ข่าวดี มัทธิว 25:14-30 หรือ 25:14-15, 19-21
อุปมาเรื่องเงินตะลันต์
(14)“อาณาจักรสวรรค์ยังจะเปรียบได้กับบุรุษผู้หนึ่งกำลังจะเดินทางไกล เรียกผู้รับใช้มามอบทรัพย์สินให้ (15) ให้คนที่หนึ่งห้าตะลันต์ ให้คนที่สองสองตะลันต์ ให้คนที่สามหนึ่งตะลันต์ ตามความสามารถของแต่ละคน แล้วจึงออกเดินทางไป (16) “คนที่รับห้าตะลันต์รีบนำเงินนั้นไปลงทุน ได้กำไรมาอีกห้าตะลันต์ (17)คนที่รับสองตะลันต์ก็ได้กำไรมาอีกสองตะลันต์เช่นเดียวกัน (18)แต่คนที่รับหนึ่งตะลันต์ไปขุดหลุมซ่อนเงินของนายไว้ (19)“หลังจากนั้นอีกนาน นายของผู้รับใช้พวกนี้ก็กลับมาและตรวจบัญชีของพวกเขา (20)คนที่รับห้าตะลันต์เข้ามา นำกำไรอีกห้าตะลันต์มาด้วย กล่าวว่า ‘นายขอรับ ท่านให้ข้าพเจ้าห้าตะลันต์ นี่คือเงินอีกห้าตะลันต์ที่ข้าพเจ้าทำกำไรได้’ (21)นายพูดว่า ‘ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด’ (22)คนที่รับสองตะลันต์เข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับ ท่านให้ข้าพเจ้าสองตะลันต์ นี่คือเงินอีกสองตะลันต์ที่ข้าพเจ้าทำกำไรได้’ (23)นายพูดว่า ‘ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด’ (24)“คนที่รับหนึ่งตะลันต์เข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านเป็นคนเข้มงวด เก็บเกี่ยวในที่ที่ท่านไม่ได้หว่าน เก็บรวบรวมในที่ที่ท่านไม่ได้โปรย (25)ข้าพเจ้ามีความกลัว จึงนำเงินของท่านไปฝังดินซ่อนไว้ นี่คือเงินของท่าน’ (26)นายจึงตอบว่า ‘ผู้รับใช้เลวและเกียจคร้าน เจ้ารู้ว่าข้าเก็บเกี่ยวในที่ที่ข้ามิได้หว่าน เก็บรวบรวมในที่ที่ข้ามิได้โปรย (27)เจ้าก็ควรนำเงินของข้าไปฝากธนาคารไว้ เมื่อข้ากลับมาจะได้ถอนเงินของข้าพร้อมกับดอกเบี้ย (28)จงนำเงินหนึ่งตะลันต์จากเขาไปให้แก่ผู้ที่มีสิบตะลันต์ (29)เพราะผู้ที่มีมาก จะได้รับมากขึ้น และเขาจะมีเหลือเฟือ แต่ผู้ที่มีน้อย สิ่งเล็กน้อยที่เขามีก็จะถูกริบไปด้วย (30)ส่วนผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์นี้ จงนำไปทิ้งในที่มืดข้างนอก ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง’
ตะลันต์เป็นหน่วยวัดน้ำหนัก หนึ่งตะลันต์ของกรีกมีน้ำหนัก 20.4 กิโลกรัม ส่วนตะลันต์ของฮีบรูหนักกว่าคือ 34.2 กิโลกรัม มูลค่าของหนึ่งตะลันต์จึงขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้ำหนักของเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตัวละครเอกในนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้อยู่ที่ “ผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์” ซึ่งพระเยซูเจ้าต้องการหมายถึงบรรดาคัมภีราจารย์และฟาริสี
พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีนำบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้โดยผ่านทางโมเสส และนำคำสอนของพระองค์ที่ทรงไขแสดงผ่านทางบรรดาประกาศกไปฝังดินไว้ โดยหวังว่าจะนำทั้งบัญญัติและคำสอนของพระเจ้าส่งคืนพระองค์ในสภาพเหมือนเดิม
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพยายามสร้างกำแพงป้องกันบัญญัติและคำสอนต่าง ๆ ด้วยการห้ามเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือพัฒนาปรับปรุงใด ๆ ทั้งสิ้น
พวกเขาทำให้ “ศาสนา” เป็นอัมพาต ประชาชนถูกปิดกั้นให้จมอยู่ในความมืดมน ไม่รู้จักพระเจ้าและความรักของพระองค์ !
พระองค์จึงต้องการสอนว่า “ไม่มีศาสนาใดที่ไม่ต้องเสี่ยง” เราทุกคนต้องเสี่ยงมุ่งหน้าสู่ชีวิตที่ดีกว่าเสมอ ไม่ใช่ทนอุดอู้อยู่ในหลุมหลบภัยระหว่างรอการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์
นอกจากนี้ พระเยซูเจ้ายังต้องการสอนเราทุกคนอีกว่า
1. พระเจ้าประทานพระพรแก่เราแตกต่างกัน บางคนอาจได้ห้าตะลันต์ บางคนสอง บางคนหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรา “ใช้อย่างไร” ไม่ใช่ “ได้เท่าไร”
พระเจ้าไม่เคยเรียกร้องให้เราทำสิ่งที่เราไม่มีความสามารถ แต่สิ่งใดที่เรามีความสามารถ พระองค์ต้องการให้เราใช้ความสามารถนั้นอย่างเต็มที่เพื่อรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
เราอาจได้รับไม่เท่ากัน แต่ทุกคน “พยายามเท่ากัน” ได้ !
และพระเจ้าทรงประทานรางวัลแห่งความพยายามที่เท่ากันของผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ทั้งสองคนด้วยคำชื่นชมเดียวกัน ดังที่ปรากฏในข้อ 21 และข้อ 23 คือ “ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ” แม้ว่าจำนวนเงินตะลันต์ที่คนทั้งสองนำมาคืนจะต่างกันมากถึงสองเท่าครึ่งก็ตาม
2. รางวัลคืองานที่มากขึ้น ดังที่ทรงตรัสกับผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ว่า “เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ” (ข้อ 21 และ 23)
ฟังดูเหมือนพระเจ้าไม่มีเหตุผล ทำไมพระองค์ไม่ให้พวกเขาพักเหนื่อย ?
ใช่... ฟังเผิน ๆ เหมือนไม่มีเหตุผล แต่ในชีวิตจริงของเรา เราต่างต้องการแบบนี้ด้วยกันทุกคนมิใช่หรือ เรามิได้ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ลูกค้าเพิ่มขึ้น ใบสั่งสินค้าเพิ่มขึ้น สัญญาจ้างงานเพิ่มขึ้นดอกหรือ ?
เพราะฉะนั้น งานที่เพิ่มขึ้นและความรับผิดชอบที่มากขึ้น จึงเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่จริง ๆ ที่พระเจ้าทรงประทานแก่เรา
3. โทษเกิดจากการไม่พยายาม ผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ถูกลงโทษไม่ใช่เพราะทำเงินหนึ่งตะลันต์สูญหาย แต่เพราะเขาไม่พยายามนำเงินนั้นมาใช้ต่างหาก
หากเขาเสี่ยงนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุน แล้วขาดทุนไม่มีเงินคืนนาย นายคงไม่โกรธและลงโทษเขาหนักเท่านี้
เพราะฉะนั้น คนที่ชอบหลีกเลี่ยง “ความพยายาม” ด้วยการออกตัวว่า “ผมมีความสามารถนิดเดียว”, “ผมจน”, “ไปหาคนโน้นดีกว่า” ฯลฯ คงต้องหันกลับมาทบทวนความคิดและบทบาทของตนเองกันใหม่
ยังไง ๆ “คนละไม้คนละมือ” ก็ดีกว่า “มือเดียว” แน่ ไม่ว่ามือนั้นจะใหญ่สักปานใดก็ตาม
หาไม่แล้วเราจะถูก “นำไปทิ้งในที่มืดข้างนอก” (ข้อ 30)
4. “ผู้ที่ทำมากจะได้รับมากขึ้น แต่ผู้ที่ทำน้อย สิ่งเล็กน้อยที่เขามีก็จะถูกริบไปด้วย”
หลักการนี้ดูเหมือนโหดร้าย แต่ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนี้จริง ๆ !
ถ้าเรามีความสามารถในการเลี้ยงหมู จับปลา ถักอวน เย็บเสื้อ ปรุงอาหาร สอนเรียน เล่นกีฬา พูดภาษาต่างประเทศ ใช้คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แล้วใช้ความสามารถนี้มากเท่าไร เราจะยิ่งมีความเชี่ยวชาญเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น
ตรงกันข้าม หากเราไม่ได้ใช้หรือไม่ได้ฝึกความสามารถเหล่านี้เลย คนที่เคยพูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อก็จะเริ่มพูดตะกุกตะกัก คนที่เคยเป็นดาวยิงฟุตบอลก็จะเริ่มยิงลูกโทษหน้าประตูไม่เข้า ช่างเสื้อชื่อดังก็จะเริ่มตัดเสื้อ “ออฟโรด” (สั้นเต่อ) โดยไม่ตั้งใจ ฯลฯ
เราอาจสรุปเป็นบทเรียนชีวิตของเราได้ว่า
“หนทางเดียวในการรักษาพระพรของพระเจ้าไว้คือ ใช้พระพรนั้นเพื่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์” !