อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี ลูกา 10:25-37
(25)ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” (26) พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” (27) เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (28) พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้ แล้วจะได้ชีวิต”
(29)ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้องจึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” (30)พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขา แล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต (31)สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง (32)ชาวเลวีคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน (33)แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้ ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร (34)จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตนพาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา (35)วันรุ่งขึ้นชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้กล่าวว่า “ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา” (36)ท่านคิดว่าในสามคนนี้ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น” (37)เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”
เส้นทางจากกรุงเยรูซาเล็มซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร สู่เมืองเยรีโคซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 400 เมตร ได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดเส้นทางหนึ่งในปาเลสไตน์ เหตุว่าระยะทางเพียง 32 กิโลเมตร แต่ถนนกลับลาดชันต่างระดับกันถึง 1,100 เมตร
นอกจากถนนจะลาดชันแล้ว หนทางยังคับแคบ เต็มไปด้วยก้อนหินขรุขระ และมีทางเลี้ยวหักมุมมากมาย เหมาะแก่การซุ่มจู่โจมของพวกโจรเป็นอย่างยิ่ง
ในศตวรรษที่ 5 นักบุญเยโรมถึงกับเรียกเส้นทางสายนี้ว่า “ถนนแดง” หรือ “ถนนเลือด”
แม้ล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ผู้เดินทางยังต้องจ่ายเงินให้ชาวอาหรับพื้นเมืองเพื่อแลกกับความปลอดภัยในการใช้เส้นทางสายนี้
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน ยังมีพวกอาบูจิลดาห์คอยหยุดรถและปล้นคนเดินทางอยู่เป็นอาจิณ เพราะกว่าตำรวจจะมาถึงพวกเขาก็หนีขึ้นภูเขาไปเรียบร้อยแล้ว
นี่คือความเหนือชั้นของพระเยซูเจ้าที่สามารถนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำบนเส้นทางระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับเมืองเยริโค มาประยุกต์เป็นคำสอนและหลักการอันลึกซึ้ง !!!
ในอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” มีตัวละครสำคัญ 4 คนด้วยกัน กล่าวคือ
1. ชายที่ถูกโจรปล้น เขามีนิสัยมุทะลุ บ้าระห่ำ และขาดความยั้งคิดอย่างยิ่งที่อาจหาญเดินทางพร้อมสินค้าหรือของมีค่าผ่านเส้นทางนี้ตามลำพัง เพราะปกติชาวยิวจะรอคอยจนมีคนรู้จักหรือพ่อค้าด้วยกันเองจำนวนมากพอ แล้วออกเดินทางพร้อมกันเป็นกองคาราวาน
งานนี้เขาจึงต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ ต่อชะตากรรมอันเลวร้ายที่ถูกโจรปล้นและทำร้ายจนอาการปางตาย จะเที่ยวโยนความผิดให้โจรหรือโทษเคราะห์กรรมอื่นใดไม่ได้
2. สมณะ เขารีบเดินหลบไปอีกฟากหนึ่งโดยไม่แตะต้องชายที่ถูกโจรปล้นเลย อาจเป็นไปได้ว่าเขากำลังคิดถึงธรรมบัญญัติที่ว่า “ผู้ที่แตะต้องศพของผู้ใดก็ตามต้องเป็นมลทินอยู่เจ็ดวัน” (กดว 19:11) หากชายผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว หรือเสียชีวิตขณะให้ความช่วยเหลือ การสัมผัสตัวเขาย่อมทำให้ตนเองมีมลทิน และหมดสิทธิประกอบพิธีกรรมหรือถวายเครื่องบูชาใด ๆ ในพระวิหารไปอีกเจ็ดวัน
เขาไม่ยอมเสี่ยงเสียสิทธินี้ เพราะพระวิหารและพิธีกรรมมีความหมายต่อเขามากกว่าความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ !
สำหรับเขา พิธีการอยู่เหนือความรัก !!
3. ชาวเลวี ดูเหมือนจะเข้าใกล้ชายเคราะห์ร้ายมากกว่าสมณะ แต่ก็เดินผ่านไปด้วยเกรงว่าชายผู้นั้นอาจเป็น “นกต่อ” แกล้งบาดเจ็บล่อให้เหยื่อหลงหยุด เพื่อให้พรรคพวกที่แอบซุ่มอยู่เข้าจู่โจมทำร้ายและปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมกันมากในหมู่โจรสมัยนั้น
สำหรับชาวเลวีผู้นี้ คติพจน์ประจำตัวของเขาคือ “Safety First” หรือ “ปลอดภัยไว้ก่อน” เขาไม่พร้อมที่จะเสี่ยงหรือ “เปลืองตัว” เพื่อช่วยเหลือผู้ใดทั้งสิ้น !
4. ชาวสะมาเรีย มักถูกชาวยิวตราหน้าว่าเป็น “คนเลว” เพราะเชื่อผิด สอนผิด และปฏิบัติผิดแผกจากบัญญัติของโมเสส แม้พระเยซูเจ้าเองยังถูกพวกยิวกล่าวหาว่า “เป็นชาวสะมาเรียและถูกปีศาจสิง” (ยน 8:48)
ชาวสะมาเรียผู้นี้จึงอาจเป็นเพียงชาวยิวคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “คนเลว” ไม่ใช่ชาวสะมาเรียโดยกำเนิด หาไม่แล้วเขาคงไม่สามารถติดต่อค้าขายกับชาวยิวและแวะพักแรมที่โรงแรมแห่งนี้เป็นประจำ จนกระทั่งรู้จักกันดีกับเจ้าของ
แม้จะถูกชาวยิวโดยเฉพาะพวกฟาริสีดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นคนเลวและไร้ค่าเพียงใดก็ตาม แต่เขายังมี “สิ่งดี” ที่อาจทำให้ผู้มีหน้ามีตาในสังคมหลายคนต้องอับอาย
4.1 เขาซื่อสัตย์ เจ้าของโรงแรมจึงเชื่อใจและให้เครดิตเขาสูงมาก
4.2 เขาพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น ความรักของพระเจ้าดำรงอยู่ในหัวใจของเขา แม้บางครั้งเขาอาจเชื่อหรือปฏิบัติผิดไปบ้างก็ตาม
ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะพบเห็นผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็นคนดีมัวสลวนอยู่กับตำรา หรือชอบอ้างข้อความเชื่อและบทบัญญัติมากกว่าการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเลวกลับรักและมีน้ำใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์มากกว่าเสียอีก !
ดังนั้น เพื่อไม่ให้หลงทางไปจากพระเยซูเจ้า เราจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่าในบั้นปลายชีวิต พระเจ้าทรงตัดสิน ไม่ใช่จากสิ่งที่เรารู้หรือเชื่อ แต่จากสิ่งที่เราได้กระทำตลอดชีวิตของเรา !
เมื่อนักกฎหมายผู้มีเจตนาร้ายทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” พระองค์ทรงถามกลับว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” (ลก 10:26-27)
สิ่งที่ชาวยิวผู้เคร่งครัดต้องอ่านทุกวันคือธรรมบัญญัติที่คัดมาจากพระคัมภีร์สี่ตอนได้แก่
1. อพยพ บทที่ 13 ข้อ 1–10 ว่าด้วยการเฉลิมฉลองเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ เพื่อระลึกถึงสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำเพื่อนำชาวยิวออกจากอียิปต์
2. อพยพ บทที่ 13 ข้อ 11–16 ว่าด้วยการถวายบุตรคนแรกและสัตว์ตัวแรกแด่พระยาห์เวห์ เพราะพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์ได้ประหารบุตรชายคนแรกของชาวอียิปต์ เพื่อทำให้ฟาโรห์ยอมปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นทาส
3. เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 6 ข้อ 4–9 กล่าวถึงพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้า จึงต้องรักพระองค์สุดจิตใจ สุดวิญญาณ และสุดกำลังของเรา
4. เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 11 ข้อ 13–20 กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ชาวยิวจะได้รับหากรักและรับใช้พระยาห์เวห์โดยไม่หันไปนับถือพระเท็จเทียม รวมถึงคำสั่งให้ชาวยิวพร่ำสอนเรื่องเหล่านี้แก่บรรดาบุตรหลานตลอดไป
ข้อความเหล่านี้ได้รับการจารึกลงบนม้วนกระดาษ ใส่ไว้ในกล่องหนังเล็ก ๆ สองใบ ใบหนึ่งห้อยไว้ที่ข้อมือ อีกใบหนึ่งคาดไว้ที่หน้าผาก ตามที่โมเสสสั่ง (ฉธบ 11:18)
คำตอบของนักกฎหมายที่ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน” คือส่วนหนึ่งของข้อความในกล่องหนัง ซึ่งถือว่าสุดยอดแล้ว (ฉธบ 6:4 และ 11:13)
แต่เพื่อความแน่นอนสูงสุด เขาจึงเสริมข้อความจากหนังสือเลวีนิติเข้าไปอีกตอนหนึ่งว่า “ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ลนต 19:18)
พร้อมกันนั้น เขาได้ทูลถามพระองค์เพื่อความถูกต้องว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” (ลก 10:30)
อันที่จริง คำถามนี้เป็นปัญหาของชาวยิวจริง ๆ เพราะพวกเขาถือว่า “เพื่อนมนุษย์” ได้แก่ชาวยิวด้วยกันเองเท่านั้น รับบีบางคนถึงกับห้ามช่วยเหลือหญิงต่างชาติใกล้คลอดที่กำลังทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะนั่นเท่ากับช่วยเพิ่มคนต่างศาสนาให้แก่โลกอีกคนหนึ่ง
แต่สำหรับพระเยซูเจ้า “เพื่อนมนุษย์” ของเราคือ
1. ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ตัวเขาเองจะเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมาดังเช่นชายที่ถูกโจรปล้นก็ตาม
2. ทุกคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวสะมาเรีย หรือชนชาติและศาสนาใดก็ตาม ความช่วยเหลือของเราต้องแผ่กว้างดุจดังความรักของพระเจ้า
อนึ่ง ความช่วยเหลือของเราต้อง “เป็นรูปธรรม” ไม่ใช่แค่แสดงความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น เหมือนชาวสะมาเรียที่ไม่เพียงรู้สึกสงสาร แต่ยังเดินเข้าไปหาคนที่เป็นทั้งศัตรูและยังบ้าระห่ำ ขาดความยั้งคิด เพื่อเทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ พร้อมกับนำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตนพาไปถึงโรงแรมและช่วยดูแลเขา เท่านี้ยังไม่พอ วันรุ่งขึ้นเขายังมอบเงินสองเหรียญแก่เจ้าของโรงแรมกล่าวว่า “ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา” (ลก 10:35)
เมื่อได้ฟังอุปมาของพระเยซูเจ้า นักกฎหมายผู้นั้นตระหนักได้ทันทีว่า “เพื่อนมนุษย์” ของคนที่ถูกโจรปล้นคือ “คนที่แสดงความเมตตา” ดุจเดียวกับชาวสะมาเรียผู้ใจดีคนนี้
ด้วยพระสุรเสียงที่หนักแน่นแต่แฝงด้วยความเมตตา พระองค์ตรัสว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” (ลก 10:37)
“ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” !
“ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” !!
“ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” !!!