยากจน คนตามชายขอบสังคม และคนจรจัด เสียด้วยซ้ำ...

“กษัตริย์เสด็จมาทอดพระเนตรแขกรับเชิญ ทรงเห็นคนหนึ่งไม่สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ จึงตรัสแก่เขาว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านไม่ได้สวมเสื้อสำหรับงานวิวาห์ แล้วเข้ามาที่นี่ได้อย่างไร’ คนนั้นก็นิ่ง”

    พระเจ้าทรงมีพระทัยเมตตากรุณา ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเชิญมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเลวหรือดี แต่พระองค์ไม่ได้ทรงปล่อยปละละเลย พระคัมภีร์ใช้ “การแต่งกาย” เป็นสัญลักษณ์เสมอ ความรอดพ้นไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยอัตโนมัติ แต่มนุษย์ต้องตอบสนองคำเชิญของพระเจ้าด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิต ... มนุษย์ต้อง “สวมใส่สภาพมนุษย์ใหม่” (กท 3:27; อฟ 4:24; คส 3:10)…

“กษัตริย์จึงตรัสสั่งผู้รับใช้ว่า ‘จงมัดมือมัดเท้าของเขา เอาไปทิ้งในที่มืดข้างนอกเถิด ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง เพราะผู้รับเชิญมีมาก แต่ผู้รับเลือกมีน้อย’ ”

    การลงโทษสถานหนัก และถ้อยคำที่ใช้บรรยายการพิพากษานี้ (มธ 8:12, 13:42, 24:51, 25:30) ... ทำให้เห็นว่า “เสื้อสำหรับงานวิวาห์” นี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์

    การได้เข้าสู่ห้องงานอภิเษกสมรสยังไม่พอ ... การยินดีรับฟังพระวาจาของพระเจ้าจะไม่ปกป้องคุ้มครองเราได้ตลอดไป ... บุคคลที่ได้เป็นแขกผู้มีเกียรติก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขาแสดงตัวว่าเขาไม่เหมาะสมจะเข้าร่วมในงานเลี้ยงของพระเจ้า เขาก็จะถูกจับโยนออกไป...

    นี่เป็นคำเตือนอย่างจริงจัง และทำให้เราต้องถามตนเองว่า เราคิดง่ายเกินไปหรือเปล่าว่าเราปลอดภัยแล้ว ... ผู้มีความเชื่อต้องเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบของเขา...

    ความเมตตาของพระเจ้ายังคงมากมายไร้ขอบเขต – แต่เราไม่สามารถล่วงละเมิดต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้

    เมื่อพระสงฆ์เชิญเราไปรับศีลมหาสนิท เราได้ยินคำเชิญว่า “เป็นบุญของผู้ที่ได้รับเชิญมาร่วมในงานเลี้ยงของพระเจ้า” และเราไม่อาจปฏิเสธว่าประโยคนี้เป็นความจริง แต่เราต้องเสริมด้วยว่า “ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาประทับอยู่ในตัวข้าพเจ้า แต่โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์”...