แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่สอง เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 49:3, 5-6; 1 โครินธ์ 1:1-3; ยอห์น 1:29-34

บทรำพึงที่ 1
พระผู้ทรงลบล้างบาปของโลก
ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเราเป็นคนบาป เราย่อมไม่ยอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา

    เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1988 สำนักข่าวเอพี รายงานข่าวที่น่าตกใจเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนระดับมัธยมต้น 1,700 คน โดยศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อของการข่มขืนในโรดส์ ไอส์แลนด์ ในจำนวนเด็กทั้งหมดที่สัมภาษณ์ 65% ของเด็กชาย และ 50% ของเด็กหญิง คิดว่ายอมรับได้ถ้าชายคนหนึ่งจะบังคับให้หญิงคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์กับตน ถ้าทั้งสองได้คบหากันได้หกเดือน

    การสำรวจอีกด้านหนึ่งในปี 1988 เผยว่าหนึ่งในสามของการตั้งครรภ์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา จบลงโดยทารกในครรภ์ถูกทำลาย ซึ่งหมายความว่ามีทารกเสียชีวิต 1.5 ล้านคนต่อปี หรือเสียชีวิตหนึ่งคนทุก 23 วินาที

    เราจะพิจารณาการสำรวจอื่นอีกสองครั้ง

    การสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเผยว่าเมื่อเด็กทั่วไปอายุได้ 10 ปี เขาจะพัฒนา “ทัศนคติที่ไม่ประณาม” การฉ้อโกงขึ้นมาแล้ว และท้ายสุด การสำรวจของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในรัฐชิคาโก ซึ่งยืนยันด้วยการทดสอบโดยใช้เครื่องจับเท็จ เผยว่าพนักงานเจ็ดคนในสิบคน ขโมยสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนายจ้าง และเรียกสิ่งของที่ขโมยนี้อย่างขำ ๆ ว่า “สวัสดิการเสริม”

    เมื่อท่านอ่านข่าวทำนองนี้ ท่านคงรู้สึกเหมือนบุคคลที่ร้องว่า “ช่วยหยุดโลกหน่อย ผมจะลงแล้ว” ท่านคงรู้สึกเหมือนกับบุคคลที่พูดว่า “ถ้าฉันเป็นพระเจ้า ฉันคงหัวใจสลายเมื่อเห็นความโหดเหี้ยม และบาปมากมายในโลกของเรา”

    แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจได้มากยิ่งกว่าบาปอันเลือดเย็นในโลกของเรา ก็คือแนวโน้มที่คนทั้งหลายจะพูดตลกคะนองเกี่ยวกับบาป พยายามลดความรุนแรงของบาป หรือปฏิเสธว่าไม่เป็นบาป

    เช่นคนยุคนี้ไม่พูดเท็จกันอีกต่อไปแล้ว เขาเพียงแต่ปกปิดความจริง หรือแต่งเติมความจริง มนุษย์เราไม่ขโมยอีกต่อไป เขาเพียงแต่ “ขอยืม” คนทั่วไปไม่ทำผิดประเวณีอีกต่อไป เขาเพียงแต่หาความสนุกใส่ตัว คนทั่วไปไม่คดโกงอีกต่อไป เขาเพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขในบิลที่เขาเบิก

    ท้ายที่สุด มนุษย์ไม่ได้ฆ่าทารกในครรภ์อีกต่อไป เขาเพียงแต่ยุติการตั้งครรภ์ และกำจัดตัวอ่อนที่ไม่มีใครต้องการ

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่จะลดความรุนแรง หรือปฏิเสธว่าไม่เป็นบาป

    เรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับแนวโน้มที่น่ากังวลนี้คือ ด้วยการลดความรุนแรง หรือการปฏิเสธบาปของเรา เรากำลังลดความรุนแรง หรือปฏิเสธว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า เพราะถ้าเราไม่มีบาปที่จำเป็นต้องได้รับการอภัย เราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสตเจ้า

    เมื่อนักประพันธ์ชื่อ คีเลียน แม็กดอนเนล พูดถึงเรื่องนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่านักเทศน์สายอนุรักษ์จำนวนมากเข้าถึงจิตใจของคนนับล้าน ๆ คนในปัจจุบัน มิใช่เพราะเขาเป็นนักพูดที่มีพลังเท่านั้น แต่เพราะเขาชี้ให้คนทั้งหลายเห็นว่าพวกเขาเป็นคนบาป ดังนั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องได้รับการอภัยจากพระคริสตเจ้า เขาบอกว่า

“คนจำนวนมากไม่ยอมรับพระคริสตเจ้า เพราะเขาไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป ถ้าผมไม่ใช่คนบาป ผมก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพระคริสตเจ้า ไม่มีมนุษย์คนใดที่เฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าด้วยความยินดี ถ้าเขาไม่ยอมรับเสียก่อนด้วยความเสียใจว่าเขาเป็นคนบาปที่ต้องพึ่งพระผู้ไถ่

จุดสำคัญ ... ไม่ใช่บาป ... แต่อยู่ที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงช่วยเราให้รอดพ้น”

    นี่คือจุดที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เน้นย้ำในพระวรสารประจำวันนี้ ยอห์นให้ความสำคัญมากที่สุดกับพระเยซูเจ้า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก”

    ความชั่วร้ายที่เลวทรามที่สุดไม่ใช่การทำบาป แต่เป็นการทำบาปแล้วปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ใช่บาป นักเทววิทยาคนหนึ่งเสนอความคิดเห็นในจุดนี้ว่า

การทำบาปประการหนึ่งยังดีกว่าการทำลายหลักการ
การทำบาปด้วยความจริงใจยังดีกว่าการหลอกตนเองให้เชื่อว่าตนเองยังเป็นคนดีมีคุณธรรม – หลุยส์ เอเวอรี

    หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราอ่อนแอพอที่จะทำบาป เราก็ควรเจียมตนพอจะยอมรับความจริง จดหมายฉบับที่หนึ่งของนักบุญยอห์น พูดถึงความบาปของมนุษย์อย่างขวานผ่าซาก ว่า “ถ้าเราพูดว่า ‘เราไม่มีบาป’ เรากำลังหลอกตนเอง และ ‘ความจริง’ ไม่อยู่ในเรา ... ถ้าเราพูดว่า ‘เราไม่เคยทำบาป’ เราก็ทำให้พระองค์ตรัสคำเท็จ และพระวาจาของพระองค์ไม่อยู่ในเรา” (1 ยน 1:8, 10)

    เรื่องทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ เราทุกคนตกเป็นเหยื่อของบาปนานาประการในช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตของเรา เราทุกคนจำเป็นต้องพึ่งการให้อภัยของพระคริสตเจ้า เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับความรอดพ้นจากพระคริสตเจ้า

    แทนที่จะพยายามลดความร้ายแรงของบาปของเรา หรือปฏิเสธว่าสิ่งที่เราทำไม่เป็นบาป เราควรยอมรับ และเข้าพึ่งพระเยซูเจ้า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก”

    นี่คือสารที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง บอกประชาชนในยุคของเราในบทอ่านประจำวันนี้ และยังเป็นสารที่พระศาสนจักรบอกแก่เราแต่ละคนในที่นี้ในวันนี้ด้วย สารนี้หมายความว่าเราควรยอมรับว่าเราได้ทำบาป และวิงวอนขอการให้อภัยจากพระเจ้าผ่านทางศีลอภัยบาป และหมายความว่าเราควรใช้ประโยชน์จากศีลอภัยบาปอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้

    เราโชคดีที่เรามีศีลศักดิ์สิทธิ์ และน่าเสียดายถ้าเราจะมองข้าม น่าเสียดายที่เราจะไม่ใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งพระทัยให้เราใช้

    เพื่อให้ท่านเข้าใจความสำคัญของศีลอภัยบาป ขอให้ระลึกถึงถ้อยคำของนักประพันธ์ชื่อดังคนหนึ่งชื่อ ซอเมอร์เซท มอห์ม เขาเขียนว่า

“ผมเคยกระทำสิ่งที่โง่เขลา ผมมีมโนธรรมที่รู้สึกไว และผมได้ทำบางสิ่งบางอย่างในชีวิตที่ผมไม่อาจลืมได้ทั้งหมด ถ้าหากว่าผมโชคดีพอที่จะเป็นคาทอลิก ผมก็คงปลดปล่อยตนเองจากสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการสารภาพบาป และหลังจากทำกิจใช้โทษบาป และได้รับการอภัยบาปแล้ว ผมก็จะสามารถลบมันออกไปจากความคิดได้ตลอดไป”

    เราคาทอลิกจำเป็นต้องได้ยินถ้อยคำเหมือนของมอห์ม เมื่อนั้นเราจะตระหนักว่าศีลอภัยบาปเป็นพระพรยิ่งใหญ่อย่างไร เป็นเรื่องเศร้าสำหรับเราที่ไม่เห็นคุณค่า หรือไม่ยอมใช้ประโยชน์จากศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ เพราะพระเยซูคริสตเจ้า ลูกแกะของพระเจ้า ทรงพลีชีวิตของพระองค์เพื่อเราบนเขากัลวารีโอ ก็เพื่อให้เราได้รับพระพรนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงของเราด้วยบทภาวนาที่เขียนขึ้นเมื่อ 1,600 ปีก่อน โดยคริสตชนชื่อโอริเจน ซึ่งเราจะสวดภาวนาโดยใช้คำพูดของตัวเราเอง

ข้าแต่พระเยซูเจ้า เท้าของข้าพเจ้าทั้งเปื้อนฝุ่น และสกปรก
โปรดทรงเทน้ำลงในอ่างของพระองค์
และเสด็จมาล้างเท้าข้าพเจ้า
เหมือนที่ทรงเคยล้างเท้าบรรดาอัครสาวก
ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเถิด
    ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้าพเจ้าอวดดีมาก
    ที่ขอร้องให้พระองค์ทรงทำเช่นนี้
    แต่ข้าพเจ้ากลัวคำเตือนที่พระองค์ตรัสแก่นักบุญเปโตร
    เมื่อพระองค์ทรงบอกท่านว่า
    “ถ้าท่านไม่ให้เราล้างเท้าท่าน
    ท่านจะ    ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา”
ถ้าเช่นนั้น โปรดทรงล้างเท้าของข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระเยซูเจ้า
เพราะข้าพเจ้าต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระองค์
มากกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 1:29-34

วันรุ่งขึ้น ยอห์น (ผู้ทำพิธีล้าง) เห็นพระเยซูเจ้า เสด็จมาหาตน...

    พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น บอกเราเหมือนกับพระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับ ว่าชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้าเริ่มต้นด้วยการเทศน์สอนของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ใกล้แม่น้ำจอร์แดน และยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารเหมือนกับผู้นิพนธ์คนอื่น ๆ อีกด้านหนึ่งด้วย คือ เขานำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ (ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นประมาณ ค.ศ. 27) มาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการรำพึงตามหลักเทววิทยา ซึ่งเขามีเวลาพัฒนาความคิดเป็นเวลาหลายปี จนถึงประมาณ ค.ศ. 95 เมื่อเขาเรียบเรียงบทประพันธ์ชิ้นนี้...

    ยอห์นไม่ได้บรรยายพิธีล้างของพระเยซูเจ้า แต่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้อย่างรวบรัด และเขาไม่ได้ขยายความเรื่องการเทศน์สอนของยอห์น ผู้ที่พิธีล้าง ซึ่งเรียกร้องให้ประชาชนกลับใจ หลังจาก “อารัมภบท” ซึ่งเป็นเหมือนบทกวีที่พรรณนาเรื่องพระวจนาตถ์เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ (ยน 1:1-18) ยอห์นเรียบเรียงเรื่องราวเสมือนว่าเป็น “สัปดาห์แรกของพระเยซูเจ้า” ซึ่งเตือนให้นึกถึง “สัปดาห์แรก” ของการเนรมิตสร้างโลก

-    วันที่หนึ่ง (ยน 1:19) – ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นพยานด้วยการปฏิเสธว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสต์ ... แต่มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน”
-    วันที่สอง (ยน 1:29) – ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นพยานด้วยการยืนยันความจริง นี่คือข้อความที่เราอ่านในวันนี้ “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า”
-    วันที่สาม (ยน 1:35) – จากข้อมูลที่ได้ยินจากยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ศิษย์สี่คนของยอห์นจึงเริ่มติดตามพระเยซูเจ้า
-    วันที่สี่ (ยน 1:43) – กระแสเรียกของฟิลิป และนาธานาเอล
-    วันที่เจ็ด (ยน 2:1) – “สามวันต่อมา (หลังจากเหตุการณ์บนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้) มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย” นี่คือเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรก...

    ระหว่างสัปดาห์ปฐมฤกษ์นี้ – และมิใช่ด้วยความบังเอิญ – ยอห์นระบุหลากหลายสมญาทางเทววิทยาของพระเยซูเจ้า ซึ่งผู้นิพนธ์จะให้เราค้นพบในภายหลังทีละน้อย อันที่จริง ยอห์นได้นำเราไปสู่จุดสูงสุดของการเผยแสดงตั้งแต่ในอารัมภบทแล้ว

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระวจนาตถ์” (ยน 1:1, 2, 14) ... “แสงสว่างสำหรับมนุษย์” (ยน 1:4, 9) ... “พระบุตรองค์เดียวของพระบิดาผู้ที่ไม่มีใครเคยเห็น” (ยน 1:14, 18) ... “ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อน” (ยน 1:15, 30) ... “พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า ผู้ที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือพระองค์” (ยน 1:32, 33, 34) ... “พระอาจารย์ หรือรับบี” (ยน 1:38, 49) ... “พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า” (ยน 1:41) ... “พระเยซู บุตรของโยเซฟ ชาวนาซาเร็ธ” (ยน 1:45) ... “ผู้ที่โมเสส และบรรดาประกาศกเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (ยน 1:45) ... “พระบุตรของพระเจ้า และกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” (ยน 1:49) และท้ายที่สุด “บุตรแห่งมนุษย์” (ยน 1:51)...
    บริบทอันลานตานี้ ซึ่งเป็นการสรุปเหตุการณ์การค้นพบอย่างช้า ๆ ของบรรดาศิษย์ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใครอย่างแท้จริง เตือนเรามิให้อ่านเรื่องนี้อย่างลวก ๆ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้มองเห็นมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกด้วยเทอญ...

    บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถมองบุคคลรอบตัวเราอย่างจริงจัง และพอใจเพียงแต่จะตัดสินอย่างผิวเผิน ... คนจำนวนมากในยุคของพระเยซูเจ้าไม่ตระหนักว่าพระองค์เป็นใคร ดังนั้น ขอให้เรารับฟังคำยืนยันของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งได้รับการขยายความโดยอาศัยการรำพึงภาวนาเป็นเวลานานของยอห์น ผู้เป็นนักเทววิทยา และประจักษ์พยาน ... เพราะยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ได้อยู่ในที่นั้นด้วย บนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน...

... กล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก”

    “ลูกแกะของพระเจ้า ... ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” ... “ลูกแกะ” และ “บาป” เป็นสองคำที่คนสมัยใหญ่หลังยุคอุตสาหกรรมไม่ค่อยคิดถึง หลายครั้งที่เรากล่าว และขับร้องสองคำนี้ระหว่างพิธีมิสซา คำเหล่านี้คือคำประกาศยืนยันความเชื่อที่เรารับสืบทอดมาจากคริสตชนยุคแรก ข้อความนี้แสดงออกถึงความเชื่อทางเทววิทยาอันสมบูรณ์ และเป็นวิสัยทัศน์ของประวัติศาสตร์ และของมนุษย์ ... เราไม่สามารถเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ตามความหมายปกติ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนแออย่างน่าสงสารของ “ลูกแกะ” จนทำให้เราอยากลูบขนของมัน ... เมื่อเรายอมรับวัฒนธรรมของพระคัมภีร์เท่านั้น เราจึงจะเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ ขอให้เรายอมฟังนัยสำคัญอันแท้จริงของถ้อยคำเหล่านี้เถิด

    ผู้ฟังที่เป็นชาวยิวเข้าใจได้แน่นอนเมื่อได้ยินคำว่า “ลูกแกะ” ในพระวิหารของกรุงเยรูซาเล็ม ลูกแกะตัวหนึ่งจะถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชาทุกวันเพื่อชำระบาปของประชาชน ... ในเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจัดฉลองเพื่อรำลึกถึงการปลดปล่อยจากสภาพทาสในประเทศอียิปต์ และในฤดูที่ชีวิตผลิบานอีกครั้งหนึ่งหลังจาก “ความตาย” ของฤดูหนาว แต่ละบ้านจะทาประตูบ้านด้วยเลือดของลูกแกะ “ปัสกา” ซึ่งถูกเชือดที่คอ (อพยพ) ... ประกาศกเยเรมีย์ และประกาศกอื่น ๆ เปรียบเทียบชาวอิสราเอลในดินแดนเนรเทศว่าเหมือนกับ “ลูกแกะผู้บริสุทธิ์ที่ถูกนำไปโรงฆ่าสัตว์โดยไม่ปริปาก” (อสย 53:7; ยรม 11:19) ... บรรดารับบีเสนอภาพของพระเมสสิยาห์ว่าทรงเป็นแกะตัวผู้ที่เป็นผู้ชนะ ซึ่งจะล้มล้างศัตรูของพระเจ้า – ด้วยเขาอันทรงพลัง...

    เมื่อได้ยินบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ เราย่อมเห็นว่า “ลูกแกะ” นี้ต่างจากลูกแกะที่เรามักคิดว่าเป็นเพียงสัตว์ที่น่ารัก อันที่จริง บทอ่านพระวรสารในวันนี้นำพาเราไปสู่ความเป็นจริงในปัจจุบันของเรา ซึ่งมีทั้งความรุนแรง และการกดขี่ข่มเหง – มนุษย์ทุกยุคสมัย – รวมทั้งมนุษย์ในปัจจุบัน – มักถูกกระตุ้นให้มีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อย วันนี้ วิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การต่อสู้ทางสังคม และการเมืองถูกยกให้กลายเป็น “ผู้ไถ่กู้” เลยทีเดียว ... อนิจจา หลังจากการปฏิวัติสำเร็จลงแล้ว บ่อยครั้งที่สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือความอยุติธรรม และการกดขี่ในรูปแบบใหม่ – และมนุษย์ก็ยังกระหายหาการปลดปล่อยต่อไป ... ยังกระหายหาความรอดพ้นต่อไป...

    “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” การกดขี่ภายนอกเป็นเพียงการแสดงออกของพลังที่อยู่ภายใน ความชั่วซ่อนอยู่ “ภายใน” ... อยู่ในตัวข้าพเจ้า ในตัวท่าน ในตัวเขาเหล่านั้น ... “บาป” ของโลก! คำว่า “บาป” นี้ใช้รูปเอกพจน์ (The sin) หมายความว่าพระเยซูเจ้าจะทรงลบล้างความชั่ว “ทั้งมวล” ในโลก ด้วยการต่อสู้ ซึ่งพระองค์จะทรงหลั่งพระโลหิต โดยมีเพชฌฆาตผู้ประหารพระองค์เป็นเครื่องมือ...

    พระเยซูเจ้า “พระผู้ไถ่” ทรงเป็นผู้ “ลบล้าง” บาป ... คำภาษากรีกที่ยอห์นใช้ มีสองความหมาย airein แปลว่า “แบกรับไว้” หรือ “ลบล้าง” ก็ได้

    พระเยซูเจ้ามิได้ทรงปลดปล่อยเราด้วยการต่อสู้ภายนอก โดยใช้ความรุนแรงตอบโต้การกดขี่ แต่ด้วยการยอมรับความเจ็บปวดไว้เอง ... ด้วยการยอมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงในโลก

    ดังนั้น เมื่อท่านสวด หรือขับร้องข้อความนี้ในพิธีมิสซา จงยอมให้ข้อความนี้ส่องสว่างในใจท่าน อย่าพอใจแต่เพียงความเข้าใจระดับผิวเผิน ถ้าท่านกำลังทำ “เครื่องหมายแห่งสันติภาพ” ก็ขอให้คิดถึงความหมายระดับลึกของเครื่องหมายนี้ว่าการคืนดีอย่างแท้จริงเป็นภราดรภาพแท้ เป็นความรักแท้ และความพยายามของท่านที่จะเข้าใจผู้อื่น ไม่ใช่สิ่งที่ท่านสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่เป็น “พระพรของพระเจ้า” ซึ่งท่านต้องได้รับ และท่านไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง แม้ว่าความพยายามของท่านเป็นสิ่งจำเป็นก็ตาม จงแบมือรับพระกาย “ที่มอบให้” และต้อนรับกลโกธาเข้ามาอยู่ในหัวใจของท่าน...

ผู้นี้คือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงว่า “บุรุษผู้หนึ่งมาภายหลังข้าพเจ้า แต่นำหน้าข้าพเจ้า เพราะอยู่มาก่อนข้าพเจ้า” ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ข้าพเจ้าถูกส่งมาให้ทำพิธีล้าง เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล”

    ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ปฏิสนธิและเกิดมาก่อนพระเยซูเจ้า แต่เราต้องพิจารณาให้ลึกกว่ารูปลักษณ์ภายนอกและหลักฐานตามเหตุผล กล่าวคือ พระเยซูเจ้าเสด็จมาจาก “ที่อื่น” ... พระองค์สามารถช่วยเราให้รอดพ้นได้เพราะพระองค์ทรงเป็นมากกว่ามนุษย์คนหนึ่ง ในอารัมภบท ยอห์นบอกเราว่าพระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม “ไม่มีสักสิ่งเดียวที่พระเจ้าไม่ทรงสร้างโดยทางพระวจนาตถ์” พระองค์ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา พระเยซูเจ้าทรงรับหน้าที่ และยังคงทำงานเนรมิตสร้างต่อไป เอกภพที่มีมลทินเพราะบาป บอบช้ำเพราะความรุนแรง เป็นพิษเพราะความเกลียดชัง จะได้รับการ “เนรมิตสร้างขึ้นใหม่” นี่คือ “สัปดาห์แรก” ของ “การเนรมิตสร้างครั้งใหม่” นี้...

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง บอกว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์” ทั้งที่พระเยซูเจ้าทรงเป็นญาติของเขา ... เราไม่มีวันรู้จักพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริงตราบใดที่เรามองแต่ในระดับของมนุษย์...

ยอห์นยังยืนยันอีกว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์เหมือนนกพิราบ และทรงอยู่เหนือพระองค์ ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ผู้ที่ส่งข้าพเจ้ามาใช้น้ำทำพิธีล้าง ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า”

    ภายใต้รูปลักษณ์ปกติของ “บุรุษจากนาซาเร็ธ” มีธรรมล้ำลึกซ่อนอยู่ พระองค์ทรง “ได้รับเจิม” ... “เสกให้ศักดิ์สิทธิ์” ... พระจิตของพระเจ้า “เสด็จลงมา” เหนือพระองค์ และ “ประทับอยู่” ในพระองค์ ... พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์ แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์” (ยน 1:5, 10)
    บางครั้งเราเสแสร้งว่าเรารู้จักพระเยซูเจ้า แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีวันรู้จักพระองค์อย่างครบถ้วน ... เราต้องถ่อมตน และเจียมตน ... เราต้องเปิดใจรับฟังการเผยแสดงของพระเจ้า และพระเยซูเจ้า...

“ข้าพเจ้าเห็น และเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”

    สำเนาโบราณบางฉบับเสนอข้อความที่ผู้อธิบายพระคัมภีร์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า “ท่านผู้นี้เป็นผู้เลือกสรรของพระเจ้า” – เป็นวลีที่มีความหมายเทียบเท่า “สุดที่รัก” “บุตรสุดที่รัก” “พระบุตรพระองค์เดียว” ... และทำให้เราระลึกถึงบทกวีของผู้รับใช้พระเจ้าในบทอ่านที่หนึ่งประจำวันนี้ และของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

    ขณะที่ “พระผู้เป็นที่รัก” ทรงเริ่มต้นการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ ... สิ่งสร้างใหม่นี้ปราศจากบาปซึ่งทำให้สิ่งสร้างครั้งแรกตกต่ำ ... ท่านจะยอมให้ตัวท่านได้รับการเนรมิตสร้างขึ้นใหม่หรือไม่ ... ท่านจะยอมรับ “ศีลล้างบาป” หรือ “จุ่มตัว” ลงในพระจิตเจ้าหรือไม่ ... ท่านจะยอมให้ชีวิตภายในของท่านได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่หรือไม่ ... ท่านจะยอมให้ตนเองได้รับการฟื้นฟูให้สมกับที่เป็นมนุษย์หรือไม่ โดยอาศัยการ “เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4)...

    วันนี้ ชายหนุ่มสองคนมาพบกัน คือ ยอห์น และพระเยซูเจ้า...

    โลกใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว – เป็นโลกที่สร้างขึ้นโดยมีความรักเป็นรากฐาน...