แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 14:1, 7-14
(1)วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีผู้หนึ่ง ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมอง
(7)พระเยซูเจ้าทรงสังเกตเห็นผู้รับเชิญต่างเลือกที่นั่งที่มีเกียรติ จึงตรัสเป็นอุปมากับเขาว่า  (8)‘เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ เพราะถ้ามีคนสำคัญกว่าท่านได้รับเชิญมาด้วย (9) เจ้าภาพที่เชิญท่านและเชิญเขาจะมาบอกท่านว่า “จงให้ที่นั่งแก่ผู้นี้เถิด” แล้วท่านจะต้องอับอายไปนั่งที่สุดท้าย (10) แต่เมื่อท่านได้รับเชิญ จงไปนั่งในที่สุดท้ายเถิด เพื่อเจ้าภาพที่เชิญท่านจะมาบอกท่านว่า “เพื่อนเอ๋ย จงไปนั่งในที่ที่ดีกว่านี้เถิด” แล้วท่านจะได้รับเกียรติต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะทั้งหลาย (11) เพราะทุกคนที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น’
(12)พระองค์ตรัสกับผู้ที่เชิญพระองค์ว่า ‘เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่านและท่านจะได้รับการตอบแทน (13) แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด (14) แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต


   
พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าฟาริสี และทรงรักษาชายคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคท้องบวมต่อหน้าเจ้าภาพและแขกรับเชิญอีกมาก (ลก 14:1-6)
บังเอิญวันนั้นเป็นวันสับบาโต !
    นับเป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่พระองค์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต (มก 1:21; ยน 5:9; 9:14; ลก 4:38; 6:6; 13:13; 14:4)
    การรักษาคนเจ็บป่วยถือเป็นการ “ทำงาน” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต  ในสายตาของบรรดาฟาริสี พระองค์จึงกลายเป็นคน “แหกกฎ” ที่พวกเขาจะต้องหาทางหยุดยั้งให้ได้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากมายสักเพียงใดก็ตาม
    บัดนี้ ความเป็นศัตรูระหว่างพระองค์กับฟาริสีปรากฏชัดแจ้งแล้ว !
    กระนั้นก็ตาม เมื่อหัวหน้าฟาริสีทูลเชิญพระองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่บ้าน พระองค์ทรงตอบรับคำเชิญ
    พระองค์ไม่ทรงปฏิเสธคำเชิญเพื่อ “สัมพันธภาพ” แม้คำเชิญนั้นจะออกมาจากปากของศัตรูพระองค์เองก็ตาม !
    พระองค์ไม่เคยสิ้นหวังในตัวฟาริสี  แม้ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขาดูเหมือนจะริบหรี่ชนิด “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” ยังง่ายกว่าอีกก็ตาม
    แต่หลักการของพระองค์คือ “เราไม่มีทางทำให้ศัตรูกลายเป็นเพื่อนได้ หากเราไม่พูดคุยกับเขา” เข้าตำรา “ไม่เข้าถ้ำเสือ มีหรือจะได้ลูกเสือ”
ในเมื่อพระองค์ยังไม่สิ้นหวังกับศัตรูของพระองค์ มีหรือที่พระองค์จะสิ้นหวังกับเรา ?!?
ขอเพียงเราเองอย่าสิ้นหวัง เท่านั้น !!!
   
ที่บ้านของหัวหน้าฟาริสี “ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมอง” พระองค์ (ลก 14:1)
    คำกรีกที่ใช้คือ paratēréō (พาราเตแรโอ) หมายถึงการ “เฝ้าดูอย่างใกล้ชิดด้วยเจตนาร้าย” ดุจเดียวกับเหยี่ยวเฝ้าติดตามเหยื่อชนิดไม่คลาดสายตา
    หากถูกจ้องจับผิดเหมือนพระองค์ เราคงหงุดหงิด โกรธ  บางคนอาจถึงขั้นประสาทเสียและทนไม่ได้ ต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว
    แต่พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับศัตรูผู้จ้องจับผิดด้วยจิตใจที่สงบ เบิกบาน และแจ่มใส  ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเตือนสติบรรดาศัตรูให้รู้จักรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แม้ในวันสับบาโต  อีกทั้งทรงสอนพวกเขาให้รู้จักสุภาพถ่อมตนซึ่งเป็นหนทางสู่เกียรติยศที่ยิ่งใหญ่กว่า
พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เมื่อมีใครเชิญท่านไปในงานมงคลสมรส อย่าไปนั่งในที่ที่มีเกียรติ” (ลก 14:8)
    ลองนึกภาพดูสิว่าจะ “หน้าแตก” สักแค่ไหนหากเรานั่งอยู่ในที่ที่มีเกียรติ แล้วถูกเจ้าภาพ “ลดชั้น” ด้วยการเชิญไปนั่งในที่สุดท้ายเพราะมีแขกผู้มีเกียรติมากกว่ามาร่วมงาน
    ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้เรา “สุภาพถ่อมตน” เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ “หน้าแตก” เท่านั้น  แต่เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า “ความสุภาพถ่อมตน” คือ “คุณธรรมที่จำเป็นสำหรับความรอด”
    ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินพระองค์เรียกร้องให้เลียนแบบอย่างความสุภาพถ่อมตนจากพระองค์เองว่า “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน” (มธ 11:29)
    นอกจากนั้น ความสุภาพถ่อมตนยังเป็น “หนทางสู่พระหรรษทานของพระเจ้า” ดังที่นักบุญยากอบกล่าวว่า “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง แต่ประทานพระหรรษทานแก่ผู้ถ่อมตน” (ยก 4:6)
    และที่สำคัญ พระองค์เองทรงเลือกหนทางของ “ความสุภาพถ่อมตน” เพื่อช่วยมนุษย์เราให้รอดพ้น ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น  ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา  ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์  ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:6-8)
    อันที่จริง ประวัติศาสตร์ยืนยันตลอดมาว่าความสุภาพถ่อมตนเป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ   เมื่อครั้งที่โธมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy) มีชื่อเสียงมากชนิดที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพร้อมจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับผลงานของเขา  เขากลับส่งผลงานพร้อมกับซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าถึงตัวเอง เผื่อว่ากองบรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์ผลงานของเขา
    ความสุภาพถ่อมตน (humility) มาจากคำละติน humilitas (ฮูมีลีตาส) ซึ่งนักบุญโธมัส อะไควนัสบอกว่ามาจาก humus (ฮูมูส) ซึ่งแปลว่า “ดินที่อยู่ใต้เรา” นี่เอง
    พระศาสนจักรสอนว่า “ความสุภาพถ่อมตนคือคุณธรรมซึ่งโน้มนำให้ผู้ที่ตระหนักถึงความบกพร่องของตนเอง ยอมรับว่าตัวเองต่ำต้อย   และดังนั้นจึงเต็มใจขึ้นตรงต่อพระเจ้าและต่อผู้อื่นเพราะเห็นแก่พระเจ้า”
    มีผู้ให้คำแนะนำเพื่อคงรักษา “ความสุภาพถ่อมตน” ไว้ดังนี้
     1.    ตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าแม้เราจะมีความรู้มากมาย แต่เมื่อเทียบกับความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกจักรวาล  ความรู้ของเรามีแค่หางอึ่ง
         หรือเราอาจเป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่งสำคัญมากก็จริง  แต่เมื่อเกษียณจากตำแหน่งแล้ว เราจะเหลืออะไร ?
         ยิ่งถ้าความตายมาเยือนด้วยแล้ว ต่อให้ใหญ่โตแค่ไหน ก็ได้โลงขนาดไล่เลี่ยกันเท่านั้นเอง !
     2.    เปรียบเทียบกับผู้ที่ครบครันกว่า เช่นนักฟุตบอล นักกอล์ฟ นักแสดง หรือนักดนตรีระดับโลก แล้วเราจะตระหนักว่าตัวเองยังต่ำต้อยยิ่งนัก
        ยิ่งถ้านำชีวิตของเราไปเทียบเคียงกับพระเยซูเจ้าด้วยแล้ว  ความหยิ่งจองหองมีแต่จะหดหายไป คงเหลือไว้เพียงเสียงร้องว่า “โปรดทรงพระเมตตาเถิด พระเจ้าข้า....”

    ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงแนะนำเจ้าภาพว่า “เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้  ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต” (ลก 14:13-14)
    พระองค์ตรัสเช่นนี้เท่ากับทรงประสงค์ให้ทุกคนตรวจสอบ “แรงจูงใจ” ของตนเมื่อคิดจะมีน้ำใจหรือเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
    แรงจูงใจในการ “ให้” อาจมีได้หลายรูปแบบ
    1.    บางคนถือเป็น “หน้าที่” ต้องบริจาคทานแด่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เสมือนหนึ่งต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ
    2.    บางคนหวัง “ผลประโยชน์” โดยถือว่าการให้เป็นการ “ลงทุน” อย่างหนึ่งเพื่อจะได้รับ “เครดิต” หรือ “ชื่อเสียง” ทั้งจากพระเจ้าและจากเพื่อนมนุษย์
        การให้แบบนี้ไม่ถือเป็นความใจกว้าง แต่เป็นเพียงความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง
    3.    บางคนต้องการแสดง “ความเหนือกว่า” ซึ่งนับว่าเลวร้ายกว่าการปฏิเสธความช่วยเหลือเสียอีก เพราะเขากำลังยืนอยู่บนความเหนือชั้นกว่าแล้วก้มมอง “ผู้รับ” ด้วยความเหยียดหยาม  บางคนถึงกับอบรมสั่งสอนผู้รับก่อนให้ก็มี
        นี่เป็นการให้เพื่อสนองตัณหาและอำนาจของผู้ให้เท่านั้นเอง
        พวกรับบีจึงสอนว่า การให้ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อผู้ให้ไม่รู้ว่าใครคือผู้รับ และผู้รับไม่รู้ว่าใครคือผู้ให้ !
    4.    เมื่อใดที่การให้เกิดจาก “ความรัก” ที่ไหลพรั่งพรูออกมาจากหัวใจชนิดไม่อาจควบคุมได้  เมื่อนั้นการให้แบบที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาจึงจะบังเกิดขึ้น
        เพราะเป็นการให้แบบเดียวกับพระเจ้าผู้ “ทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์  เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ  แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
        “ให้เพราะรัก” นี่แหละที่พระเจ้าจะตอบแทนเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต (ลก 14:14) !!!