แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ลูกา 9:28ข-36
    (28)พระองค์ทรงพาเปโตร ยอห์น และยากอบ ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา  (29)ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไปและฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า  (30)ทันใดนั้น  บุรุษสองคนคือโมเสสและประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์  (31)ทั้งสองคนปรากฏมาในสิริรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม  (32)เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก เมื่อตื่นขึ้นก็เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์  (33)ขณะที่บุรุษทั้งสองคนกำลังจะจากพระเยซูเจ้าไป เปโตรทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร  (34)ขณะที่เขากำลังพูดอยู่นั้น เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ เมื่ออยู่ในเมฆ เขากลัวมาก  (35)เสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”  (36)เมื่อสิ้นเสียงนั้นแล้ว ศิษย์ทั้งสามก็เห็นพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว  เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ได้บอกเรื่องที่เห็นให้ผู้ใดรู้เลยในเวลานั้น


    เมื่อครั้งที่ปีศาจมาทดลองพระเยซูเจ้าให้เลือกวิธีการกอบกู้มนุษยชาติแบบ “ประชานิยม” เช่น แจกสิ่งของเพื่อติดสินบนมนุษย์  แสดงอภินิหารให้มนุษย์เชื่อ  หรือแม้แต่ยอมลดมาตรฐานลงมาประนีประนอมกับโลกนั้น
    นอกจากจะทรงปฏิเสธวิธีการดังกล่าวพร้อมกับขับไล่ปีศาจไปให้พ้นแล้ว  พระองค์ยังตัดสินพระทัยเด็ดขาดเลือกหนทางของ “ไม้กางเขน” เพื่อนำพามนุษย์กลับไปหาพระบิดาเจ้า
    ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป หลังจากเปโตรประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” แล้ว (ลก 9:20)  พระองค์ทรงทำให้หนทางของ “ไม้กางเขน” ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการทำนายถึงพระทรมานเป็นครั้งแรกว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต  แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม” (ลก 9:22)

    แต่คำถามในใจของพระองค์ขณะนี้คือ “ทรงเลือกถูกทางแน่แล้วหรือ ?” และมาตรแม้นว่าทรงเลือกถูกทางแล้วแต่ “จะกล้าทำจริงหรือ ?”
    ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงพาเปโตร ยอห์น และยากอบขึ้นภูเขา “เพื่ออธิษฐานภาวนา" (ลก 9:28) ขอความเห็นชอบและพละกำลังจากพระบิดาเจ้า
    ณ ภูเขาแห่งการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองนี้เองที่พระองค์ทรงได้รับคำตอบ และเมื่อได้รับคำตอบแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้อีกที่สามารถฉุดรั้งพระองค์จากการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดาเจ้าได้ เพราะ “พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51)

    เกิดอะไรขึ้นบนภูเขาแห่งนี้หรือ ?.....

    นอกจากลักษณะของพระพักตร์จะเปลี่ยนไปและฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้าแล้ว ลูกาเล่าว่า “บุรุษสองคนคือโมเสสและประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์” (ลก 9:30)
    โมเสสเป็นเสมือนผู้ก่อตั้งชาติอิสราเอล และเป็นผู้บัญญัติกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนเอลียาห์เป็นประกาศกองค์แรกที่ชาวอิสราเอลถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด
    สองผู้ยิ่งใหญ่มาสนทนากับพระองค์ !
    เนื้อหาของการสนทนาคือเรื่อง “การจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31)
“การจากไป” ตรงกับภาษากรีก exodos (เอกซ์ซอดอส) และตรงกับภาษาอังกฤษ exodus
    คำ exodus มีความหมายลึกซึ้งทางศาสนา เพราะเป็นการเดินทางผจญภัยของชนชาติหนึ่งที่มอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า แล้วออกเดินทางจากแผ่นดินอียิปต์ที่อุดมสมบูรณ์ มุ่งหน้าสู่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทรายที่ไม่มีใครรู้จัก  แต่สุดท้ายแล้วพระองค์ทรงนำพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา
    พระเยซูเจ้ากำลังทำ exodus โดยมุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มและไม้กางเขน !!!
     แม้จะมีกางเขนรออยู่เบื้องหน้า แต่การสนทนากับโมเสสและเอลียาห์ ทำให้พระองค์มั่นพระทัยว่า หลัง exodus ของชาวอิสราเอลยังมีแผ่นดินแห่งพระสัญญาฉันใด  หลังความตายบนไม้กางเขน ก็มีความรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพรอคอยพระองค์อยู่ฉันนั้น
    เท่ากับว่าบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล ได้ยืนยันกับพระองค์ว่า “ทรงมาถูกทางแล้ว” !!

    และขณะที่เปโตรกำลังทูลเสนอพระเยซูเจ้าให้สร้างเพิงสามหลังนั้น “เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้” (ลก 9:34)
    พร้อมกับมีเสียงดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรรจงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35)
    สำหรับชาวยิว “เมฆ” หมายถึง “พระเจ้า” !
     ดังที่หนังสืออพยพเล่าไว้ว่าระหว่างเดินทางออกจากอียิปต์ “ในเวลากลางวัน พระยาห์เวห์เสด็จนำหน้าเขาเหมือนเสาเมฆเพื่อชี้ทาง” (อพย 13:21)
 “พระยาห์เวห์เสด็จมาในเมฆ” เพื่อประทานศิลาจารึกพระบัญญัติเป็นครั้งที่สอง (อพย 34:5)  และเสด็จมาที่สักการสถานโดย “เมฆปกคลุมกระโจมนัดพบ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มกระโจมที่ประทับ” (อพย 40:34)
ส่วนเนื้อหาของเสียงจากเมฆช่างคล้ายคลึงกับเสียงจากสวรรค์เมื่อคราวที่ทรงรับพิธีล้าง ณ แม่น้ำจอร์แดนเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” (ลก 3:22)
    ต่างกันก็ตรงที่ครั้งนี้ เสียงนั้นตรัสกับศิษย์ทั้ง 3 คน ไม่ใช่กับพระเยซูเจ้า
    และคำว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา” ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ผู้ที่เราได้เลือกสรร” ซึ่งทำให้ความหมายของ “ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์” ตามคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น (อสย 42:1)
    และที่สำคัญ คำว่า “เป็นที่โปรดปรานของเรา” ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “จงฟังท่านเถิด”
    แล้วใครล่ะคือผู้ที่ต้องฟังถ้าไม่ใช่ “บรรดาศิษย์” ?
สิ่งที่พระเจ้าทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ “เชื่อฟัง” ก็คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรง “เลือก” นั่นคือ “หนทางของไม้กางเขน” !!!
    บัดนี้คำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ได้รับการตอบสนองแล้ว  พระองค์มั่นพระทัยเต็มร้อยว่า “กางเขน” คือพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าจริง ๆ !!!

    มีข้อสังเกตว่าเหตุการณ์เหล่านี้คงเกิดขึ้นเวลากลางคืน เพราะว่า “เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก” (ลก 9:32)
    แต่เมื่อ “ตื่นขึ้น” พวกเขา “ก็เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์” (ลก 9:32)
    หลายครั้งเราพลาดที่จะเห็นสิ่งดี ๆ เพราะชีวิตของเรามัวแต่ "หลับ” อยู่ !!!
     สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราง่วงเหงาและหลับอยู่ มักได้แก่
    1.    อคติ ทำให้เรายึดมั่นอยู่กับบางความคิด แล้วปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ความคิดใหม่ ๆ  เปรียบได้กับคนหลับสนิทที่ไม่คิดจะตื่น
    2.    ความเฉื่อยชา ทำให้เราไม่ยอมคิด ไม่ยอมไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ ให้แจ่มแจ้งทะลุปรุโปร่ง  บางคนเฉื่อยชาหนักถึงขนาดไม่กล้าเผชิญหน้ากับคำถามหรือความสงสัยที่ค้างคาอยู่ในใจ เช่น ชีวิตนี้มีค่าเพียงกิน ขับถ่าย ทำงาน เสพกาม นอน แล้วก็สิ้นสุดลงที่ความตายเท่านั้นเองหรือ ?  หรือพระเยซูเจ้าเกี่ยวข้องกับชีวิตของฉันอย่างไร ?  นี่ก็ถือว่าหลับสนิทเหมือนกัน
    3.    รักสบาย ปกติคนเรามีกลไกพิเศษสำหรับป้องกันสิ่งที่ไม่ชอบมิให้เข้ามาใกล้ตัว เช่น บางคนเข้าใจวิชายาก ๆ ได้เพราะชอบ แต่คำตำหนิง่าย ๆ และชัดเจนกลับมีกลไกมาทำให้ฟังไม่ได้ยิน หรือได้ยินก็ไม่เข้าใจ
     คนที่รักสบายจะใช้บริการของกลไกนี้เป็นประจำ เพราะหากจริงจังกับพระเยซูเจ้าแล้ว ไหนจะต้องกลับใจ ไหนจะต้องให้อภัยคนที่ไม่ชอบขี้หน้า ไหนจะต้องแบ่งปันซึ่งกันและกัน ไหนจะต้องสละความสุขส่วนตน ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ชีวิตของตนไม่สะดวกสบาย เลยตัดสินใจหลับยาวซะเลย
    อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายโอกาสที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อ “ปลุก” เราให้ตื่นขึ้นดังเช่น
     1.    ความทุกข์โศกเศร้า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม อาจช่วยเขย่าหัวใจของเราให้ตื่นขึ้นได้ และน้ำตาจะช่วยให้เรามองเห็นประกายแห่งความรุ่งโรจน์ที่รอเราอยู่หลังมรสุมร้ายพัดผ่านไปแล้ว
2.    ความรัก ที่ทำให้ “เธอคิดถึงผม และผมคิดถึงเธอ” จะช่วยให้เราหลุดจากโลกของตัวเองแล้วตื่นขึ้นมา “คิดถึงผู้อื่น”
     ความรักช่วยให้เรามองเห็นโลกกว้างกว่าและไกลกว่าชนิดที่ “คนเห็นแก่ตัว” ไม่มีทางได้เห็น
3.    ที่สุด เมื่อเรามี “ความต้องการพระเจ้า” เพราะไม่อาจเผชิญหน้ากับปัญหามืดแปดด้านได้ตามลำพัง หรือเพราะถูกทดลองหนักจนเกินกำลัง  เมื่อนั้นเราจะตื่นขึ้นและเรียกหาพระเจ้าหรืออย่างน้อยก็อุทานว่า “คุณพระช่วย !”

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดให้ลูกตื่นเฝ้าพระองค์อยู่เสมอเทอญ !!!