แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 58:7-10; 1 โครินธ์ 2:1-5; มัทธิว 5:13-16

บทรำพึงที่ 1
เยาวชนผู้เป็นพยาน
การเป็นพยานยืนยันความเชื่อของเราหมายความว่าเราต้องยอมให้ความเชื่อส่องแสงออกมาจากตัวเรา เราต้องยืนหยัดเพื่อความเชื่อ และพร้อมจะยอมรับความทุกข์เพื่อรักษาความเชื่อ

    เด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อแอนน์ สมัครเข้าทำงานระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน โดยทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งที่ เคปคอด หน้าที่ของเธอคือทำความสะอาดห้องพัก 10 ห้องทุกวัน

    ระหว่างฤดูร้อนปีนั้น แอนน์พบบุคคลหลากหลายประเภทที่น่าสนใจ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงบางคนด้วย แต่ในบรรดาคนที่เธอพบ เธอจดจำคนหนึ่งได้ดีกว่าคนอื่น ๆ เธอเรียกเขาว่าคุณสมิทธ์

    คุณสมิทธ์มาที่โรงแรมวันหนึ่งระหว่างสุดสัปดาห์พร้อมกับกระเป๋าเดินทางทำด้วยหนังใบเล็ก ๆ เมื่อแอนน์ไปทำความสะอาดห้องพักของเขาในวันรุ่งขึ้น เขาชะโงกศีรษะออกมาจากประตู และพูดว่า “ไม่ต้องทำความสะอาดห้องผมหรอก ขอผ้าเช็ดตัวสะอาด ๆ ให้ผมสองผืนก็พอ”

    ระหว่างสองวันต่อมา เขาก็ทำเช่นเดิม จนกระทั่งถึงกลางสัปดาห์ คุณสมิทธ์จึงยอมให้แอนน์เข้าไปทำความสะอาดในห้อง ขณะที่เธอทำความสะอาด เขาก็พูดคุยกับเธอ และถึงกับช่วยเธอปูเตียงด้วย

    เมื่อถึงวันเสาร์ แอนน์ทำความสะอาดห้องพักทั้ง 10 ห้องที่เธอดูแล รวมถึงห้องของคุณสมิทธ์ กระเป๋าเดินทางหนังใบเล็กนั้นยังวางอยู่ที่เดิม

    หลังจากทำงานเสร็จ ขณะที่แอนน์กำลังเดินบนถนนเพื่อไปร่วมพิธีมิสซาเวลา 16:30 น. รถยนต์คันหนึ่งวิ่งมาจอดข้างตัวเธอ คนขับคือคุณสมิทธ์ เธอต้องการให้เขาไปส่งที่บ้านไหม? เธอบอกเขาว่าเธอกำลังจะไปวัด และยินดีให้เขาไปส่งที่วัด

    เมื่อแอนน์ขึ้นไปนั่งบนรถ คุณสมิทธ์เริ่มซักถามเธอ เธอไปวัดบ่อยแค่ไหน? ทำไมเธอจึงไปวัดทั้งที่เด็กวัยรุ่นส่วนมากไม่ไป? พระสงฆ์เทศน์ดีไหม? เธอรับศีลมหาสนิทหรือเปล่าเมื่อเธอไปฟังมิสซา?

    เมื่อทั้งสองมาถึงวัด คุณสมิทธ์ทำให้แอนน์แปลกใจมาก เขาถามว่าเขาจะไปร่วมพิธีมิสซากับเธอได้ไหม เธอเริ่มรู้สึกแปลก ๆ กับคำถามของเขา และความสนใจในมิสซาของเขา

    เธอรู้สึกแปลกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อคุณสมิทธ์คุกเข่าลงในวัด ปิดตา และอยู่อย่างนั้นตลอดพิธีมิสซา เมื่อจบมิสซา คุณสมิทธ์ทำบางสิ่งบางอย่างที่แปลกยิ่งกว่า เขาลุกขึ้น และรีบออกจากวัดโดยไม่บอกลา
    วันต่อมา เมื่อแอนน์ไปทำความสะอาดห้องพักของเขา กระเป๋าหนังใบเล็กนั้นไม่อยู่ที่นั่นแล้ว มีเพียงกล่องเล็ก ๆ วางอยู่แทนพร้อมกับจดหมายสั้น ๆ เธอเปิดจดหมายออกอ่าน ซึ่งมีข้อความว่า

    “แอนน์ ที่รัก
    ของขวัญในกล่องนี้เป็นสิ่งตอบแทนสำหรับสิ่งงดงามที่คุณทำให้ผมโดยที่คุณไม่รู้ตัว ระยะหลังนี้ ชีวิตสมรสของผมกำลังประสบปัญหา จนกระทั่งผมบอกภรรยาว่าผมจะย้ายออกจากบ้านสักสองสามวันเพื่อใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ แต่ยิ่งผมใคร่ครวญ ผมก็ยิ่งสับสน
    แล้วผมก็พบคุณ ความเชื่อในพระเจ้าของคุณงดงามและประทับใจผมมาก เมื่อผมไปฟังมิสซาพร้อมคุณ นั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
    ระหว่างมิสซา พระเจ้าประทานความสว่างให้ผมเข้าใจปัญหา และทรงโปรดให้ผมมีความปรารถนาจะอยู่กับภรรยาของผมต่อไป
    ผมกำลังจะกลับบ้านพร้อมกับสำนึกในพระคุณของพระเจ้า และสำนึกในบุญคุณของคุณที่เป็นแสงสว่างในเวลาที่โลกของผมมืดมนมาก ผมจะไม่ลืมคุณเลยที่ได้ช่วยให้ผมค้นพบความเชื่อของผมอีกครั้งหนึ่ง                                    (ลงชื่อ) มร. สมิทธ์”

    ภายในกล่องนั้นมีสร้อยคอทองคำพร้อมกับกางเขนทองคำที่สวยงามมาก

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงหมายถึงอะไร เมื่อพระองค์ตรัสแก่ศิษย์ของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก ... แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์”

    เรื่องนี้ยังเป็นคำอธิบายที่ดีเยี่ยมว่าพระเยซูเจ้าทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสแก่ศิษย์ของพระองค์ว่า “(ท่าน) จะเป็นพยานถึงเรา ... จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (กจ 1:8)

ขอให้เราพิจารณาให้ถี่ถ้วนมากขึ้นว่าพระเยซูเจ้าทรงหมายถึงอะไร เมื่อพระองค์ตรัสว่า ศิษย์ของพระองค์ต้องเป็นพยานถึงพระองค์ เราสามารถเป็นพยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้าได้สามทาง :
    1.    โดยยอมให้พระองค์ส่องแสงผ่านตัวเรา
    2.    โดยปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ และ
    3.    โดยยอมรับความทุกข์เพื่อพระองค์ หรือเพื่อคำสั่งสอนของพระองค์

    ก่อนอื่น เราควรยอมให้พระเยซูเจ้าส่องแสงผ่านตัวเรา เหมือนกับเด็กหญิงวัยรุ่นในเรื่องนี้

    ธรรมทูตคนหนึ่งในประเทศอินเดียเล่าว่า วันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เธออธิบายว่าพระองค์ทรงมีพระทัยเมตตากรุณา ทรงพร้อมจะให้อภัยและเข้าใจเราเสมอ เธอสังเกตเห็นเด็กคนหนึ่งแสดงท่าทางตื่นเต้นมากขึ้นทุกทีขณะที่ได้ยินเธออธิบาย ในที่สุด หนูน้อยก็พูดโพล่งออกมาว่า “หนูรู้จักคนที่คุณครูกำลังพูดถึง เขาเป็นผู้ชายที่อาศัยอยู่บนถนนเดียวกันกับบ้านเรา”

    ดังนั้น วิธีแรกที่เราสามารถเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้าได้ก็คือยอมให้พระองค์ส่องแสงผ่านตัวเรา ด้วยการเป็นคนมีใจเมตตากรุณา พร้อมจะให้อภัย และเข้าใจผู้อื่น

    วิธีที่สอง เราสามารถเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้าได้ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ เมื่อมีใครเพิกเฉย หรือโจมตีคำสั่งสอนของพระองค์

    เราทำตามบทอ่านที่หนึ่งประจำวันนี้ได้ด้วยการแบ่งอาหารของเราให้แก่คนที่กำลังหิว ให้ที่พักแก่คนไร้บ้าน และให้เสื้อผ้าแก่คนที่เปลือยเปล่า เราต้องปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าคงต้องปฏิบัติ ถ้าพระองค์ยังอยู่บนโลกนี้

    วิธีสุดท้ายที่เราจะเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้าได้ คือ เมื่อเรายอมทนทุกข์ทรมานเพื่อพระองค์ หรือเพื่อเห็นแก่พระวรสาร เช่น เมื่อเราอุทิศแรงกายและทรัพย์สินของเราเพื่อขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ หรือเมื่อเรายอมรับคำสบประมาทเพื่อพระองค์ หรือเพื่อคำสั่งสอนของพระองค์ หากว่าจำเป็นต้องทำเช่นนั้น สรุปว่า เราต้องเชื่อพระวาจาของพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสว่า

    “ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่าน ดูหมิ่นท่าน ... เพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์ จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์” (ลก 6:22-23)

    และบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ยังเชิญชวนให้เราถามตนเองว่าเราเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้ามากน้อยเพียงไร เรายอมให้พระองค์ส่องแสงผ่านตัวเรามากน้อยเท่าไร และเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ ยอมรับความทุกข์เพื่อพระองค์ และเพื่อคำสั่งสอนของพระองค์มากน้อยเพียงไร

    เราเท่านั้นสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของนักบุญฟรังซิส ซึ่งสรุปความหมายของการเป็นพยานไว้ดังนี้

    พระเจ้าข้า โปรดทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือนำสันติสุขของพระองค์
    ที่ใดมีความเกลียดชัง โปรดให้ข้าพเจ้าหว่านความรัก
    ที่ใดมีการทำร้าย โปรดให้ข้าพเจ้าหว่านการให้อภัย
    ที่ใดมีความสงสัย โปรดให้ข้าพเจ้าหว่านความเชื่อ
    ที่ใดมีความสิ้นหวัง โปรดให้ข้าพเจ้าหว่านความหวัง
    ที่ใดมีความมืด โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นแสงสว่าง
    และที่ใดมีความเศร้า โปรดให้ข้าพเจ้าหว่านความยินดี

        โปรดให้ข้าพเจ้าปลอบโยนมากกว่าแสวงหาการปลอบโยน
        โปรดให้ข้าพเจ้าเข้าใจมากกว่าต้องการความเข้าใจ
        โปรดให้ข้าพเจ้ารัก มากกว่าต้องการความรัก
        เพราะเมื่อเราให้ เราย่อมได้รับ
        เมื่อเราให้อภัย เราย่อมได้รับการอภัย
        และเมื่อเราตาย
        เราจะเกิด และเข้าสู่ชีวิตนิรันดร

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 5:13-16

    เราได้ยิน “บทเทศน์บนภูเขา” ตั้งแต่วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยเรื่องความสุขแท้ และจะได้ยินบทเทศน์นี้ต่อไปอีกห้าสัปดาห์ มัทธิวได้นำคำสั่งสอนบางข้อของพระเยซูเจ้ามารวมไว้ด้วยกันไว้ในบทเทศน์นี้ ในขณะที่มาระโก และลูกาบอกเล่าไว้ในบริบทต่าง ๆ กัน ทำให้เราเห็นว่าพระวาจาของพระเยซูเจ้าเปิดโอกาสให้เราตีความได้หลายทาง

“ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน”

    พระเยซูเจ้าตรัสกับ “มนุษย์ผู้มีความสุขแท้” – หมายถึงคนที่มีใจยากจน ผู้มีใจอ่อนโยน และผู้สร้างสันติ – ว่า “ท่านเป็นเกลือดองแผ่นดิน”

    ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนนี้สามารถตีความได้หลายทาง แต่ละความหมายจะเสริมความหมายให้แก่กัน ในยุคของพระเยซูเจ้า มนุษย์ใช้เกลือผสมปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ... ในปัจจุบัน เราใช้เกลือถนอมอาหาร เพราะเกลือป้องกันอาหารไม่ให้เน่าเสีย หรือชะลอการเน่าเสียออกไป ... แต่หน้าที่ปกติที่สุดของเกลือก็คือทำให้อาหารมีรสชาติ เกลือมีประโยชน์ ... ถ้าปราศจากเกลือ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไร้รสชาติ...

    ความเชื่อมีประโยชน์อะไร ถ้าเราเชื่อในพระเยซูเจ้า และดำเนินชีวิตตามบทเทศน์บนภูเขา จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “วิธีนั้นจะทำให้ชีวิตมีรสชาติ”

    มนุษย์สมัยใหม่จมอยู่ในกิจวัตรประจำวันอันน่าเบื่อหน่ายมากกว่าบรรพบุรุษของเขา ... คนงานหน้าซีด ๆ ที่ทำงานภายใต้แสงประดิษฐ์ ... วัตถุที่ผลิตจากพลาสติกที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมด ... คำสนทนาที่จืดชืดไม่น่าสนใจ ... อุดมการณ์อันน่าเบื่อ ... ชีวิตยังมีรสชาติเหลืออยู่อีกหรือ ... เราพูดถึง “คุณภาพชีวิต” บ่อย ๆ ก็เพราะเราสูญเสียคุณภาพนี้ไปแล้วหรือเปล่า...

    พระเยซูเจ้าตรัสกับเราในวันนี้ท่ามกลางสภาพความเป็นจริงของเราว่า ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน! จงเติมความยินดี ความกล้า พลังลงไปในกิจวัตรของท่าน จงทำให้ความเป็นจริงที่แสนจะธรรมดา ซึ่งเกือบจะไร้รสชาติ กลับมีความหมาย จงเติมพระอาณาจักรของพระเจ้าเข้าไปในชีวิตประจำวัน จงตอบคำท้าของลัทธิอเทวนิยมสมัยใหม่ทั้งหลาย ซึ่งทำให้มนุษย์ขาด “ความสามารถเข้าถึงอุตรภาพ (transcendence)” แล้วก็ประกาศไม่หยุดว่าชีวิตนี้ “น่าขัน” และไร้ความหมาย ... เมื่ออยู่กับพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งอาจมีความหมายและมีรสชาติได้ แม้แต่ความทุกข์ทรมาน แม้แต่การเบียดเบียน แม้แต่วัยชราและความตาย นักปราชญ์คนหนึ่งเขียนไว้ว่า “แม้แต่ความล้มเหลวก็เสริมความเข้มแข็งได้” ... มีประโยชน์อะไรที่จะโอดครวญ...

    ความทุกข์ยากจะมีคุณค่าอันเร้นลับและมหาศาล ถ้าเรายอมรับความทุกข์ยากนั้นโดยรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า...

“ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มอีกเล่า เกลือนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะถูกทิ้งให้คนเหยียบย่ำ”

    พระเยซูเจ้าทรงขอให้ศิษย์ของพระองค์รักษาคุณสมบัติของตน และอย่ากลายเป็นเกลือที่ไร้รสชาติ คริสตชนที่สูญเสีย “รสชาติของพระเจ้า” ซึ่งเป็นรสชาติแท้ของเขา ย่อมทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ... ปอล คลอเดล บอกว่า “พระวรสารเป็นเกลือ แต่ท่านทำให้กลายเป็นน้ำตาล”...

    พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า หลังจากเรามีความร้อนรนได้ระยะหนึ่งแล้ว ความเชื่อของเราอาจจืดจางไป คำกริยาที่เราแปลว่า “สูญเสียรสชาติ” หรือ “จืด” นี้ยังหมายความว่า “เสียสติ” ได้อีกด้วย คือสูญเสียสามัญสำนึกจนกลายเป็นบ้า ซึ่งในพระคัมภีร์หมายถึงการสูญเสียปรีชาญาณ ซึ่งเราได้รับจากความเชื่อที่พระเจ้าประทานแก่เรา (อสย 19:11, ยรม 10:14) ... นักบุญเปาโลเปรียบเทียบเกลือกับปรีชาญาณ “จงปฏิบัติตนด้วยความเฉลียวฉลาดรอบคอบ ... จงใส่เกลือให้คำพูดของท่านมีรสชาติ” (คส 4:5-6)

    ถ้าเรา “ไร้รสชาติ” ก็เป็นเพราะเรายอมปล่อยให้เกลือในพระวรสารมีพลังลดลงในชีวิตของเรา ถ้าเกลือสูญเสียความเค็ม ข้าพเจ้าต้องเปรียบเทียบกับชีวิตของข้าพเจ้าเอง ... ถ้าคริสตชนไม่ใช่เกลืออีกต่อไป เขาก็ไร้ประโยชน์ คริสตชนที่เปลี่ยนตนเองตามสภาพแวดล้อม ตามสมัยนิยม และความคิดของโลก ย่อมไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ... “เพราะใคร ๆ ก็คิดอย่างนี้ ... เพราะใคร ๆ ก็ทำอย่างนี้” เราจะยอมสูญเสียบุคลิกภาพ และคล้อยตามแนวโน้มล่าสุดของวัตถุนิยม และบริโภคนิยมอย่างไม่ยั้งคิดหรือ ... เราจะฉวยโอกาสจากความอยุติธรรมทางสังคมหรือ ... เราจะหยุดปฏิบัติศาสนกิจ หรือหันไปหาอเทวนิยม โดยอ้างว่าคนรอบข้างเราก็ทำเช่นนั้นหรือ...

    สำหรับผู้ที่สูญเสียรสชาติของตน สำหรับคริสตชนที่กลายเป็นขยะ “ไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รสชาติ” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านต้องต่างจากโลก ถ้าท่านต้องการเป็นเกลือดองแผ่นดิน”...

    ถ้อยคำนี้เรียกร้องมาก และเรียกร้องให้เราเจียมตนอย่างยิ่ง เพราะการเป็นคริสตชนไม่ได้ทำให้เราเหนือกว่าผู้อื่นโดยอัตโนมัติ ... เราแต่ละคนรู้จักข้อจำกัดและบาปของเรา ... แต่เกลือที่เราต้องนำไปมอบแก่โลกไม่ใช่ความภูมิใจในคุณธรรมของเรา หรือความสำเร็จที่เหนือกว่าผู้อื่นของเรา แต่เป็น “สิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำในตัวเรา”...

“ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก”
    อุปมาเรื่องที่สองนี้มีลักษณะ และความหมายเหมือนอุปมาเรื่องแรก แต่หนักแน่นมากกว่า ... เราต้องเป็น “ดวงอาทิตย์” ส่องโลก...

    เมื่อปราศจากแสง ก็ไม่มีสี ไม่มีความงาม ไม่มีชีวิต ... พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในยุคก่อนวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองข้ามหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่ายุคของเรา คนยุคนั้นจึงมองเห็นความเป็นจริงได้ชัดเจนกว่าเรา...

    ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์บอกเราว่าสิ่งมีชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากแสง ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดอันจำเป็นของพลังงานทั้งปวงที่พบได้บนโลกของเรา ถ้าปราศจากการสังเคราะห์แสงของกรดอะมิโน ซึ่งดวงอาทิตย์กระตุ้นให้ทำงานในเซลล์คลอโรฟิลของพืช ทั้งสัตว์และมนุษย์ก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ ... ถ้าปราศจากดวงอาทิตย์ ก็ไม่มีถ่านหิน เชื้อเพลิง และไฟฟ้า ... เพราะจะไม่มีป่าไม้ ไม่มีกระแสน้ำ ... ดวงอาทิตย์เป็นภาพลักษณ์อันงดงามที่สุดอย่างหนึ่งของพระเจ้า คือเป็นปฐมเหตุของชีวิตทั้งปวง...

    นับตั้งแต่การเนรมิตสร้างโลก ก็มีแสงสว่างส่องลงบนสิ่งสร้างทั้งมวล “จงมีความสว่าง” (ปฐก 1:2) ... “พระเจ้าทรงเป็นความสว่าง และความรอดพ้นของข้าพเจ้า” (สดด 27:1) ... พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นแสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) ... “ท่านทั้งหลาย ... ต้องฉายแสง ... เสมือนดวงประทีบอยู่ในโลก” (ฟป 2:15)...

    เป็นแสงสว่างส่องโลก ... นี่คือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่จริง ๆ ... เราเป็นเหมือนแสงสะท้อนดวงเล็ก ๆ ... เราไม่มีอะไรให้ภาคภูมิใจ...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานแสงสว่างของพระองค์แก่เราเถิด

    ในศาสนายูดาย ธรรมบัญญัติของโมเสสและพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม ได้รับขนานนามว่า “แสงสว่าง” ... เราตระหนักหรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังเริ่มต้นปฏิวัติความคิดครั้งใหญ่ ... เบื้องหน้าพระองค์มีแต่ประชาชนที่ซื่อและยากจน คนป่วย คนที่ทนทุกข์ทรมานด้วยสาเหตุต่าง ๆ (มธ 4:23) ... ประชาชนเหล่านี้ยากจน ไร้การศึกษา และปราศจากอิทธิพล และไม่ได้ศรัทธาร้อนรนไปกว่าคนอื่น ๆ ... นี่คือกลุ่มคนที่พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า “ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก”…

    เปล่าเลย พวกเขาไม่ใช่ “แสงสว่าง” ในตัวเอง แต่เขายอมให้ความเชื่อของเขาในพระเยซูเจ้าเปล่งแสงออกมาให้ผู้อื่นเห็น พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ เมื่อมนุษย์คนนั้นยอมให้พระเจ้าทรงแทรกซึมเข้าไปในตัวเขา...

“เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะไม่ถูกปิดบัง ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ใต้ถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์”

    เมื่อยืนบนฝั่งทะเลกาลิลี ท่านจะเห็นเมืองซาเฮดที่ตั้งอยู่บนเนินที่เชิงเขาเฮบรอน สูงขึ้นไป 3,000 ฟุต ทั้งเมืองสว่างไสวด้วยแสงไฟ พระเยซูเจ้าทรงเห็นบ้านเรือนที่ทาสีขาวในเมืองนี้สะท้อนแสงอาทิตย์ ... ในบ้านเล็ก ๆ ของครอบครัวเล็ก ๆ ของพระองค์ บ่อยครั้งทรงเห็นพระนางมารีย์ พระมารดา จุดตะเกียงสับบาโต ซึ่งเป็นตะเกียงดินเผาอันเล็ก และไม่หรูหรา แต่สามารถ “ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน” ในบ้านของคนยากจนในดินแดนตะวันออกซึ่งมีห้องเพียงห้องเดียว...

    พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราส่องแสง ... ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการฉลองชัยชนะ อีกไม่นาน พระเยซูเจ้าจะทรงเตือนเราว่า “จงระวัง อย่าปฏิบัติศาสนกิจของท่านต่อหน้ามนุษย์เพื่ออวดคนอื่น” (มธ 6:1, 6) เราไม่ควรอวดตัวเหมือนกับชาวฟาริสี ที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิ (มธ 6:1, 6) ... แสงของพระเจ้าเท่านั้นสามารถให้ความสว่างแก่พี่น้องชายหญิงของเราได้ แต่แสงของพระองค์ต้องส่องผ่านตัวเรา  “พระเจ้าผู้ตรัสว่า ‘ให้แสงสว่างส่องออกมาจากความมืด’ ก็เป็นผู้ทรงฉายแสงเข้าสู่จิตใจของเรา เพื่อส่องสว่างให้เรามีความรู้ถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระสิริรุ่งโรจน์นี้ปรากฏอยู่บนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า เรามีสมบัตินี้เก็บไว้ในภาชนะดินเผา เพื่อแสดงว่าอานุภาพล้ำเลิศนั้นมาจากพระเจ้า มิใช่มาจากตัวเรา” (2 คร 4:6-7)

“ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์”

    เป็นครั้งแรกในพระวรสารของมัทธิว ที่เราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสถึง “พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงว่าพระองค์ทรงหันไปหาพระบิดาเสมอ

    คริสตชนในโลกมีความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ คือ “เป็นเกลือดองแผ่นดิน เป็นดวงอาทิตย์ส่องโลก” แต่ไม่ใช่เพื่อเกียรติมงคลของเราเอง แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุรุษที่ไม่ยึดพระองค์เองเป็นศูนย์กลาง และหันไปหาพระบิดาเสมอ “เราไม่ต้องการเกียรติจากมนุษย์” พระองค์ตรัสเช่นนี้ (ยน 5:41)...

    สำหรับเราทั้งหลายที่เป็นคนบาป ถ้าเราเป็น “เกลือ” และ “แสงสว่าง” ได้บ้างเล็กน้อย นั่นย่อมมาจากพระบิดา ถ้าโดยนิสัยของท่าน ท่านเป็นคนเข้มแข็ง มีความยินดีเป็นนิจ ใจกว้าง และใจบริสุทธิ์ นั่นเป็นเกียรติมงคลของท่าน และดีสำหรับท่านแน่นอน แต่ถ้าท่านเป็นคนอ่อนแอที่ได้รับกำลังจากพระเจ้า ถ้าท่านเป็นคนบาปที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น เป็นมนุษย์ที่มีมลทินซึ่งพระเจ้าทรงชำระให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ เป็นคนอาฆาตแค้นที่พระเจ้าทรงสอนให้รู้จักให้อภัย เป็นคนที่สนใจในเงินทองซึ่งพระเจ้าทรงปลดปล่อยให้ตัดใจจากทรัพย์สมบัติของตนได้ – สรุปว่า ถ้าท่านเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่น่าสงสาร ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ล้มเหลวไปหมด แต่เป็นคนที่มีความสุขด้วยความยินดีอันเกิดจากความสุขแท้ – เมื่อนั้น ท่านอาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้พี่น้องชายหญิงของท่านสนใจ เพราะเขาเห็นความล้มเหลวของท่านจนชินตา และเขาเองก็หวังว่าเขาจะได้รับการเยียวยาเช่นกัน ... เมื่อเขาเห็นว่าท่านได้ทำสิ่งดี ๆ ทั้งที่ท่านเป็นคนอ่อนแอ เขาเหล่านั้นจะสามารถสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์...