แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 10 เทศกาลธรรมดา
โฮเชยา 6:3-6; โรม 4:18-25; มัทธิว 9:9-13

บทรำพึงที่ 1
โทษจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าพระเยซูเจ้าทรงต้องการเรียกคนบาปให้กลับใจในวันนี้ พระองค์ต้องใช้เราเป็นเครื่องมือ

    เมื่อปี ค.ศ. 1974 ชาร์ลส์ โคลสัน ถูกตัดสินจำคุกเพราะเกี่ยวข้องกับคดีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาว ซึ่งเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีนิกสันต้องลาออก เขาได้รับการปล่อยตัวจากคุกในปี 1975 หลังจากได้รับการปล่อยตัว ชาร์ลส์ โคลสัน เขียนหนังสือชื่อ Life Sentence (โทษจำคุกตลอดชีวิต) ว่า

    “ผมได้ใช้โทษของผมแล้ว ... ผมชดใช้หนี้ของผมแล้ว บัดนี้ ผมเป็นอิสระที่จะสร้างชีวิตใหม่ อาจเป็นชีวิตที่เรียบง่าย ... และบางทีผมอาจได้งานดี ๆ ทำ”

    แต่แล้วในคืนวันหนึ่ง เขาก็ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคุกแม็กซ์เวลในรัฐอลาบามา เขาบรรยายเหตุการณ์ในหนังสือของเขาว่า ขณะที่นักโทษบางคนกำลังคุยกันอยู่ในห้องพักผ่อนของคุก ทันใดนั้น นักโทษคนหนึ่งที่มีรอยสักเต็มตัวชื่อ อาร์ชี เดินมายืนข้างหน้าโคลสัน และพูดอย่างข่มขู่ว่า “อีกไม่นานนายก็จะพ้นคุก นายจะทำอะไรเพื่อพวกเราบ้าง”

    ทุกคนในห้องนั้นเงียบสนิท ทุกคนรอฟังว่าโคลสันจะพูดอะไร โคลสันตอบว่า “ผมจะช่วยในทางใดทางหนึ่ง ผมจะไม่มีวันลืมสถานที่เหม็น ๆ นี้ หรือพวกคุณ”

    อาร์ชี่มองเขา และพูดอย่างเยาะเย้ยว่า “ทุกคนก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น ... แต่พอพวกมันได้ออกไป มันก็ลืมเรา”

    โคลสันสัญญาว่า “ผมจะไม่ลืม” อาร์ชี่สบถ และแสดงท่าทางท้าทาย

    โคลสันไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้น และเขาไม่เคยลืมคนเหล่านั้น โคลสันเองได้กลับใจไปหาพระคริสตเจ้า ยิ่งเขารำพึงไตร่ตรองพระวรสาร เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าได้รับเรียกให้ทำงานให้พระเยซูเจ้าแบบเต็มเวลา

    สรุปว่าโคลสันหยุดคิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน และหันมาริเริ่มโครงการซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ Prison Fellowship (เพื่อนนักโทษ) ซึ่งเป็นงานอภิบาลของกลุ่มคริสตชนเพื่อช่วยเหลือนักโทษ และครอบครัวของเขา

    โคลสันรวบรวมอาสาสมัครมาช่วยงานในโครงการ “เพื่อนนักโทษ” ได้มากกว่า 120,000 คน เฉพาะในสหรัฐอเมริกา กิจกรรมของโครงการประกอบด้วย

•    จัดประชุมเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งเข้าถึงนักโทษมากกว่า 25,000 คน ในเรือนจำ 500 แห่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
•    ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุ และจิตวิญญาณแก่ครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวเป็นนักโทษในเรือนจำ
•    เตรียมความพร้อมให้คู่สมรสของนักโทษเพื่อรับมือกับความยากลำบาก ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นหลังจากนักโทษออกจากคุก และ
•    ให้ความช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณแก่นักโทษระหว่างช่วงเวลาหลายสัปดาห์  หลายเดือน หรืออาจเป็นปี หลังจากนักโทษได้รับการปล่อยตัว

    งานช่วยเหลือนักโทษของโคลสันทำให้เราเข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

    “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ ... เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป”

    นี่คืองานของพระเยซูเจ้าที่โคลสันตัดสินใจรับมาทำตลอดชีวิต เพราะโคลสันเห็นว่างานของพระองค์จะดำเนินต่อไปในโลกของเราได้โดยอาศัยคริสตชนทั้งหลายเช่นตัวเขา

    เรื่องของชาร์ลส์ โคลสัน และการอุทิศตนช่วยเหลือชาย และหญิง ที่อยู่ในเรือนจำในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เราคิดถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่ปรากฏในบทที่ 25 ของพระวรสารของนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราอยู่ในคุกท่านก็มาหา ... ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดคนหนึ่งของเรา ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:36, 40)

    พระวาจานี้ และพระวาจาของพระเยซูเจ้าในบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ เชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเรากำลังทำอะไรบ้างเพื่อสานต่องานของพระเยซูเจ้า มิใช่เพียงการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกขังในเรือนจำที่สร้างด้วยเหล็กและคอนกรีต แต่อาจถูกขังในคุกที่เลวร้ายยิ่งกว่า เช่น
•    คุกแห่งความสิ้นหวัง และความหิว
•    คุกแห่งสภาพจนตรอก และไร้บ้าน
•    คุกแห่งความโกรธ และความสับสน

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” เราจะตอบสนองอย่างไรต่อพระวาจาของพระองค์ในพระวรสารประจำวันนี้

    เราไม่อาจหลบเลี่ยงปัญหานี้ได้ งานของพระเยซูเจ้าต้องกลายเป็นงานของเรา เพราะไม่มีมือ เท้า และหัวใจอื่นใดที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ทำงานได้ นอกจากของเรา

    นี่คือสารที่แทรกอยู่ในบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ นี่คืองานที่เราได้รับเรียกให้ทำเพราะเราเป็นคริสตชน

    นี่คืองานที่เรียกร้องให้เราสละเวลา และความรู้ความสามารถของเรา ในโลกยุคปัจจุบันของเรา
    นี่คืองานเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่องานนี้ และพระองค์มอบหมายให้เราผู้เป็นศิษย์สานต่อ

    เราแต่ละคนต้องฟังพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารประจำวันนี้ และเปลี่ยนการฟังของเราให้กลายเป็นกิจการบางอย่างในชีวิตแต่ละวันของเรา

    ไม่มีใครทำงานนี้แทนเราได้ เราต้องทำงานนี้ด้วยตัวของเราเอง

    เราจะสรุปรำพึงนี้ด้วยส่วนหนึ่งของบทภาวนาของโคลสัน ซึ่งเขาใช้ภาวนาในตอนท้ายของอารัมภบทของหนังสือ Life Sentence ของเขา

    ขอให้การฟื้นฟูในวัดต่าง ๆ ของเราเปลี่ยนวัดของเราให้กลายเป็นเครื่องมือทรงอำนาจ ที่จะทำงานของพระเจ้าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา...

    ขอให้คริสตชนตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ด้วยความเมตตาสงสารของพระองค์ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อมนุษยชาติ

    ขอให้ชาวโลกที่ไม่เชื่อในความดีได้เห็นตัวอย่างมากมายของคริสตชนที่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อของเขา ขอให้เขาดูแลและเสียสละเพื่อกันและกัน และขอให้เขาเห็นว่าการทำเช่นนี้ช่วยให้เกิดความแตกต่างในชีวิตได้

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 9:9-13

ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปจาก (เยรีโค)...

    ในปัจจุบันเมืองคาเปอรนาอุมเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ในสมัยของพระเยซูเจ้า เมืองนี้เป็นเมืองที่ร่ำรวย เมืองนี้เป็นชุมทางของถนนจากทิศเหนือและใต้ และจากทิศตะวันออกและตะวันตก เป็นสถานที่หยุดพัก เป็นประตูเข้าสู่เขตปกครองของเฮโรด และเป็นจุดที่กองคาราวานจากดินแดนตะวันออกเดินทางมาถึง เราจึงเข้าใจได้ว่าเมืองเช่นนี้ต้องมีด่านภาษีหลายแห่ง และเต็มไปด้วยคนเก็บภาษี...

... ทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อมัทธิว...

    พระวรสารสหทรรศน์ฉบับอื่นระบุชื่อคนเก็บภาษีนี้ต่างกัน มาระโกเรียกเขาว่า “เลวี บุตรของอัลเฟอัส” (มก 2:14) ส่วนลูการะบุชื่อว่า “เลวี” (ลก 5:27) มีความสงสัยมาตั้งแต่ยุคโบราณ ว่ามัทธิว กับเลวี เป็นคนเดียวกันหรือไม่... และมัทธิว คนนี้เป็นคนเดียวกับคนเขียน “พระวรสารฉบับแรก” หรือเปล่า ... แต่ธรรมประเพณีโบราณก็เชื่อว่ามัทธิวเป็นผู้เรียบเรียงข้อความที่เราอ่านกันในวันนี้ ... ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อจึงอาจเป็นเพียงการเปลี่ยนลายเซ็นเท่านั้นกระมัง...

... กำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษี...

    ในปัจจุบัน การเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ใช่อาชีพที่น่าละอาย แต่เราต้องคำนึงถึงวิธีคิดของประชาชนในสมัยของพระเยซูเจ้า ประชาชนทุกคนเกลียด “คนเก็บภาษี” เพราะความทุจริตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตจริง หรือคิดไปเองก็ตาม คนเก็บภาษีต้องจ่ายเงินจำนวนตายตัวให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งว่าจ้างเขา และเขามีเสรีภาพเต็มที่ที่จะเรียกเก็บภาษีตามจำนวนที่เขาต้องการจากประชาชน ... อันที่จริง คนเก็บภาษีเหล่านี้แสวงหาประโยชน์จากคนจน ... นอกจากนี้ เมื่อพวกเขาต้องติดต่อกับชาวโรมันซึ่งเป็นคนนอกศาสนา คนเก็บภาษีจึงอยู่ในสถานะที่มีมลทินตามธรรมบัญญัติอยู่เสมอ ... ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนากับประชาชนทั่วไปไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนบาปสาธารณะ...

... จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป

    ด้วยการเลือกคนเก็บภาษีที่ประชาชนเกลียดชัง พระเยซูเจ้าทรงทำเหมือนจะยั่วยุ การกระทำซึ่งอาจทำให้พระองค์เสื่อมเสียชื่อเสียงเช่นนี้อาจทำให้สมาชิกของชุมชนใหม่ที่พระองค์ประสงค์จะก่อตั้งขึ้นนี้หลบหนีไปหมด ... พระเยซูเจ้าทรงต้องใช้ความกล้าหาญ และความเด็ดเดี่ยวมาก เพื่อจะสวนกระแสความคิดของประชาชนในยุคของพระองค์ ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง...

    การกระทำอย่างที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อนนี้ต้องสำคัญมาก จนพระเยซูเจ้าทรงพร้อมจะทำสิ่งต้องห้ามทางศาสนาและสังคม ในไม่ช้า เราจะเห็นความหมายของการกระทำที่ดูเหมือนขาดสตินี้ แต่เวลานี้ เราจะไตร่ตรองว่าการกระทำของพระองค์อาจหาญอย่างไร พระองค์ทรงเรียกชายคนหนึ่งเข้ามาร่วม “คณะอัครสาวก” ของพระองค์ ทั้งที่ชายคนนี้เป็นคนบาปที่อื้อฉาว และเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป ... พระองค์ทรงทำให้ชายคนนี้เป็นหนึ่งใน 12 เสาหลักของพระศาสนจักรของพระองค์ ร่วมกับเปโตร อันดรูว์ ยอห์น และคนอื่น ๆ ... พระองค์ทรงใจกว้างอย่างยิ่ง...

    ส่วนเรา ... เราสามารถยืนยันในสิ่งที่เชื่อโดยไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสาธารณชนหรือไม่ ... เราเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ตราหน้าคนบางกลุ่มอย่างเหยียดหยาม ... เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางสังคม ซึ่งแยกเราออกจากมนุษย์ชายหญิงที่อาจต้องการความช่วยเหลือจากเราได้หรือไม่?...

ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่บ้านของมัทธิว คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนมาร่วมโต๊ะกับพระองค์ และบรรดาศิษย์

    มัทธิวฉลองกระแสเรียกของเขาด้วยการจัดงานเลี้ยงใหญ่ (ลก 5:29) และแขกรับเชิญย่อมเป็นเพื่อนร่วมอาชีพของเขา นั่นคือ คนเก็บภาษีที่น่ารังเกียจทั้งหลาย พวกเขากิน ดื่ม และขับร้อง ... น่าอายจริง ๆ! ... ลูกาเล่าเรื่องที่คล้ายกันนี้ ซึ่งเกิดขึ้นกับคนเก็บภาษีอีกคนหนึ่งชื่อศักเคียส พระเยซูเจ้าคงต้องใช้วิธีนี้หลายครั้ง (ลก 19:1-10) ... และไม่มีใครลืมเรื่องเช่นนี้ได้ลง
เมื่อเห็นดังนี้ ชาวฟาริสีจึงถามศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษี และคนบาปเล่า”

    การเรียกคนบาปคนหนึ่งมาเป็นอัครสาวกเท่านั้นยังไม่พอ พระเยซูเจ้าทรงกล้า “นั่งร่วมโต๊ะ” กับพวกเขาด้วย และมิใช่ครั้งเดียว แต่บ่อยครั้งจน “คนดีทั้งหลาย” ในยุคของพระองค์เริ่มเสื่อมความนิยมในตัวพระองค์ “ดูซินักกิน นักดื่ม เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษี และคนบาป” (มธ 11:19)...

    ก่อนจะเข้าใจว่าทัศนคติของพระเยซูเจ้ามีนัยสำคัญอย่างไร เราต้องคำนึงถึงธรรมเนียมของชาวยิว การเชิญใครคนหนึ่งไปร่วมโต๊ะอาหาร หรือการรับเชิญไปกินอาหารกับใครสักคนนั้น มีความหมายว่าเรายอมเป็นเพื่อนกับบุคคลนั้น ... การกินอาหารร่วมกันเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางศาสนา เพราะชาวยินไม่ได้กินทุกสิ่งทุกอย่าง แต่กินเฉพาะอาหารที่ธรรมบัญญัติกำหนดให้กินได้เท่านั้น ... เขาไม่กินอาหารร่วมกับใครก็ได้ แต่กินร่วมกับบุคคลที่เขานับว่าเป็นมิตรสหาย และไม่มีมลทินตามธรรมบัญญัติ...

    ดังนั้น คำถามที่ชาวฟาริสีถามพระเยซูเจ้าจึงเป็นคำถามที่ถูกต้องเหมาะสม เราไม่มีสิทธิประณามเขา เพราะพวกเขาปฏิบัติตนอย่างซื่อตรงต่อความเชื่อ และศาสนา และความซื่อตรงเช่นนี้สมควรได้รับความเคารพเสมอ...

    แต่ในกรณีนี้ พระเยซูเจ้าทรงต้องอธิบายเหตุผลที่ทรงทำเช่นนี้...

พระเยซูเจ้าทรงได้ยินดังนั้น จึงตรัสตอบว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ”

    พระเยซูเจ้าไม่ได้คบหาบุคคลที่ชื่อเสียงไม่ดีเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาชน ... แต่เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ ... เหมือนแพทย์ที่กล้าสัมผัสบาดแผลที่เป็นหนองเพื่อรักษาแผลนั้นให้หาย โดยไม่กลัวการติดเชื้อ...

    เราต้องเพ่งพินิจว่าถ้อยคำเหล่านี้เปิดเผยให้เราเห็นบุคลิกภาพ พระหฤทัย และพันธกิจของพระเยซูเจ้าอย่างไร พระองค์ไม่เพียงไม่รังเกียจคนบาป แต่ความเลวทรามของเรากลับดึงดูดพระองค์เหมือนกับคนไข้ดึงดูดแพทย์ ในพระคัมภีร์ บ่อยครั้งที่คำว่า “หมอ” หมายถึงพระเจ้า ผู้ทรงสามารถเยียวยารักษาประชากรของพระองค์ได้ พระองค์ผู้เดียวทรงสามารถพันบาดแผลของเขา และพยุงเขาให้ลุกขึ้นยืนได้ (ฮชย 6:1, อสย 30:26, อพย 15:26)...

    อันที่จริง การมองว่าคนบาปเป็นคนป่วย เป็นความคิดสมัยใหม่มาก ครั้งหนึ่งในอดีต คนที่ทำความชั่วจะถูกตัดสิน และทำให้รู้สึกผิด แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ตรงกันข้าม เรามองว่าคนบาปทุกคนเป็นเพียงบุคคลที่ไม่รู้จักรับผิดชอบ ... แต่ความคิดของพระเยซูเจ้ามีความสมดุลมากกว่า เพราะทรงถือว่าความชั่วก็ยังเป็นความชั่ว แต่เราต้องต่อสู้กับความชั่วเพื่อรักษาให้หาย ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงประนีประนอมกับบาป พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าคนเก็บภาษีทำถูกที่เขาเอาเปรียบคนจน แต่แทนที่จะตัดสินเขาจากภายนอก พระองค์ทรงต้องการให้โอกาสเขารักษาบาดแผลในใจมากกว่า...

    มีหลากหลายวิธีที่เราจะประณามผู้อื่น มีหลากหลายวิธีที่เราจะเป็น “ฟาริสี” ... เราเคยพูดหรือไม่ว่า “ฉันไม่ใช่คาทอลิกที่ศรัทธา แต่ฉันก็เป็นคนดีเท่า ๆ กับคนนั้น และคนนี้ ที่ไปฟังมิสซาทุกวัน ...” หรือตรงกันข้าม “ฉันยืนยันได้เลยว่า ฉันไม่เคยขาดฟังมิสซาในวันอาทิตย์เลยแม้แต่ครั้งเดียว” ... บุคคลที่พูดเช่นนี้มองว่าตนเองน่ายกย่องอย่างยิ่ง!...

    ศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้าคือคนที่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป และบ่อยครั้ง เขาไปหาพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นแพทย์ เพื่อขอให้พระองค์รักษาเขา ... คริสตชนแท้ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ เพียงแต่เขาเป็นมนุษย์ชาย และหญิงที่รู้ว่าตนเองป่วย บาปเป็นโรคอย่างแท้จริง และเราทุกคนเป็นคนบาป ในพิธีมิสซามีบทภาวนามากมายที่วอนขอพระเจ้าให้ประทานอภัยแก่เรา

“จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ”

    ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำให้ “คนเคร่งศาสนา” ในยุคนั้นไม่พอใจพระองค์ พระองค์มิได้ทรงละเมิดบทบัญญัติในยุคสมัยของพระองค์โดยพลการ ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมที่ประชาชนคิดว่ากำหนดขึ้นตามบทบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่โมเสส และพระองค์ไม่ได้ทำเช่นนี้เพราะทรงมีหลักการที่ย่อหย่อน แต่ทรงคบหาคนบาป เพราะพระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงอ้างพระวาจาของพระเจ้าจากพระคัมภีร์ ซึ่งชาวฟาริสีเสแสร้งว่าเขาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ... ข้อความประโยคนี้ยกมาจากหนังสือประกาศกโฮเชยา (6:6) และต้องเป็นข้อความสำคัญที่สุดในความคิดของพระเยซูเจ้า เพราะพระวรสารยกมาอ้างถึงสองครั้ง (มธ 9:13, 12:7)...

    พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่าความรักมีคุณค่าเหนือการนมัสการ ... และความเมตตากรุณามีคุณค่าเหนือเครื่องบูชา เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ พระองค์ทรงกำลังบอกเราว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงเยียวยารักษา และผู้ทรงอภัยบาป...

“เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป”

    พระวาจานี้ช่วยให้เราผู้เป็นคนบาป กลับมีกำลังใจจริง ๆ...

    พระเยซูเจ้าไม่เคยสิ้นหวังกับคนบาป พระองค์ทรงหวังเสมอว่าคนบาปที่ต่ำช้าที่สุดอาจเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนได้ ... ดังนั้น เราต้องเชื่ออย่างมั่นใจว่า พระเจ้าทรงมองเราด้วยความรัก ไม่ว่าเรามีข้อบกพร่องมากมายเพียงไร และไม่ว่าเรารู้สึกว่าตัวเราน่ารังเกียจเพียงไร เมื่อมองเห็นบาปของเราเอง ... แต่เราต้องมีความหวังว่าคนอื่น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน สมาชิกครอบครัว บุตรชายหรือหญิง หรือคู่สมรส...

    “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม” ... ทุกครั้งที่เรารังเกียจคนบาป เรากำลังทรยศพระเยซูคริสตเจ้า ... พระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าไม่มีสิทธิจะเป็นพระศาสนจักรของคริสตชนชั้นยอด แต่เป็นพระศาสนจักรของคนบาป