วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต
เอเสเคียล 37:12-14; โรม 8:8-11; ยอห์น 11:1-45
บทรำพึงที่ 1
เชื่อ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อ
พระเยซูเจ้าเสด็จมารับชีวิตมนุษย์ร่วมกับเรา เพื่อให้เราสามารถร่วมรับชีวิตพระเจ้าของพระองค์
เมื่อหลายปีก่อน อัล ดิวเลน เขียนบทความหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์ Amarillo News-Globe เป็นเรื่องของไมค์ บุตรชายของเขาผู้เสียชีวิตในสงครามเวียตนาม
อัลได้รับแจ้งข่าวในตอนเย็นวันศุกร์ เวลา 17:15 น. เขาเพิ่งกลับจากทำงาน และกำลังยืนมองม้านั่งรก ๆ ที่เขาใช้ทำงานในโรงรถของเขา และพยายามตัดสินใจว่าควรทำงานอะไรก่อนจะกินอาหารค่ำ
เขาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งเรียกชื่อและเงยหน้าขึ้นมอง เขาเห็นภรรยาของเขายืนอยู่หน้าประตูโรงรถพร้อมกับเจ้าอาวาสวัดของเขา อัลอ้าปากค้าง เขาถามว่า “เกิดอะไรขึ้นหรือ” ภรรยาของเขาตอบว่า “ไมค์ตายแล้ว”
อัลไม่รับรู้ถึงความเป็นจริงรอบตัวเขาในทันทีทันใด เขามองเห็นภาพอดีตในความคิด ภาพแรก เขาเห็นไมค์ขณะที่อายุ 6 ปี กำลังเล่นเบสบอลในลีกเยาวชน ต่อมาเขาเห็นภาพของไมค์ ขณะที่เป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลของโรงเรียนมัธยม ท้ายที่สุด เขาเห็นภาพของไมค์ ขณะสวมเครื่องแบบนาวิกโยธิน ไมค์เป็นบุตรชายที่ทำให้เขาภาคภูมิใจได้อย่างแท้จริง
อัลกล่าวในเวลาต่อมาว่า ข่าวการตายของไมค์ทำให้เขาทั้งช็อกและมึนงง จนเขาไม่สามารถพูดอะไรกับภรรยา หรือกอดเธอไว้ในอ้อมแขน สิ่งเดียวที่เขาคิดถึง คือ ไมค์ ที่นอนนิ่ง ตัวเย็น ไร้ชีวิต
เรื่องที่น่าสะเทือนใจนี้ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าพระเยซูเจ้าจะต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อทรงได้ยินข่าวว่าลาซารัสเสียชีวิตแล้ว พระองค์ทรงช็อกและมึนงงเหมือนกัน
พระคัมภีร์บรรยายปฏิกิริยาของพระองค์ต่อข่าวนี้ว่า “พระเยซูเจ้าทรงกันแสง” นี่การบรรยายเหตุการณ์ที่ใช้ถ้อยคำสั้นที่สุดแต่น่าสะเทือนใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในพระวรสาร
เหตุผลที่คำบรรยายนี้น่าสะเทือนใจเป็นเพราะข้อความนี้ทำให้เราเข้าใจพระมนุษยภาพของพระเยซูเจ้า ช่วยให้เราเข้าใจว่าพระองค์ทรงรู้สึกเจ็บปวดเสียใจได้ เรามักลืมว่าพระเยซูเจ้าทรงมีอารมณ์ความรู้สึก และทรงร้องไห้เป็นเหมือนกับเรา เรามักลืมว่าพระเยซูเจ้าทรงมีร่างกาย และรู้จักเจ็บปวดเหมือนกับเรา
ทำไมเราจึงต้องระลึกถึงสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ทำไมเราจึงต้องระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้จักรักเหมือนกับเรา ทำไมเราจึงต้องระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้จักร้องไห้เหมือนกับเรา ทำไมเราจึงต้องระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้จักเจ็บปวดเหมือนกับเรา
เราต้องระลึกเช่นนี้เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจ และเข้าถึงความรู้สึกของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเหมือนเราในทุกสิ่งยกเว้นบาป เพราะพระเยซูเจ้าทรงรู้จักรัก ทรงรู้จักร้องไห้ ทรงรู้จักเจ็บปวด พระองค์จึงทรงเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร เมื่อเรารัก เมื่อเราร้องไห้ เมื่อเราเจ็บปวด
และการรู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเข้าใจเช่นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราดำเนินชีวิตต่อไป เมื่อใดที่เราประสบอุปสรรคปัญหา หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าในชีวิต
แต่พระวรสารในวันนี้ยังแสดงให้เราเห็นบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกว่าเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า นอกจากจะบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงกันแสงให้ลาซารัสแล้ว ยังบอกเราว่าพระองค์ทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพอีกด้วย
อีกนัยหนึ่งคือนอกจากแสดงพระมนุษยภาพของพระเยซูเจ้าแล้ว ยังแสดงพระเทวภาพของพระเยซูเจ้าให้เราเห็นด้วย
พระวรสารไม่เพียงบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา แต่ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งแตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิงอีกด้วย และพระวรสารประจำวันนี้ยังบอกเรามากยิ่งกว่านั้น พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงให้คำสัญญาที่น่าพิศวงแก่เรา พระองค์ตรัสว่า “ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้ว ก็จะมีชีวิต”
อีกนัยหนึ่ง คือ พระเยซูเจ้าจะทรงกระทำเพื่อเราบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อลาซารัส ลาซารัสต้องแก่ชราและเสียชีวิตในที่สุด พระพรที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เขาเป็นพระพรชั่วคราวที่ให้ชีวิตบนโลกนี้ แต่พระพรที่พระองค์จะประทานแก่เราเป็นพระพรอันถาวรแห่งชีวิตนิรันดร พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระพรอันถาวรนี้ในที่อื่นของพระวรสาร ดังนี้
“พระบิดาทรงทำให้ผู้ตายกลับคืนชีวิตและประทานชีวิตให้ฉันใด พระบุตรก็ประทานชีวิตให้แก่ผู้ที่พระองค์พอพระทัยฉันนั้น ... พระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์ฉันใด พระองค์ก็ประทานให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองฉันนั้น” (ยน 5:21, 26)
ดังนั้น บทอ่านพระวรสารประจำวันนี้จึงเป็นเสมือนบทสรุปคำสั่งสอนของพระคัมภีร์เกี่ยวกับความรอดพ้น
ประการแรก พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้ พระองค์ทรงมีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเรา พระองค์ทรงรู้จักรัก และรู้จักร้องไห้เหมือนกับเรา
และเพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เราจึงเข้าใจพระองค์ได้ และพระองค์ทรงเข้าใจเราได้ พระองค์ทรงรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราเป็นทุกข์และร้องไห้ และพระองค์จะทรงปลอบโยน และประทานพละกำลังแก่เราในเวลาเช่นนั้น
ประการที่สอง พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้อีกด้วย พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และเพราะเหตุนี้ พระองค์จึงมีพระอานุภาพจะกระทำการต่าง ๆ เพื่อเรา อย่างที่มนุษย์คนอื่นไม่สามารถทำได้
ถ้าเรามีความเชื่อ พระองค์สามารถประทานชีวิตนิรันดรแก่เรา
ดังนั้น บทอ่านประจำวันนี้จึงเป็นบทสรุปของคำสั่งสอนของพระคัมภีร์เกี่ยวกับความรอดพ้น คือ พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เพื่อว่าพระองค์จะทรงสามารถแบ่งปันชีวิตพระเจ้าให้แก่เรา
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการระลึกถึงคำตอบของมารธา ต่อคำถามของพระเยซูเจ้า
“ทุกคนที่มีชีวิต และเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย ท่านเชื่อเช่นนี้หรือ”
มารธา ทูลตอบว่า “เชื่อ พระเจ้าข้า ดิฉันเชื่อ”
ดังนั้น เราจงภาวนาว่า
เชื่อ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแท้ และมนุษย์แท้
เชื่อ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนเรา
เพื่อให้เราสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
เชื่อ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าในโลกหน้า พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยด
เหมือนกับน้ำตาที่พระองค์ทรงหลั่งเพื่อลาซารัส
เมื่อนั้น จะไม่มีความตายอีกต่อไป
ไม่มีความเศร้าโศก และไม่มีการร้องไห้
เชื่อ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อ
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 11:1-45
ชายคนหนึ่งชื่อลาซารัส กำลังป่วย เขาเป็นชาวเบธานี หมู่บ้านของมารีย์และมารธา พี่สาว มารีย์คือหญิงที่ใช้น้ำมันหอมชโลมองค์พระผู้เป็นเจ้า ใช้ผมเช็ดพระบาท ลาซารัสที่กำลังป่วยนี้เป็นพี่ชายของมารีย์
ในปัจจุบัน เบธานีมีชื่อเรียกเป็นภาษาอาราเมอิกว่า เอล อาซาเรีย (El Azarieh) หรือหมู่บ้านของลาซารัส ... ในภาษาฮีบรู “เบธาเนอา (Bethaneiah)” แปลว่า “บ้านของคนจน”...
เบธานีตั้งอยู่ด้านข้างของภูเขามะกอกเทศ ห่างจากรุงเยรูซาเล็มไปทางทิศตะวันออก 3 กิโลเมตร ดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือเนินเขานี้ และส่องแสงลงมายังกรุงเยรูซาเล็ม ... ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของสวนเกทเสมนี
เบธานีเป็นที่พักอาศัยที่มีแต่แสงสว่างและมิตรภาพสำหรับพระเยซูเจ้า ... พระองค์ทรงมีความสุขเมื่อประทับในบ้านท่ามกลางมิตรสหายที่นี่...
พี่น้องทั้งสองคนจึงส่งคนไปทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า คนที่พระองค์ทรงรักกำลังป่วย” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบข่าวนี้ก็ตรัสว่า “โรคนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เพราะโรคนี้ พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” พระเยซูเจ้าทรงรักมารธากับน้องสาว และลาซารัส
ท่ามกลางวิถีชีวิตที่ทั้งวุ่นวาย และยากลำบากของพระเยซูเจ้า เบธานีเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงสามารถผ่อนคลาย และพักผ่อนได้...
ตามปกติ พระวรสารทุกฉบับจะเสนอภาพของพระเยซูเจ้าว่าทรงแวดล้อมด้วยวงรังสีแห่งความเป็นพระเจ้า และทำให้เราอาจมองเห็นแต่ธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์เท่านั้น ... แต่แม้ว่านักบุญยอห์นเห็นอย่างชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวจนาตถ์ เป็นพระบุตรนิรันดร แต่เขาแสดงให้เราเห็นด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์แท้ ... มนุษย์ที่ยอมนับสตรีเป็นมิตรสหายของพระองค์ (ดังจะเห็นได้จากประโยคที่เรียบง่ายแต่อ่อนโยนว่า “พระเยซูเจ้าทรงรักมารธากับน้องสาว”) ... และในไม่ช้าพระองค์จะ “ทรงสะเทือนพระทัย” และ “ทรงกันแสง”...
หลังจากทรงทราบว่าลาซารัสกำลังป่วย พระองค์ยังคงประทับอยู่ที่นั่นอีกสองวัน ต่อจากนั้น พระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรากลับไปแคว้นยูเดียวกันเถิด” บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระอาจารย์ ชาวยิวเพิ่งพยายามเอาหินขว้างพระองค์ แล้วพระองค์ยังจะกลับไปที่นั่นอีกหรือ” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “วันหนึ่งมีสิบสองชั่วโมงมิใช่หรือ ถ้าใครเดินเวลากลางวันก็ไม่สะดุด เพราะเห็นแสงสว่างของโลกนี้ แต่ถ้าใครเดินเวลากลางคืนก็สะดุด เพราะเขาไม่มีแสงสว่างเพื่อนำทาง”
การกลับคืนชีพของลาซารัสเป็นอัศจรรย์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ... เป็นเครื่องหมายสุดท้ายที่พระองค์ทรงแสดงให้ชาวยิวเห็นระหว่างการต่อสู้ระหว่างความสว่างและความมืดครั้งนี้ หลังจากทรงแสดงเครื่องหมายนี้แล้ว พระทรมานก็เริ่มต้นขึ้นทันทีตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 11:46-53) ... เมื่อพระองค์เสด็จไปยังแคว้นยูเดียเพื่อช่วยชีวิตลาซารัส เพื่อนของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเดินทางไปหาความตายของพระองค์เอง
เราสังเกตว่าแม้พระองค์ทรงรักเพื่อนทั้งสองของพระองค์มาก แต่พระเยซูเจ้าทรงจงใจยืดเวลาก่อนจะทรงเดินทางไปยังบ้านของเขา แม้ว่าพระองค์ทรงมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่พระองค์ไม่ทรงยอมให้ความรู้สึกนำทางการกระทำของพระองค์ แต่ทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา (4:34, 7:18, 8:29) ... พระองค์ทรงรอให้ลาซารัสเสียชีวิตก่อน เพราะทรงรู้ว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จมาเพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากความทุกข์และความเศร้าโศก แต่เสด็จมาเพื่อเปลี่ยนความทุกข์เหล่านี้ และความตายนี้ ผ่านการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ – เพราะถึงอย่างไร ความตายก็ไม่ละเว้นพระองค์เช่นกัน...
เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเสริมว่า “ลาซารัส เพื่อนของเรากำลังหลับอยู่ แต่เรากำลังจะไปปลุกให้ตื่น” บรรดาศิษย์จึงทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเขาหลับอยู่ เขาก็จะหายจากโรค” พระเยซูเจ้าตรัสถึงความตายของลาซารัส แต่บรรดาศิษย์คิดว่าพระองค์ตรัสถึง “การนอนหลับ” ดังนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างชัดเจนว่า “ลาซารัสตายแล้ว เรายินดีสำหรับท่านทั้งหลายที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่นเพื่อท่านจะได้เชื่อ เราไปหาเขากันเถิด” โทมัส ที่เรียกกันว่าฝาแฝด กล่าวกับศิษย์คนอื่น ๆ ว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด”
พระเยซูเจ้าทรงเรียกความตายว่า “การนอนหลับ” เสมอ เพื่อเชิญชวนให้เราเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ (มธ 9:24, ยน 1:11) สำหรับพระเยซูเจ้า ความตายฝ่ายกายเป็นเพียงการนอนหลับชั่วคราว ... และหลุมฝังศพก็เป็นสถานที่พักผ่อนของเราจนกว่าจะถึงเวลาที่เราถูกปลุกให้ตื่น ... นักบุญเปาโลจะขับร้องว่า “ผู้หลับใหล จงตื่นเถิด จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตาย และพระคริสตเจ้าจะทรงส่องสว่างเหนือท่าน” (อฟ 5:14)...
ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงช่วยเราให้ยอมคิดเหมือนพระองค์เถิด เพื่อว่าเราจะไม่คิดแต่ว่าความตายเป็นเรื่องเศร้า แต่ให้มองว่านี่คือ “สิ่งประดิษฐ์ของพระเจ้า” ซึ่งเร้นลับ แต่จะช่วยเราให้ร่วมรับชีวิตบรมสุขของพระองค์ได้ “พระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้หลับอยู่มากับพระองค์โดยทางพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกัน” (1 ธส 4:14) เพราะ “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว” (1 คร 15:20) ... ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีเหตุผลที่จะปลื้มปิติกับความตายของลาซารัสได้อย่างแท้จริง...
นี่คือการเผยแสดงประการหนึ่ง – เป็นการเผยแสดงความจริงเกี่ยวกับความตายที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง...
เมื่อเสด็จมาถึง พระเยซูเจ้าทรงพบว่าลาซารัสถูกฝังในคูหามาสี่วันแล้ว หมู่บ้านเบธานีอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ห่างกันราวสามกิโลเมตร ชาวยิวจำนวนมากมาหามารธาและมารีย์ เพื่อปลอบใจนางในการตายของพี่ชาย เมื่อมารธารู้ว่าพระเยซูเจ้ากำลังเสด็จมา นางก็ออกไปรับเสด็จ ส่วนมารีย์ยังคงนั่งอยู่ที่บ้าน มารธาทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย แต่บัดนี้ ดิฉันรู้ดีว่า สิ่งใดที่พระองค์ทรงวอนขอจากพระเจ้า พระเจ้าจะประทานให้”
พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “พี่ชายของท่านจะกลับคืนชีพ” มารธาทูลว่า “ดิฉันรู้ว่าเขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย” พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเรา จะไม่มีวันตายเลย ท่านเชื่อเช่นนี้หรือ” มารธาทูลตอบว่า “เชื่อ พระเจ้าข้า ดิฉันเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ที่จะต้องเสด็จมาในโลกนี้” (ยน 11:17-27)
มารธา เชื่อเหมือนกับชาวยิวในยุคของเธอว่ามนุษย์จะกลับคืนชีพเมื่อถึง “อวสานกาล” ... ใน “วันสุดท้าย” ... แต่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เธอเชื่อบางสิ่งที่แปลกใหม่ คือเชื่อในการกลับคืนชีพในปัจจุบัน ... ในเวลานี้ ... “เราเป็นการกลับคืนชีพ”...
นี่คือคำตอบของพระเจ้า สำหรับคำถามสำคัญเพียงข้อเดียวของมนุษยชาติ – เมื่อเราเผชิญหน้ากับความตาย เรามักถามตนเองว่า “ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต – จริง หรือไม่จริง ... ท่านเชื่อเช่นนี้ หรือไม่เชื่อ...
ข้อความเชื่อของเราทั้งง่ายและสั้น คือ “พระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธทรงสิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ” ... เป็นเรื่องง่าย ๆ เหมือนกับเวลาเช้าวันปัสกา ... แต่ก่อนที่เราจะตาย เราต้องดำเนินชีวิตตามความเชื่อนี้ – เราต้องเชื่อเช่นนี้อย่างจริงจัง ... เพราะไม่มีมนุษย์คนใดที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ แล้วจะดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากความรัก ปราศจากความหวัง และปราศจากการแบ่งปันความยินดี...
ถ้าท่านต้องตายในวันนี้ ท่านจะใช้วันสุดท้ายนี้อย่างไร ก่อนจะถูกนำตัวเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของพระเจ้า ... ชีวิตของผู้มีความเชื่อเต็มไปด้วยการกลับคืนชีพ เต็มไปด้วยชีวิต เต็มเปี่ยมด้วยความยินดี...
“เราเป็นการกลับคืนชีพ และเป็นชีวิต” ... เป็นคำพูดที่ทะเยอทะยานอย่างไม่น่าเชื่อ ... ผู้พูดจะต้องเป็นคนบ้า – หรือไม่ก็เป็นพระเจ้า ... เห็นได้ชัดว่า “ชีวิต” ที่กล่าวถึงในที่นี้ต่างจาก “ชีวิตทางชีวภาพ” ซึ่งจบลงด้วยความตาย แต่เป็นชีวิตพระเจ้า...
“ใครที่เชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต” ... ความเชื่อคือการคาดหวังในชีวิต “ข้างบนนั้น” ตั้งแต่บัดนี้ – การคาดหวังในชีวิตที่ปราศจากความตาย ชีวิตที่เป็นแก่นแท้ของพระเจ้า...
เมื่อมารธาทูลดังนี้แล้ว นางก็ไปเรียกมารีย์น้องสาว กระซิบบอกว่า “พระอาจารย์อยู่ที่นี้ และทรงเรียกน้องด้วย” ... เมื่อมารีย์มาถึงที่ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ และเห็นพระองค์ก็กราบพระบาท ... พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นนางกำลังร้องไห้ และชาวยิวที่ตามมาก็ร้องไห้ด้วย พระองค์ทรงสะเทือนพระทัยและเศร้าโศกมาก ตรัสถามว่า “ท่านฝังเขาไว้ที่ไหน” เขาทูลว่า “พระเจ้าข้า เชิญเสด็จมาทอดพระเนตรเถิด” พระเยซูเจ้าทรงกันแสง ชาวยิวจึงพูดว่า “ดูซิ พระองค์ทรงรักเขาเพียงไร” แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “พระองค์ทรงรักษาคนตาบอดได้ จะทำให้คนนี้ไม่ตายไม่ได้หรือ” พระเยซูเจ้าทรงสะเทือนพระทัยอีก เสด็จถึงคูหาฝังศพซึ่งเป็นโพรงหิน มีหินแผ่นหนึ่งปิดอยู่
น่าเสียดายที่ผู้แปลพระคัมภีร์ไม่คิดว่าจำเป็นต้องถ่ายทอดความแตกต่างอันงดงามของต้นฉบับภาษากรีก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นจุดประสงค์ของยอห์น ยอห์นกล่าวย้ำสามครั้งเมื่อพูดถึงมารธาและมารีย์ หรือชาวยิว โดยใช้คำกริยาภาษากรีก ว่า klaiein ซึ่งแปลตรงตัวว่า “สะอื้นเสียงดัง” ... เราคงมองเห็นภาพการร้องตะโกน และถอนหายใจดัง ๆ ซึ่งเป็นกิริยาของชาวตะวันออกในการแสดงอารมณ์ และเป็นกิริยาของคนรับจ้างร้องไห้ในงานศพ ... แต่เมื่อยอห์นบรรยายท่าทีของพระเยซูเจ้า เขาเปลี่ยนไปใช้คำว่า dakruein ซึ่งแปลว่า “หลั่งน้ำตาเงียบ ๆ” ... คำนี้ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นภาพน้ำพระเนตรที่ไหลลงมาตามพระปรางของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงควบคุมพระองค์เองได้...
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงยกแผ่นหินออก” มารธา น้องสาวของผู้ตาย ทูลว่า “พระเจ้าข้า ศพมีกลิ่นแล้วเพราะฝังมาถึงสี่วัน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรามิได้บอกท่านหรือว่า ถ้าท่านมีความเชื่อ ท่านจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” คนเหล่านั้นจึงยกแผ่นหินออก พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้นตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฝังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า พระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อประชาชนที่อยู่รอบข้าพเจ้า เขาจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา”
ความยาวของคำบอกเล่าก่อนการกลับคืนชีพของลาซารัส แสดงว่าจุดสำคัญของพระวรสารตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่การกลับคืนชีพจากความตายฝ่ายกายของลาซารัส แต่เป็นความก้าวหน้าในความเชื่อของคนทั้งหลายที่อยู่รอบตัวพระเยซูเจ้า ... และเราควรสังเกตว่าบทภาวนาขอบพระคุณของพระเยซูเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัศจรรย์ที่พระองค์กำลังจะกระทำนี้เลย แต่นี่คือเครื่องหมายเพื่อช่วยให้ทั้งผู้มีความเชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อ กลับมีความเชื่อ
- บรรดาศิษย์ไม่เต็มใจเดินทางขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม เขาไม่มั่นใจ เขากลัว...
- มารธาไม่อยากให้เปิดคูหาฝังศพ นางไม่มั่นใจ ... ป่านนี้ ศพคงเริ่มเน่าแล้ว...
- ชาวยิว แม้ว่ารู้สึกสงสารสองพี่น้อง แต่ก็มาเพียงเพื่อมาร่วมร้องไห้กับพวกนางเท่านั้น...
พระเยซูเจ้าทรงภาวนาต่อพระบิดาเพื่อทุกคนเหล่านี้ ... เพื่อทุกคนที่รู้สึกว่ายากที่จะเชื่อ ... เพื่อข้าพเจ้า เพื่อเรา ... ความเชื่อคืออะไร ... ความเชื่อคือการยอมรับว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาจากที่อื่น ... ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรง “ถูกส่งมา”...
ท่านเชื่อเช่นนั้นหรือเปล่า ... ท่านเชื่อใน “ที่อื่น” ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงจากมาหรือเปล่า ... พระวรสารของนักบุญยอห์นตอนนี้กล่าวถึงการเปลี่ยนสถานที่ถึง 23 ครั้ง คือ ออกจากแคว้นยูเดีย ไปยังแคว้นยูเดีย ไปยังเบธานี ไปที่บ้าน ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ... แต่ศูนย์กลางของความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ไม่ใช่ “คูหาฝังศพ” ซึ่งดูเหมือนเป็นจุดหมายปลายทาง – แต่อยู่ที่ “อีกโลกหนึ่ง โลกของพระบิดา” ผู้ทรงส่งพระเยซูเจ้ามา ... ถ้าปราศจากสถานที่นี้ คำถามเกี่ยวกับความตายย่อมไม่มีคำตอบ...
ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงดังว่า “ลาซารัสเอ๋ย จงออกมาเถิด” ผู้ตายก็ออกมา มีผ้าพันมือพันเท้า และผ้าคลุมใบหน้าด้วย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงเอาผ้าออก และให้เขาไปเถิด” ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์ และเห็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ก็เชื่อในพระองค์
สำหรับพระเยซูเจ้า คำถามสำคัญสำหรับมนุษย์ไม่ใช่ทำอย่างไรจึงจะออกมาจากหลุมฝังศพได้สักวันหนึ่ง – แต่เป็นการออกจากความตายไปสู่ชีวิตตั้งแต่บัดนี้ ด้วยการเชื่อในพระเยซูเจ้า “พวกเขาเชื่อในพระองค์”...
แล้วเราเชื่อในพระองค์หรือเปล่า...