แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
อาทิตย์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 23:1-12

ความหน้าซื่อใจคดและความชอบโอ้อวดของธรรมาจารย์และชาวฟาริสี
(1)ครั้งนั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่ประชาชนและบรรดาศิษย์ว่า  (2)“พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส  (3)ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูด แต่ไม่ปฏิบัติ  (4)เขามัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น แต่เขาเองไม่ปรารถนาแม้แต่จะขยับนิ้ว  (5)เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น เช่น เขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น  (6)เขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง ชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม  (7)ชอบให้ผู้คนคำนับตามลานสาธารณะ ชอบให้ทุกคนเรียกว่า ‘รับบี’  (8)“ส่วนท่านทั้งหลายอย่าให้ผู้ใดเรียกว่า ‘รับบี’ เพราะอาจารย์ของท่านมีเพียงผู้เดียวและทุกคนเป็นพี่น้องกัน  (9)ในโลกนี้อย่าเรียกผู้ใดว่า ‘บิดา’ เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์  (10)อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า  ‘อาจารย์’เพราะพระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า  (11)ในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเป็นใหญ่จะต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น  (12)ผู้ใดที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น

*********************************


พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกฟาริสีอย่างหมดเปลือกในมัทธิวบทที่ 23 นี้เอง
อย่างไรก็ตาม พระองค์ยอมรับว่าความเชื่อของชาวยิวมีการสืบทอดและส่งต่อกันมาโดยไม่ขาดตอน  เริ่มจากพระเจ้าทรงมอบบัญญัติสิบประการแก่โมเสส  โมเสสส่งต่อให้โยชูวา  โยชูวาส่งต่อให้บรรดาผู้อาวุโสของชาวอิสราเอล  ผู้อาวุโสส่งต่อให้บรรดาประกาศก  และที่สุดพวกประกาศกได้ส่งต่อให้แก่บรรดาธรรมาจารย์และฟาริสี
และจากมัทธิว 5:17-20 เราอาจสรุปได้ว่าบัญญัติสิบประการมีพื้นฐานอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการคือ
1.    เคารพยำเกรงพระเจ้า  รวมถึงพระนามและวันของพระองค์
2.    เคารพบิดามารดา  ชีวิต  ทรัพย์สิน  ชื่อเสียงของมนุษย์ ตลอดจนเคารพตัวเองโดยไม่ยอมตกอยู่ใต้การครอบงำของกิเลสตัณหาต่าง ๆ
หลักการทั้งสองนี้คงอยู่ชั่วนิรันดร  เพราะฉะนั้นตราบใดที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีสอนให้เราเคารพยำเกรงพระเจ้าและเคารพเพื่อนมนุษย์ ตราบนั้นคำสอนของพวกเขาถูกต้องและมีผลผูกพันดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด” เพราะว่าพวกเขากำลังนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส  และกำลังสืบทอดคำสอนที่โมเสสได้รับมาจากพระเจ้า
แต่ใช่ว่าพระองค์จะยอมรับบทบาทของพวกธรรมาจารย์และฟาริสีทั้งหมด !
1.    ในทางปฏิบัติพวกเขา “มัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น” (ข้อ 4) ด้วยการวางกฎระเบียบและข้อบังคับมากมายนับพัน ๆ ข้อ
นอกจาก “จำนวนมาก” แล้ว พวกเขายังสร้าง “เกราะป้องกัน” ให้แก่กฎที่พวกเขาคิดค้นสร้างขึ้นมาด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดละเมิดหรือยกเลิกกฎของพวกเขา แม้ว่ากฎข้อนั้นจะขัดต่อความรักและความเคารพเพื่อนมนุษย์มากสักเพียงใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ แทนที่ศาสนาจะนำความยินดีและพละกำลังมาสู่เรามนุษย์  กลับกลายเป็นว่าศาสนานั่นเองแหละที่เป็นตัวถ่วงมนุษย์ให้จมดิ่งสู่ความขมขื่นยิ่งขึ้นไปอีก
ซ้ำร้าย พวกเขาสร้างกฎระเบียบมากมายให้ผู้อื่นปฏิบัติ โดยที่พวกเขาเองจะปฏิบัติก็ต่อเมื่อ “มีคนเห็นและยกย่องชมเชยความศรัทธาของพวกเขา” เท่านั้น
2.    “เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น” (ข้อ 5) พวกเขาเปลี่ยนหลักการสำคัญของบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่โมเสสจากการเคารพยำเกรงพระเจ้าและเคารพเพื่อนมนุษย์ไปเป็น “การโอ้อวด” ความศรัทธาของตนเอง
ใครปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้เข้าตากรรมการ ถือว่าศรัทธามาก !
“เขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น”  เมื่อโมเสสกำชับประชาชนให้ระลึกถึงการอพยพออกจากอียิปต์ด้วยการทำพิธีกินขนมปังไร้เชื้อแล้ว ท่านสรุปว่า “พิธีนี้จะเป็นเหมือนเครื่องหมายที่มือของท่าน เป็นเครื่องเตือนใจต่อหน้าต่อตาท่าน” (อพย 13:9, 16; ฉธบ 6:8; 11:18)
ชาวยิวจึงห้อยกลักทำด้วยกล่องหนังเล็ก ๆ ไว้ที่ข้อมือและหน้าผากทุกวันเวลาสวดภาวนา ยกเว้นวันสับบาโต  ภายในกลักบรรจุด้วยม้วนแผ่นหนังที่จารึกข้อความจากพระคัมภีร์ 4 ตอนด้วยกันคือ อพย 13:1-10; 13:11–16; ฉธบ 6:4–9; 11:13–21
พวกฟาริสีไม่เพียงห้อยกลักทุกวันเท่านั้น แต่ยังขยายกลักให้ใหญ่กว่าของชาวบ้านเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขานบนอบต่อบัญญัติและมีความศรัทธามากสักเพียงใด
“ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น”  พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสให้บอกชาวอิสราเอลว่า “ท่านทั้งหลายและลูกหลานของท่านจะต้องทำพู่ห้อยไว้ที่มุมผ้าคลุมและใช้เชือกสีม่วงแดงเย็บติดไว้  ท่านจะมีพู่ห้อยติดผ้าคลุมเช่นนี้ และเมื่อเห็นพู่ห้อย ท่านจะระลึกถึงบทบัญญัติของพระยาห์เวห์และจะปฏิบัติตาม” (กดว 15:37-41; ฉธบ 22:12)
เช่นเดิม พวกเขาทำพู่ให้มีขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงบัญญัติและปฏิบัติตาม แต่เพื่อดึงดูดผู้อื่นให้สนใจพวกเขา
“พวกเขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง” โดยเฉพาะข้างซ้ายและข้างขวาของเจ้าภาพ  ถ้าเป็นปัจจุบันพวกเขาก็จะมีภาพลงหนังสือพิมพ์หรือได้ออกทีวีด้วย
“พวกเขาชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม”  ในปาเลสไตน์ พวกเขาจัดให้เด็กและพวกที่ไม่มีความสำคัญนั่งแถวหลัง ส่วนแถวหน้า ๆ เป็นของแขกผู้มีเกียรติและบุคคลสำคัญ  ที่นั่งที่มีเกียรติที่สุดเป็นของบรรดาผู้อาวุโสซึ่งจะหันหน้าหาประชาชน เหมือนที่นั่งของพระสงฆ์เวลาถวายบูชามิสซา
ที่นั่งที่หันหน้าหาประชาชนนี่แหละที่พวกฟาริสีชอบยิ่งนัก เพราะทุกคนสามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขาอยู่ในที่ประชุม และมีความสำรวมน่าเลื่อมใสศรัทธามากปานใด
“พวกเขาชอบให้ทุกคนเรียกว่า ‘รับบี’” และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพมากยิ่งกว่าพ่อแม่ของตนเองเสียอีก  พวกเขาอ้างว่าพ่อแม่ให้ได้เพียงชีวิตตามธรรมชาติ ส่วนพวกเขาสามารถสอนบัญญัติที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร
“พวกเขาชอบให้คนเรียกว่า ‘บิดา’”  เพราะพวกเขาสามารถทำให้คนมีความเชื่อได้ พวกเขาจึงควรเป็น “บิดา” แห่งความเชื่อ และทุกคนควรเรียกพวกเขาว่า “บิดา” เหมือนที่เอลีชาเรียกเอลียาห์ว่า “บิดาของข้าพเจ้า บิดาของข้าพเจ้า” ขณะที่เอลียาห์ถูกยกขึ้นไปบนฟ้าในพายุหมุน ( 2 พกษ 2:12)
แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราคริสตชนให้ระลึกอยู่เสมอว่า “พระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า” (ข้อ 10) และ “บิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์” (ข้อ 9)

พระองค์ตรัสสั่งเราทุกคนว่า “อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา” (ข้อ 3) เพราะพวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะดึงดูดความสนใจมาสู่ตนเอง
ในทางกลับกัน พระองค์สอนให้เราทุกคนละทิ้ง “ตัวตน” หรือ “อัตตา” ของเรา (มธ 10:39) เพื่อว่าหากผู้อื่นเห็นกิจการดีในตัวเรา พวกเขาจะไม่สรรเสริญตัวเรา แต่สรรเสริญพระบิดาในสวรรค์ (มธ 5:16)
ถ้าเรายังชอบ “โอ้อวด” และ “หยิ่งจองหอง” แล้วเราจะต่างจากพวกฟาริสีอย่างไร ?