แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 11:25-30

(25) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย (26) ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น (27) พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้
(28) “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน (29) จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน (30) เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่มและภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา”

*******************************


“ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย”
พระเยซูเจ้าทรงตรัสคำเหล่านี้จากประสบการณ์ของพระองค์เอง ที่บรรดาธรรมาจารย์และผู้มีปรีชารอบรู้ทั้งหลายไม่ยอมรับพระองค์  แต่บรรดาประชาชนผู้ต่ำต้อยกลับต้อนรับพระองค์ด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่เราต้องระวังคือการเข้าใจคำพูดของพระองค์อย่างผิด ๆ
พระองค์ไม่ได้ตำหนิ “พลังสร้างสรรค์” ของสติปัญญา แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการตำหนิเป็นอย่างยิ่งคือ “ความเย่อหยิ่งอวดดี” ของสติปัญญา
ความฉลาดไม่เคยกีดกั้นมนุษย์เราจากพระเจ้า แต่เป็นความหยิ่งจองหองต่างหากที่ฉุดรั้งเราจากพระองค์
และสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากเราทุกคนคือ “ความสุภาพถ่อมตน” ไม่ใช่ความโง่เขลาเบาปัญญา  ต่อให้เราเฉลียวฉลาดเทียบเท่ากษัตริย์โซโลมอน แต่ถ้าเราขาดหัวใจที่สุภาพ วางใจ และใสบริสุทธิ์เหมือนเด็กเล็ก ๆ เราก็ปิดประตูกั้นตัวเราเองจากพระองค์
เหมือนที่มีนักปราชญ์คนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “บ้านของพระวรสารคือหัวใจ ไม่ใช่หัวคิด”
นอกจากทรงเรียกร้องความสุภาพถ่อมตนจากเราแล้ว พระองค์ยังทรงอ้างสิทธิที่เป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว และยังเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อของเราคริสตชนอีกด้วย นั่นคือ “ไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้”
หรือตามสำนวนของนักบุญยอห์นว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:9)
ความหมายที่พระเยซูเจ้าต้องการบอกเราคือ “หากเราต้องการรู้จักพระบิดาว่าทรงมีธรรมชาติ  มีความนึกคิด จิตใจ และทัศนคติต่อมนุษย์อย่างไรแล้วละก็ ให้ดูที่ตัวเรา”
เป็นความมั่นใจสูงสุดของเราคริสตชนว่า ในพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้นที่เราสามารถรู้จักพระเจ้า และพระองค์เท่านั้นสามารถประทานความรู้นี้แก่ทุกคนที่มีใจสุภาพพอที่จะวางใจและยอมรับความรู้นั้น

“ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด”
เป้าหมายของพระวาจานี้คือบรรดาผู้ที่กำลังแสวงหาพระเจ้าและพยายามเป็นคนดีด้วยสิ้นสุดกำลัง  แต่กลับพบว่าหนทางตีบตัน อีกทั้งตัวเองก็เหน็ดเหนื่อยและท้อแท้สิ้นหวัง
ชาวกรีกถือว่าเป็นการยากมากที่จะพบพระเจ้า และเมื่อพบพระองค์แล้วก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเล่าให้ผู้อื่นฟัง  ดังจะเห็นได้จากหนังสือโยบ เมื่อโซฟาร์ถามโยบว่า “ท่านล่วงรู้ส่วนลึกของพระเจ้าหรือ ?” (โยบ 11:7)
พระเยซูเจ้าต้องการบอกเราทุกคนว่า การดิ้นรนแสวงหาพระเจ้าด้วยความเหนื่อยอ่อน บัดนี้สิ้นสุดลงแล้ว
ใครพบพระองค์ก็พบพระเจ้า !
นอกจากนี้ พระองค์ยังเชิญชวนผู้ที่ “แบกภาระหนัก” ให้มาหาพระองค์
ภาระหนักได้แก่ศาสนาของพวกยิวที่เคร่งครัด ซึ่งก็คือพวกธรรมาจารย์และฟารีสี  พวกเขา “มัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น” (มธ 23:4)  ศาสนาของพวกเขาเต็มไปด้วยกฎระเบียบไม่รู้จักจบสิ้น  คำหนึ่งที่ก้องอยู่ในโสตประสาทของทุกคนคือ “ท่านจะต้องไม่...”
พวกรับบีเล่านิทานเปรียบเทียบที่น่าสลดใจเรื่องหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าธรรมบัญญัตินั้นผูกพัน บีบรัด เป็นภาระหนัก และเต็มไปด้วยข้อเรียกร้องมากเพียงใด
หญิงหม้ายยากจนคนหนึ่งมีบุตรสาวสองคนพร้อมกับนาอีกแปลงหนึ่ง  เมื่อนางเริ่มไถนา โมเสส (นั่นคือข้อเรียกร้องจากกฎหมายของโมเสส) บอกนางว่า “ท่านจะต้องไม่ไถนาด้วยวัวและลาพร้อมกัน”  เมื่อนางเริ่มหว่านเมล็ดพืช โมเสสพูดว่า “ท่านจะต้องไม่หว่านนาของท่านด้วยเมล็ดพืชต่างชนิดกัน”  ต่อมานางเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผล โมเสสคนเดิมพูดอีกว่า “เมื่อท่านเก็บเกี่ยวพืชผลในทุ่งนาแล้วลืมฟ่อนข้าวไว้ ท่านจะต้องไม่กลับไปเก็บ” (ฉธบ 24:19) และ “ท่านจะต้องไม่เกี่ยวรวงข้าวที่ขอบนาจนหมด” (ลนต 19:9) เมื่อนางนวดข้าว โมเสสกลับมาบอกนางว่า “ท่านต้องถวายสิบชักหนึ่ง”  นางก็แสนดี ปฏิบัติตามคำสั่งของโมเสสทุกประการ
ที่สุดนางตัดสินใจขายนาแล้วนำเงินไปซื้อแกะสองตัว โดยหวังว่าจะอาศัยขนแกะทำเครื่องนุ่งห่ม และหารายได้ปะทังชีวิตด้วยลูกแกะที่เกิดใหม่
แต่เมื่อลูกแกะถือกำเนิดขึ้นมา อาโรน (ข้อเรียกร้องของพระสงฆ์) ตรงเข้ามาบอกนางว่า “ลูกแกะหัวปีต้องเป็นของเรา”  นางก็ยอมให้ลูกแกะตัวแรกไป  เมื่อถึงเวลาตัดขนแกะ อาโรน กลับมาบอกว่า “ท่านจะต้องให้ผลิตผลแรกจากข้าวสาลี เหล้าองุ่นใหม่และน้ำมันมะกอก รวมทั้งขนแกะแก่สมณะ” (ฉธบ 18:4)  นางสุดทนจึงคิดจะฆ่าแกะกิน แต่อาโรนก็ตามไม่เลิก “สมณะจะมีสิทธิ์รับขาหน้า เนื้อแก้ม และเนื้อท้อง” (ฉธบ 18:3) นางจึงพูดกับบุตรสาวว่า “แม้เราจะฆ่าแกะแล้ว ก็ยังไม่รอดจากเงื้อมมือของพวกเขาอีก อย่ากระนั้นเลย ให้เราถวายแกะเหล่านี้แด่พระเจ้าดีกว่า”
เหลือเชื่อ อาโรนพูดกับนางว่า “ของทุกอย่างที่ชาวอิสราเอลถวายขาดแด่พระยาห์เวห์จะเป็นของฉัน” (กดว 18:14) แล้วก็ฉวยแกะไปทั้งหมด ปล่อยให้นางร้องไห้กับบุตรสาวทั้งสอง
แม้เป็นเพียงนิทานเปรียบเทียบ แต่ก็แสดงให้เห็นว่ากฎหมายของชาวยิวเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ทุกแง่ทุกมุมและไม่รู้จักหยุดจักหย่อนเลย
เป็นภาระหนักหนาสาหัสสากรรจ์จริง ๆ !
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงเชิญชวนเราทุกคน “จงรับแอกของเราแบกไว้ เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่มและภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา”
ชาวยิวใช้คำว่า “แอก” เพื่อหมายถึง “การยอมมอบตนต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เช่น แอกของกฎหมาย หมายถึงการยอมมอบตนต่อกฎหมาย  นอกจากนั้นพวกเขายังพูดถึงแอกของบัญญัติ แอกของอาณาจักรสวรรค์  แอกของพระเจ้า เป็นต้น
แอกของพระเยซูเจ้าจึงหมายถึงการยอมมอบตนเป็นศิษย์ของพระองค์  และแอกของพระองค์น่าแบกเพราะว่า “อ่อนนุ่ม”
คำ “อ่อนนุ่ม” ตรงกับภาษากรีก chrestos (เครสตอส) ซึ่งความหมายพื้นฐานคือ “เหมาะพอดี” (being well adapted to fulfill a purpose)
ในปาเลสไตน์ ชาวยิวทำแอกเฉพาะอันให้วัวแต่ละตัว  ขั้นแรกพวกเขาจะนำวัวไปให้ช่างวัดขนาดคอ ขั้นที่สองพวกเขาต้องนำวัวกลับไปลองโครงแอกเพื่อปรับแต่งให้เหมาะพอดีกับคอวัวจะได้ไม่เกิดแผลเวลาใส่  ขั้นสุดท้ายคือไปรับแอกที่เหมาะพอดีกับวัวแต่ละตัว
หมายความว่า หากเราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า พระองค์จะประทานแอกที่ไม่ทำร้ายเรา และทุกแอกจะเหมาะพอดีกับความจำเป็นและความสามารถของเราแต่ละคน
และเมื่อพระองค์ตรัสว่าภาระของพระองค์ “เบา” นั้น พระองค์ไม่ได้หมายความว่าภาระของพระองค์แบกได้ง่าย ๆ สบาย ๆ  แต่หมายความว่าพระองค์ประทานภาระให้แก่เราด้วย “ความรัก” และหากเราแบกภาระนั้นด้วย “ความรัก”  แม้ภาระที่หนักที่สุดก็จะกลายเป็น “เบา”
ยิ่งได้รู้ว่าภาระของพระองค์คือ “รักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์”
ภาระอื่น ๆ ตัดทิ้งได้เลย !