ข่าวดี มัทธิว 16:21-27
พระเยซูเจ้าทรงทำนายเรื่องพระทรมานเป็นครั้งแรก
(21)ตั้งแต่นั้นมาพระเยซูเจ้าทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม (22)เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทานว่า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” (23) แต่พระองค์ทรงหันมาตรัสแก่เปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเราเจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
เงื่อนไขในการติดตามพระคริสตเจ้า
(24)พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา (25) ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น ก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ก็จะพบชีวิตนิรันดร (26) มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่ได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต มนุษย์จะต้องให้สิ่งใดเพื่อแลกกับชีวิตที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา (27) บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาพร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ เมื่อนั้นพระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามความประพฤติของเขา
พระเยซูเจ้าทรงทำนายเรื่องพระทรมาน
ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป แม้เปโตรจะประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) แต่ “พระคริสตเจ้า” ซึ่งเป็นภาษากรีกหรือ “พระเมสสิยาห์” ซึ่งเป็นภาษาฮีบรูตามความคิดของเปโตรนั้นช่างต่างกับพระเมสสิยาห์ตามความคิดของพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง
เปโตรคาดหวังว่าพระเมสสิยาห์ต้องเป็นกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญที่จะขับไล่ชาวโรมันออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์ และนำชาวยิวกลับมามีอำนาจรุ่งเรืองเหนือชนชาติอื่นใดในโลกนี้อีกครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มแย้มความคิดเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ว่า “จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ และจะถูกประหารชีวิต” เปโตรจึงรับความคิดที่ว่า “พระเมสสิยาห์ต้องทนทุกข์” หรือต้องถูกทรมานและตายอย่างอดสูบนไม้กางเขนไม่ได้เด็ดขาด
ไวเท่าความคิด เปโตรกระโดดโอบพระองค์ไว้พร้อมกับทูลคัดค้านว่า “เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน”
แล้วคำตำหนิอันหนักหน่วงที่ทำให้ผู้ฟังทุกคนหายใจไม่ทั่วท้องก็ตามมาทันที “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง”
แต่เราจำต้องเข้าใจว่าพระเยซูเจ้ามิได้ตรัสด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หรือแววตาแดงก่ำด้วยความโกรธแค้น ตรงกันข้ามพระองค์ตรัสด้วยความปวดร้าวในหัวใจ ด้วยความโศกเศร้าแสนสาหัส และด้วยความตระหนกจนตัวสั่น
ทำไม ?
เพราะว่าการประจญที่เคยหลอกหลอนพระองค์ในถิ่นทุรกันดารก่อนเริ่มภารกิจนั้น ได้หวนกลับมาหาพระองค์อีกครั้ง
- “จงใช้ฤทธิ์อำนาจที่มีดลบันดาลขนมปังและสิ่งของอื่น ๆ แจกผู้คนสิ แล้วพวกเขาจะติดตามพระองค์”
- “จงแสดงอภินิหารด้วยการกระโดดจากที่สูง เมื่อผู้คนทึ่งหรือพิศวง พวกเขาก็จะเชื่อฟังพระองค์เองแหละ”
- “จงยอมก้มหัวให้เราบ้างสิ อย่าเคร่งครัดนัก ลองเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ดูบ้าง คนเขาจะได้ติดตามพระองค์ง่ายหน่อย”
แน่นอนไม่มีใครต้องการไม้กางเขน ไม่มีใครต้องการตายอย่างเจ็บปวดทรมาน ปีศาจเองก็รู้จุดอ่อนนี้ดี มันจึงพยายามชักชวนพระองค์ตลอดชีวิตให้เลือกหนทางอื่นที่สบายกว่าเพื่อกอบกู้มนุษยชาติ แม้กระทั่งก่อนถูกจับในสวนมะกอกเพียงไม่กี่นาที มันก็ยังไม่วายล่อลวงพระองค์
แต่ครั้งนี้ปีศาจมันโหดร้ายสุด ๆ เพราะดันใช้เปโตรผู้เป็นศิษย์เอกเป็นเครื่องมือ !
“ซาตาน” แปลตามตัวคือ “ปรปักษ์” มันพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้มนุษย์เราหันเหจากหนทางของพระเจ้า
เปโตรจึงเป็นซาตานเพราะคิดตรงข้ามกับพระเจ้า และนี่เองทำให้พระองค์ตื่นตระหนกและปวดร้าวหัวใจที่สุด เพราะผู้ที่ล่อลวงพระองค์คือคนที่รักพระองค์มากที่สุด
แต่ “ความรักที่แท้จริง” ย่อมส่งเสริม “คนรัก” ให้อยู่ในหนทางของพระเจ้า ไม่ใช่ลากออกจากพระองค์ !
ความรักที่แท้จริงย่อมไม่หน่วงเหนี่ยวอัศวินหรือขุนศึกให้อยู่กับบ้าน แต่ย่อมปล่อยพวกเขาออกไปผจญภัยเพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่
ความรักที่ปกป้องคนรักจากการเป็นทหารหาญของพระคริสตเจ้า หรือจากการดำเนินชีวิตตามหนทางของพระองค์ย่อมไม่ใช่ “รักแท้”
แต่แม้เปโตรจะถูกดุว่าเป็นซาตาน คำสั่งที่พระองค์ใช้ “ขับไล่” ก็ยังแฝงไปด้วยโอกาส ความหวังและการท้าทายให้ติดตามพระองค์ต่อไป
หลังจากปีศาจล่อลวงพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ตรัสไล่มันว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น” (มธ 4:10) ซึ่งตรงกับภาษากรีก “Hupage Satana” (ฮูพาเก ซาตานา)
แต่กับเปโตร พระองค์ตรัสสั่งว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มธ 16:23) ภาษากรีกคือ “Hupage opiso mou, Satana” (ฮูพาเก โอพีโซ มู, ซาตานา)
แม้จะใช้คำสั่งเดียวกัน แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ “ข้างหลังฉัน” (โอพีโซ มู)
แปลว่า พระองค์ต้องการให้ปีศาจหรือซาตาน “ไปแล้วไปลับ” แต่เปโตรไม่ใช่ไปแล้วไปลับ เพียงแค่ให้ “ถอยไปอยู่ข้างหลัง”
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ “จงกลับมาติดตามเราอีก !”
และสิ่งนี้ทำให้เปโตรแตกต่างจากปีศาจอย่างสิ้นเชิง เพราะปีศาจนั้นหยิ่งจองหองเกินกว่าจะยอมติดตามพระองค์ได้
เปโตรอาจจะผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ท่านได้รับโอกาสและคำเชิญชวนให้หันกลับมาติดตามและเป็นศิษย์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง
แล้วเราจะเลือกหนทางของซาตานหรือของเปโตร ?
เงื่อนไขในการติดตามพระคริสตเจ้า
คำสอนหลักที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงบ่อยที่สุด คือเงื่อนไขในการติดตามพระองค์ซึ่งมี 3 ประการด้วยกัน (เทียบ มธ 10:37-39; มก 8:34-37; ลก 9:23-27; 14:25-27; 17:33; ยน 12:25)
1. เลิกคิดถึงตนเอง หรือบางคนเรียกว่า “ปฏิเสธตนเอง” (self-denial) ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคยกับการปฏิเสธตนเองแบบจำกัด โดยเฉพาะด้านเวลา เช่น ละเว้นไม่กินเนื้อวันศุกร์ พลีกรรมช่วงมหาพรต ฯลฯ
แต่นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการเลิกคิดถึงตนเองตามความหมายของพระเยซูเจ้า เพราะสำหรับพระองค์การเลิกคิดถึงตนเองหมายถึงการพูด “ไม่” กับตัวเองและ “ใช่” กับพระเจ้าทุกลมหายใจตลอดชีวิต ไม่ใช่ “ใช่” กับพระองค์เพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง
เป็นการลดบทบาทตนเองหรือปลดตนเองลงจากบัลลังก์ชีวิต แล้วอัญเชิญพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราตลอดไป
2. แบกไม้กางเขนของตน นั่นคือยอมรับภาระทุกอย่างอันเกิดจากการรับใช้ด้วยความเสียสละ เช่นยอมละทิ้งความทะเยอทะยานส่วนตัวเพื่อรับใช้พระเยซูเจ้า ยอมสละเวลาว่างและความบันเทิงส่วนตัวเพื่อเยี่ยมเยียนหรือรับใช้ผู้สูงอายุ เด็กกำพร้า ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการรับใช้พระเจ้าที่ดีที่สุด
3. ติดตามพระเยซูคริสตเจ้า คือยอมรับพระองค์เป็นผู้นำของเรา และพร้อมนบนอบเชื่อฟังพระองค์ทั้งด้านความคิด วาจา และกิจการ
เรียกว่าพร้อมเดินตามรอยพระองค์ทุกย่างก้าว
นอกจากเงื่อนไขในการติดตามพระองค์ทั้ง 3 ข้อแล้ว พระองค์ยังแยกแยะให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าง “คนเป็น” และ “คนมีชีวิต” (existing vs living) อีกด้วย
ผู้ใดมีปอดที่ยังหายใจได้และหัวใจที่ยังเต้นอยู่ก็ได้ชื่อว่า “คนเป็น” แล้ว แต่คนที่ “มีชีวิต” จำเป็นต้องมีคุณค่ามากกว่านี้แน่ เช่น มีดวงวิญญาณที่สงบสุข มีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน หรือมีความตื่นเต้นซาบซึ้งอยู่ทุกขณะจิต
วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงประทานตำราหรือคาถาทำให้ “คนเป็น” มีชีวิต กล่าวคือ
1. “ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น ก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร” มัทธิว เขียนพระวรสารระหว่างปีค.ศ. 80-90 ซึ่งเริ่มมีการเบียดเบียนศาสนาแล้ว ท่านจึงนำคำสอนของพระเยซูเจ้ามาบันทึกไว้เพื่อเตือนใจคริสตชนว่า “หากท่านละทิ้งความเชื่อ จริงอยู่ท่านอาจรักษาชีวิตไว้ได้ แต่ท่านเจริญชีวิตก็เพื่อรอวันตายและเป็นความตายชั่วนิรันดร ตรงกันข้ามหากท่านรักษาความเชื่อไว้ ท่านอาจตาย แต่ท่านตายเพื่อจะได้มีชีวิตนิรันดร”
แม้ว่าทุกวันนี้โอกาสตายเพื่อยืนยันความเชื่อจะเหลือน้อยเต็มที แต่หากเรามัวสลวนอยู่กับการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต หรือดำเนินชีวิตที่ง่าย ๆ และสะดวกสบาย หรือตัดสินใจตามมาตรฐานและแรงจูงใจแบบชาวโลก เรากำลังทำให้ชีวิตของเราด้อยค่า หย่อนยาน เห็นแก่ตัว และยึดติดอยู่กับสิ่งของของโลก
และหากเราดำเนินชีวิตดังเช่นที่กล่าวมา เราไม่ใช่ “มนุษย์” อีกต่อไป เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาตามฉายาของพระเจ้า
2. “ผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ก็จะพบชีวิตนิรันดร”
ในอดีตที่ผ่านมา เราได้พบเห็นผู้คนมากมายที่ยอมเสี่ยงหรือยอมสูญเสียทุกสิ่งเพื่อพระเยซูเจ้า ต่างได้รับการจารึกชื่อไว้อย่างยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
หากไม่มีใครยอมสละความมั่นคงปลอดภัยส่วนตน หรือไม่ยอมเสี่ยงเพื่อค้นคว้ายารักษาโรคร้าย หรือคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ชีวิตของเราคงยากลำบากหรืออาจจบสิ้นไปแล้วก็เป็นได้
หรือหากแม่กลัวเจ็บไม่ยอมเสี่ยงคลอดบุตร เราจะเกิดมาได้อย่างไรกัน ?
ทุกคนที่พร้อมเดิมพันชีวิตของตนเพื่อพระเจ้าเท่านั้นแหละ ที่จะพบชีวิตนิรันดร!
3. “มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่ได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต”
หากเรามีตำแหน่งสูง มีอำนาจวาสนาและบารมีล้นเหลือ ผู้คนนับหน้าถือตา ไปไหน ๆ ก็มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง แล้วอยู่มาวันหนึ่งเราเกิดค้นพบว่าชีวิตของตนไร้ค่า มีทางใดหรือที่เราจะได้ชีวิตกลับคืนมา ?
ทุกครั้งที่เราตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรากำลังทำให้ตัวของเรามีรูปแบบบุคลิกลักษณะเฉพาะและกลายเป็นนิสัยติดตัวตลอดไป จนกลายเป็นว่าเราสามารถทำสิ่งหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่สามารถทำสิ่งอื่นได้อีกเลย ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนเห็นแก่ตัวมาทั้งชีวิต ไม่เคยฟังหรือคิดถึงผู้อื่นเลย ย่อมคาดหวังไม่ได้เลยว่า ในบั้นปลายของชีวิตเราจะกลับกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
เมื่อพูดถึง “โลก” พระเยซูเจ้าหมายถึงวัตถุสิ่งของซึ่งถือว่าอยู่ตรงข้ามกับพระเจ้า และเพราะมันอยู่ตรงข้ามกับพระเจ้า เราจึงควรคำนึงอยู่เสมอว่า
3.1 เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง เราไม่อาจนำสิ่งใดติดตัวไปได้เลยนอกจากตัวของเราเอง หากเราลดตัวลงไปยึดติดกับสิ่งของของโลกมันจะน่าเศร้าและขมขื่นสักเพียงใด ?
3.2 ในวันที่เราต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต จะมีวัตถุสิ่งของใดที่ช่วยเยียวยาหัวใจที่แตกสลายหรือดวงวิญญาณที่เปล่าเปลี่ยวของเราได้ ?
3.3 ยิ่งถ้าเราได้วัตถุสิ่งของนั้นมาอย่างไม่ถูกต้องนัก แล้วเกิดมโนธรรมติเตียนขึ้นมา เราจะทนฟังเสียงติเตียนนั้นเหมือนตกนรกทั้งเป็นได้หรือ ?
4. “มนุษย์จะต้องให้สิ่งใดเพื่อแลกกับชีวิตที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา”
คำว่า “แลก” ตรงกับภาษากรีก antallagma (อันตัลลักมา) มีตัวอย่างการใช้ในพระธรรมเก่าเช่น “ไม่มี antallagma สำหรับเพื่อนตาย” (บสร 6:15) หรือ “ไม่มี antallagma สำหรับวิญญาณที่สัตย์ซื่อ” (บสร 26:14)
แปลว่าไม่มีสิ่งใดมีค่าเพียงพอที่จะ “แลก” กับเพื่อนตาย วิญญาณที่สัตย์ซื่อ หรือชีวิตที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาได้
หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีสิ่งใดมีค่าเพียงพอที่จะแลกกับพระเยซูคริสตเจ้าได้
พร้อมกับตำราชีวิต พระองค์ประทานคำเตือนไว้ด้วย “บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาพร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ เมื่อนั้นพระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามความประพฤติของเขา”
ชีวิตของเรากำลังเคลื่อนที่ทุกวินาทีไปสู่ความตายและ “การพิพากษาตัดสิน” ไม่มีใครสามารถรอดพ้นจากสองสิ่งนี้ไปได้สักคนเดียว
และกฎเกณฑ์ในการตัดสินคือ ผู้ที่เห็นแก่ตัว ผู้ที่แสวงหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ผู้ที่ชอบยศถาบรรดาศักดิ์และความสะดวกสบายที่โลกหยิบยื่นให้ อาจถือว่าประสบความสำเร็จในสายตาของชาวโลก แต่สอบตกในสายตาของชาวสวรรค์
ส่วนผู้ที่อุทิศตนด้วยความเสียสละเพื่อผู้อื่น อาจเป็นคนโง่เง่าในสายตาของชาวโลก แต่เป็นที่ชื่นชอบของชาวสวรรค์
และสมกับรางวัลที่พระเจ้าจะประทานให้ !