วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ข่าวดี มาระโก 1:1-8
การประกาศของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
(1)การเริ่มต้นข่าวดี เรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า (2)มีเขียนไว้ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ว่า
ดูซิ เราส่งผู้นำสารของเราไปข้างหน้าท่าน
เพื่อเตรียมทางสำหรับท่าน
(3)คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า
จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด
(4)เพื่อให้ข้อความนี้เป็นจริง ยอห์นจึงทำพิธีล้างในถิ่นทุรกันดาร เทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการกลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป (5)ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบเขา รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน (6)ยอห์นแต่งกายด้วยผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า (7)และประกาศว่า “มีอีกผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะก้มลงแก้สายรัดรองเท้าของเขา (8)ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่าน เดชะพระจิตเจ้า”
นักบุญมาระโกไม่ได้เริ่มต้นพระวรสารด้วยการลำดับพระวงศ์หรือการประสูติของพระเยซูเจ้า แต่ท่านเริ่มต้นโดยเข้าสู่ประเด็นสำคัญทันทีนั่นคือเรื่องของ “ข่าวดี”
ข่าวดีที่ว่าคือ
- พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสต์ (ตามภาษากรีก) หรือพระเมสสิยาห์ (ตามภาษาฮีบรู)
- พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า
ที่สำคัญ ข่าวดีนี้อยู่ในแผนการของพระเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก และมาระโกพิสูจน์ความจริงข้อนี้ด้วยการอ้างคำพูดของบรรดาประกาศก
ประกาศกท่านแรกที่มาระโกอ้างถึงคือมาลาคีบทที่ 3 ข้อ 1 ที่กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า ดูเถิด เราส่งทูตของเราไปเพื่อตระเตรียมหนทางไว้ข้างหน้าเรา และพระเจ้าผู้ซึ่งเจ้าแสวงหานั้นจะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์”
ประกาศกอีกท่านหนึ่งคืออิสยาห์ที่ทำนายไว้ว่า “เสียงหนึ่งร้องว่า จงเตรียมมรรคาแห่งพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงสำหรับพระเจ้าของเราให้ตรงไป” (อสย 40:3)
ประกาศกทั้งสองท่านล้วนทำนายถึง “ผู้นำสาร” ที่จะมาเตรียมทางก่อนการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า
แต่เพราะมาระโกต้องการเน้นเรื่อง “เสียงในถิ่นทุรกันดาร” ท่านจึงเอ่ยชื่อประกาศกอิสยาห์เพียงท่านเดียว
สำหรับมาระโก “ผู้นำสาร” และ “เสียงในถิ่นทุรกันดาร” ที่บรรดาประกาศกได้ทำนายไว้คือ ยอห์น บัปติสตา
ส่วนผู้ที่จะเสด็จมาคือ พระเยซูเจ้า
เมื่อเสียงในถิ่นทุรกันดารร้องว่า “จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรง” (ข้อ 3) จึงเท่ากับว่ามาระโกกำลังพิสูจน์ตั้งแต่เริ่มต้นพระวรสารเลยว่า “พระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า” !
ยอห์นเทศน์สอนและทำพิธีล้างซึ่งชาวยิวทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี เพราะธรรมบัญญัติกำหนดให้พวกเขาต้องทำพิธีล้างทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งมีมลทิน หลังคลอดบุตร เมื่อหายจากโรคผิวหนัง หลังจากหลั่งน้ำอสุจิ มีประจำเดือน ฯลฯ (ลนต 11-15)
ส่วนพิธีล้างซึ่งแสดงถึงการกลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาปนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย เพราะในฐานะที่เป็นลูกหลานของอับราฮัม อย่างไรเสียพวกเขาก็ย่อมได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นกรรมสิทธิ์แน่นอนอยู่แล้ว
มีแต่คนต่างศาสนาที่ต้องการกลับใจมานับถือศาสนายิวเท่านั้นที่ต้องการพิธีล้างเช่นนี้ พวกเขาไม่บริสุทธิ์เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยิว ด้วยเหตุนี้พวกเข้าต้องทำพิธีล้าง เข้าสุหนัต และถวายเครื่องบูชาเพื่อชดเชยบาปของพวกเขา
เมื่อยอห์น ในฐานะประกาศกคนสุดท้ายของพระธรรมเก่า (ลก 7:26) เทศน์สอนและทำพิธีล้างให้แก่ชาวยิว ท่านกำลังประกาศว่า เชื้อชาติไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการเป็นประชากรของพระเจ้าอีกต่อไป
ไม่ว่าชนชาติยิวหรือชนชาติใดก็ตาม สามารถเป็นประชากรของพระเจ้าได้ทัดเทียมกันหมด หากพวกเขา “กลับใจ” และดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน
เพื่อจะบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ชาวยูเดียและชาวเยรูซาเล็มไปรับพิธีล้างจากยอห์นที่แม่น้ำจอร์แดน และตามด้วยการสารภาพบาปของตน (ข้อ 5)
ในการ “กลับใจ” มาหาพระเจ้า เราจำเป็นต้องสารภาพบาปต่อ 3 บุคคลต่างกัน กล่าวคือ
1. ตนเอง การสารภาพบาปต่อตนเองคือย่างก้าวแรกสู่พระหรรษทานแห่งการคืนดีกับพระเจ้า
แต่น่าเสียดายที่ธรรมชาติประการหนึ่งของเรามนุษย์คือ “ชอบปิดตาเพื่อจะได้ไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองไม่อยากจะเห็น” และสิ่งที่ไม่มีใครในโลกนี้อยากเห็นก็คือบาปและความผิดพลาดของตนเอง
ในโลกนี้จึงไม่มีอะไรจะยากเท่ากับการ “เผชิญหน้ากับตัวเอง” !
แต่หาก “การกลับใจ” (metanoia) หมายถึง “การหันกลับหรือการเปลี่ยนจิตใจ อันส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งความคิดและพฤติกรรม” แล้วไซร้ ถ้าเราไม่เผชิญหน้ากับตัวเองเพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่ ณ จุดใดแล้ว เราจะหันกลับไปสู่ทิศทางใดกัน ? เราจะเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมจากอะไร และไปสู่อะไรกัน ?
ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ จุดเปลี่ยนของเรื่องก็อยู่ตรงที่บุตรคนเล็กรู้สำนึกและคิดว่า “ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด”” (ลก 15:18-19)
และผลลัพธ์ที่ตามมาจากการ “กลับไปหาพ่อ” นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่บุตรคนเล็กได้คาดคิดไว้มากมายนัก !
2. คู่กรณี คงไม่มีประโยชน์มากนักหากเราจะบอกพระเจ้าว่า “ลูกเสียใจ” จนกว่าเราจะ “ขอโทษ” บุคคลที่เราได้ล่วงเกิน ได้ทำร้าย หรือได้ทำให้เสียใจเสียก่อน
จำเป็นที่เราจะต้องกำจัดสิ่งกีดขวางระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองออกไปให้หมด ก่อนที่พระเจ้าจะยกสิ่งกีดขวางระหว่างเรากับพระองค์ออกไป
แต่น่าเศร้าใจที่หลายครั้ง ดูเหมือนการสารภาพบาปต่อพระเจ้าจะง่ายกว่าการสารภาพผิดต่อคู่กรณีเสียอีก !
3. พระเจ้า การสารภาพบาปต่อพระเจ้าคือการจบสิ้นของความ “หยิ่งจองหอง” และเป็นการเริ่มต้นของการ “ให้อภัย”
เมื่อใดก็ตามที่เรากล่าวว่า “ลูกได้ทำบาป” เมื่อนั้นเราเปิดโอกาสให้พระเจ้าตรัสว่า “เราให้อภัย” !
แล้วทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้พระเจ้าบ้างล่ะ ?
ชาวแคว้นยูเดียและชาวกรุงเยรูซาเล็มเตรียมรับเสด็จพระเมสสิยาห์ด้วยการรับพิธีล้าง เพื่อแสดงถึง “การกลับใจ” และด้วย “การสารภาพบาป”
เราจะเตรียมรับเสด็จพระกุมารเจ้าอย่างไร ?