แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 13:24-43 หรือ 24-30

อุปมาเรื่องข้าวละมาน
(24)พระเยซูเจ้าทรงเล่าเป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่งให้พวกเขาฟังว่า “อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับชายคนหนึ่งที่หว่านข้าวพันธุ์ดีในนาของตน  (25)ขณะที่ทุกคนนอนหลับ ศัตรูก็มาหว่านข้าวละมานทับลงบนข้าวสาลีแล้วจากไป  (26)เมื่อต้นข้าวงอกขึ้นจนออกรวง ข้าวละมานก็ปรากฏแซมอยู่ด้วย  (27)บรรดาผู้รับใช้จึงไปหานายถามว่า ‘นายครับ นายหว่านข้าวพันธุ์ดีในนามิใช่หรือ แล้วข้าวละมานมาจากที่ใดเล่า’ (28)นายตอบว่า ‘ศัตรูมาหว่านไว้’ ผู้รับใช้จึงถามว่า ‘นายต้องการให้เราไปถอนมันไหม’  (29)นายตอบว่า ‘อย่าเลย เกรงว่าเมื่อท่านถอนข้าวละมาน ท่านจะถอนข้าวสาลีติดมาด้วย  (30)จงปล่อยให้ข้าวสองชนิดงอกงามขึ้นด้วยกันจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว แล้วฉันจะบอกคนเก็บเกี่ยวว่า จงเก็บข้าวละมานก่อน มัดเป็นฟ่อน เผาไฟเสีย ส่วนข้าวสาลีนั้น จงเก็บเข้ายุ้งของฉัน’”
อุปมาเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด
(31)พระองค์ตรัสเป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่งว่า “อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับเมล็ดมัสตาร์ดซึ่งมีผู้นำไปหว่านในนา (32) และเป็นเมล็ดเล็กกว่าเมล็ดทั้งหลาย แต่เมื่อเมล็ดงอกขึ้นเป็นต้นแล้ว กลับมีขนาดโตกว่าต้นผักอื่น ๆ และกลายเป็นต้นไม้ จนกระทั่งนกในอากาศมาทำรังอาศัยบนกิ่งได้”
อุปมาเรื่องเชื้อแป้ง
(33)พระองค์ยังตรัสเป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่งว่า “อาณาจักรสวรรค์ยังเปรียบได้กับเชื้อแป้งที่หญิงคนหนึ่งนำมาเคล้าผสมกับแป้งสามถัง จนแป้งทั้งหมดฟูขึ้น”
เหตุผลที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเป็นอุปมา
(34)พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องทั้งหมดนี้แก่ประชาชนเป็นอุปมา พระองค์ไม่ตรัสสิ่งใดกับเขาโดยไม่ใช้อุปมา  (35)ทั้งนี้ เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสไว้ทางประกาศกเป็นความจริงว่า เราจะเปิดปากกล่าวเป็นอุปมา เราจะกล่าวเรื่องที่ยังไม่เคยเปิดเผยตั้งแต่สร้างโลก
คำอธิบายอุปมาเรื่องข้าวละมาน
(36)หลังจากนั้น พระองค์ทรงแยกจากประชาชนเข้าไปในบ้าน บรรดาศิษย์จึงเข้ามาทูลว่า “โปรดอธิบายอุปมาเรื่องข้าวละมานในนาเถิด”  (37)พระองค์ตรัสว่า “ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ดีคือบุตรแห่งมนุษย์(38)ทุ่งนาคือโลก เมล็ดพันธุ์ดีคือพลเมืองแห่งพระอาณาจักร ข้าวละมานคือพลเมืองของมารร้าย  (39)ศัตรูที่หว่านคือปีศาจ ฤดูเก็บเกี่ยวคือเวลาอวสานแห่งโลก ผู้เก็บเกี่ยวคือทูตสวรรค์  (40)“ข้าวละมานถูกมัดเผาไฟฉันใด เวลาอวสานแห่งโลกก็จะเป็นฉันนั้น  (41)บุตรแห่งมนุษย์จะทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์มารวบรวมทุกสิ่งที่ทำให้หลงผิดและทุกคนที่ประกอบการอธรรม ให้ออกจากพระอาณาจักร  (42)แล้วเอาไปทิ้งในกองไฟ ที่นั่น จะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง  (43)ส่วนผู้ชอบธรรมจะส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์ในพระอาณาจักรของพระบิดา  ใครมีหูก็จงฟังเถิด”

****************************


ข้าวละมาน
ข้าวละมานถือเป็นหนึ่งในคำสาปสำหรับชาวนาทุกคนในปาเลสไตน์ เพราะว่าเมื่อเริ่มงอกมันจะมีลักษณะเหมือนข้าวสาลีจนไม่มีทางแยกออก  ต้องรอจนออกรวงนั่นแหละจึงจะสามารถแยกได้ว่าต้นไหนเป็นข้าวสาลีและต้นไหนเป็นข้าวละมาน
แต่เมื่อถึงเวลาออกรวง รากของมันก็พันกันนัวเนียหมดแล้ว  จนไม่มีทางเลยที่ชาวนาจะถอนข้าวละมานโดยที่ข้าวสาลีไม่หลุดติดมือมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วข้าวละมานจำเป็นต้องถูกแยกออกจากข้าวสาลี เพราะว่าข้าวละมานมีรสชาติขม ไม่อร่อย อีกทั้งกินแล้วเป็นพิษทำให้มึนเมา เวียนศีรษะ และเจ็บป่วย
ทุกวันนี้ ชาวนานิยมแยกข้าวสาลีออกจากข้าวละมานหลังการนวดข้าวแล้ว โดยเทเมล็ดข้าวทั้งสองลงในถาด แล้วใช้แรงงานสตรีแยกเมล็ดข้าวละมานซึ่งมีลักษณะและขนาดเหมือนเมล็ดข้าวสาลี เพียงแต่มีสีเทาคล้ายกระดานชนวนทิ้งไป
การที่บางคนจงใจหว่านข้าวละมานทับลงบนข้าวสาลีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  ทุกวันนี้ในอินเดียยังมีคนขู่ศัตรูของตนว่า “ข้าจะหว่านเมล็ดข้าวเลวในนาของเอ็ง”  และกฎหมายโรมันก็บัญญัติให้การกระทำเช่นนี้เป็นอาชญากรรมที่มีบทลงโทษหนัก
จะเห็นว่านิทานเปรียบเทียบเรื่องข้าวละมานให้ภาพที่ชาวยิวคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง แม้พึ่งจะฟังเป็นครั้งแรกก็ตาม  และบทเรียนที่พระองค์ต้องการสอนก็ชัดเจนด้วยเช่นกัน
1.    มีอำนาจของศัตรูอยู่ในโลกนี้ และคอยจ้องทำลายเมล็ดพันธุ์ดี  ประสบการณ์ของเราคงยืนยันอิทธิพลของอำนาจทั้งสองนี้ได้เป็นอย่างดี
อิทธิพลของเมล็ดพันธุ์ดีพยายามทำให้พระวาจาของพระเจ้างอกงามภายในจิตใจของเรา  แต่ในเวลาเดียวกันก็มีอิทธิพลของศัตรูร้ายที่คอยจ้องทำลายเมล็ดพันธุ์ดีก่อนมันจะมีโอกาสโตเสียอีก
จึงนำมาสู่บทเรียนแรกคือ “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ”
2.    ยากที่จะแยกแยะว่าใครอยู่ในพระอาณาจักร  เหมือนชาวนาที่แยกแยะข้าวสาลีออกจากข้าวละมานไม่ได้  บางคนดูภายนอกเป็นคนดีแต่จริง ๆ แล้วเป็นคนเลว  ส่วนบางคนดูเหมือนเลวแต่กลับเป็นคนดี  อย่างนี้ก็มี
เราจึงต้องไม่ด่วนแยกแยะว่าใครดีใครเลวจนกว่าเราจะรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด
3.    อย่าด่วนพิพากษา  เพราะแม้แต่ชาวนาเองยังต้องรอจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวจึงจะแยกข้าวละมานออกจากข้าวสาลี
มนุษย์คนหนึ่งอาจทำผิดพลาดอย่างมหันต์  แต่เขาอาจกลับใจได้อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า  และในทางกลับกัน คน ๆ หนึ่งอาจดำเนินชีวิตไม่มีที่ติแต่กลับพลาดและจมอยู่ในบาปจนวาระสุดท้าย
การพิพากษาจึงต้องกระทำเมื่อทุกอย่างจบสิ้นแล้วเท่านั้น  ไม่มีผู้ใดที่รู้จักคน ๆ หนึ่งเพียงส่วนเดียวหรือเสี้ยวเดียวของชีวิต แล้วจะมีสิทธิ์ตัดสินเขาทั้งชีวิตได้
4.    มีการพิพากษาแน่ แม้จะไม่เร่งรีบก็ตาม
เรามักพูดตามประสามนุษย์ว่า “ทำชั่วได้ดี” หรือ “ทำดีแต่ไม่เห็นได้รางวัลอะไรตอบแทนเลย”  แต่ขอให้จดจำไว้ว่า
คนชั่ว “จงอย่ากระหยิ่มใจ” และคนดี “จงอย่าท้อใจ” เพราะการพิพากษาลงโทษและการให้รางวัล แม้จะมาช้าแต่มาแน่
5.    พระเจ้าเท่านั้นมีสิทธิ์ตัดสิน  เพราะมีพระองค์แต่เพียงผู้เดียวที่รู้จักมนุษย์ทั้งครบ (ทุกด้าน) และทั้งชีวิต
เพราะฉะนั้น เราอย่าตัดสินผู้อื่น

เมล็ดมัสตาร์ด
อันที่จริงเมล็ดมัสตาร์ดไม่ใช่เมล็ดพืชที่เล็กที่สุด เพราะยังมีเมล็ดอื่นที่เล็กกว่า เช่น เมล็ดของต้นสนบางชนิด  แต่ในโลกของชาวตะวันออกอย่างเช่นชาวยิว พวกเขาใช้เมล็ดมัสตาร์ดเป็นคำเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงสิ่งที่ “เล็กมาก”  เราจึงได้ยินชาวยิวพูดกันว่า “หยดเลือดเล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด”  หรือเมื่อมีใครละเมิดกฎเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกเขาจะพูดว่า “มีมลทินเท่าเมล็ดมัสตาร์ด”  แม้พระเยซูเจ้าเองยังเปรียบเทียบความเชื่อเล็กน้อยว่าเท่าเมล็ดมัสตาร์ด (มธ 17:20)
แต่เมื่อเมล็ดมัสตาร์ดเติบโต มันจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ สูงถึงสามเมตรครึ่ง และเพราะเมล็ดสีดำของมันเป็นที่ชื่นชอบของนกมาก  ฝูงนกน้อยใหญ่จึงพากันมาเกาะตามกิ่งก้านของมันเพื่อกินเมล็ดมัสตาร์ด
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับเมล็ดมัสตาร์ด” ความหมายจึงชัดเจนว่า อาณาจักรสวรรค์เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ แต่ในที่สุดทุกชาติจะมารวมกันในอาณาจักรแห่งนี้
และจากข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มมาจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งนั้น ดังเช่น
1.    ความคิดที่เปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษยชาติล้วนเริ่มมาจากคน ๆ เดียว อย่างเช่น ความคิดของโทมัส เอดิสันช่วยทำให้โลกสว่างไสว  ความคิดของเฮนรี่ ฟอร์ดทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนแปลงจนคนธรรมดาสามารถเป็นเจ้าของได้  หรือนักศึกษาไทยเพียงหยิบมือเดียวสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบผูกขาด และทำให้ประชาธิปไตยของไทยเบ่งบานขึ้น เป็นต้น
2.    สักขีพยานถึงพระคริสตเจ้าเริ่มต้นจากคน ๆ เดียว  ครั้งหนึ่ง มีการประชุมเยาวชนนานาชาติเพื่อร่วมกันหาหนทางประกาศพระวรสารให้สอดคล้องกับสหัสวรรษใหม่  เด็กหญิงจากอัฟริกาคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเราต้องการนำคริสตศาสนาเข้าไปในหมู่บ้านใด เราไม่มีเงินพิมพ์หนังสือพระคัมภีร์แจกหรอก  เราทำได้เพียงส่งครอบครัวคริสตชนเข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้าน  ทำมาหากินเหมือนชาวบ้าน  เมื่อพวกเขาเห็นว่าชีวิตคริสตชนเป็นอย่างไร พวกเขาก็อยากเป็นและสมัครเป็นคริสตชนด้วย”
ไม่ว่าเราจะอยู่โรงเรียนไหน โรงงานใด หรือบริษัทอะไรก็ตาม เราคนเดียวนี่แหละสามารถเป็นสักขีพยานและนำพระคริสตเจ้าไปสู่เพื่อนรอบข้างได้
3.    การฟื้นฟูหรือปฏิรูปใด ๆ ล้วนเริ่มจากคน ๆ เดียว  ทั้ง ๆ ที่อาณาจักรโรมันหันมานับถือคริสตศาสนาแล้ว แต่กีฬาต่อสู้จนตัวตายกันไปข้างหนึ่ง (gladiators) ยังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย  ฤาษีจากทะเลทรายผู้หนึ่งชื่อเทเลมาคุส (Telemachus) ได้เดินทางมากรุงโรมเพื่อชมการแข่งขันร่วมกับฝูงชนอีกประมาณแปดหมื่นคน  และด้วยความคิดที่ว่านักต่อสู้ทุกคนล้วนเป็นลูกของพระเจ้า ท่านจึงกระโดดจากที่นั่งลงไปในสังเวียนแล้วยืนอยู่ระหว่างกลางนักต่อสู้ทั้งสอง  พวกเขาผลักท่านออกมา ฝูงชนเริ่มโกรธและขว้างก้อนหินใส่ท่าน  ท่านพยายามกลับไปยืนอยู่ระหว่างนักต่อสู้อีกครั้ง แต่คราวนี้มีเสียงสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตามด้วยเสียงดาบฟันฉับ ร่างของท่านล้มลงตายคาที่  ทันใดนั้นฝูงชนทั้งสนามเงียบกริบ พวกเขาสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ศักดิ์สิทธิ์  และนับแต่นั้นมากีฬาชนิดนี้ก็หายไปจากโรมจนตราบเท่าทุกวันนี้
การฟื้นฟูเป็นสิ่งจำเป็น  เราสามารถเริ่มต้นได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  และหากเราเริ่ม ไม่มีใครหรอกที่รู้ว่ามันจะไปจบที่ใดหรือยิ่งใหญ่ขนาดไหน
“อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับเมล็ดมัสตาร์ด” จึงเป็นเสมือนกำลังใจสำหรับบรรดาศิษย์ของพระองค์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

เชื้อแป้ง
ครั้งนี้พระเยซูเจ้าทรงนำเชื้อแป้งที่อยู่ในครัวซึ่งถือว่าใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด มาใช้เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจอาณาจักรสวรรค์
ชาวยิวทำขนมปังกินเองในบ้าน  แป้งสาลีสามถังมากพอสำหรับทำขนมปังให้ครอบครัวขนาดใหญ่กินได้ทั้งวัน  เชื้อแป้งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะช่วยทำให้ขนมปังนุ่ม ฟู โปร่ง และอร่อยชวนกิน  ส่วนใหญ่ได้มาจากการหมักชิ้นขนมปังที่ทำครั้งก่อน
แม้จะมีประโยชน์ใหญ่หลวง แต่ชาวยิวมักนำเชื้อแป้งไปผูกติดกับความชั่วร้าย ดังเช่นพระเยซูเจ้าเองทรงเตือนว่า “จงระวังให้ดี จงระวังเชื้อแป้งของชาวฟาริสีและชาวสะดูสี” (มธ 16:6 และดู 1 คร 5:6-8; กท 5:9)  หรือในช่วงเตรียมฉลองปัสกา ชาวยิวต้องค้นหาและทำลายเชื้อแป้งให้หมดไปจากภายในบ้านของตน
จึงนับเป็นความตั้งใจอันชาญฉลาดยิ่งของพระเยซูเจ้า ที่ทรงนำเชื้อแป้งมาเปรียบเทียบกับอาณาจักรสวรรค์ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
และคำสอนของพระองค์คือ “อาณาจักรสวรรค์มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง” เหมือนเชื้อแป้งสามารถเปลี่ยนแป้งสาลีให้เป็นขนมปังที่นุ่มอร่อย
นับจากอดีต พลังของคริสตศาสนาได้เปลี่ยนแปลงสังคมหลายด้านด้วยกัน เช่น
1.    เปลี่ยนสถานภาพของสตรี  ทุกเช้าชายชาวยิวจะสวดขอบคุณพระเจ้าที่โปรดให้เขาไม่เป็นคนต่างศาสนา ไม่เป็นทาส และไม่เป็นผู้หญิง  ในดินแดนทางตะวันออก เรามักเห็นครอบครัวเดินทางร่วมกันโดยพ่อนั่งบนหลังลา ส่วนแม่เดินจูงลา  ผู้หญิงมีคุณค่าเทียบเท่าสิ่งของอย่างหนึ่ง  แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าคริสตศาสนาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงให้เป็น “ลูกของพระเจ้า” เทียบเท่าชายได้อย่างไร
2.    เปลี่ยนสถานภาพของคนอ่อนแอและเจ็บป่วย  ในโลกของคนต่างศาสนา บุคคลเหล่านี้ถือว่าไร้ค่าและเป็นส่วนเกินของสังคม
ที่เมืองสปาร์ตา เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาว่าเด็กแข็งแรงหรือไม่ ถ้าแข็งแรงก็มีสิทธิ์เจริญชีวิตต่อ แต่ถ้าอ่อนแอหรือผิดปกติก็จะถูกปล่อยทิ้งให้ตายตามเชิงเขา  ทว่าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า สถานดูแลคนตาบอดแห่งแรกของเมืองสปาร์ตาตั้งโดยธาลาซีอุสซึ่งเป็นพระนับถือคริสต์รูปหนึ่ง  สถานที่จ่ายยาฟรีแห่งแรกจัดตั้งโดยอพอลโลนีอุส พ่อค้านับถือคริสต์คนหนึ่ง  หรือโรงพยาบาลแห่งแรกก็ตั้งโดยฟาบีโอลาซึ่งเป็นสุภาพสตรีคริสต์อีกคนหนึ่ง
3.    เปลี่ยนชีวิตของผู้สูงอายุ  ชาวโรมันถือว่าคนสูงอายุเปรียบได้กับเครื่องมือเก่า ๆ ซึ่งไม่มีค่าอื่นใดนอกจากทิ้งรวมกับกองขยะ
คริสตศาสนาสอนว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องมือแต่เป็นบุคคล และเป็นบุคคลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายด้วย
4.    เปลี่ยนชีวิตของเด็ก ในสมัยของพระเยซูเจ้า การหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ  การที่หญิงคนหนึ่งจะมีสามีใหม่ทุกปีไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าตำหนิ  สถาบันครอบครัวจึงอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง  ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เด็กกลายเป็น “มารหัวขน” และถูกปล่อยทิ้งให้อดตายอยู่บ่อย ๆ
โชคดีที่คริสตศาสนาช่วยเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของคนสมัยใหม่  ทุกวันนี้ชีวิตครอบครัวถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง
เด็กกลายเป็น “โซ่ทองคล้องใจ” ไม่ใช่ “มารหัวขน” อีกต่อไป
คริสตศาสนานอกจากจะมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคม (Social) แล้ว  ยังมีพลังเปลี่ยนแปลงมนุษย์เราแต่ละคน (Individual) อีกด้วย
นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า คนอธรรมจะไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก จงอย่าหลอกตนเอง คนผิดประเวณี คนกราบไหว้รูปเคารพ คนเป็นชู้ คนลักเพศ คนรักร่วมเพศ คนขโมย คนโลภ คนขี้เมา คนปากร้าย คนฉ้อโกง คนเหล่านี้จะไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก  บางท่านเคยเป็นเช่นนี้มาก่อน แต่ท่านได้รับการชำระล้างแล้ว ท่านได้รับความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านได้รับความชอบธรรมแล้วเดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1 คร 6:9-11)

เห็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของพระเยซูเจ้าและอาณาจักรของพระองค์เช่นนี้แล้ว เราไม่คิดมาหาพระองค์……
เพื่อเราจะไม่เป็นผู้ “แพ้” แต่เป็นผู้ “พิชิต” การประจญทั้งปวงดอกหรือ