แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 49:14-15; 1 โครินธ์ 4:1-5; มัทธิว 6:24-34

บทรำพึงที่ 1
ปีกเทวดา
จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้

    อาเธอร์ กอร์ดอน เขียนบทความที่น่าประทับใจมาก เขาตั้งชื่อเรื่องว่า “สารจากทะเล” และเป็นเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของเขา

    คืนหนึ่ง เขามีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ เขาโทรศัพท์ไปหาเพื่อนคนหนึ่งแล้วจึงไปหาเขา หลังจากพูดคุยกับเพื่อนคนนั้นครู่หนึ่ง กอร์ดอนก็มองปัญหาของเขาด้วยมุมมองใหม่

    กอร์ดอนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเพื่อนของเขา จึงพูดกับเขาว่า “เคน คุณมีจิตใจที่สงบและความคิดสุขุมมาก คุณได้มาจากที่ไหน”

    เคนคิดอยู่ครู่หนึ่ง ราวกับกำลังต่อรองกับตนเองว่าเขาควรตอบคำถามนี้หรือไม่ แล้วเขาก็เปิดลิ้นชักโต๊ะ หยิบกล่องกระดาษแข็งกล่องหนึ่งออกมาวางบนโต๊ะ และพูดว่า “ถ้าผมมีคุณสมบัติอย่างที่คุณพูด มันก็มาจากสิ่งที่อยู่ในกล่องนี้” เขาไม่เปิดฝากล่อง แต่เล่าเรื่องต่อไปดังนี้

    “ในยุคทศวรรษที่ 1920 ผมเป็น “หนุ่มน้อยมหัศจรรย์” ของวอลสตรีท ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมแตะต้องกลายเป็นทอง ผมหาเงินได้อย่างรวดเร็ว และผมก็ใช้เงินอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผมแต่งงานกับภรรยาของผม ไม่ใช่เพราะผมรักเธอ แต่เพราะเธอช่วยให้ผมดูมีหน้ามีตา และในเวลานั้น ผมรักใครไม่เป็น นอกจากรักตนเอง

    แล้ววอลสตรีทก็ถล่ม จากเศรษฐี ผมกลายเป็นยาจก คุณคงเดาปฏิกิริยาของผมได้ไม่ยาก ผมหลบไปอยู่ในกระท่อมชายทะเลตามลำพัง แล้วเริ่มดื่มเหล้า หลังจากดื่มอย่างหนักได้สามวัน ผมตัดสินใจจะยุติทุกสิ่งทุกอย่าง ผมจะว่ายน้ำออกไปในมหาสมุทรให้ไกลที่สุด แล้วปล่อยตนเองไปตามยถากรรม

    เช้าวันรุ่งขึ้น ผมตื่นขึ้น และเดินลงไปที่ชายหาด วันนั้นอากาศปั่นป่วนเหมาะสมสำหรับแผนการของผม ลมพัดแรง และคลื่นลูกใหญ่มาก เมื่อผมเดินไปถึงน้ำทะเลผมก้มลงมองที่พื้น และเห็นบางสิ่งบนทราย มันเป็นสีขาวแวววาว ผมก้มลงหยิบมันขึ้นมา มันอยู่ในกล่องนี้”

    เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว เคนก็เปิดฝากล่อง ภายในกล่องมีเปลือกหอยที่บอบบางและสวยมากชิ้นหนึ่ง มันบอบบางมากจนบางส่วนของมันดูเหมือนกระดาษเช็ดหน้า เคนบอกว่า

    “ขณะที่ผมยืนบนชายหาด มือถือเปลือกหอยนี้ ผมไม่เข้าใจว่ามันรอดจากลมพายุมาได้อย่างไร มันถูกคลื่นซัดมากระแทกหาดทรายโดยไม่แตกหักได้อย่างไร

    ทันใดนั้น ผมก็รู้คำตอบ เปลือกหอยรอดมาได้เพราะมันไม่ต่อสู้กับทะเลและคลื่น มันเพียงแต่ลอยมาตามคลื่น และยอมรับว่านี่คือความเป็นจริงในชีวิต

    เปลือกหอยชิ้นนั้นทำให้ผมเข้าใจว่าผมควรดำเนินชีวิตอย่างไร แทนที่จะโกรธเมื่อเกิดเรื่องร้าย ๆ ขึ้นในชีวิต และแทนที่จะกังวลกับปัญหาชีวิต ผมควรปล่อยตัวลอยตามมันไป และยอมรับว่านี่คือความเป็นจริงในชีวิต เพราะไม่ว่าผมจะโกรธและกังวลใจอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

    เมื่อผมเดินกลับมาจากชายหาด ผมถือเปลือกหอยกลับมาด้วย และผมเก็บมันไว้ตั้งแต่นั้นมา”

    กอร์ดอนถามว่าเปลือกหอยนี้ชื่ออะไร เคนตอบว่า “ปีกเทวดา”

    เรื่องนี้มีบทเรียนสอนใจเราสองข้อ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงสอนในพระวรสารวันนี้

    ข้อแรก    เรื่องนี้ช่วยให้เข้าใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ว่าเราไม่สามารถรับใช้นายสองคนในเวลาเดียวกันได้ เราไม่สามารถรับใช้ทั้งพระเจ้า และเงินทองพร้อมกันได้

    เคนตัดสินใจจะรับใช้เงินทอง ดังนั้น มันจึงกลายเป็นนายของเขา และเขากลายเป็นทาสของมัน มันควบคุมเขาจนเขาไม่มีที่ว่างในหัวใจเหลือให้สิ่งอื่นใดอีก

    ข้อสอง    เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ว่าเราไม่ควรกังวลกับเรื่องวัตถุ

    “ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง ... อย่ากังวล เพราะพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้”

    พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ในเรื่องเดียวกับที่เปลือกหอยนี้สอนเคน เปลือกหอยไม่มีทางต่อสู้กับมหาสมุทรและลมพายุได้ ดังนั้น มันจึงไม่กังวล มันไม่โกรธ มันเพียงแต่ยอมรับว่านี่คือความเป็นจริงในชีวิต

    เราทุกคนในวัดวันนี้ไม่ใช่เศรษฐีนักเล่นหุ้น และไม่มีใครเป็นทาสเงินเหมือนเคน แต่เราทุกคนพยายามรับใช้นายสองคนไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเราต้องการผลประโยชน์จากทั้งสองด้าน

    แต่ในบทอ่านพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่าเราไม่สามารถเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เราไม่ควรหลอกตนเองว่าเราทำได้

    นอกจากนี้ คงไม่มีใครในวัดวันนี้ที่สูญเสียเงินออมทั้งหมดในชีวิตไปในวันเดียวเหมือนกับเคน แต่เราทุกคนเคยพบกับอุปสรรคบางอย่างไม่มากก็น้อย และเราทุกคนล้วนเคยกังวลใจ และโกรธ เพราะอุปสรรคเหล่านี้

    ในบทอ่านจากพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า ความกังวล และความโกรธไม่สามารถเปลี่ยนอุปสรรคเหล่านี้ได้เลยแม้แต่น้อย แทนที่จะกังวล และโกรธ เราควรยอมรับว่านี่คือความเป็นจริงในชีวิต

    และเราควรทำมากกว่านั้นอีก เราควรตระหนักว่าพระบิดาสวรรค์ของเราทรงสามารถใช้อุปสรรคเหล่านี้ และเปลี่ยนให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับเราได้ พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นกางเขนให้กลายเป็นพระพรได้

    ดังนั้น บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้จึงเสนอบทเรียนสำคัญแก่เรา พระวรสารบอกเราว่าอย่ากังวลเมื่อเผชิญกับอุปสรรคในชีวิต เพราะอุปสรรคเหล่านี้เชิญชวนเราให้ยอมรับมันด้วยความวางใจว่า ในระยะยาว พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนอุปสรรคเหล่านี้ให้กลายเป็นพระพรสำหรับเรา เหมือนกับที่พระองค์ทรงทำเพื่อเคน

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาดังนี้

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราไม่ให้กังวลกับอุปสรรคต่าง ๆ
    โปรดทรงช่วยเราให้มองอุปสรรคเหล่านี้ว่าไม่ใช่กำแพงขวางกั้นเรา
    แต่เป็นแผ่นหินให้เราเหยียบเดินไปหาพระองค์

    โปรดทรงช่วยให้เราเห็นว่า
    แม้เราอาจหลั่งน้ำตาในเวลากลางคืน
    แต่หัวใจของเราจะเปี่ยมล้นด้วยความยินดีของพระองค์เมื่อเวลาเช้ามาถึง

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 6:24-34

    การอ่านบทพระวรสารประจำวันนี้อย่างผิวเผินจะเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เป็นไปได้หรือที่พระเยซูเจ้าทรงประณามเงินทอง หรือทรงสนับสนุนให้เราเกียจคร้าน และดำเนินชีวิตอย่างสะเพร่า ... เป็นไปได้หรือที่พระองค์จะบอกหัวหน้าครอบครัวผู้กำลังตกงานว่าเขาไม่ควรกังวลกับวันพรุ่งนี้ ... เมื่อทรงยกตัวอย่างเรื่อง “นกในอากาศที่ไม่ต้องทำงาน” พระองค์หมายความว่าผู้เป็นบิดามารดาไม่ต้องเตรียมอาหาร หรือกักตุนอาหารไว้รับประทานหรือ ... เราต้องบอกคนจนที่บางครั้งไม่มีแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตหรือว่าเขาควรรอคอยอัศจรรย์ เพราะพระญาณสอดส่องจะช่วยเขาไม่ให้อดตายได้...

    ถ้าเป็นเช่นที่กล่าวข้างต้นนี้จริง พระเยซูเจ้าก็ทรงเป็นเพียง “นักฝัน” ที่เทศน์สอนด้วยคำพูดไพเราะ โดยไม่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจอันโหดร้าย และไม่สนใจปัญหาร้ายแรงที่เกิดจากการแบ่งปันทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม...

    คงต้องมีการเข้าใจผิดบางอย่างแน่นอน พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์ด้วย...

ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่ง และจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่ง และจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้

    “พระเจ้าและเงินทอง (mammon)” ... คำว่า Mammon เป็นภาษาอาราเมอิก ซึ่งมัทธิวยังรักษาไว้ในพระวรสารภาษากรีกของเขา คงเป็นเพราะพระเยซูเจ้าทรงเอ่ยคำนี้ออกมาจริง ๆ เพราะภาษาอาราเมอิกเป็นภาษาแม่ของพระองค์ ... ในภาษานี้ mammon หมายถึงเงินทอง รายได้ กำไร ความร่ำรวย ... เมื่อทรงยกให้ mammon เป็นศัตรูกับพระเจ้า ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้เงินทองมีตัวมีตน เป็นเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงคิดว่าเงินทองเป็นศัตรูของพระเจ้า เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของซาตาน “เจ้านายของโลก” ผู้ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาส และพยายามตั้งตนขึ้นเป็นพระเจ้าแทนพระเจ้าเที่ยงแท้...

    เพื่อให้เข้าใจวิธีคิดของพระเยซูเจ้าอย่างถูกต้อง เราต้องสังเกตสองคำที่สำคัญยิ่งกว่า พระองค์ตรัสถึง “นาย” และ “การรับใช้” คำว่า “นาย” แปลมาจาก kurios ซึ่งตามปกติเป็นคำที่ใช้กับ “พระเจ้า” และคำว่า “รับใช้” แปลมาจาก doulein ซึ่งหมายความว่า “เป็นทาส”...

    ข้อสังเกตนี้ทำให้คิดได้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงต่อต้านเงินทองเหมือนคนไร้เดียงสา และไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เมื่อทรงอยู่ที่นาซาเร็ธ พระองค์ทรงทำงานหาเลี้ยงชีพ พระองค์ทรงรู้จากประสบการณ์ว่าการหาเลี้ยงชีพนั้นต้องเหนื่อยยากอย่างไร พระเยซูเจ้าทรงรู้ดีที่สุดว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นในการค้าขาย พระองค์ไม่ได้ต่อต้านธนาคาร หรือเหรียญ หรือภาษี หรือคนเก็บภาษี ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพระองค์ และเรื่องอุปมาของพระองค์ “จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง” เขาก็นำเงินเหรียญมาถวาย ... พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์” (มธ 22:19) ในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ พระเยซูเจ้าทรงถึงกับสนับสนุนให้ผู้ฟังพระองค์ทำให้เงินของตนงอกเงย ด้วยการฝากธนาคาร...

    แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ทรงประณาม “การยอมเป็นทาสของเงิน” ท่านไม่สามารถรับใช้ mammon ได้! ท่านไม่มีสิทธิเป็นทาสของนายที่โหดร้ายนี้ ... “วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย” (ลก 6:24) ... “ท่านทั้งหลายจงอย่าสะสมทรัพย์สมบัติบนแผ่นดินนี้เลย ... เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มธ 6:19) ... “จงไปขายทุกสิ่งที่มี” (มธ 19:21)...

    ถ้อยคำเหล่านี้รุนแรง แต่ไม่หลงยุค หรือล้าสมัย การเป็นทาสของเงินคือมะเร็งร้ายในสังคมของเราจริง ๆ สังคมบริโภคนิยมกำลังทำลายตนเอง เนื่องจากการแข่งขันกันแสวงหาสถานภาพ ความฟุ่มเฟือย และสิ่งของเครื่องใช้ ... สมุดบันทึกของนักธุรกิจหลาย ๆ คนเต็มไปด้วยการนัดหมายทางธุรกิจ แต่เขาไม่มีเวลาอยู่กับภรรยาและบุตรของเขาอีกแล้ว และเขามีเวลาอยู่กับพระเจ้าน้อยยิ่งกว่า ... ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกของเราถูกผลาญจนอาจทำให้มนุษยชาติอยู่อย่างยากลำบากในศตวรรษหน้า...
    เงินเป็นพลังที่น่ากลัวที่รับใช้ความชั่ว เมื่อมันจับใครบางคนเป็นทาสของมันได้ ... เงินที่ใช้ซื้อรถถังหุ้มเกราะเพียงคันเดียวสามารถซื้ออาหารเลี้ยงคนนับแสนที่กำลังอดอยากได้ เงินเป็น “คนรับใช้” ที่ยอดเยี่ยม แต่เป็น “นาย” ที่เลว...

“ฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มไม่ใช่หรือ”

    พระวรสารตอนนี้ย้ำคำว่า “อย่ากังวล” ถึงสี่ครั้ง ความกังวลและความห่วงใย เป็นหนึ่งในวิธีการที่มนุษย์ตกเป็นทาสทรัพย์สมบัติ คนในโลกตะวันตกยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนในภูมิภาคอื่นของโลก...

    ดูเหมือนพระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเราว่า จงเลือกทางดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง จงใช้ชีวิตให้ถูกทาง ท่านใช้เวลาหารายได้ สะสมเงินให้มากขึ้น แต่จงหาเวลามีความสุขกับชีวิตเป็นครั้งคราวด้วย ... และพระองค์ทรงเตือนเราให้จัดลำดับคุณค่าให้ถูกต้อง อาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็มีไว้เพื่อรับใช้ชีวิตของเรา ... ในสมณสาสน์ฉบับหนึ่งของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 พระองค์ทรงเตือนให้เราคิดถึงปรีชาญาณจากพระวรสาร ว่า “ความหมายพื้นฐานของอำนาจปกครองของมนุษย์เหนือโลกที่มองเห็นได้ ... ประกอบด้วยการให้ความสำคัญแก่จริยธรรมเหนือหลักวิชา ให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลมากกว่าสิ่งของ และจิตเหนือสสาร ... สิ่งสำคัญคือการพัฒนาตัวบุคคล และไม่ใช่เพียงการทวีจำนวนสิ่งของต่าง ๆ ... สิ่งสำคัญกว่ามิใช่ต้องมีให้มากกว่า แต่ต้องเป็นให้มากกว่า”...

“จงดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ ท่านใดบ้างที่กังวลแล้วต่ออายุของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้ ท่านจะกังวลถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงพิจารณาดอกไม้ในทุ่งนาเถิด มันเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า กษัตริย์ซาโลมอน เมื่อทรงเครื่องอย่างหรูหรา ก็ยังไม่งดงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง แม้แต่หญ้าในทุ่งนาซึ่งมีชีวิตอยู่วันนี้ รุ่งขึ้นจะถูกโยนทิ้งในเตาไฟ พระเจ้ายังทรงตกแต่งเช่นนี้ พระองค์จะไม่สนพระทัยท่านมากกว่านั้นหรือ ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง”

    ภาพลักษณ์เหล่านี้ลืมได้ยาก ... แต่ก็อาจถูกเข้าใจผิดได้ ขอให้เราอ่านทวนอีกครั้งหนึ่งเถิด ... พระเยซูเจ้าไม่เคยตรัสว่าเราไม่ควรทำงาน ... พระเยซูเจ้าไม่เคยสนับสนุนให้คนจนเดินเร่ร่อนขอทาน ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับความประมาทเลินเล่อ หรือความเกียจคร้าน ... บางคนมีทัศนคติแบบ “ไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นเหตุให้เขาโยนภาระของตนให้ผู้อื่นแบกแทน ... แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ความกังวลบางอย่างเกิดจากความรักของเราต่อผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่เราได้รับมอบหมายให้ดูแล พระวรสารบอกเราว่าความห่วงใย และความกังวลใจเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องรับมาแบกไว้ เหมือนยกกางเขนขึ้นแบก...

    นอกจากนี้ ถ้าพระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่าห่วงเลย จงอยู่โดยไม่ทำอะไรต่อไปเถิด” นั่นย่อมขัดต่อทุกข้อความที่ปรากฏในพระคัมภีร์ตั้งแต่ต้น บทที่หนึ่งของหนังสือปฐมกาลสั่งเราว่า “จงปกครองแผ่นดิน” และพระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า “คนงานย่อมมีสิทธิได้รับอาหารอยู่แล้ว” (มธ 10:10) และคนที่ไม่ทำงานไม่มีสิทธิกินอาหาร ... เรื่องที่เราต้องอ่านควบคู่กันคือคำตำหนิชายที่ไม่ทำให้เงินหนึ่งตะลันต์ของเขางอกเงยว่า “ส่วนผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์นี้ จงนำไปทิ้งในที่มืดข้างนอก” (มธ 25:14, 30)...
    ถ้าเช่นนั้น พระเยซูเจ้าทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่าเราไม่ควรกังวลใจ ... พระองค์ตรัสบางอย่างที่สอนใจเราแต่ละคนได้ดีมาก พระองค์ทรงบอกว่าเราควร “ผ่อนคลาย” บ้าง ... ให้เราต่อต้านความเครียดที่มากเกินไป ... พระองค์ทรงบอกเราให้ทำงาน “เหมือนนกและดอกไม้” ถ้าพิจารณาให้ดี ท่านจะเห็นว่าทั้งนกและดอกไม้ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ มันมีกลเม็ดในการดำรงชีพ ในการหาอาหาร และที่อยู่อาศัย! เหนืออื่นใด พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระบิดาว่า เราควรวางใจในพระองค์ ... ในสายพระเนตรของพระบิดา ท่านมีค่ามากกว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ทรงดูแลด้วยความรัก และเอาใจใส่...

“ดังนั้น อย่ากังวล และกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือดื่มอะไร หรือเราจะนุ่งห่มอะไร’ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คนต่างศาสนาแสวงหา พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้”

    เหตุผลทั้งหมดของพระเยซูเจ้าที่ทรงสอนเราไม่ให้วิตกกังวล มีรากฐานมาจากความมั่นใจ ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่าพระบิดาของท่านทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง! ... เมื่อพระองค์ตรัสเรื่องของการภาวนา พระองค์ตรัสว่า “จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนา ... เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก” (มธ 6:7-8)

    เมื่อพูดถึงพระเจ้า มนุษย์มีสองแนวคิดที่ตรงกันข้ามกัน แนวคิดหนึ่งคือ พระเจ้าของ “คนต่างศาสนา” ที่เป็นเสมือนผู้วิเศษ และพระเจ้าผู้เป็นบิดาและทรงรักบุตรทั้งหลายของพระองค์ มนุษย์ที่พระเยซูเจ้าพอพระทัยไม่ใช่คนสะเพร่า แต่ต้องเป็นคนที่ใส่ใจในสิ่งที่ถูกต้อง เขาผู้นั้นหลงรักพระอาณาจักรของพระเจ้า และ “แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า” ... การรับใช้ mammon ก็คือการสนใจแต่ตนเอง แต่การรับใช้พระเจ้าหมายถึงการยอมรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก ... พระเยซูเจ้าตรัสว่าการทำเช่นนี้ทำให้ท่านไม่เป็นทาส...

“เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะกังวลสำหรับตนเอง แต่ละวันมีความทุกข์พออยู่แล้ว”

    ข้อความนี้เป็นสุภาษิตที่นิยมพูดกัน พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าพระองค์กำลังตรัสอะไร นี่คงเป็นทัศนคติและประสบการณ์ตลอดชีวิตของพระองค์เอง ... ถูกแล้ว เราจะนำความกังวลใจของวันพรุ่งนี้มาเพิ่มให้วันนี้ไปทำไม ... ถ้าทำเช่นนั้น เราจะใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความกลัวภัยพิบัติที่อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ... เพียงรับมือกับปัญหาในวันนี้ก็หนักพออยู่แล้ว ... แล้วคอยดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้...

    ขอบพระคุณ พระเจ้าข้า...