แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 21:5-19
(5)ขณะนั้นบางคนให้ข้อสังเกตว่าพระวิหารมีหินและของถวายตกแต่งอย่างงดงาม พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า  (6)‘สักวันหนึ่ง ทุกสิ่งที่ท่านเห็นอยู่นี้ จะไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย’  (7)เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า ‘พระอาจารย์ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร  และมีเครื่องหมายใดบอกว่าเหตุการณ์นี้กำลังจะเกิดขึ้น’
    (8)พระองค์ตรัสตอบว่า ‘จงระวังอย่าให้ผู้ใดหลอกลวงท่านได้ หลายคนจะอ้างนามของเรา พูดว่า “ฉันเป็นพระคริสต์” และ “เวลากำหนดมาถึงแล้ว” อย่าตามเขาไป  (9)เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามและการปฏิวัติ จงอย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อน แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย’  (10)แล้วพระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘ชาติหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกชาติหนึ่ง อาณาจักรหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกอาณาจักรหนึ่ง  (11)แผ่นดินไหว โรคระบาดและความอดอยากอย่างใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นหลายแห่ง จะมีเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว และเครื่องหมายยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นในท้องฟ้า(12)‘แต่ก่อนที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น เขาจะจับกุมท่าน จะเบียดเบียนท่าน จะนำท่านไปไต่สวนในศาลาธรรม และจะจองจำท่านในคุก เขาจะนำท่านไปยืนต่อหน้ากษัตริย์และผู้ว่าราชการเพราะนามของเรา  (13)และนี่จะเป็นโอกาสให้ท่านเป็นพยานถึงเรา  (14)จงตัดสินใจว่าท่านจะไม่หาคำแก้ตัวไว้ก่อน  (15)เราจะให้คำพูดและปรีชาญาณแก่ท่าน ซึ่งศัตรูของท่านจะต้านทานหรือโต้แย้งไม่ได้   (16)บิดามารดา พี่น้อง ญาติและมิตรสหายจะทรยศต่อท่าน บางท่านจะต้องถูกประหารชีวิตด้วย  (17)ท่านทั้งหลายจะเป็นที่เกลียดชังของทุกคนเพราะนามของเรา  (18)แต่เส้นผมบนศีรษะของท่านจะไม่เสียไปแม้แต่เส้นเดียว  (19) ด้วยการยืนหยัดมั่นคงท่านจะรักษาชีวิตของท่านไว้ได้


    พระวรสารบทนี้เข้าใจยากเพราะมีความคิด 4 เรื่องซึ่งแตกต่างกันแต่ถูกนำมารวมไว้ราวกับเป็นเรื่องเดียวกัน  ความคิดทั้ง 4 เรื่องแยกแยะได้ดังนี้
    1.    วันของพระเจ้า  ชาวยิวเชื่อว่าประวัติศาสตร์มี 2 ยุคคือ ยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยบาปและความชั่วร้ายที่สมควรถูกทำลายให้สิ้นซากไปสถานเดียว  อีกยุคหนึ่งคือยุคใหม่ซึ่งจะเป็นยุคทองของพระเจ้าและชาวยิว  แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคปัจจุบันไปสู่ยุคใหม่จำต้องผ่าน “วันของพระเจ้า” ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว  เป็นวันเวลาของกลียุคและการทำลายล้างเพื่อให้กำเนิดยุคใหม่
        ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงวันของพระเจ้าไว้ว่า “ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา  ดุร้ายด้วยความพิโรธและความโกรธอันเกรี้ยวกราด ที่จะกระทำให้แผ่นดินโลกเป็นที่ร้างเปล่า และเพื่อจะทำลายคนบาปของโลกเสียจากโลก” (อสย 13:9)
        นักบุญเปโตรกล่าวว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึงอย่างไม่รู้ตัวเหมือนขโมย  วันนั้นท้องฟ้าจะอันตรธานสูญสิ้นไปด้วยเสียงกึกก้อง  โลกธาตุจะลุกเป็นไฟแตกแยกจากกัน  แผ่นดินและสรรพสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินจะมอดไหม้สูญสิ้นไป” (2 ปต 3:10)
        ความเชื่อเรื่องวันของพระเจ้าแพร่หลายทั่วไปในสมัยพระเยซูเจ้า จนชาวยิวทุกคนสามารถจินตนาการถึงความน่าสะพรึงกลัวของวันนี้ได้
         ข้อความที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการถึงวันของพระเจ้าคือ “เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามและการปฏิวัติ จงอย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อน แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย’....แผ่นดินไหว โรคระบาดและความอดอยากอย่างใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นหลายแห่ง จะมีเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว และเครื่องหมายยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นในท้องฟ้า” (ลก 21:9,11)
    2.    คำทำนายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม  หลังถูกล้อมอยู่เป็นเวลานานจนประชาชนพากันท้อแท้ สิ้นหวัง และอดอยากกระทั่งยอมกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเองเป็นอาหาร ในปี ค.ศ. 70 กรุงเยรูซาเล็มก็ถูกกองทัพโรมันทำลายจนราบเป็นหน้ากลองชนิดไม่มีหินซ้อนกันแม้แต่ก้อนเดียว  โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวเยรูซาเล็มซึ่งมีชีวิตช่วงเดียวกันและเป็นสักขีพยานถึงความพินาศครั้งนี้ ได้บันทึกไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,100,000 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 97,000 คน  พระวิหารถูกเผาและทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า  ชาวยิวสิ้นชาติ
        ลูกานำคำทำนายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็มมาไว้ตอนเริ่มต้นของพระวรสารบทนี้ “ขณะนั้นบางคนให้ข้อสังเกตว่าพระวิหารมีหินและของถวายตกแต่งอย่างงดงาม พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ‘สักวันหนึ่ง ทุกสิ่งที่ท่านเห็นอยู่นี้ จะไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย’” (ลก 21:5-6)
    3.    การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า  พระองค์ทรงนำภาพเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวใน “วันของพระเจ้า” มาบรรยายถึงวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง  พระศาสนจักรยุคแรกต่างเฝ้าคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์ด้วยจิตใจจดจ่อ
    ก่อนการเสด็จกลับมาเป็นครั้งที่สอง จะเกิดกลียุคและมีคนอ้างตัวเป็นพระคริสต์มากมาย  ลูกาบันทึกไว้ว่า “เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า ‘พระอาจารย์ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และมีเครื่องหมายใดบอกว่าเหตุการณ์นี้กำลังจะเกิดขึ้น’  พระองค์ตรัสตอบว่า ‘จงระวังอย่าให้ผู้ใดหลอกลวงท่านได้ หลายคนจะอ้างนามของเรา พูดว่า ‘ฉันเป็นพระคริสต์’ และ ‘เวลากำหนดมาถึงแล้ว’ อย่าตามเขาไป  เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามและการปฏิวัติ จงอย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อน แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย’” (ลก 21:7-9)
    4.    คำทำนายถึงการเบียดเบียนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่เนื้อหาส่วนใหญ่ของพระวรสารบทนี้  “เขาจะจับกุมท่าน จะเบียดเบียนท่าน จะนำท่านไปไต่สวนในศาลาธรรม และจะจองจำท่านในคุก เขาจะนำท่านไปยืนต่อหน้ากษัตริย์และผู้ว่าราชการเพราะนามของเรา และนี่จะเป็นโอกาสให้ท่านเป็นพยานถึงเรา จงตัดสินใจว่าท่านจะไม่หาคำแก้ตัวไว้ก่อน  เราจะให้คำพูดและปรีชาญาณแก่ท่าน ซึ่งศัตรูของท่านจะต้านทานหรือโต้แย้งไม่ได้  บิดามารดา พี่น้อง ญาติและมิตรสหายจะทรยศต่อท่าน  บางท่านจะต้องถูกประหารชีวิตด้วย  ท่านทั้งหลายจะเป็นที่เกลียดชังของทุกคนเพราะนามของเรา  แต่เส้นผมบนศีรษะของท่านจะไม่เสียไปแม้แต่เส้นเดียว  ด้วยการยืนหยัดมั่นคงท่านจะรักษาชีวิตของท่านไว้ได้” (ลก 21:12-19)

    ความงดงามของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มคือแรงบันดาลใจให้พระเยซูเจ้ากล่าวคำทำนายถึงความพินาศครั้งนี้
ในพระวิหาร เสาระเบียงและเสาวิหารแต่ละต้นทำจากหินอ่อนก้อนเดียวสีขาวสูงถึง 40 ฟุตซึ่งหายากและราคาแพงมาก  เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเถาองุ่นทำด้วยทองคำแท้ แต่ละเถาสูงเท่าคน
โยเซฟุสบรรยายไว้ว่า ภายนอกพระวิหารถูกเคลือบด้วยทองคำ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น มันจะสะท้อนแสงเจิดจ้าจนต้องหลบสายตา  และหากมองจากระยะไกลมันจะเหมือนภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน เพราะส่วนที่ไม่ได้เคลือบทองคำล้วนขาวผ่องสะอาดตา
    สำหรับชาวยิว แม้แต่จะคิดก็เป็นไปไม่ได้แล้วที่พระวิหารอันยิ่งใหญ่ตระการตาเช่นนี้จะกลายเป็นกองเถ้าถ่าน
    แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงคิดเหมือนชาวยิว สิ่งที่เราเรียนรู้จากพระองค์คือ
    1.    พระองค์ทรงมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทะลุปรุโปร่ง
         คนทั่วไปอาจมองเห็นเพียงความยิ่งใหญ่ตระการตาของพระวิหาร โดยไม่ตระหนักถึงความหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา  แต่พระองค์ทรงมองเห็น
        เช่นเดียวกัน เราจะมองชีวิตได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ก็ต่อเมื่อมองด้วยความเชื่อผ่านสายตาของพระองค์เท่านั้น !
    2.    พระองค์ทรงซื่อสัตย์และจริงใจต่อผู้ที่ติดตามพระองค์  พระองค์ตรัสว่า “การเบียดเบียนหรือการประหารชีวิตคือสิ่งที่ท่านจะได้รับจากการติดตามเรา” (ลก 21:12,16)
        พระองค์ทรงเชื่อมั่นในตัวเราถึงกับกล้าหยิบยื่นความเป็น “วีรบุรุษ” ให้แก่เรา !
     การดำเนินชีวิตแบบง่าย ๆ และสบาย ๆ นั้นเหมาะสำหรับคนอ่อนแอ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ และเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อเท่านั้น
    3.    พระองค์ทรงสัญญาว่าจะไม่ปล่อยให้เราเผชิญความทุกข์ยากตามลำพัง  พระองค์ตรัสว่า “เราจะให้คำพูดและปรีชาญาณแก่ท่าน” (ลก 21:15)
         ตลอดประวัติศาสตร์ 2,000 ปีของพระศาสนจักร คริสตชนจำนวนมากได้ยืนยันแล้วว่าในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานและใกล้ตาย พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขามีความสุขมากสักเพียงใด
        คุกจะกลายเป็นดั่งพระราชวัง และมรสุมในชีวิตเป็นดั่งลมโชยพัดเย็น เมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่กับเรา
    4.    พระองค์ทรงรับประกันความปลอดภัย เมื่อทรงตรัสว่า “เส้นผมบนศีรษะของท่านจะไม่เสียไปแม้แต่เส้นเดียว” (ลก 21:18)
        ในเมื่อเส้นผมแต่ละเส้น พระองค์ยังทรงรับประกันความปลอดภัย  ไฉนเลยพระองค์จะไม่รับประกันความปลอดภัยให้แก่วิญญาณของเรา ?!?
     เราจึงวางใจพระองค์ได้เต็มร้อย !
        จริงอยู่ เมื่อเดินเคียงคู่กับพระองค์ ร่างกายซึ่งเป็นอนิจจังอยู่แล้วอาจสูญเสียไปได้  แต่เราจะไม่มีวันสูญเสียวิญญาณเลย ! (ลก 21:19)