แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ยอห์น 8:1-11
(1)พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังภูเขามะกอกเทศ (2)เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น พระองค์เสด็จไปในพระวิหารอีก ประชาชนเข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ประทับนั่ง แล้วทรงเริ่มสั่งสอน (3)บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีนำหญิงคนหนึ่งเข้ามา หญิงคนนี้ถูกจับขณะล่วงประเวณี เขาให้นางยืนตรงกลาง  (4)แล้วทูลถามพระองค์ว่า “อาจารย์ หญิงคนนี้ถูกจับขณะล่วงประเวณี  (5)ในธรรมบัญญัติ โมเสสสั่งเราให้ทุ่มหินหญิงประเภทนี้จนตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไร”  (6)เขาถามพระองค์เช่นนี้ เพื่อทดลองพระองค์ หวังจะหาเหตุปรักปรำพระองค์ แต่พระเยซูเจ้าทรงก้มลง เอานิ้วพระหัตถ์ขีดเขียนที่พื้นดิน  (7)เมื่อคนเหล่านั้นยังทูลถามย้ำอยู่อีก พระองค์ทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสว่า “ท่านผู้ใดไม่มีบาป จงเอาหินทุ่มนางเป็นคนแรกเถิด”  (8)แล้วทรงก้มลงขีดเขียนบนพื้นดินต่อไป  (9)เมื่อคนเหล่านั้นได้ฟังดังนี้ ก็ค่อย ๆ ทยอยออกไปทีละคน เริ่มจากคนอาวุโส จนเหลือแต่พระเยซูเจ้าตามลำพังกับหญิงคนนั้น ซึ่งยังคงยืนอยู่ที่เดิม  (10)พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสกับนางว่า “นางเอ๋ย พวกนั้นไปไหนหมด ไม่มีใครลงโทษท่านเลยหรือ”  (11)หญิงคนนั้นทูลตอบว่า “ไม่มีใครเลย พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย ไปเถิด และตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีก”


    เมื่อมีการละเมิดกฎหมาย ชาวยิวมักนำคดีความไปให้รับบีตัดสิน  พวกธรรมาจารย์และฟาริสีนำหญิงมีชู้ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขาไปให้พระเยซูเจ้าตัดสิน เพราะพระองค์ทรงเป็นรับบีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง
    ชู้  ฆาตกรรม และการนับถือพระเท็จเทียม ถือเป็นสามอาชญากรรมร้ายแรงที่มีโทษถึงตายตามกฎหมายยิว
    หนังสือเลวีนิติบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเป็นชู้กับภรรยาของเพื่อนบ้าน  ชู้ทั้งสองจะต้องถูกประหารชีวิต” (ลนต 20:10)
    หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติระบุวิธีประหารชีวิตไว้ว่า หากภรรยาถูกสามีจับได้ว่าไม่ใช่หญิงพรหมจารี “ผู้อาวุโสจะต้องพาหญิงนั้นมาที่หน้าประตูบ้านบิดาของนาง แล้วชาวเมืองจะต้องเอาหินทุ่มนางจนตาย” (ฉธบ 22:21)
    แม้ว่าหนังสือ Mishnah ซึ่งรวบรวมกฎหมายยิวเป็นลายลักษณ์อักษรราวปี ค.ศ. 200 จะกำหนดวิธีประหารชีวิตไว้ต่างกันคือ “รัดคอ”  แต่ทุกฉบับพูดตรงกันคือ การผิดประเวณีมีโทษถึงตาย !
    จากมุมมองด้านกฎหมาย พวกธรรมาจารย์และฟาริสีจึงมีเหตุผลที่จะนำหญิงที่ถูกจับขณะล่วงประเวณีมาให้พระเยซูเจ้าตัดสินลงโทษทุ่มหินให้ตาย
เพียงแต่ว่าเจตนาของพวกเขาไม่ใช่เพื่อทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์  แต่ “เพื่อทดลองพระองค์ และหวังจะหาเหตุปรักปรำพระองค์” (ข้อ 6)
    หากพระองค์ตัดสินให้ทุ่มหินนางจนตาย แน่นอนว่าชื่อเสียงเรื่อง “ความรักและความเมตตา” ที่พระองค์สั่งสมมานานจักต้องสูญหายไปสิ้น  และต่อจากนี้ไป คงไม่มีคนบาปกล้าเข้ามาหาพระองค์อีก
อีกประการหนึ่ง กฎหมายโรมันกำหนดให้การลงโทษถึงตายเป็นอำนาจหน้าที่ของโรมเท่านั้น ชาวยิวหรือชนชาติอื่นไม่มีสิทธิ์  หากพระองค์ตัดสินลงโทษนางถึงตายย่อมผิดกฎหมายโรมัน  และนั่นย่อมเท่ากับว่าพระองค์ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับโรม
    ในทางตรงกันข้าม หากพระองค์ยกโทษให้นาง ก็เท่ากับว่าพระองค์กำลังเสี้ยมสอนประชาชนให้ละเมิดกฎหมายของโมเสส  อีกทั้งอาจถูกกล่าวหาได้ว่าทรงยินยอมหรือแม้กระทั่งสนับสนุนให้มีการผิดประเวณี
    นี่คือกับดักอันร้ายกาจของพวกธรรมาจารย์และฟาริสี !!
    ด้วยทรงรู้เท่าทันเจตนาร้ายของพวกเขา พระองค์ทรงนิ่งเงียบและ “ทรงก้มลง เอานิ้วพระหัตถ์ขีดเขียนที่พื้นดิน” (ข้อ 6)
    เมื่อพวกเขาคะยั้นคะยอไม่หยุด พระองค์จึงตรัสว่า “ท่านผู้ใดไม่มีบาป จงเอาหินทุ่มนางเป็นคนแรกเถิด” (ข้อ 7)
อันที่จริง คำกรีกที่ใช้คือ anamartētos (อานามาร์เตตอส) ไม่ได้หมายความเพียง “ไม่มีบาป” เท่านั้น แต่ยังหมายถึง “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” หรือ “ไม่มีความคิดที่จะทำบาป” อีกด้วย
ราวกับพระองค์ต้องการจะบอกพวกเขาว่า “อยากทุ่มหินนางก็เชิญเถอะ  หากว่าพวกท่านไม่เคยคิดทำบาปมาก่อน !”
หลังจากนิ่งอึ้งกันไปพักหนึ่ง บรรดาโจทก์ทั้งหลายก็เริ่มทยอยออกไปจนเหลือเพียงพระองค์กับหญิงผู้นั้นตามลำพัง
แล้วนั้น “ความเมตตา” อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ก็ฉายแสงเหนือนาง
พระองค์ตรัสถามว่า “ไม่มีใครลงโทษท่านเลยหรือ”
นางทูลตอบว่า “ไม่มีใครเลย พระเจ้าข้า”
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย ไปเถิด และตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีก”

    เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีคิดและทัศนคติของพวกธรรมาจารย์และฟาริสีได้เป็นอย่างดี
    1.    ความคิดเรื่องอำนาจ
        พวกธรรมาจารย์และฟาริสีมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ประชาชนจึงนิยมนำคดีความมาให้พวกเขาตัดสิน  ที่สุด “อำนาจ” ในการตัดสินคดีความเลยกลายเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพวกเขา
         พวกเขาใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยการอ้างสิทธิ์อยู่เหนือผู้อื่น เพื่อคอยตรวจสอบและจับผิดพฤติกรรมที่ส่อว่าจะเบี่ยงเบนจากตัวบทกฎหมาย  เมื่อพบเห็นผู้กระทำความผิด พวกเขาจะรี่เข้าใส่พร้อมกับโทษที่โหดร้ายรุนแรง โดยไม่มีการให้อภัย
        ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการใช้อำนาจของพระเยซูเจ้า !!!
         สำหรับพระองค์ การใช้อำนาจต้องมีพื้นฐานอยู่บน “ความเมตตาสงสาร” และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อ “เยียวยา” ความเสียหาย และ “รักษา” คนผิดให้กลับมาเป็นคนดีอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
         เพราะฉะนั้น ภารกิจหลักของบรรดาผู้มีอำนาจจึงต้องไม่ใช่การดุด่าหรือลงโทษ จนกระทั่งคนผิดพากันท้อแท้สิ้นหวัง หายหน้าไปจากสังคม หรือไม่ก็ดำดิ่งลงสู่ความชั่วร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีก
         ตรงกันข้าม พวกเขาต้องพยายามเข้าใจสภาพแวดล้อมและมูลเหตุที่ชักนำให้คนทำผิดอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะตัดสินผู้หนึ่งผู้ใด  และที่สำคัญต้องพยายามนำคนผิดกลับมาเป็นคนดี ดุจดังหมอที่เพียรพยายามรักษาคนไข้ให้หาย ให้จงได้
    2.    ทัศนคติต่อมนุษย์
        พวกธรรมาจารย์และฟาริสีไม่ได้เห็นหญิงมีชู้เป็น “คน” เลย  พวกเขาเห็นนางเป็นเพียงสิ่งของหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งสำหรับใช้จับผิดพระเยซูเจ้า
        นางเป็นเพียง “เครื่องมือ” เพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุวัตถุประสงค์ หรือเป็นเพียง “เบี้ย” ตัวหนึ่งในเกมไล่ล่าและกำจัดพระเยซูเจ้า
        แต่ในพระคัมภีร์ เราพบว่าพระเจ้าตรัสถึง “ชื่อ” บ่อยมาก เช่นทรงตรัสกับโมเสสว่า “เรารู้จักชื่อของเจ้า” (อพย 33:17) และทรงตรัสกับกษัตริย์ไซรัสว่า “เราคือพระเจ้าแห่งอิสราเอลซึ่งเรียกเจ้าตามชื่อของเจ้า” (อสย 45:3)
         สำหรับชาวยิว “ชื่อ” หมายถึง “คน” หรือ “บุคคล” ทั้งครบ  การรู้จักชื่อจึงหมายถึงการรู้จักและการยอมรับความเป็นบุคคลผู้มีศักดิ์ศรี
        เท่ากับว่าพระเจ้ายังทรงยอมรับและมองเห็นมนุษย์เป็น “บุคคล” ที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของผู้หนึ่งผู้ใด
        เพราะฉะนั้น เราจะปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดราวกับว่าเขาเป็น “เครื่องมือ” หรือ “สิ่งของ” ชนิดหนึ่งไม่ได้   แต่ต้องปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เป็น “บุคคล” ผู้มีความคิดและจิตใจรวมถึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเราทุกประการ !

    นอกจากนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเผยแสดงแนวทางปฏิบัติและทัศนคติของพระเยซูเจ้าที่ทรงมีต่อคนบาปให้เราได้รับรู้ทั่วกันอีกด้วย
    1.    ผู้ที่ปราศจากความผิดเท่านั้นจึงจะมีสิทธิตัดสินผู้อื่น
         พระองค์ตรัสว่า “ท่านผู้ใดไม่มีบาป จงเอาหินทุ่มนางเป็นคนแรกเถิด” (ข้อ 7)
         ก่อนหน้านี้ ก็ทรงตรัสว่า “อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน” (มธ 7:1) อีกทั้งทรงเปรียบผู้ที่ชอบตัดสินผู้อื่นว่าเหมือนกับคนที่ชอบเขี่ยเศษฟางจากดวงตาของผู้อื่น ในขณะที่มีท่อนซุงค้างอยู่ในดวงตาของตนเอง (มธ 7:3-5)
        น่าเสียดายที่ชีวิตของเรากลับสวนทางกับหลักการของพระองค์อยู่เป็นประจำ  เราชอบตั้งมาตรฐานให้ผู้อื่นปฏิบัติ โดยที่ตัวเราเองไม่เคยปฏิบัติหรือไม่เคยแม้แต่จะคิดปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นด้วยซ้ำไป
        แล้วก็เป็นคนจำพวกนี้อีกนั่นแหละที่ชอบโวยวาย ชอบตัดสิน และชอบประณามผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ความผิดของตนเองนั้นโทนโท่กว่าอีก !!!!
        นอกจากพระเจ้าแล้ว คงต้องฟันธงว่าไม่มีมนุษย์หน้าไหนดีพอที่จะตัดสินผู้อื่น
    2.    ความรู้สึกแรกที่พึงมีต่อคนผิดคือ “ความสงสาร”
        “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย ไปเถิด…” ช่างเป็นพระดำรัสที่เปี่ยมด้วยความเมตตาสงสาร และทำให้ผู้ฟังอบอุ่นมากสักเพียงใด !
    หากเราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าจริง ความรู้สึกนึกคิดเมื่อพบเห็นคนผิดต้องไม่ใช่ “ฉันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนเช่นนั้น” แต่ต้องเป็น “ฉันจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง?  ทำอย่างไรดีจึงจะแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นได้?”
     เหมือนหมอที่ดี เมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและน่าขยะแขยง ก็ไม่รังเกียจแต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยและรักษาผู้ป่วยให้หายให้ได้
     เราต้อง “สงสาร” ผู้อื่นแบบเดียวกับที่เราต้องการให้ผู้อื่น “สงสาร” เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน !
3.    ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต
    เมื่อได้ฟังเรื่องราวของหญิงมีชู้นางนี้แล้ว หลายคนอาจสรุปบทเรียนหรือเกิดความประทับใจแบบผิด ๆ ว่า  พระเยซูเจ้าทรงอภัยง่ายราวกับว่าบาปไม่มีความหมายอะไรสำหรับพระองค์
    อันที่จริงพระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “อย่าห่วง ทุกอย่างจะเรียบร้อยเอง” แต่ทรงตรัสว่า “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย ไปเถิด และตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีก” (ข้อ 11)
    ความหมายคือ พระองค์ไม่ตัดสินลงโทษขณะนี้ก็จริง แต่จะทรงตัดสินแน่...
         พระองค์ทรงเลื่อนการตัดสินออกไป เพื่อให้โอกาสนางเปลี่ยนแปลงชีวิต…จากที่เคยทำบาป เป็นไม่ทำบาปอีกต่อไป...
        หากยังไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตอีก ครั้งหน้าเป็นต้องโดนตัดสินแน่นอน !!!
    เราอาจสรุปทัศนคติของพระเยซูเจ้าที่ทรงมีต่อคนบาปได้ดังนี้
    3.1    พระองค์ประทานโอกาสแก่คนบาปเสมอ ดังจะเห็นได้จากพระดำรัสที่ตรัสกับนางราวกับว่า “เรารู้ว่าชีวิตของเจ้าได้ผ่านความชั่วร้ายมามากมาย  แต่ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่สิ้น  เราให้โอกาสเจ้าแก้ไขตัวเองเสมอ”
        นี่คืออีกหนึ่ง “ข่าวดี” !
        เพราะพระองค์ไม่เพียงสนพระทัยอดีตที่ผ่านมาของเราเท่านั้น แต่ทรงสนพระทัยอนาคตที่เราสามารถเป็นไปได้อีกด้วย
        พระองค์ไม่ได้บอกว่าความผิดพลาดในอดีตไม่สำคัญ แต่ทรงให้ความสำคัญมากกว่ากับอนาคตที่ดีกว่าและสดใสกว่าของเรา !!!
    3.2    พระองค์ทรงเมตตาสงสารคนบาป  ในขณะที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีจ้องจะทุ่มหินนางให้ตาย  แต่พระองค์กลับคิดหาทางช่วยเหลือและให้อภัยแก่นาง
        ความเมตตาสงสารเช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะ “ความรัก” อันเต็มเปี่ยมที่ทรงมีต่อเรามนุษย์ทุกคน !
    3.3    พระองค์ทรงท้าทายคนบาป  พระองค์ไม่ได้ตรัสกับนางว่า “อย่ากังวล จงดำเนินชีวิตเหมือนเดิมต่อไปเถิด”  แต่ทรงตรัสว่า “สิ่งที่ท่านทำนั้นผิด จงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะความผิดนั้นให้จงได้”
        นี่ย่อมไม่ใช่การให้อภัยแบบง่าย ๆ  แต่เป็นการ “ให้อภัย” ที่มาพร้อมกับการ “ท้าทาย” ให้มุ่งหน้าสู่ความดีสูงสุด !
    3.4    พระองค์ทรงเชื่อมั่นในมนุษย์  หาไม่แล้วคงเป็นเรื่องตลกที่พระองค์ตรัสกับหญิงซึ่งตกในบาปหนักเช่นนี้ว่า “ตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีก”
        พระองค์กล้าตรัสเช่นนี้เพราะทรงมองมนุษย์ในแง่ดี  ทรงเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็น “นักบุญ” ได้อาศัยความช่วยเหลือจากพระองค์
        พระองค์ไม่ทรงปรารถนาทำให้มนุษย์ท้อแท้สิ้นหวังด้วยความสำนึกว่าตนเองเป็นคนบาปที่น่าสมเพช  แต่ทรงปรารถนากระตุ้นให้มนุษย์เกิดแรงบันดาลใจและค้นพบว่าตนเองก็สามารถเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ได้
    3.5    พระองค์ทรงเตือนคนบาปทุกคน  วันนั้น พระองค์ทรงตักเตือนนางให้ตัดสินใจเลือกระหว่างการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม และการบรรลุชีวิตใหม่ตามแบบอย่างของพระองค์
        วันนี้ พระองค์ทรงตักเตือนเราทุกคนให้ตัดสินใจเลือกระหว่างหนทางของโลกนี้  และหนทางของชีวิตนิรันดรที่พระองค์ทรงนำมาประทานแก่เราทุกคน
    ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ คำตักเตือนและคำท้าทายนี้ยังไม่สิ้น....!!!