พระเยซูเจ้าทรงทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์
พระวรสาร มัทธิว 5:17-20
(17)“จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ (18) เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป (19) ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุดและสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์ (20) เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”
ธรรมบัญญัติคืออะไร
ทั้ง ๆ ที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระคริสตเจ้าคือจุดจบของธรรมบัญญัติ” (รม 10:4) แต่ทำไมพระเยซูเจ้าเองจึงบอกว่าธรรมบัญญัติจะคงอยู่ทุกตัวอักษรตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึง “ธรรมบัญญัติ” (The Law) ชาวยิวหมายถึง 4 อย่างคือ
1. บัญญัติสิบประการ
2. หนังสือพระธรรมเก่าห้าเล่มแรกที่เรียกกันว่า ปัญจบรรพ (Pentateuch)
3. ใช้ในสำนวน The Law and the Prophets เพื่อหมายถึงพระคัมภีร์ทั้งครบ (ขณะนั้นคือ Old Testament เท่านั้น)
4. ธรรมประเพณี (Oral and Scribal Law)
สิ่งที่ทั้งพระเยซูเจ้าและนักบุญเปาโลต่างประณามคือธรรมบัญญัติตามความหมายสุดท้าย
เราจะพบว่าในพระธรรมเก่ามีกฎระเบียบอยู่น้อยมาก แม้บัญญัติสิบประการเองก็ไม่ใช่กฎระเบียบ แต่เป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ อันยิ่งใหญ่ที่แต่ละคนจะต้องตีความและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของตน โดยอาศัยคำแนะนำหรือการดลใจของพระเจ้า
แต่ชาวยิวสมัยหลังเห็นว่าลำพังหลักการเท่านี้ไม่เพียงพอ พวกธรรมาจารย์จึงพยายามดึงกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมายจากหลักการข้างต้น เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
กฎเกณฑ์หยุมหยิมที่พวกธรรมาจารย์พยายามคิดค้นขึ้นมานี่แหละเรียกว่า “ธรรมประเพณี”
ยกตัวอย่างเช่น บัญญัติสิบประการกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า “จงทำวันสับบาโตให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ และห้ามทำงานในวันสับบาโต”
ปัญหาของพวกธรรมาจารย์ก็คือ “อะไรคืองาน ?” พวกเขาจึงต้องระดมความคิดและเวลามากมายเพื่อช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วย “งาน”
ประการแรก งานคือ “การแบกของ” แต่ปัญหาต่อมาคือ “ของอะไรบ้างที่แบกได้หรือไม่ได้ ?” พวกเขาก็ได้กฎเกณฑ์ออกมาว่า สิ่งที่แบกได้ในวันสับบาโตคือ อาหารที่มีน้ำหนักเท่ามะเดื่อแห้งหนึ่งผล เหล้าองุ่นไม่เกินหนึ่งถ้วย น้ำนมหนึ่งอึก น้ำจำนวนพอผสมยาป้ายตา กระดาษพอเขียนประกาศหนึ่งใบ หมึกพอเขียนอักษรสองตัว ต้นอ้อพอทำปากกาหนึ่งด้าม ฯลฯ พวกเขาใช้เวลายาวนานเพื่อถกเถียงกันว่าในวันสับบาโตจะเคลื่อนตะเกียง จะอุ้มเด็กทารก จะใส่ฟันปลอม ขาเทียม เข็มกลัดผม หรือผมปลอมได้หรือไม่ หรือแม้แต่ช่างตัดเสื้อที่ลืมเข็มติดไว้กับเสื้อจะเป็นบาปหรือไม่ ?
ประการที่สอง งานคือ “การเขียน” การเขียนที่ถือว่าผิดคือ เขียนมากกว่าสองตัวอักษร ถ้าเกินสองตัวอักษรแต่เขียนด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดรอยถาวรเช่น เขียนด้วยของเหลวสีดำ น้ำผลไม้ หรือเขียนบนฝุ่นหรือทราย เหล่านี้ไม่ถือว่าผิด ถ้าเขียนบนกำแพงที่มีมุมติดกันหรือเขียนบนสมุดบัญชีสองหน้าชนิดที่ทำให้อ่านพร้อมกันได้ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าต้องเดินไปดูกำแพงอีกด้านหรือพลิกสมุดไปอีกหน้าหนึ่งจึงจะอ่านได้ความ แบบนี้ถือว่าไม่ผิด
ประการที่สาม งานคือ “การรักษา” อนุญาตให้กระทำได้เมื่อมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับหู คอ และจมูก แต่ทั้งนี้อนุญาตให้ทำได้เพียงเพื่อไม่ให้อาการเลวร้ายลงเท่านั้น ห้ามทำการใด ๆ เพื่อให้อาการนั้นดีขึ้น
นี่คือตัวอย่างอันน้อยนิดของผลงานของบรรดาธรรมาจารย์ ช้ำร้ายยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าพวกฟารีสีซึ่งแปลว่า “ผู้ที่แยกตัวออกมา” พวกเขาเพียรพยายามจะปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกกระบวบความ
ประมาณกลางศตวรรษที่ 3 ธรรมประเพณีเหล่านี้ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า Mishnah มีความหนาประมาณ 800 หน้า และประมาณศตวรรษที่ 5 ก็มีผู้รวบรวมคำอธิบายกฎระเบียบต่าง ๆ ในหนังสือ Mishnah เป็นเล่มเรียกว่า Talmud
Talmud ของกรุงเยรูซาเล็มประกอบด้วยหนังสือ 12 เล่มพิมพ์ และ Talmud ของกรุงบาบิโลนประกอบด้วยหนังสือ 60 เล่มพิมพ์
แก่นแท้ของธรรมบัญญัติ
หลักการอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งคือ “มนุษย์ต้องพยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อพบแล้วเขาต้องทุ่มเทอุทิศตนตลอดชีวิตเพื่อปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น” พวกธรรมาจารย์และฟารีสีทำถูกที่พยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า และยิ่งถูกเข้าไปใหญ่เมื่อพยายามอุทิศตนปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น แต่พวกเขาผิดที่ดันไปพบน้ำพระทัยในกฎระเบียบมากมายที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง
ถ้าเช่นนั้นอะไรคือแก่นแท้ของน้ำพระทัยของพระเจ้า ? อะไรคือแก่นแท้ของธรรมบัญญัติ ?
เมื่อพิจารณาบัญญัติสิบประการอย่างใกล้ชิด เราจะพบว่าแก่นแท้ของธรรมบัญญัติทุกข้อสรุปได้เพียงคำเดียวคือ “เคารพ” (Respect)
เราต้องเคารพยำเกรงพระเจ้าและพระนามของพระองค์ เราต้องเคารพยำเกรงวันของพระเจ้า
เราต้องเคารพพ่อแม่ ชีวิต ความเป็นบุคคลของตนเอง ทรัพย์สิน ความจริงและชื่อเสียงของผู้อื่น และสุดท้ายเราต้องเคารพตัวเองเพื่อว่าความปรารถนาผิด ๆ จะได้ไม่เป็นนายเหนือเรา
กล่าวง่าย ๆ คือ เราต้องเคารพยำเกรง (Reverence) พระเจ้า และเคารพ (Respect) เพื่อนมนุษย์รวมถึงตัวเองด้วย
นี่คือแก่นแท้และเป็นพื้นฐานของธรรมบัญญัติตลอดจนกฎหมายทั้งปวง
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์” พระองค์จึงต้องการบอกเราว่า ความเคารพยำเกรงและความเคารพที่เป็นพื้นฐานของบัญญัติสิบประการนั้นจะไม่มีวันสูญสิ้นไป
และพระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า “ความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้า และความเคารพต่อมนุษย์” ที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร
พระเยซูเจ้าต้องการสอนอะไร ?
1. อดีตและปัจจุบันมีความต่อเนื่องกัน
บางคนชอบตำหนิอดีตที่ผิดพลาดแล้วพยายามลืมหรือสลัดมันทิ้งไป แต่ถ้าเราทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเรากำลังต่อสู้กับอดีต และเมื่อเราต่อสู้กับอดีตเราก็จะไม่มีอนาคต ! เพราะปัจจุบันนั้นเติบโตมาจากอดีต และอนาคตก็เติบโตมาจากปัจจุบัน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงมิได้ลบล้างธรรมบัญญัติในอดีตแม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเดียว
ก่อนจะมีพระวรสารจำเป็นต้องมีธรรมบัญญัติก่อนเพื่อว่าเรามนุษย์จะได้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างถูกกับผิด รู้จักบาป รู้จักความอ่อนแอ และเรียนรู้ว่าเราต้องการพระเจ้าพร้อมกับความช่วยเหลือของพระองค์
2. การดำเนินชีวิตคริสตชนไม่ใช่เรื่องง่าย
บางคนอ้างว่าเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาก็เป็นอันสิ้นสุดของธรรมบัญญัติ ต่อจากนี้ไปเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ได้
ไม่ใช่เลย !
เพราะพระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”
พวกธรรมาจารย์และฟาริสีดำเนินชีวิตโดยมีบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นทั้งแรงผลักดันและเป็นทั้งแรงจูงใจ
แต่แรงผลักดันและแรงจูงใจของการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนคือ “ความรัก”
พระเจ้าทรงรักมนุษย์จนยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียวมาช่วยให้มนุษย์พ้นบาป มนุษย์จึงพยายามตอบแทนบุญคุณนี้ด้วยความรักเช่นกัน
เป็นไปได้ว่าเราอาจไม่เคยละเมิดกฎหมาย ไม่เคยถูกตำรวจจับ ซึ่งแปลได้ว่าเราอาจถือตามบทบัญญัติหรือกฎหมายต่าง ๆ ได้ครบ
แต่กับความรัก เราไม่อาจพูดได้เลยว่าเราแสดงความรักพอแล้ว.....
ถ้าเรารักใครสักคน ต่อให้เอาดวงจันทร์มาประเคนให้ได้ เราก็ยังรู้สึกว่าไม่พอ
นี่คือพันธะผูกพันอันยิ่งใหญ่ของความรักที่มีเหนือกฎหมายอันมีข้อจำกัด
ความชอบธรรมของเราจึงต้องดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี