แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 6:17, 20-26
(17)พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีศิษย์กลุ่มใหญ่และประชาชนจำนวนมากจากทั่วแคว้นยูเดีย จากกรุงเยรูซาเล็ม จากเมืองไทระ และจากเมืองไซดอนซึ่งอยู่ริมทะเล 
    (20)พระองค์ทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ตรัสว่า
    ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน
    (21)ท่านที่หิวในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะอิ่ม
    ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะหัวเราะ
    (22)ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่าน ดูหมิ่นท่าน  รังเกียจนามของท่านประหนึ่งนามชั่วร้ายเพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์  (23)จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์ บรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกมาแล้ว
    (24)วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว
    (25)วิบัติจงเกิดกับท่านที่อิ่มเวลานี้ เพราะท่านจะเป็นทุกข์และร้องไห้
    (26)วิบัติจงเกิดกับท่านเมื่อทุกคนกล่าวยกย่องท่าน เพราะบรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกเทียมมาแล้ว


    หลังจากเสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาตลอดทั้งคืน และทรงคัดเลือกอัครสาวกสิบสองคนแล้ว  พระเยซูเจ้าได้เสด็จลงมาสู่ที่ราบเพื่อเทศน์สอนและรักษาโรคแก่บรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมากที่มาจากเมืองต่าง ๆ ทั่วแคว้นยูเดีย รวมถึงเมืองไทระและไซดอนซึ่งเป็นดินแดนของชนต่างชาติด้วย (ลก 6:12-19)
    ณ ที่ราบนี้เอง พระองค์ได้ประทานคำสอนสำคัญที่ลูกาเรียกว่า “บทเทศน์บนที่ราบ” หรือที่มัทธิวเรียกว่า “บทเทศน์บนภูเขา” (มธ 5-7)
 ลูกาบรรยายว่าก่อนเริ่มต้นคำสอนอันสำคัญนี้ “พระองค์ทรงทอดพระเนตรบรรดาศิษย์” โดยไม่ได้เอ่ยถึงประชาชนจำนวนมากซึ่งพากันมาจากเมืองต่าง ๆ เลย ! (เทียบข้อ 20)
    แสดงว่า พระองค์ต้องการพูดกับ “ศิษย์” เท่านั้น เพราะทรงเล็งเห็นว่าผู้ที่จะเข้าใจคำสอนสำคัญได้ต้องเป็น “ศิษย์” ของพระองค์สถานเดียว
    “ศิษย์” คือ “ผู้เรียนรู้”
    ดังนั้น ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจึงได้แก่ ผู้ที่หมั่นแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพระองค์ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นทุกวันจนตลอดชีวิต !!
    สำหรับผู้ที่รู้จักหรือ “รู้เรื่อง” เกี่ยวกับพระองค์เพียงผิวเผินย่อมยากที่จะเข้าใจคำสอนเหล่านี้ได้ และถึงแม้เข้าใจได้ก็ยากที่จะยอมรับได้ !
    เพราะ ไม่มีปราชญ์หรือผู้รู้ท่านใดเคยสอนเช่นนี้มาก่อน...
อีกทั้งคำสอนของพระองค์ยังเป็นการ “ปฏิวัติ” ค่านิยมของโลกอีกด้วย !!!
    พระองค์สอนว่า “คนยากจน คนหิวโหย คนร้องไห้ และคนที่ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็เป็นสุขได้” (ข้อ 20-22)
    ตรงกันข้าม “คนร่ำรวย คนอิ่มหนำ และคนที่ไดรับการยกย่อง กลับได้รับวิบัติ” (ข้อ 24-26)
    เห็นได้ชัดว่านี่คือการปฏิวัติ เพราะ “คนที่โลกถือว่าเคราะห์ร้าย พระองค์ถือว่ามีความสุข  ส่วนคนที่โลกถือว่ามีความสุข พระองค์ถือว่าเคราะห์ร้าย”....
    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระองค์ทรงทำให้ค่านิยมของโลกมาถึงจุดจบ ด้วยการเสนอ “ค่านิยมใหม่” ที่ดีกว่าและคงอยู่ชั่วนิรันดร
    สมดังคำของประกาศกอิสยาห์ที่ทำนายไว้ตั้งแต่ 700 ปีก่อนว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ ‘ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน’  ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ และ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:18-19)
    บางคนอาจสงสัยว่าค่านิยมใหม่ของพระเยซูเจ้า “ดีกว่า” ค่านิยมของโลกอย่างไร ???
    คำตอบแฝงอยู่ในข้อ 24 ที่ว่า “วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว”
    คำว่า “ได้รับ” ตรงกับภาษากรีก apechō (อาแพโค) ซึ่งแปลว่า “ได้รับเต็มจำนวนแล้ว” (receive in full) หรือ “ได้รับครบถ้วนแล้ว”
    หมายความว่า ถ้าเรามุ่งมั่นและทุ่มเทพลังกายพลังใจทั้งหมดเพื่อให้ได้สิ่งที่โลกถือว่าดี เราย่อมได้สิ่งนั้นแน่...
และนั่นคือทั้งหมดที่เราได้ !
เพราะเราได้รับผลตอบแทนในโลกนี้ “ครบเต็มจำนวน” ตามที่เรามุ่งหวังแล้ว !!
ตรงกันข้าม หากเรามุ่งมั่นและเพียรพยายามสุดกำลังความสามารถที่จะดำเนินชีวิตตาม “ค่านิยมใหม่” ของพระเยซูเจ้า  เราอาจถูกชาวโลกดูหมิ่นดูแคลนว่าโง่เขลา โชคร้าย ไส้แห้ง และน้ำตาตก....
แต่จริง ๆ แล้ว เรามีความสุขทันทีตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว !
และที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกคือพระดำรัสที่ว่า “จงชื่นชมเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์” (ข้อ 23)
เท่ากับว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตตาม “ค่านิยมใหม่” นอกจากจะได้รับความสุขในโลกนี้แล้ว ยังจะได้รับบำเหน็จรางวัลยิ่งใหญ่ในโลกหน้าอีกด้วย
แถมยังเป็นความสุข “แท้จริง” ที่ไม่ผันแปรไปตามโชคหรือโอกาสดังเช่นความสุข “จอมปลอม” ที่โลกหยิบยื่นให้
สาเหตุที่ทำให้การปฏิบัติตาม “ค่านิยมใหม่” ก่อให้เกิด “ความสุขอย่างแท้จริง” เป็นเพราะว่าเราได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ดังที่เราวอนขอทุกครั้งเวลาสวดบทข้าแต่พระบิดาฯ ว่า “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)
 การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็คือการ “คิดเหมือนพระเจ้า ปรารถนาเหมือนพระเจ้า และดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้า”
ย้อนกลับไปที่ธรรมชาติของมนุษย์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต่างต้องการ “สิ่งที่ดีที่สุด” ด้วยกันทั้งนั้น เช่น เวลาซื้อผักเราจะพยายามเลือกต้นที่ดีที่สุด สดที่สุด หรือเวลาซื้อปูก็จะเลือกตัวที่เนื้อแน่นที่สุด เป็นต้น
ใครได้สิ่งที่ดีมาก สดมาก หรือแน่นมาก ก็ย่อมพึงพอใจมากและมีความสุขมาก !!!
แล้วในโลกนี้ยังจะมีสิ่งใดดี และน่าปรารถนามากเท่าการเป็น “เหมือนพระเจ้า” อีกเล่า !?!
แม้แต่การเป็น “บุตร” ก็ยังมิอาจเทียบเคียงกับการเป็น “เหมือนพระเจ้า” ได้เลย !
    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามค่านิยมใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและนำความสุขแท้จริงที่สุดมาสู่เรามนุษย์ทุกคน !!!!
    แม้การอยู่ในสวนเอเดนของอาดัมและเอวาก่อนทำบาปกำเนิดจะให้ความสุขที่เราพากันใฝ่ฝันในระดับหนึ่ง  แต่ก็ไม่อาจเทียบชั้นกับ “ความสุข” และ “ศักดิ์ศรี” ที่พระเจ้าทรงสร้างและทรงโปรดให้เราเป็นเหมือนพระองค์ได้เลย (ปฐก 1:26) !!!
    หากเหตุผลนี้ฟังยาก ให้เราลองพิจารณาอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ก็ได้
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน” (ข้อ 20)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ คนยากจนหมายถึงใคร ?
    แน่นอนว่า คนยากจน ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่มี “จิตใจ” ยากจนล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว และในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้หมายถึงคนที่ไม่มี “ทรัพย์สมบัติ” ใด ๆ ในโลกนี้เลย
    เมื่อลูกานำ “คนยากจน” ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามคือ “คนร่ำรวย”  เราจึงอธิบายความหมายของคนยากจนและคนร่ำรวยได้ดังนี้
    “คนร่ำรวย” คือคนที่รวยทรัพย์สมบัติจริง ๆ ตามตัวอักษร จนกระทั่งสามารถ “แสวงหาความเบิกบานใจได้ครบเต็มจำนวน” (ข้อ 24)
เพราะฉะนั้นเมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย” (ข้อ 24) จึงไม่ได้หมายความว่าพระองค์ถือเอา “การมี” ทรัพย์สมบัติมากเป็น “วิบัติ”...
แต่ “วิบัติ” อยู่ที่ “การใช้” ทรัพย์สมบัติที่มีเพื่อความเบิกบานใจ เพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อปรนเปรอเนื้อหนังของตนเองต่างหาก
เพราะการใช้ทรัพย์สมบัติเพื่อความสุขของตนเองเช่นนี้ มีแต่จะทำให้ท่าทีของเราที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ไขว้เขวไป
แทนที่จะวางใจในพระเจ้าและเล็งเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์  เรากลับถูกหลอกให้วางใจในตัวเองโดยไม่พึ่งพาพระเจ้า และหลงผิดคิดว่าทรัพย์สมบัติมีไว้เพื่อความสุขและความพึงพอใจของตนเองในโลกนี้ โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของผู้อื่นแม้แต่น้อย
    เพราะฉะนั้น “คนยากจน” จึงหมายถึงคนที่เป็นอิสระจาก “กับดัก” ของความร่ำรวยที่มักจำกัดทัศนคติและมุมมองของเราให้อยู่กับตัวเองและเฉพาะภายในโลกนี้เท่านั้น
    จึงไม่แปลกหากเราจะเห็นคนร่ำรวยคิดและพยายามหาหนทางทำให้ตัวเองร่ำรวยมากยิ่งขึ้น เพราะว่าทัศนคติของพวกเขาคือ “เงิน” สามารถบันดาลได้ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่ใหญ่โต รถหรูหราหลายคัน มือถือรุ่นใหม่หลายเครื่อง หรือเสื้อผ้าเครื่องประดับชั้นนำหลายตู้....
    ขอให้เราหยุดและคิดสักนิดเถิดว่า...
การดูแลทำความสะอาดบ้านช่องใหญ่โตมันสนุกและมีความสุขมากนักหรือ ?
        การมีรถยนต์หรูตกรุ่นตกราคาลงทุกวัน วันละหลายคัน มันน่าชื่นใจนักหรือ ?
        การนั่งย้ายซิมการ์ดจากมือถือเครื่องนี้ไปใส่เครื่องโน้นมันสะใจดีใช่ไหม ?
        การนั่งปวดหัว คิดไม่ตกว่าวันนี้จะแต่งกายด้วยชุดใดดี นี่หรือคือความสุข ?
    ตรงกันข้าม “คนยากจน” ซึ่งเป็นอิสระจาก “กับดัก” ของความร่ำรวย ย่อมรู้จักคำว่า “พอเพียง” และรู้ด้วยว่า “พอคือพอ” หรือ “Enough is Enough”
    และคนที่รู้จัก “พอเพียง” เช่นนี้เองที่กลับกลายเป็นคนร่ำรวยที่สุดและมีความสุขมากที่สุด เพราะเขาไม่เพียง “สุขแล้ว-พอแล้ว” เท่านั้น แต่ยังมีมาก “เกินพอ” เสียอีกมาตรแม้นว่าเขามีเงินเพิ่มขึ้นมาแม้เพียงบาทเดียว
    แถมยังนำส่วนที่เหลือเกินพอนี้ไปช่วยเหลือผู้ขัดสนได้อีกด้วย
    เรียกว่า “ค่านิยมใหม่” ของพระเยซูเจ้าทำให้เรา “สุขทั้งกาย และสุขทั้งใจ”
“สุขกาย” เพราะไม่ต้องทนทุกข์ นั่งคิด นั่งเครียด กระหายหาทรัพย์สินเงินทองโดยไม่มีทีท่าว่าจะพอและได้พักสักที !
“สุขใจ” เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นของเราทันทีที่เราเป็นอิสระจากกับดักของความร่ำรวย แล้วสามารถคิดเหมือนพระเจ้า และปรารถนาเหมือนพระเจ้าได้ (เทียบข้อ 20) !!

    ทุกวันนี้ พระเยซูเจ้ายังเฝ้าเชื้อเชิญและท้าทายเราทุกคนให้มุ่งหน้าสู่ “ความสุขแท้จริง”ตามค่านิยมและหนทางของพระองค์
     หากเราเลือกค่านิยมของโลกเราก็ละทิ้งค่านิยมของพระองค์  และในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกค่านิยมของพระองค์เราก็ละทิ้งค่านิยมของโลก   
    ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเลือกค่านิยมของใคร ?