วันอาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 22:19-23; โรม 11:33-36; มัทธิว 16:13-20
บทรำพึงที่ 1
เพื่อนคนพิเศษ
ถ้าเราต้องการรู้จักพระเยซูเจ้าให้ดีขึ้น เราต้องหาเวลาไปพบพระองค์ทุกวันในการภาวนา
ครั้งต่อไปที่ท่านต้องการหาหนังสือดี ๆ อ่าน ลองไปที่ห้องสมุดสาธารณะ อย่าไปมองหาในมุมหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ แต่ควรหาที่มุมหนังสือสำหรับเด็ก ที่นั่น ท่านจะพบหนังสือที่เขียนโดยซูซาน บาลีกา และเคร็ก โบลด์แมน ข้าพเจ้าจะไม่บอกชื่อหนังสือเพราะจะทำให้ท่านเดาเรื่องราวได้
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เราจะเรียกว่าบ๊อบบี้ บ๊อบบี้บอกเราว่าเขามีเพื่อนสนิทสี่คน คนแรกชื่อจิมมี่ จิมมี่ และบ๊อบบี้ เดินทางในจินตนาการไปถึงดวงจันทร์ แต่บางครั้ง จิมมี่ก็ไปเยี่ยมยายของเขา ทิ้งให้บ๊อบบี้อยู่ตามลำพัง ซึ่งทำให้บ๊อบบี้เศร้าใจมาก
คนที่สองชื่อเจมี่ เจมี่ และบ๊อบบี้ ชอบระบายสีภาพด้วยกัน และนำมาติดไว้ที่ประตูตู้เย็นอวดให้ทุกคนเห็น แต่เมื่อไม่นานมานี้ เจมี่ย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น และบัดนี้ บ๊อบบี้คิดถึงเธอมาก
คนที่สามชื่อเดวิด เดวิด และบ๊อบบี้ ใช้เวลานานนับชั่วโมงช่วยกันสร้างบ้านด้วยแท่งไม้ แต่มีปัญหาหนึ่ง บางครั้งเขาทะเลาะกัน และเดวิดก็กลับบ้านไป ทิ้งให้บ๊อบบี้อยู่ตามลำพัง
คนสุดท้ายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของบ๊อบบี้ เพื่อนคนนี้ไม่เคยทิ้งเขาไป เขาไม่เคยย้ายไปอยู่เมืองอื่น เขาไม่เคยโกรธแล้วกลับบ้าน เขาอยู่ข้าง ๆ บ๊อบบี้ เสมอ
เช่นในฤดูร้อน เขาจะนอนเล่นบนสนามหญ้าด้วยกัน และคุยกันว่าเมฆมาจากไหน ในฤดูหนาว เขาจะนั่งบนเลื่อน และไถลตัวลงมาจากเนินเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
ถึงตอนนี้ ท่านคงสงสัยว่าเพื่อนสนิทของบ๊อบบี้คนนี้เป็นใคร ท่านต้องพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือ ที่นั่น ท่านจะเห็นภาพของเพื่อนสนิทของบ๊อบบี้
เขาคือพระเยซูเจ้า หนังสือเล่มนี้จบลงโดยบ๊อบบี้ถามผู้อ่านว่า “คุณรู้จักเพื่อนสนิทของผมที่ชื่อเยซูไหม”
ข้าพเจ้าชอบหนังสือเล่มนี้เพราะถามคำถามสำคัญข้อเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงถามผู้ที่ได้ยินพระวรสารวันนี้ว่า “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร”
บ๊อบบี้ ตอบคำถามของพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์คือเพื่อนสนิทของผม พระองค์ไม่เคยทิ้งผมไป พระองค์ไม่ย้ายบ้านไปอยู่เมืองอื่น พระองค์ไม่โกรธผมแล้วหนีกลับบ้าน แม้ว่าผมทำผิด พระองค์อยู่เคียงข้างผมเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระองค์อยู่ที่นั่นเสมอเพื่อช่วยเหลือผม”
ทั้งหมดนี้เชิญชวนเราให้ตอบคำถามสำคัญ ซึ่งบ๊อบบี้ถามที่ท้ายเล่มว่า “คุณรู้จักเพื่อนสนิทของผมที่ชื่อเยซูไหม” และเชิญชวนเราให้ตอบคำถามสำคัญที่พระเยซูเจ้าทรงถามเราในพระวรสารวันนี้ว่า “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร”
ถ้าเราไม่รู้ว่าจะตอบคำถามของบ๊อบบี้ หรือตอบคำถามของพระเยซูเจ้าอย่างไร บางที พระเยซูเจ้าอาจกำลังตรัสแก่เราเป็นส่วนตัวในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ก็ได้
บางทีพระองค์อาจกำลังเชิญเราให้มาทำความรู้จักพระองค์มากขึ้น บางทีพระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้เป็นเพื่อนคนพิเศษของพระองค์
เมื่อเราต้องการรู้จักใครบางคนให้มากขึ้น เมื่อเราต้องการเป็นเพื่อนคนพิเศษของใครบางคน เราจะหาเวลาไปพบบุคคลนั้น เราจะกำหนดเวลา และสถานที่เฉพาะสำหรับอยู่กับเขา
เราก็ควรทำเช่นเดียวกันนี้ ถ้าเราต้องการรู้จักพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น เราต้องหาเวลาไปพบพระองค์ และพูดคุยกับพระองค์อย่างสม่ำเสมอ เราต้องกำหนดเวลา และสถานที่เฉพาะสำหรับอยู่กับพระองค์
เราเรียกการนัดพบเหล่านี้ว่าการภาวนาประจำวัน
การภาวนาประจำวันก็คือการจัดสรรเวลาจากตารางเวลาของเรา เพื่อมาพบกับพระเยซูเจ้าเป็นประจำเพื่อให้เรารู้จักพระองค์มากขึ้น การภาวนาประจำวันก็คือการจัดลำดับความสำคัญให้กิจกรรมของเรา โดยจัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อให้เราคุ้นเคยมากขึ้นกับพระเยซูเจ้า
ในหนังสือของราล์ฟ มาร์ติน ชื่อ Hungry for God (หิวกระหายพระเจ้า) เขาเขียนว่า “ผมรู้จักนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง เขาตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่อภาวนา วิศวกรอากาศยานคนหนึ่งใช้เวลาระหว่างพักเที่ยงสวดภาวนา และอ่านพระคัมภีร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทคอมพิวเตอร์คนหนึ่งสวดภาวนาหลังจากลูก ๆ ของเขาเข้านอนแล้ว”
มาร์ตินตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเพราะความวุ่นวายในชีวิตของคนยุคใหม่ ถ้าเราไม่จัดสรรเวลาสำหรับภาวนา เราก็คงไม่ภาวนาเลย
เมื่อกิจกรรมบางอย่างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา เราจะไม่ทำเฉพาะเมื่อใดที่มีโอกาส แต่เราจะจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมนั้นในตารางกิจวัตรของเรา
และเราจะทำเช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องการรู้จักพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น ถ้าเราไม่กำหนดเวลาตายตัวสำหรับการภาวนา เราก็คงไม่ภาวนา เพราะนั่นคือนิสัยของมนุษย์
เราจะย้อนกลับมาสู่คำถามที่บ๊อบบี้ถามเราในตอนจบของหนังสือ “คุณรู้จักเพื่อนสนิทของผมที่ชื่อเยซูไหม”
ถ้าเราตอบคำถามของบ๊อบบี้ว่า “รู้จัก แต่ไม่รู้จักดีเท่ากับที่ฉันอยากรู้จักพระองค์” บางที พระเยซูเจ้าอาจกำลังตรัสกับเราผ่านทางบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้
บางที พระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้เจียดเวลาจากตารางที่แน่นเอียดของเราเพื่อไปพบกับพระองค์ทุกวัน เพื่อทำความรู้จักพระองค์ให้มากขึ้น
บางที พระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้เริ่มต้นใช้เวลาสักสองสามนาทีทุกเวลาเย็น เพื่อทบทวนร่วมกับพระองค์ว่าเราทำอะไรมาบ้างในวันนั้น และถามพระองค์ว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรกับกิจกรรมของเรา
บางที พระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้เริ่มต้นใช้เวลาสักสองสามนาทีทุกเวลาเย็น เพื่อพูดคุยกับพระองค์เกี่ยวกับความหวังของเรา ความฝันของเรา ความสงสัยของเรา และปัญหาของเรา
บางทีพระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้เริ่มต้นฝึกตนเองให้ไปพบพระองค์ทุกวันในการภาวนา
บางทีพระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้ค้นพบอย่างที่บ๊อบบี้ค้นพบ
บางทีพระองค์อาจกำลังเชิญชวนเราให้ค้นพบว่าพระองค์ทรงเป็น “เพื่อนคนพิเศษ” ของเราอย่างแท้จริง พระองค์กำลังรอคอยที่จะทำให้ชีวิตของเรามั่งคั่งบริบูรณ์อย่างที่เราไม่นึกฝันว่าจะเป็นไปได้
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 16:13-20
พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป...
จากเมืองไทระ และไซดอน ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ บนฝั่งทะเลของเลบานอน ... มัทธิวนำพระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์เดินทางมายังภูเขาเฮอร์โมนที่ตั้งตระหง่านเหนือทะเลสาบกาลิลี บนยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะ ใกล้กับต้นแม่น้ำจอร์แดน ในสถานที่อันสวยงามและสดชื่นท่ามกลางเสียงนกร้องเพลงและพื้นที่สีเขียวชอุ่มใกล้ถ้ำ ซึ่งใช้เป็นสถานที่สักการะเทพเจ้าแพน (ปัจจุบันเรียกว่าบานีอัส) กษัตริย์เฮโรด ฟิลิป ที่ 2 ทรงสร้างพระราชวังฤดูร้อนขึ้นประมาณปีที่ 2 ก่อนคริสตกาล และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ปกครองอาณาจักรโรมัน พระองค์จึงนำชื่อซีซาร์มาตั้งเป็นชื่อเมืองใหม่นี้...
ในปัจจุบัน เมืองนี้ไม่เหลือซากให้เห็นแล้ว เว้นแต่ธารน้ำที่ยังไหลรินออกมาจากก้อนหินที่เชิงภูเขาลูกนี้
พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร”
เมื่ออยู่ห่างไกลฝูงชน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการลุกฮือของประชาชนที่ต้องการยกพระเยซูเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงถามคำถามที่ชัดเจนอย่างยิ่งเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพระองค์
อนิจจา เราอาจมองเห็นแต่บุคลิกภาพภายนอกของชายหญิงทุกคนที่เราพบ ในตัวมนุษย์แต่ละคนมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากทั้งหลาย ซึ่งกว่าจะค้นพบความลับนี้ได้ก็ต้องใช้เวลานาน ...
แต่บุคลิกภาพอันล้ำลึกของพระเยซูเจ้ามีต้นกำเนิดที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดได้ พระองค์เป็นใคร...
เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์ หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง”
ความคิดของประชาชนมีรายละเอียดต่างกัน แต่มีจุดหนึ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกัน คือพระเยซูเจ้าไม่ใช่ “มนุษย์ธรรมดาสามัญ” พระวาจาและกิจการของพระองค์ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา ประชาชนเปรียบเทียบพระองค์กับประกาศกในอดีตซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ...
แม้แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงกลายเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์โลก อย่างที่มนุษย์ที่มีชื่อเสียงน้อยคนสามารถทำได้...
“พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร”
พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้ศิษย์ของพระองค์มีความคิดเห็นต่างจากคนทั่วไป ศิษย์ของพระองค์ต้องไม่เพียงพูด และคิดเหมือนคนร่วมสมัย เขาต้องมีจุดยืนของตนเอง...
ท่านเล่า ... ท่านมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ... ท่านคิดว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร...
ซีโมน เปโตร ทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”
ผู้อธิบายพระคัมภีร์ทุกคนชี้ว่าประโยคนี้หนักแน่นและชัดเจนอย่างยิ่ง “พระเมสสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงชีวิต”...
เราไม่อาจมั่นใจได้ว่า ในวันนั้น เปโตรรู้ความหมายทางเทววิทยาของข้อความเหล่านี้ ซึ่งปรากฏเด่นชัดหลังจากการกลับคืนพระชนมชีพ และหลังจากผ่านการเพาะบ่มทางความคิดเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่สภาสังคายนาในศตวรรษที่ 4 และ 5 ... แต่เราก็ไม่มีสิทธิจะลดคุณค่าของคำประกาศความเชื่อของเปโตร ให้เหลือเพียงความหมายที่ชาวยิวในสมัยนั้นนิยามให้แก่วลีว่า ben Elohim “พระบุตรของพระเจ้า”...
เป็นความจริงที่พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมได้มอบสมญานี้แก่พระเมสสิยาห์ รวมถึง “บุตรทั้งหลายของอิสราเอล” (อพย 4:22; ฉธบ 14:1; ปชญ 2:16, 18:13; ยรม 31:20; 2 ซมอ 7:14; สดด 2:7, 89:27) ... เห็นได้ชัดว่าในความคิดของเปโตร พระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นเพียง “บุตรคนหนึ่งของพระเจ้า” เหมือนกับที่มนุษย์ทุกคนเป็น แต่เปโตรรับรู้ได้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ใช่ “ประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง” หรือผู้นำสารคนหนึ่งในบรรดาผู้นำสารจำนวนมากที่พระเจ้าทรงส่งมา – แต่พระองค์ทรงเป็นผู้ถูกส่งมา และเป็นพระบุตรในลักษณะที่ไม่เหมือนใครอื่น...
พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุข เพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย”
“มนุษย์ (แปลตามตัวอักษรว่า ผู้มีเลือดเนื้อ) ... เป็นสำนวนโบราณที่ใช้ในพระคัมภีร์ (และเป็นข้อยืนยันความจริงแท้ของข้อความนี้) และเป็นภาพลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยแต่เหตุผลเพียงอย่างเดียว ... ถ้าเราจะพูดประโยคนี้ด้วยภาษาสมัยใหม่ก็อาจพูดได้ว่า “ท่านไม่มีทางพูดเช่นนี้ได้ด้วยตนเอง”...
ก่อนที่เราจะเข้าใจความเป็นจริงของพระเจ้า เราจำเป็นต้องได้รับ “การเผยแสดง” สติปัญญามนุษย์ไม่สามารถอธิบายพระเจ้า ผู้ทรงอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ดังที่นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีเอนซา ขับร้องในบทเพลงว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง เราจะขับร้องบรรยายถึงพระองค์อย่างไรได้อีก ... เราจะกล่าวพรรณนาถึงพระองค์ด้วยภาษาใด เมื่อไม่มีถ้อยคำใดบรรยายได้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร ... ความคิดของเราจะเพ่งมองจุดใดในพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงอยู่เหนือสติปัญญา ... พระองค์เท่านั้นที่เราไม่สามารถพรรณนาได้ เพราะทุกสิ่งที่เราพรรณนาได้ล้วนมาจากพระองค์ ... พระองค์เท่านั้นทรงอยู่เหนือความรู้ เพราะทุกสิ่งที่เราสามารถคิดได้ล้วนมาจากพระองค์ ... พระองค์ทรงเป็นเบื้องปลายของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ... พระองค์คือสิ่งมีชีวิตทั้งปวง และพระองค์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเลย ... พระองค์ทรงมีพระนามทั้งปวง แต่ข้าพเจ้าจะเรียกพระนามของพระองค์อย่างไร เพราะพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่มีใครสามารถตั้งพระนามได้ ... พระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เหนือทุกสิ่ง ... เราจะขับร้องบรรยายถึงพระองค์อย่างไรได้อีก”...
และพระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างกล้าหาญ และตรงไปตรงมาว่าไม่มีผู้ใดรู้จักพระองค์ได้โดยไม่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้า “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้” (มธ 11:27) ... นักบุญเปาโลก็ย้ำว่ามนุษย์ไม่สามารถระบุได้ว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร “ครั้นแล้ว พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทรงเรียกข้าพเจ้า เดชะพระหรรษทานของพระองค์ และพอพระทัยที่จะสำแดงพระบุตรของพระองค์ในตัวข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศข่าวดีถึงพระบุตรแก่บรรดาคนต่างศาสนา ข้าพเจ้าไม่รีรอที่จะปรึกษามนุษย์ (ผู้มีเลือดเนื้อ) ผู้ใดเลย” (กท 1:15-16)...
“พระบิดาของเราทรงเปิดเผยแก่ท่านสิ่งที่ท่านเพิ่งจะเอ่ยออกมา” ... คำว่า “พระบิดาของเรา” ทำให้เราพอจะมองเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงตระหนักว่าพระองค์ทรงเป็นใคร และพระองค์ทรงประกาศว่า เปโตร “เป็นสุข” ... นี่คือความสุขแท้ข้อใหม่ ... ความสุขแท้สำหรับผู้มีบุญได้เห็นความลับของพระบุคคลของพระองค์ แม้เพียงแวบเดียวก็ตาม...
“เราบอกท่านว่าท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”...
มาระโก (8:27-30) และลูกา (9:18-21) บอกเล่าเรื่องการประกาศยืนยันของเปโตรเช่นกัน แต่มัทธิวเท่านั้นที่บอกเล่าต่อไปว่าพระเยซูเจ้าทรงประกาศเรื่องความรับผิดชอบของเปโตรในพระศาสนจักร การเล่นคำว่าเปโตร (ศิลา) นี้น่าจะออกจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าจริง ๆ เพราะน่าจะเป็นภาษาอาราเมอิก มากกว่าภาษากรีก คำว่าศิลา (Kepha ในภาษาอาราเมอิก) เป็นคำศัพท์เพศชาย ดังนั้น จึงแปลประโยคนี้ได้ว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” ... ในขณะที่ในภาษากรีก รูปประโยคฟังขัดหูมากกว่า “ท่านคือเปโตร (petros ซึ่งเป็นคำศัพท์เพศชาย) และบนศิลา (petra ซึ่งเป็นคำศัพท์เพศหญิง) เราจะสร้าง...”
ขอให้เรารำพึงตามคำประกาศของพระเยซูเจ้าแก่เปโตร ซึ่งระบุห้าภาพลักษณ์แบบเซมิติก
1. ศิลา - สัญลักษณ์ของความหนักแน่น และมั่นคง เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้า...
2. พระศาสนจักร - ซึ่งหมายถึง “ผู้ชุมนุม” ที่พระเจ้าทรงเรียกมาอยู่รวมกัน...
3. ประตู - ในโลกโบราณ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของเมืองที่เข้มแข็ง...
4. กุญแจ - สัญลักษณ์ของ “อำนาจ”...
5. การผูก และการแก้ - สัญลักษณ์ของความครบถ้วน ซึ่งรวมสองสิ่งที่ตรงกันข้ามไว้ด้วยกัน...
มีหลายข้อความในพระคัมภีร์ที่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงเป็น “ศิลา” เช่น “พระองค์ทรงเป็นศิลาของข้าพเจ้า ป้อมปราการของข้าพเจ้า” (สดด 71:3) ... เราทุกคนนึกถึงภาพปราสาท หรือหมู่บ้านที่มีกำแพงล้อมรอบ ซึ่งตั้งอยู่บนผาหิน ... พระเยซูเจ้าทรงตั้งพระทัยว่าจะทรงสร้างพระศาสนจักรเช่นนี้ - อย่างมั่นคงแข็งแรง...
คำว่าพระศาสนจักร (Church) แปลมาจากภาษาฮีบรูว่า Qasha หมายถึงที่ชุมนุม (assembly) ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงต้องการก่อตั้ง และเสริมสร้าง “ชุมชน” ซึ่งประกอบด้วยชายหญิงที่มีบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน และมารวมตัวกันเพื่อทำบางสิ่งบางอย่าง ... สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 นิยามความหมายของพระศาสนจักรว่า “ประชากรของพระเจ้า” เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเป็นคริสตชน “โดยลำพัง” – เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความเชื่อ “แบบปัจเจก” ภาพของวัดที่ว่างเปล่า – คือประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการชุมนุมในวันอาทิตย์ – เป็นเครื่องหมายที่บอกเราว่าความเชื่อกำลังเสื่อมถอย และสาบสูญไป...
“ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้”
ประตูนรกหมายถึงแดนผู้ตาย (Sheol) ... ความหมายทั้งหมดของคำนี้ คือ พระศาสนจักรไม่เพียงเข้มแข็งมั่นคงพอจะต้านทานการโจมตีของความตายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถโจมตี “คุกแห่งความตาย” เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ออกจากคุกนี้ได้ด้วย...
ภาพวาดการกลับคืนพระชนมชีพในพระศาสนจักรตะวันออก แสดงภาพพระเยซูเจ้าประทับยืนอย่างผู้มีชัยเหนือสอง “ประตู” ของแดนผู้ตาย ซึ่งแตกออกเป็นรูปไม้กางเขน และทำให้อาดัมและเอวา มีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์เหนือความตาย...
นี่คือเป้าหมายของพระศาสนจักร กล่าวคือ เพื่อรัก และช่วยให้รอดพ้น...
พระเยซูเจ้าทรงต้องการเห็นชายและหญิงทั้งหลาย “กลับคืนชีพ” พร้อมกับพระองค์...
“เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้”...
นี่คือภาพลักษณ์ที่เก่าแก่มากเช่นกัน (อสย 22:22) และเป็นเครื่องหมายของการรับรองความจริงแท้ ใครก็ตามที่ถือกุญแจของบ้านหลังหนึ่ง ย่อมมีอำนาจเหนือบ้านหลังนั้น...
... “ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
ทุกวันนี้ เราจะพบคนจำนวนมากที่พร้อมจะพูดว่า “ฉันยอมรับพระเยซูเจ้า – แต่ฉันไม่ยอมรับพระศาสนจักร” ... หลังจากเราผ่านยุคของการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง พระศาสนจักร (และประเทศทั้งหลายด้วย) ก็ถูกประจญให้ “กระจายอำนาจ” – ทำไมเราจึงไม่พอใจกับ “การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อบอุ่น” โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สถาบันขนาดใหญ่ ... ทำไมเราจึงไม่ดำเนินชีวิตตามข้อความเชื่อ โดยไม่ต้องมีจุดอ้างอิงที่ปราศจากอคติ...
หน้าที่อภิบาลของเปโตร ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการ เตือนใจเราว่าความเชื่อเป็นพระพรที่มาจากพระเจ้า และเราไม่สามารถคิดประดิษฐ์ขึ้นมาได้เองตามใจชอบ ทั้งนี้เพราะพระคริสตเจ้าได้ประทาน “อำนาจ” ให้แก่เปโตร...
เราจึงต้องรับฟังเปโตร...