สมโภชพระวรกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
เฉลยธรรมบัญญัติ 8:2-3, 14-16; 1 โครินธ์ 10:16-17; ยอห์น 6:51-58
บทรำพึงที่ 1
เต้นรำกลางสายฝน
เราต้องไม่คิดว่าศีลมหาสนิทเป็นสิ่งไม่สลักสำคัญ นี่คือของขวัญพิเศษที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เราเพราะความรัก
เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1987 พระสงฆ์คณะเยสุอิต ชื่อปีเตอร์ ชินเนลเลอร์ เดินทางกลับมาจากอัฟริกา หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นห้าปี เขาเขียนบทความลงในนิตยสาร America และรายงานสถานะของพระศาสนจักรคาทอลิก ในประเทศหนึ่งของอัฟริกา คือ ไนจีเรีย ชินเนลเลอร์บรรยายลักษณะของพระศาสนจักรไนจีเรีย โดยใช้สามคำว่า เยาว์วัย มีชีวิตชีวา และกระตือรือร้น ตัวอย่างหนึ่ง คือ เขตวัดเซนต์เจมส์
สัญลักษณ์ของเขตวัดที่ยากจนนี้คือระฆังที่ใช้ตีเรียกสัตบุรุษมาร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์ ระฆังนี้คือขอบล้อขนาดใหญ่ที่ได้มาจากรถบรรทุกเก่าคันหนึ่ง เขาแขวนขอบล้อนี้ไว้ที่ต้นไม้ใกล้วัด
ก่อนเริ่มพิธีมิสซาประมาณ 15 นาที ใครคนหนึ่งจะใช้ท่อน้ำขนาดใหญ่ตีขอบล้อนี้หลายครั้ง เสียงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เสียงที่น่าฟัง แต่ใช้งานได้ ภายในไม่กี่นาที คนนับพันคนจะมารวมตัวกันร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์
เครื่องหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อที่ทวีขึ้นในประเทศไนจีเรีย คือ จำนวนบุคคลที่ได้รับกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์ ในสามเณราลัยแห่งหนึ่ง มีเด็กหนุ่มชาวไนจีเรียศึกษาอยู่มากกว่า 500 คน
หนึ่งสัปดาห์ก่อนคุณพ่อชินเนลเลอร์เดินทางออกจากประเทศนั้น มีพระสงฆ์สิบเอ็ดคนได้รับศีลบรรพชา ในจำนวนพระสงฆ์บวชใหม่สิบเอ็ดคนนี้ สามคนได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ที่ประเทศไลบีเรีย สามคนไปอยู่ที่แคเมอรูน และสามคนไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา นี่คือหลักฐานยืนยันว่าพระศาสนจักรไนจีเรียเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว และบัดนี้ สามารถส่งธรรมทูตไปทำงานในต่างแดนได้
เครื่องหมายสุดท้ายที่แสดงให้เห็นความมีชีวิตชีวาของพระศาสนจักรไนจีเรีย คือข้อความจากจดหมายของพระสังฆราชท้องถิ่น ข้อความนี้เหมาะสมสำหรับเราโดยเฉพาะ เพราะกล่าวถึงวันฉลองที่เรากำลังฉลองกันในวันนี้คือพระคริสตวรกาย ท่านสังฆราชเขียนว่า
“เมื่อวานนี้เป็นวันแห่ฉลองพระคริสตวรกายที่พอร์ทฮาร์คอร์ท ... พระเจ้าทรงส่งฝนลงมา (ตลอดระยะทางสองไมล์) สัตบุรุษเต้นรำและขับร้องในสายฝน เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้เห็นการแห่ศีลมหาสนิทเข้าไปในสถานที่อวยพรท่ามกลางเสียงเชียร์ และเสียงปรบมือ
ทุกคนเปียกโชก แต่ไม่มีใครคิดจะหาที่หลบฝนหรือวิ่งหนี ผู้พิพากษา ทนายความ แพทย์ มารดา และเด็ก ๆ ยืนหยัดราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากศีลมหาสนิท ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอย่างไรอย่างนี้มาก่อน ไม่ว่าที่นี่ หรือที่ไหน”
ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะดีถ้าเราได้ยินเรื่องเช่นนี้บ่อย ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเราจำเป็นต้องรู้ว่าพระศาสนจักรกำลังเติบโตอย่างไร และศีลมหาสนิทมีความหมายอย่างไรต่อพี่น้องคริสตชนของเราในประเทศในโลกที่สาม
รายงานเหล่านี้ยังทำให้เราถามตนเองว่าศีลมหาสนิทมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา นับว่าเป็นเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่งในชีวิตที่เรามีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นความสำคัญของของขวัญมีค่าเช่นศีลมหาสนิท ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
นักจิตวิทยาบอกเราว่าถ้าเราสนใจทุกเสียงที่เราได้ยิน หรือทุกสีที่เรามองเห็น เราจะเป็นบ้า เพื่อป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นบ้า เราจึงสร้างความเคยชินต่อเสียงและสีเหล่านี้ เราปิดกั้นมันจากจิตสำนึกของเรา เช่นเมื่อเราได้ยินใครพิมพ์ดีดในห้องถัดไป เราจะปิดหูต่อเสียงนั้น นักจิตวิทยาเรียกกระบวนการนี้ว่า “การติดเป็นนิสัย (habituation)”
แต่กระบวนการ “ติดเป็นนิสัย” นี้ก็มีด้านลบเช่นกัน เรามักคุ้นเคยกับทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราอยู่กับมันได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพดวงอาทิตย์อัสดง ดอกไม้ เพื่อนฝูง บิดามารดา ลูก ๆ เรามักไม่เห็นคุณค่า หรือความสำคัญ และไม่ตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป
กระบวนการติดเป็นนิสัยนี้เป็นเหตุผลข้อใหญ่ข้อหนึ่งที่ทำให้การทำสมาธิแบบเซนได้รับความนิยมมากเช่นในปัจจุบัน จุดประสงค์ของการทำสมาธิแบบเซน คือ ให้เราเลิกติดนิสัย และทำให้เรากลับมารับรู้ถึงความงามของดวงอาทิตย์อัสดง ดอกไม้ และเพื่อนฝูง
เพื่อให้เข้าใจว่าการทำสมาธิแบบเซนเป็นอย่างไร ลองเพ่งมองหน้าของบิดา หรือมารดา หรือลูกคนหนึ่ง ราวกับว่าท่านมองเห็นบุคคลนั้นเป็นครั้งแรก และต้องการตรึงภาพของบุคคลนั้นในความทรงจำของท่าน
เราจะย้อนกลับมาพิจารณาการสมโภชพระคริสตวรกายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งคำเชิญ และคำท้าทายแก่เรา
อันดับแรกคือคำเชิญ วันฉลองนี้เชิญให้เราถามตนเองว่าศีลมหาสนิทมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา เราเห็นคุณค่า และความสำคัญของศีลมหาสนิท เหมือนกับเมื่อครั้งที่เรารับศีลมหาสนิทเป็นครั้งแรกหรือเปล่า
ถ้าเราตอบว่า “ไม่” วันฉลองนี้ก็ท้าทายเราว่าทำอย่างไรเราจึงจะเห็นคุณค่าของศีลมหาสนิทมากขึ้น ทำอย่างไรเราจึงจะรู้สึกตื่นเต้นกับศีลมหาสนิทอีกครั้งหนึ่ง
วิธีหนึ่งที่ทำได้ คือ ให้ทำเหมือนกับคนที่ทำสมาธิทำกัน คือ ให้รับศีลมหาสนิทราวกับว่าเรากำลังรับเป็นครั้งแรก ... หรือครั้งสุดท้าย ... ในชีวิตของเรา
เอมิลี กริฟฟิน ทำงานในธุรกิจโฆษณาในนครนิวยอร์ก และเธอเข้าเป็นคาทอลิกเมื่อหลายปีก่อน เธอเขียนหนังสือที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่งชื่อ Turning ในหนังสือเล่มนี้ เธอบรรยายว่าอะไรดึงดูดเธอเข้ามาเป็นคาทอลิก เธอเขียนว่า
“ความศรัทธาที่เพิ่มขึ้นต่อศีลมหาสนิท ... และต่อความเชื่อในการประทับอยู่จริงของพระเจ้า ... ดึงดูดดิฉันเข้ามาหาวัดโรมันคาทอลิก ... ขณะที่ความศรัทธาของดิฉันต่อศีลมหาสนิทเพิ่มขึ้น แรงดึงดูดเข้าหานิกายโรมันคาทอลิกก็เพิ่มขึ้นด้วย”
ดังนั้น เราจึงควรพยายามมองศีลมหาสนิทอย่างที่เอมิลี กริฟฟิน มองเห็น เมื่อเธอค้นพบธรรมล้ำลึกจนสุดจะหยั่งถึงได้ข้อนี้เป็นครั้งแรก
ข้าพเจ้าขอสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อเสนอสองข้อ
ข้อแรก ระหว่างสัปดาห์นี้ ขอให้ท่านสวดบทภาวนาขอบพระคุณพระเจ้าหนึ่งบท เพิ่มขึ้นจากบทภาวนาที่ท่านสวดเป็นประจำทุกวัน เพื่อขอบพระคุณพระคริสตเจ้าที่ได้ประทานพระกายของพระองค์แก่เรา
ข้อสอง เมื่อท่านเดินไปรับศีลมหาสนิทในพิธีมิสซาครั้งต่อไป ให้ท่านคิดตลอดเวลาว่าท่านกำลังจะไปรับใคร เมื่อพระสงฆ์ชูปังศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวว่า “พระกายพระคริสตเจ้า”
ท่านกำลังจะรับพระกายที่มีชีวิตของพระคริสตเจ้า
ท่านกำลังจะรับพระคริสตเจ้าผู้ประสูติที่เมืองเบธเลเฮม
ท่านกำลังจะรับพระคริสตเจ้า ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเรา
ท่านกำลังจะรับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
เมื่อท่านคิดถึงเรื่องนี้ มันเหลือเชื่อจนเกินจินตนาการ แต่เรารู้ด้วยความเชื่อว่านี่คือความจริง
มีแต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักเท่านั้นที่สามารถประทานของขวัญเกินจินตนาการเช่นนี้แก่เราได้
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 6:51-58
ยอห์นต่างจากผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่น ๆ ทั้งสามคนที่เขาไม่ได้บอกเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ แต่หลังจากพระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ทวีขนมปัง ... เมื่อพระองค์ประทาน “อาหารฝ่ายโลก” ให้แก่ประชาชนที่กำลังหิว ... ยอห์นบอกเราว่าพระองค์ตรัสถึง “ปังแห่งชีวิตที่ให้ชีวิตนิรันดร” ...
ในข้อความสั้น ๆ ที่เราอ่านในวันนี้ มีคำสำคัญอยู่ห้าคำ คือ กิน (8 ครั้ง) ดื่ม (4 ครั้ง) เนื้อ (5 ครั้ง) โลหิต (4 ครั้ง) ชีวิต (9 ครั้ง) ซึ่งเป็นลีลาการเขียนเฉพาะตัวของยอห์น...
เราต้องอ่านทวนคำสำคัญเหล่านี้ และกล้ามองให้ไกลกว่าภาษาและอุดมคติ อันที่จริงผู้ที่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่สัมผัสได้ ความเป็นมนุษย์ และหลักเหตุผล จะไม่มีวันได้พบกับธรรมล้ำลึกของพระเจ้า
“เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์”
“ขนมปัง” เป็นสารธรรมดาสามัญที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ เป็นอาหารหลักของประชาชนแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน เหมือนกับข้าวเป็นอาหารหลักในทวีปเอเชีย และมันสำปะหลังในทวีปอัฟริกา ... ขนมปังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ใครที่ไม่กินอาหารจะต้องตายในไม่ช้า ... ใครที่ไม่มีความอยากอาหารควรปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นเป็นอาการของความเจ็บป่วยบางอย่างแน่นอน...
แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราคิดให้ไกลเกินระดับธรรมชาติ พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์เองคือ “ขนมปัง” ... ทรงเป็น “อาหารเลี้ยงชีวิต” ... พระองค์ทรงยืนยันว่า “อาหาร” นี้ (คือพระองค์เอง) ลงมาจากสวรรค์ มาจากพระเจ้า ... และเป็นปังทรงชีวิต...
ปังพิเศษนี้ทำให้เราถามตนเองว่า ความหิวของเราเป็นความหิวประเภทใด ... คำว่า “มีชีวิต” หมายถึงอะไรสำหรับข้าพเจ้า ... ถ้าข้าพเจ้าไม่มีความปรารถนาจะรับศีลมหาสนิท ข้าพเจ้าจะขาดอาหารประเภทใด...
“อาหาร” สำหรับข้าพเจ้าคืออะไร ... เงินทองหรือ ... ความสนุกสนานหรือ ... งานหรือ...
ความอยากตามสัญชาตญาณของข้าพเจ้าคือความอยากอะไร...
“ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”
“ชีวิต” มีหลายระดับ เบลส ปาสกาล เคยกล่าวถึง “ความยิ่งใหญ่สามประเภท” กล่าวคือ ความยิ่งใหญ่ของเนื้อหนัง ความยิ่งใหญ่ของสติปัญญา และท้ายที่สุด ความยิ่งใหญ่ของความศักดิ์สิทธิ์ ... “ในบรรดาร่างกายทั้งหลายที่มารวมตัวอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครสามารถสกัดเอาความคิดออกมาได้แม้แต่น้อย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะสมรรถภาพในการคิดอยู่ในอีกระดับหนึ่งของชีวิต ในบรรดาร่างกายและสติปัญญาทั้งหมดก็ไม่มีใครสามารถดึงเอากิจการแห่งความรักเมตตาแท้ออกมาได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะความรักแบบคริสตชนแท้ คือความรักเมตตา อยู่ในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับเหนือธรรมชาติ”...
ชีวิตทางกายภาพ และชีวิตทางชีวภาพนั้นมีอยู่แน่นอน เป็นชีวิตที่สวยงาม แต่บอบบาง ... เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตกางเกงยี่ห้อหนึ่งโฆษณาว่า “จงยอมให้ร่างกายของคุณพูด” ... เราจินตนาการได้ถึงเพียงนี้ทีเดียว ... แต่ชีวิตแท้ของมนุษย์อยู่ที่สติปัญญา “การคิด” ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ ... และเราสามารถมีชีวิตจิตได้ด้วย นี่คือความรักแท้...
พระเยซูเจ้าทรงคิดถึง “ชีวิตพระเจ้า” ตลอดเวลา ... พระองค์ทรงเรียกชีวิตนั้นว่า “ชีวิตนิรันดร”...
“และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเรา”
พระวรสารสหทรรศน์ใช้อีกคำหนึ่งคือ “นี่คือกายของเรา...”
เมื่อยอห์นกล่าวถึงการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า เขาบอกว่า “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ (And the Word was made flesh)” (ยน 1:15) ... “พระเยซูเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์” (1 ยน 4:2) ... ยอห์นย้ำว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่มีเนื้อหนังจริง ๆ “เราได้เฝ้ามอง และเราได้สัมผัสด้วยมือของเรา” (1 ยน 1:1)...
คำว่า “เนื้อหนัง (flesh)” ในพระคัมภีร์ไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกาย แต่หมายถึงชีวิตทั้งหมด “ทั้งตัวตนบุคคล” ... “ขนมปังที่เราจะให้นี้คือตัวเราเอง ทั้งชีวิตของเรา” ... ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงการ “ให้ชีวิต” พระองค์ตรัสพาดพิงถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ นี่คือข้อคิดสำคัญที่สุด พระเยซูเจ้าทรงต้องผ่านความตายเพื่อจะเป็นอาหารของเรา ... พระองค์ทรงต้องผ่านความตายเพื่อให้เรามีชีวิต...
ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้จะเอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร”
การปฏิเสธศีลมหาสนิทมีมาตั้งแต่ยุคพระวรสาร และเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ประชาชนร้องตะโกนว่า “นี่เป็นเรื่องบ้าโดยแท้” ...
ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับความหมายระดับเปลือกนอกของข้อความนี้ เราจะไม่มีวันเข้าถึงสารแท้จริงที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสื่อเลย...
พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง”
แทนที่จะทรงถอนคำพูด พระเยซูเจ้ากลับทรงขยายความ พระองค์ไม่พยายามหลีกเลี่ยงการทำให้ประชาชนช็อก ก่อนหน้านี้พระองค์ตรัสเพียงให้ “กินเนื้อของพระองค์” บัดนี้ พระองค์ทรงยืนกรานให้เขา “ดื่มโลหิตของพระองค์” อีกด้วย การเอ่ยถึงโลหิตทำให้คิดถึงพิธีถวายลูกแกะปัสกาเป็นเครื่องบูชาของชาวยิว ... การดื่มโลหิตเป็นข้อห้ามทางศาสนา เพราะทั้งน่ารังเกียจและเป็นการทุราจารด้วย แม้แต่เนื้อสัตว์ก็ยังต้องถูกล้างให้ปราศจากเลือดก่อนจะกินเป็นอาหารได้ เพราะเลือดคือชีวิต (ลนต 17:11-14, ฉธบ 12:23)...
คำว่า “เลือด” ในพระคัมภีร์มีความหมายแฝง และแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าเราไม่ได้กำลังพูดถึงของเหลวที่ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดงและขาว แต่โลหิตที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนี้คือชีวิตใหม่ที่จะเกิดจากความตายของพระองค์ ... เราต้องไม่ลืมว่า “พระกายและพระโลหิต” ที่เรารับภายใต้รูปลักษณ์ของขนมปังและเหล้าองุ่น คือ “พระกายอันรุ่งเรือง และที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิตของพระเยซูเจ้า” ผู้สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป...
เราควรอ่านทบทวนข้อความที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “ที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ด มิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น พระเจ้าประทานลำต้นแบบต่าง ๆ ตามพระประสงค์ให้กับเมล็ด เมล็ดแต่ละชนิดจึงมีลำต้นตามชนิดของมัน ... การกลับคืนชีพของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก สิ่งที่หว่านลงไปนั้นไม่มีเกียรติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีความรุ่งเรือง สิ่งที่หว่านลงไปนั้นอ่อนแอ แต่สิ่งที่กับคืนชีพนั้นมีอานุภาพ สิ่งที่หว่านลงไปเป็นร่างกายตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพเป็นร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (1 คร 15:37-48)
“ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย”
แม้ว่าความเชื่อเชิญชวนเราให้มองให้ไกลเกินคำพูด แต่ไม่ควรทำให้เราคิดว่าข้อความนี้เป็นเพียงอุปมา และเจือจางความเป็นจริงที่ว่า พระคริสตเจ้าประทานพระองค์เองให้แก่เรา...
ในข้อความนี้ นักบุญยอห์นเปลี่ยนคำกริยาว่า phagein ซึ่งแปลว่า “กิน” และใช้คำว่า trogein แทน ซึ่งอธิบายความเป็นจริงได้มากกว่า และแปลว่า “เคี้ยว” ไม่มีผู้แปลพระวรสารคนใดกล้าใช้ถ้อยคำอย่างที่ผู้นิพนธ์เขียนไว้ ... แต่นี่คือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ระหว่างกินเลี้ยงปัสกา เด็กชาวอิสราเอลถูกสอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ราวกับว่าให้เขาซึมซับรสชาติให้เต็มที่ ... นี่คือประเพณีที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างอิง ... ไม่มีอะไรแปลกประหลาด แต่เป็นการใช้สัญลักษณ์ที่ลึกซึ้ง สมจริง และมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง...
ชีวิตจิตของเราได้รับการบำรุงเลี้ยงผ่านร่างกายของเรา ... และเราแสดงให้เห็นสถานะของชีวิตจิตของเราผ่านทางร่างกายของเรา!
“เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้”
“อาหารแท้ ... เครื่องดื่มแท้” ... การย้ำถึงความเป็นจริงของอาหารนี้ และเครื่องดื่มนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พระเยซูเจ้าในพระวรสารของยอห์น ทรงนำความคิดของเราออกจากความเป็นจริงที่มองเห็นได้ ไปสู่ความเป็นจริงระดับลึกยิ่งกว่า
มนุษย์แสวงหาความสมบูรณ์ ... เมื่อได้ลิ้มรสความยินดี ความรัก และชีวิตแล้ว มนุษย์จะแสวงหาความยินดีที่ถาวร และปราศจากสิ่งเจือปน เขาจะแสวงหาชีวิตที่สมบูรณ์ และชีวิตที่ปราศจากความตาย ... ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องของมนุษย์ที่มีความปรารถนาที่ไม่สมหวัง และมีความทะยานอยากที่เขาเอื้อมไม่ถึง ... พระเยซูเจ้าทรงกล้าเสนอชีวิตแท้ และอาหารแท้ให้แก่มนุษย์...
“ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา”
“ดำรงอยู่” เป็นอีกคำหนึ่งที่ยอห์นชอบใช้มาก
ยอห์นจะพัฒนาความคิดนี้ให้กว้างขึ้นอีกในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ในอุปมาเรื่องเถาองุ่น “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขาก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) นี่คือหนึ่งในข้อความที่ทะเยอทะยาน และไม่น่าเชื่อที่สุดที่มนุษย์เคยประกาศ อันที่จริงเป็นที่สะดุดด้วย... นอกจากว่าจะเป็นพระวาจาของพระเจ้า...
“การเคี้ยวเนื้อ” ... “การดื่มโลหิต” ... เมื่อยอห์นเขียนถ้อยคำเหล่านี้ คริสตชนได้เฉลิมฉลองศีลมหาสนิท หรือพิธีมิสซามาแล้วถึง 60 ปี อันที่จริง ระหว่างพิธีมิสซามีเครื่องหมายสองอย่างที่ชัดเจนคือขนมปัง อาหารแข็งที่สัตบุรุษต้องกิน ... และเหล้าองุ่น ของเหลวที่สัตบุรุษต้องดื่ม ... และมีสองข้อความที่ประกาศด้วยว่า “นี่คือกายของเราที่มอบ...” ... “นี่คือโลหิตของเราที่หลั่งออก” เนื้อ ... โลหิต ... เราจะไม่คิดถึงพระเยซูเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนได้อย่างไร ... มิสซาพาเรากลับไปยังกลโกธา ... พาเราไปหาการถวายบูชาเปื้อนเลือดของบุคคลหนึ่งที่ยอมสละตนเองอย่างสิ้นเชิง ... ความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าไม่อาจคงอยู่เพียงไม่กี่นาทีหลังจากเรารับพระองค์ใน “ศีลมหาสนิท” ... แต่ควรดำรงอยู่ตลอดชีวิตในแต่ละวันของเรา เพราะนี่คืออาหารที่พระองค์มอบให้เราเพราะความรัก...
นี่คือความหมายของการ “ดำรงอยู่ในพระเยซูเจ้า”...
และพระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า นี่คือ “ชีวิต” อย่างแท้จริง ... นี่คือ “ชีวิตแท้”...
ความสนิทสัมพันธ์ที่เกิดจากการรับศีลมหาสนิทย่อมไร้ความหมาย เว้นแต่จะแสดงออก และบำรุงเลี้ยงความสนิทสัมพันธ์ในชีวิตของเรา ... และเราแต่ละคนรู้ดีว่าความสนิทสัมพันธ์นี้มีความหมายที่เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
“พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น”
ในทุกประโยคในพระวรสาร ประโยคนี้มีความหมายมากที่สุด เพราะกล่าวถึงการทำให้มนุษย์กลายเป็นพระเจ้า ... ภาพลักษณ์ของการดูดซึมอาหารนี้มีนัยสำคัญ ในทุกวงจรของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตระดับสูงกว่าจะดูดซึมสิ่งมีชีวิตระดับต่ำกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง พืชจะเปลี่ยนอินทรีย์สารให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ... และมนุษย์ก็อยู่ในจุดสูงสุดของของกระบวนการเปลี่ยนลักษณะของชีวิต ... แต่กระบวนการเปลี่ยนลักษณะนี้จะหยุดอยู่ในระดับของมนุษย์เท่านั้นได้อย่างไร...
ทำไมพระเจ้าจะดูดซึมเราให้เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ไม่ได้...
“นี่คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรดาบรรพบุรุษได้กิน แล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”
เป้าหมายคือการมีชีวิต ... มีชีวิตอย่างสมบูรณ์ ... มีชีวิตด้วยชีวิตของพระเจ้า ... ไม่น้อยกว่านี้!
ท่านปรารถนาชีวิตเช่นนี้หรือเปล่า ... เราจงมาเฉลิมฉลองชีวิตกันเถิด...
ศีลมหาสนิทมีความสำคัญอย่างไรในชีวิตของท่าน ... ท่านหิวกระหายพระเจ้าหรือไม่...
เรารับศีลมหาสนิทไม่เหมือนกับที่ชาวยิวกินมานนา คือ เพื่อดับความหิวฝ่ายกาย ... เมื่อเรารับศีลมหาสนิท เราดับความหิวฝ่ายจิต ... ผ่านเครื่องหมายทางกายภาพ...